Preteen 101

สานสัมพันธ์ลูกวัยพรีทีน กับหนัง 4 เรื่องที่พ่อแม่ควรดู

  • เมื่อพูดถึงหนังที่มีตัวละครวัยพรีทีน (pre-teen) คงมีน้อยเรื่องที่จะนึกชื่อได้โดยทันที ทั้งๆ ที่หนังจำนวนมากมีตัวละครวัยพรีทีนรวมอยู่ด้วย
  • เพราะสังคมไทยยังขาดความรู้และความเข้าใจในวัยพรีทีนอยู่ค่อนข้างมาก รวมถึงการที่วัยพรีทีนเป็นช่วงที่สังเกตได้ยากและคลุมเครือ การต้องดูแลเด็กวัยพรีทีนจึงต้องอาศัยทักษะการสังเกตและการเอาใจใส่ในระดับหนึ่ง
  • นี่คือหนัง 4 เรื่อง ที่จะช่วยให้พ่อแม่ได้เตรียมตัว รู้จังหวะและจุดสมดุลที่จะเป็นปั๊มน้ำมันให้ลูกได้ออกไปสำรวจโลก

คงไม่ใช่เรื่องยากถ้าอยากจะหาหนังดูสักเรื่องที่มีตัวละครคาบเกี่ยวอยู่ในช่วงวัยรุ่น (teenage) แต่เมื่อพูดถึงหนังที่มีตัวละครวัยพรีทีน (pre-teen) คงมีน้อยเรื่องที่จะนึกชื่อได้โดยทันที ทั้งๆ ที่มีหนังจำนวนมากมีตัวละครวัยพรีทีนรวมอยู่ด้วย

อาจเป็นเพราะสังคมไทยยังขาดความรู้และความเข้าใจในวัยพรีทีนอยู่ค่อนข้างมาก รวมถึงการที่วัยพรีทีนเป็นช่วงที่สังเกตได้ยากและคลุมเครือ การต้องดูแลเด็กวัยพรีทีนจึงต้องอาศัยทักษะการสังเกตและการเอาใจใส่ในระดับหนึ่ง

หากพรีทีนคือรากฐาน (foundation) ของการเป็นวัยรุ่น การมองข้ามความสำคัญจึงดูไม่ใช่สิ่งที่ควรกระทำนัก เพราะการให้ความสำคัญกับตัวตน ความฝัน และจินตนาการ คือสิ่งที่เด็กวัยนี้ปรารถนา แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องคอยจับตามองหรือบงการชีวิตพวกเขาตลอดเวลา

หากอ้างอิงสิ่งที่ ‘หมอแนต’ ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ จิตแพทย์เด็ก-วัยรุ่น และโฆษกกรมสุขภาพจิต เคยกล่าวไว้ “พ่อแม่ต้องทำตัวเป็นปั๊มน้ำมัน ให้ลูกออกไปสำรวจโลก แต่พ่อแม่รู้ว่า รถของลูกมีถังน้ำมันน้อย ให้ลูกกลับมาเติมน้ำมันที่บ้านได้ แล้วขับออกไปต่อ แต่ไม่ใช่การเอาหัวจ่ายน้ำมันไปเชื่อมกับลูกตลอดเวลา พ่อแม่เองต้องเตรียมตัวพอๆ กับเด็กที่เตรียมตัวสู่วัยรุ่นด้วย”

นี่คือตัวอย่างบางส่วนเสี้ยวจากหนัง 4 เรื่อง ที่จะช่วยให้พ่อแม่ได้เตรียมตัว รู้จังหวะและจุดสมดุลที่จะเป็นปั๊มน้ำมันให้ลูกได้ออกไปสำรวจโลก

Yes Day (2021): เรียนรู้ที่จะตอบ ‘ไม่’ ในบางครั้ง ตอบ ‘ใช่’ ในบางหน

ครอบครัวทอร์เรส ประกอบไปด้วยสมาชิก 5 คน คือ แอลลิสัน-แม่, คาร์ลอส-พ่อ และลูกอีก 3 คน เคที ลูกสาวคนโต, นันโด ลูกชายคนกลาง และ เอลลี ลูกสาวคนเล็ก 

แอลลิสันเลี้ยงลูกทั้ง 3 คน ด้วยความเข้มงวด คำว่า ‘ไม่!’ คือคำตอบคลาสสิกที่เธอใช้กับลูกเป็นประจำ โดยเฉพาะเคทีที่กำลังอยู่ในวัยย่างเข้าวัยรุ่น (เธอเริ่มส่งสัญญาณความต้องการระยะห่างจากแม่ และมีความสนใจเพศตรงข้าม) และนันโดที่กำลังอยู่ในวัยพรีทีน (นันโดกำลังหมกมุ่นอยู่กับการทดลองวิทยาศาสตร์ และมองว่านั่นคือความเจ๋งที่เขาจะใช้อวดเพื่อนๆ)

ในมุมมองของแอลลิสัน การที่เธอจำเป็นต้องเล่นบทแม่ใจร้ายก็เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกได้รับอันตรายหรือมีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ (ส่วนคาร์ลอสผู้เป็นพ่อก็เล่นบทใจดีไป) แต่ในมุมมองของลูก เธอกลับเป็นเผด็จการผู้จำกัดเสรีภาพของพวกเขา แอลลิสันไม่รู้ถึงข้อเท็จจริงนี้จนกระทั่งครูที่โรงเรียนของลูกๆ เรียกเธอไปพบ เพื่อแจ้งว่าเคทีแต่งกลอนไฮกุว่า เธอเป็นเหมือนนกที่ถูกขังอยู่ในกรงโดยแม่ ส่วนนันโดทำวิดีโอส่งคุณครูวิชาประวัติศาสตร์เกี่ยวกับผู้นำเผด็จการ โดยให้แม่ของเธอยืนเคียงข้างกับมุสโสลินีและสตาลิน

นี่เป็นเหตุการณ์ที่แอลลิสันเริ่มรับรู้ว่า ความปรารถนาดีที่เธอใช้เป็นเหตุผลในการพูดคำว่า ‘ไม่’ ต่อลูก กลับกลายเป็นคำที่ค่อยๆ ผลักลูกให้อยากออกห่างจากเธอมากขึ้นเรื่อยๆ 

นั่นจึงเป็นที่มาของ Yes Day วันที่เธอตกลงกับลูกว่า ไม่ว่าลูกจะขออะไร เธอจะตอบตกลงโดยไม่ลังเล แต่มีเงื่อนไขเพียงว่า คำขอนั้นจะต้องไม่ส่งผลอันตรายหรือเป็นอะไรที่ผิดกฎหมาย

ถ้าการตอบปฏิเสธคำขอของลูกที่ผ่านมา คือการกอดรัดลูกแน่นเกินไปจนพวกเขารู้สึกอึดอัด การตอบตกลงทุกอย่างใน Yes Day ก็เหมือนการคลายกอดและปล่อยให้พวกเขาได้โลดแล่นอย่างเสรี แต่หนังเรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า นั่นก็ไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดผลดีเสมอไป แบบที่แอลลิสันเรียนรู้ว่าจริงๆ แล้วเธอกลัวที่ลูกจะต้องเติบโต ส่วนลูกๆ ก็เห็นว่าแม้พวกเขากำลังจะโต แต่ก็ยังต้องการอ้อมกอดของพ่อแม่อยู่บ้าง 

การบงการมากเกินย่อมไม่เกิดผลดี การปล่อยเลยตามเลยก็ไม่สมควรนัก หนังบอกเราว่า พ่อแม่ต้องค่อยๆ ผละมือที่ห่วงใยออกจากลูก สิ่งนี้เหมือนเป็นคีย์เวิร์ดสำคัญที่หนังบอก นั่นคือ การหาจุดสมดุลในความสัมพันธ์

Boyhood (2014): เพราะความเข้าใจคือหัวใจของความสัมพันธ์

เพียงแค่การใช้เวลาถ่ายทำทั้งหมด 12 ปี ก็ทำให้หนังเรื่องนี้มีความน่าสนใจอยู่แล้ว พอยิ่งรู้ว่ามันเป็น 12 ปี ที่ล้อไปกับการเติบโตผ่านช่วงวัยของนักแสดงนำ ก็ยิ่งน่าสนใจขึ้นไปอีก 

เมสัน ลูกชายคนเล็กของบ้าน คือแกนกลางของหนังเรื่องนี้ เขาเป็นเหมือนตัวละครที่ดึงดูดเรื่องราวความสัมพันธ์ ความขัดแย้ง และประสบการณ์ข้ามผ่านช่วงวัย ตั้งแต่วัยเด็ก วัยพรีทีน ไปจนถึงวัยรุ่นทั้งตอนต้นและตอนปลาย

พ่อแม่ของเมสัน และพี่สาว แยกกันอยู่ตั้งแต่พวกเขายังเด็ก ทั้งคู่อาศัยอยู่กับแม่เป็นหลัก พ่อของพวกเขาจะมารับไปสานสัมพันธ์ด้วยประปรายตามหน้าที่และความรับผิดชอบของคนเป็นพ่อ 

พ่อของพวกเขามีหัวคิดที่ค่อนข้างเสรีนิยม เขาสนับสนุนให้ บารัค โอบามา จากพรรคเดโมแครตเป็นประธานาธิบดี กิจกรรมช่วยรณรงค์ปักป้ายหาเสียงให้โอบามา เป็นกิจกรรมหนึ่งที่เขาพาลูกๆ ไปทำ นั่นทำให้เมสันรู้จักกับความคิดเหยียดสีผิวเป็นครั้งแรก พ่อของพวกเขายังสอนให้ลูกๆ ต้องรู้จักการป้องกันและคุมกำเนิดจากการมีเพศสัมพันธ์ 

“พ่อกับแม่มีลูกกันโดยไม่พร้อม” คือสารที่เขาสื่อตรงๆ กับลูก

เมสันต้องเจอประสบการณ์อีกมากมายจากความเปลี่ยนแปลงของครอบครัว เพราะแม่ของเขามีสามีใหม่ถึง 2 คน และทั้งสองดูจะไม่เป็นมิตรกับเมสันเท่าไรนัก หากพูดถึงแค่สามีใหม่คนแรก ซึ่งเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ฐานะดี แต่มีพฤติกรรมติดสุรา วันหนึ่งเขาลากเมสันที่กำลังอยู่ในวัยพรีทีนไปกร้อนผมเป็นทรงสกินเฮด ซึ่งอาจไม่ใช่ความรุนแรงอะไรมากเมื่อเทียบกับเรื่องอื่นๆ ที่เขาทำ แต่มันมีผลต่อเมสันอยู่ไม่น้อย เพราะเขากำลังเริ่มใส่ใจกับรูปลักษณ์ของตัวเอง และต้องการไว้ผมยาวไปเรื่อยๆ 

ในช่วงเดียวกันนี้ เมสันเริ่มมีความต้องการอยากเป็นผู้ใหญ่ เขาเริ่มปฏิเสธการถูกหอมแก้มจากแม่ก่อนเดินเข้าโรงเรียน เขาเริ่มสนใจอยากมีแฟน และต้องการเป็นคนเท่ที่ดึงดูดคนอื่น

กล่าวโดยสรุป แกนหลักของหนังเรื่องนี้อาจไม่ใช่การสอนหรือชี้ถูกผิดว่าพ่อแม่ควรปฏิบัติตัวอย่างไรกับลูก โดยเฉพาะในช่วงพรีทีน แต่อย่างน้อยที่สุด มันก็แข็งแรงมากพอที่จะสร้างความเข้าใจจากมุมมองของเด็ก ทั้งมุมมองที่มีต่อคนอื่นและต่อตัวเอง 

เพราะหัวใจในความสัมพันธ์ คือการได้รับความเข้าใจ ไม่ถูกมองข้าม มันเป็นเรื่องง่ายๆ ที่สอนกันไม่ได้ แต่เด็กและพ่อแม่ต้องเรียนรู้ไปพร้อมกันอย่างเห็นอกเห็นใจ

Little Miss Sunshine (2006): ในวันที่มืดมิด แม้แสงอันน้อยนิดก็สว่างเพียงพอ

เรื่องของเรื่องเริ่มต้นด้วย โอลีฟ สาวน้อยวัยพรีทีน ผู้มีความฝันอยากเป็นนางงามเด็กในการประกวด ‘Little Miss Sunshine’ ประกอบกับงบใช้จ่ายสำหรับเดินทางมีไม่มาก ทำให้สมาชิกครอบครัวทั้ง 6 ต้องเดินทางไกลด้วยรถตู้ Volkswagen สีเหลืองที่ระบบการทำงานของเครื่องยนต์ไม่ค่อยเอื้อนัก

ปรากฏว่าเมื่อมาถึงวันสมัครเข้าประกวด บรรดาสาวน้อยคู่แข่งวัยเดียวกันกับโอลีฟ ล้วนเต็มไปด้วยเด็กสายประกวดมืออาชีพ เด็กๆ เหล่านี้มีรูปร่างผอมเพรียวตามแบบที่เรามักเห็นได้จากนางแบบผู้ใหญ่ทั่วไป การมีคู่แข่งแบบนี้ทำให้โอลีฟไม่มั่นใจในตัวเอง และอยากถอนตัวจากการประกวดครั้งนี้

นั่นนำมาสู่หนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของหนังเรื่องนี้ นั่นคือ การที่ตัวละครต่างช่วยสนับสนุนซึ่งกันและกัน 

คืนก่อนหน้าการแข่งขัน โอลีฟแสดงความกังวลให้ปู่ที่มาส่งเธอเข้านอนรับรู้

“ปู่คะ หนูน่ารักไหม?” โอลีฟถาม ก่อนที่ปู่จะตอบว่า “โอลีฟ หนูเป็นสิ่งที่สวยงามที่สุดในโลกนี้”

หลังพูดเสร็จ ปู่กำลังจะเดินหันหลัง

“ปู่คะ หนูไม่อยากเป็นคนขี้แพ้”

“หลานไม่ใช่คนขี้แพ้ คนขี้แพ้ตัวจริงคือคนที่กลัวจะแพ้จนไม่พยายามทำมัน แต่หลานพยายามอยู่นี่ เพราะฉะนั้นหลานไม่ใช่คนขี้แพ้”

นี่คือตัวอย่างที่สวยงามและเติมกำลังใจฉากหนึ่งของหนังเรื่องนี้

หลายๆ ฉาก หลายๆ เรื่อง ในหนังเรื่องนี้ได้แสดงถึงสิ่งที่ไม่ใช่แค่เด็กวัยพรีทีน ผู้ใหญ่ หรือคนแก่ ต้องการ แต่ยังแสดงสิ่งที่มนุษย์ทุกคนต้องการ นั่นคือ ‘การได้รับแรงสนับสนุน’ ในการทำสิ่งที่อยากทำ และเป็นในสิ่งที่ตัวเองเป็น 

Spirited Away (2001): ไม่ว่าอย่างไร อย่าลืมคุณค่าของตัวเอง

ด้วยชื่อของ ฮายาโอะ มิยาซากิ (Hayao Miyazaki) แห่งสตูดิโอจิบลิ พร้อมรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์แอนิเมชั่นยอดเยี่ยม ย่อมรับประกันว่า Spirited Away หรือ มิติวิญญาณมหัศจรรย์ จะเป็นหนังที่ดี ให้แง่คิด และสนุกเพลิดเพลิน มากพอให้นั่งดูร่วมกันได้ทั้งครอบครัว

เรื่องมีอยู่ว่า หลังพ่อแม่ทำพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ ทำให้พวกเขาถูกสาปให้กลายเป็นหมู ส่วน จิฮิโระ ลูกสาววัยพรีทีนก็พลอยต้องติดอยู่ในโลกแห่งวิญญาณไปด้วย โดยมีเงื่อนไขสำคัญคือ เธอจะต้องไม่ลืมชื่อจริงของตัวเอง เพราะหากเธอลืมชื่อของตัวเองไปเสียแล้ว เธอก็จะติดอยู่ในโลกมิติวิญญาณตลอดไป

แน่นอน การต้องก้าวผ่านอุปสรรคด้วยตัวเองจึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่จิฮิโระต้องเผชิญอยู่แล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่หนังพยายามฉายภาพให้เห็น และยังอาจคิดได้อีกว่า เป็นสิ่งที่หนังพยายามพูดกับเด็ก คือการให้คุณค่ากับตัวเอง เพราะเมื่อมองเห็นคุณค่าของตัวเองแล้ว การมองเห็นคุณค่าของเพื่อนร่วมโลกคนอื่นก็จะเป็นเรื่องง่ายไปโดยปริยาย


Writer

Avatar photo

อภิสิทธิ์ เรือนมูล

นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ WAY ผู้ร่ำเรียนนิติศาสตร์ แต่สนใจปรัชญา เพราะปรัชญามอบคำอธิบายถึงชีวิตทั้งในมิติ fiction และ non fiction มีความเชื่อว่าชีวิตในและนอกตำรา ทฤษฎีและการปฏิบัติ ไม่อาจแยกขาดออกจากกัน

Related Posts