คุยข้ามโลก ปิดบ้าน เปิดการเรียนรู้

ออสเตรเลีย: “เด็กต้องไม่ใช่ผู้ประสบภัย” ล็อกดาวน์ได้ทุกอย่างยกเว้นการเรียนรู้

  • เมื่อสถานการณ์ไม่เป็นใจให้เด็กเรียนรู้นอกพื้นที่ ‘บ้าน’ จึงเป็นพื้นที่เดียวที่สามารถส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กได้
  • คุยกับ ภัทร คุณพ่อลูกสองกับการเลี้ยงลูกท่ามกลางสถานการณ์โควิดในประเทศออสเตรเลีย
  • ที่นี่โรงเรียนอนุบาลเปิด ไม่บังคับให้เด็กๆ สวมแมสก์ เพราะอะไรติดตามได้จากรายงานพิเศษชิ้นนี้

“เราก็ซื้อสีมาให้เขาระบาย หรือถ้าอยากเล่นนอกบ้านเราก็ซื้อทรายให้เขาเล่น ซื้อเลโก้ให้เขาต่อที่บ้านเลย ที่นี่ของเล่นพวกนี้มันไม่แพง แค่นี้เด็กก็มี playground ของตัวเองได้แล้วที่บ้าน”

เสียงจาก ภัทร หรือ ภัทรบพิตร นาหนองค้า อายุ 35 ปี คุณพ่อลูกสองของลูกสาววัย 7 ขวบ และลูกชายคนเล็กวัย 4 ขวบ ภัทรและครอบครัวอาศัยและลงหลักปักฐานอยู่ที่ประเทศออสเตรเลีย เมืองเมลเบิร์น ด้วยการประกอบธุรกิจร้านอาหารชื่อว่า Centre Thai Cafe and Restuarant 

ประโยคแรกจากภัทร คือหนึ่งในวิธีการรับมือโดยการสร้าง playground ที่บ้านให้ลูกๆ เมื่อสนามเด็กเล่นของสวนสาธารณะที่เด็กๆ มักไปเล่นเป็นประจำถูกปิดชั่วคราว

ไม่ได้เล่น = ไม่ได้เรียนรู้ พัฒนาการของเด็กเล่นเกิดจากการเล่น เด็กจึงกลายเป็นผู้ประสบภัย ประโยคนี้ไม่ไกลเกินจริงเลย และอาจจะหนักหนากว่าเพราะผลกระทบจะไปแสดงผลชัดเมื่อเติบโต 

ภัทรบพิตร นาหนองค้า

สร้างสนามเด็กเล่นภายในบ้าน ไม่บังคับเด็กสวมแมสก์ 

จากสถานการณ์โควิดของประเทศออสเตรเลียในช่วงเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ภัทรเล่าว่าภาครัฐที่นี่มีมาตรการและนโยบายที่เข้มงวดอย่างมาก ยกตัวอย่างรัฐวิคตอเรียเองที่เขาอาศัยอยู่มีการประกาศล็อคดาวน์ที่เรียกว่า ‘Ring of Steel’ หรือห้ามให้คนในเมืองออกนอกเมือง

กล่าวคือ ก่อนที่ทุกอย่างจะกลับมาเป็นปกติเช่นทุกวันนี้ นโยบายการล็อคดาวน์ของภาครัฐออสเตรเลีย ทำให้ผู้คนทั้งเมืองไม่สามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้อย่างสะดวก ภัทรกล่าวว่า กิจกรรมที่ประชาชนทำได้มากที่สุดคือการออกจากบ้านไปซื้ออาหาร หรือเดิน/วิ่งออกกำลังกายภายในรัศมี 5 กิโลเมตรจากบ้าน และจำกัดเวลาออกจากบ้านได้ตั้งแต่ 7 โมงเช้าถึง 2 ทุ่มเท่านั้น

นอกจากนี้รัฐยังมีมาตรการคุ้มครองเด็กโดยห้ามให้เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี สวมใส่หน้ากากอนามัย เนื่องด้วยการใส่หน้ากากจะเป็นการลดระดับออกซิเจนในเลือดของเด็ก 

ด้วยเหตุผลนี้ทำให้ภัทรเลือกให้ลูกอยู่ที่บ้านเป็นส่วนใหญ่เพื่อป้องกันลูก เขาจึงหาและเตรียมกิจกรรมมากมายไว้รองรับ อย่างการเล่นเกม ดูหนัง ทำสวน ปลูกผักและตกแต่งบ้าน

“ที่บ้านก็มีกิจกรรมที่เขาจะทำได้เยอะ เช่นดูหนัง เน็ตฟลิกซ์ เราก็ไปดูด้วยได้ และก็ไม่มีความเครียดอะไรนะ แค่ไม่ได้ออกไปไหน ไม่ได้ไปเที่ยวที่ไหน ก็มีเวลาทำสวนมากขึ้น เด็กก็ชอบนะได้ลงมือทำเองตัดต้นไม้เองเลย”

ถึงแม้จะไม่สามารถพาลูกออกไปเปิดโลกหรือเที่ยวเล่นที่ทะเล หรือสวนสัตว์ได้เหมือนก่อน แต่ภัทรก็มองว่าเด็กสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ หากผู้ใหญ่เตรียมพร้อมและสนับสนุนพวกเขา ดังนั้นบ้านจึงเป็นสนามเด็กเล่นและเป็นที่เรียนรู้ได้พร้อมๆ กัน

“เราไม่ push อะไรลูกเท่าไหร่ แล้วแต่เขาเลย แต่เราก็เตรียมของไว้ให้หลายๆ อย่าง เช่นที่บ้านเราก็เตรียมสีไว้ให้ แต่เราไม่ได้บังคับให้เขาวาดนะ ถ้าเขาอยากวาดรูปเดี๋ยวเขาก็วาดกันเอง หรือซื้อเลโก้ให้แล้วก็เอามาวางไว้ ถ้าเขาอยากต่อหรือไม่อยากต่อเดี๋ยวเขาก็เลือกเอง อันดับแรกต้องให้เขารู้ว่าเขาชอบอะไร ถ้าเขารู้ว่าเขาชอบอะไรเขาก็จะทำมันออกมาได้ดี” 

เมื่อการศึกษาดี เด็กก็จะได้เป็นเด็กอย่างที่ควรจะเป็น

นอกจากนี้ แน่นอนว่าสถานการณ์โควิดย่อมกระทบต่อการศึกษา

ภัทรเล่าว่า ที่ออสเตรเลีย เด็กทุกคนจะได้รับสวัสดิการเรียนฟรีจนถึงอายุ 18 ปี ทำให้ผู้ปกครองไม่มีปัญหาเรื่องค่าเล่าเรียน แม้จะอยู่หรือไม่อยู่ในสถานการณ์โควิด 

ภัทรและพ่อแม่จึงมีกำลังพอที่จะซื้อแทบเล็ต คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค และอุปกรณ์สำคัญต่างๆ สำหรับการเรียนออนไลน์

ภัทรเพิ่มเติมว่าการเรียนการสอนของลูกสาวในช่วงโควิด จะเป็นการเรียนการสอนออนไลน์ผ่านแอพพลิเคชั่นของโรงเรียนเป็นหลัก ซึ่งเด็กสามารถเข้าไปดูการบ้าน เรียน อ่านเขียน ทำกิจกรรมต่างๆ ได้ผ่านแอพฯ โดยครูแต่ละวิชาจะอัดคลิปวิดีโอทุก 9 โมงเช้าเพื่ออธิบายถึงสิ่งที่เด็กต้องทำในแต่ละวัน

จากนั้นเด็กๆ ก็สามารถเปิดเข้าไปดูได้ว่าวันนี้มีกิจกรรมอะไรบ้าง เมื่อทำกิจกรรมหนึ่งๆ เสร็จแล้ว ก็สามารถอัพโหลดการบ้านส่งให้คุณครูตรวจทานได้ โดยจะมี dojo point หรือเทียบได้กับการให้ดาวของไทยเพื่อเป็นรางวัลให้แก่เด็กๆ

สำหรับเด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาลยังเปิดทำการเรียนการสอนได้ แต่จำกัดจำนวนครูและเด็ก เนื่องจากมีพ่อแม่บางครอบครัวที่ยังจำเป็นต้องไปทำงาน และไม่มีใครอยู่บ้านดูแลเด็ก ดังนั้นการให้เด็กมาโรงเรียนจึงเป็นผลดีมากกว่า ส่วนครอบครัวใดที่ไม่มีปัญหา เด็กๆ สามารถอยู่ที่บ้านกับพ่อแม่ผู้ปกครองได้

ด้วยนโยบายทางการศึกษาที่ดีแล้ว ภัทรยังชื่นชมถึงวิธีการเรียนการสอนในแบบออสเตรเลียที่เห็นความสำคัญที่ตัวเด็กเป็นหลัก โดยการยกตัวอย่างลูกชายของเขาที่อยู่ช่วงอนุบาลว่า 

“โรงเรียนอนุบาลเขาก็มีกิจกรรมที่ไม่เน้นวิชาการมาก อย่าง วาดรูป วิ่งเล่น ให้เด็กมีอิสระมากทางความคิด อยากทำอะไรก็ทำ อยากนอนก็นอน อยากเล่นก็เล่น เขาไม่ได้ซีเรียสขนาดนั้น”

ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่ภัทรเชื่อและใช้เลี้ยงลูกมาเสมอนั่นคือ a kid is a kid เด็กก็คือเด็ก 

“ถ้าเราอยู่กับเด็กเราต้องเข้าใจธรรมชาติของเด็กแค่นั้นเอง เราอย่าไป push เขามาก เพราะเขาก็คือเด็กคนหนึ่ง” ภัทรทิ้งท้าย


Writer

Avatar photo

mappa learning

Related Posts