กระโจนสู่ประตูบานใหม่ ในเทศกาลละครสำหรับเด็ก ‘BICT Fest 2024’

งานสำหรับเด็กในสังคมไทยที่เรามักจะคุ้นเคยและนึกถึงมักจะเป็นงานที่เต็มไปด้วยสีสันสดใส สนุก ตลก เบาสมอง เนื้อหาเปี่ยมด้วยความดีงาม คุณธรรม และการสอนสั่งให้เป็นเด็กดี

ด้วยกรอบที่ห่อหุ้มสายตาของพวกเราไว้เช่นนี้ สะท้อนว่าหลายทีหลายครั้งเรามองเด็กด้วยสายตาที่คิดว่าเด็กอาจไม่สามารถรับรู้เรื่องราวต่างๆ ได้อย่างลึกซึ้งเท่าผู้ชมที่เป็นผู้ใหญ่ ตลอดจนมองละครเป็นเครื่องมือในการสั่งสอนหรือเพื่อความบันเทิงเท่านั้น กระบวนการสร้างงานศิลปะสำหรับเด็กให้หลากหลายและลงลึกจึงมักไม่ได้รับการพูดถึงมากนัก

แต่เด็ก คือ ‘มนุษย์’ และเป็นผู้ชมที่มีความหมาย รวมถึงในบางครั้งอาจเป็นผู้ชมที่มีสายตาแสนวิเศษแบบที่ผู้ใหญ่มองไม่เห็นก็เป็นได้

“…งานละครสำหรับเด็ก ไม่จำเป็นต้องจำกัดอยู่แค่ความน่ารักสดใส…”

“…เด็กมีความสามารถที่จะรับรู้สิ่งที่ซับซ้อนได้…”

“…ศิลปะการละครไม่ได้เป็นแค่ Entertainment…”

“…เราอยากสร้างความเป็นไปได้ใหม่ให้คนดูเห็นว่าละครมันทำอะไรได้อีกบ้าง…”

ชวนอ่านบทสนทนากับทีม Bict Fest อุ๊-อัจจิมา ณ พัทลุง (Director), ออร์แกน-ศุรัณยา ปุญญพิทักษ์ (Executive Producer), จ๋า-วริศรา บ่อเกิด (Project Manager/Fundraiser) ว่าด้วยเรื่องน่าเล่า หมุดหมาย และความมุ่งมั่นของเทศกาลละครนานาชาติสำหรับเด็กและเยาวชน กรุงเทพฯ (Bangkok International Children’s Theatre Festival) ที่จะหวนกลับอีกครั้ง พร้อมกับ 13 การแสดงหาดูยากจากศิลปิน 9 ประเทศ และ 8 เวิร์กช็อปการแสดงแบบเอ็กซ์คลูซีฟจากศิลปินที่แสดงในเทศกาลวันที่ 1- 11 สิงหาคมนี้ ภายใต้ตีม ‘Cross the Threshold, follow your butterflies’ ที่จะพาพวกเราทุกคนก้าวออกมาจากกรอบที่หุ้มห่อพวกเราไว้ และโบยบินข้ามขอบประตูสู่ความเป็นไปได้ไม่รู้จบ 

Bict Fest เกิดขึ้นมาด้วยความมุ่งมั่นแบบไหน  

อุ๊ : จริงๆ เราเป็น Director และ Training เป็นผู้กำกับการแสดงละครมาก่อน ซึ่งเราไม่ได้เรียนละคร แต่ว่าจับพลัดจับผลูไปเรียนศิลปะที่อังกฤษแล้วจึงไปเรียนละคร เพราะรู้สึกว่าเราอยากได้อะไรที่มีความเป็นมนุษย์มากขึ้น พอมีช่วงหนึ่งที่ได้มีโอกาสไปฝึกงานกับผู้กำกับที่ทำละครเด็กโดยเฉพาะมันเปิดโลกมาก ทำให้เห็นว่าความเป็นไปได้ของงานละครเด็กว่ามันไม่มีที่สิ้นสุด มันไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นการพูดถึงเฉพาะเรื่องเทพนิยาย ความดี ความชั่ว มันสามารถพูดถึงเรื่องที่เกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัวเด็ก สิ่งที่เป็นความสนใจของเด็กที่เขาอาจจะไม่เคยได้สัมผัสในสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวเขา แต่ว่าเป็นการเล่าเรื่องจากชีวิตของเพื่อนที่อยู่ที่อื่นที่เขาอาจจะไม่รับรู้แต่เรียนรู้กันได้ หรือเพื่อนที่ผ่านประสบการณ์เดียวกัน เด็กก็สามารถเชื่อมโยงกับเรื่อง แล้วทำให้เขารู้สึกว่าเขาไม่ได้อยู่คนเดียว เพราะฉะนั้นมันพูดถึงเรื่องปัญหาที่เด็กต้องเผชิญก็ได้ด้วย  แล้วรูปแบบของการนำเสนอก็ไม่ใช่แค่ว่าจะต้องเป็นการเล่าแบบ Storytelling อย่างเดียวแต่หลากหลายวิธีการได้ 

พอกลับมาทำงานเมืองไทยทำให้รู้สึกว่าวงการละครมันมีปัญหา มีแต่คนดูเดิมๆ มาดูกันซ้ำๆ ศิลปินเองก็ไม่ได้เกิดพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนกันมากพอ บวกกับเราเองมีความใฝ่ฝันว่าอยากเอางานจากคณะละครต่างประเทศมาเล่นที่เมืองไทยให้ได้ 

Bict Fest เลยเกิดขึ้นด้วยเหตุผลหนึ่งที่ว่า เราอยากเริ่มจากการสร้างคนดูใหม่ เริ่มจากการเปิดความเป็นไปได้ใหม่ให้คนดูเห็นว่าละครมันทำอะไรได้บ้าง เลยคิดจะทำ Festival จะได้ไฮไลต์ความสำคัญของสิ่งนี้ เพราะว่าทำให้ทุกคนมารวมตัวกันในเวลาเดียวกัน แล้วก็เอางานจากที่ที่เราเห็นว่าน่าสนใจมาให้คนดูเห็นว่ามันมีงานแบบนี้แบบนั้น มีความหลากหลาย  

เราอยากให้มีการพัฒนาการทำละครในเมืองไทย เราอยากให้โอกาสคนดูในการรู้ศักยภาพของละคร ทั้งคนดูอย่างอายุพวกเรา แล้วก็คนดูเด็ก แล้วอยากให้เด็กๆ ได้มีพื้นที่ในการเรียนรู้ผ่านศาสตร์ศิลปะการละครมากขึ้นในแบบที่มีคุณภาพสูงด้วย มันต้องให้ความสำคัญเขา ไม่ใช่ว่าเขาเป็นเด็กแล้วก็แค่นั้นจบ แล้วจะนำเสนองานอะไรก็ได้ให้เขา 

งานของ Bict Fest มีความหลากหลายและค่อนข้าง Abstract บางคนอาจสงสัยว่างานศิลปะสำหรับเด็กเป็นแบบนี้ได้ด้วยเหรอ เด็กดูแล้วจะเข้าใจไหม? 

ออร์แกน : จริงๆ เด็กเขามหัศจรรย์อยู่แล้ว เขาเป็นผู้รับรู้ (Receptor) ของอะไรๆ ได้มากมายมาก แล้วไม่จำเป็นต้องจำกัดอยู่แค่ความดีความชั่วหรือความสดใส เขามีความสามารถที่จะรับรู้สิ่งที่มันซับซ้อน รับรู้สิ่งที่มัน Abstract หรือบางอย่างที่ผู้ใหญ่เห็นแล้วผู้ใหญ่กลัวแล้วเราคิดไปต่างๆ นานา เด็กอาจเห็นเป็นอย่างอื่น เขากว้างกว่าเราด้วยซ้ำ 

นึกถึงตัวเองตอนที่ไปดูละครในเทศกาลละครที่ต่างประเทศแล้วไปอยู่ร่วมกับคนดูเด็กเยอะๆ  สิ่งหนึ่งที่เขามอบให้กับเราคือ เขาทำให้เรารู้สึกปลอดภัยด้วยซ้ำ หมายถึงบางการแสดงที่ถ้าเราดูด้วยตัวเราเองอาจจะรู้สึกว่ามันน่ากลัว มันอันตรายสำหรับเด็กหรือเปล่า หรือว่าอันนี้มันดาร์กไปหรือเปล่า เราที่โตแล้วมักจะคิดแบบนี้  เราเลยรู้สึกว่ามันสะท้อนกลับมาที่คนโตๆ อย่างเราด้วยเหมือนกัน ว่าการทำละครเด็ก จริงๆ แล้วมันมากไปกว่าเด็กในความคิดที่เราเคยชินอีก  

อุ๊ : เราคิดว่ามันมีความเท่าเทียมเสมอในการแลกเปลี่ยนกัน เพราะว่าทุกครั้งที่เราทำงานกับเด็กเรารู้สึกว่าเราได้อะไรกลับคืนมาเช่นกัน ไม่ใช่การไปป้อนอะไรให้เด็กอยู่ฝ่ายเดียว มันเป็นการเรียนรู้แลกเปลี่ยนกัน เราก็ต้องเห็นเด็กเป็นคนดูกลุ่มหนึ่งที่เป็นมนุษย์ที่เราจะทำยังไงถึงจะสื่อสารถึงเขาได้ โดยไม่ได้มองว่า ‘เด็กน่ารักจังเลย ฉันจะให้อะไรเธอ’ แต่เราจะมองว่าเด็กกลุ่มนี้ อายุเท่าไร จะทำงานชิ้นนี้ให้เด็กกลุ่มนี้เพราะอะไร

เราคิดว่านี่คือเรื่องของการให้ความเคารพต่อกลุ่มคนดูนี้ แล้วก็พยายามทำความเข้าใจ งานเด็กมันน่าสนใจตรงนี้ว่าส่วนมากคนทำงานเด็ก ศิลปินที่ทำงานเด็กจะคิดถึงคนดูว่าเขาจะต้องสื่อสารกับคนดูยังไง การทำงานเด็กศิลปินจะค่อนข้างพยายามหาวิธีในการสื่อสาร หรือว่าเข้าใจว่าวัยนี้พัฒนาการอย่างนี้ สิ่งแวดล้อมนี้เขาจะต้องมีสิ่งไหนที่เขาสนใจ หรือสิ่งไหนที่ยังไม่พร้อม เช่น เสียงเพลงถี่ หรือเพลงดังไป เด็กเล็กน่าจะไม่ไหว หรือว่าไฟขนาดนี้เด็กที่ตายังไม่แข็งแรงพอน่าจะไม่พร้อม จนถึงเรื่องของเนื้อหาหรือเรื่องของวิธีในการที่จะใช้ในตัวกลาง (medium) ที่จะใช้ในการสื่อสาร มันก็มีหลายแบบหลายอย่างที่ต้องคิด 

เด็กที่อยู่ต่างจังหวัดและเด็กที่ไม่ได้เติบโตมาในครอบครัวชนชั้นกลางในเมืองจะเข้าถึง ‘เนื้อหา’ งานละครแบบ Bict Fest ได้ไหม 

ออร์แกน : พอพูดถึงต่างจังหวัด แล้วก็พูดถึงเด็กด้วย ปีที่แล้วเราไป On the move เป็นครั้งแรกที่เราเอางานชิ้นหนึ่งของเราคือ Other World เข้าไปในโรงเรียนในจังหวัดต่างๆ ตอนแรก เราก็คิดไปเองว่า ไม่รู้ว่าเด็กต่างจังหวัดจะตอบรับอย่างไร เพราะเขาน่าจะไม่คุ้นเคยหรือมีพื้นที่ได้ดูงานศิลปะประมาณนี้ ด้วยงานมัน Abstract มาก แล้วไปอยู่ในห้องเรียนของเด็กวัยประถม ป.1-ป.2 

ปรากฏว่าจริงๆ เราไม่ต้องกลัวเลย เราเองก็ต้องย้ำเตือนเราเองเหมือนกัน ว่าเด็กเขารับบางอย่างจากสิ่งที่เขาเห็นและรับมันตรงนั้น รู้สึกแบบนั้น มีน้องคนหนึ่งมาแล้วก็ทุบโต๊ะ บอกว่าไม่ดูๆ แต่พอมันมีเสียงฮือฮา หรือมีอะไรตื่นเต้นก็เงยขึ้นมามอง มีหลายอย่างมาก สนุกมากเลย

อุ๊ : คิดว่าอีกประเด็นหนึ่งคือผู้ใหญ่มักจะเกิดความกลัว กลัวไม่รู้ กลัวไม่รู้คำตอบ กลัวไม่เข้าใจหลายๆ อย่าง แล้วเราก็ไปคิดกับเด็กต่ออีกด้วยว่าเด็กจะเข้าใจไหม มันยากไปหรือไม่  

ปีแรกที่ BICT Fest จัด คนถามว่า นี่งานละครเด็กหรือ เราก็บอกว่า ใช่ จริง ก็มันเล่นอยู่ในประเทศอื่นนะ 

จ๋า : ตัวอย่างหนึ่งเลยที่จะตอบประเด็นนี้ได้คือ ตอนแสดงงาน Other World ที่เชียงใหม่ ศิลปินเขาก็จะมีช่วงที่เทสต์ให้เด็กมาดูละคร  มันเป็นงานสำหรับเด็กที่เราเคยจัดในโรงเรียนนานาชาติและในโรงเรียนรัฐบาลที่มีเด็กหลากหลายสถานะทางเศรษฐกิจด้วย ซึ่งครูทั้ง 2 โรงเรียนพูดเหมือนกันเลยว่า ไม่คิดว่าเด็กจะอยู่นิ่งๆ ได้นานขนาดนี้ ซึ่งสิ่งนี้ก็พิสูจน์ได้ประมาณหนึ่งว่าจริงๆ แล้วไม่ว่าจะเด็กชนชั้นไหนมันเท่าเทียมกันในพื้นฐานของการรับรู้  

ศิลปะการละครสำคัญกับชีวิตมนุษย์เรายังไง 

อุ๊ : ศิลปะการละครไม่ได้เป็นแค่ Entertainment หรือสร้างความบันเทิงใจเท่านั้น แต่มันเป็นศาสตร์ที่รวมทุกอย่างอยู่ในตัวของมันเอง และมันก็เป็นมากกว่านั้น เพราะมันทำงานโดยตรงกับคนที่เสพ เพราะฉะนั้นในบริบทของประเทศนี้ อยากให้เห็นการละครเป็นมากกว่าการเต้นกินรำกิน แล้วก็ให้เข้าใจว่าศิลปินต้องใช้การเรียนรู้ ใช้ความชำนาญ ใช้ทักษะเยอะมาก กว่าจะทำงานชิ้นหนึ่งออกมาได้ และนั่นมันหมายถึงการลงทุนของศิลปิน และคนแรกๆ ที่ควรได้ผลของการลงทุนก็คือเด็ก

อีกแง่มุมหน่งที่อยากเสริมคือยิ่งเป็นงานละครเด็กหรืองานเกี่ยวกับเด็ก มันเป็นงานที่มีความเป็นการเมือง (Political) มาก  มันเป็นเรื่องของการศึกษา คือเรื่องพื้นฐาน เวลาทำงานกับคนเรื่องอายุมันก็เป็นการปูพื้นฐานบางอย่างให้เขาโตขึ้นไปเป็นอะไรต่ออะไรในอนาคต เพราะฉะนั้นทำให้เขาเข้าถึงงานศิลปะแบบนี้เข้าไปมันทำให้เด็กเรียนรู้รอบด้าน แล้วก็การเชื่อมโยง (Connect) กับอารมณ์ของตัวเอง อารมณ์ของคนอื่น แต่ไม่ได้หมายความว่าเรียนละครแล้วทำให้ทุกคนเป็นคนดี แต่หมายถึงว่ามันอาจจะ เชื่อมโยงเรากับความเป็นมนุษย์ได้มากขึ้น  

ออร์แกน : เห็นได้ชัดในช่วงล็อกดาวน์จากสถานการณ์โควิดกัน ทำให้เราได้รู้เลยว่า ศิลปะมันมีความหมายอะไรหลายๆ อย่าง เราต้องการศิลปะไม่ว่าจะในรูปแบบไหนก็ตาม ดนตรี ละคร ภาพยนตร์ บทกวี หนังสือนิยาย นิทาน เพื่อให้เรายังรู้สึกมีชีวิตอยู่ได้ไม่เคร่งเครียดไปก่อน แต่สิ่งเหล่านี้ถูกมองเป็นเรื่องฟุ่มเฟือยมาโดยตลอด มองว่าเป็นเรื่อง Entertainment ที่ให้ความบันเทิงใจอย่างเดียว เลยทำให้มันถูกมองไม่สำคัญ  แต่จริงๆ มันสำคัญมาก สำคัญต่ออารมณ์ความรู้สึกและต่อความเป็นมนุษย์จริงๆ การที่จะเป็นมนุษย์หนึ่งคน มันม่ได้มีแค่กินกับทำงานเท่านั้น   

จ๋า : ทีนี้ถ้าจะสร้างศิลปินให้ทำงานศิลปะเหล่านั้นออกมา หรือสร้างประเทศที่มีความสร้างสรรค์จริงๆ คุณไม่ต้องไปบังคับใครให้เป็นศิลปิน แต่ควรจะสร้างสิ่งแวดล้อมที่คนสามารถเสพศิลปะได้ แล้วมันจะเกิดแบบนี้ขึ้นมาเอง และมันไม่ใช่ว่าทุกคนต้องเป็นศิลปิน หมายถึงว่าคนไม่ชอบก็ดูได้เอง ทุกคนมีสิทธิที่จะเลือกชอบศิลปะ อยากจะชอบแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนที่เป็นศิลปินเท่านั้นถึงจะดูงานศิลปะได้ หมอก็ดูงานศิลปะได้ อยากให้เกิดภาพแบบนี้ขึ้นด้วย 

Cross the Threshold, follow your butterflies คอนเสปต์ของปีนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร 

อุ๊ : คือมันเริ่มจากเรารู้สึกว่าเราไม่ได้ออกมาจากโลกออนไลน์เลย BICT Fest ครั้งล่าสุดที่เราจัดเทศกาล On-site มันคือปี 2018 คือก่อนโควิด ถึงแม้ว่าเราจะทัวร์กันในปี 2023 ก็จริง แต่ปีนี้มันก็เหมือนกับว่าเราตื่นเต้นที่ได้กลับมาจัดงาน On-site อีกครั้ง หลังจากที่หายไป 5 ปี มันก็เลยเหมือนกับว่ามีความเป็นเป็นสัญลักษณ์อะไรบางอย่างที่เรากำลังจะก้าวออกมาจากกรอบที่ห่อหุ้มเราไว้ 

เราอยากจะออกมา เรามีความรู้สึกว่า ความกลัวนี้เราจะก้าวข้ามไปยังไงในสถานการณ์ระหว่างปีที่ผ่านมาหลังจากโควิดที่มันไฮไลต์หลายๆ สิ่งที่เป็นปัญหาของโลก หมายถึงว่ามันก็แปลกดีที่พอเราหยุดชะงักทุกอย่าง ปัญหาที่เกิดขึ้นในแง่ของความไม่เท่าเทียมและอื่นๆ มันชัดขึ้นมา 

ออร์แกน : ตอนที่เราคุยคอนเซปต์เรื่องการก้าวข้ามความกลัว จำได้ว่าเราคุยกันว่า เวลาที่จะก้าวข้าม บางทีมันไม่ใช่แค่มีความท้าทาย แต่มันมีการตัดสินใจด้วย และในขณะเดียวกันมันสามารถเป็นอะไรที่สนุกได้ หมายถึงว่าให้ความรู้สึกแบบเหมือนเพื่อนชวนไป ‘ไปกันเถอะอย่าเพิ่งกลับบ้าน’ อะไรแบบนั้น จริงๆ แค่นี้ก็คือการก้าวข้ามอะไรบางอย่างแล้ว แล้วเราก็มองมันทั้งในแง่ว่านอกจากภายในตัวเองของการเติบโต หรือว่าอุปสรรคปัญหาอะไรก็ตามที่อยู่ในนั้นแล้ว มันมีความสนุกแบบว่า Let’s Jump มันเป็นทั้งความกล้าที่จะไป แล้วในขณะเดียวกันคือไม่รู้ด้วยซ้ำถึงอีกข้างที่จะไป แต่ก็ลุย!

จ๋า : อีกอย่างเราก็อยากเป็นพื้นที่ให้เด็กๆ สามารถมีอิสระในการก้าวไปทำอะไรๆ ในขณะที่เคารพคนอื่นด้วย จริงๆ งานที่พี่อุ๊เลือกมาในปีนี้ก็มีหลายงานที่ไม่มี Boundary หรือเส้นแบ่งระหว่างการเป็นคนดูกับการเป็นผู้แสดง

อุ๊ : อาจเรียกว่าเป็นเส้นเบลอๆ ก็ได้ คือพอพูดถึง ‘Cross the Threshold, follow your butterflies’ มันเหมือนกับการก้าวข้ามพื้นที่ที่เป็น Comfort Zone ของเรา พอเราพูดถึงการแสดงที่ผู้ชมมีส่วนร่วม หรือว่าปฏิสัมพันธ์ (Interactive) ได้ มันไม่ใช่อะไรใหม่ มันมีคนทำมาแล้วเยอะมาก แต่ว่าปีนี้งานที่เราเลือกมาอาจจะเน้นชัดมากขึ้น โดยเฉพาะในบริบทของละครเด็กในประเทศไทย หรือว่าส่วนมากเขาจะเล่าเรื่องให้เด็กฟัง แต่นี่เราให้พื้นที่ให้เด็กหรือคนดูสามารถเป็นนักแสดงเป็นศิลปินได้ ในพื้นที่ของการแสดงเรามันไม่มี Forth Wall แล้ว ไม่มีเส้นแบ่งระหว่างเวทีและคนดู มันผสานกันเหมือนกับว่าให้คนดูและนักแสดงมีปฏิสัมพันธ์กันแล้วก็เบลอเส้นที่แบ่งว่าฉันเป็นคนดูที่รับอย่างเดียวกับฉันเป็นนักแสดงในโชว์ งานในปีนี้หลายชิ้นเด็กจึงจะขึ้นไปอยู่บนเวทีกับนักแสดงได้ หรือว่าบางงานไม่มีนักแสดงเลยมีแต่คนดูที่ไม่ใช่คนดูแต่เป็นผู้แสดง เป็นกลุ่มคนดูที่เข้ามาร่วมแสดง มันก็จะมีงานในลักษณะนี้ 

ในมุมมองของคุณอะไรคือ the Threshold ของเด็กๆ  

อุ๊ : อาจจะขึ้นอยู่กับวัย สมมติว่า 0-6 ขวบ เด็กเล็กที่กำลังเป็นวัยที่เติบโต เด็กที่ยังไม่เข้าโรงเรียนกับเด็กที่เข้าโรงเรียนแล้วก็จะต่างกัน ถ้ามองในภาพรวม คิดว่าเส้นแบ่งคือความยากที่ทำให้เขาต้องเรียนรู้ใหม่ มันเป็นเรื่องของการเติบโต การเรียนรู้อะไรใหม่ การต้องแก้ปัญหาที่เผชิญอยู่ระหว่างเติบโตขึ้นเรื่อยๆ  

หรือถ้าพูดง่ายๆ สำหรับเด็กทุกวัย เส้นแบ่งมันคือ Adventure หรือการผจญภัย ถ้าเกิดพูดในแง่ของโรแมนติกนิดหนึ่งที่ทำให้สนุกขึ้นก็คือเป็น Adventure การได้ออกเดินทางทั้งในด้านของการเข้าไปในโรงเรียนด้วยการอ่านหรือการเปิดหนังสือเล่มใหม่ขึ้นมา หรือเรียนรู้เกี่ยวกับประเทศใหม่ที่เขาไม่รู้มาก่อนเลย ดินแดนที่มีตัวละครที่แปลกประหลาด แล้วเขาต้องคิดร่วมกับตัวละคร อันนี้ก็ถือว่าเป็นการเรียนรู้ใหม่

ออร์แกน : เสริมจากพี่อุ๊ อีกมุมหนึ่งคือเป็นสิ่งแวดล้อมใหม่ หรือสิ่งเร้าใหม่ในชีวิตที่เข้ามาหาพวกเขา แล้วแต่ละคนก็ตัดสินใจว่าจะก้าวแค่ไหนหรือไม่ก้าว 

คุณอุ๊ : แล้วมันมีดีกรีที่ต่างกันด้วย บางคนอาจจะยิ่งใหญ่มากเหมือนกัน ถึงแม้จะเป็นเด็กวัยเล็ก บางคนอาจจะแค่เป็นการสะดุดนิดหนึ่ง แต่บางคนก็โอ้โหล้มเลย แล้วก็เวลาล้มไปแล้วลุกขึ้นมาเขาเจ็บแค่ไหน แล้วเจ็บแล้วเขาก็เดินต่อได้เลยไหม หรือว่าเขาต้องค่อยๆ เดิน เราว่าอุปสรรคหรือการเรียนรู้ใหม่อาจจะเรียนรู้จากความตายก็ได้ อันนั้นคือสิ่งเร้าที่ยิ่งใหญ่มาก อย่างงานของ ‘Puno’ จากอินโดนีเซีย เขาพูดถึงเด็กที่เสียพ่อ เพราะฉะนั้นแต่ว่ากลับมาถึง Threshold ถึงบอกมันมีทั้ง Personal และที่ใหญ่กว่า เรื่อง Community Threshold ก็สามารถพูดถึงมันได้หลายๆ แบบ แล้วในตัวงานในปีนี้มันก็มีบางงานที่อย่างมีอย่างงานชื่อ To Copy ที่เป็นงานสเปน เขาพูดถึงการก็อปปี้ว่าเป็นการเรียนรู้ในการที่จะแบบอยู่ในสังคมหรือว่าในการที่จะเป็นมนุษย์ในโลกใบหนึ่ง เราไม่เป็นเรา ถ้าเกิดเราไม่ได้มอง เราก็เรียนรู้จากการว่าอันนี้ทำให้เราสามารถ อันนี้เรียกว่าเก้าอี้แล้วฉันนั่ง ฉันต้องนั่งแบบนี้ ไม่ใช่เอาหัวลงหรืออะไรแบบนี้ อันนี้คือพูดแบบขำๆ นะแต่ว่ามันคือสำหรับเด็กๆ วัยโรงเรียนหรือว่าสำหรับวัยที่แบบเริ่มมีพี่น้องอันนี้มันก็เป็นการเรียนรู้ร่วมกัน ทำอะไรร่วมกันแก้ปัญหาไปร่วมกัน 

Threshold แต่ละคนก็ต่างกัน บางคนก็บอกว่าไม่ยากเลยแค่นี้ แต่บางคนก็ โอโห หนักหน่วง

ในงานปีนี้มีโชว์ที่เข้าถึงได้ฟรีอย่าง OTHER WORLD: THE BLOX  ซึ่งเอา Kitblox มาใช้ประกอบในการแสดงด้วย 

อุ๊ : ใช่ เราเห็นว่า Kitblox ที่ Imaginary Objects ร่วมกับ Mappa แล้วมันมี Other World ที่เป็นหนังที่ Alfredo Zinola มาทำกับ คาเงะ – ธีระวัฒน์ มุลวิไล จาก B-Floor ที่ไปทำที่โรงเรียนตอนนั้นช่วงโควิด แล้วพอหลังจากนั้นไอเดียของมันคืออยากให้กลายมาเป็นงานชิ้นที่สามารถทัวร์ไปตามโรงเรียนในเมืองไทยให้ได้ เราก็เลยจัดให้มีคาเงะและมัชไป residency ที่โรงเรียนที่เชียงใหม่เพื่อสร้างงานชิ้นนี้ขึ้นมา เพื่อที่ว่าในอนาคตเราจะได้เอาไปทัวร์ตามโรงเรียนในประเทศได้ 

จน One Bangkok มาขอให้เราทำงานอะไรบางอย่างให้เด็กชิ้นหนึ่งเพื่อให้ไปเล่นที่ Design Week เกิดเป็นก้อนงานที่ชื่อ Other World : The Blocs หลังจากนั้นเขาก็ให้เราไปเล่นที่โรงเรียน แล้วเขาก็บริจาคบล็อกอันนั้นไป ปรากฏว่าปีนี้มี BICT Fest เมื่อต้นปีนี้ไปงาน Relearn ของ Mappa เราก็เห็น Kitblox วางอยู่ก็เลยคิดว่าน่าเอามาประกอบในโชว์ 

จ๋า : สำหรับโชว์นี้เรามีความตั้งใจว่าอยากเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงให้กับเด็กๆ ที่อาจจะไม่สามารถซื้อตั๋วได้ ถึงแม้ว่าเราจะพยายามให้มันถูกที่สุดเท่าที่เราจะทำได้แล้วก็ตาม ก็เลยตัดสินใจกันให้มี Public Program ที่สวนสาสาธารณะ พอไปดูพื้นที่เสร็จก็เลยนึกถึง Playground ของ Mappa ก่อน ซึ่งมันมี Kitblox อยู่ในนั้นพอดี  

อุ๊ :  มันเป็นงานที่นำไปคิดต่อไป มันเลยค่อนข้างลงตัวในแง่ของ Object ตอนนี้ศิลปินก็เลยเหมือนต้องสร้างงานใหม่นิดหนึ่ง เพราะว่า Object มันก็ Shape ต่างกัน น้ำหนักต่างกัน

สำหรับทีมแล้ว คุณ BICT คือใคร

อุ๊ : Spirit of Play เราไม่จำกัดความด้วยสีสันหรืออะไร จริงๆ ไม่อยากให้มีสีด้วย ไม่มีรูปร่างและไม่มีรูปแบบที่ตายตัว

ออร์แกน :  ไปอยู่ไหนก็ได้

จ๋า : ที่เราเรียก ‘คุณ BICT’ เพราะไม่มีเพศด้วย และเราจะไม่เรียกพี่ BICT หรือน้อง BICT

‘ไม่มีเพศ ไม่มีวัย  Exist Everywhere’  


Writer

Avatar photo

ศิรินญา

หาทำอะไรไปเรื่อยๆ ตามประสาวัยลุ้น

Photographer

Avatar photo

ณัฐวุฒิ เตจา

เปรี้ยว ซ่า น่าลัก

Related Posts