วิธีทำให้เด็กเกลียดการเรียนรู้

บ่ายวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ครอบครัวของฉันไปทานอาหารในห้าง ระหว่างรออาหาร ลูกคนโตขอยืมมือถือไปเล่นเกมโปเกม่อน โก ตามเรื่องตามราว ส่วนลูกคนเล็กเอาลูกข่างที่ต่อจากเลโก้ขึ้นมาปั่นเล่นบนโต๊ะ ช่วงนี้สองพี่น้องชอบดูการ์ตูน beyblade กัน ก็เลยเอาเลโก้มาต่อเป็นลูกข่างเล่นกันใหญ่

ในขณะที่ลูกคนโตก็ง่วนกับการตามจับโปเกม่อน คนเล็กก็กำลังวุ่นวายกับของเล่นของเขา

ที่โต๊ะข้างๆ ก็มีเด็กชายคนหนึ่ง อายุไล่เลี่ยกับลูกคนโตของฉัน อายุราวๆ ป.2 นั่งอยู่หน้าจานอาหารที่พนักงานนำมาเสิร์ฟแล้วเต็มโต๊ะ เด็กชายไม่ได้หยิบจับช้อนส้อมขึ้นตักอาหาร แต่จับดินสอนั่งทำ worksheet ที่เต็มไปด้วยโจทย์คูณเลขเรียงราย ท่ามกลางสายตาสามคู่ที่จับจ้องของผู้ใหญ่รอบตัว

“สี่คูณเจ็ดได้เท่าไหร่?” เสียงหญิงสูงวัยที่เดาว่าน่าจะเป็นคุณย่าถามขึ้นมา

เด็กชายไม่ตอบ หันเหม่อมองลูกฉันเล่น

“หันกลับมา เลิกมองเขาได้แล้ว” เสียงพ่อเขาดุ

เด็กชายหันกลับมามองกระดาษ

“ลองคิดดีๆ สิ สี่หกยี่สิบสี่ แล้วสี่เจ็ดล่ะ” พ่อพยายามจะช่วย

เงียบ

“ยี่สิบ….ยี่สิบเจ็ด… มั้ย”

ฟังดูออกว่า ไม่อยากคิดแล้ว แต่ตอบๆ ไปให้มันมีเสียงแทรกความเงียบขึ้นมา

ความเงียบที่ไม่รู้เป็นเพราะไม่มีอารมณ์ตอบ ทักษะการคูณเลขที่ขาดไป หรือเพราะเบื่อการถูกจับจ้องแบบนี้

มีเพียงเสียงเหล่าผู้ใหญ่ถอนหายใจ ปล่อยความผิดหวังผสมจนปัญญาออกมาลอยอยู่ในอากาศ 

นี่แค่ข้อเดียวยังใช้เวลา และอารมณ์ขนาดนี้ นึกไม่ออกเลยว่ากว่าจะทำโจทย์จนหมดแผ่น จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง

สิ้นเสียงถอนหายใจ เด็กชายหันมาจ้องมองลูกฉันเล่นอีกครั้ง

เหตุการณ์นี้เกิดวนไปเกือบชั่วโมง จนอาหารมาเสิร์ฟที่โต๊ะของครอบครัวเราและเรากินกันเสร็จเรียบร้อย

ย่าพูดขึ้นเบาๆ “เก็บเหอะ ไม่เป็นไร พอก่อนก็ได้”

ปู่เริ่มอารมณ์เสีย หยิบกระเป๋าเก็บแบบฝึกหัดของเด็กชายโยนกระแทก “แค่นี้ก็ทำไม่ได้ ถ้าไม่ทำก็ไม่ต้องลุกไปไหน”

เด็กชายก้มหน้างุด ผู้ใหญ่รอบข้างเหนื่อยใจกับเขา เขาก็เหนื่อยใจพอกัน

เหตุการณ์นี้ทำให้แม่อย่างฉันที่นั่งโต๊ะข้างๆ พลอยอึดอัดไปด้วย สัมผัสได้ถึงความเป็นห่วงและปรารถนาดีของคนเป็นผู้ปกครองของเด็กคนนั้น ฉันอยากท้วงเขาเหลือเกินว่า “พอเถอะ วิธีการแบบนี้มันไม่ช่วยทำให้เด็กเก่งขึ้น หรือรักการเรียนขึ้นมาหรอก” แต่ก็ไม่กล้าพอที่จะกล้าเดินไปบอก เพราะดูจากความดุของครอบครัวนี้แล้ว ฉันน่าจะถูกด่ากลับ 

สำหรับลูกของฉัน บ่ายวันอาทิตย์วันนั้นคือการได้พักผ่อนเที่ยวเล่น เป็นเวลาของมื้ออาหารพร้อมหน้าพร้อมตา ที่เราจะได้นั่งคุยเรื่องต่างๆ กัน  แต่สำหรับเด็กอีกคน มันคือภารกิจนั่งทำโจทย์เลขเป็นสิบๆ ข้อ

แล้วทำไมนะทำไม ในโลกปัจจุบันที่กดเครื่องคิดเลขแก๊กเดียวก็ได้คำตอบ ทำไมเด็กๆ ยังต้องท่องจำสูตรคูณได้อย่างคล่องแคล่วตั้งแต่ 6-7 ขวบ?


ไม่ได้บอกว่าต้องไม่ให้เด็กทำโจทย์เลขนะ ฉันเองก็ชอบชวนลูกคิดนู่นคิดนี่แบบคณิตศาสตร์ตั้งแต่เล็กๆ เพราะฉันเองก็เป็นคนหนึ่งที่ชอบเรียนคณิตศาสตร์มาก และกล้าพูดว่าเรียนได้ดีมากด้วย ฉันชอบความสวยงามของคณิตศาสตร์ที่ใช้เป็นตัวแทนบางอย่างในโลกจริงได้ ฉันเองก็เคยนั่งทำโจทย์คณิตศาสตร์คนเดียวหลายร้อยข้อเพราะรู้สึกว่ามันสนุกท้าทายดี

แต่ก็มีมีช่วงเวลาที่ฉันไม่ชอบวิชาเลขเช่นกัน ตอนนั้นเป็นช่วงมัธยมต้น เพราะครูที่สอนนั้นสร้างบรรยากาศที่ไม่ดีในห้อง ฉันรู้สึกถูกจับจ้อง ถูกตัดสินว่าวิธีการคิดแบบนี้ถูก แบบนี้ผิด ตัดสินการคิดของฉันว่าทำเร็วไป ทำช้าไป ฉันรู้สึกถูกบังคับ ความรู้สึกที่เคยสนุกกับคณิตศาสตร์มันหายไป และไม่เห็นความหมายและความสวยงามของมันในตอนนั้นเลย

จริงอยู่ว่า ความสนุกอาจไม่นำไปสู่การเรียนรู้หรือทักษะเสมอไป แต่การเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญคือ แรงจูงใจ (motivation) ซึ่งแรงจูงใจมี 2 แบบ

แบบแรกคือ “แรงจูงใจภายใน” (intrinsic motivation) คือตัวคนเรียนอยากเรียนเพราะความอยากรู้ ความสนุกและความท้าทายที่เกิดขึ้น คนที่รักการเรียนรู้โดยส่วนใหญ่คือคนที่ขับเคลื่อนด้วยแรงจูงใจ แบบนี้ ”ความสนุก” ก็เป็นแรงจูงใจภายในสำหรับเด็กเล็กๆ พูดง่ายๆ คือ ธรรมชาติของเด็ก ถ้าอะไรดูสนุกก็จะอยากทำทั้งนั้น

แบบที่สองคือ “แรงจูงใจภายนอก” (extrinsic motivation) หมายถึงแรงจูงใจมาจากปัจจัยนอกตัว เช่น รางวัลและบทลงโทษ ซึ่งเป็นแนวคิดทางพฤติกรรมนิยมที่เชื่อว่า คนเราจะทำก็เมื่อได้รางวัล และเลิกทำในสิ่งที่ทำแล้วจะถูกลงโทษ รางวัลและบทลงโทษไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งจับต้องได้เสมอไป มันอาจจะเป็นคำชมของพ่อแม่ที่มอบให้เฉพาะตอนที่เราสอบได้คะแนนดี หรือ ความรู้สึกเชิงลบ เช่น ความรู้สึกผิด (guilt) และความกลัว หรือความอยากเอาชนะคำสบประมาทใดๆ ก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่า เราทุกคนก็คงเคยเจอแรงจูงใจแบบนี้กันมาในชีวิตไม่มากก็น้อย

แรงจูงใจทั้งสองแบบนี้ส่งผลต่างกันต่อการสร้างตัวตนและความรักในการเรียน

นอกจากนั้นความอันตรายของ “แรงจูงใจภายนอก” คือ ผู้ใหญ่อาจจะรู้สึกว่าควบคุมพฤติกรรมของเด็กได้ด้วยรางวัล คำชมหรือการลงโทษ แต่ทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยภายนอกตัวเด็กทั้งสิ้น และเมื่อวันนึงที่ปัจจัยเหล่านั้นหายไป เช่น หากผู้ใหญ่ไม่มีโอกาสอยู่ดูแลเขาอย่างใกล้ชิด หรือเด็กในวันนี้เติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ พวกเขาจะใช้อะไรเป็นปัจจัยในการขับเคลื่อนการเรียนรู้ของตัวเอง ในเมื่อแรงจูงใจภายในไม่เคยถูกฟูมฟัก เขาไม่เคยรู้สึกรู้สึกสนุก ท้าทาย หรืออยากเรียนด้วยตัวเองมาก่อน

นอกจากบรรยากาศและแรงจูงใจแล้ว “วิธีการเรียนที่เข้าใจธรรมชาติของมนุษย์” ก็เป็นอีกสิ่งที่สำคัญมากๆ 

(ลองนึกถึงเด็กที่มีแรงจูงใจแต่ดันเจอวิธีการเรียนที่ไม่ work เรียนไปแล้วไม่เข้าใจ สักพักก็คงหมดแรง ต้องกลับมาเคี่ยวเข็ญกันอีก)

ลองมาดูโจทย์นี้กัน

4 x 3 = ?

โจทย์เลขข้อนี้ ดูง่ายมากสำหรับผู้ใหญ่ แต่สำหรับเด็กเล็กๆ มันไม่ง่ายเลย 

เพราะธรรมชาติของมนุษย์คือ เราจะเรียนรู้จากสิ่งที่เป็นรูปธรรม (concrete) ก่อน แล้วจึงทดแทนมันด้วยรูปภาพในหัว (pictorial/representational) แล้วเชื่อมโยงไปสู่นามธรรม (abstract) ซึ่งถ้าเป็นคณิตศาสตร์คือตัวเลขและสัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์​

ยิ่งถ้าเป็นเด็กแล้ว พวกเขาต้องอาศัยพัฒนาการพื้นฐานหลายอย่างกว่าจะแปลงรูปธรรมเป็นนามธรรมได้จนชำนาญ เช่น ทักษะด้านภาษา การมองเห็นหรือการสัมผัสวัตถุ และการรับรู้เชิงจำนวน หรือ number sense คือ การรับรู้ว่า สิ่งของต่างๆ ที่เราเห็นในโลกจริง สามารถถูกแทนเป็นจำนวนตัวเลขได้ สัมผัสได้ว่า จำนวนมีมาก มีน้อย และนำมาเปรียบเทียบกันได้

ดังนั้น ถ้าเด็กตอบคำถามที่เป็นนามธรรม (abstract) อย่าง 4 x 3 = ? ไม่ได้ เราอาจจะช่วยเขาเข้าใจโจทย์โดยการย้อนกลับไปทำให้เขาเห็นสิ่งที่เป็นรูปธรรม (concrete) เช่น การหยิบขนมมาเรียงกันเป็น 4 กอง กองละ 3 ชิ้น แล้วถามเด็กว่า มีขนมกี่ชิ้นแทน หรือหากไม่มีวัตถุ ก็อาจจะลองวาดรูปเป็นขีดๆ เพื่อให้เด็กเห็นภาพสัญลักษณ์​ (representational) ตามภาพ แล้วค่อยเชื่อมโยงออกมาเป็นสัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์คือการใช้ตัวเลข เครื่องหมายคูณ และเครื่องหมายเท่ากับ

การเชื่อมโยง concrete – pictorial – abstract แบบนี้คือรูปแบบหลักของการเรียนคณิตในสิงคโปร์และญี่ปุ่น สามารถช่วยเด็กสร้าง number sense และทำให้เข้าใจว่าเราสามารถใช้คณิตศาสตร์สร้างโมเดลของโลกจริงเพื่อเข้าไปสู่การแก้ปัญหาแบบนามธรรมได้ ซึ่งเป็นแก่นและความงดงามมหัศจรรย์ของคณิตศาสตร์

ตัวอย่างการเรียนเลขชั้นประถมหนึ่งที่โรงเรียนแห่งหนึ่ง เด็กๆ เรียนรู้ว่า “จำนวน” สามารถถ่ายทอดออกมาเป็นได้ทั้ง จำนวนใบไม้ (concrete) ตัวเลข (abstract) หรือ เส้นจำนวน (pictorial)

ยังไม่จบเพียงเท่านั้น กระบวนการด้านบนทำให้เด็กเข้าใจโจทย์ หรือตีโจทย์ออกแต่กลยุทธ์การแก้โจทย์ยังมีอีกหลากหลายวิธีการ

ตัวอย่างเช่น เด็กที่เข้าใจคอนเซ็ปต์ว่า การคูณคือการบวกเลขเดิมซ้ำๆ เขาอาจจะใช้วิธีการเอา 3 มาบวก 3 ทดไว้ในใจ เป็น 6 แล้วบวก 3 อีก ทดไว้ในใจเป็น 9 แล้วบวก 3 อีก จนได้คำตอบคือ 12 

แม้ฟังดูง่าย แต่จริงๆ เด็กจะต้องบวกแล้วจำตัวเลขไว้ในใจ ซ้ำยังต้องจำด้วยว่า บวกไปแล้วกี่ครั้ง ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องมี working memory ที่ใช้งานได้ดี เปรียบเสมือน processor ที่ใช้ในการประมวลผล และการประมวลผลที่มีหลายขั้นตอนนี้จะต้องใช้เวลากว่าจะคิดจนได้คำตอบออกมา

เด็กที่ไม่เข้าใจคอนเซ็ปต์ของการคูณแต่เพียงใช้ความจำสูตรคูณได้ ก็จะใช้วิธีการนั่งท่องสูตรคูณในใจไปจนถึงตัวเลขที่ต้องการ อย่างนี้สมองไม่จำเป็นต้องประมวลผลอะไรมาก มีเพียงอาศัยความจำในการตอบ

เห็นอย่างนี้ก็คงพอคาดเดาได้ว่า ในระยะแรก เด็กที่จำสูตรคูณได้จะตอบได้เร็วกว่าเด็กที่คิดจากความเข้าใจ และถ้าผู้ใหญ่รอบตัวเรียกร้องให้เด็กให้คำตอบที่เร็วที่สุด โดยไม่สนใจว่าเด็กใช้กลยุทธ์อะไรในการคิดแก้ปัญหา การกระทำนั้นจะเป็นการสนับสนุนการท่องจำโดยไม่รู้ตัว และสมองของเด็กๆ ก็จะถูกฝึกปรือให้ “จำความรู้เข้าไปและเรียกใช้มันออกมา” ไม่ได้ฝึกการประมวลผล วิเคราะห์ หรือตั้งคำถามว่า “ความรู้นี้มาจากไหน และทำไมมันถึงถูก” 

วิธีการเรียนแบบนี้ อาจไม่เป็นปัญหาใหญ่อะไรในระยะสั้น ถ้าเด็กยังควานหาความทรงจำที่พอจะมีมาตอบได้ แต่เมื่อไหร่ที่เขาไปสุดขอบลิมิตของความจำแล้ว เขาจะเหลือกลยุทธ์อะไรอีกในการแก้โจทย์ปัญหา? 

เมื่อโลกไม่ได้สนใจว่า “อะไร” คือคำตอบที่ผิดหรือถูก แต่สนใจว่า “ทำไม” มันถึงผิดหรือถูก เขาจะยังหาคำตอบด้วยตนเองได้หรือไม่?

ในโลกข้างหน้าที่เขายังต้องเรียนรู้อีกมากมาย แต่ปราศจากสายตาที่จับจ้องของพ่อแม่ ปราศจากรางวัลและแรงกดดันที่คนอื่นมอบให้ เขาจะเหลือแรงจูงใจหรือความสามารถอะไรในการเรียนรู้?


คำถามที่เปล่าดาย เพื่อไปสู่คำตอบที่เปล่าดาย โดยไม่สนวิธีการ 

เติมเชื้อไฟด้วยรางวัลหรือการลงโทษที่เปล่าดาย

นี่คือ สูตรสำเร็จในการทำให้ “เด็กเกลียดการเรียนรู้”


Writer

Avatar photo

ณิชา พิทยาพงศกร

นักวิจัยอิสระและนักจัดกระบวนการเรียนรู้ แม่ลูกสองที่รักการเต้นรำและการทำกาแฟ

Illustrator

Avatar photo

พรภวิษย์ เพ็งเอียด

ชอบกินเนื้อต้มและตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือให้ได้ปีละสามเล่ม

Related Posts