คุยข้ามโลก ปิดบ้าน เปิดการเรียนรู้

COVID-19 เด็กไม่ได้เล่น ไม่ได้สูดอากาศบริสุทธิ์ คือเรื่องใหญ่ในนอร์เวย์

  • ท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาด เกิดความปั่นป่วนไปทั่วประเทศนอร์เวย์ สิ่งหนึ่งที่ทำให้ประชากรโดยเฉพาะคนเป็นพ่อแม่รู้สึกมั่นคง ปลอดภัย คือสวัสดิการและมาตรการการดูแลอย่างเข้มข้น
  • “วันนี้คุณพาลูกออกไปสูดอากาศบริสุทธิ์มาหรือยัง” ประโยคที่คนนอร์เวย์ใช้ทักทายกัน สะท้อนแนวคิดของสังคมว่าเขาให้ความสำคัญกับธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม การใช้ชีวิตกลางแจ้งและคุณภาพชีวิตของเด็ก
  • คุยกับ คุณเพียว คุณแม่คนไทยในนอร์เวย์กับประเด็นการเลี้ยงลูกท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศนอร์เวย์

หนึ่ง – ตามระบบการศึกษาของนอร์เวย์ มีกฎห้ามวัดผลเด็กในวัย ป.1-ป.7 หรือในช่วงวัย 7 ปีแรกของการศึกษาภาคบังคับ ผ่านการให้เกรดอย่างเป็นทางการ 

สอง – ในฐานะแม่ นอกจากเลือกโรงเรียนที่ใกล้บ้านแล้ว หลักเกณฑ์สำคัญที่ใช้พิจารณาในการเลือกโรงเรียนให้ลูกคือพื้นที่สนามหญ้าที่กว้างใหญ่ 

สาม – เมื่อเชื้อไวรัสโควิด-19 เข้ามาเยือนโลก เรื่องกังวลของพ่อแม่ตามหน้าหนังสือพิมพ์ คือการไม่ได้พาลูกไปเจอญาติ เจอปู่ย่าตายาย และการไม่ได้พาลูกออกไปเที่ยวเล่นนอกบ้าน เช่น ตามพิพิธภัณฑ์และห้องสมุด 

ท่ามกลางวิกฤติโรคระบาดที่เกิดขึ้น อาจทำให้วิถีชีวิตของหลายคนเปลี่ยนไป โดยเฉพาะบ้านที่มีเด็ก การกักตัวหลบไวรัสอยู่ในบ้านเป็นเวลานานอาจทำให้เด็กเกิดความไม่เข้าใจและสูญเสียโอกาสการออกสำรวจโลกข้างนอก

mappa คุยกับ คุณแม่เพียว โสวัณณะ คุณแม่ของลูกสาววัย 3 ขวบ ที่ตัดสินใจแต่งงานและสร้างครอบครัวกับสามีชาวนอร์เวย์ ปัจจุบันเธอลงหลักปักฐานและอาศัยอยู่ในเมืองออสโล (Oslo) เมืองหลวงของประเทศนอร์เวย์เป็นเวลากว่า 4 ปี

หลังจากโลกต้องเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลง เกิดผลกระทบอย่างไรต่อมิติครอบครัวในนอร์เวย์บ้าง โดยเฉพาะบ้านที่มีเด็กเล็ก

โควิด-19 และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น 

“เวลาเราคุยกับเพื่อนเรื่องจุดแข็งของนอร์เวย์ สิ่งที่เราชอบมากๆ คือ ประชากรในประเทศนี้เขาจะรู้สึกมั่นคงกับชีวิตมากๆ ไม่ใช่แค่คนที่ทำงานเสียภาษี เพราะปีแรกที่ย้ายมาที่นี่ เรายังไม่ทันได้ทำงานเสียภาษีเลย แต่รัฐบาลเขาก็ดูแล เรามีสวัสดิการพื้นฐานเหมือนชาวนอร์เวย์ รวมถึงลูกที่กำลังจะเกิดมาก็ได้รับการดูแลด้วย”

ในฐานะคนเป็นแม่ คุณเพียวบอกว่าการมีสวัสดิการที่ดี เป็นเรื่องสำคัญ

ยิ่งในสถานการณ์วิกฤติเช่นนี้ สวัสดิการต่างๆ ที่มาจากรัฐบาล อาทิ การรักษาพยาบาล เงินชดเชย หรือแม้กระทั่งมาตรการความปลอดภัยและนโยบายของโรงเรียนลูก ทำให้เธอมั่นใจว่าครอบครัวจะอยู่รอดท่ามกลางความปั่นป่วนที่เกิดขึ้น

นอกจากมาตรการที่เข้มงวด รัฐบาลนอร์เวย์ยังให้ความสำคัญของสภาพจิตใจของประชาชน โดยเฉพาะครอบครัวที่มีลูก

“ตามปกติหากบ้านไหนที่มีลูก พ่อแม่ที่ออสโล จะได้เงินอุดหนุนจากรัฐบาลประมาณ 1,354 โครนนอร์เวย์ (NOK) ทุกเดือน คิดเป็นเงินไทยประมาณ 5,100 บาท (ตัวเลขอาจปรับเปลี่ยนไปตามเวลา) ตั้งแต่เด็กเกิดจนถึงอายุ 18 ปี เพื่อเป็นต้นทุนในการดูแลคุณภาพชีวิต เรามองว่าการมีเงินช่วยเหลือมันช่วยลดความตึงเครียดหลายอย่างในครอบครัวได้นะ ยิ่งในวิกฤติโควิด-19 ยิ่งเห็นได้ชัดว่าคนรอบตัวไม่ค่อยกังวล”

ให้ความสำคัญกับเด็กคือหลักคิดของประเทศนอร์เวย์

อีกหนึ่งสิ่งที่สะท้อนว่านอร์เวย์ให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตเด็กคือระบบการศึกษา

ในประเทศนอร์เวย์ตามหลักการศึกษาภาคบังคับ สามารถแบ่งออกเป็น 3 ส่วน โรงเรียนประถมศึกษา (Barneskole อายุ 6-13) มัธยมศึกษาตอนต้น (Ungdomsskole อายุ 13-16) และมัธยมศึกษาตอนปลาย (Videregående Skole อายุ 16-19) 

ส่วนการศึกษาของเด็กเล็กหรือปฐมวัยในนอร์เวย์ คุณเพียวบอกว่าอยู่ในรูปแบบการศึกษาแบบทางเลือก ไม่ใช่ภาคบังคับ ซึ่งหมายถึงเด็กทุกคนไม่จำเป็นต้องเรียน เรียกว่า บาร์นาฮาเก (Barnehage) ที่มีรากศัพท์พื้นฐานมาจากคำว่า ‘เด็ก’ และ ‘สวน’ 

“ตอนนี้ลูกเราก็เรียนในระดับ Barnehage ไม่สิ อย่าเรียกว่าเรียน เรียกว่าไปเล่นดีกว่า”

คุณเพียวบอกว่า Barnehage ไม่ได้อยู่ในรูปแบบโรงเรียนที่สอนวิชาการจริงจัง มีทั้งระบบ private และ public ที่ผู้ปกครองสามารถออกแบบได้เองว่าอยากให้ลูกอยู่แบบไหน แต่ Barnehage ทั้งหมดจะถูกควบคุมมาตรฐานโดยรัฐบาลและผู้ปกครองสามารถร่วมประเมินผลได้ จึงไม่ต้องกังวลเรื่องคุณภาพมาก”

Barnehage เป็นการศึกษาที่นิยมมากในนอร์เวย์ บ้านในรัศมี 500 เมตร ในเมืองใหญ่ เช่น ออสโล ทุกหนทุกแห่งจะเต็มไปด้วยศูนย์ดูแลเด็กเล็กเช่นนี้ หลักคิดของการศึกษาประเภทนี้คือการสนับสนุนให้เด็กๆ ได้ทำกิจกรรมกลางแจ้ง เรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ผ่านการเล่นในสนามกว้างๆ เป็นหลัก ซึ่งสอดคล้องกับพัฒนาการของเด็กที่ควรจะเป็น 

“ข้อดีของ Barnehage คือเด็กๆ สามารถเข้าเรียนได้ตั้งแต่ 1 ขวบจนถึง 6 ขวบก่อนขึ้นชั้นประถมศึกษา โดยไม่ต้องสอบเข้า จะมีคุณครูและผู้ช่วยคอยดูแลตลอดในทุกกิจกรรมที่ลูกทำ มันเพิ่มโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ร่วมกับเพื่อน มีกิจกรรมที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามฤดูกาลและเทศกาล ไม่ต้องอยู่แต่ในบ้าน” คุณเพียวบอก

โดยเกณฑ์การเลือก Barnehage คุณเพียวบอกว่าตามธรรมชาติของพ่อแม่ชาวนอร์เวย์ในเมืองใหญ่มักเลือกโรงเรียนที่ใกล้บ้าน พื้นที่สวนใหญ่ๆ ที่สำคัญลูกต้องเดินไปโรงเรียนได้ หรือใกล้ที่ทำงานของพ่อแม่

“สำหรับคนที่นี่ มันก็จะแปลกๆ นิดนึง ถ้าเราต้องขับรถไกลๆ ไปส่งลูกที่โรงเรียนอนุบาล โอเค มันก็มีบางครอบครัวในนอร์เวย์ที่ทำแบบนั้น แต่เราไม่อยากเลือกโรงเรียนที่ไกลบ้านที่ทำให้ลูกต้องนั่งรถ ดังนั้นปัจจัยหลักที่ใช้เลือกว่าจะให้ลูกเรียนที่ไหนคงไม่ใช่โรงเรียนที่มีชื่อเสียงแต่อยู่ไกล

“เราว่าสิ่งสำคัญที่ทำให้พ่อแม่ชาวนอร์เวย์คิดเช่นนี้ น่าจะเป็นเพราะรัฐสวัสดิทางการศึกษาที่เขามี มันทำให้แต่ละโรงเรียนหรือสถานศึกษามีคุณภาพที่เท่าๆ กัน แม้ไม่ใช่ดีเลิศไปทุกโรงเรียน แต่อย่างน้อยก็มั่นใจได้ว่าแต่ละโรงเรียนก็มีมาตรฐานที่เชื่อมั่นได้” คุณเพียวบอก

โควิด-19 ทำให้เด็กได้ออกไปเรียนรู้นอกบ้านน้อยลง

เมื่อประเทศยกระดับการควบคุมโรคเป็นสีแดง สถานที่ต่างๆ รวมถึงโรงเรียนต่างออกมาตรการเข้มงวดมากขึ้น ผลกระทบหลักช่วงแรกคือโรงเรียนอนุบาลปิด เด็กๆ หลายคนไม่ได้ไปโรงเรียนหรือออกไปเที่ยวเรียนรู้นอกบ้าน ดังนั้นสิ่งที่เธอกังวลมากที่สุดคือเวลาการเล่นสนุกนอกบ้านของลูกที่หายไป 

นอกจากนั้นการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้พ่อแม่และคุณครูต้องเว้นระยะห่างจากกัน ทำให้เกิดช่องว่างของการสื่อสารระหว่างกันมากขึ้น 

“นอร์เวย์เป็นประเทศเมืองหนาว เด็กๆ จะต้องใส่เสื้อหลายชั้น ตามโรงเรียนจะมีห้อง indoor ที่พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถเข้าไปช่วยเปลี่ยนเสื้อผ้ากันหนาวให้ลูกได้ ซึ่งคุณครูจะใช้ช่วงเวลาระหว่างนี้เข้ามาทักทาย พูดคุย หรืออัพเดตเรื่องราวเกี่ยวกับลูก ผู้ปกครองก็จะได้มีบทสนทนากัน พอมีโควิด-19 ช่วงเวลาตรงนี้ก็จะหายไป ครูกับพ่อแม่ต้องลดการเจอหน้ากัน ทำได้เพียงสื่อสารกันผ่านข้อความในอีเมล และ sms เป็นหลัก” นี่คือผลกระทบที่คุณเพียวเจอ

นอกจากนั้นการที่ประเทศเปลี่ยนระดับควบคุมโรคเข้มงวดขึ้น ทำให้พื้นที่สาธารณะต่างๆ เช่น สวนสาธารณะ ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ สระว่ายน้ำ ต้องปิด ทำให้ครอบครัวที่มีเด็กเล็กไม่สามารถพาลูกออกมาทำกิจกรรมได้

“ลูกเราอายุ 3 ขวบ เขาอยู่ในช่วง pre-school เป็นวัยที่กำลังเล่นอย่างสนุก ซึ่งพื้นฐานของประเทศนอร์เวย์เป็นประเทศเมืองหนาว ตามปกติแล้วหากวันไหนอากาศดีๆ ครอบครัวมักพาลูกออกมาทำกิจกรรมต่างๆ ด้วยกันข้างนอก พอโควิด-19 มา เด็กๆ ก็ไม่ได้ออกไปไหนเท่าเดิม

การสอบในเด็กเล็กเป็นเรื่องที่ไม่เคยเห็นว่าเกิดขึ้น

ในยามที่ประเทศปกติ คุณเพียวเล่าบรรยากาศใน Barnehage ให้ฟังว่า ในตอนเช้าหลังจากพาลูกไปส่ง เด็กๆ จะเริ่มต้นด้วยกิจกรรมในอาคารนิดหน่อยแล้วก็ออกไปเล่นอย่างอิสระกลางแจ้ง

“ส่วนใหญ่กิจกรรมของเด็กเล็กในนอร์เวย์จะหมุนเวียนเปลี่ยนไปตามฤดูกาลและเทศกาล เช่น ในหน้าร้อนวันที่อากาศดีๆ เด็กจะออกมาเล่นเครื่องเล่นในสนาม เล่นชิงช้า เล่นสไลเดอร์ เล่นทราย ในช่วงใบไม้ผลิ เด็กๆ จะได้ขุดดิน ปลูกต้นไม้ ในช่วงหน้าหนาวก็เล่นลากเลื่อนหิมะ ปั้นตุ๊กตาหิมะหรือเล่นตามธีมคริสต์มาส

“พอมีโควิด-19 มีเพียงกิจกรรมในห้องที่ลดลง เช่น การสันทนาการ การล้อมวงร้องเพลง อ่านนิทาน กลายเป็นว่าเด็กต้องเล่นข้างนอกยาวๆ ไปเลย มีแค่ช่วงเวลากินข้าวและนอนกลางวันที่จะกลับเข้าไป indoor”

นอกจากการให้ความสำคัญกับการเล่น ตามข้อมูลพบว่าในประเทศนอร์เวย์ ไม่อนุญาตให้ 7 ปีแรกของการศึกษาภาคบังคับ เทียบกับไทยคือ ป.1-7 (Barnetrinn) ประเมินเกรดอย่างเป็นทางการ

“สิ่งนี้ทำไม่ได้เลยนะ แต่เขาสามารถประเมินผล ผ่านการให้สติกเกอร์ ให้ดาว แต่ห้ามวัดผลเด็กผ่านการสอบวัดระดับ ดังนั้นเราจึงไม่เห็นภาพที่เด็กมาติวข้อสอบในขณะที่เขายังเล็กอยู่”

เช่นเดียวกัน นอกจากการห้ามประเมินโดยการให้เกรดอย่างเป็นทางการแล้ว การแข่งกีฬา หรือกิจกรรมใดๆ ที่มุ่งเน้นการแข่งขัน คุณแม่เพียวบอกว่าไม่สามารถทำอย่างเป็นทางการได้ 

“เราไม่เคยเห็นภาพลูกต้องมานั่งทำการบ้านหรือแบบฝึกหัดอะไรนะ เพราะเขายังเล็กมาก 3 ขวบเอง ส่วนใหญ่ Barnehage จะเน้นให้เด็กขยับร่างกายผ่านการทำกิจกรรมต่างๆ มากกว่า” 

เมื่อลูกไม่ได้เล่นในสนาม งานบ้านจึงกลายเป็นเรื่องสนุก

เมื่อไม่สามารถสร้างความสนุกสนานจากการพาลูกออกไปพิพิธภัณฑ์หรือห้องสมุดได้ ความสนุกจึงจำเป็นต้องเกิดขึ้นในบ้าน

“ในช่วงที่สามีและเราต้อง work from home ก็มีความวุ่นวายอยู่บ้าง เพราะบ้านไม่ได้ออกแบบมาให้เป็นที่ทำงานเนอะ ช่วงแรกๆ ที่ลูกยังเล็กและยังไม่ได้เข้า Barnehage เราต้องแบ่งเรื่องพื้นที่กันนิดนึง แต่พอลูกเข้าโรงเรียนแล้ว สามีเขาชอบนะ เพราะจากเดิมที่ต้องรีบร้อนออกจากบ้านไปส่งลูกเรียน พอทำงานที่บ้านก็ไม่ต้องรีบแล้ว ตอนเช้านั่งประชุมงานที่บ้านได้ ไม่ต้องเดินทาง แถมยังได้ช่วยเราดูแลลูกเยอะมาก”

ความตึงเครียดที่เกิดขึ้นในบ้านเพียงอย่างเดียว คุณเพียวบอกว่าไม่ได้เกิดจากการที่พ่อแม่ลูก ต้องใช้ชีวิตในบ้านด้วยกันตลอดเวลา แต่เป็นเรื่องของการจัดสรร ‘พื้นที่’ ในบ้านให้ลงตัวที่สุด

“ความไม่สนุกคือการที่เราไม่ค่อยได้ออกไปข้างนอกมากกว่าค่ะ ตามปกติช่วงวันหยุดครอบครัวเราจะไปหากิจกรรมทำนอกบ้าน ไปห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ ไปเที่ยวเกาะ หรือพาหลานไปหาปู่ย่า ช่วงที่เข้มงวดมากๆ ก็ทำไม่ได้”

ทว่าความโชคดีสำหรับเด็กวัยนี้ คือเขาอาจจะไม่ได้รู้สึกเครียดหรือเซ็งกับสถานการณ์ตรงหน้าเท่าไหร่ คุณเพียวค้นพบ ‘ความพิเศษ’ ของลูกจากการต้องกักตัวอยู่ในบ้านตลอดเวลาคือ ความพร้อมจะเปลี่ยนทุกอย่างให้กลายเป็นเรื่องสนุก คุณเพียวจึงพาลูกทำกิจกรรมในบ้านง่ายๆ ด้วยกัน เช่น ทำงานบ้าน ทำขนม เต้น หรืออ่านนิทาน 

“สวัสดิการอย่างหนึ่งที่สามีได้รับจากบริษัทคือเข้าคอร์สออกกำลังกายออนไลน์ ซึ่งช่วงเวลานี้เป็นเวลาที่ลูกจะมาร่วมด้วย เขาจะวนเวียนรอบๆ คุณพ่อของเขา เขาจะมาเต้น มาเล่นสนุกไปด้วย

เราคิดว่าบ้านเราไม่ค่อยมีอะไรเปลี่ยนมากนะ กิจกรรมในบ้านที่เกิดขึ้นก็เป็นสิ่งที่เราทำอยู่แล้ว แต่ถ้าเราอยู่เมืองไทยน่าจะลำบาก เพราะน่าจะชินกับที่เวลาจะหากิจกรรมครอบครัวเพื่อสร้างความบันเทิงให้ลูก มักพาลูกออกนอกบ้านเป็นหลัก บวกกับนอร์เวย์เป็นเมืองหนาว ถ้าเป็นฤดูหิมะเราก็ไม่สามารถออกไปไหนได้ ดังนั้นกิจกรรมทำขนม เต้น หรือทำงานบ้าน จึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นประจำอยู่แล้ว” 

เพราะพ่อแม่ไว้ใจรัฐบาล เด็กๆ นอร์เวย์จึงไม่เครียด

คุณเพียวเล่าว่าขณะที่ไวรัสระบาดใหม่ๆ ประเทศนอร์เวย์ถูกล็อคดาวน์ไม่ต่างจากประเทศไทย

ทว่าการปิดโรงเรียนอนุบาล ปิดเพียงรอบเดียวเท่านั้น เพราะเขาอยากให้พ่อแม่ได้ทำงานได้อย่างเต็มที่ การที่โรงเรียนปิดหลายรอบอาจส่งผลให้พ่อแม่ต้องอยู่ดูแลลูกที่บ้าน

“อันนี้สำคัญมาก เขาไม่ปิดอนุบาล เพราะอยากให้พ่อแม่ทำงานค่ะ และทราบดีว่าธรรมชาติของเด็กคือต้องได้เล่น ยิ่งเด็กเล็กพ่อแม่บางคนอาจจะอยากให้ลูกได้ออกไปใช้ชีวิตกลางแจ้งมากกว่า บวกกับรัฐบาลสร้างความมั่นใจ มีมาตรการเข้มงวด จนพ่อแม่รู้สึกไว้ใจ ทำให้ต่อมาโรงเรียนอนุบาลเปิดปกติ และเด็กๆ ก็ไปเรียนได้”

คุณเพียวมองว่าแนวคิดดังกล่าว สะท้อนการทำงานของภาครัฐที่มีพื้นฐานคิดโดยเอาเด็กเป็นที่ตั้ง 

“เราว่าพ่อแม่ชาวนอร์เวย์ชิลล์มากเลย เขาชิลล์ในมุมวิชาการ ไม่ได้มุ่งเน้นให้เด็กเล็กเรียนเป็นเลิศ แต่มีหนึ่งสิ่งที่เขาไม่ชิลล์คือเขาจะเน้นให้ลูกดูแลตัวเองได้ และมีความมั่นใจในตัวเองมากจนเราตกใจ

ตามธรรมชาติของพ่อแม่นอร์เวย์มักปล่อยลูกให้ทำกิจกรรมทุกอย่างด้วยตัวเอง เขาต้องการปลูกฝังให้เด็กกล้าเล่น กล้าลอง ต่างจากพ่อแม่คนไทยที่อาจจะมีความเป็นห่วงและหวงลูกอยู่บ้าง แต่คนที่นี่ไม่ใช่ เด็ก 2-3 ขวบ ต้องเล่นสกี ขี่จักรยาน ขี่สกู๊ตเตอร์ให้ได้”

ดังนั้นความคาดหวังสูงสุดของพ่อแม่ชาวนอร์เวย์จึงไม่ใช่การผลักให้ลูกได้เรียนในโรงเรียนชั้นเลิศ แต่เป็นการสนับสนุนให้ลูกมีทักษะที่สามารถดูแลตัวเองได้ตั้งแต่เด็ก

“เราว่าสิ่งที่ทำให้พ่อแม่ชาวนอร์เวย์คิดแบบนี้ เป็นเพราะคนที่นี่เขาไว้ใจสังคมมาก เขาไว้ใจโรงเรียน เขาไว้ใจคนขับรถ ไว้ใจทุกอย่าง เขามี trust ต่อสิ่งเหล่านี้สูงกว่าคนไทย จึงไม่แปลกถ้าเราจะเห็นเด็กตัวเล็กๆ เดินตามริมถนนด้วยตัวเอง พ่อแม่ไม่ต้องจูงมือ เพียงแต่ยืนอยู่ข้างหลังห่างๆ”

สวัสดิการดี ชีวิตครอบครัวก็จะดี

นอกจากความไว้ใจที่พ่อแม่ชาวนอร์เวย์มีต่อสังคม สิ่งที่คุณเพียวประทับใจและมองว่าเป็นประโยชน์ต่อเด็ก คือสวัสดิการ Open-Barnehage ที่รัฐบาลเปิดให้พ่อแม่พาเด็กเล็กที่ยังไม่ได้เข้าโรงเรียน หรือเลือกที่จะไม่ให้ลูกเข้าโรงเรียน เข้าไปใช้บริการได้ฟรี

“ในเมืองออสโลที่เราอยู่ มี Open-Barnehage ประจำท้องถิ่น เปิดให้เด็กเล็กที่ยังไม่ได้เข้าโรงเรียนอนุบาล ที่พ่อแม่อยากให้ลูกได้เจอสังคม มาทดลองเล่นกับเพื่อนคนอื่น มีกิจกรรมร้องเพลง อ่านนิทาน และทำกิจกรรมด้วยกัน มีคุณครูคอยนำกิจกรรม แต่มีเงื่อนไขว่าพ่อแม่ต้องมาคอยดูแลลูกเอง เราว่ามันดีมาก ที่สำคัญมันฟรี”

นอกจากสวัสดิการด้านการศึกษา ยังมีบริการเรื่องสุขภาพประจำแต่ละเขตที่ชื่อว่า Health Nurse ประจำตัวเด็กแต่ละคน Health Nurse ชื่อเดิมคือ Health Sister แต่เมื่อปี 2019 ถูกเปลี่ยนเพื่อให้เป็น Gender Neutral ไม่ระบุเพศ แสดงความเท่าเทียมทางเพศ 

Health Nurse จะคอยให้บริการประชาชนในพื้นที่ หากเด็กคนใดมีปัญหาด้านสุขภาพร่างกาย จิตใจ หรือพัฒนาการ ก็สามารถเข้ารับคำปรึกษาได้

“ตั้งแต่เราท้องจนคลอดน้อง เราประทับใจบริการนี้มาก เพราะผู้หญิงหลังคลอดมักจะมีปัญหาเรื่องฮอร์โมน Health Nurse จะคอยถามเราที่เป็น ‘แม่’ ว่าเราเป็นอย่างไร ชีวิตหลังคลอดเจอปัญหาอะไรบ้างไหม เราสามารถเล่าให้เขาฟังหรือขอรับคำปรึกษาต่างๆ ได้”

บริการนี้ยังรวมไปถึงการให้คำปรึกษาเรื่องพัฒนาการหรือการเลี้ยงลูกเช่นกัน 

“พ่อแม่สามารถขอคำปรึกษาหรือคำแนะนำเบื้องต้นในการเลี้ยงลูกได้ เช่น วิธีพาลูกเข้านอน ถ้าลูกไม่กินข้าวต้องทำอย่างไร ถ้าลูกกัดเล็บต้องทำอย่างไร สำหรับพ่อแม่มือใหม่เราว่ามันดีมากๆ แต่เมื่อลูกเข้า Barnehage พ่อแม่อาจจะหันไปปรึกษาคุณครูแทน และพอถึงระดับประถม เขาก็จะมีหน่วยที่ดูแลเรื่องสุขภาพกายและสุขภาพใจเบื้องต้นของเด็กโดยเฉพาะ

“ตั้งแต่มาอยู่นอร์เวย์ เราประทับใจตรงนี้มากๆ นะ มันสะท้อนความใส่ใจว่าเขาดูแลคนทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่หรือลูก รวมถึงดูไปถึงเรื่องความเป็นอยู่ในครอบครัว ทำให้เรารู้สึกมั่นคง แล้วพอชีวิตมีความมั่นคงมันก็ส่งผลในด้านอื่นๆ ตั้งแต่การสร้างครอบครัว การเป็นแม่ และการดำเนินชีวิตประจำวัน”  

ไม่ได้ออกเที่ยว คือเรื่องใหญ่ของชาวนอร์เวย์

แม้สถานการณ์โควิด-19 จะทำให้พ่อแม่หลายๆ คนตกงานหรือถูกลดเงินเดือน แต่พอสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย คุณเพียวเล่าว่า มีบางบริษัทที่มีนโยบายจ่ายเงินเดือนคืนย้อนหลังให้ หรืออย่างแย่ที่สุด หากพ่อแม่ตกงาน ภาครัฐก็จะมีเงินชดเชยสนับสนุนให้ครอบครัว จุดนี้จึงสร้างความเชื่อมั่นและทำให้ประชาชนยังสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้ 

ดังนั้นภาพรวมเมื่อชาวนอร์เวย์ต้องเจอกับวิกฤติ คุณเพียวบอกว่าสิ่งที่คนกังวลมากตามหน้าหนังสือพิมพ์ คือการไม่ได้ออกไปเที่ยวหรือไปเยี่ยมปู่ย่าตายายต่างเมือง จนเจ้าหน้าที่รัฐออกมาแถลงการณ์แสดงความเข้าใจความรู้สึกของประชาชนที่ไม่ได้ไปเที่ยวพักผ่อนหรือกลับไปเจอญาติ

คุณเพียวทิ้งท้ายไว้ว่าตั้งแต่มาอยู่นอร์เวย์ การทักทายของคนนอร์เวย์เวลามาเยี่ยมบ้าน เธอมักจะได้ยินประโยคที่ว่า “วันนี้คุณออกไปสูดอากาศบริสุทธิ์มาหรือยัง” หรือ “วันนี้คุณพาลูกออกไปสูดอากาศบริสุทธิ์มาหรือยัง”

ในฐานะแม่ ประโยคดังกล่าวสะท้อนแนวคิดของสังคมว่าเขาให้ความสำคัญกับธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม การใช้ชีวิตกลางแจ้งและคุณภาพชีวิตของเด็ก


Writer

Avatar photo

รชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา

พยายามฝึกปรือและคลุกอยู่กับผู้คนในวงการการศึกษา เพราะเชื่อว่าการเรียนรู้เป็นใบเบิกทางให้ขยายขอบขีดความสามารถตัวเอง ฝันสูงสุดคืออยากเห็นตัวเองทำงานสื่อสารที่มีคุณภาพและคุณค่าต่อไป

Related Posts