กุญแจสำคัญที่สุดในการเป็นครูปฐมวัยคือ ‘การสังเกต’ ฟังเรื่องเล่าจาก ‘แอ๊มป์-พงศ์ปณต ดีคง’ ผู้ก่อตั้งเพจ Leeway ในวันที่ไปเรียนต่อ Learning Design และเป็นคุณครูปฐมวัยที่สหรัฐอเมริกา

“ตอนเด็กๆ เราเป็นนักกีฬา ทำให้มีเวลานอกห้องเรียนเยอะ ได้เรียนรู้ผ่านการเล่นเยอะมากจากประสบการณ์ส่วนตัว เราเลยชอบเรื่องเกี่ยวกับการเล่น แล้วก็รู้สึกว่าเด็กไทยไม่ค่อยได้เล่น เลยคิดอยากจะเปิดเพจขึ้นมา”

‘แอ๊มป์-พงศ์ปณต ดีคง’ ผู้ก่อตั้งเพจว่าด้วยการเรียนรู้ผ่านการเล่นอย่าง Leeway ชวนเราย้อนไปถึงช่วงเยาว์วัยที่เป็นส่วนหนึ่งของความคิดและตัวตนเมื่อเติบโต กลายเป็นที่มาที่ไปของการสร้างเพจขึ้นในช่วงปี 2562 ที่ผ่านมา โดยเนื้อหาช่วงแรกเริ่มที่นำเสนอผ่านเพจ เขาใช้วิธีการค้นคว้าอ้างอิงผ่านงานวิจัยและชุดข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับการเล่น ก่อนจะนำมาเรียบเรียงนำเสนอในแง่มุมต่างๆ เพื่อให้เข้าใจง่ายมากยิ่งขึ้น

แอ๊มป์เล่าถึงกลุ่มวัยที่ Leeway มุ่งจะสื่อสารให้เราฟังว่า ตอนแรกกลุ่มหลักที่อยากจะสื่อสารไม่ได้เป็นวัยเด็กเล็ก แต่มุ่งไปที่เด็กประถม-มัธยมศึกษา เพราะรู้สึกว่าคนเรามักจะมีความทรงจำเกี่ยวกับการเล่นในช่วงวัยนั้นกัน แต่เมื่อทำเพจไปสักพักกลับกลายเป็นว่าคนที่มาคอมเมนต์ แชร์ และติดตามเป็นพ่อแม่ของเด็กที่อยู่ในช่วงวัย 0 – 8 ขวบ 

“เราก็เลยพยายามทำความเข้าใจและตั้งคำถามว่า ‘เพราะอะไรคุณพ่อคุณแม่ถึงมาติดตามเพจเรา’ พอทำการค้นคว้าไปเรื่อยๆ จึงพบว่า เพราะเด็กเล็กมีเวลาเล่นเยอะและยังเรียนรู้ได้ดีที่สุดผ่านการเล่น เป็นช่วงพัฒนาการที่เติบโตได้ดีที่สุดในเชิงสมอง ร่างกาย สติปัญญา ซึ่งล้วนมาจาก ‘การเล่น’ ทั้งหมด เลยเข้าใจว่าช่วงอายุนี้เป็นช่วงสำคัญที่เด็กต้องได้เล่น หลังจากนั้นก็เลยโฟกัสไปที่เด็กเล็ก” 

“อีกเหตุผลคือ เราเห็นว่ามีหมอ นักจิตวิทยา หรือพ่อแม่เปิดเพจกันเยอะ เเต่ยังไม่เห็นนักการศึกษาหรือคนธรรมดาสนใจประเด็นเด็กเล็กเท่าไร เลยคิดว่ามุมมองจากเรา คนที่ไม่ได้มีลูกหรือเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กน่าจะชวนตั้งคำถามและเปิดมุมมองใหม่ให้กับสังคมได้”

หลังจากทำ Leeway ทำให้เขาสนใจเรื่องการออกแบบการเรียนรู้ของเด็กเล็กมากขึ้น และมีหมุดหมายที่จะหาคำตอบเกี่ยวกับด้านนี้อย่างจริงจัง แอ๊มป์จึงไปเรียนต่อปริญญาโทด้านการศึกษา เกี่ยวกับการออกแบบการเรียนรู้ นวัตกรรมและเทคโนโลยี ด้านการศึกษาปฐมวัยโดยเฉพาะ (Learning Design, Innovation, and Technology program (concentration in Early Childhood Education)) ที่ Harvard Graduate School of Education ก่อนที่เขาจะไปทำงานเป็นคุณครูปฐมวัยที่ Boston Outdoor Preschool Network ประเทศสหรัฐอเมริกา 

“เหตุผลที่แอ๊มป์มาเรียนต่อปริญญาโท สาเหตุสำคัญที่สุดเลยคือ วันนึงแอ๊มป์ตื่นมาแล้วถามตัวเองว่า การเล่นมันสำคัญยังไง แล้วเราตอบตัวเองอย่างชัดเจนไม่ได้ คือเวลาเราถามว่าการเล่นสำคัญยังไงต่อเด็ก คำตอบที่ได้มาก็มักจะประมาณว่า การเล่นทำให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์ ทำให้ได้เด็กเรียนรู้ ทำให้เด็กมีความสุข ซึ่งคำตอบแบบนั้นสำหรับเรามันไม่ใช่คำตอบของ Why”

Mappa ชวนพูดคุยถึงการเดินทาง การค้นหาคำตอบ และประสบการณ์การเรียนเกี่ยวกับการออกแบบการเรียนรู้ ไปจนถึงการทำงานกับเด็กเล็กในฐานะครูปฐมวัยของแอ๊มป์ในต่างประเทศเป็นระยะเวลา 7 เดือน สกัดออกมาเป็นมุมมองน่าขบคิดเกี่ยวกับการออกแบบและทำความเข้าใจการเรียนรู้ของเด็กเล็ก ไปจนถึงหมุดหมายของเขากับการทำงานด้านนี้ในไทยต่อไป

ตอนที่ 1 : สิ่งที่ได้เรียนรู้สู่ข้อสังเกตเรื่อง ‘การออกแบบการเรียนรู้’ (Learning Design)

เมื่อตั้งต้นประเด็นสนทนาถึงสิ่งสำคัญที่เป็นหัวใจของการออกแบบการเรียนรู้ (Learning Design) แอ๊มป์เล่าถึงมุมมองและข้อสังเกตของตนจากที่ได้เรียนและลงมือทำงานออกแบบการเรียนรู้ให้กับเด็กปฐมวัย โดยเล่าย้อนไปก่อนที่เขาจะเดินทางไปเรียนปริญญาโทเพื่อชวนตั้งข้อสังเกต ก่อนจะขยายความต่อไปในประเด็นต่างๆ

Q: คุณมีข้อสังเกตเกี่ยวกับ Learning Design ในไทยอย่างไรบ้าง 

ก่อนที่เราจะมาเรียนต่อปริญญาโท ช่วงเริ่มทำ Leeway เราได้มีโอกาสลองทำเรื่องการออกแบบหลักสูตรและการเรียนรู้ พอมาเรียนปริญญาโท สิ่งที่เราสังเกตเห็นและเปรียบเทียบจากประสบการณ์ที่ได้เรียนคือ เรารู้สึกว่าที่ไทยใช้การออกแบบการเรียนรู้ออกมาจากตัวบุคคล (human-centric design) เยอะมาก เช่น คนนี้ needs คืออะไร เราก็ออกแบบการเรียนรู้ให้ตอบ needs ของตัวบุคคล ซึ่งเราก็เห็นว่าเป็นสิ่งที่ดีนะ แต่เรารู้สึกว่าก่อนที่จะออกแบบการเรียนรู้หรือออกแบบหลักสูตรแบบนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดเลยคือต้องเข้าใจหลักพัฒนาการของมนุษย์ (Human Development) ในแต่ละช่วงอายุก่อน

Q: อยากให้ช่วยขยายความ ‘หลักพัฒนาการของมนุษย์’ ที่แอ๊มป์พูดถึง

ก็คืออย่างการทำงานกับเด็กเล็ก สิ่งที่เราต้องรู้ก่อนเลยคือเด็กเล็กพัฒนาผ่าน ‘interaction’ หรือ ‘การปฏิสัมพันธ์’ ที่มาจาก 2 ทาง หรือเรียกว่า Serve and Return โดยเฉพาะการปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ (Human Interaction) เช่น เด็กโยนลูกบอลให้แม่ แม่รับ แล้วแม่ก็โยนกลับ นี่คือปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ที่มาจาก 2 ทาง เด็กเขาเรียนรู้ผ่านตรงนี้ สิ่งนี้มันเป็นพัฒนาการในช่วงปฐมวัยของมนุษย์ ซึ่งในวัยประถม-มัธยมก็จะแตกต่างกันออกไป ดังนั้นเราควรที่จะเข้าใจวิทยาศาสตร์ก่อน อย่างเรื่องการปฏิสัมพันธ์ที่พูดมา คือใยสมองมันต่อกันผ่านการปฏิสัมพันธ์ แล้วใยสมองนี่แหละที่จะเป็นพื้นฐานของการเรียนรู้สิ่งต่างๆ ในอนาคต

พอเข้าใจเรื่องนี้ผมได้คำตอบเลยว่า ‘เพราะอะไรการเล่นจึงสำคัญ’ มันคือเรื่องของใยสมองนี่เอง เพราะการเล่นทำให้เด็กมีการปฏิสัมพันธ์ ซึ่งสิ่งนี้มันทำให้สมองเชื่อมต่อกัน และการเชื่อมต่อของสมองมันเป็นเหมือนรากฐาน คล้ายกับเสาเข็มบ้าน เป็นพื้นฐานให้เด็กพัฒนาทักษะในอนาคตต่อไปได้ ถ้าใยตัวนี้ไม่แข็งแรงก็พัฒนาไม่ได้ในอนาคต เพราะฉะนั้นการเล่นเลยสำคัญมาก

“Learning Design มันลึกซึ้งมากกว่าแค่การเข้าใจ needs เพราะต้องเข้าใจว่ามนุษย์คนหนึ่งเรียนรู้ได้ยังไง ได้รับความรู้ยังไง และเมื่อได้รับความรู้แล้วนำไปปรับใช้ต่อยังไง” 

Q: หลังจากที่เข้าใจช่วงวัย วิธีการเรียนรู้ และพัฒนาการของมนุษย์แล้ว ขั้นตอนต่อมาคืออะไร 

ต่อมาคือการวางแผน พอเราเข้าใจว่าเด็กเล็กเรียนรู้ผ่านการปฏิสัมพันธ์แล้ว เราก็จะวางแผน เช่น วางถ้วยชามให้เด็กเล่น ตักดิน ตักทราย ตรงนี้เป็นขอนไม้ เอาไปปีนป่าย ออกแบบพื้นที่ให้มีที่ว่างสำหรับเด็กวิ่งเล่นหน่อย ให้เกิดปฏิสัมพันธ์และเกิดประสบการณ์

Q: องค์ประกอบสำคัญที่ต้องมองเห็นในการใช้วางแผนคืออะไรบ้าง

สำหรับเรา Learning Design ไม่ใช่การออกแบบการเรียนรู้ในตัวบุคคล แต่มันคือการออกแบบ ‘ประสบการณ์’ ดังนั้นมันจึงต้องมีองค์ประกอบสำคัญ 3 อย่าง คือ ‘สถานที่’ หรือพื้นที่แบบต่างๆ ที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ‘สื่อหรือเครื่องมือ’ เช่น หนังสือนิทาน หนังสือ วิดีโอ คอมพิวเตอร์ YouTube และ ‘คน’ ไม่ว่าจะเป็น ครู พ่อแม่ ผู้ปกครอง เพื่อนๆ

Q: จากประสบการณ์ที่ทำงานในต่างประเทศ พบข้อสังเกตเรื่อง ‘สถานที่-เครื่องมือ-คน’ อย่างไรบ้าง 

แอ๊มป์รู้สึกว่าสิ่งที่ไทยยังไม่พร้อมเหมือนกับที่นี่ (สหรัฐอเมริกา) คือ ต้นทุน เช่น ตอนนี้แอ๊มป์สอนเด็กเล็กอยู่ เวลาเราออกไปเล่นกับเด็กนอกอาคารนั้นไม่มีฝุ่น ซึ่งจะเห็นได้ว่าสถานที่และสิ่งแวดล้อมนั้นพร้อมสำหรับการเรียนรู้

แต่ถ้าอยู่ที่ไทยแล้วอยากพาลูกหรือเด็กนักเรียนออกไปเล่น นอกจากมีฝุ่นเยอะแล้ว ยังไม่มีพื้นที่ในการเล่นอีกด้วย โดยเฉพาะพื้นที่ในเมืองหรือในกรุงเทพฯ แทบจะไม่มีสนามกว้างๆ ให้เด็กได้เล่น หรือถ้ามีก็ไม่ปลอดภัยและไม่มีคุณภาพ ในขณะที่ในสหรัฐอเมริกาเราเดินออกไปไม่ถึง 10 นาที มีสวนใหญ่ๆ และสนามเด็กเล่นที่ดีและปลอดภัยมาก

เรื่องต่อมาคือ เครื่องมือ (Materials) และสื่อในรูปแบบต่างๆ แอ๊มป์เคยไปศูนย์เด็กเล็กที่กรุงเทพฯ หนังสือนิทานมีน้อยมาก เนื้อหาก็ยังไม่ปรับปรุงให้เป็นปัจจุบันและยังไม่มีคุณภาพ

หนังสือส่วนใหญ่เป็นหนังสือเก่า พอมองไปที่ของเล่นก็เป็นของเล่นที่ทำให้เกิดคำถามได้ว่าเป็นของเล่นที่ไม่ปลอดภัยหรือเปล่า มีจำนวนครบหรือเปล่า สะอาดไหม กระทั่งห้องน้ำที่เด็กเข้าก็สำคัญ พวกนี้มันเป็น Materials ที่มีส่วนสำคัญให้เด็กเกิดการเรียนรู้ ซึ่งสิ่งนี้ส่วนตัวเรามองว่าต้นทุนที่ไทยมีน้อยกว่าต่างประเทศ มันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง

“ส่วนเรื่อง ‘คน’ ที่ที่เราทำงานมีเด็ก 9 คน มีครูดูแลทั้งหมด 4 คนด้วยกัน แต่ที่ไทยคือเด็กประมาณ 8 คนต่อครูแค่ 1 – 2 คน ซึ่งเราเชื่อว่าครูไทยไม่ได้ด้อยไปกว่าครูที่อื่นมากขนาดนั้น แต่อาจจะต้องตั้งคำถามใหม่เพิ่มด้วยว่า ‘ครูเราไม่มีคุณภาพในการสอนหรือว่าครูไม่พอกันแน่’ เพราะเวลาครูไม่พอ แน่นอนว่าคุณภาพการสอนมันจะลดลงด้วย”

Q: ทำไมเราจำเป็นต้องเพิ่มจำนวนครูปฐมวัยต่อจำนวนนักเรียนเท่าเดิม

เราก็เพิ่งรู้ตอนมาเป็นครูเด็กเล็กเหมือนกันว่า พอครูหายไปคนหนึ่ง งานต้องเยอะขึ้นอีกมาก อย่างการเปลี่ยนผ้าอ้อมสำเร็จรูปที่เด็กเล็กจะเขาใส่ พอเราได้กลิ่นและรู้ว่าเขาอุจจาระ หมายความว่าเราต้องหายไปเลยเกือบ 20 นาทีเพื่อไปเปลี่ยนผ้าอ้อม เพราะฉะนั้นเด็กอีก 8 คนที่เหลือ จะอยู่กับครูแค่ 3 คน แล้วถ้าสมมติเด็กอีกคนหนึ่งถ่ายอีกรอบ ครูอีกคนก็ต้องพาไป ครูก็จะลดน้อยลงไปอีก หรือถ้าเด็กอีกคนวิ่งตามธรรมชาติของเด็กที่อยู่ดีๆ ก็วิ่งไปโน่นไปนี่ เราก็ต้องดูแลรวมถึงเรื่องความปลอดภัยอีกหลายอย่าง การทำงานกับเด็กเล็กมันจะมีเหตุการณ์ที่เรานึกไม่ถึงเยอะ เพราะฉะนั้นครูจึงต้องมีมากพอสมควรต่อเด็กจำนวนหนึ่ง

หากย้อนกลับไปมองวิทยาศาสตร์ว่าเด็กเล็กพัฒนาการผ่านการปฏิสัมพันธ์ โดยเฉพาะการปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นระหว่างพวกเขากับผู้ใหญ่ ระหว่างเด็กกับเด็กด้วยกันเอง เราจะเห็นว่ายิ่งมีครูจำนวนมาก ปฏิสัมพันธ์ก็ยิ่งจะมีเพิ่มมากขึ้น

Q: นอกจาก 3 องค์ประกอบนี้ แอ๊มป์คิดว่าสิ่งที่หลายคนลืมคิดไปเรื่อง Learning Design คืออะไร 

เรารู้สึกว่าสิ่งที่คนลืมไปเยอะมากๆ คือการวัดผล ซึ่งการวัดผลในที่นี้ไม่ใช่แค่การสอบแล้วจบ มันต้องพิสูจน์ได้ด้วยว่าสิ่งที่คนคนนั้นได้รับ มันนำมาใช้ (apply)ในชีวิตประจำวันได้ 

Learning Design จุดประสงค์มันเรียบง่ายมาก คือทำอย่างไรก็ได้ให้ความรู้หรือสิ่งที่เรามีอยู่ส่งถึง ซึ่งเด็กแต่ละคนหรือผู้เรียนแต่ละคนมีความสามารถในการรับสาร รับความรู้ไม่เหมือนกัน ดังนั้นจึงต้องดีไซน์ทั้ง journey ไม่ใช่แค่ดีไซน์ว่าส่งมอบอะไรไปแล้วจบ มันต้องมองถึงการวัดผลและนำไปใช้

อย่างเราเองที่ไปเรียนเราอาจจำได้ว่าทฤษฎีต่างๆ เป็นอย่างไร แต่เราไม่รู้ว่ามันนำไปใช้แบบไหน ซึ่งเป็นสาเหตุที่แอ๊มป์ไปเป็นครู เพราะแอ๊มป์รู้สึกว่าเราเรียนเนื้อหาเยอะมาก อย่างที่พูดเรื่องการปฏิสัมพันธ์และเรื่องสมองที่ได้เรียนมา เราจะไม่สามารถเข้าใจมันจริงๆ ได้ ถ้าเราไม่ลองเป็นครู

ตอนที่ 2 : ‘เรื่องเล่า’ ในบทบาทครูปฐมวัย กุญแจสำคัญที่สุดคือ ‘การสังเกต’

บทสนทนาต่อมาเต็มไปด้วย ‘เรื่องเล่า’ ที่ถอดถ่ายออกมาจากประสบการณ์ทำงานของแอ๊มป์ในบทบาทครูปฐมวัย ชวนเราเข้าไปทำความเข้าใจและตั้งคำถามในหลากด้านเกี่ยวกับการทำงานกับเด็กเล็กได้อย่างน่าสนใจ 

“บทบาทของครูที่เราได้เรียนรู้อย่างหนึ่งเลย คือการปล่อยให้เขาทำก่อน แล้วเราจะยื่นมือเข้ามาช่วยก็ต่อเมื่อเขาร้องขอหรือเราเห็นว่าเขาทำไม่ได้จริงๆ หลังจากนั้นจึงชวนคุยหรือชวนตั้งคำถาม เพราะส่วนใหญ่เด็กเรียนรู้หรือเข้าใจสิ่งต่างๆ ผ่านการตั้งคำถาม ผ่านการสงสัย”

“อีกอย่างคือการทำเป็นตัวอย่าง เพราะเด็กชอบทำตามและพูดตามด้วย อย่างเราพูดว่า ‘This is flower.’ (นี่คือดอกไม้) เขาก็จะพูดตาม ‘This is flower.’ มันคือการสะท้อนกลับมาอัตโนมัติเลย” 

อีกประเด็นน่าสนใจ แอ๊มป์แชร์ให้เราฟังว่า เขาได้เรียนวิชาหนึ่งคือ ‘Family Engagement’ เป็นวิชาว่าด้วยการมีส่วนร่วมของครอบครัว คุณครู และโรงเรียน โดยเขาได้นำเรื่องนี้มาปรับใช้ตอนทำงานจริง ทำให้ได้เรียนรู้ว่า ‘ครอบครัว’ ก็เข้ามามีส่วนช่วยในสนามการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“มันคือการเอาพ่อแม่หรือครอบครัวมามีส่วนร่วมในการเรียนรู้ อย่างที่นั่นมันจะมีแอปพลิเคชันที่ชื่อว่า Procare คือแอปแชตที่ใช้สำหรับสื่อสารกับพ่อแม่ผู้ปกครองเพื่ออัปเดตตลอดเวลา เช่น พ่อแม่คนหนึ่งเมื่อส่งลูกเสร็จแล้วเด็กร้องไห้แต่พ่อแม่ก็ต้องรีบไปทำงานเลยต้องไปก่อน พอเด็กหยุดร้องไห้ เราซึ่งเป็นครูก็ส่งข้อความหาพ่อแม่เขาว่า ‘ตอนนี้ลูกคุณโอเคแล้วนะ ไม่ต้องกังวลแล้ว’ แล้วก็ส่งรูปไปให้เขา สิ่งนี้มันคือการสื่อสารระหว่างครูกับพ่อแม่ซึ่งเป็นอีกเรื่องที่สำคัญ” 

แอ๊มป์เล่าต่อถึงช่วงก่อนจะสิ้นสุดบทบาทคุณครูปฐมวัยกับที่นี่ เขาได้ทำ ‘Parent-Teacher Conference’ ที่เป็นเหมือนการพบปะกันระหว่างครูและผู้ปกครองของนักเรียน ซึ่งสิ่งที่เขาได้ค้นพบทำให้เขาแปลกใจเมื่อได้คุยกับพ่อแม่ของเด็ก ‘ทุกคน’ พ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กที่นี่ไม่ถามเลยว่าลูกของพวกเขาเป็นอย่างไรบ้าง อย่างที่หลายคนคิดว่าเป็นคำถามที่จะต้องเกิดขึ้นแน่ๆ ในการประชุมผู้ปกครอง แอ๊มป์ชี้ชวนให้เราเห็นว่านั่นอาจจะเป็นเพราะว่าครูมีการอัปเดตพูดคุยกับผู้ปกครองทุกวันผ่านแชตอยู่แล้ว ดังนั้นสิ่งที่ผู้ปกครองที่นี่ถามจึงต่างออกไปและสะท้อนเรื่องที่น่าสนใจ 

“สิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ที่นี่ถามคือ ‘เพื่อนเป็นยังไง’ ‘เพื่อนเล่นกับลูกไหม’ หรือ ‘เพื่อนที่สนิทที่สุดของลูกคือใคร’ สะท้อนให้เห็นว่าเขาจะเน้มถามถึง ‘สิ่งแวดล้อม’ ของลูกมากกว่าถามถึงพฤติกรรมของลูก และถามว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง มากกว่าถามว่าลูกทำอะไร”

นอกจากนี้ แอ๊มป์ยังคลี่ขยายให้เห็นว่าการสื่อสารระหว่างครูกับผู้ปกครองมีส่วนในการช่วยให้การออกแบบการเรียนรู้ให้กับเด็กเป็นไปอย่างราบรื่นและเข้าถึงเด็กได้อย่างลึกซึ้งมากขึ้นผ่านเรื่องราวของเด็กคนหนึ่ง 

“เด็กคนนี้เขาไม่ค่อยเข้าสังคมกับเพื่อน เขามักจะอยู่นิ่งๆ เราต้องคอยจับมือไปชวนให้เล่นกับเพื่อน แล้วช่วงพักทานของว่าง เด็กคนนี้เขาก็จะไม่ค่อยกิน เเต่ไปเล่นแทน หลังจากเล่นเสร็จแล้ว เขาถึงจะบอกว่าเขาอยากกิน หมายความว่า เขาอยากเล่นตอนเพื่อนกิน และกินตอนเพื่อนเล่น ซึ่งสิ่งนี้ค่อนข้างเป็นปัญหาอยู่เหมือนกัน อีกทั้งเราเองต้องลงแรงกับเด็กคนนี้มากขึ้นแทนที่ในช่วงเวลานั้นจะโฟกัสเด็กในภาพรวม ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าจะแก้ปัญหานี้ยังไง เลยลองทำหลายวิธีมากๆ แต่ก็ไม่ได้ผล สุดท้ายมาได้วิธีการแก้ปัญหานี้จากการไปคุยกับพ่อแม่ใน Parent-Teacher Conference นี่แหละ” 

“พ่อแม่เขาบอกว่าที่บ้านเด็กคนนี้ก็เป็นแบบนี้เหมือนกัน แล้ววิธีที่เด็กใช้กับพ่อเขาก็คือ พ่อเขาจะบอกว่า ‘10 นาทีแล้วมากินนะ’ พ่อเขาบอกว่าต้องเป็นเลข 10 ด้วยนะ เลขอื่นไม่ได้ วันรุ่งขึ้นแอ๊มป์ลองใช้วิธีนี้เลยครับ เด็กเขาก็บอกเขาไม่กิน เขาจะไปเล่นก่อน เราก็บอกว่า ‘โอเค ไปเล่นได้นะแต่ 10 นาทีนะ แล้วต้องกลับมากิน’ พอผ่านไป 10 นาที เราก็บอกเขาว่า ‘10 นาทีแล้วนะ’ แล้วเขาก็บอกว่า ‘โอเค’ แล้วสุดท้ายก็มากิน ซึ่งปกติที่ผ่านมาเขาไม่ไม่ยอมมากินเลย”

“มันเหมือนเป็นเคล็ดลับที่เราไม่รู้ เพราะว่าเราก็อยู่กับเขาเฉพาะที่โรงเรียน แต่ปรากฏว่าสิ่งเหล่านี้ถูกทำอยู่ที่บ้าน ดังนั้นแล้วการคุยกับพ่อแม่มันคือการที่เราได้เข้าใจเด็กว่าที่บ้านเป็นอย่างนี้ไหม แล้วที่โรงเรียนเป็นอย่างนี้ไหม ที่โรงเรียนเป็นอย่างนี้ไหม ที่บ้านเป็นอย่างนี้ไหมของทางฝั่งครูและฝั่งครอบครัว เพื่อเอามาปรับใช้หรือหาทางออกแบบการทำงานกับเด็กต่อได้” 

นอกจากนี้ ‘กุญแจดอกสำคัญ’ ที่แอ๊มป์ค้นพบในการทำงานครูปฐมวัยคือ ‘การสังเกต’ ซึ่งเป็นการสำรวจ เฝ้ามอง และใส่ใจรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับเด็กที่ทำให้นำไปสู่การแก้ปัญหาระหว่างทางที่เกิดขึ้นในขณะต้องดูแลเด็กคนหนึ่งได้ดีขึ้น 

“มีเด็กคนหนึ่ง พอเราสังเกตแล้วเทียบกับเด็กคนอื่นในวัยเดียวกัน เด็กคนนี้เขาจะพูดไม่ชัดเท่าคนอื่น ยกตัวอย่างเช่น เขาชอบเอาพวกจานชามมาเล่นบทบาทสมมติทำอาหาร แล้วเราถามเขาว่า ‘ทำอะไร’ เขาจะบอกว่า ‘boba pie… boba pie’ ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าคืออะไร ก็ลองถามเขาไปเรื่อยๆ แล้วลองไปถามพ่อเขาว่า ‘boba pie’ คืออะไร พ่อเขาก็บอกว่า ‘อ๋อ เขาพูด blueberry pie’ ก็คือบลูเบอร์รี เขาพูดคำว่าบลูเบอร์รีไม่ได้ มันยากเกิน แล้วก็มีอีกหลายคำเลยที่พูดไม่ได้”

“แล้วพ่อเขาก็มาถามเราว่า ‘สิ่งนี้เป็น speech delay (การพูดช้ากว่าที่จะเป็น) หรือเปล่า’ ด้วยความที่เราไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเลยขอเวลาพ่อเขา 3 สัปดาห์ แล้วลองสังเกต ปรากฏว่าสิ่งที่เราพบคือ ‘เด็กคนนี้ปกติ’ ไม่ได้มีอะไรผิดปกติเลย แต่ที่เราไม่รู้เพราะว่าก่อนหน้านี้เราอาจสังเกตเขาไม่พอ เราแค่เห็นเขาพูดไม่ได้บางคำแล้วเราก็ด่วนวิตกกังวลว่าเขาจะเป็น speech delay พอสังเกตไปเรื่อยๆ ก็เห็นว่าเขาพูดคำอื่นพอได้หลายคำ ผ่านไปเจ็ดเดือน ตอนนี้เขาพูดคำว่าบลูเบอร์รีได้แล้วครับ พูดได้เร็วมากเลย” 

“สุดท้ายแอ๊มป์ว่ามันคือการสังเกต มันคือการสังเกตเหตุการณ์เล็กๆ น้อยๆ ที่ธรรมดา บางทีเราอาจจะด่วนตัดสินบางเรื่องเร็วไปโดยที่เรายังไม่ได้สังเกต แอ๊มป์รู้สึกว่าการสังเกตเป็นสิ่งที่สำคัญมากเลย แล้วการสังเกตมันจะนำไปสู่การทำเป็นตัวอย่าง การช่วยแล้วก็เอามือเข้ามาช่วย มาสนับสนุนเขาตอนเขาทำไม่ได้ หรือว่าช่วยตั้งคำถาม ช่วยชวนคุย” 

การสังเกตทำให้แอ๊มป์ได้ค้นพบว่าสิ่งสำคัญมากๆ ในสนามการทำงานนี้คือเรื่องที่เรียกว่า ‘Simple Interactions’ ซึ่งคือ ปฏิสัมพันธ์เล็กๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน แต่หลายคนอาจมองข้ามไป แอ๊มป์เรียกช่วงเวลาเรียบง่ายที่เกิดขึ้นเหล่านั้นว่า ‘เพชร’ เพราะแม้จะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเป็นปกติธรรมดา แต่มันเป็น ‘Active Ingredient’ หรือวัตถุดิบที่สำคัญมากๆ ในเชิงพัฒนาการ 

“เราทำงานเป็นครูปฐมวัยมา 7 เดือนสิ่งที่ชอบที่สุดคือการเปลี่ยนผ้าอ้อม เรารู้สึกว่าการเปลี่ยนผ้าอ้อมมันคือการที่เราได้ปฏิสัมพันธ์ (Interact) กับเขา มันเรียบง่ายมาก แต่เป็นช่วงเวลาคุณภาพ มันคือเพชรของเวลาที่ได้ใช้ร่วมกัน”

แอ๊มป์ขยายความต่อว่า “การเปลี่ยนผ้าอ้อมมันคือการปฏิสัมพันธ์แบบหนึ่งต่อหนึ่ง มันคือการเข้าใจเด็ก อย่างเราเวลาเปลี่ยนผ้าอ้อมก็จะชวนคุยว่า ‘ทำอะไรมา ชอบอะไร ชอบของเล่นอะไร ชอบหนังสือเรื่องอะไร’ มันไม่ใช่แค่ interaction ในเชิงที่เขาพัฒนาการทางสมองเท่านั้น แต่มันคือการเข้าใจเด็กมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะในฐานะครูปฐมวัยที่เราไม่ได้อยู่กับเขาตลอดเหมือนพ่อแม่ ช่วงเวลานี้มันเลยเป็นการเข้าไปทำความเข้าใจมากขึ้นอีกผ่านการเปลี่ยนผ้าอ้อมซึ่งเป็นสิ่งที่ simple มาก และต้องเกิดขึ้นอยู่ทุกวันในการดูแลเด็กเล็ก” 

____________________________________ 

หมุดหมายต่อไปในการทำงานด้านการเรียนรู้

หลังจากชวนคุยถึงเรื่องเล่าและสิ่งที่แอ๊มป์ได้เรียนรู้ ฉายภาพให้เราเห็นเรื่องที่ลึกลงไปในการทำงานด้านการเรียนรู้เกี่ยวกับเด็กเล็กที่ลึกซึ้งมากขึ้นในหลากด้าน และแม้การเดินทางไปเรียนต่อและการทำงานในบทบาทการเป็นครูปฐมวัยที่สหรัฐอเมริกาได้จบลงไปแล้ว แต่การเดินทางครั้งนั้นก็ทำให้แอ๊มป์ชัดเจนในหมุดหมายของตัวเองมากขึ้นและมีความตั้งใจที่จะกลับมาทำงานด้านนี้ที่ประเทศไทย 

“แอ๊มป์อยากจัดกิจกรรมให้กับพ่อแม่ผู้ปกครองและครูโดยเฉพาะเรื่อง ‘Human Interaction’ ไม่ว่าจะเป็นครูหรือพ่อแม่กับเด็ก เพราะอย่างที่บอก มันเป็นเรื่องที่มันเล็กน้อยมาก แต่มันคือสิ่งที่สำคัญที่สุดของเด็กเล็กเลย”

“การศึกษาไทยมันยังมีให้ทำอีกเยอะมาก อย่างเรื่องการยึดโยงพ่อแม่หรือครอบครัวเข้ามาในการเรียนรู้ของเด็กในโรงเรียน (Family Engagement) เรารู้สึกว่าที่เมืองไทยมีช่องว่าง (Gap) ที่น่าสนใจมาก ถ้าทำได้มันน่าจะเพิ่มคุณภาพ (Quality) และประสิทธิภาพ (Efficiency) ของการเรียนรู้ได้แน่นอน” 

เมื่อถามคำถามที่ว่า ‘กลัวไหมถ้ากลับมาสอนเด็กอนุบาลที่ไทย ซึ่งอาจจะมีบริบทแตกต่างจากต่างประเทศ’ แอ๊มป์ตอบกลับมาทันทีว่า 

“ไม่กลัวเลยครับ อยากทำมาก ถ้าได้สอนจริงๆ จะดีใจมากๆ และตื่นเต้นมาก แต่เราก็เข้าใจแล้วตระหนักตลอดว่าบริบทมีความสำคัญมาก (Context Matters)’ การที่เรามีกรอบคิด (Mindset) หรือประสบการณ์บางอย่างจากที่เราเคยทำงานมาในต่างประเทศ เราก็อาจจะไม่สามารถคาดหวังได้แบบเดียวกันที่ไทย ต้องมีพื้นที่ในการเตรียมใจไว้ก่อนด้วย แต่ไม่กลัวเลย และคิดว่าแต่ละที่มันก็มีจุดแข็งจุดอ่อนแตกต่างกัน” 


Writer

Avatar photo

ศิรินญา

หาทำอะไรไปเรื่อยๆ ตามประสาวัยลุ้น

Illustrator

Avatar photo

พรภวิษย์ เพ็งเอียด

ชอบกินเนื้อต้มและตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือให้ได้ปีละสามเล่ม

Related Posts