“โควิดระลอก 1-2 พบผู้ป่วยเด็กเพียงเล็กน้อย ส่วนใหญ่แล้วจะพบในผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่ แต่โควิดระลอก 3 การระบาดจากสถานบันเทิงนำพาโควิดมาสู่ครอบครัว และในครอบครัวก็มีเด็กเล็ก ขณะที่ผู้ใหญ่ฉีดวัคซีนได้ แต่ทำไมเด็กถึงฉีดวัคซีนไม่ได้”
รศ.พญ.ธันยวีร์ ภูธนกิจ รองหัวหน้าภาควิชากุมารเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ กล่าวไว้ในงานประชุมวิชาการวาระพิเศษ จัดโดยคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในหัวข้อ ‘โควิด-19 ในเด็ก ตรวจ รักษา ป้องกัน Pediatric COVID-19 Test Treat Prevent’ โดยเสวนาร่วมกับ ดร.พญ.วรรษมน จันทรเบญจกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อเด็กและวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ดร.พญ.สุวพร อนุกูลเรืองกิตติ์ อาจารย์แพทย์ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โควิด-19 ในเด็ก หน้าตาเป็นอย่างไร
ดร.พญ.วรรษมน เผยว่า ปัจจุบันพบผู้ป่วยที่เป็นเด็กเล็กติดเชื้อมาจากคนในครอบครัว ส่วนใหญ่กระจายทุกช่วงอายุ เป็นเด็กโต 84 เปอร์เซ็นต์ และเด็กเล็ก 16 เปอร์เซ็นต์ นับรวมทั้งเด็กที่มีโรคประจำตัวและไม่มีโรคประจำตัว และหากมีโรคประจำตัวก็จะเกิดขึ้นในเด็กที่มีโรคทางเดินหายใจหรือโรคดาวน์ซินโดรม ส่วนเด็กที่มีอาการปอดผิดปกติจะพบเพียงแค่ 5 เปอร์เซ็นต์ ของกลุ่มประชากรเด็กที่ติดเชื้อ
“จำนวนผู้ป่วยโควิดในเด็กมีเพิ่มขึ้น อาการที่พบในเด็กต่ำกว่า 10 ขวบคือไข้หวัดธรรมดา ส่วนอาการผิดปกติทางผิวหนัง เช่น ปลายมือ-ปลายเท้าบวม มักจะเจอในเด็กอายุมากกว่า 10 ขวบ”
ดร.พญ.วรรษมน แนะนำเพิ่มเติมว่า ให้ตรวจโควิด-19 สำหรับผู้ที่แสดงอาการหรือผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงก่อน เช่น ผู้ที่อยู่ในชุมชนแออัด หรือมีคนใกล้ชิดติดเชื้อ โดยไม่แนะนำให้ตรวจเพียงแค่ครั้งเดียว และหมั่นสังเกตตนเองอยู่เป็นประจำ
กลุ่มที่มีความเสี่ยงจะเกิดอาการรุนแรงสูง
- กลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี ดร.พญ.สุวพร ให้เหตุผลไว้ว่า เนื่องจากเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 1 ปีนั้นเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงจะเกิดอาการ severe (อาการรุนแรง) มากกว่ากลุ่มอายุอื่นๆ แพทย์จึงต้องติดตามอาการอย่างใกล้ชิด
- กลุ่มเด็กที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคอ้วน โรคทางเดินหายใจ และโรคปอด จะมีอาการติดเชื้ออย่างรุนแรงคล้ายคลึงกับผู้ใหญ่
ทำไมถึงต้องเปิดเผยไทม์ไลน์ผู้ที่ติดเชื้อ
ดร.พญ.วรรษมน ให้เหตุผลไว้ว่า แพทย์ต้องรับรู้ประวัติผู้ติดเชื้อ เนื่องจากจะต้องประเมินสถานการณ์ว่าผู้ป่วยนั้นรับเชื้อมาจากใคร ส่วนที่สำคัญที่สุดคือ ผู้ป่วยจะสามารถแพร่เชื้อให้ใครได้บ้าง ดร.พญ.วรรษมนเปิดเผยไทม์ไลน์ของกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อไว้ดังนี้
วิธีการดูแลผู้ป่วยเด็กของทางโรงพยาบาล
“การดูแลผู้ป่วยเด็กต้องมีครอบครัวเป็นที่ตั้ง หากติดเชื้อโควิดทั้งครอบครัวจะดูแลง่ายขึ้น เพราะสามารถอยู่ห้องเดียวกันได้ แม่จะดูแลลูกเล็ก คอยป้อนอาหาร คอยป้อนยาได้ง่าย แต่ถ้ากรณีเด็กติดเชื้อเพียงคนเดียว จะพิจารณาเป็นกรณีไป” ดร.พญ.วรรษมนอธิบายต่อว่าได้จัดกลุ่มการดูแลผู้ป่วยเด็กไว้ดังนี้
- เด็กมีผลเป็นบวก ผู้ปกครองมีผลเป็นลบ เด็กไม่สามารถอยู่ร่วมกับคนอื่นได้ จะต้องให้ผู้ปกครองมาดูแล และตรวจเชิงรุกผู้ปกครองทุกๆ 7 วัน หากครบระยะเวลาของการแพร่เชื้อจะให้เด็กกลับบ้านได้ โดยผู้ปกครองจะต้องมาตรวจหาเชื้อกับโรงพยาบาลอีกครั้ง
- เด็กมีผลเป็นบวก ผู้ปกครองมีผลเป็นบวก เด็กสามารถอยู่ร่วมกับคนอื่นได้ กรณีนี้จะคัดกรองผู้ที่อยู่ร่วมกับเด็กอย่างเหมาะสม และให้พยาบาลเป็นคนคอยดูแลเด็ก
ดร.พญ.วรรษมน เพิ่มเติมอีกว่า ด้วยความที่เป็นเด็ก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์จึงจัดถุงยังชีพสำหรับเด็กไว้ให้ ข้างในนั้นมีขนมและของเล่น เพราะเข้าใจดีว่าการอยู่ห่างจากผู้ปกครองเป็นเวลานาน เด็กจะรู้สึกไม่ปลอดภัย หากเด็กโตเกิน 10 ขวบจะให้อยู่ร่วมกับคนอื่น โดยจะพิจารณาตามความเหมาะสม
ครอบครัวทำอย่างไร เมื่อเด็กไม่สามารถใส่แมสก์ได้ตลอดเวลา
หากเด็กไม่สามารถใส่แมสก์ได้ตลอดเวลาและไม่สามารถล้างมือได้ด้วยตัวเอง รศ.พญ.ธันยวีร์ แนะนำว่า ผู้ปกครองที่อยู่ในบ้านต้องเป็นคนใส่แมสก์เพื่อป้องกันการเกิดภูมิของโรค
“ผู้ปกครองต้องประเมินสถานการณ์เบื้องต้นของชุมชนที่อยู่ หากมีสถานบันเทิง บ่อน ชุมชนแออัด มีผู้ติดเชื้อในชุมชน อยู่ในบ้านผู้ปกครองก็ต้องใส่แมสก์ เพราะการติดเชื้อในเด็กส่วนใหญ่มาจากครอบครัว”
ทำไมยังไม่มีวัคซีนเฉพาะเด็ก
“ขณะนี้เรากำลังศึกษาวัคซีนในเด็กซึ่งความยากก็คือ เราต้องมาคำนวณว่าเด็กควรจะใช้วัคซีนกี่โดส ผลข้างเคียงตามมาที่เด็กจะได้รับ เมื่อเด็กยังไม่สามารถรับวัคซีนได้ ผู้ใหญ่จึงต้องฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มให้กับเด็ก ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวหรือบุคลากรภายในโรงเรียน” รศ.พญ.ธันยวีร์ชี้ให้เห็นความสำคัญ
รศ.พญ.ธันยวีร์ อธิบายการพิจารณาวัคซีนในเด็กว่า หากฉีดวัคซีนแล้วเด็กจะต้องได้รับภูมิคุ้มกันและป้องกันการติดเชื้อจากครอบครัวอย่างมีประสิทธิภาพ ลดอัตราการเสียชีวิต ลดอัตราการแพร่เชื้อ ซึ่งผลข้างเคียงที่ตามมา อาจจะทำให้ต่อมน้ำเหลืองโต
“สิ่งที่ทำได้ในปัจจุบันก่อนจะมีวัคซีนเด็กก็คือ ฉีดวัคซีนให้กับประชากรในประเทศไทยวัยผู้ใหญ่มากขึ้น รวดเร็วขึ้น ครอบคลุมขึ้น เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็กและคนในสังคม”