หลายคนอาจรู้จักศาสตราจารย์เกริก ยุ้นพันธ์ ในฐานะศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ปี 2565 บางคนที่เคยไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์ล้านของเล่นที่อยุธยา คงรู้ว่าชายหนุ่มคนนี้แหละที่เป็นเจ้าของพิพิธภัณฑ์ ในขณะที่คนเป็นพ่อแม่อีกหลายคน อาจรู้จักอาจารย์เกริกในฐานะนักวาดและนักเขียนหนังสือเด็กเรื่องดัง ‘ชาวนาไทย’ เจ้าของรางวัล Noma จากประเทศญี่ปุ่น รวมถึงหนังสือเด็กที่ทำมาอย่างต่อเนื่องหลังจากนั้นอีกกว่า 200 เล่ม
เช้านี้เราขับรถมาอยุธยาพร้อมชุดข้อมูลเหล่านั้น จินตนาการว่าชายคนเขียนหนังสือเด็ก เจ้าของลายเส้นดุ๊กดิ๊กไร้เดียงสา คงมีบุคลิกที่ดุ๊กดิ๊กแบบเด็กๆ ไม่แพ้กัน ซึ่งพอมาพบ ‘อาจารย์เกริก’ ของทุกคนจริงๆ เราก็ยืนยันกับตัวเองว่าคิดถูก
อาจารย์เกริกทำงานมาตั้งแต่ปี 2525 จวบจนถึงตอนนี้ก็เข้าสู่ปีที่ 40 ไม่ว่าจะด้วยระยะเวลาหรือรางวัลที่ได้ ล้วนยืนยันว่าเขาคือหนึ่งในตำนานแห่งวงการหนังสือเด็กเมืองไทยอย่างแท้จริง
ท่ามกลางแดดเช้าที่ทอกระทบตึกพิพิธภัณฑ์ เรานั่งลงในห้องทำงานของอาจารย์ ชวนชายวัย 66 ทบทวนเส้นทางที่ผ่านมา สิ่งที่ได้เรียนรู้ระหว่างทาง เคล็ดลับการทำงานให้ยืนระยะ และมุมมองต่อวงการหนังสือเด็กไทยในปัจจุบัน
ชีวิตของอาจารย์เปลี่ยนไปยังไงบ้าง หลังจากได้รับรางวัลศิลปินแห่งชาติ
ไม่ได้เปลี่ยน ใช้ชีวิตเป็นปกติ เป็นคนทำงาน ทำหนังสือเด็ก เพียงแต่ว่าจะมีคนที่จะให้เราทำงานมากขึ้น ทั้งต้องการที่จะให้เขียนหนังสือเด็กหรือทำภาพประกอบหนังสือเด็กของสำนักพิมพ์อื่นๆ ที่ไม่ใช่สำนักพิมพ์ที่เราทำประจำ
ถ้าถามว่างานเยอะไหม มันมีงานให้ทำทุกวัน แต่มนุษย์ปุถุชนธรรมดา ทำ 2-3 วันก็หยุดวันหนึ่ง ยิ่งพอสูงอายุ ใช้ชีวิตที่เราเรียกว่าช้า เราก็ไม่ได้เร่งรีบอะไรแล้ว เพียงแต่ความรับผิดชอบคือควรจะทำให้เขาตรงเวลา นั่นคือสิ่งที่ระมัดระวัง
ย้อนกลับไปตอนเด็ก รู้มาว่าอาจารย์ชอบอ่านพ็อตเก็ตบุ๊คและวรรณกรรม ทำไมถึงกลายเป็นคนทำหนังสือเด็กได้
โดยธรรมชาติจะอ่านหนังสือหลากหลาย หนังสือกีฬา การ์ตูน วรรณคดี บทอาขยาน จะชอบมากๆ และใส่ใจในสิ่งเหล่านี้ ตอนเด็กๆ ชอบฝึกที่จะเขียนคำคล้องจองด้วย เหมือนเราชอบร้องเล่นเพลงกล่อมเด็ก คำไทย แต่ทำไมถึงวกมาสู่คนที่ทำหนังสือเด็ก เพราะตอนเรียนมหาวิทยาลัยไปเรียนที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตประสานมิตร เราเรียนเอกศิลปศึกษาและเรียนวิชาโทคือผลิตหนังสือ ได้มีโอกาสเรียนวิชาวรรณกรรมสำหรับเด็กกับท่านอาจารย์สมบูรณ์ ศิงฆมานันท์ อาจารย์เล่านิทานสนุก รู้สึกว่าอุ๊ย ทำไมถึงเก่งอย่างนี้ ท่านสร้างแรงบันดาลใจให้เราเบนมาทางนี้ หลังจากนั้นก็ชอบไปนั่งในห้องสมุดหนังสือเด็กของมหาวิทยาลัย ทำให้รู้ว่ามันสามารถเป็นอีกโลกหนึ่ง อีกวิชาหนึ่ง อีกอาชีพหนึ่ง และอีกเวอร์ชั่นหนึ่งสำหรับชีวิตเราได้ เมื่อขึ้นปี 2 มีงานประกวดรางวัล Noma (Noma Concours for Picture Book Illustrations รางวัลแข่งขันนักวาดภาพประกอบและศิลปินที่มาแรงที่ญี่ปุ่น) เราก็เลยส่งหนังสือภาพประกอบสำหรับเด็กเรื่อง ‘ชาวนาไทย’ ไปประกวด เป็น 1 ใน 13 คน ที่ได้รางวัล Noma ในปีนั้น
ตั้งแต่วันนั้นจนวันนี้ อายุ 66 ปีแล้ว เราทำหนังสือเด็กไม่มีวันหยุด แม้จะไม่ได้เรียนวรรณกรรมเด็กแต่เราอ่านหนังสือเด็กทุกวัน ได้เห็นว่าโลกของหนังสือเด็กนั้นมีหลากหลายไม่ซ้ำกัน แต่คอนเซปต์ที่มีอยู่ทุกครั้งคือความดี ความงาม ความรัก ความอบอุ่น ความรับผิดชอบ คือตั้งใจจะปลูกฝังให้เป็นเด็กดี
มีหนังสือเด็กเล่มไหนที่อาจารย์อ่านแล้วรู้สึกเปิดโลกบ้างไหม
ทั้งชีวิตมา ชอบงานของ Eric Carle เรื่อง The Very Hungry Caterpillar หรือหนอนจอมหิว เราใช้สอนเด็กบ่อยๆ และเวลาว่างก็ชอบเปิดดู อีริคเขาทำงานง่ายมาก งานเหมือนเด็กทำ แต่มีความมหัศจรรย์ในการใช้สีในภาพประกอบของเขา มหัศจรรย์ในแนวคิดสร้างสรรค์ที่นำเอาความเป็นจริงมาใส่ในเรื่องเพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ หนังสือของเขาเป็นสาระบันเทิง เป็นเรื่องสนุกสนาน แต่สอนเด็กเกี่ยวกับวงจรของผีเสื้อ
อาจารย์คิดว่าหนังสือเด็กที่ดีต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง
สนุก สวย สะอาด และมีทัศนคติของคนเขียนใส่ลงไป
หมายถึงปลูกฝังเรื่องความดี ความงาม ความรัก ความอบอุ่น แล้วก็จะต้องมีทัศนคติของผู้เขียนที่อยากสอนเพื่อให้เด็กใช้ชีวิตเป็นพลเมืองดีของสังคม ถ้าเด็กอ่านแล้วได้อะไรกลับไปก็ดี แต่ถ้าไม่ได้ก็ไม่ผิดอะไร ถ้าเด็ก 100 คน อ่านแล้วได้แนวคิดนี้สัก 2-3 คน คุณก็ประสบความสำเร็จแล้ว
กระบวนการการทำหนังสือเด็กของอาจารย์ เมื่อก่อนกับตอนนี้ต่างกันไหม
เป็นแบบเดิม ไม่ได้เปลี่ยนแปลงเลย เพราะเป็นทั้งคนวาดรูปและคนเขียนเรื่องในคนเดียวกัน ดังนั้นจะทำงานแบบตามใจ
แรงบันดาลใจส่วนใหญ่จะมาจากการอ่านข่าว จากการพูดคุย จากการฟัง หรือแค่ได้เห็นรูปรูปเดียวในโฆษณา นั่นแหละเกิดแรงบันดาลใจแล้ว และเราจะรู้เลยว่าเราจะต้องนำพาอย่างไร ด้วยประสบการณ์ที่มี ความเข้าใจในสิ่งที่เราจะสื่อสารไปสู่เด็กซึ่งเป็นผู้รับ ทำให้ผู้ปกครองเห็นว่าเรามีเจตนาแบบไหน ผู้ปกครองจะได้เลือกหนังสือของเรา
จุดร่วมของหนังสือเด็กของอาจารย์ที่ทุกเล่มมีเหมือนกันคืออะไร
สไตล์ที่เหมือนเด็กวาดรูปแบบไร้เดียงสา การใช้สีสันที่ฉูดฉาด ดึงดูดความสนใจของเด็ก ให้คุณค่าภาพประกอบและเนื้อเรื่อง 100% เท่านั้น คนเห็นปุ๊บจะรู้ว่านี่งานอาจาย์เกริก
เราเลือกวาดสไตล์นี้ เพราะเวลาเด็กวาด เขาก็วาดรูปแบบไม่มีเงื่อนไข เราคือเครื่องส่ง เด็กคือเครื่องรับ เมื่อเครื่องส่งไปจูนกับเครื่องรับมันก็ใช้คลื่นเดียวกัน
เรื่องราวแบบไหนที่อาจารย์ชอบเล่า และเรื่องราวแบบไหนที่จะไม่เล่าเด็ดขาด
การฆ่ากัน การเศร้าโศกเสียใจ เราชอบเล่าเรื่องที่จบจะต้องพบแต่ความสุขและทัศนคติเชิงบวก แล้วก้าวต่อไป ไม่เบียดเบียนผู้คน เรื่องจะเป็นยังไงก็แล้วแต่คอนเซปต์ของเรื่องจะคงไว้อย่างนั้น ซึ่งส่วนมากในปีสองปีมานี้ เราชอบเล่าเรื่องความรับผิดชอบร่วมกันในสังคมและสิ่งแวดล้อม
กลุ่มเป้าหมายของอาจารย์คือเด็ก แล้วอาจารย์ทำความเข้าใจเด็กยังไง รู้ได้ยังไงว่าเด็กอยากอ่านอะไร
ในด้านภาษา คุณก็ฟังสิ แมวเอ๋ยแมวเหมียว รูปร่างปราดเปรียวเป็นหนักหนา จันทร์เอ๋ยจันทร์เจ้า ขอข้าวขอแกง ขอแหวนทองแดง ผูกมือน้องข้า เราเรียกว่าคำง่ายและคำคล้องจอง พออ่านแล้วลื่นปาก มันส่งผลให้คนใช้ภาษาได้เร็วขึ้นด้วย เหมือนเวลาเราร้องเพลงแล้วเป็นคำคล้องจอง เราจะรู้ว่ามันต้องลงสัมผัสแบบไหน พอเรานำเอามาใช้ แล้วเราเล่นจังหวะของคำแบบนี้ อีกอย่างคือต้องเป็นคำที่คนอ่านเห็นภาพด้วย เช่น ชาวนาทำนา ถ้วนทั่วทุกคน หน้าฝนไถมา ชาวนำทำหุ่น ทำหุ่นไล่กา เพื่อไล่หนูนา ไม่มากัดข้าว
หนังสือเด็กคือการเขียนเล่าให้เห็นภาพ คำจะต้องคล้องจอง สะอาด ไม่มีคำผวน ไม่มีคำหยาบ
ความท้าทายของการเป็นคนเขียนหนังสือเด็กในยุคนี้คืออะไร
ต้องคำนึงถึงเทคนิคของสิ่งพิมพ์ สีสวย พิมพ์ดี หรือมีเทคนิคทางวิศวกรรมในงานกระดาษ อาจเป็นป๊อปอัพ 3 มิติ กลิ่น เสียง แสง มีความหลากหลาย ที่สำคัญคือต้องเป็นหนังสือที่เด็กอยากหยิบจับ เป็นสิ่งที่เขาจะถือเอง ใส่กระเป๋าแม่ ใส่กระเป๋าตัวเอง หรือเอาเข้าห้องนอนแทนที่จะเป็นโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ต เป็นของเล่นที่เด็กรัก หวงแหน และภูมิใจที่ได้เป็นเจ้าของ
ในยุคที่เด็กโตมากับเทคโนโลยี ทำไมนิทานถึงยังสำคัญกับพวกเขา
ในเมื่อหิวก็ร้องกิน ร้อนจัดก็ร้องว่าร้อน หนาวจัดก็อยากห่มผ้า เหงื่อออกแล้วตัวเหนียวก็อยากอาบน้ำ มันเป็นธรรมชาติของเด็ก เด็กต้องได้เล่น เด็กต้องได้ในสิ่งที่ตัวเองได้รับความอบอุ่น การอบรมดูแล และปัจจัยทั้ง 5 ที่เขาเรียกว่าเป็นเบื้องต้นของชีวิต แต่ถ้าอยากจะเติมเต็มและให้มีความคิดขยาย หรือมีความคิดสร้างสรรค์ดีหรือเป็นผู้มีทัศนคติที่ดี คุณก็ต้องให้ความคิด ดังนั้นหนังสือเด็กนั่นแหละเป็นตัวที่ปลูกความคิดให้กับเด็ก
ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน อาจารย์มองเห็นการเปลี่ยนแปลงของวงการหนังสือเด็กอย่างไรบ้าง
ตอนเราเป็นเด็ก หนังสือเด็กยังมีน้อย กระทั่งช่วงหลังปี พ.ศ. 2510 ที่ประเทศไทยมีหนังสือเด็กจะมากขึ้นเพราะมีการจัดประกวดหนังสือสำหรับเด็ก จนในปัจจุบัน น่าจะมีหนังสือเด็กที่สำนักพิมพ์ต่างๆ พิมพ์มากกว่า 1,000 เล่ม รวมทั้งหนังสือแปลสำหรับเด็กด้วย
ถ้าเจาะกันไปถึงวงการนิทาน เราคิดว่าวงการนิทานเติบโตขึ้นมากกว่าแต่ก่อน แต่ตลาดยังมีข้อจำกัด หมายถึงกำลังซื้อ ตาสีตาสี ตามีตามาที่อยู่ไกลๆ เขายังไม่ซื้อหนังสือให้ลูกอ่าน แต่เขารอหนังสือจากห้องสมุดอยู่ ดังนั้นรัฐบาลจะต้องซื้อหนังสือเข้าห้องสมุด แล้วเราไม่ต้องรณรงค์เรื่องการอ่านหรอก ถ้าเด็กอ่านแล้วค้นพบว่า หนังสืออ่านแล้วสนุก เด็กก็จะยืมหนังสือกลับบ้าน โลกนี้มันวนแบบนี้เลย คุณก็ทำไปสิถ้าอยากให้ตลาดเติบโต นักเขียนเขาจะสามารถยังชีพได้ด้วย ดูอย่างญี่ปุ่นพิมพ์หนังสือเป็นร้อยครั้ง นักเขียน นักวาดเขายังชีพได้ด้วยอาชีพนี้
ปัจจัยในการที่สำนักพิมพ์จะเลือกพิมพ์หนังสือเด็กสักเล่มคืออะไร
ธรรมชาติของแต่ละสำนักพิมพ์จะไม่เหมือนกัน อยู่ที่บรรณาธิการของเขา เขาจะดูว่าตลาดของเขาเป็นเด็กกลุ่มไหน ผู้ปกครองเป็นกลุ่มไหน พอเขาดูหนังสือสักเล่ม เขารู้เลยว่าจริตตรงกับแนวความคิดของสำนักพิมพ์ เขาก็จะซื้อ
ดังนั้นนักเขียนและนักวาดภาพ ไม่ต้องเกร็งเลยว่าจะต้องทำงานเพื่อสำนักพิมพ์นี้ แค่คุณทำงานให้ดี ดีในที่นี้คือถ้าตัดเกรดในฐานะครูสอนวรรณกรรมสำหรับเด็กแล้วคุณได้เกรด A ทุกสำนักพิมพ์เขาต้องพิมพ์ของคุณ ถ้าอยากรู้ว่าหนังสือเกรด A เป็นแบบไหน คุณต้องไปอ่านหนังสือที่เป็นหนังสือคลาสสิกอย่าง Where the Wild Things Are, The Very Hungry Caterpillar, Miffy, Peter Rabbit แค่นี้ ถ้าคุณทำได้แบบนั้น บอกเลยว่าชีวิตคุณจะมีความสุขกับการสร้างสรรค์งานไม่รู้จบ
ยุคนี้ คนทำหนังสือเด็กสามารถทำเป็นอาชีพที่เลี้ยงตัวเองได้ไหม
ได้ ถ้าคุณเป็นคนทำหนังสือเด็กที่มีศักยภาพในการสร้างสรรค์ที่ไม่ซ้ำ ไม่เหมือนพายเรือวนในอ่าง คุณจะต้องเป็นผู้ที่มีการคาดการณ์ มีทัศนคติที่ไกลจากจุดเดิม มันเหมือนการเดินขึ้นบันไดที่ไม่มีที่สิ้นสุด สำคัญคือต้องเป็นผู้ติดตามข่าวสาร เป็นนักอ่าน ต้องรู้เท่าทันความเป็นไปของสื่อและการเคลื่อนตัวของข่าวสารในโลกใบนี้ ดูเหนื่อยและหนัก แต่คุณจะยังชีพอยู่ได้ถ้าเป็นคนมีคุณภาพ ปรับเปลี่ยน ทำตัวเองให้หนักแน่น
แล้วถ้าเขาเป็นคนทำหนังสือที่มีคุณภาพ แต่ไม่มีปัจจัยสนับสนุนรอบข้างล่ะ อาจารย์คิดว่าเขาจะกลายเป็นคนทำหนังสือเด็กที่ประสบความสำเร็จได้ยังไง
เวทีมีแล้วทำไมคุณไม่ประกวด เหมือนนักร้องลูกทุ่งมาจากภูธรแล้วเข้าเมืองกรุงไปประกวด ช้างเผือกมันก็เป็นช้างเผือก ถ้าคุณอยู่นิ่งๆ แล้วจะรอราชรถมาเกย เอาคุณไปตกแต่งให้เป็นคุณหนู ไม่ใช่ คุณต้องเป็นลูกหินตั้งแต่วันนี้แล้วพร้อมจะเป็นแก้วที่ใส ถูกเจียระไน มันเป็นตัวของคุณเองที่จะทำ ถ้านิ่งคุณก็ไม่ได้เกิด
อาจารย์อยู่ในวงการมานาน ทำหนังสือมาหลายเล่ม อาจารย์มีเคล็ดลับในการทำงานให้ยืนระยะบ้างไหม
อย่าหยุดคลื่น ถ้ามีลมส่ง มันก็จะมีคลื่นลูกแล้วลูกเล่า
เปรียบเสมือนกับคนทำหนังสือเด็กที่จะมีคลื่นลูกใหม่มาเสมอ แต่ถ้าคลื่นของคุณยังเคลื่อนตัว คุณยังคงเส้นคงวา สร้างงานต่อเนื่อง คุณจะไม่ถูกคลื่นลูกหลังไล่หรือโดนกลืน
ดังนั้น ทำสม่ำเสมอ ต่อเนื่อง อย่าหยุด แล้วเป็นผู้นั่งเฝ้าสังเกตการณ์การเคลื่อนของการเป็นไป รู้ว่าปัจจุบันทำอะไร และต้องเตรียมการสำหรับปีหน้าและปีต่อไปยังไง นี่คืออุดมคติ
ในการทำงานที่ผ่านมา อาจารย์เคยมีโมเมนต์อยากเลิกทำไหม
ไม่เคยเลยนะ เพราะงานนี้เป็นความถูกใจ ทำแล้วมีความสุข เลือกในสิ่งที่ตัวเองชอบแล้วมันจะไม่เบื่อ ไม่ฝืน ไม่อึดอัด พอเป็นความสุข เราก็พยายามขวนขวายหาทางทำให้เต็มที่ พอออกไปแล้วจะไม่เสียดายหรือเสียใจ
ถ้าคุณเบื่อ เหนื่อย อยากหยุด นั่นเพราะคุณขาดแรงบันดาลใจ คุณไม่ได้มีทรัพยากรใหม่เข้าไปในอารมณ์และความรู้สึกหรือกระบวนการคิดนี่ต่างหากคนไม่ได้ตีโจทย์ให้กับตัวเองถึงคิดว่าท้อว่ะ เบื่อ ไม่อยากทำ เหนื่อยแล้ว ทั้งๆ ที่ใจมันโหยหาอยากทำอยู่ แล้วทำไมไม่พัฒนาให้มันเป็นไปอย่างที่ใจร่ำร้อง
เคยมีเด็กมาขอบคุณอาจารย์ไหม
ทุกวันนี้พอมาอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ล้านของเล่น เกือบทุกวันที่พ่อพาลูกมาแล้วขอบคุณ สวัสดี แล้วจะถามว่าสอนวาดรูปไหม เราก็บอกเขาว่าคุณไม่ต้องให้ลูกเรียนวาดรูปพิเศษหรอก ให้เรียนเชิงระบบที่เป็นหลักสูตรการศึกษา แล้วคุณเตรียมกระดาษ เตรียมสีให้ลูกคุณเล่นก็พอ เพราะอาจารย์เกริกก็ไม่ต้องไปติวหรือเรียนจากครูเก่งๆ ที่สอนวาดรูปเลย ลูกคุณอาจจะค้นพบตัวเขาเองเร็วกว่าคนอื่น เพราะถ้าเรานั่งศึกษาคนที่ทำงานด้านการแสดงออกทางศิลปะเก่งๆ ส่วนมากเขาจะเป็นผู้ค้นหา แล้วแสดงศักยภาพในการแสดงออกตามที่เขาอยากเป็น อยากทำ
เป็นคนทำหนังสือเด็กมา 40 ปี งานนี้มีความหมายต่อชีวิตของอาจารย์ยังไง
มันเป็นอารมณ์ ความรู้สึก และเป็นชีวิต เราทำแล้วสนุก ทำแล้วมีความสุข ถ้าทำแล้วเบื่ออาจจะประกอบอาชีพอื่นแล้ว