“ผู้หญิงเป็นได้มากกว่าแค่การเป็นแม่ เป็นได้มากกว่าแค่คนที่อยู่ในบ้าน” ชีวิตและความฝันของ ‘ชมพู่-วรรณกนก เปาะอิแตดาโอะ’

“เราเป็นผู้หญิงมุสลิมที่มีความเชื่อว่าผู้หญิงเป็นได้มากกว่าแค่การเป็นแม่ เป็นได้มากกว่าแค่คนที่อยู่ในบ้าน”

นี่คือประโยคที่ ชมพู่-วรรณกนก เปาะอิแตดาโอะ แนะนำตัวกับ Mappa เมื่อเราถามว่า หากต้องแนะนำตัวโดยถอดบทบาทของการเป็นนายกสมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ หรือ ‘กลุ่มลูกเหรียง’ ออกไป ชมพู่จะเลือกแนะนำตัวอย่างไร

สมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ หรือ กลุ่มลูกเหรียง ก่อตั้งมาเป็นระยะเวลานานกว่า 20 ปี โดยมี ‘แม่ชมพู่’ ของเด็ก ๆ คอยจัดการและดูแลความเป็นอยู่ของเด็กและเยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนใต้ อีกทั้งกลุ่มลูกเหรียงยังเป็นองค์กรที่คอยช่วยสนับสนุนให้ผู้หญิงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ได้มีพื้นที่ปลอดภัยที่เสริมพลังให้กันและกันผ่านกิจกรรมและโครงการต่าง ๆ ที่ชมพู่และทีมลูกเหรียงร่วมกันจัดขึ้น

เพราะผู้หญิงมุสลิมในพื้นที่สามจังหวัด ส่วนใหญ่ต่างไม่เคยถูกสอนให้ได้สัมผัสถึง ‘สิทธิในร่างกายของตนเอง’ เนื่องด้วยขนบต่าง ๆ ที่สืบต่อกันมา ทำให้สังคมคาดหวังให้ผู้หญิงมุสลิมต้องเป็นแม่ คาดหวังให้ผู้หญิงต้องแต่งงานตั้งแต่อายุยังน้อย ต้องดูแลครอบครัวและคอยปรนนิบัติสามี เพื่อจะได้เป็น ‘ผู้หญิงที่ดี’ หลายคนจึงไม่กล้าฝ่าฝืนขนบเหล่านี้ ด้วยกังวลว่าจะถูกสังคมและคนรอบข้างตัดสิน 

แต่ชมพู่คือผู้หญิงที่กล้าทลายกรอบนั้น และเธอก็อยากให้ผู้หญิงคนอื่น ๆ กล้าก้าวออกมาด้วยเช่นกัน 

ความเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นได้ด้วยการทลายกรอบ

“ผู้หญิงมุสลิมในสามจังหวัดโดยส่วนมากมักจะถูกคาดหวังให้แต่งงานหลังจากที่เรียนจบชั้นประถมหรือมัธยมต้น เพราะสังคมมองว่าเราไม่จำเป็นต้องเรียนสูงมาก พอแต่งงานแล้วก็ต้องมีลูก ต้องทำงานเลี้ยงสามีและทำหน้าที่เป็นแม่ แค่นั้นเอง เราถูกสอนให้ต้องอยู่แค่ภายในกรอบ เราไม่ได้ถูกสอนให้พูดเรื่องความต้องการของเรา ไม่มีใครพูดถึงผู้หญิงที่ได้เลือกเรียนในสิ่งที่อยากเรียน ได้เป็นในสิ่งที่อยากเป็น”

“เราอยากให้ผู้หญิงที่อยู่ในสามจังหวัดชายแดนใต้มีความสุข ไม่ต้องแบกรับความคาดหวังจากใคร”

เราสัมผัสได้ถึงพลังแห่งความฝันและความหวังจากน้ำเสียง รอยยิ้ม และแววตาที่สดใสของผู้หญิงตรงหน้า ชมพู่คือผู้หญิงคนหนึ่งที่เคยติดอยู่ในกรอบของมายาคติ ครั้งหนึ่งเธอเคยกลัวที่จะแต่งหน้า ไม่กล้าตัดผม ไม่กล้าแต่งตัว และไม่มีความมั่นใจ แต่ตัวตนของชมพู่ในวันนี้กลับแตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง

ย้อนกลับไปในตอนที่ยังเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษา เด็กหญิงชมพู่เติบโตมาในครอบครัวที่มีฐานะพอประมาณ มีผลการเรียนอยู่ในระดับดีเยี่ยม ทำให้แม้ว่าในตอนที่เธอได้รับเลือกให้เป็นประธานนักเรียนหญิง ‘คนแรก’ ของโรงเรียน จะมีเสียงจากกลุ่มเด็กผู้ชายที่คัดค้านตำแหน่งประธานนักเรียนของเธอ แต่ท้ายที่สุดเด็กหญิงชมพู่ก็ได้รับตำแหน่งนี้ 

“แต่ถ้าภูมิหลังเราไม่ได้เป็นแบบนั้น เราจะไม่มีสิทธิ์ได้เป็นประธานนักเรียนเลยนะ” ชมพู่บอก 

“เราเคยโดนทำโทษที่โรงเรียนเพราะอ่านหนังสือคู่สร้างคู่สม เคยโดนทำโทษเพราะแอบเต้นเวลาที่อยู่กับเพื่อน มันเป็นเรื่องที่ติดอยู่ในใจว่าเราอยากทำในสิ่งที่ใจเราอยากทำบ้าง แล้วเราก็คิดมาตลอดเลยว่าเราต้องทำอะไรได้มากกว่าที่คนอื่นมานิยามว่าผู้หญิงในพื้นที่นี้ต้องเป็นแบบนี้ หรือมาบอกว่าผู้หญิงต้องอยู่ในกรอบเท่านั้น”

เด็กหญิงชมพู่ไม่เข้าใจว่าทำไมการอ่านหนังสือคู่สร้างคู่สมถึงกลายเป็นเรื่องผิด เพราะหนังสือเล่มโปรดเล่มนี้ช่วยเปิดโลกให้เธอได้รู้จักกับสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ ๆ ได้เห็นโลกในมุมมองที่ไม่เคยเห็น เธอรักการอ่านหนังสือเป็นชีวิตจิตใจ เรียกได้ว่าหนังสือเป็นเหมือนเพื่อนที่พาชมพู่ไปค้นพบสิ่งใหม่ ๆ และทำให้เด็กหญิงชมพู่ได้รู้ว่าโลกใบนี้กว้างกว่าที่เธอเคยจินตนาการเอาไว้ เหตุการณ์นี้จึงทำให้เธอเกิดความสงสัยและรู้สึกเสียดายที่ถูกจำกัดสิทธิ์ในการเลือกอ่านหนังสือ

ชมพู่เล่าต่อว่าหลังจากเรียนจบชั้น ป.6 เธอคือเด็กผู้หญิงเพียงคนเดียวที่ได้เรียนหนังสือต่อในระดับชั้นมัธยม ส่วนเพื่อน ๆ ของเธอต้องก้าวออกจากเส้นทางการศึกษาไปแต่งงาน โดยในเวลานั้นจะมี ‘พ่อสื่อแม่สื่อ’ เป็นตัวแทนคอยหาผู้ชายเพื่อมาดูตัวผู้หญิงในแต่ละหมู่บ้าน นั่นหมายความว่าผู้หญิงจะไม่มีสิทธิ์เลือกคู่ครองของตัวเอง

“ตอนนั้นเราก็เดินผ่านไปผ่านมาอยู่หลายรอบเลย แต่ผู้ชายไม่เลือก (หัวเราะ) คือใจหนึ่งก็รู้สึกโกรธนะ แต่อีกใจหนึ่งก็รู้สึกดีใจเพราะเราอยากเรียนหนังสือ แต่ก็จะมีคนเอาไปพูดว่าเพราะเป็นลูกสาวบ้านนี้ก็เลยไม่มีผู้ชายมาเลือก เพราะที่บ้านเราค่อนข้างเปิดกว้าง บ้างก็บอกว่าเราเป็นผู้หญิงอวดเก่ง เขาจะพยายามทำให้พ่อแม่เรารู้สึกเสียเกียรติ” 

“เราทุกคนโตมากับความคิดที่ว่า เมื่อแต่งงานแล้วผู้ชายต้องเป็นผู้นำ ต้องเลี้ยงดูผู้หญิง แต่ในความเป็นจริง พื้นที่ตรงนี้ไม่ได้เป็นแบบนั้นนะ ที่นี่ผู้หญิงเลี้ยงดูผู้ชาย เราเห็นผู้ชายหลายคนติดยาเสพติด ไม่เคยช่วยภรรยาทำงานบ้าน บางคนเลือกที่จะหันหน้าเข้าหาศาสนาและทุ่มเทให้ศาสนาเพียงอย่างเดียว ในขณะที่ภรรยาต้องทำงานหนัก ต้องดูแลลูก ดูแลเศรษฐกิจในครอบครัว มันสวนทางกัน”

ชมพู่ค่อย ๆ ตกตะกอนความคิดผ่านเรื่องราวชีวิตที่เธอเคยพบเจอมา ภาพความลำบากของผู้หญิงหลายคนที่เธอได้พบเห็น และโอกาสในการเป็นตัวเองที่ผู้หญิงหลายคนต้องสูญเสียไป ทำให้เธอตระหนักได้ว่า ‘ความเป็นผู้หญิง’ ในพื้นที่นี้ถูกตีกรอบด้วยข้อจำกัดมากมาย จนผู้หญิงหลายคนต้องสูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง กระทั่งความคิดเหล่านั้นหลอมออกมาเป็นความมุ่งมั่นตั้งใจที่อยากจะเปลี่ยนแปลง ‘ภาพจำ’ ของผู้หญิงในสังคม 

ชมพู่ตั้งปณิธานเอาไว้ว่าสักวันหนึ่งเธอจะทลายกรอบความคิดเดิม และก้าวข้ามออกไปเพื่อพิสูจน์ให้ทุกคนได้เห็นว่า 

‘ผู้หญิงเป็นได้มากกว่าแค่การเป็นแม่ และเป็นได้มากกว่าแค่คนที่อยู่ในบ้าน’ 

ความสุขง่าย ๆ สร้างได้ด้วยความมั่นใจ

แรกเริ่มเดิมทีกลุ่มลูกเหรียงหรือสมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ ตั้งต้นมาจากการที่ชมพู่ต้องการเยียวยารักษาจิตใจเด็ก ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัด โดยเริ่มต้นจากการทำค่าย และค่อย ๆ พัฒนาจนกระทั่งกลายมาเป็นสมาคมในปัจจุบัน

กลุ่มลูกเหรียงไม่เพียงแต่ดูแลในเรื่องของการเยียวยารักษาสภาพจิตใจเด็ก แต่ยังหยิบยื่นโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กและเยาวชนด้วยการมอบทุนการศึกษา อีกทั้งยังสอนวิชาความรู้อย่างการทำอาหาร เพื่อให้เด็ก ๆ นำไปต่อยอดเป็นอาชีพได้ ซึ่งโอกาสเหล่านี้ก็ครอบคลุมถึง ‘เด็กผู้หญิง’ เช่นกัน

“ตอนนี้กลุ่มลูกเหรียงมีเด็กทุนที่เราสนับสนุนให้มีโอกาสเรียนหนังสือจำนวน 102 คน หนึ่งในเหตุผลของการสนับสนุน คือเราอยากเพิ่มทางเลือกให้กับเด็กผู้หญิง อยากให้เด็กผู้หญิงได้เรียนหนังสือ อยากให้เขารู้ว่ามันมีสิ่งอื่น ๆ อีกมากมายบนโลกใบนี้ มีอาชีพที่เขาสามารถทำได้หลากหลายอาชีพ การเรียนหนังสือและการอ่านหนังสือจะทำให้เขามีทางเลือกในชีวิตเพิ่มมากขึ้น ก็เลยเป็นที่มาของทุนการศึกษาลูกเหรียง และในตอนนี้เราส่งเด็ก ๆ เรียนจนถึงปริญญาตรีมากกว่า 40 คน”

เมื่อเพิ่มโอกาสให้เด็กผู้หญิงได้มีทางเลือกมากขึ้นแล้ว การดูแลผู้หญิงในพื้นที่สามจังหวัดก็สำคัญไม่แพ้กัน ชมพู่และกลุ่มลูกเหรียงเริ่มจัดกิจกรรมตั้งวงพูดคุย เพื่อให้ผู้หญิงในพื้นที่สามจังหวัดได้มาเสวนาเพื่อเสริมพลังกันและกัน และยังมีอีกหนึ่งกิจกรรมสำคัญที่กลายมาเป็น ‘จุดเปลี่ยน’ ในชีวิตของผู้หญิงหลายคน นั่นคือ ‘กิจกรรมสอนแต่งหน้า’

สำหรับผู้หญิงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ‘การแต่งหน้า’ ยังคงเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง เนื่องจากเป็นวิถีปฏิบัติในทางศาสนา ซึ่งตัวชมพู่เองก็เคยตกอยู่ภายใต้ความ ‘กลัว’ ที่จะก้าวออกจากกรอบนี้ จนกระทั่งเธอได้พบกับพี่สาวคนหนึ่ง ผู้ทำให้เธอได้ย้อนกลับไปทบทวนความต้องการของตัวเองอีกครั้ง ด้วยคำถามที่ว่า

“ทำไมชมพู่ถึงไม่กล้ามีความสุขล่ะ”

คำถามนี้เองที่ทำให้ชมพู่ได้หวนกลับมาคิดและเริ่มเปลี่ยนแปลงตัวเอง แล้วเธอก็พบว่าความสุขที่แท้จริงนั้นเกิดขึ้นได้ง่าย ๆ จากการได้ลงมือทำในสิ่งที่สร้าง ‘ความมั่นใจ’ ให้กับตัวเอง เธอจึงอยากส่งต่อความมั่นใจนี้ให้กับผู้หญิงคนอื่น ๆ ผ่านการแต่งหน้า

แม้การแต่งหน้าอาจดูเหมือนเป็นเพียงกิจวัตรประจำวันธรรมดา ๆ สำหรับผู้หญิงหลายคน แต่ใครจะรู้ว่าลิปสติกเพียงแท่งเดียวจะสามารถแต่งแต้มโลกของผู้หญิงในสามจังหวัดชายแดนใต้ให้กลับมามีสีสันได้อีกครั้ง

“เราลงพื้นที่ไปในแต่ละชุมชน แล้วก็ดูว่าชุมชนนั้นมีผู้หญิงประมาณกี่คน สำรวจดูว่ามีใครสนใจการแต่งหน้าบ้าง ถ้าสนใจเราก็จะถามเขาว่าเรียนแต่งหน้าไหม เลือกเฉพาะคนที่ชอบแต่งหน้า มีความสุขที่ได้แต่งหน้า ในแต่ละครั้งก็จำกัดจำนวนคนเรียนไม่เกิน 10 คน แต่ที่มีเยอะกว่าคนเรียนคือกองเชียร์ (หัวเราะ) มันมีแต่เสียงหัวเราะมีรอยยิ้ม ไม่มีเรื่องเศร้า มันเป็นช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความสุข”

“ผู้หญิงที่เราไปเจอส่วนใหญ่ก็จะมีปัญหาสุขภาพ ไม่ค่อยได้ดูแลตัวเอง แต่ทุกคนชอบแต่งหน้าหมดเลย เรารู้สึกว่าความเป็นผู้หญิง ทุกคนก็อยากสวย อยากรู้สึกดีกับตัวเอง เราเคยถามบางคนว่าแต่งหน้าแล้วรู้สึกยังไง เขาตอบว่าเหมือนได้ชีวิตตัวเองกลับมาเลย เหมือนได้กลับมาดูแลตัวเอง เพราะเขารู้สึกห่างหายจากการดูแลตัวเองไปนานมาก” 

แม้ว่าผู้หญิงบางคนยังคงไม่อาจหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามขนบและวิถีเดิม แต่การที่พวกเธอได้ลองทำในสิ่งที่ ‘กลัว’ มาตลอด ก็ทำให้พวกเธอได้สัมผัสกับความสุขง่าย ๆ ในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ และทำให้พวกเธอได้หันกลับมาใส่ใจและให้ความสำคัญกับการดูแลตัวเองมากยิ่งขึ้น 

“ผู้หญิงบางคนเวลาที่สามีไม่อยู่ที่บ้าน เขาก็จะเป็นตัวของตัวเองมาก บางคนก็ถอดผ้าคลุม แต่งหน้า แล้วถ่ายรูปส่งมาถามเราว่า สวยไหม พอเราบอกว่าสวยมาก เขาก็จะตอบว่าดีจังเลย วันนี้มีความสุขจัง แต่เดี๋ยวต้องไปล้างหน้าแล้วนะ เพราะสามีกำลังจะกลับมา พอเราบอกว่าแต่งให้สามีดูสิสามีจะได้มีความสุข เขาก็บอกว่าขี้เกียจอธิบาย เพราะบางทีสามีก็สงสัยว่าทำไมถึงไปทาปากสีแดง เราปันใจให้ใครหรือเปล่า ผู้หญิงมุสลิมหลายคนที่ได้มาเรียนแต่งหน้าเขามีความสุขมาก เพราะเขาชอบเครื่องสำอางมาก แม้ว่าต้องล้างหน้าก่อนกลับบ้านให้เสร็จเรียบร้อย แต่อย่างน้อยมันก็เป็นความสุขง่าย ๆ ในช่วงเวลาหนึ่งของเขา”

“ครั้งหนึ่งเราเคยโปรโมทว่า ถ้าใครสนใจมาเรียนแต่งหน้า หลังจากเรียนเสร็จเราจะถ่ายรูปให้ ปรากฏว่ามีคนสนใจเยอะมาก ต้องแบ่งวันถ่ายรูปเลย เขาอยากมีรูปสวยๆ หลายคนก็เอาไปเปลี่ยนภาพหน้าจอโทรศัพท์มือถือ บางคนก็เอาไปตั้งเป็นรูปโปรไฟล์ เพราะเขามีความมั่นใจ” 

“แค่ทำให้ผู้หญิงรู้สึกดีกับตัวเอง ก็ทำให้เขามีความสุขได้แล้ว”

เมื่อเห็นว่า ‘พลังของความมั่นใจ’ นั้นเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ ชมพู่จึงอยากให้ผู้หญิงทุกคนที่ชอบการแต่งหน้าสามารถเข้าถึงเครื่องสำอางได้ เธอเปิดรับบริจาคเครื่องสำอางผ่านทางเพจเฟซบุ๊กของกลุ่มลูกเหรียง เพื่อรวบรวมและนำไปมอบให้กับผู้หญิงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ เพื่อที่พวกเธอจะได้มีความสุขกับการแต่งหน้าโดยไม่ต้องกังวลถึงเรื่องค่าใช้จ่าย และเป็นความสุขที่เริ่มต้นจากสิ่งเล็ก ๆ ที่พวกเธอสามารถสัมผัสได้ในทุก ๆ วัน

“มีคุณยายคนนึงขายขนมจาก เขาทำงานหนักมาทั้งชีวิต สิ่งเดียวที่เขารู้สึกมีความสุขคือการมีลิปสติกแท่งหนึ่ง เขาทาลิปทุกวันเลยเพราะนั่นคือความสุขเดียวของเขา พอเรารู้เรื่องเขา เราก็เอาลิปสติกหลายแท่งไปให้เขาที่เพิงขายขนมจาก พอเขามีลิปสติกเยอะเขาก็ทาทุกวัน จนกระทั่งวันหนึ่งมี youtuber สนใจก็เลยตามไปสัมภาษณ์ยาย ยายก็เล่าว่ามีเด็กเอาลิปสติกมาให้เยอะมาก เราได้ฟังแล้วก็มีความสุขมาก คุณยายทำงานทุกวัน นี่คือสิ่งเดียวที่ทำให้เขามีแรง มีกำลังใจ”

“ยังมีผู้หญิงอีกจำนวนมากที่แทบจะไม่ได้เจอความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ แบบนี้ เราเลยคิดว่าอย่างน้อยถ้ามันไม่มีตัวเลือกเลยในชีวิต เราก็ยังสามารถเพิ่มทางเลือกให้เขามีความสุขในสิ่งที่คนที่เป็นผู้หญิงเหมือนกันจะชอบ ทำให้เขามีลิปสติกสีแดงสักแท่ง ทำให้เขารู้ว่าเราลงรองพื้นได้นะ เราทำงานตากแดดทุกวัน ฝ้าเยอะ เราก็สอนเขาลงรองพื้น สอนเขียนคิ้ว ซึ่งครูสอนแต่งหน้าก็เป็นครูมุสลิมของเรานี่แหละ ก็ต้องถอดผ้าคลุม เรียนด้วยกัน มันเป็นช่วงเวลาที่ดีมาก เราชอบมากเพราะเรารู้เลยว่าเขามีความสุข” ชมพู่เล่าถึงจุดมุ่งหมายของการมอบเครื่องสำอางและการสอนแต่งหน้าที่ไม่ได้เป็นเพียงการสร้าง ‘ความมั่นใจ’ แต่ยังเป็นการสร้าง ‘ความสุข’ ให้กับผู้หญิงทุกคนด้วย

“สำหรับเราลิปสติกมันเป็นเรื่องเล็กน้อยมาก แต่สำหรับผู้หญิงบางคนมันเป็นเรื่องยิ่งใหญ่มาก นี่เป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้เราได้ตระหนักว่ามันเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เราช่วยเหลือคนอื่นได้ แม้จะเป็นความสุขในช่วงเวลาสั้น ๆ แต่อย่างน้อยเขาจะมีความสุขในทุก ๆ วันจากสิ่งเล็กน้อยที่เราทำ”

ระยะเวลากว่า 20 ปีภายใต้ชายคาบ้านลูกเหรียงหลังนี้ ชมพู่ได้สั่งสมประสบการณ์การทำงานร่วมกับผู้หญิงในทุกกลุ่ม ตั้งแต่กลุ่มแม่บ้าน กำนันหญิง ผู้ใหญ่บ้านหญิง ไปจนถึงระดับหัวหน้าองค์กร ซึ่งทำให้เธอได้มองเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาบุคลิกภาพ เพื่อทำให้ผู้หญิงทุกคนมีความมั่นใจในตัวเอง เพราะ ‘ความมั่นใจ’ นั้นไม่เพียงแต่จะส่งผลดีต่อสภาพจิตใจข้างใน แต่ยังนำไปสู่ความพร้อมที่จะ ‘ต่อสู้’ กับทัศนคติกดขี่ทางเพศที่พวกเธอต้องเผชิญในสังคม ‘ชายเป็นใหญ่’ อีกด้วย

“ผู้หญิงที่เราได้พูดคุยด้วยต่างบอกกับเราว่า การที่จะได้อยู่ในจุดเดียวกับผู้ชาย ต้องต่อสู้กับทัศนคติแง่ลบของผู้ชายเยอะมาก ดังนั้นการที่เราทำให้เขารู้สึกมั่นใจขึ้นมาก ทำให้เขารู้สึกดีกับตัวเอง จะทำให้ผู้หญิงเหล่านี้รู้สึกว่าการฟาดฟันข้างนอกมันง่ายมากขึ้น ง่ายกว่าในตอนที่เขาเคยรู้สึกไม่มั่นใจในตัวเอง” 

“เราทำงานกับผู้หญิงตั้งแต่ระดับรากหญ้า ผู้หญิงที่ไม่มีอะไรเลย ไปจนถึงผู้หญิงที่มีความพร้อม อยู่ในระดับผู้นำที่ออกมาต่อสู้เพื่อผู้หญิงทุกคน เราเห็นความแตกต่างชัดเจนเพราะเราต้องทำคู่ขนานกันไป ต้องยกระดับคนที่อยู่ข้างหลังให้เขารู้สึกดี มั่นใจ มีความสุขมากขึ้น ส่วนคนที่อยู่แนวหน้าก็สนับสนุนให้เขามีช่องทาง ช่วยให้เขารู้สึกมั่นใจว่าเขาจะช่วยเหลือผู้หญิงคนอื่นได้ งานแบบนี้เราทำคนเดียวไม่ได้หรอก ต้องผนึกกำลังผู้หญิงเพื่อความอยู่รอด เพราะเราจะไม่ถูกต้อนรับจากผู้ชายแน่นอน แต่เมื่อไหร่ที่ผู้หญิงอย่างเราจับมือกัน ผู้ชายจะเกรงใจเรา เขาคงไม่กลัวเราหรอก แต่อย่างน้อยเขาก็จะเกรงใจเรามากขึ้น”

เมื่อได้รับฟังเรื่องราวบนเส้นทางชีวิตของชมพู่ที่เธอได้ทลายกำแพงและก้าวออกมา อาจดูเหมือนว่าผู้หญิงที่แข็งแกร่งและเด็ดเดี่ยวคนนี้สามารถลุกขึ้นมาเสริมพลังให้กับผู้หญิงคนอื่น ๆ ในพื้นที่ได้อย่างง่ายดาย แต่ในความเป็นจริงนั้น เส้นทางการเสริมพลังของเธอก็ไม่ได้ราบรื่นเสมอไป เพราะชมพู่เองก็มีช่วงเวลาที่ต้องทัดทานกับสายลมที่พัดต้านกลับมา และเธอก็ยังคงหาหนทางที่จะฝ่าแรงลมนั้นไปให้ได้

บนเส้นทางของการเสริมพลังให้ผู้หญิงในสามจังหวัดชายแดนใต้ที่ชมพู่ได้ทุ่มเทไป ยังคงมีเสียงของการต่อต้าน การโจมตี เนื่องมาจากความไม่พอใจที่เธอพยายามเปลี่ยนแปลงภาพการเป็น ‘ผู้หญิงที่ดี’ ที่สังคมเคยกำหนดไว้ บ้างมาในรูปแบบของคำด่าทอ บ้างมาในรูปแบบของการข่มขู่ และร้ายแรงสุดคือหมายจะทำร้ายร่างกาย

“ในวันสตรีสากลหรือในวันยุติความรุนแรง เรามักจะโดนโจมตีตลอดถ้าเราออกมารณรงค์เรื่องไม่ทำร้ายผู้หญิง หรือพูดเกี่ยวกับการยอมรับผู้หญิง เราโดนดราม่าหนักมาก บางทีมีคนเอาตะปูมาโรยหน้าบ้าน บางคนเข้ามาด่าสาดเสียเทเสียในเพจ” 

“เวลาที่เราลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง เรียกร้องให้เรามีสิทธิ์ทำในสิ่งที่เราอยากทำ เช่น แคมเปญที่จะทำให้ผู้หญิงลุกขึ้นมามีความมั่นใจ มันเป็นเรื่องที่เรารู้สึกว่าไม่ได้ขออะไรเยอะเลยนะ เราขอแค่ได้มีความสุข แต่สิ่งที่เขาโจมตีมามันเหมือนกับว่าเราบาปมาก ทั้ง ๆ ที่เราขอแค่ยอมรับในความเป็นมนุษย์คนหนึ่งของเราแค่นั้นเอง”

แม้ต้องเผชิญกับเสียงคัดค้านจากคนบางกลุ่ม แต่ชมพู่ยังย้ำกับเราด้วยถ้อยคำที่ชัดเจนว่า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เธอจะสร้างพลังให้ผู้หญิงในสามจังหวัดชายแดนใต้ต่อไป

“ทำต่อค่ะ” เธอย้ำอย่างหนักแน่น

ภาพความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงในวันนี้ อาจจะยังไม่ใช่ภาพที่เสร็จสมบูรณ์ตามปณิธานที่ชมพู่ตั้งไว้ แต่การเปลี่ยนแปลงที่เริ่มจากสิ่งเล็ก ๆ ใกล้ตัว ก็เป็นสิ่งที่ช่วยยืนยันได้ว่า ภาพความเปลี่ยนแปลงที่ชมพู่เคยฝันไว้ไม่ได้อยู่ไกลจนเกินเอื้อม และการที่เธอได้ส่งมอบพลังให้แก่ผู้หญิงหลาย ๆ คนนั้นก็ไม่ได้สูญเปล่าแต่อย่างใด เพราะเธอช่วยให้โลกทั้งใบของผู้หญิงคนหนึ่งกลับมาสดใสและมองเห็นคุณค่าในตัวเองมากขึ้น

ทุกวันนี้ชมพู่ยังคงลงมือทำกิจกรรมสนับสนุนผู้หญิงในพื้นที่สามจังหวัดอยู่ และเริ่มส่งต่อความรู้และแนะนำแนวทางในการทำงานให้แก่เด็ก ๆ ในกลุ่มลูกเหรียง เพื่อที่จะได้มั่นใจว่าสมาชิกกลุ่มลูกเหรียงจะช่วยต่อยอดแนวคิดโครงการของเธอ และส่งต่อไปยังรุ่นสู่รุ่น เพื่อรอวันที่ความเชื่อ ความหวัง และปณิธานที่เธอตั้งเอาไว้ จะไม่ได้เป็นเพียงความฝันอีกต่อไป

“สิ่งที่เราทำมาตลอดเราพยายามส่งต่อให้น้องรุ่นต่อไป ตอนนี้สบายขึ้นเยอะมากเพราะเด็ก ๆ เริ่มโตแล้ว เด็กทุนลูกเหรียงหลายคนก็เรียนจบแล้วมาทำงานที่นี่ มีทีม มีคนดูแลเยอะ เด็ก ๆ ดูแลตัวเองได้แล้ว ถึงไม่มีเรา เราก็มั่นใจได้ว่าลูกเหรียงก็ยังเป็นลูกเหรียง เขาก็ยังทำงานของเขาได้ ก็เลยอยากทำอะไรที่ตอนเด็กเคยฝันไว้และไม่เคยทำมากขึ้น” 

“อยากไปประเทศที่ไม่เคยไป ไปจังหวัดที่ไม่เคยไป ได้ลงมือตัดเย็บเสื้อผ้ากับเด็ก ๆ เหมือนที่เราเคยฝันไว้ว่าอยากเป็นดีไซเนอร์ เราได้มีเวลาลงพื้นที่ไปเจอผู้หญิงเยอะขึ้น ได้เอาโครงการไปสอน เอาเครื่องสำอางไปให้ ทุกสิ่งที่ทำลงไปเราทำเพราะแค่เราอยากทำ เราขอบคุณตัวเองเสมอที่ยังมีชีวิตอยู่ เราอาจจะมีชีวิตอยู่เพื่ออะไรสักอย่าง คงไม่ใช่แค่มีชีวิตไปวัน ๆ แต่เราพยายามคิดตลอดว่าต้องทำอะไรสักอย่างในช่วงชีวิตนี้ที่เรายังแข็งแรง”


Writer

Avatar photo

ณัฐนรี บัวขม

มีชีวิตอยู่เพื่อดูคลิปตลก คีบตุ๊กตา และเดินหาร้านอร่อยในย่านบรรทัดทอง

Photographer

Avatar photo

ฉัตรมงคล รักราช

ช่างภาพ และนักหัดเขียน

Illustrator

Avatar photo

พรภวิษย์ เพ็งเอียด

ชอบกินเนื้อต้มและตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือให้ได้ปีละสามเล่ม

Related Posts