Reading is Bonding : มากกว่าการอ่าน คือสายสัมพันธ์ 

ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่หรือผู้ปกครองและลูก เกิดขึ้นจากการแบ่งปันประสบการณ์ระหว่างกัน แต่สิ่งที่ท้าทายพ่อแม่จำนวนมากในโลกยุคใหม่ก็คือ แม้จะอยู่กับลูก แต่ด้วยภาระหน้าที่ความรับผิดชอบอาจไม่ได้มีแค่ดูแลลูกเพียงอย่างเดียว ทำให้การอยู่ร่วมกัน ไม่ได้หมายถึงการแบ่งปันประสบการณ์เสมอไป

ผู้ปกครองจำนวนไม่น้อย อยู่บ้านหลังเดียวกับลูก นอนห้องเดียวกับลูก แต่การอยู่ร่วมกันกลับไม่มีความหมาย เพราะไม่ได้สร้างความเชื่อมโยงระหว่างกัน พ่อแม่เตรียมนม เตรียมอาหาร พาลูกเข้านอน โดยคิดว่าการทำตามหน้าที่เหล่านั้นเพียงพอแล้ว เพราะการดูแลเรื่องปากท้อง ความต้องการขั้นพื้นฐานต่างๆ ของลูกก็สำคัญ แต่หากต้องการสร้างสายสัมพันธ์ บางครั้งแค่การดูแลให้ลูกกินอิ่มนอนหลับอาจยังไม่มากพอ

เพราะสายสัมพันธ์เป็นเรื่องของจิตใจ หลายคนคงเคยได้ยินว่า การพูดคุย สบตากับเด็กๆ สามารถสร้างสายสัมพันธ์ให้เกิดขึ้นได้ ซึ่งนอกเหนือไปจากการพูดคุยทั่วไปแล้ว การอ่านหนังสือให้ลูกฟังก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่สร้างสายสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับลูกได้เป็นอย่างดี

ในช่วงขวบปีแรกๆ ของชีวิต มีโอกาสทองในการสร้างพื้นฐานที่สำคัญต่ออนาคตของเด็กมากมาย ไม่เพียงในด้านการศึกษาเท่านั้น แต่รวมถึงพัฒนาการทางอารมณ์ด้วย และท่ามกลางโอกาสมากมายเหล่านั้น ‘การอ่าน’ ก็เป็นโอกาสของการสร้างสายสัมพันธ์ที่ทรงพลังที่สุด เพราะขณะที่พ่อแม่อ่านหนังสือกับลูก สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่สร้างบรรยากาศแห่งการอ่าน แต่ประสบการณ์ที่แบ่งปันผ่านเรื่องราวในหนังสือนั้น คือการเชื่อมโยงอารมณ์ความรู้สึกที่จะกลายเป็นพื้นฐานของสายสัมพันธ์อันมั่นคงได้

การอ่านกับสายสัมพันธ์เกี่ยวกันอย่างไร
สายสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และลูกไม่ได้เกิดขึ้นทันทีเสมอไป แม้แต่แม่ที่เป็นผู้ให้กำเนิด สำหรับบางคน ความผูกพันต้องได้รับการหล่อเลี้ยงและสร้างขึ้นจากการใช้เวลาร่วมกันอย่างค่อยเป็นค่อยไป ผ่านการพูดคุย โอบกอด หรือทำกิจกรรมที่มีความหมายร่วมกัน เช่น การอ่านหนังสือซึ่งจะเปิดโอกาสให้สายใยแห่งความรักค่อยๆ ก่อตัวอย่างมั่นคง

เพราะสายสัมพันธ์คือความผูกพันระหว่างบุคคล ที่ไม่อาจเกิดขึ้นได้เองลอยๆ แต่จำเป็นต้องอาศัยการมีประสบการณ์ร่วมกัน เพื่อสร้างความเชื่อมโยงบางอย่างระหว่างใจสองใจ 

การอ่านหนังสือนิทาน ดูหนังสือภาพร่วมกัน จัดเป็นกิจกรรมเรียบง่ายที่จะเชื่อมโยงหัวใจของครอบครัวเข้าไว้ด้วยกัน แม้ในวันที่เด็กยังไม่พร้อมออกไปผจญโลกภายนอก หรือพ่อแม่ต้องเผชิญกับข้อจำกัดในชีวิตประจำวัน เรื่องราวในหนังสือกลับเปิดโลกกว้าง ทำให้ได้สัมผัส จินตนาการ ความสนุกสนาน และความคิดสร้างสรรค์โดยไม่ต้องออกจากบ้าน

การศึกษาจาก Dr. Tami De Coteau นักจิตวิทยาคลินิก จาก DeCoteau Trama Informed Care Practice อธิบายว่า การอ่านหนังสือกับลูก ตั้งแต่ช่วงขวบปีแรกๆ สามารถสร้างสายสัมพันธ์ที่มั่นคงที่พัฒนาไปเป็นความเชื่อใจระหว่างเด็กและผู้เลี้ยงดูหลักได้ เพราะในขั้นตอนสร้างสายสัมพันธ์นั้น แม่ลูกต้องมีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน ซึ่งการอ่านหนังสือกับลูกเป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์เชิงบวกที่กระตุ้นสมองในส่วนที่เกี่ยวกับการผูกพัน ระหว่างที่ผู้เลี้ยงดูและลูกสื่อสารด้วยคำพูดหรือใช้อวัจนภาษา อย่างการแสดงท่าทางผ่านการอ่าน การเล่าเรื่องราวในนิทาน ก็ได้สร้างความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยให้กับลูกไปด้วย ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการสร้างความสัมพันธ์ในอนาคต ทำให้ลูกมั่นใจที่จะออกสู่โลกกว้าง รับมือความเครียด และสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่มีความหมายได้

นอกจากนี้ การศึกษาโดยศาสตราจารย์ Peter Cooper และ Lynne Murray จาก University of Reading สหราชอาณาจักร ได้ทดลองฝึกอบรมให้พ่อแม่รู้วิธีการแบ่งปันหนังสือภาพกับลูก และพูดคุยเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในภาพ เพื่อใช้เวลาร่วมกัน ในครอบครัวที่มีรายได้ต่ำในประเทศแอฟริกา การวิจัยพบว่า การเปลี่ยนแปลงง่ายๆ เช่น การอ่านหนังสือให้เด็กฟัง การแบ่งปันหนังสือภาพ มีผลต่อการพัฒนาของเด็กในระยะยาว โดยเด็กที่ผู้เลี้ยงดูได้รับการฝึกอบรมแสดงพัฒนาการที่ดีขึ้นในด้านภาษา ความสนใจ ความเห็นอกเห็นใจ และความเข้าใจทางสังคม

อ่านอย่างไร สร้างสายสัมพันธ์ 

การอ่านเพื่อสร้างสายสัมพันธ์ ไม่ใช่เพียงอ่านตามตัวหนังสือ หรือพ่อแม่หยิบหนังสือเล่มหนึ่ง ลูกหยิบหนังสือเล่มหนึ่งแล้วต่างคนต่างอ่าน

เพราะการอ่านเพื่อสร้างสายสัมพันธ์ ควรให้ความสำคัญกับ ‘การใช้เวลาร่วมกัน’ โดยมีการอ่านหรือหนังสือเป็นสื่อกลาง ต่อไปนี้ เป็นวิธีอ่านหนังสือกับลูก เพื่อสร้างเวลาคุณภาพร่วมกัน

  • จัดให้การอ่านเป็นหนึ่งในกิจวัตรประจำวัน 

ควรให้การอ่านหนังสือกับลูก เป็นหนึ่งในสิ่งที่ต้องทำทุกวัน เป็นกิจวัตร ซึ่งไม่จำเป็นต้องจำกัดเวลาแค่เล่านิทานก่อนนอนเท่านั้น แต่ควรเลือกเวลาที่สะดวกพร้อมกัน และผ่อนคลายที่สุด เป็นช่วงเวลาที่ลูกได้ข้างๆ นั่งตักพ่อแม่ หรือกอดกันระหว่างที่ฟังน้ำเสียงเล่านิทาน ทำให้ลูกอบอุ่นมั่นคงและปลอดภัย 

  • สร้างมุมอ่านหนังสือ

จัดให้มุมอ่านหนังสือเป็นมุมพิเศษในบ้าน ควรเป็นบริเวณที่สบายๆ มีที่นั่ง หรือเบาะ

สำหรับเอนหลังอ่านหนังสือ หากไม่มีบริเวณ อาจใช้ห้องนอน หรือห้องที่ลูกชอบที่สุดก็ได้

ในบริเวณนั้น ควรมีหนังสือหลากหลายให้ลูกได้มีโอกาสเลือกทั้งนิทาน หนังสือภาพ

หนังสือกิจกรรม หรือ Activity Book สำหรับเด็ก การได้อยู่ในที่ที่เป็นส่วนตัวและรู้สึกปลอดภัยจะช่วยให้มีช่วงเวลาที่ดีร่วมกัน ทำให้เกิดความทรงจำที่มีค่าและสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

  • มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างอ่านหนังสือ

การอ่านหนังสือเพื่อสร้างสายสัมพันธ์กับลูก ไม่ควรเป็นแค่การอ่านให้ฟัง แต่ควรทำให้ช่วงเวลานี้สนุกและมีความหมาย การอ่านหนังสือกับเด็กไม่จำเป็นต้องอ่านทุกตัวอักษรในหนังสือ แต่อาจใช้วิธีเล่าเรื่องจากภาพเป็นหลัก เพราะเด็กเล็กที่ยังอ่านหนังสือไม่ได้ มักถูกดึงดูดด้วยภาพมากกว่า พ่อแม่ในฐานะผู้เล่าเรื่องอาจดัดเสียงเป็นตัวละครต่างๆ ปรับโทนเสียงให้เร้าใจเมื่อเรื่องราวตื่นเต้น หรือปรับเสียงให้นุ่มละมุน เมื่อเนื้อหาซึ้งกินใจ นอกจากนั้น ควรชวนลูกคุยถึงเนื้อเรื่อง ถามว่าลูกชอบตัวละครใดมากที่สุด เพราะอะไร เพื่อเปิดโอกาสให้ได้สื่อสารแลกเปลี่ยนความคิด ความรู้สึกระหว่างกัน 

  • ใส่จินตนาการ
    หนังสือและการอ่าน เป็นเพียงสื่อและวิธีการหนึ่งที่ใช้เชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างกัน เมื่อเป็นเช่นนี้ แม่พ่อในฐานะผู้เล่าเรื่องจึงอาจปรับเปลี่ยนวิธีการและการใช้สื่อที่เป็นหนังสือในรูปแบบที่หลากหลาย หนังสือ 1 เล่ม กับจินตนาการของผู้เล่า สามารถสร้างความเป็นไปได้ไม่รู้จบ เช่น นอกจากเล่าเรื่องจากนิทานแล้ว อาจชวนลูกสังเกตภาพในหนังสือ หาดอกไม้สีแดง ว่าอยู่ส่วนใดในภาพเพื่อฝึกการสังเกต หรือชวนลูกนับดวงดาวในหนังสือว่ามีจำนวนเท่าไร หรืออาจสลับบทบาทให้ลูกเป็นผู้เล่านิทานจากภาพ ไม่แน่ว่าลูกอาจสร้างสรรค์เรื่องราวได้แตกต่างสุดๆ จำนวนหนังสือนิทานที่มี จึงอาจไม่สำคัญเท่าความคิดสร้างสรรค์ของผู้เล่า ว่าจะปรับเปลี่ยนหนังสือ 1 เล่ม ให้เป็นกิจกรรมสร้างสายสัมพันธ์และช่วงเวลาแห่งความสุขกับลูกอย่างไร 

สุดท้ายแล้วการอ่านหนังสือกับลูก จึงไม่ได้เป็นเพียงแค่การอ่าน แต่เป็นกิจกรรมที่มีความหมายและสร้างผลลัพธ์ที่ดีในระยะยาว ช่วงเวลาที่ได้อ่านหนังสือร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการนั่งกอดกันบนเตียง หรือใช้เวลาร่วมกันในมุมโปรดของบ้าน นอกจากจะเติมเต็มความอบอุ่น และเป็นโอกาสที่จะได้แบ่งปันความคิดและประสบการณ์ไปพร้อมๆ กับลูกแล้ว ช่วงเวลาคุณภาพที่มอบให้กันยังเป็นช่วงเวลาที่พ่อแม่จะได้เปิดใจรับฟังลูก ให้ลูกได้เปิดกว้างทางความคิด กล้าพูด กล้าเสนอความคิดเห็น เป็นพื้นที่ปลอดภัยพื้นที่แรกๆ ที่พ่อแม่และลูกได้อยู่ใน ‘โลกใบเดียวกัน’ ซึ่งโลกที่รู้สึกปลอดภัยและได้รับความไว้วางใจนั้น จะนำไปสู่การก่อร่างสร้างตัวตน (Self) ได้อย่างมั่นคง

ในอีกทางหนึ่งความสุขจากการที่พ่อแม่นั่งลงข้างๆ เล่าเรื่องราวในหนังสือให้ลูกฟัง พูดคุย หัวเราะแบ่งปันช่วงเวลาร่วมกัน ยังทำให้ลูกมีมุมมองที่ดีต่อการอ่าน มองว่าการอ่านเป็นกิจกรรมที่สนุก และน่าจดจำ ไม่ใช่อ่านเพื่อนำไปสอบอย่างเคร่งเครียดหรือเป็นหน้าที่ และเมื่อการอ่านกลายเป็นส่วนหนึ่งของความสุขและช่วงเวลาน่าจดจำในชีวิตแล้ว ก็เท่ากับว่าเรา ได้เปิดประตูสู่โลกแห่งความรู้และจินตนาการที่ไม่มีวันสิ้นสุดไว้ให้กับเด็กๆ แล้ว 

ข้อมูลอ้างอิง

https://research.reading.ac.uk/engagement-and-impact/bonding-over-books-benefits-parents-and-children/

https://governorsfoundation.org/gelf-articles/reading-together-fosters-brain-development-and-bonding-attachment/ 


Related Posts