BASE Ambassador รุ่น 2

“เราคือสิ่งมีชีวิตที่มีเหตุผล” เรื่องเล่าที่วัยรุ่นอยากให้คุณฟัง

mappa คุยกับเหล่า BASE Ambassador ตัวแทนเยาวชน 7 คน 7 เรื่องราว พวกเขาถูกยืนยันแล้วว่าตัวเองมี ‘อาวุธ’ ที่พร้อมใช้งาน เนื่องจากผ่านการคัดเลือกเข้าโปรแกรมกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตัวเองและพัฒนาทักษะต่างๆ ที่จำเป็นในศตวรรษนี้ ภายใต้การสนับสนุนโดยกลุ่ม BASE Playhouse ที่มีความเชื่อว่าการเรียนรู้ที่ดีย่อมมาจาก ‘ประสบการณ์’ มากกว่า ‘ตำรา’

เรื่องเล่า เรื่องที่ 1

ร่าเริงสดใส มั่นใจ กล้าแสดงออก

โดม-อรณัฐ ว่องวรการวิทย์ นักเรียนมัธยมชั้น ม.6 โรงเรียนราชินีบน

โดมมีความฝันอยากเป็นยูทูเบอร์ และอยากมีโฮมสเตย์สไตล์ Bed and Breakfast โดมชอบทำเวร ชอบงานบริการและอยากให้บริการนั้นสะอาดและมีความสุข

โดมไม่ได้โลกสวยแต่มองสิ่งรอบตัวด้วยทัศนคติเชิงบวก นอกจากตัวเองจะได้ผ่อนคลายแล้ว ยังทำให้เห็นช่องว่างของปัญหามากขึ้น 

“เราจะได้เห็นช่องโหว่ ทำให้แก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ดีขึ้น” โดมยกตัวอย่างการทำงานกลุ่ม ถ้าเพื่อนคนใดคนหนึ่งทำงานไม่ดี ปีศาจฝั่งลบที่อยู่ในตัวก็อาจจะกระซิบบอกว่า “เพื่อนคนนี้แย่จัง” แต่พอพลิกไปขั้วตรงข้าม โดมบอกว่า “เขาอาจยังไม่มีประสบการณ์ แต่เราแนะนำได้ ช่วยกัน” 

เพราะลำพังการเป็นนักเรียนก็เหนื่อยอยู่แล้ว เพื่อนจึงควรเป็นกำลังสำคัญมากกว่ามาบั่นทอน

“การโตเป็นผู้ใหญ่มันยากอยู่แล้ว ทุกคนก็คงรู้ เดี๋ยวนี้การแข่งขันก็มากขึ้นด้วย ไหนจะสอบเข้า ไหนจะโปรเจ็คต์ที่ต้องทำ เรียนพิเศษ เยอะแยะไปหมด” 

และจะดีมากๆ ถ้าผู้ใหญ่จะให้กำลังใจมากกว่าเปรียบเทียบ ทั้งที่ก็รู้แหละว่าภายใต้ภาษาหมาป่าคือความหวังดี 

“หนูไม่ชอบผู้ใหญ่ที่ชอบเปรียบเทียบ แต่ละคนมีคุณค่าในตัวเองต่างกัน เราไม่ควรไปเปรียบเทียบว่า เนี่ย คนนี้ทำได้แล้วทำไมคนนี้ทำไม่ได้ล่ะ ทุกคนมีความสามารถและทัศนคติต่างกัน หนูไม่ชอบผู้ใหญ่แนวนี้ที่สุด บั่นทอนกำลังใจที่เรามี”

แต่กำลังใจของโดมไม่เคยพร่อง เพราะครอบครัวเติมให้ตลอดเวลา 

ครอบครัวของโดมคือแม่ เพราะโดมเป็นลูกคนเดียว ส่วนคุณพ่อเสียไป 2-3 ปีแล้ว 

“ครอบครัวเป็นพื้นฐานของชีวิตค่ะ มีครอบครัวคอยรับฟังเรา เวลาที่เราทำอะไรผิดแม่ก็จะเรียกไปนั่งคุย ไม่ดุแต่ให้สำนึกผิดด้วยตัวเอง เราต้องรู้ว่าเราทำอะไรผิดด้วยตัวเอง ไม่ใช่แค่ทำโทษเราโดยที่เรายังไม่รู้ตัวเลยด้วยซ้ำว่าเราทำอะไรผิด  แม่จะเป็นคนคอยดูอยู่ห่างๆ เสมอ คอยเตือนว่าอย่างนี้ดีกว่านะ แต่ไม่ได้กดดันเรา เพราะวัยรุ่นมันก็ควบคุมยาก บางทีพูดไปก็อาจจะไม่สนใจ หรือรู้สึกว่ากดดันเราทำไม (ยิ้ม)” โดมเลยมีแม่เป็นทั้งแม่ เพื่อน และไอดอล 

ต่างจากผู้ใหญ่คนอื่น โดยเฉพาะผู้ใหญ่ที่ชอบคิดว่าเด็กคือสิ่งมีชีวิตที่ไม่มีเหตุผล 

“เวลาที่เราเถียงกับเขา หรือเราพยายามอธิบายเหตุผล ผู้ใหญ่จะชอบบอกว่าไม่มีเหตุผล เพราะเธอยังเด็กอยู่ หนูรู้สึกว่าบางทีมันก็ไม่ใช่ เพราะถ้าเราได้ฝึกฝน เราจะมีทัศนคติ มีความคิด มีเหตุผลและเติบโตได้เหมือนกัน” 

สังคมมีความแตกต่างกันมากพออยู่แล้ว ถ้าการวัดคุณค่าคนตั้งอยู่บนความไม่เหมือนกัน โดมไม่เห็นด้วยและอึดอัดมากที่สุด

“คนชอบตัดสินคนจากความแตกต่างว่า เฮ้ย เธอต่างจากเรา เธอไม่ดี หนูรู้สึกว่ามันอาจจะดูไม่ยุติธรรมกับเขาเกินไป คนอื่นก็เป็นมนุษย์เหมือนเรา ยืนอยู่บนโลกใบเดียวกันกับเรา มีความสามารถและคุณค่าในตัวเองเหมือนกัน มีพ่อแม่เหมือนกัน หนูก็เลยรู้สึกว่า ไม่ควรมีใครไปโทษหรือข่มเหงใคร”  

เรื่องเล่า เรื่องที่ 2

มุ่งมั่น ตั้งใจ เปลี่ยนแปลง

เฟยเฟย-บุณยาพร อึ้งพัฒนากิจ วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี ปวช.3 

เฟยเฟย คือว่าที่นายกองค์การนักวิชาชีพในอนาคตแห่งประเทศไทย (อวท.) ที่ทำงานด้านพัฒนาด้านการศึกษาสายอาชีวะ  

“มุ่งมั่น ตั้งใจ เปลี่ยนแปลง” คือสโลแกนประจำตัวของเธอ

มุ่งมั่นอย่างไร  

“หนูเป็นคนมุ่งมั่นอยากทำเพื่อส่วนรวม เพื่อพัฒนา ตั้งใจคือ หนูทำทุกอย่างที่หนูตั้งใจไว้อย่างเต็มที่ที่สุด อย่างสุดความสามารถของหนูเลย และเปลี่ยนแปลง หนูเป็นคนที่ชอบเปลี่ยนแปลงอะไรที่มันไม่ใช่อย่างที่ควรจะเป็นค่ะ” 

อะไรบ้างที่ไม่ใช่อย่างที่ควรจะเป็น?

“สมมุติเราเดินเท้าซ้าย แล้วเขาบอกว่า ไม่ เราควรที่จะเดินเท้าขวา หนูจะบอกว่าไม่ มันไม่ควรที่จะมาใช้คำว่า ‘ควรจะ’ โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว ทุกคนมีความคิดเป็นของตัวเอง” 

โตขึ้นอาชีพที่เฟยเฟยฝันไว้มีถึง 3 อย่างคือ สถาปนิก นักพัฒนา และเปิดเวดดิ้งสตูดิโอ 

ว่าที่นายก อวท. บอกว่าอนาคตขอเหมาหมดทั้ง 3 อาชีพ หมดยุคของการต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว

“ทุกอย่างที่หนูอยากทำ มันเกิดจากตัวหนูเอง เราสามารถทำทุกอย่างที่เราอยากเป็นได้”

และการเรียนสายอาชีวะตอบโจทย์เฟยเฟยมากกว่าสายสามัญ ทัศนคติภายนอกที่มองมาไม่มีผลต่อการตัดสินใจ 

“หนูรู้สึกว่ามันไม่ได้เหมือนแต่ก่อนแล้ว ทุกสาขาสำคัญเหมือนกันหมด สมมุติเราอยากเป็นช่างยนต์ เราไม่จำเป็นต้องเรียนสายสามัญที่ต้องเรียนวิชาอะไรไม่รู้ที่ไม่ได้เอาไปใช้จริงๆ ถ้าเราเรียนสายอาชีพแล้วมันตรงกว่า ได้ฝึกทำ ได้ปฏิบัติเลย เราได้ความรู้เยอะกว่า สุดท้ายแล้วมันไม่มีสายไหนดีหรือเด่นกว่ากันเลย มันอยู่ที่ตัวเราจะเลือกเรียน หรือคิดว่าอันไหนเหมาะกับเรา” 

อีกหนึ่งเหตุผลที่เฟยเฟยหันหลังให้สายสามัญ เพราะต้องการเข้าไปพิสูจน์ข้อหาว่าเป็นที่ของเด็กตกขอบ ชอบใช้ความรุนแรง – มันไม่จริง

“คนสมัยก่อนบอกว่าเรียนอาชีวะไม่ดี ตีกัน หนูอยากเข้ามาพิสูจน์ว่ามันไม่จริงเพื่อให้ทุกคนเปิดมุมมองว่ามันไม่ใช่แล้ว คุณไม่ได้มายืน แล้วคุณไม่ได้มาอยู่ ณ จุดเรา คุณมองแค่สิ่งที่คุณได้ยิน เห็นแค่ผิวเผิน แต่พอได้เข้ามาจริงๆ สิ่งที่หนูได้ยินมามันไม่ใช่เลย ถามว่ามันมีไหม มันมี แต่อยู่ที่ตัวคุณเองว่าคุณจะเลือกคบคนแบบไหน เข้าสังคมแบบไหนมากกว่า มันไม่ได้เกี่ยวว่าคุณจะเข้าไปเรียนที่ไหน ที่ไหนก็มีหมดทั้งดีและไม่ดี”

เฟยเฟยกำลังบอกว่า นี่เป็น ‘แบบ’ ของผู้ใหญ่ที่เธอไม่ชอบและจะไม่โตมาเป็นอย่างนั้น 

“หนูไม่ชอบผู้ใหญ่ที่ฟังอย่างเดียวแล้วตัดสินว่ามันควรจะเป็นอย่างไร ทั้งๆ ที่ไม่เคยเห็นหรือไม่เคยไปสัมผัสสิ่งเหล่านั้น เขาไม่ควรที่จะใช้คำว่า ‘ควรจะเป็น’ ในสิ่งที่ตัวเองอยากให้เป็น เด็กทุกคนมีความต้องการแตกต่างกัน มีความชอบที่แตกต่างกัน สมมุติว่าลูกชอบเรียนศิลปะ แต่พ่อแม่บอกว่าไม่ ลูกควรเรียนสายวิทย์-คณิตมากกว่า” 

เรื่องเล่า เรื่องที่ 3

ขี้สงสัย กระตือรือร้น และคิดบวก

แคนดี้-พิชาญา พิชญเดชะ KMIDS Lat Krabang, Grade10

โตขึ้น ‘แคนดี้’ สาวน้อยเกรด 10 โรงเรียนสาธิตนานาชาติพระจอมเกล้า สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง อยากใส่เสื้อกาวน์เพราะคุณหมอช่วยชีวิตแม่และเธอเอาไว้

“ตอนคุณแม่จะคลอดหนู คุณแม่หนูเป็นโรคเลือด เลยมีความเสี่ยงจะเสียเลือดมาก อาจต้องเลือกว่าให้แม่หรือลูกรอด แต่คุณหมอช่วยคุณแม่ทุกอย่างเลย ทั้งเตรียมเกล็ดเลือด พาย้ายมาโรงพยาบาลรัฐบาล ซึ่งคุณหมอจะได้เงินน้อยกว่าค่ะ แต่เขาก็ทำทุกอย่างจนคุณแม่และหนูปลอดภัย หนูเลยอยากจะเป็นหมอ” 

ขี้สงสัย กระตือรือร้น และคิดบวก คือสามคำที่แคนดี้เลือกแล้วว่าเหมาะกับตัวเองที่สุด

“หนูเป็นคนที่ขี้สงสัยตอนที่หนูไม่รู้ว่าต้องทำยังไงดี หรือตอนที่หนูเห็นใครทำอะไรที่มันเท่ๆ หนูก็จะสงสัย ทำให้หนูอยากจะลองทำ อยากลองเรียนรู้ แล้วหนูพบว่าหนูเป็นคนกระตือรือร้น เพราะว่าเรียนรู้ค่อนข้างเร็ว คำสุดท้ายคือ คิดบวกเพราะว่าในกลุ่มเพื่อน หนูจะเป็นคนคอยให้คำปรึกษาเพื่อนๆ เพราะว่าหนูมีความคิดที่เป็นบวก ทำให้เพื่อนๆ ได้ลองคิดในมุมที่พวกเขาไม่เคยคิดมาก่อนค่ะ”

แคนดี้พูดภาษาอังกฤษได้คล่องกว่าภาษาไทยเพราะเรียนโรงเรียนนานาชาติมาตลอด เธอยอมรับว่านอกจากภาษา การได้เปิดโลก เจอกับวัฒนธรรมหลากหลายอาจเป็นข้อได้เปรียบอยู่บ้าง จนหลายคนมองเข้ามาว่าเด็กนานาชาติอยู่ในระดับ privilege ของระบบการศึกษา

จึงกลายมาเป็นความฝันอีกก้อนหนึ่งของแคนดี้ คืออยากทำให้คุณภาพโรงเรียนนานาชาติกับโรงเรียนไทย มีคุณภาพทัดเทียมกัน  

“หนูอยากให้ระบบการศึกษาไทยเข้าถึงและเห็นคุณภาพของคนมากกว่านี้ค่ะ เพราะเพื่อนบางคนของหนูที่เรียนอยู่ในโรงเรียนไทย เขาพูดอังกฤษได้นะคะ แต่ไม่ค่อยคล่อง เขาก็เลยไม่สามารถถ่ายทอดความคิดของเขา หรือนำเสนอความคิดสู่สากลได้ แต่หนูคิดว่าเด็กไทยมีศักยภาพ เก่งมาก ฉลาดแล้วมีทักษะที่เด็กทั่วโลกยังไม่มีด้วย หนูเลยคิดว่านักเรียนไทยน่าจะได้รับคุณภาพทางการศึกษาเท่ากับโรงเรียนนานาชาติ เพราะมันมีความแตกต่างมากกันเกินไปในระบบการศึกษา หนูคิดว่านี่คือสิ่งที่ควรจะเปลี่ยนแปลง” 

แล้วทักษะอะไรที่เด็กไทยมี เด็กๆ ชาติอื่นอาจจะไม่มี 

“เท่าที่หนูสังเกต ความเป็นทีมเวิร์คค่ะ พวกเขาเก่งมากเรื่องแบ่งงานค่ะแล้วก็เก่งเรื่องการสื่อสาร เขาแชร์ไอเดียได้อย่างไม่กลัวเลยนะคะ มีความมั่นใจด้วยค่ะ” 

แต่ติดอยู่ข้อเดียว เด็กไทยเรียนหนักไปหน่อย – แคนดี้ว่า ถ้าได้ออกไปเรียนนอกห้องมากกว่านี้ ได้ทำกิจกรรมอย่างอื่นบ้าง ก็จะเจ๋งมากๆ เพราะช่วยพัฒนาให้เด็กๆ คิดนอกกรอบ

ในอนาคต นอกจากจะอยากเป็นหมอแล้ว เมื่อถอดเสื้อกาวน์ออกเหลือแค่ความเป็นมนุษย์ธรรมดา แคนดี้ก็อยากเป็นมนุษย์ธรรมดาที่เท่ๆ 

“หนูอยากโตเป็นผู้ใหญ่เท่ๆ เป็นพ่อแม่เท่ๆ ที่เข้าใจลูกๆ ให้เขาได้เติบโตด้วยเองอย่างปลอดภัย อยากเป็นผู้ใหญ่ที่เปิดใจยอมรับสิ่งต่างๆ พร้อมรับฟังปัญหาในชีวิตของลูก” 

แล้วไม่อยากโตเป็นผู้ใหญ่แบบไหน?

“ไม่อยากเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่เข้าใจการเปลี่ยนแปลงค่ะ เพราะว่าเวลาที่หนูเติบโต แน่นอนว่าในอนาคตมันจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงที่หนูเองก็ต้องยอมรับ หนูไม่อยากเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่ยอมรับเรื่องเหล่านี้ เพราะว่าเวลาเปลี่ยนเราก็ต้องเปลี่ยน และเพื่อที่จะอยู่รอด เราก็ต้องยอมรับความเป็นจริง” 

นอกจากแม่แล้ว ไอดอลอีกคนหนึ่งของแคนดี้คือ อีลอน มัสก์ เพราะความฉลาดและบ้ามากๆ  

“เวลาที่เขาอยากจะทำอะไร เขาก็ทำทันที แล้วเวลาเขาคิดอะไรสักอย่างแล้วมันไม่ประสบความสำเร็จ เขาจะไม่ยอมแพ้และยังคงทำมันต่อไป มันเลยทำให้เขาดูเป็นคนบ้า แต่เพราะความบ้าของเขานี่แหละที่ทำให้โปรเจ็คต์ของเขาประสบความสำเร็จจนได้” 

เรื่องเล่า เรื่องที่ 4

ร่าเริง ชอบสังคม พูดเก่ง

ซายูริ-รสิกา ทากาฮาชิ นักศึกษาปี 1 คณะโลกคดีศึกษาและการประกอบการสังคม (หลักสูตรนานาชาติ) หรือ Global Studies and Social Entrepreneurship มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“หนูมี passion ในด้านเครื่องสำอาง หนูชอบแต่งตัว หนูรู้สึกว่าถ้าเราได้ทำงานกับสิ่งที่เรามี passion หรือสิ่งที่เราชอบ มันคงจะสนุกแล้วก็ท้าทายมากค่ะ”

ปัจจุบัน ซายูริ เรียนด้าน Global Studies and Social Entrepreneurship คณะใหม่จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เธอตั้งโจทย์ให้กับความฝันในอนาคตของตัวเอง โดยจะต้องมี passion เป็นส่วนผสมหลักในนั้น

ซายูริสนใจการเรียนในกระบวนการเรียนแบบ active learning เพราะเชื่อในพลังของการทำเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ มากกว่าการท่องจำไปสอบ เธอจึงไม่ลังเลที่จะเลือกเข้าเรียนในเส้นทางที่สอดคล้องกับความสนใจ

“หนูมองว่าคณะนี้ตอบโจทย์สำหรับคนรุ่นใหม่มากๆ ส่วนตัวหนูเป็นคนสนใจหลายด้าน คณะนี้สอนครอบคลุม ไม่ว่าจะเป็นบริหาร รัฐศาสตร์ ฯลฯ เราเรียนรู้ skill ต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาในสังคมเรา ไม่ว่าจะเป็นทั้งในสังคมเล็กๆ เช่นชุมชน โรงเรียน ไปจนถึง global”

ซายูริเล่าให้ฟังว่าตอนนี้ตัวเองกำลังหลงใหลการทำแบรนด์กระเป๋าอย่างจริงจัง เดิมทีเธอสนใจเรื่องสไตล์การแต่งตัว และมี passion เรื่องแฟชั่น จึงคิดทำโปรเจ็คต์ร่วมกับเพื่อนขึ้นมา โดยการนำเหล่าเสื้อผ้า fast fashion มาปรุงใหม่ให้กลายเป็นสิ้นค้าชิ้นใหม่ เช่น กระเป๋าใบเล็ก ที่มีกิมมิคอยู่ตรงที่ผู้บริโภคสามารถ customize เองได้ ภายใต้แบรนด์ที่ชื่อว่า Rebaggy 

“หนูอยากจะโชว์ว่าแค่เสื้อหรือกางเกงที่อยู่ในตู้แต่มันไม่ได้ใช้งาน มันสามารถนำกลับมา reuse ได้นะ บางคนแก้ปัญหาด้วยการเอาไปบริจาค บางคนทิ้ง แต่บางคนก็ทิ้งไม่ลงเพราะเราชอบดีเทลมันอยู่ จะดีกว่าไหมถ้าเราเอาสิ่งที่เราชอบมาใช้ใหม่”

สีหน้าตอนซายูริเล่าให้ฟังถึงสิ่งที่ตัวเองทำ เต็มไปด้วยความสุขและความภาคภูมิใจ เธอย้ำว่าถ้ามีโอกาสอยากนำสิ่งที่ตนเองเรียนมาปรับใช้ในงานและสิ่งที่เธอสนใจ

หนูสนใจงานชุมชน หนูมองว่าชุมชนมีของดีอยู่มากมาย แต่ยังไม่มีคนเข้าไปเห็น ไปพัฒนาต่อ เช่น ชุมชนนี้มีพืชชนิดหายาก แต่ชาวบ้านไม่รู้จะนำไปต่อยอดอย่างไร ถ้าหนูได้เป็นส่วนหนึ่ง ได้ชูความเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนนั้นก็คงจะดี”

แต่ไม่ว่าอย่างไร ซายูริบอกว่าไม่ใช่เพียงเธอหรือเพื่อนที่มีอุดมการณ์จะสามารถออกแบบและพัฒนาชุมชนได้ทั้งหมด เธอมองไปถึงระบบใหญ่ ถึงโครงสร้างในภาพกว้าง

“เมื่อเราเข้าใจชาวบ้านมากขึ้น เราน่าจะรู้ว่าชีวิตเขาจะพัฒนาได้ยังไง เขาต้องการอะไร เราพัฒนาความรู้ให้เขานำไปปรับใช้เพื่อยกระดับชีวิตได้อย่างไร หนึ่ง-เขาต้องช่วยเหลือตัวเองด้วย สอง-รัฐจะต้องเข้ามาช่วยเหลือและมองเห็นความสำคัญของคนทุกคน ไม่ใช่มองข้าม ละเลย มองเห็นแต่คนชนชั้นกลางไปจนถึงคนชนชั้นสูง”

เพราะซายูริเชื่อว่า โลกปัจจุบันหมุนไปอย่างรวดเร็วมาก ผู้ใหญ่จำเป็นต้องตามให้ทันและฟังเสียงเด็กให้มากขึ้น เพราะการฟังเสียงเด็กจะทำให้พบเจอกับมุมมองใหม่ๆ น่าจะทำให้ผู้ใหญ่มองปัญหาได้ลึกและแก้ไขปัญหาได้ครบวงจรมากยิ่งขึ้น 

ท้ายที่สุดถ้าตื่นขึ้นมา แล้วเธอมีพลังพิเศษ สิ่งแรกที่อยากทำคือ อยากจะให้ทุกคนได้เป็นตัวเอง 

“เด็กไม่ได้มีหน้าที่เรียนอย่างเดียว เด็กมีหน้าที่ใช้ชีวิตของตัวเองด้วย เด็กควรจะโตได้ในแบบที่ตัวเองอยากโต เก่งในแบบที่ตัวเองอยากเก่ง อยากจะให้ทุกคนเป็นตัวเอง โดยที่ไม่ต้องมีใครมานั่งพูดว่าจะต้องเป็นแบบไหน

“หนูว่าผู้ใหญ่บางคนอาจจะมองว่าเด็กบางกลุ่มไม่มีอนาคต มองว่าสิ่งที่เขาชอบทำ มันไม่ได้ทำเพื่ออนาคต แต่หนูเชื่อว่าเด็กทุกคนมีเป้าหมายในชีวิตของตัวเองที่แตกต่างกันออกไป ผู้ใหญ่น่าจะทำความเข้าใจด้วยว่า จุดความสำเร็จของแต่ละคนมันแตกต่างกัน เพราะฉะนั้นอย่าบอกว่าเราไม่มีเป้าหมาย”

เรื่องเล่า เรื่องที่ 5

บ้าบอ คิดนอกกรอบ ร่าเริง

ภู-ภูมินทร์ ไพรัศมีพูลกุล Ekamai International School, Grade 12

“วันนี้ผมเตรียมเข็มขัดกุชชี่เบลต์มาครับ”

ภูยกมือโชว์เข็มขัดที่มีโลโก้ GG ขึ้นมาประกอบพร้อมกับการแนะนำตัว ภู-ภูมินทร์ ไพรัศมีพูลกุล นักเรียน Grade 12 จาก Ekamai International School บอกว่าเข็มขัดเส้นนี้มีความหมายมากกว่าที่เราคิด 

“เข็มขัดเส้นนี้เป็นเข็มขัดของพ่อผมครับ พ่อผมเป็นนักธุรกิจ เขาเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในสายตาผม ผมอยากสำเร็จเหมือนพ่อผมบ้าง และผมก็มีความฝันว่าสักวันหนึ่งผมอยากมีกุชชี่เบลต์เป็นของตัวเองเหมือนที่พ่อผมมี”

ดังนั้นความฝันสูงสุดของภู คือการเติบโตเป็นนักธุรกิจ โดยมีคุณพ่อเป็นแบบอย่าง

“เดิมทีพ่อผมก็ทำธุรกิจเกี่ยวกับรองเท้าที่มี innovation ทำให้ใส่แล้วสบายขึ้น โตขึ้นผมอยากใช้ความคิดสร้างสรรค์ของตัวเองมาปรับปรุงธุรกิจของตัวเองบ้าง ผมไม่อยากทำธุรกิจแฟชั่นที่คนอยากจะได้ แต่อยากทำธุรกิจที่คนอื่นรู้สึกว่ามันจำเป็นและคุณค่า”

นอกจากเข็มขัดกุชชี่สีดำเส้นนั้น ภูให้คำนิยามตัวเองไว้ว่าคือเขาคือเด็กบ้าบอ คิดนอกกรอบ ร่าเริง

“ผมเป็นคนที่ชอบสงสัย แล้วผมเป็นคนที่ชอบตั้งคำถาม บางอย่างคนเขาชอบบอกว่าไม่ได้ ทำแบบนี้ไม่ได้นะ ผมรู้สึกว่ามันไม่ได้เป็นตัวเอง ผมก็ไม่รู้ว่าผมเป็นใครถ้าเกิดว่าผมต้องมาทำตามพวกเขา ผมเลยรู้สึกว่าถ้าเราอยากทำอะไรที่มันแตกต่างกับคนอื่น แต่ยังเป็นตัวของตัวเองก็ยังดี”

สำหรับภู เขามองว่าการเป็นเด็กคิดนอกกรอบ ร่าเริง สายฮา มันมีประโยชน์มาก ยิ่งในเส้นทางการเป็นนักธุรกิจตามความฝัน ภูย้ำว่าการคิดให้แตกต่างเป็นเรื่องสำคัญมาก

 “ผมมองว่า ในโลกของนักธุรกิจ พนักงานที่เขาต้องการรับคือคนที่มีทั้ง hard skill และ solf skill ไปคู่กัน hard skill ก็คือทักษะที่สอนในห้องเรียน ในมหา’ลัย

“แต่ soft skill คือข้อที่แตกต่าง อย่างสถานการณ์ช่วงโควิด-19 ตอนนี้ ทำไมบางธุรกิจถึงทำกำไรสูงขึ้นมากๆ หรือนั่นเป็นเพราะว่าเขามีพนักงานหรือมีประชากรที่มี solf skill อยู่ด้วย จึงทำให้ธุรกิจของเขาเกิดจากความคิดที่นอกกรอบ ความคิดที่นอกตำรา และมันช่วยเขาในสถานการณ์ที่เลวร้าย”

ทว่าการคิดนอกกรอบอาจจะหาไม่ได้เองในตำราเรียน ดังนั้นการมองมุมกลับปรับมุมมองของภูจึงมาจากจากการฝึกฝนด้วยตัวเองหรือการพยายามทำกิจกรรมนอกห้องเรียนให้มากขึ้น เช่น การเข้าร่วมโครงการ BASE palyhouse ผ่านการจัดโปรแกรมกระบวนเรียนรู้และ skill ต่างๆ โดยเรียนรู้และลงมือทำจากสถานการณ์จริงที่จำลองขึ้นมา ต่างจากการเรียนแบบเดิมๆ 

ท้ายที่สุด นอกจากการเติบโตไปเป็นนักธุรกิจที่คิดนอกกรอบเหมือนคุณพ่อ ภูยังอยากเป็นนักธุรกิจที่เข้าใจคนอื่นอีกด้วย เพราะผู้นำที่ดีสำหรับภูคือผู้นำที่รับฟังความต้องการของผู้อื่น

“การมองแล้วเข้าใจคนอื่นมากขึ้น จะทำให้เราอยากแก้ปัญหาให้ตรงจุด” ภูบอก

ดังนั้นผู้ใหญ่ที่ภูไม่อยากเป็นมากที่สุดคือ ผู้ใหญ่ที่เอาแต่ติดอยู่ในกรอบจนไม่เป็นตัวเอง

“ผมไม่อยากเป็นผู้ใหญ่ที่ทำแต่สิ่งที่อยู่ในกรอบ ผมเคยมีครูคนหนึ่งที่สอนผม เขาบอกให้หาความรู้แค่ในหนังสือ แต่ผมอ่านแล้ว แต่ไม่รู้สึกว่าความรู้อยู่แค่ในนั้น ผมไม่อยากเป็นผู้ใหญ่ที่บอกว่าให้นักเรียนไปหาข้อมูลเพิ่ม ผมชอบผู้ใหญ่ที่บอกว่าให้หาความรู้ด้วยตัวเอง ปล่อยให้เราเป็นตัวของตัวเองครับ”

เรื่องเล่า เรื่องที่ 6

ดนตรี กีฬา สมาธิ (focus)

คิม-กษิดิศ รวีเรืองรอง ม.4 โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย

คิม คือตัวแทนของเด็กเรียนเก่ง เกรดเฉลี่ย 4.00 ตลอดมา

คิมมีความฝันอยากเป็นหมอ เพื่อนคู่ใจของเขาคือหนังสือเรียนวิชาหลักหลากหลายเล่ม

แรงบันดาลใจส่วนหนึ่งที่ทำให้คิมอยากเป็นหมอเพราะซีรีส์ ‘Doctor Romantic’ 

“พระเอกเป็นหมอ เขาช่วยคนไข้ให้รอดชีวิตมาได้หลายครั้ง ในระหว่างที่รักษาคนไข้ ก็มีอุปสรรคที่เขาต้องฝ่าฟัน หลังจากที่เขารักษาคนไข้ได้แล้ว ในซีรีส์ถ่ายทอดให้เห็นว่าเขารู้สึกปรีดีมากผมรู้สึกว่าอยากจะมีอารมณ์นั้นเหมือนกับพระเอกในซีรีส์ครับ”

เมื่อมีเป้าหมายที่ชัดเจน เด็กชายวัย ม.4 จึงปักหลักและออกสตาร์ทในเส้นทางความฝันของตัวเองได้อย่างรวดเร็ว

“ผมมองตัวเองว่าไม่ได้เก่งมากครับ ตอนอยู่มัธยมต้นผมเป็นคนที่ไม่ชอบเรียนมาก แต่พอขึ้น ม.ปลาย มันต้องกำหนดอนาคตของตัวเองเลยรู้สึกว่าต้องเรียนมากขึ้น เพื่อเข้ามหาวิทยาลัยดีๆ ที่ผมได้เกรดดีเป็นเพราะช่วงสอบ ผมจะไม่เล่นโทรศัพท์ อ่านแต่หนังสือ มีสมาธิ มุ่งมั่นที่จะอ่านให้มันเข้าใจ แต่ถ้าบางครั้งมันไม่เข้าใจจริงๆ ก็จะโทรให้เพื่อนช่วย”

ทว่าเด็กที่เรามองว่าเขาเรียนเก่ง กลับไม่ได้มองว่าตัวเองเก่งไปมากกว่าใคร

คำว่า ‘เก่ง’ ของคิมต้องเป็นคนที่เก่งรอบด้าน ไม่ได้เรียนอย่างเดียว เก่งทั้งเอาตัวรอด กิจกรรม  และเข้าสังคม แค่นี้ทุกคนก็ประสบความสำเร็จ ได้ 4.00 ในแบบฉบับของตัวเองแล้ว

แต่ถ้าถามว่าเคยเฟลบ้างไหมเวลาเห็นเกรดน้อยลง – คิมยอมรับว่าเคย

แต่เป็นความเสียใจที่อธิบายได้และเขาอยากอธิบาย

“เหมือนกับการเราทำอะไรได้ดีตลอดมา เรารู้สึกว่าเรื่องนี้เราสามารถจัดการกับมันได้ แต่พอวันหนึ่ง เรื่องที่เราคิดว่าเราถนัด เรื่องที่คิดว่าเราทำได้ อยู่ดีๆ กลับทำไม่ได้ มันก็ต้องรู้สึกงงแล้วว่า ทำไมมันถึงทำไม่ได้ ผิดหวัง”

ส่วนวิธีเยียวยาตัวเอง คิมทำได้ง่ายเพราะเป็นคนจัดการกับความรู้สึกตัวเองได้เร็วอยู่แล้ว 

“เช่น สมมุติถ้าผมคะแนนตกหรือเกรดตก ผมก็จะบอกกับตัวเองว่า เออ ก็ให้มันรู้ จะได้รู้ว่าเราเคยตกนะ แล้วก็ไม่ทำอีก และถึงแม้ว่ามันจะเกิดครั้งที่สอง เราก็จะไม่ได้รู้สึกเสียใจเท่าครั้งแรกแล้ว เพราะเรารู้แล้วว่ามันรู้สึกยังไง เราก็สามารถจัดการกับความรู้สึกตัวเองได้ง่ายขึ้น”

ส่วนความคาดหวังของครอบครัวไม่มีผลต่อเด็กเรียนเก่งคนนี้เลย

“ครอบครัวไม่เคยกดดันเลยครับ เขาบอกว่า พยายามทำให้ดีที่สุด ถ้าเกรดตกหรือคะแนนน้อยกว่าเดิม มันไม่เป็นไรอยู่แล้ว ขอแค่ตั้งใจเรียน ตั้งใจพยายามทำให้มันถึงที่สุดก็พอ” 

เพราะบ้านเป็นพื้นที่ปลอดภัย นี่คงเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้คิมมีแรงฮึดและพยายามทำทุกอย่างให้ออกมาดีที่สุด

“ผมมีความรู้สึกว่าลึกๆ ครอบครัวก็หวังว่าเราจะได้คะแนนที่ดี หลายครั้งที่ผมคะแนนตกหรือที่ผมเสียใจ ไม่ใช่เพราะตัวผม ผมเสียใจเพราะว่าแม่ผม แม่ทำงานเหนื่อยให้ผมได้มาเรียนอยู่ในโรงเรียนที่ดี แล้วผมก็อยากจะตอบแทนเขาด้วยคะแนนที่มันดี ให้เขารู้ว่าเราก็ตั้งใจเรียนเหมือนกัน”

เรื่องเล่า เรื่องที่ 7

เฮฮา เป็นตัวของตัวเอง นอกกฎเกณฑ์

พัฒน์-ฐิติพัฒน์ ตันติสุวรรณนา วัดสุทธิวราราม ม.6 

“ผมเป็นเด็กหลังห้อง” 

เหตุผลที่พัฒน์บอกว่าตัวเองเป็นอย่างนั้น เขาอธิบายว่า 

“ผมไม่ใช่เด็กเกเรนะครับ ผมแค่เป็นเด็กที่อยากเรียนในวิชาที่สนใจ แล้ววิชาไหนที่ผมคิดว่ามันไม่จำเป็น หรือวิชาที่ผมไม่ได้ใช้งาน ผมก็จะเอาเวลาไปทำอย่างอื่นที่ผมสนใจ”

แม้พัฒน์พยายามมีสมาธิ พยายามเรียน พยายามทำความเข้าใจในวิชาที่เขาไม่ชอบ แต่เขาก็อดตั้งคำถามไม่ได้ ว่าถ้าเขาไม่ถนัดจริงๆ ไปต่อไม่ได้ จนทำให้เกรดวิชานั้นตกเพียงหนึ่งตัว กลายเป็นว่าทำให้เด็กคนหนึ่งไม่สามารถขยับชั้นการศึกษาต่อไปได้ มันถูกต้องแล้วหรือเปล่า

“เด็กหลังห้องในความหมายผู้ใหญ่บางคน อาจเป็นเด็กที่ไม่ค่อยเรียนแล้วไปรวมตัวกันอยู่ข้างหลัง จะได้เล็ดลอดจากสายตาครู ซึ่งบางทีมันก็ไม่ใช่ เขาแค่ไม่ได้อยากนั่งแต่บางทีเขาก็ต้องนั่ง ไม่ใช่เด็กหลังห้องทุกคนจะไม่เรียนหนังสือ เขาอาจจะเป็นแบบผม มีบุคลิกเป็นของตัวเอง ชอบในสิ่งที่อยู่นอกกฎเกณฑ์ แต่เราประคองตัวเองไปได้ตลอด”

พัฒน์บอกว่าปัญหาหนึ่งคือหลักสูตรการศึกษาปัจจุบันมีหลายส่วนที่อาจตามเด็กไม่ทัน

“ไอเดียผมคือไม่มีควรมีการแบ่งสายแบบบังคับ เราควรถามเด็กทุกคน ให้เด็กทุกคนเรียนตามความสนใจ ฝึกให้เด็กค้นหาสิ่งที่สนใจตั้งแต่มัธยมจะดีกว่าไหม ไม่ใช่ไปมหา’ลัยแล้วเลือกเรียนเองว่าอยากเรียนอะไร ให้เขาลองเรียนจริงๆ ในสายที่เขาชอบ เขาจะรู้จักตัวเอง ถ้าเขามีแววก็ผลักดัน ทำให้เขามีความสุข ไม่ใช่ว่าบอกว่าอยากให้เด็กเป็นตัวเอง แต่กลับมาวางกลไกไว้ให้เด็ก”

“ผมคิดว่าการมุ่งไปที่การเรียนอย่างเดียว อาจจะไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต ไม่ว่าจะโตหรือเด็ก เราทุกคนควรได้ออกไปทำอย่างอื่นที่ตัวเองชอบได้ ถ้าเขามีความโดดเด่นทางด้านกีฬา ด้านเกม สามารถหาเลี้ยงตัวเองได้ ไม่ควรไปหยุดเขา”

พัฒน์นิยามตัวเองไว้ว่า เขาเป็นเด็กเฮฮา เป็นตัวของตัวเอง แล้วก็นอกกฎเกณฑ์

“ผมเป็นคนชอบพูด อยู่ไม่นิ่งครับ ชอบหาอะไรทำตลอดเวลา อยากเป็นตัวของตัวเอง ไม่ชอบให้คนอื่นมาบังคับ ชอบทำอะไรที่ตัวเองอยากทำเลย บางอย่างก็อาจจะมีทำไปแล้วผิดบ้าง แค่เตือนผมก็รับฟังและปรับใช้” 

“ส่วนการนอกกฎเกณฑ์ บางครั้งกฎระเบียบก็จุกจิกสำหรับผม เช่น ห้ามตัดผม ห้ามใส่กางเกงสั้น ห้ามเอาเสื้อออกนอกกางเกง ผมคิดว่ามันหมดยุคไปแล้ว ต่างประเทศเขาก็ยังใส่ชุดอะไรไปเรียนก็ได้ สมมุติว่าผมชอบเรียนชีวะ ผมใส่ชุดนักเรียน แต่พอผมเปลี่ยนชุดใส่กางเกงขาสั้นหรือใส่ชุดนอน ผมก็ยังชอบเรียนชีวะอยู่ดี”

แม้การเป็นตัวของตัวเอง จะทำให้พัฒน์โดนมองว่าเป็นเด็กก้าวร้าวบ้าง แต่พัฒน์เข้าใจสายตาเหล่านั้น

“ผมค่อนข้างโอเค ถ้าสมมุติว่าเป็นช่วงเวลาที่สำคัญ ผมก็สามารถอยู่นิ่งๆ ได้ ผมปรับตัวเองให้เข้ากับสถานการณ์ได้ แค่ผมไม่ใช่คนเรียบร้อยมาก แต่ที่ผมอยากจะแสดงความเป็นตัวของตัวเอง เพราะผมอยากให้ทุกคนรู้จักผมในแบบที่จริงใจ เลยไม่อยากให้มีการตัดสินเด็ก”

ดังนั้นเมื่อถามว่าพัฒน์โตขึ้นอยากเป็นผู้ใหญ่แบบไหน – พัฒน์ตอบทันทีว่าไม่อยากเป็นผู้ใหญ่ที่คอยจับผิดเด็ก 

“ผมจะไม่เป็นผู้ใหญ่ที่คอยตีกรอบให้เด็ก ไม่เป็นผู้ใหญ่ที่คิดว่าแนวทางของตัวเองคือแนวทางของเด็ก ปล่อยให้เด็กได้ลองผิดลองถูกอย่าง เต็มที่ที่สุดผู้ใหญ่อาจจะคอยเตือนหรือว่าคอยให้กำลังใจเขาอยู่ห่างๆ”


Writer

Avatar photo

รชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา

พยายามฝึกปรือและคลุกอยู่กับผู้คนในวงการการศึกษา เพราะเชื่อว่าการเรียนรู้เป็นใบเบิกทางให้ขยายขอบขีดความสามารถตัวเอง ฝันสูงสุดคืออยากเห็นตัวเองทำงานสื่อสารที่มีคุณภาพและคุณค่าต่อไป

Avatar photo

ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ

คุณแม่ลูกหนึ่งซึ่งคลุกวงในงานข่าวมาหลายสิบปี เพิ่งมาค้นพบตัวเองไม่กี่ปีมานี้ว่าอินกับงานด้านเด็ก ครอบครัว และการศึกษามากเป็นพิเศษ จึงเป็นเหตุให้มาร่วมสร้างแผนที่การเรียนรู้อย่าง mappa

Photographer

ปฏิภัทร จันทร์ทอง

Related Posts