หมอช้าง ควาญช้าง โรงเรียนช้าง: สายสัมพันธ์ระหว่างคนกับช้างที่ไม่ต่างจากครอบครัว

ศูนย์คชศึกษา บ้านตากลาง ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ คือดินแดนอาณาจักรช้างเลี้ยงที่ใหญ่ที่สุดในโลก และได้ชื่อว่าเป็น ‘หมู่บ้านช้าง’ เพราะไม่ว่าจะมองไปทางไหน ร่องรอยของสัตว์สี่เท้าขนาดใหญ่ก็จะปรากฏให้เราได้เห็นเป็นภาพคุ้นตา และชาวบ้านในบ้านตากลางแห่งนี้ก็ยังคงทำอาชีพเลี้ยงช้าง ซึ่งเป็นมูลมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษกันมาอย่างยาวนาน 

ระหว่างการเดินทางเพื่อไปเยี่ยมเยือนศูนย์คชศึกษา ณ บ้านตากลาง ภาพที่เราเห็นตลอดสองข้างทาง คือภาพของโรงเลี้ยงช้างที่อยู่ติดกับบ้านคน มองเผินๆ คล้ายกับโรงจอดรถ แต่เมื่อมองเข้าไปก็จะเห็นเจ้าช้างตัวใหญ่ยืนกินหญ้าอย่างสบายใจ วัฒนธรรมในการเลี้ยงช้างของคนที่นี่คือเลี้ยงเหมือนสมาชิกในครอบครัว ช้างและคนจะใช้ชีวิตร่วมชายคาเดียวกัน อยู่ในช่วงเวลาของกันและกันตั้งแต่ เกิด แก่ เจ็บ ตาย

‘กูย’ ต้นกำเนิดวิถีคนเลี้ยงช้าง

ย้อนกลับไปเมื่อครั้งสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พ.ศ. 2200 ชาติพันธุ์ ‘กูย’ ได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณดินแดนอีสานใต้ และมีวัฒนธรรมประเพณีของชาวกูยที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน นั่นคือการ ‘คล้องช้าง’ หรือการเข้าไปจับช้างในป่า โดยผู้ที่จะจับช้างได้นั้น จะต้องเป็นผู้ที่ได้รับการทำพิธีแต่งตั้งให้เป็น ‘หมอช้าง’ เพื่อรับมอบเครื่องมือจับช้างที่ผ่านการปลุกเสกแล้ว และในปัจจุบันนี้ หมอช้างรุ่นสุดท้ายในประเทศไทยก็เหลืออยู่เพียง 3 คน คือ ตามา ทรัพย์มาก วัย 85 ปี ตาสง เครือจัน วัย 85 ปี และตาเหิน จงใจงาม วัย 86 ปี 

“ชาวกูยเข้าป่าไปคล้องช้างกันตั้งแต่สมัยก่อน ตั้งแต่ผมจำความได้ก็เริ่มมีการคล้องช้างกันแล้ว สมัยนั้นเราคล้องช้างเพื่อเอามาขายให้กับทางฝั่งพิษณุโลก เพชรบูรณ์ ลำพูน ลำปาง เชียงใหม่ รุ่นพวกผมเป็นรุ่นสุดท้าย เหลือกันอยู่แค่ 3 คน” ตามาเล่าเรื่องราวของชาวกูยให้เราฟัง

“เมื่อก่อนใครๆ ก็อยากเป็นหมอช้าง ได้เข้าป่าไปคล้องช้างป่า ใครบ้างจะไม่อยากไป สมัยก่อนช้างขายได้ตัวละ 3 – 4 พัน ถ้าตีเป็นเงินสมัยนี้ก็เยอะมาก ถ้าเราจับมาได้สองตัวก็เอาไปขายตัวหนึ่ง อีกตัวก็เอาไว้เลี้ยงไม่ได้เอามาทำร้าย แต่เอามาไว้ร่วมพิธีงานบุญ งานมงคล”

แม้ว่าการเป็น ‘หมอช้าง’ จะได้รับความนิยมในหมู่ชาวกูยสมัยก่อน แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังเป็นหน้าที่ที่ต้องแลกมาด้วยอันตรายที่อาจร้ายแรงจนถึงแก่ชีวิต ในแต่ละครั้งที่จะเดินทางไปคล้องช้าง บรรดาหมอช้างจะต้องทำพิธีเซ่นไหว้ ‘ศาลปะกำ’ ซึ่งเป็นที่สิงสถิตวิญญาณบรรพบุรุษและผีปะกำตามความเชื่อของชาวกูย และเป็นที่เก็บรักษาเชือกปะกำ (เชือกที่ทำจากหนังควายสำหรับคล้องช้าง) และอุปกรณ์อื่นๆ ในการคล้องช้าง ก่อนจะทำการเสี่ยงทายคางไก่เพื่อทำนายว่าฤกษ์ในการจับช้างนี้เป็นฤกษ์ดีหรือไม่ แล้วจึงเริ่มออกเดินทางไปจับช้างป่าเป็นระยะเวลานานกว่า 3 เดือน

ภาพจำระหว่างช้างกับคนในสมัยก่อน สำหรับใครหลายคนอาจนึกถึงฉากในภาพยนตร์หรือแอนิเมชันที่ช้างถูกจับมาล่ามโซ่เส้นใหญ่และถูกเฆี่ยนตีให้เชื่องเพื่อนำไปใช้แรงงาน แต่คำบอกเล่าของหมอช้างทำให้เราประหลาดใจอยู่ไม่น้อย เพราะอุปกรณ์ที่หมอช้างมีติดตัวไว้ในช่วงระยะเวลาที่ต้องดูแลช้างป่า มีเพียงผ้าขาวม้าประจำตัวหนึ่งผืนและตะขอช้างที่พกไว้เพื่อป้องกันตัวเมื่อเกิดเหตุอันตรายไม่คาดฝันเท่านั้น

“เวลาไปจับช้างเราต้องเอาช้างในหมู่บ้านไปด้วย เขาเรียกว่าช้างต่อ เอาไปจูงช้างป่ากลับมา พอได้ช้างป่ามาเราก็ล่ามไว้สัก 3 วัน จากนั้นเอาช้างในหมู่บ้านมาประกบ ถ้าดื้อก็เอาผ้าขาวม้าลูบๆ โปะๆ ตัวสักหน่อย ใช้เวลา 2 – 3 วันก็สงบลงแล้ว ง่ายยิ่งกว่าฝึกวัวฝึกควายไถนา จะเอาไม้ใหญ่ๆ ไปตีไม่ได้หรอก ช้างจะเป็นยังไงเราก็เอาแค่ผ้าเนี่ยไปโปะๆ หลังจากนั้นก็หาข้าวหาน้ำให้ เหมือนเลี้ยงลูกเลี้ยงน้อง” ตามาเล่าถึงวิธีการทำให้ช้างป่าสงบเมื่อนำช้างกลับมาที่หมู่บ้าน โดยช้างป่าเหล่านั้นจะเริ่มเชื่องภายในระยะเวลาเพียง 1 เดือน

ตาสงและตาเหินเล่าว่าการเลี้ยงช้างป่าให้เชื่องนั้นก็เหมือนกับการเลี้ยงลูก อุปกรณ์ที่ใช้ในการฝึกนั้นมีเพียงผ้าขาวม้า แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือคำพูดคำจาที่ใช้บอกและสอนช้าง ซึ่งวิธีการฝึกนี้ก็ส่งต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น แสดงให้เห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างชาวกูยและช้างนั้นมีความผูกพันคล้ายกับคนในครอบครัวกันมาตั้งแต่โบราณ

“คันบ่ดื้อเฮากะบ่ตีเด็ดขาด คือเฮาเลี่ยงลูกเฮา บอกเพิ่นสอนเพิ่นจักนอย บังคับเพิ่นแนจักนอย คอยฝึกคอยสอนเอา วางของเอาไว้ ถ้าบอกเพิ่นว่าให่เก็บ เพิ่นกะเอามาให่ เหรียญบาทเหรียญอีหยังกะเก็บได้เหมิด (ถ้าไม่ดื้อเราก็ไม่ตีเด็ดขาด เหมือนกับเราเลี้ยงลูกเรา บอกเขาสักนิดสอนเขาสักหน่อย บังคับบ้างเล็กน้อย คอยฝึกคอยสอนเอา วางของเอาไว้ถ้าบอกให้เขาเก็บ เขาก็เอามาให้ จะเป็นเหรียญบาทหรือเหรียญอะไรก็เก็บได้หมด)” 

“ซ่างกะส่ำลูกเฮา เว่าง่ายๆ เถาะ ฝึกได้เหมิด มันบ่ฮู่แต่ปากอย่างเดียว สอนงายกว่าคน เอิ้นให้มากะมา คนเฮาสอนแล่วมันยังตายควม ซ่างสอนคำใด๋อยู่คำนั่น (พูดง่ายๆ เลย ช้างก็เหมือนลูกเรา ฝึกได้ทุกอย่าง แค่พูดไม่เป็น สอนง่ายกว่าคน เรียกให้มาก็มา คนเราสอนแล้วมันยังไม่รู้เรื่องไม่รู้ความ แต่ช้างสอนยังไงก็เชื่อฟังอย่างนั้น)”

แม้ว่าในปัจจุบันนี้จะไม่มีการคล้องช้างแล้ว แต่ชาวกูยก็ยังคงสืบทอดประเพณีในการทำพิธีไหว้ศาลปะกำอยู่ และยังมีการถ่ายทอดองค์ความรู้ในการเลี้ยงช้างสืบต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้ สายสัมพันธ์ระหว่างชาวกูยและช้างไม่ได้จางหายไปตามกาลเวลา หากแต่ยิ่งแน่นแฟ้นมากขึ้น เพราะเมื่อลูกหลานได้รับช้างเป็นมรดกตกทอด ก็เปรียบเสมือนได้รับการฝากฝังให้ดูแลสมาชิกในครอบครัว 

เมื่อวัฏจักรของช้างที่ได้มาใช้ชีวิตอยู่ในหมู่บ้านช้างแห่งนี้ หลอมรวมกับวิถีชีวิตของคนกลุ่มใหญ่ คนและช้างต่างพึ่งพาอาศัยกัน ทำให้การเป็นควาญช้างนั้นไม่ใช่แค่เพียงการหารายได้เลี้ยงชีพ แต่ยังเป็นการสืบสานองค์ความรู้ วัฒนธรรม และประเพณีของชาวกูยให้ดำรงอยู่ต่อไป จึงเกิดเป็นคำถามขึ้นว่าการกระทำเช่นนี้นับว่าเป็นการทารุณกรรมสัตว์หรือไม่

รศ.น.สพ.ดร.ฉัตรโชติ ทิตาราม รองศาสตราจารย์ศูนย์วิจัยช้างและสัตว์ป่า คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้สัมภาษณ์กับ Carenation ถึงประเด็นของการเลี้ยงช้างในประเทศไทยที่มีมาตั้งแต่โบราณว่า การที่จะพาช้างเลี้ยงกลับคืนสู่ป่าเพื่อที่จะปรับตัวเข้ากับวิถีช้างป่านั้นเป็นเรื่องยาก และใช่ว่าช้างเลี้ยงทุกเชือกจะสามารถปรับตัวได้ กิจกรรมอย่างการขี่ช้างได้รับการวิจัยว่าเป็นเสมือนการพาช้างออกกำลังกาย เพราะช้างสามารถรับน้ำหนักได้มากถึง 10 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัว และจำนวนช้างเลี้ยงในประเทศไทยในตอนนี้ก็นับว่ามีความสมดุลพอเหมาะเมื่อเทียบกับจำนวนการเกิดและตายของประชากรช้าง

จึงอาจกล่าวในแง่หนึ่งได้ว่าการเลี้ยงช้างนั้นยังคงเป็นวิถีที่ดำรงคงอยู่เพื่อทั้งคนและช้างไทย ตราบใดที่คุณภาพชีวิตของช้างเลี้ยงยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี มีการดูแลช้างอย่างเหมาะสม มีถิ่นที่อยู่ที่ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ผู้คนและสัตว์ป่า การดูแลช้างเหล่านี้ก็เปรียบเสมือนการดูแลสัตว์ที่มีความผูกพันใกล้ชิดกันมาตั้งแต่ลืมตาดูโลก

คนเลี้ยงช้าง ช้างเลี้ยงคน

“ผมเป็นควาญครับ เป็นพ่อเขา” เริญ-จำเริญ บุญหรั่ง เดินเข้ามาแนะนำตัวกับเรา เมื่อเสียงร้องแหลมของพลายดาวมงคลดังขึ้น

ช้างเด็กวัย 5 ขวบที่ยืนอยู่ตรงหน้าเราตอนนี้ คือ ‘พลายดาวมงคล’ หรือ ‘น้องดาว’ ช้างขวัญใจชาวโซเชียลที่โด่งดังจากคลิปออกมารอใส่บาตรกับ คุณแม่วร-ถาวร เมตตา พฤติกรรมอันแสนรู้ ขี้งอน น่าเอ็นดู ของพลายดาวมงคล ทำให้ใครหลายคนรู้สึกเอ็นดูและหลงใหลในความน่ารักของช้างเด็กเชือกนี้ไปตามๆ กัน   

“อะ จุ๊บแก้มแม่ก่อน” วรหยิบผลไม้ที่หั่นเตรียมไว้ในกล่องขึ้นมา พร้อมชี้นิ้วไปที่แก้มเพื่อรอให้ดาวมงคลเอาปลายงวงมาจรดกับใบหน้าของเธอ ก่อนที่ดาวมงคลจะปัดป่ายงวงคล้ายจงใจแกล้งแม่ และค่อยๆ ยื่นงวงไปหยิบผลไม้ในกล่อง ภาพความน่ารักนี้เรียกรอยยิ้มและเสียงหัวเราะจากทุกคนได้ทันที

ครอบครัวของจำเริญทำอาชีพเป็นควาญช้างมายาวนาน ช้างที่จำเริญเลี้ยงอยู่ในตอนนี้เป็นช้างมูลมรดกตกทอดมาจากรุ่นปู่ ด้วยความที่เติบโตมาในครอบครัวคนเลี้ยงช้าง ทำให้จำเริญรู้สึกผูกพันกับช้างมาตั้งแต่เด็ก เขาจึงเลือกที่จะสานต่ออาชีพควาญที่พ่อแม่เคยทำ ก่อนที่ครอบครัวของจำเริญจะย้ายเข้ามาอยู่ในศูนย์คชศึกษา เขาเคยพาช้างออกไปเร่เพื่อหาค่าอาหารมาก่อน เนื่องจากไม่มีรายได้มากพอที่จะหาซื้ออาหารมาเลี้ยงช้าง กระทั่งได้เห็นประกาศรับสมัครครอบครัวควาญช้างในโครงการ ‘พาช้างกลับบ้าน นำควาญคืนถิ่น’ จำเริญจึงรีบยื่นใบสมัครทันที และแล้วโครงการนี้ก็ช่วยหล่อเลี้ยงครอบครัวของเขาให้กลับมาพึ่งพาตนเองด้วยการเลี้ยงช้างได้อีกครั้ง 

“เมื่อก่อนที่ต้องไปเร่ก็เพราะว่าเรามีค่าใช้จ่าย มีค่าอาหารที่ต้องคอยดูแลเขา เขากินเยอะมาก เรื่องอาหารการกินสำหรับช้างเป็นเรื่องสำคัญ ที่บ้านเราก็ไม่มีรายได้จากทางอื่น ก็เลยต้องออกไปเร่”

ทางศูนย์คชศึกษา บ้านตากลาง มอบพื้นที่กว้างให้ช้างได้อยู่อาศัย ทำให้ควาญไม่ต้องออกไปเร่ร่อน อีกทั้งยังมีเงินเดือนให้ควาญช้างและยังมีหญ้าสำหรับเป็นอาหารช้าง ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของช้างและควาญให้ดีขึ้น และเมื่อดาวมงคลลืมตาดูโลกได้ 2 ปี วรจึงเริ่มบันทึกภาพความเป็นอยู่ของดาวมงคลและภาพความสัมพันธ์ระหว่างคนกับช้าง เพื่อเผยแพร่ออกไปให้นักท่องเที่ยวได้รู้จักศูนย์คชศึกษาแห่งนี้ และเพื่อให้โลกได้เข้าใจวิถีคนเลี้ยงช้างมากขึ้น

“กิจวัตรของน้องดาวคือตื่นเช้าต้องได้ใส่บาตร แม่จะเตรียมทุกอย่างไว้ให้น้อง พอน้องอาบน้ำเสร็จก็จะเดินมาถือตะกร้าที่เคยเอาไปใส่บาตรเพื่อไปรอพระที่หน้าบ้าน ถ้าไปแล้วไม่เจอพระ น้องดาวก็จะถือตะกร้าเดินตามหาพระเพื่อรอใส่บาตร จากนั้นก็จะมาออกกำลังกายและเต้น น้องดาวชอบเต้นมาก พอเต้นเสร็จก็พักผ่อนตามอัธยาศัย แล้วตอนเย็นเราก็จะพาเขาเดินออกกำลังกายรอบหมู่บ้านเพื่อให้เขาผ่อนคลาย” วรเล่าพร้อมรอยยิ้ม

“น้องดาวชอบกินผลไม้ ไม่เหมือนช้างตัวอื่นๆ ที่ชอบกินหญ้า น้องชอบกินทุเรียน ลูกพลับ แตงโม แม่ก็เลยใส่ใจเรื่องอาหารการกินของน้องมากเป็นพิเศษ น้องเป็นเด็กชอบเอ็นเตอร์เทน ชอบเล่น ถ้าเราชมว่าเก่งน้องก็จะยิ่งทำ เราก็จะชมเขาบ่อยๆ” 

“เวลาที่เขามีความสุขหรือเศร้าซึม เราสังเกตจากดวงตาเขาได้เลย”

“มีครั้งหนึ่งน้องดาวไม่สบาย เราสังเกตอาการได้เลย น้องนิ่งมาก ท้องเสีย ซึม สองขาหน้าแข็ง เดินไม่ได้เลย พ่อกับแม่ก็นั่งร้องไห้กันอย่างเดียว ตกใจจนทำอะไรไม่ถูก พอคุณหมอมาตรวจก็เจอเชื้อไวรัสโรคเฮอร์ปีส์ ตัวนี้ร้ายแรงที่สุดสำหรับช้างเด็ก ถ้าเรารักษาไม่ทันน้องอาจจะจากไปกะทันหันได้เลย พ่อกับแม่เป็นห่วงมาก แต่น้องก็สู้ กินยาจนหายดี ตั้งแต่นั้นมาน้องก็ไม่ค่อยเจ็บป่วย กลับมาร่าเริงเหมือนเดิม” วรเล่าถึงช่วงเวลาที่ลูกชายไม่สบาย

“เรารักและเป็นห่วงเขามาก เลี้ยงเหมือนเขาเป็นลูก อยากให้เขาเติบโตขึ้นมาเป็นพ่อพันธุ์ที่ดี เป็นช้างที่ไม่ก้าวร้าวขี้โวยวาย อยากให้เขาเชื่อฟังพ่อแม่”

นอกจากนี้ ครอบครัวของเธอยังได้จัดตั้ง ‘โรงเรียนช้าง’ ขึ้นเพื่อให้ช้างในหมู่บ้านมารวมกลุ่มพบปะกัน โดยเปิดรับนักเรียนตั้งแต่ช้างที่ท้อง ช้างพ่อพันธุ์ ช้างเด็ก และช้างแม่ลูกอ่อน ทางโรงเรียนจะมีกิจกรรมให้ช้างทำ ไม่ว่าจะเป็นเต้น เล่น กิน และนอน เพื่อช่วยให้ช้างร่าเริงและรู้สึกผ่อนคลาย

“โรงเรียนของเราเริ่มจัดตั้งมาได้เกือบ 3 ปีแล้ว โรงเรียนจะเปิดตอน 9 โมง เป็นกิจกรรมในวันพฤหัสบดี วันเสาร์ วันอาทิตย์ ก็จะมีเพื่อนๆ น้องดาวมารวมกลุ่มกัน เป็นโรงเรียนกินนอน บางครั้งก็มีทำกิจกรรม มีการแสดงโชว์บ้าง แต่ไม่ได้มีการฝึกสอนอะไรเพิ่มเติม เราได้รับการสนับสนุนรายได้มาจากทั้งทางต่างประเทศและในประเทศ รายได้เหล่านี้ก็จะเป็นรายได้เสริมให้กับช้างที่มาเข้าโรงเรียน เพื่อให้เขาได้มีอาหารเสริมกิน”

ทว่าเสียงจากอีกด้านหนึ่งนั้นมีความเห็นว่าการที่ให้ช้างมาอาศัยอยู่กับคน อาจเป็นการกักขังทรมานสัตว์ เหล่านี้คือเสียงที่วรมักจะได้ยินตลอดช่วงระยะเวลาของการเป็นคนเลี้ยงช้าง แต่เธอยังคงยืนยันว่าความสัมพันธ์ระหว่างช้างกับคนเลี้ยงไม่ได้เป็นไปในรูปแบบของเจ้านายกับสัตว์เลี้ยง เพราะมุมมองของเธอที่มีต่อช้างนั้นคือสายสัมพันธ์ในรูปแบบของการเป็น ‘ครอบครัว’ และเธอยังคงหวังอยู่เสมอว่าภาพความเป็นอยู่ในหมู่บ้านช้างที่เธอนำเสนอออกไปสู่สายตาคนทั้งโลก จะช่วยให้คนเปิดใจและได้เข้าใจถึงวิถีชีวิตของชาวบ้านได้บ้างไม่มากก็น้อย

“เวลาได้ยินแบบนี้ก็เสียใจ เพราะเราไม่เคยมองว่าเขาเป็นทาส ไม่เคยคิดจะเอาเขามาทรมานเลย เรารักและผูกพันกับเขามาก ไม่อยากเสียเขาไป เราไม่ได้มองเขาเป็นเพียงเครื่องมือทำมาหากิน เรารักเขาเพราะเขาคือครอบครัวของเรา แต่การจะดูแลเขาให้เติบโตเป็นช้างที่ดี เราก็ต้องมีอาชีพและมีรายได้มาเพื่อดูแลเขา”

“เมื่อก่อนก็มีหลายคนที่คิดแบบนี้ แต่พอเขาได้มาเห็นชีวิตความเป็นอยู่ของช้างแล้วก็เปลี่ยนความคิด เปิดใจให้คนเลี้ยงช้างอย่างเรามากขึ้น เราไม่ได้ทรมานอะไรเลย เรามีเวลาให้ช้าง มีเวลากิน มีเวลาเล่น มีเวลาพักผ่อน ถ้าเราเลี้ยงแบบไม่ใส่ใจหรือปล่อยปละละเลย น้องก็จะไม่น่ารักแบบนี้ น้องจะคลุกคลีกับคนไม่ได้”

“อยากให้ทุกคนได้มาสัมผัส ได้มาเห็นความเป็นอยู่ของเรา จะได้รู้ว่าที่นี่เลี้ยงช้างกันยังไง เราอยู่ด้วยความรัก อยู่ด้วยความผูกพัน ‘ช้างเลี้ยงคน คนเลี้ยงช้าง’ อันนี้เป็นคติของพวกเราอยู่แล้ว เราอยู่ด้วยกัน ดูแลกัน พึ่งพากัน เป็นความสัมพันธ์ที่เหมือนกับคนในครอบครัวจริงๆ เชื่อเถอะว่าคนในหมู่บ้านนี้รักช้างเหมือนลูกเหมือนหลานจริงๆ ถ้าเอาช้างเข้าไปนอนในมุ้งได้ก็คงเอาเข้าไปนอนด้วยแล้ว (หัวเราะ)” 

อ้างอิง

https://youtu.be/eR8yIdD-9UM?si=HILzR4hsXc4jCfHf


Writer

Avatar photo

ณัฐนรี บัวขม

มีชีวิตอยู่เพื่อดูคลิปตลก คีบตุ๊กตา และเดินหาร้านอร่อยในย่านบรรทัดทอง

Photographer

Avatar photo

ฉัตรมงคล รักราช

ช่างภาพ และนักหัดเขียน

Illustrator

Avatar photo

พรภวิษย์ เพ็งเอียด

ชอบกินเนื้อต้มและตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือให้ได้ปีละสามเล่ม

Related Posts