Bully ไม่มีข้อดีใดๆ ทั้งสิ้น กรณีรุ่นพี่-รุ่นน้องและโรงเรียนประจำ

“โรงเรียนไหนๆ ก็มีการบูลลี่กันทั้งนั้น” 

“โตไปเป็นผู้ใหญ่ โลกมันโหดร้ายกว่านี้อีก” 

ประเด็น ‘โรงเรียนหญิงชื่อดังย่านอโศก’ ไม่ได้หยุดแค่หัวข้อฟ้องสังคมหรือปรับทุกข์กันเองในกลุ่มผู้ตกเป็นเหยื่อ แต่ถูกหยิบยก นำมาคุยกันต่อเพื่อหาวิธีแก้ที่ต้นทางมากกว่ากลบเกลื่อนด้วยประโยคข้างต้น

mappa สนทนากับ ‘นีท’ เบญจรัตน์ จงจำรัสพันธุ์ นักจิตวิทยาเด็กและวัยรุ่น และอดีตนักจิตวิทยาประจำโรงเรียน ที่ย้ำด้วยวิชาชีพและประสบการณ์การให้คำปรึกษาและรับฟังเด็กๆ มัธยมต้นและปลายว่า ไม่มีข้อดีใดๆ ทั้งสิ้นในการบูลลี่ 

แม้จะอยู่ภายใต้คำว่าพี่ดูแลน้องก็ตาม…

“พยายามอยากสร้างกฎให้พี่ดูแลน้อง เพื่อลดภาระของครู จึงมีการมอบอำนาจ ให้พี่ในบางส่วน… แต่การมอบอำนาจให้นั้น อาจจะไม่ได้สอนถึงวิธีการวางตัว วิธีการใช้อำนาจที่เหมาะสม จึงกลายมาเป็นกฎเช่นนี้”  

จากผู้ถูกกระทำสู่ผู้กระทำเสียเอง

เริ่มต้นจากน้อง ม.1 ผู้ถูกกระทำ ค่อยๆ ขยับขั้นมาพี่ใหญ่สุดของชั้นมัธยมและกลายมาเป็นผู้บูลลี่อย่างเต็มตัว นีทบอกว่า ภาษาชาวบ้านมันคือการสมาทานและการหาข้ออ้างให้กับเรื่องแย่ๆ

“ทางจิตวิทยาเรียกว่า การเปลี่ยนระบบความคิดของตนเอง หรือ cognitive dissonance: ความไม่คล้องจองของปัญญา (ภาวะที่ส่วนของปัญญามีความสัมพันธ์กันแบบไม่คล้องจอง คือ ส่วนของปัญญาที่เกิดตามหลังเป็นไปอย่างสวนทางกับส่วนของปัญญาส่วนแรก) หมายความว่าเวลาที่เราเจอเรื่องแย่ๆ เราพยายามหาข้ออ้างให้กับเรื่องแย่ๆ นั้น เพื่อให้เราอยู่ได้ พยายามหาว่าข้อดีคืออะไรจนมองไม่เห็นข้อแย่” 

สำหรับนีท มันคือพัฒนาการและวิธีการเอาตัวรอด 

“ถ้าน้องไม่ทำตามกฎ จะโดนพี่ต่อต้าน พี่ๆ รุมด่า หากต่อต้านเมื่อไหร่ก็จะไม่มีคนคบหาด้วย เหมือนเป็นกฎที่ไม่มีใครกล้าลุกขึ้นมาทำอะไร เข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม” 

ประโยคที่ก้องอยู่ในใจตลอดเวลาคือ เมื่อทำตามกฎไม่ได้ แล้วจะโดนอะไร…

“การมีกฎทำให้เรารู้สึกอึดอัด แต่เมื่อพี่มีอำนาจมาก ย่อมนำมาสู่การลงโทษ มันจึงกลายเป็นวงจร ของความกลัว กังวล อย่างที่เด็กๆ เจอ” 

‘นีท’ เบญจรัตน์ จงจำรัสพันธุ์

Bully ทำไม? สะใจ หรือ ลึกๆ แล้วไม่ได้อยากทำ

“ถ้าพูดแบบสายดาร์คๆ เลยเหมือนว่า เขารู้สึกสะใจ เพราะเมื่อก่อนเขาโดนมาเยอะ มันเหมือนเราถ่ายทอดความรุนแรง เพราะเราโดนความรุนแรงมา” 

อีกกลุ่มหนึ่งของผู้บูลลี่คือ ลึกๆ แล้วไม่ได้อยากทำ แต่มีเรื่องสภาพแวดล้อมเข้ามาบีบ

“เพื่อนทุกคนทำ แล้วเราไม่ทำมันก็ไม่ได้ เพราะเขาก็ไม่ได้อยากโดนเพื่อนบูลลี่ ก็เลยต้องทำเพื่ออยู่ร่วมกับเพื่อนร่วมชั้นด้วยกันได้ เป็นความเคยชินที่เราสืบต่อกันมา โดยอาจจะไม่เคยตั้งคำถามกับมันว่า มันเป็นเรื่องที่ถูกหรือผิด”​

บูลลี่เกี่ยวกับวัฒนธรรมไทยด้วยไหม? 

“โรงเรียนอื่นก็มี แต่ไม่น่าจะเท่าโรงเรียนประจำ เพราะอยู่ด้วยกัน 24 ชั่วโมง ถ้ามีเรื่องบนโต๊ะอาหารก็จะโดนด่าตั้งแต่เช้า กลางวัน เย็น แต่ถ้าเป็นโรงเรียนอื่นก็อาจจะโดนแค่ช่วงกลางวัน กลับบ้านไปตอนเย็นก็ผ่อนคลายมากขึ้นเพราะได้เจอคนอื่นๆ ที่บ้าน”

Bully ต้องเปลี่ยนที่ระบบ ไม่ใช่เปลี่ยนที่ตัวเอง

ในฐานะอดีตนักจิตวิทยาโรงเรียนยอมรับว่า กรณีนี้ทำได้เพียงรับฟังและให้เด็กๆ ได้ระบายออกมา เพราะปัญหานี้จะจบก็ต่อเมื่อโรงเรียนเปลี่ยนแปลงระบบ 

“ให้รู้ว่าตอนนี้ปัญหาของเราคือเรื่องไหน เขามีปัญหาหลายอย่าง แต่ให้เอาปัญหาที่หนักที่สุดก่อน เรื่องเลยมาลงที่ว่า เมื่อเปลี่ยนระบบไม่ได้ ก็ต้องเปลี่ยนที่ตัวเอง”​

แล้วการบูลลี่มีข้อดีไหม?

“ในทางจิตวิทยา การบูลลี่ไม่มีข้อดี มีแต่ข้อเสีย คนที่บูลลี่เองก็จะเรียนรู้และซึมซับการใช้อำนาจที่ผิด มีความก้าวร้าว”​

เอาเข้าจริง ที่บอกว่า คนบูลลี่เป็นคนเก่ง อ่านจิตใจคนอื่นออก เพราะเขารู้ว่าจะต้องทำอย่างไรให้คนนี้รู้สึกแย่ 

“เขาเข้าใจว่าคนอื่นรู้สึกอย่างไร เขารู้ว่าทำแบบนี้แล้วคนนี้จะรู้สึกแย่ เขาเลยใช้ความดำมืดของเขาไปทำร้ายคนอื่น”​

Bully ก็เหมือนเผด็จการ ไม่มีสิทธิ์ถาม ไม่มีสิทธิ์เรียกร้อง 

แล้วปลายทางของคนบูลลี่และถูกบูลลี่ซ้ำๆ จะเป็นอย่างไร 

สำหรับผู้บูลลี่ เมื่อวัยรุ่นคนนั้นโตเป็นผู้ใหญ่ เราอาจเห็นได้ผ่านการนินทา พยายามหาเหตุทำให้คนสักคนไม่ชอบอีกคน 

“แม้จะเป็นการบูลลี่ที่ไม่ได้รุนแรงทางร่างกายแต่เป็นคำพูดทำร้ายจิตใจ รวมถึงการทำให้อีกฝ่ายเป็นอากาศธาตุก็เป็นการบูลลี่อีกแบบหนึ่งเช่นกัน” 

ส่วนรายที่ถูกกระทำซ้ำๆ แน่นอนว่าความรู้สึกไม่ปลอดภัยจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ตามมาด้วยปัญหาเรื่องความวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า ไม่มีความสุข เป็นปัญหาสุขภาวะทางจิต 

และก็มีบางรายอีกเหมือนกันที่ถูกกระทำแต่ไม่เคยตั้งคำถาม 

“การบูลลี่ก็เหมือนเผด็จการ คุณไม่มีสิทธิ์ถาม ไม่มีสิทธิ์เรียกร้อง เป็นแค่ของให้เขาเล่น” 

ข้ออ้าง Bully “โรงเรียนไหนๆ ก็มี” หรือ “ชีวิตจริงต้องเจอเรื่องหนักกว่านี้อีก”

อย่างไรก็ตาม กรณีที่เกิดขึ้นนี้ยังมีฝ่ายที่ออกมาปกป้อง ให้ความเห็นว่า “โรงเรียนไหนๆ ก็มีการบูลลี่” หรือ “ชีวิตจริงต้องเจอเรื่องหนักกว่านี้อีก” 

นีทย้ำว่า เราไม่จำเป็นต้องเห็นข้อดีใดๆ จากการบูลลี่ เพราะที่ผ่านมาเราถูกบังคับให้เชื่อว่ามันดีมาตลอดผ่านการชี้แจงวัตถุประสงค์ของกฎต่างๆ ในโรงเรียน ครูอาจจะหวังให้เด็กอยู่ในระเบียบ ให้รุ่นพี่ได้ช่วยดูแลรุ่นน้อง 

“แต่นโยบายเช่นนั้นมันไม่ได้สอนการใช้อำนาจอย่างถูกต้อง นอกจากการวางกฎระเบียบ เรามีการตรวจสอบไหมว่าวิธีการใช้อำนาจนั้นเป็นอย่างไร” 

แล้วพ่อแม่ช่วยอะไรได้บ้าง?

“พ่อแม่ก็มี 2 แบบ เราจะเจอทั้งพ่อแม่ที่ยอมให้เกิดสภาพแวดล้อมเช่นนี้ เขาจะคิดว่าชีวิตจริงหนักกว่านี้อีก นี่คือโลกจริงที่เด็กต้องเผชิญ แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม โรงเรียนไม่ว่าจะประจำหรือไปกลับก็ควรจะเป็นพื้นที่ปลอดภัย”  

และถ้าโลกต่อไปมันจะโหดร้ายจริงๆ แต่นีทย้ำว่าถ้าเรื่องไหนเราแก้ไขได้ ควรทำและอย่ายอมจำนน 

“หากความโหดร้ายมาจากการบูลลี่ นินทา กดขี่ และใช้อำนาจ หากเราร่วมกันไม่ทำสิ่งเหล่านี้ ไม่ปล่อยให้เด็กๆ เผชิญลำพัง ความโหดร้ายบางส่วนก็น่าจะหายไป หรือน้อยลงในยุคของเขา โลกก็น่าอยู่มากขึ้น หรือหากเราเริ่มกันได้ในยุคของเรา ก็จะดี เพื่อเป็นหลักประกันว่า โลกที่จะส่งต่อให้เด็กๆ มันจะดีกว่าที่เราเคยอยู่” 

เช่นนั้น พ่อแม่ ครู ผู้ใหญ่ ควรสอนลูกหลานไม่ให้บูลลี่ใคร เพื่อไม่สอนให้เขากลายมาเป็นผู้ใหญ่ที่โหดร้าย 

ส่วนความรัก การดูแลกัน โดยเฉพาะรุ่นพี่ต่อรุ่นน้อง น่าจะต้องแปลว่าเอื้ออาทรกัน ไม่ใช่การข่มขู่บังคับ

“การเข้าใจและทำตามนโยบายของโรงเรียนบางทีมันข้ามเรื่องของความรักไปแล้ว มันเป็นความรักที่ถูกใช้จนมากเกินไปจนมองไม่เห็นคนอื่น” 


Writer

Avatar photo

ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ

คุณแม่ลูกหนึ่งซึ่งคลุกวงในงานข่าวมาหลายสิบปี เพิ่งมาค้นพบตัวเองไม่กี่ปีมานี้ว่าอินกับงานด้านเด็ก ครอบครัว และการศึกษามากเป็นพิเศษ จึงเป็นเหตุให้มาร่วมสร้างแผนที่การเรียนรู้อย่าง mappa

Illustrator

Avatar photo

บัว คำดี

ตอนประถมอยากเป็นศิลปินวาดภาพ แต่โดนพ่อเบรคหัวทิ่ม "เป็นศิลปินไส้แห้งนะ" ปัจจุบันทำงานเกี่ยวกับการออกแบบและทำภาพประกอบ (บ้าง) จนได้

Related Posts