‘ปิดไฟหน่อยนะ’ สังเกตในความมืด และก้าวผ่านความกลัวเพราะเรามีกันและกัน

ก่อนเข้านอน เด็กๆ จะได้ยินประโยคว่าอะไรกันบ้างนะ อาจจะเป็นประโยค “ถึงเวลานอนแล้วจ้ะ”
“ฝันดีนะ” หรือ “ราตรีสวัสดิ์จ้ะ” ที่ฟังแล้วอุ่นใจ แต่อีกหนึ่งประโยคที่เด็กๆ น่าจะคุ้นเคยก่อนนอนหรือเมื่อถึงเวลาเข้านอนคือ “ปิดไฟหน่อยนะ” 

“ปิดไฟหน่อยนะ” ฟังดูเป็นคำพูดที่แสนธรรมดา ไม่ได้น่าตื่นเต้นสักเท่าไร แต่ในความธรรมดา นี่คือการได้เรียนรู้โลกใบใหญ่ของเด็กๆ ที่แสนพิเศษ นิทาน ‘ปิดไฟหน่อยนะ’ เป็นเรื่องราวในชีวิตประจำวัน บอกเล่าการปิดไฟทีละดวง ทีละดวง และทีละดวง จนบ้านมืดสนิท นั่นหมายความว่าถึงเวลาเข้านอนแล้ว และเป็นช่วงเวลาที่เด็กๆ ได้รับอ้อมกอดอันอบอุ่นของพ่อแม่ 

นิทานเล่มนี้มีเค้าโครงเรื่องโดย ‘มูหัมหมัดฮาริส กาเหย็ม’ นักกวี ซึ่งทำงานขับเคลื่อนด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว จากสำนักกิจกรรมกิ่งก้านใบ ในจังหวัดอุตรดิตถ์ ภาพประกอบโดย ‘ชาญศิลป์ กิตติโชติพาณิชย์’ ผู้มีผลงานการวาดภาพประกอบนิทานมากมาย และเป็นที่ยอมรับในแวดวงหนังสือสำหรับเด็ก

‘ปิดไฟหน่อยนะ’ ใช้ถ้อยคำง่ายๆ เนื้อเรื่องที่กระชับ เรียบง่าย และภาพประกอบสบายตา ที่มีรายละเอียดชวนให้เด็กๆ ได้สังเกตไปทีละหน้า ค่อยๆ ใช้เวลาไปกับนิทานเล่มนี้ด้วยกัน

สังเกตในความมืด

ในความมืด เราสามารถสังเกตอะไรได้มากมาย เมื่ออ่าน ‘ปิดไฟหน่อยนะ’ ไปทีละหน้า เด็กๆ จะได้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของความมืดและความสว่าง ปิดไฟแล้ว จะเกิดอะไรขึ้น ไฟดวงไหนที่ปิดไปกันนะ แล้วไฟดวงนั้นอยู่ตรงไหนของบ้าน เด็กๆ จะได้สังเกตตำแหน่งบน ล่าง ซ้าย ขวา จากเนื้อเรื่อง และระยะการขยับของภาพที่แต่ละหน้าจะขยับเข้ามาใกล้ตัวบ้านเรื่อยๆ เมื่อไล่อ่านไปทีละหน้าก็คล้ายกับเด็กๆ เองกำลังหรี่ไฟให้ลดลงเรื่อยๆ จนถึงช่วงที่บ้านมืดสนิท ปิดไฟครบทุกดวง

นอกจากไฟในบ้านแล้ว ยังมีอะไรที่ให้ความสว่างได้อีก หากลองสังเกตภาพบริเวณรอบๆ บ้าน ยังมีสิ่งที่ให้แสงสว่างได้เหมือนกัน นั่นคือดวงจันทร์ ดวงดาว และหิ่งห้อย เป็นแสงจากธรรมชาติที่เด็กๆ สามารถเรียนรู้ได้ในชีวิตจริง คุณพ่อคุณแม่สามารถชวนเด็กๆ มองดูดวงจันทร์และดวงดาวว่า จากบ้านของเราสามารถมองเห็นแสงสว่างเหล่านี้มากแค่ไหน เด็กๆ เคยเห็นหิ่งห้อยไหม หรือแสงจากหิ่งห้อยนั้น มาจากไหนกันนะ  เป็นช่วงเวลาที่เด็กๆ สามารถเรียนรู้ ใกล้ชิด และสัมผัสกับธรรมชาติรอบตัวได้จริง

เด็กๆ ไม่จำเป็นต้องสังเกตเห็นทุกรายละเอียดด้วยการอ่านเพียงหนึ่งครั้ง นิทานหนึ่งเล่ม สามารถอ่านวนได้หลายครั้งจนนับไม่ถ้วน ในแต่ละครั้ง เด็กๆ อาจมองเห็นสิ่งใหม่ๆ ได้เสมอ แม้จะเพียงเรื่องเดียวก็ตาม และเด็กๆ ยังสามารถมองเห็นเรื่องที่แตกต่างจากผู้ใหญ่ได้เช่นกัน  เพราะในความมืดมิดสีดำ สามารถปลดปล่อยจินตนาการได้มากมาย ไม่ว่าอะไรก็สามารถเกิดขึ้นได้ คุณพ่อคุณแม่ต้องไม่ลืมที่จะรับฟัง พูดคุย ตั้งคำถาม และสนุกไปกับจินตนาการของเด็กๆ 

บรรยากาศครึ้มๆ ทว่าอบอุ่นหัวใจ

‘ปิดไฟหน่อยนะ’ เล่าเรื่องความมืดเมื่อปิดไฟลง ความมืดและฟ้าครึ้มๆ นี้อาจชวนให้รู้สึกกลัวได้ แต่นิทานเล่มนี้กลับเต็มไปด้วยบรรยากาศอบอุ่น มีการใช้เทคนิคภาพประกอบแบบการตัดปะ ซึ่งเป็นภาพแบบที่เด็กๆ คุ้นเคยและทำให้ภาพดูมีมิติ ดอกไม้รอบๆ บ้านแต่ละดอกมีสีสันลักษณะที่ต่างกัน แม้จะเป็นช่วงเวลากลางคืน แต่แสงสว่างก็ทำให้ได้เห็นความสวยงามอันหลากหลาย หิ่งห้อย ดวงดาว และธรรมชาติรอบตัว ทำให้รู้สึกมีชีวิตชีวา แม้ไฟจะค่อยๆ ดับไปทีละดวงก็ตาม ภาพประกอบได้สร้างบรรยากาศความมืดที่ไม่วังเวง โดดเดี่ยว อ้างว้าง เพราะยังมีแสงสลัวๆ มีธรรมชาติที่ทำให้รู้สึกอุ่นใจ จึงช่วยให้เด็กๆ ไม่มีภาพจำที่น่ากลัวต่อช่วงเวลากลางคืนหรือความมืด

ความมืดนั้นไม่น่ากลัว หากเรามีกันและกัน

หากพูดถึงเรื่องความกลัวในวัยเด็ก หนึ่งในสิ่งที่เด็กๆ ส่วนใหญ่กลัวคือ ความมืด (ความจริงแล้วผู้ใหญ่หลายๆ คนก็กลัวเหมือนกันนะ) เพราะความมืดทำให้มองไม่เห็น เกิดการจินตนาการถึงสิ่งต่างๆ ไปได้อย่างกว้างไกล สิ่งลึกลับในความมืด สิ่งที่ไม่รู้จัก ไม่ว่าจะเป็นผีกุ๊กกู๋ แม่มดหรือสัตว์ประหลาดใต้เตียง

สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่สามารถทำได้คือการสื่อสารและสร้างทัศนคติว่า ความมืดไม่ได้น่ากลัวเสมอไปนะ เริ่มฝึกจากการปิดไฟนอนด้วยกัน เมื่อเราอยู่ด้วยกันก็ไม่มีอะไรที่น่ากลัว สร้างความอบอุ่น เชื่อมความสัมพันธ์ และที่สำคัญคือสร้างความมั่นใจให้เด็กๆ รู้สึกถึงความปลอดภัย เมื่อเด็กๆ คุ้นชินกับความมืดแล้ว จึงเริ่มสื่อสารให้เด็กๆ ลองฝึกนอนคนเดียว

บางครั้ง การที่ต้องก้าวผ่านความกลัวเพียงลำพังก็เป็นเรื่องที่ยากแสนยาก ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ต้องการเวลา กำลังใจ และคนที่คอยอยู่เคียงข้าง เมื่อแข็งแรงมากพอที่จะผ่านความกลัวนั้นไปได้ ก็ยังต้องการคำชื่นชมในความสำเร็จ เพื่อเป็นแรงผลักดันในการก้าวผ่านความกลัวอื่นๆ ต่อไป 

การจับมือ โอบกอด ชื่นชม และบอกรัก สิ่งเหล่านี้ทำได้อย่างง่ายดาย การสร้างความเชื่อมั่นและความมั่นใจให้เด็กนั้น ง่ายกว่าการกอบกู้ความเชื่อมั่นและความมั่นใจให้กลับมา ดังนั้นการใส่ใจและแสดงออกถึงความเชื่อใจเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้เด็กๆ ค่อยๆ ก้าวผ่านความกลัวไปได้

ปิดไฟหน่อยนะ

หากปิดไฟหน่อยนะเป็นนิทานที่ได้รับเลือกให้อ่านก่อนเข้านอนในค่ำคืนนี้ เมื่ออ่านจบและปิดหนังสือ
‘ปิดไฟหน่อยนะ’ ก็คงเป็นช่วงเวลาที่จะต้องปิดไฟหน่อยนะในความเป็นจริงของเด็กๆ แล้ว เวลานี้คงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมและพอดีที่สุดที่คุณพ่อคุณแม่จะใช้เวลาไปกับเด็กๆ และบอกฝันดีกันก่อนนอน ผ่านความมืดนี้ไปด้วยกัน

ผู้ที่สนใจนิทาน ‘ปิดไฟหน่อยนะ’ สามารถอ่านและดาวน์โหลดหนังสือภาพเล่มนี้ฟรีได้ที่: https://childhoodbookbank.com/ebook/ปิดไฟหน่อยนะ-ไทย-อังกฤษ-pleas/ และสามารถอ่านนิทานออนไลน์เล่มอื่นๆ จากแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. ฟรีที่ https://www.happyreading.in.th/

สำหรับคืนนี้ ปิดไฟหน่อยนะ และนอนหลับฝันดีจ้ะ


Writer

Avatar photo

ธัญดา โอวาทศิริวงศ์

เป็นมิตรกับหมาแมวทั่วโลก ตื่นเต้นกับทุกสิ่ง ชอบดูหนังซอมบี้ ซีรีส์อบอุ่น และดำเนินชีวิตด้วยคำว่าวันนี้เก่งมาก

Illustrator

Avatar photo

พัชรา พันธุ์ธนากุล

นักออกแบบผู้หลงใหลในศิลปะ เด็ก หนังสือภาพ แมวทักซิโด้ และชามะลิ

Related Posts