เมื่อโรคระบาด ทำให้การเรียนรู้หยุดชะงัก เด็กๆ วัยเรียนหลายคนไม่ได้ไปโรงเรียนหรือออกไปเรียนตามจินตนาการและพัฒนาการของตนเอง
เมื่อโควิด-19 ระลอกใหม่หวนมาอีกครั้ง นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่หลายๆ บ้าน หันมาลงมือเอาจริงเอาจังกับการสร้างรูปแบบการเรียนรู้ และมองหาแนวทางใหม่ๆ ให้กับการศึกษาของลูก
mappa ชวนทำความเข้าใจกับความหมายของคำว่า homeschool หรือแนวทางการจัดการเรียนรู้ในรูปแบบที่คุณพ่อคุณแม่หลายๆ คนกำลังให้ความสนใจในขณะนี้
แน่นอนว่า homeschool ไม่ใช่การเอาโรงเรียนมาวางไว้ที่บ้าน หรือแม้แต่วางไว้บนออนไลน์ แต่เป็นการเดินทางร่วมกันในครอบครัวเพื่อที่จะทำความเข้าใจนิยามของคำว่า ‘การเรียนรู้ใหม่’ ด้วยกัน
นี่คือ 5 เรื่องที่จะชวนคุณพ่อคุณแม่ทำความเข้าใจ homeschool
1. Homeschool (ไม่เท่ากับ) การเรียนที่บ้าน
ความหมายของ homeschool ไม่ใช่การยกประสบการณ์การเรียนรู้ที่โรงเรียนมาไว้ที่บ้าน เหมือนที่เรากำลังยกประสบการณ์การเรียนออฟไลน์มาไว้บนการเรียนออนไลน์ (ตามที่เห็นและเป็นอยู่ในช่วงนี้) แต่ homeschool เป็นการเรียนรู้ หรือการศึกษาโดยครอบครัว ซึ่งรูปแบบจะเป็นอย่างไร การเรียนรู้จะเกิดขึ้นที่ไหน ย่อมเป็นไปได้ตามที่แต่ละครอบครัวร่วมกันออกแบบ ซึ่งอาจเกิดขึ้นในห้องครัว ในสวนหน้าบ้าน สนามเด็กเล่น ร้านขายของ พิพิธภัณฑ์ ไปจนถึง แหล่งธรรมชาติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นป่าต้นน้ำหรือทะเลอันกว้างใหญ่
2. เด็ก Homeschool ไม่ใช่เด็ก Gifted หรือเด็กที่มีความต้องการพิเศษ
ตามธรรมชาติแล้ว เด็กทุกคนล้วนมีความแตกต่าง และมีความต้องการการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน เด็กๆ ล้วนมีพรสวรรค์ในแบบของเขาเอง ดังนั้นการจัดการศึกษาโดยครอบครัวที่มีสัดส่วนจำนวนผู้เรียนน้อยกว่าในระบบโรงเรียน อาจเพิ่มโอกาสในการออกแบบการเรียนรู้ให้มีความเฉพาะเจาะจงกับผู้เรียนแต่ละคนมากขึ้นเท่านั้น แต่การออกแบบการเรียนรู้ที่จะตอบสนองความหลากหลายของเด็กๆ ก็ไม่ได้มีเพียงเฉพาะใน homeschool เท่านั้น เพราะในปัจจุบันเราพบว่ามีโรงเรียนหลายโรงเรียน ที่เริ่มใช้การออกแบบการเรียนรู้ที่ตอบสนองความแตกต่างหลากหลายของเด็กแต่ละคนมากขึ้น
3. Homeschool ไม่ได้แปลว่าเด็กไม่มีสังคมหรือไม่มีเพื่อน
นี่คือคำถามสุดคลาสสิกที่เด็กและครอบครัว homeschool ทุกคนต้องเจอ อันที่จริงนิยามของคำว่า ‘สังคม’ หรือ ‘เพื่อน’ ของทุกคนมีความแตกต่างกัน เพื่อนในความหมายของบางคนอาจหมายถึงเพื่อนกลุ่มใหญ่ที่มาจากโรงเรียนเดียวกัน ในขณะที่คำว่า ‘เพื่อน’ ของบางคนก็หมายถึงคนที่คุยกันเข้าใจเพียงไม่กี่คน รวมถึงคำว่าเพื่อนในความหมายของบางคนอาจหมายถึงเพื่อนช่วงวัยเดียวกัน หรือกลุ่มคนที่มีความหลากหลายวัยก็เป็นได้
ฉะนั้นมุมมองเรื่อง ‘สังคม’ หรือ ‘เพื่อน’ จึงขึ้นอยู่กับมุมมองหนึ่งที่ครอบครัว homeschool แต่ละบ้านต้องหาความหมายและให้คำนิยามกับมันใหม่ เช่นเดียวกับคำว่า ‘การเรียนรู้’ ที่ถูกให้คำนิยามใหม่เช่นกัน
4. Homeschool (ไม่เท่ากับ) ประหยัด และ Homeschool ไม่ได้แปลว่ารวย หรือมีเงิน
แม้จะปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘เงิน’ คือปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจในรูปแบบการศึกษาของลูกๆ แต่เงินก็ไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่จะทำให้การจัดการศึกษาแบบ homeschool สำเร็จ
เท่าที่ผ่านมา เราพบกว่าการจัดการศึกษาโดยครอบครัวนั้นประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่าเรียนในระบบ เช่นเดียวกันในขณะที่หลายบ้านที่จัดการศึกษาแบบ homeschool มีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นสูงกว่าการส่งลูกไปโรงเรียน
และข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งคือเงินไม่ได้เป็นตัวชี้วัดและรับประกันว่าการศึกษาแบบ homeschool จะได้รับผลลัพธ์ทางการจัดการศึกษาที่ดีกว่าบ้านที่ใช้งบน้อยกว่าแต่อย่างใด เพราะยังมีปัจจัยอีกมากมาย ทั้งทัศนคติของพ่อแม่ เป้าหมายของลูก ความต้องการของครอบครัว ที่ควรจะถูกพิจารณาประกอบด้วยกันเป็นต้น
5. Homeschool ไม่ได้ดีกว่า โรงเรียน และ โรงเรียนไม่ได้ดีกว่า Homeschool
การเปรียบเทียบระหว่าง homeschool และ โรงเรียน ไม่ต่างจากการเปรียบเทียบระหว่าง แตงโม กับ มะนาว
สิ่งหนึ่งที่พ่อแม่ควรทำความเข้าใจคือทั้งสองอย่างล้วนมีประโยชน์ในรูปแบบของมัน เช่นเดียวกับ โรงเรียน และ homeschool ที่ต่างถูกออกแบบขึ้นภายใต้บริบทที่ไม่เหมือนกัน เพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายการเรียนรู้ จำนวนนักเรียน และรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน
หัวใจของการเลือกรูปแบบการศึกษา คือการเลือกรูปแบบประสบการณ์การเรียนรู้ที่เด็กจะได้รับ พร้อมกับประเมินความพร้อมและความเหมาะสมกับวิถีชีวิตของแต่ละครอบครัว โดยไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไหนก็ตาม และเมื่อผู้เรียนได้อยู่ในวิถีการเรียนรู้ที่เหมาะสมแล้ว ย่อมเกิดความสามารถในการสร้างชีวิตที่ดีขึ้นของตัวเองได้
เด็กๆ หลายคนที่เรียนจากระบบ homeschool ไม่ได้ถูกรับรองว่าจะมีชีวิตที่ดีกว่าเด็กที่ไปโรงเรียน เช่นเดียวกับเด็กที่ไปโรงเรียน ก็ไม่ได้ถูกรับรองว่าดีกว่าเด็ก homeschool
เนื่องจาก ชีวิตของมนุษย์นั้นมีความซับซ้อนและมีตัวแปรมากกว่าการเลือกระบบการศึกษา
ดังนั้นการเปรียบเทียบ เพื่อวัดผลว่าสิ่งใดดีกว่ากันไม่ได้ก่อให้เกิดประสบการณ์การเรียนรู้ใดๆ ต่อเด็ก รวมถึงไม่สามารถสร้างคุณภาพชีวิตของครอบครัวให้ดีขึ้นได้
เพราะกุญแจสำคัญอยู่ที่การใช้เวลาร่วมกัน การร่วมกันสร้างประสบการณ์ที่ดีต่อการเรียนรู้ระหว่างคุณพ่อคุณแม่และลูก การสนับสนุนความถนัดของลูก การปลูกฝังทักษะและทัศนคติที่จำเป็นกับการใช้ชีวิต ล้วนเป็นสิ่งที่จำเป็นกับการใช้ชีวิตในโลกอนาคตอันผันผวนที่เด็กๆ จะต้องเจอเมื่อเขาเติบโต โดยที่ไม่ว่าจะอยู่ในระบบไหนก็ตาม