“สิทธิมนุษยชนเริ่มต้นที่บ้าน” คุยกับพ่อบอม – แม่ตุ๊กตา เมื่อคำว่า “Free Will” เป็นมากกว่าชื่อลูก

  • บอม – วศิน ปฐมหยก” และ “ตุ๊กตา – เพลงมนตรา บุบผามาศ” คือสองสามีภรรยาผู้ทำงานในแวดวงสื่อประชาธิปไตย คือพ่อแม่ของ “ฟรีวิล” ลูกสาววัย 3 ขวบ ที่กำลังเติบโตและเรียนรู้โลกกว้าง และเป็นเจ้าของผลงานโปสเตอร์ ABC Human Rights ที่พวกเขาตั้งใจทำให้ลูกได้เรียนรู้และเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชน
  • เพราะอยากเห็นมนุษย์คนหนึ่งได้เติบโตขึ้น ด้วยการมี “คุณภาพชีวิตที่ดี” บอมและตุ๊กตาจึงทุ่มเทแรงกายแรงใจ เพื่อดูแลลูกสาวของพวกเขา แม้การทำหน้าที่นั้นจะเหนื่อยแทบขาดใจ ถึงขนาดร้องไห้ฟูมฟาย และอยากโยนลูกออกไปให้พ้นจากชีวิต แต่ทั้งคู่ก็ไม่คิดจะเปลี่ยนความเหนื่อยล้าให้เป็น “ความโกรธ” ต่อลูกเลย 
  • ครอบครัวคือ “ผู้วางรากฐานในชีวิต” ของมนุษย์ และการปลูกฝังแนวคิดเรื่อง “เสรีภาพในการแสดงออก” ก็เป็นเรื่องสำคัญที่บอมและตุ๊กตาเห็นพ้องว่าต้องสร้างให้กับลูก เช่นเดียวกับเรื่องการเคารพตัวเอง การเคารพคนอื่น และการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสงบสุข โดยปลูกฝังผ่านการใช้ชีวิตประจำวันและการเข้าร่วมกิจกรรมนอกบ้าน
  • พวกเขาเชื่อว่า พ่อแม่แต่ละบ้านล้วนแล้วแต่มีวิธีการเลี้ยงลูกในแบบของตัวเอง การเลี้ยงลูกเป็นเรื่องปัจเจก ไม่สามารถเอาสูตรสำเร็จของคนอื่นมาใช้กับเด็กทุกคน และคาดหวังว่าผลลัพธ์จะเป็นเหมือนกันได้

ถ้าคุณยังไม่เคารพลูกตัวเอง คุณก็อย่าหวังว่าลูกจะไปเคารพคนอื่นในสังคม” 

เป็นคำกล่าวของ “บอม – วศิน ปฐมหยก” และ “ตุ๊กตา – เพลงมนตรา บุบผามาศ” สองสามีภรรยาผู้ทำงานในแวดวงสื่อประชาธิปไตย และเป็นพ่อแม่ของ “ฟรีวิล” ลูกสาววัย 3 ขวบ ที่กำลังเติบโตและเรียนรู้โลกกว้าง แม้จะตั้งคำถามกับ “เสรีภาพ” ที่บ้านเมืองแห่งนี้มอบให้กับประชาชนอย่างพวกเขา แต่คนธรรมดาสองคนนี้ก็มีความตั้งใจที่จะมอบเสรีให้ลูกสาวของพวกเขาอย่างเต็มที่ และพยายามอย่างที่สุดเพื่อจะปลูกฝังเรื่องการเคารพตัวเอง การเคารพคนอื่น และการมีพื้นฐานทางด้านสิทธิมนุษยชนที่ดีให้กับลูก 

พ่อแม่ที่เหนื่อยได้ แต่ไม่โกรธลูก

“การมีลูกเป็นเหมือนจุดเปลี่ยนในชีวิตของเรา และเราก็อยากเผชิญกับจุดเปลี่ยนนี้ เช่นเดียวกับความต้องการที่จะทำให้คนในครอบครัวของเรารู้สึกปลดล็อกอะไรบางอย่าง แต่เราไม่ได้คิดว่าลูกต้องมาเติมเต็มชีวิตเรา เพราะถ้าเรามองแบบนั้น มันจะเป็นการผลักภาระของตัวเองไปให้กับลูกที่กำลังจะเกิดมา” 

เพราะไม่ได้มองว่าการเป็นพ่อแม่คือ “หน้าที่อันยิ่งใหญ่” ที่ใคร ๆ ต้องซาบซึ้ง และลูกไม่ใช่สิ่งที่เข้ามาเติมเต็มชีวิตครอบครัวให้สมบูรณ์แบบ ทว่าเป็นความรู้สึกของคนสองคนที่อยากเห็นมนุษย์คนหนึ่งได้เติบโตขึ้น ด้วยการมี “คุณภาพชีวิตที่ดี” จึงทำให้ทั้งบอมและตุ๊กตาทุ่มเทแรงกายแรงใจ เพื่อดูแลมนุษย์ตัวน้อยที่ลืมตาดูโลกในฐานะ “ลูกสาว” ของพวกเขา แม้การทำหน้าที่นั้นจะเหนื่อยแทบขาดใจ ถึงขนาดร้องไห้ฟูมฟาย และอยากโยนลูกออกไปให้พ้นจากชีวิต 

“เราเคยพยายามหลอกตัวเองว่ามันไม่เหนื่อย แล้วเราก็ประสาทแดก เราซื้อหนังสือให้ตัวเองเยอะมาก โดยหวังว่าหนังสือจะเป็นทางออกให้เราปลดล็อกจากความเหนื่อยนั้น แต่มันไม่ใช่ หนังสือไม่ได้บอกว่าเราต้องทำอย่างไร แต่กลับเป็นคำปลอบประโลมที่บอกเราว่า ยังไงมันก็ต้องเหนื่อย ถ้าเหนื่อยแปลว่าทำถูกแล้ว สู้ ๆ นะ แล้วก็จะเหนื่อยต่อไป ดังนั้น เราเลยได้รู้ว่าความเหนื่อยมันมีจริง ไม่มีทางออก ไม่มีทางลัด และหนังสือไม่ใช่การแก้ปัญหา” 

ถึงแม้จะเหนื่อยมากแค่ไหน แต่บอมและตุ๊กตาก็ไม่คิดจะเปลี่ยนความเหนื่อยล้าให้เป็น “ความโกรธ” ต่อลูกเลย โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ต้องรับมือกับช่วง “วัยรุ่น 3 ขวบ” ที่อาจจะงอแงหรือท้าทายพ่อแม่

“เราเรียนรู้ว่าดุลูกเท่าไร ลูกก็ไม่ฟังคุณหรอก แล้วเราจะรู้สึกเหนื่อยเปล่า เราเคยคุยกันเรื่องนี้ด้วยว่า เราต้องปล่อยให้เขาเป็นอิสระ ปล่อยให้เขาได้เรียนรู้ไป ให้เขาได้รับรู้ความรู้สึกโกรธ หรืออยากท้าทายก็รู้สึกไป แต่บ้านเราจะมีเคล็ดลับคือทำให้ทุกอย่างเป็นเรื่องสนุก และเราจะไม่เอามาเป็นเรื่องซีเรียสกับสิ่งที่เขาทำผิด เพราะเรารู้สึกว่าถ้าไปจริงจังหรือไปจี้สิ่งที่ลูกทำผิด ลูกจะจำสิ่งนั้น แล้วเขาจะยิ่งอยากท้าทายเรา” 

ตัวตนที่แข็งแรงเริ่มจากที่บ้าน

ครอบครัวคือ “ผู้วางรากฐานในชีวิต” ของมนุษย์ และการปลูกฝังแนวคิดเรื่อง “เสรีภาพในการแสดงออก” ก็เป็นเรื่องสำคัญที่บอมและตุ๊กตาเห็นพ้องว่าต้องสร้างให้กับลูก พวกเขาจึงเริ่มต้นด้วยการฝึกถามความเห็นของลูก ในทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตและกิจกรรมของลูก

“ทุกครั้งที่เราจะกินข้าว เราจะถามว่าวันนี้อยากกินอะไร อย่างน้อยต้องตอบให้ได้ว่าจะกินเส้น กินข้าว หรือกินแป้ง หรือวันนี้อยากทำอะไร อยากระบายสี อยากอ่านหนังสือ อยากไปเดินเล่น อยากไปปั่นจักรยาน แค่ลูกบอกมาว่าอยากทำอะไร แล้วเราจะทุ่มเทแรงกายแรงใจไปกับสิ่งที่เขาคิดขึ้นมา คือมันเป็นการให้เสรีภาพในการคิด การแสดงความคิดเห็นของเขา ซึ่งมันเป็นเรื่องเล็กมากเลยนะ แต่เรารู้สึกว่ามันเป็นการสร้างพื้นฐานให้ลูก และเราจะใช้วิธีนี้ในการให้อิสระทางความคิด การยืนหยัด และการมีตัวตนของลูก” 

“มันมีคนถามตั้งแต่วันที่เราตั้งชื่อลูกแล้ว ว่าตั้งชื่อลูกว่าฟรีวิล แล้วถ้าวันหนึ่งลูกอยากเปลี่ยนชื่อเป็นแบบอื่นได้ไหม เราก็บอกว่าได้ เพราะนั่นคือเจตจำนงของเขา ถ้าเขาอยากเปลี่ยนก็เชิญ ก็ทำตามที่ใจของตัวเองต้องการ ซึ่งตอนนี้เวลาฟรีวิลเล่นอะไร แล้วมีคนบอกให้ฟรีวิลเป็นกระต่าย หรือเป็นคนนู้นคนนี้ เขาจะชัดเจนมากว่า ฟรีวิลไม่เป็นอะไร ฟรีวิลเป็นฟรีวิล เราก็ใจฟู พอเราสอนอะไรแบบนี้แล้วมันเห็นผล ซึ่งมันก็เป็นเรื่องเล็ก ๆ แบบนี้แหละที่ช่วยหล่อเลี้ยงเราอยู่ในทุกวันนี้” 

กิจกรรมที่ช่วยเรื่องการใช้ชีวิต 

เช่นเดียวกับการให้อิสระทางความคิดและรับฟังความคิดเห็นของลูกอย่างใจกว้าง ตุ๊กตานิยามตัวเองว่าเป็น “คุณแม่สายหา” ที่พยายามหากิจกรรมที่หลากหลายให้ลูกได้ลองทำ เพื่อหาสิ่งที่ลูกชื่นชอบ พร้อมปลูกฝังเรื่องการใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นในสังคม

“เราพยายามหาว่าลูกสนุกอยู่กับอะไร และสิ่งหนึ่งที่เรารู้สึกว่าโอเค คือการพาลูกไปเรียนดนตรี แต่นอกเหนือจากการไปเรียนดนตรี มันเป็นชั้นเรียนที่ฝึกให้ลูกรู้จักการเคารพคนอื่น และฝึกการเคารพตัวเองด้วย อย่างหนึ่งที่เรามักจะบอกคนอื่นคือ ที่นี่ไม่เหมือนโรงเรียนดนตรีทั่วไปเลย เพราะเขามีกฎ อย่างเช่น ถ้าลูกเข้าไปเรียน แล้วลูกงอแง ลูกร้องไห้ พ่อแม่ต้องอุ้มลูกออกไปนอกห้องทันที ออกไปสงบสติอารมณ์ข้างนอก แต่นี่ไม่ใช่การลงโทษนะ มันหมายความว่า ลูกต้องรู้จักเคารพสิทธิของเพื่อนที่มาเรียนด้วย เพราะทุกคนจ่ายเงินเท่ากัน ถ้าลูกมางอแง แล้วเพื่อนไม่ได้เรียน แปลว่าลูกไปทำให้สิทธิในการเรียนของคนอื่นถูกกีดกัน ซึ่งเรารู้สึกว่าเรามีความสุขกับสิ่งที่ลูกได้ มากกว่าการไปเต้น แต่เป็นการสร้างพื้นฐานเรื่องสิทธิ” 

“แล้วก็เรื่องการรอ คือเด็กอายุ 2 – 3 ขวบ จะอยู่นิ่งไม่ได้ กระดุ๊กกระดิ๊กไปมา แล้วลูกเราไปเรียนช่วง 2 ขวบกว่า ๆ เขาก็นั่งเฉยไม่เป็น ครูก็สังเกตเห็นว่าลูกเราเริ่มจะเป็นเด็กที่รอไม่ได้ เป็นเด็กใจร้อนมากเลย ครูเลยแก้ปัญหาด้วยการเรียกลูกเราเป็นคนสุดท้าย คือมีช่วงหนึ่งที่ฟรีวิลโดนเรียกคนสุดท้ายตลอด ถ้าลุกไปก่อน ครูจะบอกให้กลับไป ยังไม่ได้เรียกชื่อ ถ้าไม่กลับ เพื่อนคนอื่นก็จะไม่ได้มา แล้วสักพักหนึ่งมันก็ดีขึ้นจริง ๆ ซึ่งมันอาจจะดูเข้มงวดนะ แต่เราประทับใจ เพราะมันคือรูปแบบของการสอนให้เคารพสิทธิของคนอื่น และเป็นการสอนให้อยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสงบสุข”

สื่อการสอนเรื่องสิทธิที่สร้างขึ้นเพื่อลูก

นอกจากการปลูกฝังเรื่องสิทธิและเสรีภาพให้กับลูกผ่านกิจกรรมที่ทั้งคู่ตั้งใจเลือก บอมและตุ๊กตายังใช้ “หนังสือ” เป็นเครื่องมือสอนการใช้ชีวิตประจำวัน การรับรู้อารมณ์ของตัวเอง และสิทธิมนุษยชนให้กับลูกสาว

“พอเราได้สำรวจโลกของหนังสือเด็ก เราก็ค้นพบว่า หนังสือเด็กในยุโรปหรืออเมริกา ค่อนข้างแตกต่างจากหนังสือที่มีขายอยู่ในเมืองไทยเยอะมาก แล้วประเด็นที่เขาพูดถึงมันกว้างใหญ่ไพศาล มากกว่าประเด็นในหนังสือนิทานเมืองไทย เราก็เลยใช้วิธีการสั่งหนังสือจากเว็บไซต์เมืองนอก ที่ราคาถูกกว่าในเมืองไทย ซึ่งหนังสือที่เราเลือกมาก็จะเป็นสายประชาธิปไตย อย่างพวก A Is For Activist (โดย Innosanto Nagara), An ABC of Equality (โดย Chana Ginelle Ewing และ Paulina Morgan) หรือ F is for Feminism: An Alphabet Book of Empowerment (โดย Carolyn suzuki) อะไรแบบนี้” 

ผลลัพธ์จากความพยายามหาสื่อการเรียนรู้ดี ๆ ให้กับลูก ทำให้พวกเขามองเห็นปัญหาว่า สื่อการสอนพยัญชนะ ABC ที่มีอยู่ในเมืองไทยยังมีรูปแบบที่จำกัด และแทบไม่มีเวอร์ชันไหนที่พูดถึงประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนเหมือนของต่างประเทศเลย ทำให้ทั้งสองคน ซึ่งเป็นคนทำงานสื่ออยู่แล้ว ตัดสินใจทำโปสเตอร์ ABC ฉบับพิเศษขึ้นมา เพื่อให้ลูกของพวกเขาได้เรียนรู้และเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนผ่านการเรียนรู้เรื่อง ABC 

“คือเราหาโปสเตอร์ที่ดีไซน์สวย ๆ ประเด็นดี ๆ ไม่ได้ ถ้าสวยก็จะเป็นแบบมินิมอล ถูกดีไซน์ให้ทันสมัย แต่ประเด็นเดิม เราก็เลยคิดว่า งั้นก็ให้บอมช่วยวาดสิ วาดให้เราแผ่นเดียวก็ได้ เราอยากได้ เพราะเราหาซื้อจากที่ไหนไม่ได้”

ความท้าทายที่พ่อแม่ต้องรับมือ

แม้จะมีความพยายามปลูกฝังแนวคิดเรื่องสิทธิ เสรีภาพ และประชาธิปไตยให้ลูกตั้งแต่ในบ้าน แต่บอมและตุ๊กตาก็ยอมรับว่าพวกเขารู้สึกกังวลอยู่ไม่น้อยเมื่อต้องส่งลูกเข้าโรงเรียน ซึ่งอาจมีการปลูกฝังแนวคิดที่แตกต่างจากที่บ้าน 

“ความเชื่อเราเป็นแบบนี้ เราไม่อยากให้ลูกของเราต้องไปสวดมนต์ตอนเช้า แล้วก็เรื่องการเคารพธงชาติ เราก็เลยเลือกวิธีไปส่งลูกสาย เพื่อไม่ให้ลูกต้องไปยืนทนหรืออะไรแบบนั้น เพราะเขาอยู่ในวัยเล่น อยู่ในวัยเรียนรู้ ไม่ได้อยู่ในวัยที่ต้องถูกจับไปนั่งสวดมนต์ ซึ่งเราไม่รู้นะว่ามันถูกต้องไหม แต่มันเป็นวิธีที่เราสบายใจ คนอื่นอาจจะมาพูดว่าลูกของเราจะไม่ตรงต่อเวลา ลูกจะไม่มีระเบียบ ซึ่งเราไม่ซื้อ เราไม่แคร์เรื่องพวกนั้น เรารู้สึกว่าเรื่องระเบียบวินัย เรื่องการตรงต่อเวลามันสอนที่บ้านได้” 

บอมและตุ๊กตาบอกว่า ตอนนี้ลูกอยู่ในระดับอนุบาล การเข้าแถวสวดมนต์อาจจะเป็นเรื่องที่เล็กมาก เมื่อเทียบกับตอนที่ลูกขยับไปอยู่ระดับชั้นที่สูงขึ้น ซึ่งความกังวลอาจจะมีมากกว่าเดิม ทั้งในเรื่องเนื้อหาของหนังสือเรียน ระบบอำนาจนิยม และการปลูกฝังเรื่องความเป็นชาตินิยมแบบไทยในโรงเรียน ที่พ่อแม่ทั้งสองคนไม่เห็นด้วย แต่สิ่งที่ทำให้ทั้งคู่กังวลมากกว่าเรื่องการปลูกฝังจากโรงเรียน คือการที่ลูกไม่เชื่อใจที่จะสะท้อนความรู้สึกให้พ่อแม่ได้รับฟัง 

“สิ่งที่เรากลัวมากที่สุดวันนี้ สำหรับลูกวัย 3 ขวบ คือกลัวลูกไม่พูดความรู้สึกลึก ๆ ของเขา สิ่งที่เราต้องการคืออยากให้ลูกกล้าสื่อสารความรู้สึกของตัวเองออกมาอย่างตรงไปตรงมา เพราะเรารู้สึกว่ามันเป็นหัวใจของการปลดล็อกทุกสิ่ง การเข้าใจทุกสิ่ง และนั่นคือสิ่งที่เราพยายามจะบอกเขาอยู่ตลอดเวลา” 

“และเราต้องไม่ทำให้ลูกรู้สึกอับอาย เราจะไม่หัวเราะเยาะเขา บางครั้งที่เขาอาจจะอยากพูดเรื่องอะไรที่เล็กมาก เขามาเล่าให้เราฟัง แล้วเราไปหัวเราะใส่เขาแรง ๆ เราจะไม่ทำแบบนั้น แต่เราจะทำให้มันเป็นเรื่องปกติที่ใคร ๆ ก็เขาก็ทำกัน กล้าพูดออกมาดีแล้ว มันเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว” 

สูตรเลี้ยงลูกที่สร้างด้วยตัวเอง

“เราไม่ได้รู้สึกว่าเราไม่ดี แต่เราไม่รู้ว่าเราดีพอแล้วหรือยัง มันไม่ใช่ความรู้สึกทางลบนะ แต่เราจะตั้งคำถามกับตัวเองว่า เราดีกว่านี้ได้อีกหรือเปล่า เราซัพพอร์ตลูกจนสุดแล้วหรือยัง เราทำหน้าที่แม่ดีแล้วหรือยัง แต่เราก็รู้ตัวเองดีว่า เราไม่ใช่แม่ในแบบที่สังคมส่วนใหญ่นิยาม เวลาคุณจินตนการถึงแม่ ว่าแม่ต้องรักลูก ต้องเสียสละ ทุ่มเท แต่เราไม่ใช่สายซาบซึ้งน้ำตาร่วงอะไรแบบนั้น เราแค่รู้สึกว่าเราก็ทำตามหน้าที่ของเรา” 

บอมและตุ๊กตาเชื่อว่า พ่อแม่แต่ละบ้านล้วนแล้วแต่มีวิธีการเลี้ยงลูกในแบบของตัวเอง แม้บางครั้งพวกเขาจะตั้งคำถามกับวิธีการเลี้ยงลูก หรือพฤติกรรมของพ่อแม่คนอื่นบ้าง แต่ท้ายที่สุด ทั้งคู่ก็มองว่าการเลี้ยงลูกเป็นเรื่องปัจเจก ไม่สามารถเอาสูตรสำเร็จของคนอื่นมาใช้กับเด็กทุกคน และคาดหวังว่าผลลัพธ์จะเป็นเหมือนกันได้ 

“คุณจะเอาวิธีการที่คนอื่นเลี้ยงลูก มาใช้กับลูกคุณเหรอ มันถูกต้องแล้วเหรอ อย่างเวลาลูกกินนมไม่หมด พ่อแม่คนนี้บอกว่ายังไงก็ต้องให้กินจนหมด คือคุณจะไปบังคับลูกเหรอ เรารู้สึกว่า การเลี้ยงลูกเป็นการหาวิธีการเลี้ยงลูกของตัวเอง ไม่ใช่การคัดลอกสูตรการเลี้ยงลูกของคนอื่นมา แต่เราต้องสร้างสูตรนั้นด้วยตัวของเราเอง” 

“จากที่เราไม่เคยรู้สึกอะไรกับประเด็นพ่อแม่ วันนี้เรารู้สึกเคารพ่อแม่ทุกคน ทุกคู่ ทุกครอบครัว ที่กล้าตัดสินใจมีลูกในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา นับว่าเป็นช่วงยากลำบากที่จะให้ลูกเติบโตในสังคมนี้ เราเลยรู้สึกเคารพความกล้าที่พวกเขาตัดสินใจมีลูกในช่วงรัฐบาลแบบนี้ เพราะแน่นอนว่าการสอนลูกมันยากขึ้นกว่าเดิม เช่นเดียวกับการบ่มเพาะลูก ที่ก็ยากขึ้นกว่าเดิม” ทั้งคู่สรุปปิดท้าย


Writer

Avatar photo

ณัฐฐฐิติ คำมูล

วัยรุ่นปวดหลังที่ใฝ่ฝันถึงสังคมที่ทุกคนเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง

Photographer

Avatar photo

ฉัตรมงคล รักราช

ช่างภาพ และนักหัดเขียน

Illustrator

Avatar photo

ลักษิกา บรรพพงศ์

กราฟิกดีไซน์เนอร์ที่เกิดและเติบโตมาพร้อมกับธุรกิจเพลงเด็ก ติดซีรี่ย์ ชอบร้องเพลง ชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และเป็นทาสแมว

Related Posts