- ทักษะการอ่านเป็นทักษะสำคัญที่เราควรมี ความคิดเห็นจาก ศาสตราจารย์ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ อาจารย์สาขาวิชาภาษาและวรรณคดีอังกฤษ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- แต่ระบบศึกษากำลังทำให้เด็กเกลียดการอ่าน โดยเฉพาะวิชา ‘รักการอ่าน’ ที่ทำให้เด็กรู้สึกว่าการอ่านเป็นเรื่องยากและไม่สอดคล้องกับชีวิต
- ชวนคุยกับอาจารย์ชูศักดิ์กันว่า ทักษะการอ่านสำคัญอย่างไร และวิธีที่เหมาะสมในการปลูกฝังให้เด็กมีทักษะนี้
“โรงเรียนเป็นสถานที่ที่ทำให้เด็กเกลียดการอ่านหนังสือมากที่สุด”
ความเห็นของ ศาสตราจารย์ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ อาจารย์สาขาวิชาภาษาและวรรณคดีอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต่อวิธีปลูกฝังการ ‘รักการอ่าน’ ให้นักเรียน
ในฐานะอาจารย์สอนวรรณกรรมและความชอบส่วนตัวที่มีต่อวรรณกรรม อาจารย์ชูศักดิ์มองว่า การอ่านไม่ใช่แค่การอ่านหนังสือ แต่เป็นการอ่านเพื่อทำความเข้าใจตนเอง คนอื่น และสังคม
แต่ปัจจุบันวิธีการของผู้ใหญ่ที่สอนให้เด็กรักการอ่าน ผูกหนังสือไว้กับคะแนน สิ่งนี้อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้เด็กที่รักการอ่าน กลายเป็นเกลียดการอ่านไป
“ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวหนังสือ ไม่ได้อยู่ที่การอ่าน แต่อยู่ที่วิธีการเรียนการสอนในระบบการศึกษาไทยที่ทำให้หนังสือและการอ่านเป็นเรื่องน่าเบื่อ หรือเป็นเรื่องที่มันไม่สอดคล้องชีวิตของนักเรียน… วรรณกรรมที่อ่านมีเพียงวรรณกรรมที่ต้องจำไปสอบ”
mappa สนทนากับอาจารย์ชูศักดิ์ อาจารย์วรรณคดีที่ยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า เขาอาจล้มเหลวเรื่องการสร้างบรรยากาศให้เด็ก แต่อย่างน้อยนักอ่านจะมีพื้นที่คุยกัน ไม่ต้องอ่านอย่างโดดเดี่ยวและเจอหนังสือที่ยากๆ เพียงคนเดียว
สมัยก่อนการอ่านคือต้องอ่านหนังสือ สำหรับอาจารย์นิยาม ‘การอ่าน’ ปัจจุบันเปลี่ยนไปอย่างไร
การอ่านหนังสือมันก็ยังคงมีอยู่ แต่มีแพลตฟอร์มการอ่านให้เลือกมากขึ้น โดยไม่ยึดติดกับการถือหนังสือมาอ่าน สิ่งที่แตกต่างชัดเจน คือ ประสบการณ์ในการอ่านไม่เหมือนกัน เช่น อ่านหนังสือ ดูหนังสือ หรือฟังหนังสือ
ยกตัวอย่าง เปรียบเทียบการอ่านหนังสือกับการฟังหนังสือ สำหรับผมสองสิ่งนี้แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เพราะอำนาจในการเข้าถึงความรู้ไม่เหมือนกัน การฟังหนังสือ สถานะของคุณที่ไปปฏิสัมพันธ์กับหนังสือเป็นลักษณะของผู้ถูกกระทำแทบ 100% เรากำหนดความเร็ว – ช้าในการเสพข้อมูลไม่ได้ คุณกำหนดจังหวะในการอ่านไม่ได้ หรือเลือกที่จะอ้อยอิ่งอยู่กับฉากบรรยาย ก่อนอ่านหน้าต่อไปไม่ได้ เพราะเราไม่ได้เป็นคนกำหนด อำนาจอยู่กับคนที่อ่าน
ส่วนการอ่านในโซเชียลมีเดีย ผมเข้าใจว่าฟังก์ชันของการอ่านทวิตเตอร์หรือเฟซบุ๊กเป็นการคุยสั้นๆ และตอบโต้กัน เพราะโดยนิยามโซเชียลมีเดียเป็นสื่อสังคมที่ให้คนมาปฏิสัมพันธ์กัน เป็นการจำลองพื้นที่เสมือนให้เราเจอแล้วก็คุยกัน ขณะที่การอ่านนวนิยายเป็นกิจกรรมส่วนตัว จะพูดว่าเป็นการสนทนากับผู้เขียนผ่านตัวหนังสือก็พอจะได้ แต่ว่ามันไม่ได้เป็นการคุยโต้ตอบกันอย่างทันทีทันใด
การอ่านหนังสือด้วยตัวเอง คุณมีบทบาทเป็นผู้กระทำ 100% มีอำนาจและอิสรภาพในการรับข้อมูล คุณกำหนดจังหวะของการอ่านเอง คุณสามารถคิดโต้เถียงหรือเห็นแย้งในใจกับสิ่งที่คุณอ่านได้
การอ่านที่ตัวเรามีอิสรภาพและอำนาจ มันเป็นอย่างไร
จริงๆ แล้ว การอ่านเป็นทักษะที่ต้องฝึกฝนระดับหนึ่ง เพราะต้องอยู่กับหนังสือเล่มนั้นได้นาน มีสมาธิที่จะนั่งอ่าน ไม่วอกแวก แล้วค่อยๆ ตามเรื่องราวหรือข้อถกเถียงที่หนังสือนำเสนอ
ในการอ่านหนังสือ คุณเป็นคนกำหนดจังหวะและเวลาของการอ่านได้เอง จะอ้อยอิ่งอยู่กับข้อความใดข้อความหนึ่ง จะอ่านเร็วๆ นั่งคิด หรือโต้ตอบกับหนังสือได้ นี่คือสิ่งที่ผมเรียกว่าอิสรภาพ
ผมจึงคิดว่าการอ่านเป็นทักษะสำคัญเพื่อฝึกการคิดและโต้เถียงกับคนอื่น แต่พื้นฐานสังคมไทยไม่อยากให้คุณอ่าน เพราะไม่อยากให้คุณเถียง เขาอยากให้คุณฟังและทำตามมากกว่าอ่านและคิดโต้เถียง
ขณะเดียวกัน การอ่านในโรงเรียนเด็กก็ยังต้องอ่านหนังสือที่โรงเรียนบอกให้อ่านจนบางคนไม่ชอบการอ่านไปเลย อาจารย์มีความเห็นอย่างไร
เคยมีคนพูดว่า “ถ้าอยากให้เด็กไทยอ่านหนังสือ ต้องไม่บังคับให้เด็กอ่านหนังสือในโรงเรียน” เพราะโรงเรียนเป็นสถานที่ที่ทำให้เด็กเกลียดการอ่านหนังสือมากที่สุด แต่ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวหนังสือ ไม่ได้อยู่ที่การอ่าน แต่อยู่ที่วิธีการเรียนการสอนในระบบการศึกษาไทยที่ทำให้หนังสือและการอ่านเป็นเรื่องน่าเบื่อ หรือเป็นเรื่องที่มันไม่สอดคล้องชีวิตของนักเรียน
เรื่องหนังสือนอกเวลา เราคงต้องกลับมาทบทวนเกณฑ์การเลือกหนังสือว่า หนังสือแบบไหนที่เด็กควรอ่าน วันนี้หนังสืออ่านนอกเวลายังไม่ความหลากหลาย ไม่ตอบสนองหรือไม่ทันสมัยหรือเปล่า แต่ผมก็คิดว่าเด็กๆ ยังอ่านหนังสือ แค่ไม่ได้อยู่ในรายชื่อหนังสือที่โรงเรียนบังคับให้อ่าน เช่น อ่านการ์ตูนญี่ปุ่น การ์ตูนเกาหลี นิยายวาย ผมรู้สึกว่าเด็กๆ ยังอ่านหนังสืออยู่ มันไม่ได้ร้ายแรงถึงกับว่าพอถูกบังคับให้อ่านในห้องเรียน แล้วจะต้องเลิกอ่านไปเลย
ในฐานะอาจารย์สอนวิชาวรรณกรรม บรรยากาศแบบไหนที่ทำให้เด็กอยากอ่านและคิดว่าการอ่านไม่ใช่เรื่องน่าเบื่อ
ความจริงเรื่องนี้ ผมก็ยังไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไหร่ (หัวเราะ) ผมรู้สึกว่านักศึกษาไม่ค่อยตื่นเต้นในสิ่งที่ผมอยากให้เขาอ่าน แต่อย่างน้อยที่สุด ผมว่าการเปิดโอกาสให้เขาได้พูด โดยที่ไม่ต้องกังวลว่าจะผิดหรือถูก ได้แสดงทัศนะเกี่ยวกับสิ่งที่เขาอ่านจะช่วยให้บรรยากาศดีขึ้น และผมคิดว่าเป็นกิจกรรมที่ดี การได้อ่านและมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนอื่นๆ กับเพื่อน ทำให้เขารู้สึกว่า เออ…หนังสือเล่มเดียวกันให้คนอ่าน 5 คน ก็มีมุมมองต่างกันได้
แม้ว่าจุดเริ่มต้นจะมีแค่ตัวเราคนเดียวที่อ่าน แต่พออ่านจบ ผมคิดว่าคนจำนวนมากจะรู้สึกอยากจะคุยและแลกเปลี่ยนในสิ่งที่ตัวเองอ่านกับเพื่อนหรือคนรอบข้าง ซึ่งน่าจะก่อให้เกิดกิจกรรมต่างๆ ตามมาอีกหลายทาง
การอ่านหนังสือเป็นประสบการณ์แบบหนึ่งที่ไม่เหมือนประสบการณ์อื่น ถามว่าดีกว่านั่งอ่านทวิตเตอร์ทั้งวันไหม… ก็บอกไม่ได้ว่าอันไหนดีกว่ากัน เป็นประสบการณ์คนละแบบ ขึ้นอยู่กับว่าเราต้องลองดู ไม่ชอบก็ไม่เป็นไร เพราะคนเราไม่จำเป็นต้องชอบเหมือนกัน
การอ่านถูกทำให้เป็นของสูง เช่น บางคนพอได้ยินคำว่า ‘วรรณกรรม’ จะรู้สึกว่าเป็นเรื่องยากทันที ไปหาอ่านอะไรที่ง่ายๆ ดีกว่า อาจารย์คิดเห็นอย่างไร
ผมว่าทุกวันนี้หนังสือยังไม่ยากพอนะ (หัวเราะ) ส่วนตัวผมรู้สึกว่า ทำไมจะต้องอ่านแต่เรื่องง่ายๆ ซึ่งสิ่งพวกนี้มีอยู่เยอะในชีวิตเราแล้ว
ชีวิตเรามันมีแต่เรื่องง่ายๆ ไม่ได้ มันต้องมีหลายรสชาติ การอ่านหนังสือยากถือเป็นประสบการณ์ชนิดหนึ่งที่ผมคิดว่า เราสามารถสนุกกับมันได้ ความสนุกของคนไม่จำเป็นต้องเสพแต่เรื่องง่ายๆ
หนังสือที่อ่านความเข้าใจได้ยาก มันมีความสนุกเพราะจะทำให้คุณค่อยๆ ไล่เรียงสิ่งที่ผู้เขียนต้องการถ่ายทอด ได้คิดทบทวนว่าเขาพยายามจะสื่ออะไร เหมือนกับการปีนเขา ความสนุกของมัน คือ ระหว่างทางที่ทั้งยาก ชัน ลื่น ไหนจะมีสัตว์สารพัด ทั้งเห็บ ทากดูดเลือด แต่พอคุณไปถึงยอดเขา ได้มองภาพอันตระการตาโดยปราศจากสิ่งขวางกั้น ผมว่ามันเป็นประสบการณ์ของการเรียนรู้ที่น่าตื่นตาตื่นใจไปอีกแบบ
ผมคิดว่าเราไม่ควรไปปฏิเสธความยาก บางอย่างมันยากก็ต้องยาก ความยากเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์ โลกเราไม่ได้มีเรื่องง่ายๆ ตลอดเวลา มีเรื่องยากๆ ให้คุณต้องคิด ต้องตัดสินใจเสมอ จะทำแต่เรื่องง่ายๆ คงไม่ได้ เพราะเราไม่ได้จะเป็นเด็กกันไปชั่วชีวิต
เหมือนผมอ่านนวนิยายสมัยใหม่ที่คนพูดถึงกัน เรื่อง Ulysses ของ Joyce หนังสือพาเราเข้าไปในอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครที่คิดถึงหลายๆ เรื่องพร้อมๆ กัน เหมือนคนเรา ใน 1 นาทีเราคิดไม่รู้กี่สิบเรื่อง ซึ่งนวนิยายทำให้เราจับต้นชนปลายไม่ถูก ต้องค่อยๆ แกะไป ค่อยๆ อ่านทีละนิด บางครั้งต้องอ่านซ้ำหลายรอบถึงเข้าใจว่าหนังสือกำลังบอกอะไร
แต่พอเราอ่านไปสักพักเราจะเริ่มคุ้นกับจังหวะของการเล่าเรื่อง สนุกกับวิธีการที่เขาบรรยายสิ่งที่ตัวละครคิด ยิ่งเราอ่านแล้วเข้าใจ มันก็เป็นความปลื้มปิติว่า “โอ้โห คนเรามันจะคิดอะไรได้ขนาดนี้ ประเด็นที่เขาเสนอทำไมมันซับซ้อนได้ขนาดนี้” จะสนุกกับการอ่าน
ถ้าคุณลองรับมือกับเรื่องยากๆ ผ่านการอ่านหนังสือที่เข้าใจยากๆ ผมคิดว่าเป็นการฝึกฝนที่ดีในการเตรียมพร้อมรับมือกับความยากที่จะเกิดขึ้นในชีวิตจริง อย่าไปถือว่าเรื่องยากเป็นเรื่องน่าเบื่อเลย และผมว่าการอ่านหนังสือยากเป็นประสบการณ์ทางปัญญาแบบหนึ่งที่น่าสนใจ ถ้าคุณไม่ได้ลอง คุณอาจจะรู้สึกเสียใจนะ
ในมุมอาจารย์จะมองว่า ความสนุกของการทำเรื่องยากๆ คือทำให้มันสำเร็จ แต่จะมีคนบางกลุ่มที่ชอบพูดว่า ‘ทำให้ง่ายเข้าไว้’ อาจารย์คิดว่าเป็นเพราะอะไร
ผมคิดว่าโดยลึกๆ แล้วปรากฏการณ์ที่ต้องการทำทุกอย่างให้ง่ายเข้าไว้มีรากฐานมาจากสิ่งที่ผมขอเรียกว่ากระบวนการทำให้เป็นเด็กหรือ infantalization มันมีปัจจัยหลายอย่างประกอบกันที่ทำให้เกิดกระบวนการดังกล่าว
ในระดับปัจเจกหรือระดับครอบครัว คือ การเปลี่ยนแปลงของรูปแบบสังคมครอบครัวที่เป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น การมีลูกน้อยลง ทำให้ทั้งปู่ย่าตายายพ่อแม่ก็มาประคบประหงมเด็กมากขึ้น เกิดการเห่อเด็กและสปอยล์เด็ก ความเป็นเด็กกลายเรื่องบริสุทธิ์น่าเอ็นดู กลายเป็นสิ่งดีงาม
สมัยผมเด็กๆ จำได้ว่าเด็กๆ ส่วนใหญ่อยากโตเป็นผู้ใหญ่ไวๆ เพราะเป็นเด็กแล้วถูกห้ามไม่ให้ทำหลายสิ่งหลายอย่าง นอนดึกก็ไม่ได้ ออกไปเที่ยวนอกบ้านนานๆ ก็ไม่ได้ แต่ผมว่าสมัยนี้ผู้ใหญ่จำนวนมากพากันอยากทำตัวเป็นเด็ก น่ารัก น่าเอ็นดู ด้วยเหตุนี้หรือเปล่าที่สติปัญญาของพวกเขาก็เลยมีพอๆ กับเด็กไปด้วย อันเป็นที่มาของการเรียกร้องว่าต้องทำทุกอย่างให้ง่ายเข้าไว้
ถ้าพูดในภาพกว้าง การทำทุกอย่างให้ง่ายก็คือการมองคนเป็นเด็กตลอดเวลา ในมุมของรัฐก็ย่อมเป็นสิ่งพึงปรารถนา เพราะรัฐย่อมต้องการให้พลเมืองเป็นคนว่านอนสอนง่าย ไม่หือ ไม่อือ ก้มหน้าก้มตาทำตามคำสั่งท่าเดียว
ถ้ามองในแง่ของวัฒนธรรมมหาชนนิยม เป็นเรื่องปกติที่ทุกอย่างต้องง่ายเพื่อให้คนจำนวนมากที่สุดเสพได้ สื่อมวลชนโดยเฉพาะสื่อกระแสหลักหรือโซเชียลมีเดียเอง จึงเรียกร้องให้นำเสนอแต่เรื่องง่ายๆ เพื่อจะได้เข้าถึงคนหมู่มากที่สุด ผมก็เข้าใจนะว่า ถ้าสื่อสร้างพื้นที่ที่มีแต่เรื่องเข้าใจยาก คนอ่านน้อย ลูกค้าหรือสปอนเซอร์ก็ย่อมไม่อยากลงโฆษณา หรือยอดดูยอดกดไลก์น้อยก็ไม่ได้รับส่วนแบ่งค่าโฆษณา
แต่คนที่สนใจเรื่องยากๆ ก็มีนะ มีการสร้างพื้นที่แบบนี้อยู่ เพียงแต่อาจจะไม่ได้อยู่ในกระแสหลัก ตัวอย่างเช่น วารสาร ‘อ่าน’ ที่ผมเคยไปเขียนบทความให้เขา ก็เป็นวารสารที่ค่อนข้างเฉพาะกลุ่ม เพราะเขาประกาศเลยว่าจะลงแต่คอนเทนต์ประเด็นหนักๆ เท่านั้น ก็ปรากฏว่ามีเสียงตอบรับพอสมควร เพราะยังมีคนกลุ่มที่รู้สึกว่าการอ่านเรื่องยากๆ ทำให้เขาได้รับประสบการณ์ที่แปลกไปจากเดิม ปัญหาพื้นที่แบบนี้ไม่ค่อยได้รับการสนับสนุนให้มีอยู่ในสังคมไทย
ปัญหาอาจอยู่ที่สังคมเราไม่ค่อยเปิดพื้นที่ให้กับความหลากหลาย เลยไม่สามารถทำให้กลุ่มที่มีลักษณะเฉพาะตัว เลือกจะมีวิถีชีวิตหรือวัฒนธรรมอีกแบบหนึ่งได้อยู่ได้ และอย่างสงบสุข ถ้าเราเทียบกับสังคมอื่น อย่างเช่น สังคมอเมริกา เขาจะมีคนเฉพาะกลุ่มเยอะมาก ถ้าคุณเป็นวีแกน คุณก็มีพื้นที่ มีชุมชนของคุณ ขณะที่ของไทยยังเป็นเรื่องที่ลำบาก
อาจารย์เคยให้สัมภาษณ์ว่า วรรณกรรมเป็นที่พักพิงทางความคิด อารมณ์ และความรู้สึกของอาจารย์ อาจารย์คิดว่ามีวิธีไหนไหมที่จะทำให้คนรุ่นใหม่รู้สึกแบบเดียวกัน
ผมว่าทุกวันนี้ คนรุ่นใหม่น่าจะหนีไปอยู่ในหนังสือกันเยอะนะ เพราะสังคมรอบตัวมันอึดอัดคับข้องไปหมด ทุกชีวิตที่อยู่รอบตัวเราไม่มีคำอธิบาย มีแต่ความคับข้องใจ จนเรารู้สึกว่าตัวเองด้อยค่าไร้อำนาจโดยสิ้นเชิง
สำหรับผม วรรณกรรมเป็นโลกที่ผมหนีจากโลกความเป็นจริงอันน่าคับข้องใจไปอยู่ในนั้น ผมรู้สึกว่าโลกของวรรณกรรมเป็นโลกที่เรารู้สึกมีอำนาจ เพราะเราเป็นคนอ่าน เรารู้มากกว่าตัวละครในเรื่องเสียอีก ทุกอย่างมีคำอธิบาย ทำไมตัวละครนี้ต้องฆ่าคน ถ้าเราอ่านก็จะเข้าใจว่ามีปัจจัยที่ทำให้เขาต้องทำสิ่งนี้ หรือแม้แต่ตัวละครที่ท้ายที่สุดต้องลงเอยด้วยโศกนาฏกรรม ก็ยังมีที่มาที่ไป แต่โลกของความเป็นจริงสำหรับผม มันเป็นโลกที่ไม่มีคำอธิบายอะไรเลย ทำไมคนคนหนึ่งถึงจะต้องประสบกับชะตากรรมแบบนี้
ความจริงถ้าโลกที่ผมอยู่มันมีเหตุผลสักหน่อย หรือว่าทุกอย่างมันมีความหวังสักนิด คนเราก็คงไม่ต้องไปอยู่ในโลกวรรณกรรมหรอก
จากจำนวนหนังสือที่อาจารย์เคยอ่านมาทั้งหมด อาจารย์คิดว่ามันส่งผลต่อความเป็นอาจารย์ ในวันนี้อย่างไรบ้าง
ที่แน่ๆ กระเป๋าเงินผมแฟบลงพอสมควร (หัวเราะ)
การอ่านหนังสือมันเป็นการเปิดโลก เปิดประสบการณ์ให้เรา บางทีประสบการณ์บางอย่าง เราไม่จำเป็นต้องไปรู้ด้วยตัวเอง เราอาศัยหนังสือเป็นตัวชดเชย หรือทดแทนประสบการณ์ได้ เหมือนกับเที่ยวทิพย์ในยุคโควิด คุณอยากไปทิเบตตอนนี้แต่ไปไม่ได้ คุณก็อ่านหนังสือคนที่ไปเที่ยวทิเบตแทน
หนังสือหลายเล่มของผมก็ช่วยเปิดประสบการณ์ในลักษณะแบบนั้น ทำให้เราได้เรียนรู้มิติของชีวิตที่หลากหลายจากตัวละคร วรรณกรรมมันสร้างประสบการณ์เทียมชนิดหนึ่งขึ้นมา ทำให้เราสามารถเห็นว่าตัวละครแต่ละคนจัดการกับสถานการณ์เหล่านั้นยังไงบ้าง
แต่ปัญหาอย่างหนึ่งของการอ่านหนังสือ มีคนจำนวนมากที่อ่านหนังสือไม่ใช่เพื่อเปิดรับความเชื่อใหม่ หรือประสบการณ์ใหม่ แต่เพื่อยืนยันความเชื่อหรือประสบการณ์เดิมตัวเองมากกว่า จะว่าไปนี่เป็นเรื่องปกติของกระบวนการการเรียนรู้ เวลาเราพบอะไรใหม่ๆ ก็มักเอามาเทียบกับสิ่งที่เรารู้อยู่แล้ว เราเลยมีแนวโน้มที่เวลาเจอสิ่งใหม่ๆ จะเทียบกับของเดิม
ประเด็นสำคัญคือเมื่อเทียบกับสิ่งที่รู้อยู่แล้ว เราต้องพร้อมจะปรับแก้ความรู้เดิมของเรา หากพบว่าสิ่งใหม่ที่เข้ามาแตกต่างหรือหักล้างสิ่งที่เราเคยรู้ ปัญหาก็คือคนจำนวนไม่น้อยไม่พร้อมจะปรับเปลี่ยนความรู้เดิมที่มี แต่เลือกวิธีปฏิเสธหรือปิดกั้นความรู้ใหม่ ถ้าเป็นแบบนี้ต่อให้อ่านหนังสือนับร้อยนับพันเล่มก็ไม่ช่วยให้เกิดการเรียนรู้อะไรใหม่ๆ
ถ้าต้องติดเกาะแล้วให้อาจารย์เลือกหนังสือไปได้แค่เล่มเดียว อาจารย์จะเลือกเรื่องอะไร
(นิ่งคิด) ตอบยากเพราะผมก็ไม่เคยอยู่ในสถานการณ์แบบนั้น แล้วในความเป็นจริงเราคงไม่อยู่ในสถานการณ์ที่เหลือหนังสือเล่มเดียวให้เลือก เลยตอบไม่ได้จริงๆ
แต่มีคำตอบหนึ่งที่แวบเข้ามาในหัว คือ ผมคงไม่เอาหนังสืออะไรไปเลย ผมขอแค่สมุดกับปากกาเพื่อที่จะไปเขียนหนังสือขึ้นมา เป็นวิธีที่เราสามารถสร้างหนังสือหลายๆ เล่มที่อยู่ในความทรงจำเราขึ้นมาใหม่ ถ้าหยิบไปเล่มเดียวก็จะไม่มีโอกาสได้อ่านเล่มอื่น แต่ถ้าให้ผมไปรื้อฟื้นจากความทรงจำตัวเองก็อาจจะได้หลายเล่ม ผมเป็นคนโลภมาก (หัวเราะ)