Homeschool

“ฉันโตมากับการไม่ไปโรงเรียน” อัปเดตชีวิตเด็กโฮมสคูลรุ่นเเรก ปัจจุบันคือ นักการศึกษา คุณหมอ เเละผู้ประกอบการ

  • เด็กโฮมสคูลคือหนึ่งในกลุ่มของเด็กที่ออกจากระบบโรงเรียน พวกเขาไม่มีห้องเรียนที่ชัดเจนเหมือนเด็กคนอื่น เเต่การเรียนรู้เกิดจากการลงมือทำ ออกไปผจญภัย เเละการพบเจอผู้คนที่หลากหลาย
  • ไม่ไปโรงเรียน ไม่ได้หมายความว่า การเรียนรู้จะหยุด เเต่การปล่อยให้เด็กคนหนึ่งสัมผัสประสบการณ์ สำรวจ เเละค้นหาในสิ่งที่เขาเลือกเอง จะทำให้เขากล้ายอมรับความจริง กล้าเเสดงความคิดเห็น เเละกล้าที่จะผิดพลาด
  • mappa คุยกับ 3 เด็กโฮมสคูลรุ่นเเรก อัปเดตชีวิตหลังผ่านหลักสูตรบ้านเรียน ที่ตอนนี้กลายเป็นนักการศึกษา คุณหมอ เเละผู้ประกอบการ

“ทำไมไม่ไปโรงเรียน ไม่ไปโรงเรียนจะเรียนยังไง” เป็นคำถามที่เด็กโฮมสคูลหลายคนเคยเจอ 

คำตอบของพวกเขา คือ ฉันเป็นเด็กที่ไม่ไปโรงเรียน เเต่ฉันก็ไม่ได้เรียนอยู่ที่บ้านหรือเรียนเฉพาะสิ่งที่พ่อเเม่จัดให้เพียงอย่างเดียว เเต่การเรียนโฮมสคูลคือการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำในสิ่งที่สนใจ 

การลองผิดลองถูก เปลี่ยนสถานที่ไปตามเรื่องราวที่เขาสนใจ ทำให้เด็กคนหนึ่งเติบโตเเละกล้าลงมือทำ ขณะเดียวกันโฮมสคูลก็ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดว่า ถ้าผ่านหลักสูตรนี้เเล้วเด็กคนหนึ่งจะพบตัวตนว่าเขาชอบอะไร เพียงเเต่เขาสนุกเเละเรียนรู้ผ่านสิ่งที่ไร้กฏเกณฑ์ 

พูดคุยกับเด็กโฮมสคูลรุ่นแรกๆ 3 คน ที่ใช้เวลาเกือบครึ่งชีวิตไปกับระบบบ้านเรียน อัปเดตชีวิตเเละเรื่องราวการเรียนรู้ที่ผ่านมาว่าเป็นอย่างไรบ้าง

ปัจจุบันทั้ง 3 คนนี้เป็นนักการศึกษา คุณหมอ เเละผู้ประกอบการ

‘ป้อมปืน’ วรวัส สบายใจ

‘ป้อมปืน’ วรวัส สบายใจ : พระ ครูมวย โค้ชเทนนิส ครูบ้านเรียนของ ‘ป้อมปืน’ 

ถ้าระบบการศึกษาบอกว่า การเรียนคือการทำเกรดให้ดี อย่าสอบตก การเรียนเเบบ Homeschool ก็คือประสบการณ์เเละการลงมือทำ

การปล่อยให้เด็กคนหนึ่งท่องโลกตามวัยเเละความสนใจ ไม่ได้ทิ้งเขาไว้ข้างหลัง เเต่เรียนรู้ไปพร้อมกัน จะทำให้เขาเติบโตเเละกล้าเผชิญกับความจริงเเละปัญหาตรงหน้า เรียนรู้จากความผิดพลาดเเล้วเลือกวิธีเเก้ปัญหาได้ด้วยตัวเอง 

‘ป้อมปืน’ วรวัส สบายใจ หนึ่งในนักเรียนโฮมสคูลตั้งเเต่อนุบาลจนเรียนจบม.6  13 ปีนอกรั้วโรงเรียนสอนป้อมปืนว่า การออกไปผจญภัยเเละออกไปเจอผู้คนคือการท่องโลกกว้าง หนังสือเรียนที่ดีที่สุด คือ การตั้งคำถามเเละการพัฒนาตัวเอง

ปฏิเสธโรงเรียนเเล้วเริ่มต้นผจญภัย

ความทรงจำของเด็กชายป้อมปืนในชั้นเรียนอนุบาล 2 โรงเรียนเเห่งหนึ่งในจังหวัดนนทบุรี คือ ลูกชิ้นรูปดาวหน้าโรงเรียน เครื่องเล่น สมุดเพื่อนที่ติดมาอยู่ในกระเป๋าเเล้วไม่รู้ว่าเป็นอะไร 

เเต่เหตุผลที่ป้อมปืนเลือกออกจากโรงเรียน คือ ความเบื่อจากการทำอะไรซ้ำๆ เเละโรงเรียนไม่ได้ตอบโจทย์ตัวตนของเขา 

หลังจากนั้น ป้อมปืนเริ่มต้นผจญภัยด้วยการตามคุณพ่อที่ได้ทุนเรียนต่อต่างประเทศ บินลัดฟ้าไปสเปน ซึ่งเป็นการเปิดโลกประสบการณ์ให้เด็กคนหนึ่งสัมผัสความหลากหลายทางวัฒนธรรมเเละการปรับตัวให้เข้ากับสังคมใหม่ รวมถึงการมีโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อกับความเป็นเด็กของเขาในตอนนั้น

“ตอนไปสเปนเราออกไปเจอผู้คน เห็นวัฒนธรรมที่ต่างไป ต้องหัดอธิบายให้เขาออกเสียงชื่อเราให้ถูก รวมถึงสภาพเเวดล้อมที่ต่างไป พระราชวังที่สเปนเปิดสนามเด็กเล่นให้เด็กๆ เข้าไปวิ่งเล่นเเละมีปฏิสัมพันธ์กันได้ เพราะฉะนั้นการไปตามล่าเครื่องเล่นในราชวังเป็นเรื่องที่สนุกมาก”

เขาใช้เวลากับการผจญภัยครั้งเเรกในต่างเเดนเพียง 3 เดือน ก่อนกลับมากรุงเทพฯ เเล้วมาตกลงกันในครอบครัวกันว่า ลูกชายคนนี้อยากจะใช้ชีวิตนอกโรงเรียนต่อไป เพราะยังรู้สึกสนุกกับการออกเดินทาง

เเต่เอาเข้าจริง เด็กชายป้อมปืนก็ไม่ได้ออกไปข้างนอกตามใจหวัง เนื่องจากตัวเขาเริ่มเข้าสู่กระบวนการ Homeschool คือ การเรียนที่บ้าน โดยมีเเม่เป็นคนจัดตารางสอนให้ ถึงเเม้จะไม่ได้สนุกเหมือนการผจญภัยในต่างเเดน เเต่สร้างความรับผิดชอบเเละทักษะการต่อรองกับเเม่

“เราจะเล่นเกมต่อรองกับเเม่ว่า มีอะไรที่เราต้องรับผิดชอบบ้าง เช่น การฝึกเขียนเเละทำเเบบฝึกหัดที่เเม่เป็นคนออกเเบบ ตอนนั้นไม่เข้าใจว่าเราจะได้อะไรจากการต่อรอง ป้อมปืนกับเเม่จึงค่อยๆ สร้างกฎข้อหนึ่งว่า ถ้าอ่านหนังสือหรือไปเที่ยว กลับมาต้องจดบันทึกส่งเเม่อย่างน้อยวันละหน้า”

“ภายใต้กฎข้อนี้ ทำให้เรากลายเป็นคนชอบจดรายละเอียดของสิ่งที่เกิดขึ้นเลยคิดว่าเป็นทักษะหนึ่งที่ติดตัวเรามาเเละเป็นอาวุธหนึ่งที่เราหยิบมาใช้ตลอด”

เเต่ว่าการอยู่บ้านเเละมีเเม่คอยเเนะนำก็มีกระทบกระทั่งกันบ้าง ถ้าเป็นเรื่องเล็กๆ เช่น การซื้อของที่เเม่มองว่าไม่เป็นประโยชน์ เขาเลือกที่จะเก็บเงินเเละซื้อของชิ้นนั้นด้วยตัวเอง

ทว่าหากเป็นของชิ้นใหญ่ เช่น รถยนต์ บ้านเขาเลือกเปิดตำรา ‘วิชาพิจารณาของฝ่ายอำนวยการ’ หนึ่งในวิชาของพ่อที่จะต้องเรียนตอนทำงาน คือ การหาข้อมูลมาเเลกเปลี่ยนเพื่อร่วมกันตัดสินใจ 

ฉันคือเด็กที่ไม่ไปโรงเรียน

จากการตั้งคำถามของผู้ใหญ่เเละความเข้าใจตั้งเเต่ต้นว่า เด็กชายป้อมปืนเเละเพื่อนชาว Homeschool จะไม่ไปโรงเรียน ซึ่งเเตกต่างเพื่อนคนอื่นในวัยเดียวกัน

“ตอนเข้าไปในกลุ่มเด็ก Homeschool  เข้าใจตรงกันว่า เราไม่ไปโรงเรียน เเล้วเรามีภาพเปรียบเทียบชัดเจน คือตอนเด็กๆ เดินผ่านโรงเรียนวัด พวกเราเป็นเด็กกลุ่มหนึ่งที่เดินผ่านรั้วโรงเรียนในมือถือไอติม เด็กในโรงเรียนก็ปีนรั้วมองเรา เเล้วก็ถูกครูว่าด้วยถ้อยคำที่รุนเเรง”

“การเปรียบเทียบตัวเองกับเด็กที่อยู่ในรั้วโรงเรียนเเละการมีผู้ใหญ่มาถามเราบ่อยๆ ว่า ทำไมไม่ไปโรงเรียน เลยทำให้เราเข้าใจว่า เราจะไม่เหมือนคนอื่น”

เเต่ว่าเมื่อเขาโตขึ้น เขามองว่าความเเตกต่างนี้คือความพิเศษเเละความสนุกในชีวิต

“ตอนม.ปลายเคยไปเรียนพิเศษร่วมกับเพื่อนๆ ที่เรียนในโรงเรียน จะมีเรื่องหนึ่งที่บ่นกันเยอะว่า อยากเรียนอะไรโอกาสมันน้อย ความเป็นไปได้น้อย เช่น อยากเรียนเคมีหรืออยากเรียนต่อเภสัชยังไง จัดการเวลาตัวเองไม่ได้ แต่เรามี 24 ชั่วโมงจะทำอะไรก็ได้ เพราะคิดแล้วว่าเป้าหมายคืออะไรเเล้วทุ่มเวลาไปกับสิ่งนั้นได้”

“เรามีอำนาจที่จัดการเวลาของเราเองได้ เรามีอิสระในการเลือกใช้เวลาของเราได้มันก็จะไหลลื่นไปกับช่วงวัย ช่วงวัยที่เรารู้สึกว่าต้องสนุกแล้วก็จะใช้เวลาให้สนุก ช่วงวัยที่กำลังรู้สึกว่าทำกับสิ่งที่ชอบสิ่งที่อยากทำก็ใช้เวลากับสิ่งนั้น ช่วงวัยที่รู้สึกว่าต้องจริงจังหรือมันต้องมีเป้าหมายบางอย่างมันก็จะเลือกใช้เวลากับสิ่งนั้น”

นอกจากนี้ ป้อมปืนยังบอกว่า ด้วยความที่การเรียนโฮมสคูลไม่ต้องเดินตามตารางที่ใครเขียนให้ ทำให้มีเวลาอยู่กับตัวเองเเละตั้งคำถามกับตัวเองว่า สิ่งที่เขากำลังทำเเละความรู้สึกที่เกิดขึ้นคืออะไร 

“มีเวลาทำงานกับตัวเองเยอะ มีเวลานอนโง่ๆ เยอะขึ้น เราว่าเป็นสิ่งจำเป็นเเละเป็นช่วงเวลาที่ดีสำหรับเด็กที่จะรู้ว่าอะไรคือแรงขับแรกที่จะทำให้เขาลุกขึ้นจากเตียงแล้วก็ไปใช้ชีวิต เราว่าเป็นการเรียนรู้ที่สำคัญ”

เดินออกจากบ้านเเล้วเรียนรู้คำว่า ‘ปรับตัว’

ทั้งนี้ การสร้างความสัมพันธ์กับคนรอบข้างในช่วงเเรกของป้อมปืน คือการเเลกเปลี่ยนความเห็นเเละความรู้สึกกับคนอื่น เเละมองว่าเป็นอีกหนึ่งจังหวะชีวิตของคนๆ หนึ่งที่ต้องเจอ

“การไปอยู่กับคนอื่น ช่วงเเรกเราไม่ได้ปรับตัว เเต่เป็นการเอาความเป็นตัวเองไปปะทะกับความเป็นมนุษย์ของคนอื่นแล้วเกิดปฏิกิริยาบางอย่าง”

“ตอนเด็กๆ เราเป็นคน sensitive เราจะชอบร้องไห้ตาม พอไปอยู่กลุ่มเขาก็จะหาว่าเราเป็นเด็กขี้แยแล้วก็จะมีเพลงแต่งมาล้อเรา มันก็เป็นส่วนหนึ่งของจังหวะชีวิตว่า คนที่มีวิถีชีวิตบางอย่างที่ไม่เหมือนกันมาอยู่ด้วยกัน เเต่เราก็ค่อยๆ เรียนรู้ที่จะจัดการตัวเองแล้วกลับไปเล่นกับกลุ่มให้ได้”

“บางครั้งพ่อเเม่เข้ามาเตือน เเล้วกลับมาใหม่ด้วยความที่ไม่ติดค้างกัน เราว่าสิ่งที่เด็กๆ มองหา คือ อยากเล่น ความสนุกกับการเล่น ถึงจะร้องไห้บ้าง เเต่เขาจะหยุดร้องเพราะอยากเล่นต่อ”

ขณะเดียวกันความสัมพันธ์ของป้อมปืนกับคนรอบข้างค่อยๆ พัฒนาไปตามช่วงวัย ทำให้เขารู้ว่า ตัวเองไม่มีนิยามให้กับคำว่า ‘เพื่อน’ ได้ชัดเจนตามที่หลายคนบอกว่า เพื่อนคือคนที่คอยซัพพอร์ทไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น 

“นิยามคำว่าเพื่อนสำหรับเราไม่มีความหมายตายตัว เเละไม่ได้กำหนดว่าต้องเป็นคนวัยเดียวกัน เเต่เราเรียนรู้ที่จะปรับตัวเข้าหาคนที่ต่าง สำหรับเราเพื่อนก็คือมนุษย์ที่สัมพันธ์กันเเละเห็นใจกัน”  

จากเทนนิสสู่นายเรือ เเละคำถามว่า เข้าโรงเรียนดีไหม?

ระหว่างทางการเรียนที่บ้าน ป้อมปืนได้ทดลองเเละค้นหาตัวตนจากสิ่งเขาสนใจ 

ป้อมปืนเล่าว่า เด็ก Homeschool รุ่นเเรกๆ มีตลาดเเรงงานรองรับอยู่ไม่กี่สาย คือ ด้านดนตรี กีฬา เเละวิชาการ ซึ่งส่วนใหญ่เเต่ละคนจะเลือกเส้นทางของตัวเองตอนอายุ 9-10 ขวบ ซึ่งในตอนนั้นเขาเลือกที่จะเล่นเทนนิส

เขาทุ่มเวลาให้กับเทนนิส โดยมีพ่อเเม่คอยซัพพอร์ทด้วยการไปรับส่งเเละอยู่รอที่สนามเทนนิสตลอด 7 วัน 

บทเรียนจากการเล่นกีฬาสอนเขาว่า เราต้องพัฒนาตัวเองตลอดเวลา

เเต่เมื่อเวลาผ่านไปเขาตั้งคำถามกับการเล่นเทนนิสว่า การทุ่มเวลาให้กับกีฬาชนิดนี้โดยไม่มีเวลาสำหรับช่วงเวลาอื่นๆ ในชีวิต เรามีความสุขไหม? สนุกเหมือนเดิมไหม? ไหวหรือเปล่า?

หลังจากนั้น เขาก็เข้าสู่ยุคการเตรียมตัวสอบเข้าโรงเรียนนายร้อยพร้อมกับความฝันว่า อยากเป็นนายทหารเรือเหมือนพ่อ จากประสบการณ์ของพ่อสมัยเรียน ทั้งว่ายน้ำ พายเรือ หรือปีนเกาะ ทำให้เขาได้กลับไปผจญภัยอีกครั้ง เเละหลงใหลกับศาสตร์การเดินเรือ

“จากช่วงม.ต้นเรียนโดยใช้ความรู้สึกเเละความชอบนำ เปลี่ยนเป็นการเรียนโดยมีเป้าหมายว่า ฉันจะต้องสอบเข้าโรงเรียนนายเรือให้ได้”  

เเล้วป้อมปืนก็เข้าโรงเรียนนายเรือได้สำเร็จ เเต่เรียนเพียงปีเดียวก็ยอมเเพ้จากอาการบาดเจ็บเเละวัฒนธรรมภายใน เเต่การเป็นหนึ่งในนักเรียนเตรียมทหารทำให้เขาค้นพบศักยภาพด้านวิชาการ คือ ภาษาอังกฤษที่เขาปฏิเสธมาตลอด หลังจากเขาทำได้ 

หลังจากนั้น คำถาม “เรากลับเข้าโรงเรียนดีไหม” ถูกเอ่ยจากเด็กที่ปฏิเสธโรงเรียนมาทั้งชีวิตอย่างป้อมปืนในวัย 16 ปี จากความรู้สึกว่าการอยู่บ้านคือสิ่งที่จำเจ เเล้วเพื่อนหลายคนก็เลือกที่จะกลับเข้าไปในระบบเพื่อเดินหน้าต่อตามสายอาชีพที่ตัวเองเลือก

เเต่สุดท้ายเขาเลือกที่จะออกเดินทางผจญภัยเเละเรียนรู้นอกห้องเรียนตามเดิมด้วยการเป็นเด็กวัดในกรุงเทพฯ และนครสวรรค์ ด้วยการถือย่ามตามพระไปกิจนิมนต์ทั่วประเทศ 

ส่วนป้อมปืนในวัย 28 ปี ตอนนี้เขาเลือกอาชีพจากสิ่งที่เขาทำได้ เปลี่ยนเป้าหมายจากการหาคำตอบว่า  “ฉันอยากเป็นอะไร” เป็น “ฉันจะสร้างประโยชน์อะไรให้กับสังคม” เเทน

“ถ้าเรารู้ว่าทักษะของเราคืออะไร เเล้วทักษะนั้นสามารถสร้างคุณค่าเเละประโยชน์กับคนอื่นได้ยังไงบ้าง โดยที่ไม่ต้องกังวลว่าจะมีงานทำไหมหรือจะใช้ชีวิตต่อไปยังไง แต่รู้ว่าเราสร้างประโยชน์อะไรให้กับคนอื่นได้ เเล้วประโยชน์นั้นทำเงินได้ ที่เหลือก็อาจจะต้องบริหารจัดการตัวเอง”

“โลกของการทำงานคือสิ่งที่เราทำให้คนอื่นได้ เลยมาสู้ตรงนี้เเทนว่าเราจะสร้างอะไรเเละสร้างอย่างอื่นได้ไหม เราก็พัฒนาทักษะเราต่อไป”

ไม่มีนิยามคำว่าโรงเรียนหรือโฮมสคูลเเต่เด็กจะเรียนเมื่อเขาอยากเรียนรู้

Homeschool พ่อเเม่ต้องสอนเท่านั้นไหม?

ตลอดการเรียน Homeschool ของป้อมปืนบอกว่า ไม่ได้มีเเค่พ่อเเม่ เเต่พระ ครูมวย โค้ชเทนนิส เเละหนังสือคือครูสำหรับเขา 

“สมัยก่อนเราเคยเป็นเด็กวัด เเต่มีหลวงพ่อที่เรามองว่าเขาเป็นคนมียศ เเต่เวลาอยู่กับเราก็เล่นมุก เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่สอนเรา อีกคนหนึ่งคือโค้ชเทนนิสที่เป็นญาติห่างๆ เขาสอนผมโดยไม่คิดเงิน ด้วยคาเเรกเตอร์ที่ใจเย็นเเละสุขุมทำให้เรานับถือเขา เเละอาจารย์มวยที่สอนเราให้รู้จักโลกภายนอก”

“ส่วนหนังสือ ตอนเด็กๆ เราชอบอ่าน เเละเรากลับมาอ่านอย่างตั้งใจเเละทำความเข้าใจเพื่อหาคำตอบในสิ่งที่เราตั้งคำถามในวัยเด็ก สมัยก่อนเราไปใช้ชีวิตทั้งกรุงเทพฯ เเม่ฮ่องสอน สเปน สงขลา การอ่านทำให้เราเข้าใจปัญหาเเละเเยกบริบทของสังคมที่ต่างกันได้”

ขณะเดียวกันป้อมปืนมองว่า ประโยชน์จากการเรียน Homeschool คือ การตั้งคำถามและการพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ 

หากย้อนเวลากลับไปเขาจะเลือกไม่เรียนมหาวิทยาลัย ในตอนนั้นเขาลังเลที่จะสอบเข้าไปอยู่ในระบบ เพราะไม่อยากให้พ่อถูกตั้งคำถามว่า ทำไมลูกไม่เรียนมหาวิทยาลัย

“ถ้าย้อนกลับไปได้คือจะไม่เรียนมหาลัยเพราะรู้สึกว่ามีหลายอย่างที่เราเรียนรู้ได้จากนอกมหาวิทยาลัย แล้วมหาลัยเป็นแค่สนามสอบให้คนเขาฟีดเเบ็ค บางทีอาจารย์ที่สอนเขาก็ไม่รู้สิ่งที่เราเรียนมาด้วยซ้ำ”

ในมุมมองของเด็กโฮมสคูลที่เข้ามาทำงานด้านการศึกษา ป้อมปืนมองว่า จริงๆเเล้ว ไม่จำเป็นต้องมีนิยามโรงเรียนหรือโฮมสคูล เเต่ควรมองเป็นภาพรวมว่า เด็กอยากเรียนรู้เมื่อเขาอยากเรียนรู้ เเล้วสิ่งที่สำคัญกว่า คือ การจัดสรรทรัพยากรให้เด็กทุกคนได้สัมผัสประสบการณ์ที่เหมือนกัน

“ในมุมเด็กที่ไม่ได้ไปโรงเรียนคิดว่า ถ้าเราได้ทรัพยากรหรือครูเก่งๆในโรงเรียนมาช่วยเรา เราไปได้ไกลกว่านี้ รวมถึงเด็กในโรงเรียนเขาก็อาจจะอยากได้เวลาที่จะเลือกหรือตัดสินใจบางอย่างด้วยตัวเองมากกว่านี้”

“การจัดการทรัพยากรสามารถทำได้หลากหลายกว่านี้มาก เด็กในโรงเรียนเขาควรได้รับประสบการณ์จริงแบบที่เราสามารถนั่งรถไฟไปต่างจังหวัดได้ ทำไมเด็กนักเรียนไม่สามารถมีประสบการณ์ที่ถูกยอมรับว่าเป็นการเรียนรู้ไม่ใช่การเที่ยวเล่นเหล่านั้นได้”

“เราไม่ได้พูดถึงการจัดการชั้นเรียนหรือไม่ได้พูดถึงการมีหรือไม่มีโรงเรียน เเต่กำลังพูดว่า โจทย์การศึกษาที่ควรจะเป็น คือ จะจัดการทรัพยากรให้เเมทช์กับจังหวะการเรียนรู้ของเด็กยังไง ไม่ใช่ว่าจัดการโรงเรียนยังไง”

‘ชิงชิง’ ฐิติภา ปลั่งพงษ์พันธ์

‘ชิงชิง’ ฐิติภา ปลั่งพงษ์พันธ์ :  เรียนไปทำไม? เพราะกว่าจะมีอิสระในการเรียนรู้ต้องรอถึงมหาวิทยาลัย

ช่วงเวลามัธยมเป็นช่วงในการค้นหาตัวตนเเละเป้าหมายในชีวิต ทำให้พวกเขาใช้เวลาไปกับการเรียน ทำกิจกรรม อ่านหนังสือ เเละเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย

‘ชิงชิง’ ฐิติภา ปลั่งพงษ์พันธ์ เด็กโฮมสคูลที่ออกจากระบบโรงเรียนตั้งเเต่อนุบาล ก่อนจะตัดสินใจสอบเข้าโรงเรียนในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 เรียนได้เพียง 1 ปีก็ลาออกเข้าสู่ระบบโฮมสคูลอีกครั้ง เพื่อเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัย

การเข้าออกระหว่างระบบโรงเรียนเเละโฮมสคูล ทำให้ความทรงจำช่วงมัธยมของเธอไม่ได้ง่ายเหมือนที่คิด เพราะเธอต้องปรับตัวเข้ากับสังคมรอบตัวเเละรูปเเบบการเรียนที่ไม่ใช่การเรียนรู้อย่างอิสระ เเต่เป็นการเรียนรู้ที่มีคนเตรียมไว้ให้

พร้อมกับค้นหาคำตอบในอาชีพของตัวเอง เเล้วค้นพบว่า วัยเด็กเธออยากจะเป็นหมอเพราะอยากช่วยเหลือคนอื่น เเต่การเดินทางตามความรู้สึกสนใจวิทยาศาสตร์เเละระบบร่างกายมนุษย์ตอนเรียนโฮมสคูล เเละการมองเห็นเพื่อนๆ ในโรงเรียนวางเเผนชีวิตของตัวเอง ทำให้ชิงชิงสอบเทียบเข้าคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ด้วยการสอบเทียบเมื่อ 3 ปีก่อน

เเต่ว่าการเรียนโฮมสคูลสำหรับชิงชิง คือ การออกไปเที่ยวเเละเรียนรู้อย่างอิสระที่ทำให้เธอเป็นคนเข้าใจตัวเองเเละมีอิสระในการเรียนรู้ที่โรงเรียนไม่มี

Homeschool เเบบ Unschooling

หลังจากชิงชิงตัดสินใจลาออกจากโรงเรียนอนุบาล เพราะไม่ชอบการไปนั่งในห้องเรียนเเล้วทำตามเเบบฝึกหัด เธอจึงเริ่มต้นการเรียนโฮมสคูลที่ทำให้เธอออกจากห้องสี่เหลี่ยมในบ้านเเละห้องเรียน เเต่เดินทางเพื่อสัมผัสประสบการณ์ในชีวิตจริง

“ตอนเรียนในโรงเรียน ทุกวิชาเรียนเหมือนกัน ไปนั่งเฉยๆ หรือไม่ก็ทำเเบบฝึกหัดในสมุด เเล้วเราไม่มีความสุข เราชอบเรียนรู้จากสถานที่ต่างๆ เช่น พิพิธภัณฑ์ สถานที่ท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติหรือประวัติศาสตร์ เหมือนเราได้ไปทัศนศึกษาทุกอาทิตย์ ทำให้เราไปเจอสิ่งที่เราเรียนจริงๆ มากกว่าแค่อยู่ในหนังสือ”

ขณะเดียวกันการเรียนรู้เเบบไร้ขอบเขต ทำให้เธอใช้เวลาไปกับสิ่งที่สนใจตั้งเเต่เรื่องไดโนเสาร์ ร้องเพลงไปจนถึงร่างกายเป็นมนุษย์

“ตอนนั้นไม่ได้ค้นหาตัวเอง เเต่ทำในสิ่งที่ตนเองสนใจไปเรื่อยๆ ช่วงป.3 สนใจเรื่องไดโนเสาร์เป็นพิเศษก็จะไปตะลุยพิพิธภัณฑ์ที่มีไดโนเสาร์ ขุดฟอสซิล เเละวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง หรือไปเข้าค่ายวิทยาศาสตร์ ส่วนช่วงประถมปลายจนถึงปัจจุบัน ไปเรียนร้องเพลง”

“ตอนม.ปลายสนใจเรื่องการทำงานของสมองกับจิตใจมนุษย์เลยอยากเป็นจิตเเพทย์ เพราะสนใจการทำงานของหมอ เนื่องจากหมอเป็นอาชีพที่ต้องเรียนรู้ไปเรื่อยๆ ซึ่งตรงกับตัวเราที่ชอบเรียนรู้เเละค้นคว้าสิ่งใหม่ๆ”

การเรียนโฮมสคูลพ่อเเม่จะรับบทเป็นผู้จัดการเรียนการสอนเป็นหลัก เเต่สำหรับครอบครัวชิงชิง เธอเองก็สามารถเป็นคนกำหนดตารางเรียนของตัวเองได้

“ตอนเด็กๆ ครอบครัวจะให้เล่นเเละเสนอว่าอยากทำอะไร โตขึ้นมาช่วงประถมเขาจะช่วยอำนวยความสะดวกในสิ่งที่เราอยากทำ เช่น ไปเที่ยว เรียน ซื้อหนังสือหรืออุปกรณ์ เเละอาจจะกำหนดว่าในเเต่ละวันทำอะไร ส่วนมัธยมเขาจะให้เราไปหาว่าอยากเรียนอะไร เเล้วเขาจะซัพพอร์ท”

การรับรู้ว่าครอบครัวจะอยู่ข้างหลังเเละสนับสนุนในสิ่งที่ชอบ หรือให้กำลังใจกันตอนเจอปัญหา คือ จุดเริ่มต้นที่ทำให้ลูกรับรู้ว่าเขามีตัวตนเเละกล้าเปิดใจกับครอบครัวมากขึ้น 

“พอเขาสนับสนุน ทำให้เรารู้สึกว่าเขาพร้อมจะสนับสนุนสิ่งที่เราชอบ ไม่ได้กำหนดหรือควบคุมเส้นทางชีวิต เวลามีปัญหาไปคุยกับเขาจะไม่โดนดุ เเต่ช่วยกันแก้ปัญหาหรือปรึกษาปัญหาเเละกล้าให้ครอบครัวซัพพอร์ทเรา”

ก้าวเเรกในโรงเรียนของเด็กโฮมสคูล

การเรียนเเบบผจญภัยเเละเรียนรู้ตามสิ่งที่ชอบมาตลอด รวมถึงการเดินตามฝันในการเป็นหมอของชิงชิง ทำให้เธอเลือกเข้าสอบเข้าโรงเรียนตอนม.4 เพราะหวังว่าโรงเรียนจะช่วยสานต่อความฝันของเธอเองได้

เเต่การเข้าไปในโรงเรียนไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด เพราะเธอต้องปรับตัวเข้ากับสังคมเเละรูปแบบการเรียนที่เเตกต่างจากเดิม

“เพื่อนอาจจะมองว่าเด็กโฮมสคูลไม่ค่อยได้เจอโลกภายนอก คิดไปก่อนว่าเราเข้าสังคมไม่เป็นหรือนิสัยเด็กกว่าเด็กคนอื่นที่อายุเท่ากัน เเต่พอโตขึ้นปัญหานี้ลดลงเพราะเราพยายามเข้าใจเขามากขึ้น เเล้วความรู้ส่วนใหญ่มาจากการเรียนพิเศษ ครูบางคนมาอ่านให้ฟัง หรือวิชาฟิสิกส์ที่ควรจะแสดงวิธีทำโจทย์แต่เขาอ่านให้ฟังแล้วนักเรียนก็ให้ลอกตามที่เขาพูด”

ความหวังในการเข้าไปโรงเรียนเพื่อต่อยอดสาขาอาชีพของเธอค่อยๆ มอดลง อาจเป็นเพราะรูปเเบบการเรียนที่ไม่คุ้นชินทำให้หลังเรียนจบไป 1 ปี เธอกลับมาทบทวนความคิดของตัวเองว่า จะอยู่ต่อหรือจะออกมาเรียนโฮมสคูลตามเดิม

“ข้อดีของการไปโรงเรียน คือ มีแรงกระตุ้นจากเพื่อน เพราะทุกคนตั้งใจเรียน แล้วอาจจะถามหรือปรึกษาเพื่อนได้ รู้ว่าเพื่อนวางแผนอ่านหนังสือยังไง เเละเข้าโครงการติวกับเพื่อนได้ เเต่อีกมุมหนึ่งถ้าอยู่บ้าน เราสามารถเอาเวลาที่เหลือไปพัฒนาตัวเองเเละเตรียมสอบเข้าได้ เเล้วก็ยังได้ทำในสิ่งที่เราชอบด้วย”

สุดท้ายคำตอบของเธอก็คือ การลาออกจากโรงเรียน มาเรียนโฮมสคูลเเล้วตั้งเป้าหมายกับตัวเองชัดเจนว่า เธอจะสอบเข้าหมอรอบที่ 1 หรือรอบ Portfolio ให้ได้

“ข้อดีของการอยู่ที่บ้าน เน้นไปทางรอบ 1 ได้ วางเเผนการเรียนด้วยตัวเองได้ ตอนนั้นทำกิจกรรมอาสา เรียนดนตรี เตรียมสอบโดยใช้คะเเนนสอบเทียบเเทน”

อิสระในการศึกษาจะเกิดขึ้นได้เมื่อเข้ามหาวิทยาลัย

ตอนนี้ชิงชิงเป็นนิสิตคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยชั้นปีที่ 3 จากเป้าหมายเดิมที่อยากเป็นจิตเเพทย์ เธอค้นพบว่า ในศาสตร์การเเพทย์มีสิ่งที่น่าสนใจมากกว่าการช่วยเหลือคน

อีกทั้งการก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย ทำให้นักเรียนโฮมสคูลคนนี้มองเห็นช่องว่างของระบบการศึกษาของโรงเรียนเเละมหาวิทยาลัย

“ตอนเรียนมหาวิทยาลัย เรารู้สึกเป็นอิสระเเละจัดการเวลาตัวเองได้ดีกว่า เราอยากจะเรียนกับเพื่อนในห้องให้เสร็จไปเลยก็ได้ หรือไม่ต้องเข้าเรียนเเล้วเรียนย้อนหลังก็ได้ รู้สึกว่าการศึกษาไทย ถ้าอยากเป็นอิสระต้องรอถึงมหาวิทยาลัยเพราะตอนอยู่มัธยมรู้สึกว่าถูกควบคุม”

ขณะเดียวกันในฐานะของเด็กคนหนึ่งในระบบการศึกษา ชิงชิงมองว่าเด็กคนหนึ่งได้รับข้อมูลมากเกินไปในโรงเรียน เเต่สุดท้ายเด็กกลับไปหาความรู้ในโรงเรียนกวดวิชา

“เด็กต้องรู้เยอะ เรียนเยอะ ทำให้เนื้อหาที่ควรได้รับมีมากเกินไป พอมาจัดตารางให้เด็ก เด็กต้องเรียน 08:00 น. – 16:00 น. ตั้งแต่เด็ก เเล้วยังต้องเรียนพิเศษเพิ่ม ใส่ข้อมูลเยอะไปไม่ได้คัดกรอง เเล้วครูสอนไม่ไหว เพราะครูก็มีภาระงานอื่นๆ ในโรงเรียนด้วย สอนอัดๆ เด็กตามไม่ทัน คนที่ฝึกเอาเองเเต่ไม่มีเงินก็จะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง”

เเต่สำหรับชิงชิง เธอไม่เคยเสียใจที่เดินออกจากโรงเรียน เพราะเธอไม่เคยตั้งคำถามว่า เราเรียนไปทำไม เเต่ทุกการเรียนรู้เป็นเรื่องสนุกเเละมีความสุข เพื่อมองหาสิ่งที่เหมาะกับตัวเองเเละเป็นสิ่งที่ต้องการ 

สายเมฆ พึ่งอุดม

สายเมฆ พึ่งอุดม: เด็กโฮมสคูลรุ่นเเรก การเรียนโฮมสคูลไม่ได้หมายความจะต้องหาตัวเองเจอ 

การเรียนรู้เเบบโฮมสคูลคือเส้นขนานกับการเรียนรู้ในโรงเรียน 

ขณะที่เด็กนักเรียนในโรงเรียนเข้าเเถว เด็กโฮมสคูลอาจกำลังสนุกเเละผจญภัยกับการใช้ชีวิต

ขณะที่เด็กนักเรียนในโรงเรียนต้องเตรียมสอบ เด็กโฮมสคูลอาจกำลังค้นหาตัวตน

ขณะที่เด็กนักเรียนในโรงเรียนวิ่งเล่นกับเพื่อน เด็กโฮมสคูลอาจกำลังเหงาเพราะต้องเรียนคนเดียว

สิ่งเหล่านี้จริงไหม? ทั้งๆ ที่ไม่ว่าจะเป็นการเรียนในโรงเรียนหรือโฮมสคูลต่างเป็นการศึกษารูปแบบหนึ่งที่สนับสนุนการเรียนรู้ของเด็กคนหนึ่งที่มีวิธีการเรียนรู้เเละสนใจเรื่องที่เเตกต่างกัน

“ถ้าอนาคต การศึกษาถูกพัฒนาจนไม่มีปัญหาเเบบที่คนทำโฮมสคูลสมัยก่อนต้องหลีกหนีเเล้ว ผมก็พร้อมที่จะส่งลูกเข้าโรงเรียน ถ้าโรงเรียนตอบโจทย์” เเนวคิดเรื่องการเรียนรู้ของ สายเมฆ พึ่งอุดม เด็กโฮมสคูลรุ่นหนึ่งที่ใช้ชีวิตนอกโรงเรียนมาตลอด 18 ปี ก่อนตัดสินใจสอบเข้าคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาคอินเตอร์ ด้วยความฝันที่อยากเป็นผู้กำกับหนัง

ถึงเเม้จะเติบโตนอกรั้วโรงเรียน เเต่สุดท้ายสายเมฆเองก็มองว่าจะเรียนที่ไหนหรือเรียนอย่างไรก็ไม่สำคัญ เเต่สำคัญว่าเราควรมองว่าเด็กต้องการอะไรเเละอยากเรียนรู้อะไร 

วิชาการค้นคว้าด้วยตัวเองเเละการลงมือทำ

สายเมฆลาออกจากโรงเรียนตั้งเเต่อนุบาล 1 เพื่อมาเริ่มต้นการเรียนโฮมสคูลจนถึงประถมศึกษาปีที่ 4 จนเข้าสู่ระบบมอนเตสเซอรี่ซึ่งเป็นหนึ่งในรูปเเบบการศึกษาทางเลือก หลังจากนั้นช่วงมัธยมกลับเข้าไปรวมกลุ่มกับเพื่อนๆ โฮมสคูลที่เป็นลูกหลานของเหล่ามิชชันนารีที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย

ทั้งนี้ ไม่ว่าจะอยู่ในระบบการศึกษาเเบบใด สิ่งที่เขาเรียนรู้ คือ ทุกระบบสอนให้เขารู้จักการลงมือทำ ช่วงอนุบาลเขาวาดรูป ปลูกข้าว ทำนา ทำเเปลงผัก ก่อนจะเริ่มเรียนด้านวิชาการเสียอีก

“การลงมือทำ ทำให้ตัวเราไม่ได้อยู่เเค่ในโลกทฤษฎี เเต่เราลงมือทำจริง เพราะหลายครั้งปัญหาที่เจอในชีวิตจริงเราไม่ได้เรียนมา”

นอกจากการออกไปเรียนรู้จากสิ่งรอบตัว สิ่งที่สายเมฆเรียนรู้ตั้งเเต่เด็ก คือ การอ่านหนังสือ เพราะพ่อเเม่ก็เป็นคนชอบอ่าน เขาอ่านตั้งเเต่หนังสือการ์ตูนไปจนถึงหนังสือเกี่ยวกับศาสนา ก่อนที่ช่วงมัธยมจะเริ่มค้นหาจากอินเทอร์เน็ตมากขึ้น

“ชอบอ่าน จนเเม่คิดว่าถ้าอยากอ่านหนังสือให้วางหนังสือไว้หลังส้วมคืออ่านตั้งเเต่การ์ตูนไปจนหนังหนังสือการเพ่งกสิณส่วนยุคมัธยมมีเว็บบอร์ด เราก็หาข้อมูลจากตรงนั้น เพราะมีกลุ่มเเยกตามสิ่งที่สนใจ”

ชีวิตคู่ขนานในโลกโฮมสคูลทำให้สายเมฆมองเห็นความเป็นไปได้ของสิ่งรอบตัว เพราะทักษะของโฮมสคูลที่ติดตัวมาตั้งเเต่เด็ก คือ ทักษะการค้นคว้าเเละเเก้ปัญหาด้วยตัวเอง 

สายเมฆคิดว่า เหตุผลที่ทำให้ทักษะทั้งสองอย่างเป็นสิ่งที่เขาเรียนรู้จากการใช้ชีวิตนอกโรงเรียน  อาจเป็นเพราะโฮมสคูลจะเน้นให้เด็กค้นคว้าด้วยตัวเองที่จะเสริมสร้างให้เด็กคนหนึ่งประยุกต์ความรู้นี้ได้ในอนาคต

“บางทีการไม่ถูกป้อนข้อมูลเเบบยัดเข้าปาก ทำให้เรารู้ว่าต้องค้นคว้ายังไง เป็นคนที่รวบรวมข้อมูลเเละสามารถใช้ได้ในชีวิตจริง คือการรู้ว่าปัญหาคืออะไร ทางเเก้ไขคืออะไร เเล้วเราจะหาข้อมูลได้จากไหน เห็นทางเลือกจนเจอทางเเก้”

“เเต่ระบบการศึกษาไทยมักให้ครูจัดว่าเด็กควรเรียนเรื่องอะไร เเล้วทุกคนเรียนเหมือนกัน ทำให้เขาอาจไม่ชินกับการค้นคว้าเเละการประยุกต์ใช้ข้อมูล เเล้วพอเด็กเจอปัญหา เขาจะบอกว่า ไม่รู้ไม่เคยเรียนมา เเต่สำหรับเด็กโฮมสคูลอย่างเราตัดคำนี้ไปได้เลย เพราะสิ่งที่ไม่รู้ ตัวเรากำลังเรียนอยู่ผ่านการทดลองทำ”

Culture Shock ของเด็กโฮมสคูลวัย 18 ปี

ด้วยความที่เติบโตมาจากการเรียนที่ค่อนข้างอิสระทางความคิด สังคม เเละจิตใจ ทำให้สายเมฆในวัย 18 ปีที่สอบติดมหาวิทยาลัยตั้งคำถามกับสิ่งรอบตัว

การตั้งคำถามกับสิ่งรอบตัวหล่อหลอมให้เด็กโฮมสคูลมีความคิดเป็นของตัวเองเเละเเสดงความเป็นตัวเองสูงมาก ชัดเจนว่าชอบหรือไม่ชอบอะไร เคารพความเห็นของตัวเองมาก 

ทว่าการอยู่กับเพื่อนที่เรียนในระบบคล้ายกัน ทำให้ตัวเขาไม่มีภาพเปรียบเทียบเเละไม่รู้ว่า เพื่อนๆ รุ่นเดียวกันกำลังเรียนเเละเติบโตในระบบสังคมเเบบใด

“ตอนเรียนม.ปลายเรียนกับเด็กต่างชาติที่ไม่ได้มีระบบรุ่นพี่รุ่นน้องเท่ากับจุฬาฯ พอเข้ามาจริงทำให้เราจะ Culture Shock เล็กๆ ทั้งตั้งคำถามเเละไม่เข้าใจว่า ระบบเเบบนี้คืออะไร ทำไมต้องไหว้รุ่นพี่ ทำไมต้องติดกระดุมเม็ดบนสุด ทำไมต้องเอาเสื้อเข้าในกางเกง พอไม่เข้าใจทำให้เราต่อต้าน”

“จนโตมาทำงานกับหลายรูปเเบบ ทำให้เราเข้าใจบริบทสังคมที่หลากหลายเเละไม่ตัดสินคนอื่นว่า ความเชื่อหรือสิ่งที่เขาศรัทธาไม่ใช่เรื่องผิด ถ้าไม่ตรงกับสิ่งที่เราเชื่อ คิดว่าเด็กโฮมสคูลหลายคนเจออุปสรรคนี้เพราะเรารู้จักโลกภายนอกเเละเห็นความหลากหลายไม่มากพอ”

สำหรับสายเมฆการใช้เวลาปรับตัวกับเพื่อนไม่นาน เพราะช่วงเรียนโฮมสคูลสอนให้มองทุกคนเท่ากัน เขาเองก็ไปเรียนเทควันโด เต้นเบรคเเดนซ์ และเรียนเเกะสลักไม้ เเต่การปรับตัวกับระบบสังคมนั้นใช้เวลานานกว่า 4 ปีกว่าจะเข้าใจเหตุผลของระบบ

Homeschool เป็นเเค่ฟังก์ชันหนึ่งของการเรียนรู้

เมื่อโรงเรียนอาจจะไม่ตอบโจทย์ความต้องการเเละการเรียนรู้ของเด็กคนหนึ่ง หลายบ้านจึงเริ่มลังเลว่า บ้านเราควรโฮมสคูลดีไหม

ในฐานะของเด็กโฮมสคูล สายเมฆชวนพ่อเเม่ตั้งคำถามต่อว่าก่อนจะตัดสินใจว่า เหตุผลที่เราตัดสินใจเลือกโฮมสคูลคืออะไร เเละพ่อเเม่รับรู้ไหมว่า ลูกต้องการเเละอยากเรียนรู้อะไร

“มันไม่ใช่ประเด็นว่าโฮมสคูลหรือไม่โฮมสคูล เพราะเด็กเเต่ละคนเรียนรู้เเละใช้เวลาในการค้นหาตัวเองต่างกัน ผมเองก็ไม่สามารถบอกได้ว่าเรียนอันไหนถูกหรือผิด เเต่พ่อเเม่ต้องทำการบ้านกับตัวเอง คุยกับลูก ให้ลูกตอบตัวเองเเละพูดออกมาให้ได้ว่าเขาต้องการอะไร”

“ไม่อยากให้เอาโฮมสคูลมาเป็นเเดนกั้นว่าอะไรถูกหรือผิด ต้องทำหรือไม่ต้องทำ มันคือสไตล์การเรียนรู้ชนิดเดียวกับโรงเรียนนานาชาติ โรงเรียนประจำ หรือโฮมสคูลเป็นเเค่หนึ่งในฟังก์ชันการเรียนรู้ที่เขาจะได้ออกไปใช้ชีวิต”

ขณะเดียวกันฟังก์ชันการเรียนรู้ของโฮมสคูลที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่ง คือ การได้ทำในสิ่งที่ตัวเองสนใจ เพราะก็ได้ลองเรียนทั้งเทควันโดเเละเบรกเเดนซ์ จนตอนนี้เปิดสตูดิโอสอนเต้นเป็นของตัวเอง มีร้านกาเเฟ เเละเป็นเจ้าของเเบรนด์เสื้อผ้าเเละอาหารเพื่อสุขภาพ

ทั้งนี้ การเรียนรู้ที่ไหลลื่นไปกับความสนใจเหล่านั้น อาจทำให้เด็กโฮมสคูลบางคนยังไม่ได้คำตอบตัวเองอย่างชัดเจนว่าตัวเองต้องการอะไร

สายเมฆมองว่า เด็กที่เรียนโฮมสคูลมาตลอดเเล้วไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร เขาไม่ได้ผิดหรือถูก เพราะเเก่นของเรียนโฮมสคูลคือการหาสิ่งที่สอดคล้องไปกับความต้องการ

“การค้นหาตัวเอง โชคดีเจอก็ดี โชคไม่ดีตายก่อน ก็เเค่ตายก่อน เเละการระบุว่ามนุษย์ 1 คนชอบอะไร ทำได้อย่างเดียวมันลิมิทตัวเองเกินไป สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราเข้าใจไปเอง ผมว่าด้วยบริบทสังคมทำให้เราต้องมองหาตัวเอง เเต่สำหรับผมคิดว่าเป็นเรื่องเเก่นที่เรารู้สึกพิเศษ”


Writer

Avatar photo

ณัฐธนีย์ ลิ้มวัฒนาพันธ์

ชอบดูซีรีส์เกาหลี เพราะเชื่อว่าตัวเราสามารถสร้างพื้นที่การเรียนรู้ได้ สนใจเรื่องระบบการศึกษาเเละความสัมพันธ์ในครอบครัว พยายามฝึกการเล่าเรื่องให้สนุกเเบบฉบับของตัวเอง

Illustrator

Avatar photo

กรกนก สุเทศ

เด็กกราฟิกที่สนุกกับการอ่านการ์ตูน ดูเมะ ชอบเล่าเรื่องและจำสิ่งต่าง ๆ ด้วยภาพมากกว่าตัวอักษร มองว่าหนึ่งในการเรียนรู้ที่ดีคือการเรียนรู้ผ่านสี รูปภาพ รูปทรง

Related Posts