“ร่าง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ” กฎหมายฉบับใหม่ ที่ยังไม่มี “นักเรียน” เป็นศูนย์กลาง

  • ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับนี้มีความแตกต่างจากฉบับปี พ.ศ. 2542 อยู่มาก โดยเฉพาะเรื่องจำนวนมาตรา ที่จากเดิมมี 78 มาตรา ก็กลายเป็น 110 มาตรา ซึ่งมีรายละเอียดและความซับซ้อนเพิ่มมากขึ้น 
  • มาตรา 8 เป็นมาตราหนึ่งของร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์และตั้งคำถามเรื่องการกำหนดเป้าหมายต่อเด็กที่ “มากจนเกินไป” ซึ่งอาจสอดคล้องกับพัฒนาการของเด็ก
  • “คณะกรรมการนโยบาย” ที่ถูกกำหนดขึ้นในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ จะกลายเป็นผู้กำหนดรายละเอียดมากมายเกี่ยวกับการปฏิบัติงาน ก่อให้เกิดคำถามเรื่องภาระงานของครูที่จะเพิ่มมากขึ้น
  • แม้ว่าร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับนี้จะถูกตั้งคำถามจากหลายฝ่าย แต่ก็มีความพยายามในการปรับปรุงและแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ในระบบการศึกษาไทย ทั้งด้านการจัดสรรทรัพยากร การปรับปรุงหลักสูตรทุก 2 ปี รวมไปถึงการเปิดกว้างให้ภาคเอกชนเข้ามาจัดการการศึกษา
  • อย่างไรก็ตาม ร่าง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ไม่มีการพูดถึงสวัสดิภาพและการประกันสิทธิของนักเรียน

กลับมาเป็นประเด็นร้อนแรงในแวดวงการศึกษาไทยอีกครั้ง เมื่อ “ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …” ได้กลับเข้าสู่รัฐสภาเพื่อพิจารณาลงมติในวาระที่ 3 ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์และความกังวลจากหลายฝ่ายต่อ “ร่างกฎหมายแม่บท” ฉบับใหม่ที่จะเข้ามากำหนด “ชะตาชีวิต” ของนักเรียนและบุคลากรในระบบการศึกษาของไทยไปอีกยาวนาน แน่นอนว่าวัตถุประสงค์ของการจัดทำร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ คือการทำให้ระบบการศึกษาไทยดีขึ้น แต่หลายมาตราก็สร้างความสับสน จนไม่แน่ใจว่าใครจะได้รับประโยชน์จากร่าง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติฉบับนี้กันแน่ 

Mappa พูดคุยกับกุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า และณิชา พิทยาพงศกร อดีตนักวิจัยอาวุโส ทีมนโยบายปฏิรูปการศึกษาสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ในประเด็นว่า ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับนี้จะส่งผลต่อการศึกษาไทยอย่างไร และเป้าหมายที่ว่า “นักเรียนเป็นศูนย์กลางของการศึกษา” จะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ภายใต้ร่างกฎหมายนี้ 

ร่างกฎหมายใหม่เพื่อการศึกษาไทย

กุลธิดาเริ่มต้นอธิบายว่า ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับนี้มีความแตกต่างจากฉบับปี พ.ศ. 2542 อยู่มาก โดยเฉพาะเรื่องจำนวนมาตรา ที่จากเดิมมี 78 มาตรา ก็กลายเป็น 110 มาตรา ซึ่งมีรายละเอียดและความซับซ้อนเพิ่มมากขึ้น ในแง่หนึ่งก็สะท้อนให้เห็นความพยายามที่จะปฏิรูปและปรับปรุงการศึกษาไทยเสียใหม่ แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้เห็น “ความกลัว” ที่ฝังรากลึกอยู่ในระบบการศึกษาไทย ว่าคนในระบบจะไม่ทำอย่างที่คนเขียนกฎหมายกำหนด จึงต้องเขียนรายละเอียดเอาไว้จำนวนมาก

“พ.ร.บ.ฉบับนี้มีการระบุว่า ความคาดหวังต่อเด็กเป็นอย่างไร เป้าหมายของการจัดการศึกษา และความพยายามที่จะใส่เข้าไปว่าอยากให้เด็กเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งมันค่อนข้างใหม่ เพราะมันมีความละเอียดมาก เมื่อเทียบกับ พ.ร.บ. ปี 42 ที่จะเน้นเรื่องการพูดว่าระบบเป็นอย่างไร เราจะจัดการระบบข้างในอย่างไร มีโครงสร้างไหนมาทำหน้าที่อะไร แต่ ร่าง พ.ร.บ. ล่าสุด จะลงรายละเอียดด้วยว่าอยากให้ผู้เรียนเป็นอย่างไร อยากให้ครูเป็นอย่างไร การจัดการศึกษาครอบคลุมไปถึงการเรียนรู้ตามอัธยาศัย การเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งขอบข่ายมันกว้างไปกว่าการศึกษาในระบบมาก” ณิชาอธิบาย 

ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่นี้ ยังมีการนำภาษาทางกฎหมายมาใส่ในแนวคิดเรื่องการศึกษา โดยพยายามให้คำนิยามคำต่าง ๆ เช่น การเรียนรู้ตลอดชีวิต การศึกษาเพื่อให้มีวุฒิ พัฒนาการที่เหมาะสมแต่ละช่วงวัย เป็นต้น โดยไม่มีการยึดโยงกับหลักฐานงานวิจัยหรือความเป็นวิทยาศาสตร์การเรียนรู้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลว่าหากกฎหมายมีความแข็งตัวมากเกินไปในลักษณะนี้ ย่อมจะส่งผลกระทบต่อการทำงานที่ไม่ยืดหยุ่นและการประเมินผลได้เช่นกัน 

สิ่งที่เขียนอาจจะไม่ถูกทำให้เกิด และสิ่งที่เกิดอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ถูกเขียนไว้ หมายความว่า สิ่งที่เขียนอาจจะไม่ถูกทำให้เกิดคือร่างกฎหมายอาจเขียนว่าอยากให้เด็กเป็นแบบนั้น อยากให้ครูเป็นแบบนี้ อยากให้โรงเรียนเป็นอิสระ แต่มันจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับกระบวนการทำงานของหน่วยงานที่จะมารับลูก แต่ พ.ร.บ. ฉบับนี้มีเยอะมาก ถ้าไม่มีทีมดำเนินการทำกฎหมายลูกออกมารองรับ หลายอย่างมันก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง ส่วนที่ว่าสิ่งที่เกิดอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ถูกเขียนไว้ ก็คือตัวกฎหมายลูกที่เป็นตัวกำหนดว่าจะเกิดอะไรขึ้น มันยังไม่ถูกเขียนขึ้นมา พอมันก็ยังไม่เกิด เราก็เลยไม่รู้ว่าสุดท้ายมันจะหน้าตาเป็นอย่างไร” ณิชาชี้ 

กรอบ “กำหนดเด็ก” ที่ชัดเจนเกินไป

มาตรา 8 กลายเป็นมาตราหนึ่งของร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์และตั้งคำถามเรื่องการกำหนดเป้าหมายกับเด็กที่ “มากจนเกินไป” โดยมีการระบุช่วงวัยของเด็กและความคาดหวังว่า ในวัยนี้ “ต้อง” ทำสิ่งเหล่านี้ได้ ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับพัฒนาการของเด็กแต่ละคน เช่น 

… (๕) ช่วงวัยที่ห้า เมื่อมีอายุเกินสิบสองปีจนถึงสิบห้าปี นอกจากต้องดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตาม (๔) อย่างต่อเนื่องและในระดับที่สูงขึ้นแล้ว ต้องฝึกฝนให้รู้จักพัฒนาสุขภาพกาย ควบคุมอารมณ์ เข้าใจในการพัฒนาการของสมองวัยรุ่น รับผิดชอบที่จะเรียนรู้ด้วยตัวเอง รู้ความถนัดและเชื่อมั่นในความสามารถของตน เรียนรู้ที่จะตัดสินใจและวางแผนชีวิต ปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลง ยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลาย สามารถแก้ไขปัญหาชีวิตที่ซับซ้อนขึ้น ยึดมั่นในจริยธรรม เชื่อมั่นและเข้าใจการธำรงความเป็นไทย สามารถสื่อสารภาษาไทยที่สมบูรณ์ รู้และเข้าใจในหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จนสามารถนำไปใช้ในชีวิตได้ ซาบซึ้งในความงามของศิลปะและธรรมชาติ เรียนรู้การดำรงชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ใฝ่รู้และมีทักษะในการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับพัฒนาการของโลก สื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถคิดในเชิงวิเคราะห์ มีความคิดสร้างสรรค์ สื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีทักษะในการรู้เท่าทันข้อมูลข่าวสารที่เผยแพร่ผ่านช่องทางต่าง ๆ ใช้ภาษาต่างประเทศเป็นสื่อในการเรียนรู้ เข้าใจในพื้นฐานเกี่ยวกับเศรษฐกิจและการเงิน มีความรู้ในศาสตร์และมีสมรรถนะ สามารถเลือดเส้นทางการศึกษาหรือเส้นทางอาชีพและการทำงานได้…

ที่มา : https://unsplash.com/photos/s9CC2SKySJM 

“ถ้าพูดแบบนักการศึกษา มันก็มากเกินไป ละเอียดเกินไป ไม่มีที่มาที่ไปว่าทำไมรายการเหล่านี้จึงถูกมองว่าดี ทำไมต้องเป็นคุณสมบัติแบบนี้ ถ้าวิพากษ์เรื่องที่มา ก็อยากรู้ว่าสิ่งเหล่านี้สอดคล้องกับงานวิจัยหรือความเป็นวิทยาศาสตร์เรื่องพัฒนาการเด็กอย่างไร สอดคล้องกับเป้าหมายของการศึกษาในอนาคตมากแค่ไหน แต่ลักษณะต่าง ๆ ที่อยู่ในนั้นก็วิพากษ์ได้ไม่สิ้นสุด มันก็ขึ้นอยู่กับแนวคิดของแต่ละคน เพียงแต่ว่าถ้าไม่ตั้งคำถามว่ามันเหมาะกับแต่ละช่วงวัยหรือไม่ คุณสมบัติที่ถูกกำหนดก็ดีทั้งนั้น” ณิชาสะท้อน 

ด้านกุลธิดาชี้ว่า ความน่ากลัวของมาตรา 8 คือการระบุคุณลักษณะของเด็กในแต่ละช่วงวัยเอาไว้อย่างละเอียดและชัดเจน ทำให้เกิดคำถามต่อการปฏิบัติจริงในหน้างานของครู นักเรียน พ่อแม่ และคนที่ต้องจัดการศึกษา 

“ถ้าทำไม่ได้ แล้วใครจะรับผิดชอบ แล้วมันวัดผลอย่างไร ซึ่งการเขียนแบบนี้เป็นการเขียนหลักสูตร ถ้ามันวางอยู่บนหลักสูตรก็โอเค เป็นปกติ แต่มันมาอยู่ในกฎหมายแม่บท เท่านั้นยังไม่พอ ตัวมาตรา 8 ยังไปพันอยู่ในมาตราอื่น ๆ ตั้งหลายมาตรา มันเลยกลายเป็นว่าคนจัดการศึกษาก็ต้องทำตามอันนี้เป๊ะ ๆ ซึ่งพอมันเป็นกฎหมายสูงสุดที่รองลงมาจากรัฐธรรมนูญ เป็นพระราชบัญญัติที่ส่งผลต่อกฎหมายฉบับอื่น ๆ มันก็เลยสร้างความกังวลให้กับหลาย ๆ ภาคส่วน” กุลธิดาอธิบาย

ที่มา : https://unsplash.com/photos/eMP4sYPJ9x0

โครงสร้างการทำงานที่ไม่มีความแน่นอน 

อีกหนึ่งประเด็นที่ถูกตั้งคำถามคือ โครงสร้างใหม่ที่จะเกิดขึ้นภายในกระทรวงศึกษาธิการ ที่กำหนดให้มีการจัดตั้งหน่วยงานเพิ่มขึ้น หรือเปลี่ยนแปลงรูปร่างไป เช่น องค์กรกลางบริหารงานบุคคล การจัดตั้งกองทุนครูของแผ่นดิน การเปลี่ยนสำนักปลัดกระทรวงศึกษาฯ ให้เป็นสำนักงานเลขาธิการของคณะกรรมการนโยบาย และการเกิดขึ้นของคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ เป็นต้น 

การพยายามปรับโครงสร้างในมาตราท้าย ๆ ทำให้โครงสร้างเดิมที่มีอยู่ในวันนี้ เขาไม่มีความแน่นอนเลยว่าจะเกิดอะไรขึ้น เพราะมาตรา 106 เขียนว่าให้กระทรวงศึกษาจัดการให้มีการจัดระเบียบราชการในกระทรวง ให้สอดคล้องกับร่าง พ.ร.บ.นี้ มันจึงเหมือนเป็นการตีเช็กเปล่าเอาไว้ แล้วให้กระทรวงไปจัดโครงสร้างภายใน 2 ปี” ณิชากล่าว 

“คณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ” ที่ถูกกำหนดขึ้นในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ จะกลายเป็นผู้กำหนดรายละเอียดเป็นจำนวนมากเกี่ยวกับการปฏิบัติงาน ก่อให้เกิดคำถามเรื่องภาระงานของครูที่จะเพิ่มมากขึ้นตามหรือไม่ เมื่อคนในระบบมี “เจ้านาย” เพิ่มขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น คณะกรรมการนโยบายยังคล้ายกับเป็น “ซูเปอร์บอร์ด” ทำหน้าที่สั่งการกระทรวงศึกษาธิการอีกทีหนึ่ง 

“คณะกรรมการนโยบายมีอำนาจถึงขั้นที่ว่า เข้าไปตรวจสอบดูว่าโรงเรียนปฏิบัติตามกฎระเบียบที่เขาออกมาไหม เราก็จะสงสัยว่าเขาว่างหรือ คือการเขียนอำนาจของคณะกรรมการนโยบาย มันล้วงลูกกระทรวงศึกษามาก เพราะมันมาจากการที่เขาไม่เชื่อว่า กระทรวงศึกษาปฏิบัติหน้าที่ได้ ด้วยปัญหาที่มันมีอยู่ ก็คือการแบ่งเป็นแท่งและเป็นเอกเทศกัน แต่การแก้ปัญหาคงไม่ใช่การเอาแท่งใหญ่ขึ้นมาสั่งทั้งหมดนี้ มันต้องไปแก้ที่ตัวโครงสร้างที่มีอยู่ จะบริหารจัดการให้สี่ห้าแท่งสามารถทำงานร่วมกันได้จริง เพื่อให้ครูมีเจ้านายน้อยลง และครูรับงานแค่ครั้งเดียวก็พอ เพราะปัญหาก้อนใหญ่มาก ๆ ของครู คือการทำงานแบบเดียวกัน แต่ทำหลายรอบ เพราะมีเจ้านายหลายคน” กุลธิดาเสริม 

ที่มา : https://unsplash.com/photos/yt5e_nZ7CZ8 

หลายประเด็นเริ่มมาถูกทาง

แม้ว่าร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับนี้จะถูกตั้งคำถามจากหลายฝ่าย แต่ทั้งกุลธิดาและณิชาก็ชี้ให้เห็นความพยายามในการปรับปรุงและแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ในระบบการศึกษาไทย โดยหลายมาตราก็เริ่ม “เดินมาถูกทาง” แล้วเช่นกัน 

“ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ก็มีความพยายามที่จะไปจัดการเรื่องการจัดสรรทรัพยากรอยู่ประมาณหนึ่ง อย่างในมาตรา 26 ในเรื่องการจัดสรรงบประมาณ เขาก็พูดเรื่องเงินขั้นต้น ซึ่งขั้นต้นก็คือโรงเรียนแบบนี้ต้องการเงินเท่านี้นะ แต่ที่สุดแล้วการกำหนดเงินข้างต้น ก็ต้องไปรอคณะกรรมการต่าง ๆ ผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนงบ ก็คือต้องมีคนมากำหนด แต่อย่างน้อย ๆ เขาก็ร่างมาให้เงินขั้นต้นถูกกำหนดตามขนาด สถานที่ตั้ง ประเภท คือมันก็มีกลไกแบบนี้ที่พยายามเข้ามาจัดการเรื่องงบประมาณ บางหลักการมันก็เดินมาถูกทางแล้ว แต่อาจจะต้องการการตบสักเล็กน้อย ให้รายละเอียดเป็นไปตามยุคสมัยปัจจุบันมากขึ้น” กุลธิดาระบุ

นอกจากเรื่องการจัดสรรทรัพยากรแล้ว กุลธิดายังชี้ให้เห็นความพยายามในการให้อิสระในสถานศึกษาในมาตรา 14 และการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่ต้องกำหนดให้เหมาะสมกับสภาพผู้เรียนของสถานศึกษานั้น ๆ ให้เป็นไปตามวิถีชีวิตสังคมและสอดคล้องกับธรรมชาติของผู้เรียน รวมถึงสนใจความหลากหลายของผู้เรียนมากขึ้น 

“เรื่องหลักสูตรก็ชัดเจน โอเคว่ามีการตั้งโครงสร้างใหม่ ๆ เช่น สถาบันพัฒนาหลักสูตร ที่ในร่าง พ.ร.บ. นี้กำหนดให้ต้องมีการพัฒนาตัวกรอบหลักสูตรชาติขึ้นมา และต้องปรับใหม่ทุก 2 ปี ซึ่งตรงนี้สอดคล้องกับการเปลี่ยนไปของโลก เพราะโลกเปลี่ยนไปเร็วมาก หลักสูตรก็ต้องมีการปรับให้ทัน” ณิชาบอก 

“เรื่องการสนับสนุนโรงเรียนเอกชน อันนี้น่าสนใจมาก คือในร่างใหม่เราจะเห็นชัดขึ้นว่ามัน มีเงื่อนไขหลายอย่างที่เอื้อต่อโรงเรียนเอกชน เช่น รัฐต้องจัดให้มีเงินอุดหนุนให้แก่ครูเอกชน แล้วเอกชนสามารถมาจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้ ในอนาคตอาจจะมีผลประโยชน์ทางภาษีให้ เด็กในโรงเรียนต้องได้รับการอุดหนุนไม่น้อยไปกว่าเด็กในโรงเรียนรัฐ อันนี้ก็ถือว่ามองเห็นโรงเรียนเอกชนมากขึ้นว่ามีบทบาทมาเกี่ยวข้อง โดยรวมก็เหมือนเปิดกว้างมากขึ้น ให้คนอื่น ๆ นอกจากรัฐ เช่น พ่อแม่ เอกชน ชุมชน เข้ามาจัดการศึกษา โดยที่รัฐช่วยสนับสนุน” ณิชาเสริม 

สวัสดิภาพของนักเรียนที่หายไป

“พอพูดเรื่องสวัสดิภาพ ทั้งร่าง พ.ร.บ. ไม่มีการพูดถึงสวัสดิภาพของนักเรียนเลย พูดถึงแต่สวัสดิภาพของครู เรื่องการจัดสรรทรัพยากร ไม่มีการพูดว่าจัดสรรทรัพยากรให้นักเรียนอย่างเพียงพอ แต่พูดว่าจัดสรรให้โรงเรียนอย่างเพียงพอ มันเลยเหมือนเราข้ามนักเรียนไป เรามีแต่ความคาดหวังให้นักเรียนเป็นอย่างไร แต่เราไม่คิดถึงว่าเขาควรมีอะไร มีทรัพยากรเพียงพออย่างไร เขาถึงจะทำสิ่งต่าง ๆ ได้” ณิชาตั้งข้อสังเกต 

สอดคล้องกับกุลธิดา ที่ระบุว่าหมวดหมู่เรื่องสิทธิของนักเรียนขาดหายไปจากร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่นี้ กล่าวคือกฎหมายไม่ระบุเรื่อง “การประกันสิทธิ” ของนักเรียนว่าพวกเขามีสิทธิอะไรบ้าง เช่น เด็กควรได้เข้าถึงการศึกษาฟรีถึงอายุเท่าไร เด็กควรมีสิทธิได้รับการสนับสนุนกิจกรรมอื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อให้เกิดความเสมอภาคกัน หรือเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ควรได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมอย่างไร เป็นต้น 

“ถ้าจะเพิ่มอะไรเข้าไปได้ ก็คงจะเป็นเรื่องการประกันสิทธิของนักเรียน แล้วจะเพิ่มว่าเด็กต้องได้รับการการันตีว่า เวลาที่เขาอยู่ในห้องเรียน เวลาที่เขาใช้ไปกับโรงเรียน มันเป็นเวลาที่มีคุณภาพ เกิดคุณภาพจริง ๆ หมายถึงอะไร เราเรียนกัน 1,000 ชั่วโมงต่อปี แล้วคุณครูไม่อยู่ห้อง ครูต้องไปทำกิจกรรมอื่น แล้วคุณภาพมันจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ซึ่งเรื่องคุณภาพชีวิตของนักเรียนมันยังไม่ถูกกำหนดให้ชัดเจนลงไป และมันเป็นหมวดที่สำคัญมาก ๆ แม้จะบอกว่าเมืองไทยมี พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กอยู่แล้ว แต่ในเรื่องการศึกษา มันจำเป็นที่เราต้องคุ้มครองคุณภาพ คือประกันคุณภาพ และทำให้แน่ใจว่าเด็กเข้าถึงสิทธิที่เขาควรได้รับจริง ๆ แต่เรากลับไม่มี เราไม่พูดถึงเรื่องเหล่านี้ ทั้ง ๆ ที่เด็กควรได้รับการประกันสิทธิในการเข้าถึงการศึกษาที่คำนึงถึงสภาพร่างกายและจิตใจของเขา” กุลธิดาย้ำ 

ที่มา : https://unsplash.com/photos/BPXSTl_HBhk 

ร่างกฎหมายที่ยังต้องรอดูกันต่อไป

แน่นอนว่าร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ ยังไม่ถูกนำมาบังคับใช้ แต่การทำกฎหมายให้มีประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง ก็เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่หลายฝ่ายลุกขึ้นมาตั้งคำถามและแสดงความห่วงใย โดยเฉพาะกฎหมายการศึกษา ที่ไม่ควรเขียนขึ้นมาเพื่อนิยามว่าการศึกษาคืออะไร แต่เพื่อรับประกันสิทธิของประชาชน โดยรัฐที่เป็นตัวแทนของประชาชนเพื่อมาดำเนินการจัดการศึกษาให้กับประชาชน ก็ต้องไม่ใช้อำนาจจนเกินขอบเขต และต้องคำนึงถึงสิทธิของประชาชนเป็นหลัก 

“สิ่งที่เป็นห่วงเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้มากที่สุด คือความละเอียดของมัน และความยากในการแก้ คือถ้าเราจะแก้มันสักที มันต้องเปลืองงบประมาณ ต้องใช้เวลาไปอีกเยอะมาก ต้องอย่าลืมว่ากรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ที่พิจารณาร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ใช้เวลามากกว่าหนึ่งปีกับอีก 22 วัน ในการพิจารณา นี่ยังไม่นับเวลาผ่านเข้าสภา รับหลักการอะไรกันอีก แล้วถ้าเราต้องไปแก้กันจริง ๆ มันต้องผ่านกี่ชั้น คุยกันกี่รอบ โดยเฉพาะช่วงวัยที่คุณไปกำหนดไว้ ถ้าโลกเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ต้องทำอย่างไร” กุลธิดาแสดงความเป็นห่วง 

“แต่เราก็เข้าใจว่าเมืองไทย มันเป็นรัฐราชการ ราชการต้องการกฎหมายเป็นหลักในการหนุนการทำงาน แต่ถ้ากฎหมายตายตัวเกินไป มันก็จะทำให้เราไม่สามารถทำงานได้อย่างยืดหยุ่นในโลกที่เปลี่ยนแปลงไปเยอะ แต่ในความคิดของเราคือ ยังบอกไม่ได้หรอกว่าสุดท้ายร่าง พ.ร.บ. จะดีหรือไม่ดี เพราะเมื่อประกาศใช้ เราสามารถทำรายละเอียดต่าง ๆ มาประกอบกัน ทั้งกฎหมายลูก หรือระเบียบการที่จะมาซัพพอร์ตหลักการในร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ซึ่งมันก็มีหลักการที่ดีหลายอย่าง แต่มันจะเกิดขึ้นจริงไหม ก็ขึ้นอยู่กับรายละเอียดที่จะตามมานั่นแหละ สุดท้ายมันก็ขึ้นอยู่กับความเข้าใจและการปฏิบัติของคนที่อยู่ในระบบการศึกษาทั้งหมด” ณิชากล่าวสรุป

สรุปสาระสำคัญจาก ร่าง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …

เริ่มมาถูกทาง ถูกตั้งคำถาม
หลักสูตรที่หลากหลาย และปรับใหม่ทุก 2 ปีให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก จำนวนมาตราที่เพิ่มขึ้น มีรายละเอียดและความซับซ้อนเพิ่มมากขึ้น
มีการจัดสรรทรัพยากรให้เหมาะสมกับความหลากหลายของผู้เรียนมากขึ้นเป็นร่างกฎหมายที่ระบุคุณลักษณะของเด็กในแต่ละช่วงวัยอย่างละเอียด โดยไม่สอดคล้องกับงานวิจัยหรือความเป็นวิทยาศาสตร์เรื่องพัฒนาการเด็ก
มีเงื่อนไขที่เอื้อต่อโรงเรียนเอกชน เช่นเดียวกับเด็กในโรงเรียนต้องได้รับการอุดหนุนไม่น้อยไปกว่าเด็กในโรงเรียนรัฐคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติถูกตั้งขึ้นให้เป็นซูเปอร์บอร์ด ทำหน้าที่สั่งการกระทรวงศึกษาธิการ
เปิดกว้างให้มีคนอื่น นอกเหนือรัฐ เช่น พ่อแม่ ชุมชน เอกชน สามารถจัดการการศึกษาได้ โดยรัฐช่วยสนับสนุนไม่มีการพูดถึงสวัสดิภาพและการประกันสิทธิของนักเรียน แต่ระบุความคาดหวังต่อนักเรียนเพียงอย่างเดียว

Writer

Avatar photo

ณัฐฐฐิติ คำมูล

วัยรุ่นปวดหลังที่ใฝ่ฝันถึงสังคมที่ทุกคนเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง

Illustrator

Avatar photo

ลักษิกา บรรพพงศ์

กราฟิกดีไซน์เนอร์ที่เกิดและเติบโตมาพร้อมกับธุรกิจเพลงเด็ก ติดซีรี่ย์ ชอบร้องเพลง ชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และเป็นทาสแมว

Related Posts

Interpersonal

นอนเสียเวลา ว่างแล้วรู้สึกผิด “ทำไมต้องฝืนตัวเองขนาดนี้” Productive แค่ไหนก็ไม่มีพื้นที่ให้เด็กอย่างเราเติบโต