‘ครูก้า’ กรองทอง บุญประคอง ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กและผู้ก่อตั้ง โรงเรียนจิตตเมตต์ (ปฐมวัย) บอกว่า สำหรับเด็กเล็กการปีนต้นไม้คือแบบฝึกหัดที่ดีที่สุด
“ถ้าเด็กปีนต้นไม้ด้วยความไว้วางใจจากผู้ใหญ่ อันนี้วงเล็บไว้ก่อนว่าเป็นเรื่องยาก คือทุกวันนี้เราไม่ค่อยวางใจ ไม่ค่อยเชื่อใจเด็ก ไม่ยอมให้เขามีประสบการณ์ไม่ว่าจะเป็นการลองผิดหรือลองถูกก็แล้วแต่ มันเลยทำให้เด็กขาดโอกาสในการเล่น และขาดโอกาสในการเรียนรู้”
แต่ถ้าเด็กได้ปีน เป้าหมายแรกของเขาคือการปีนให้ได้สูง ถ้าข้างบนมีมะม่วงรออยู่สักลูกสองลูกจะดีมาก
“เราจะมีเป้าหมายที่เล็งไว้แล้ว ฉันจะต้องไปถึงเจ้ามะม่วงที่หัวเหลืองๆ ให้ได้ นี่คือเด็กรู้จักตั้งเป้าหมายให้กับตัวเอง”
แต่พอจะขึ้น เด็กต้องประเมินตัวเองว่าไหวไหม ถ้าไหว เด็กจะกล้าริเริ่ม ลงมือทำตามที่คิดและตั้งเป้าหมายไว้
“พลังมหาศาลเลยนะ”
พอลงมือปีนขึ้นไป เด็กๆ จะได้ใช้พละกำลัง ทุกส่วนของร่างกาย แต่ระหว่างทางกลับเจอว่ายังมีอีกหลายกิ่งหลายทาง ต้องเลือกแล้วล่ะว่าจะไปทางไหนดี
“ขาเราเท่านี้แขนเราเท่านี้ พละกำลังเราเท่านี้ กับไม้กิ่งนี้ บางกิ่งมันอาจจะเล็กเกินไป หักไหมนะ เราเกิดการคิดวิเคราะห์ไตร่ตรองสถานการณ์ตรงหน้าด้วยตัวของเราเอง และในที่สุด เราก็ไปจนถึงมะม่วงลูกนั้นได้”
yes! ฉันทำได้ – นี่คือการค้นพบความสามารถของตนเองของเด็กๆ
การได้ทำตามเป้าหมายของตัวเองจนสำเร็จ ครูก้าบอกว่า self จะมาทันที
“มีโดยไม่จำเป็นต้องมีใครมากดไลค์ กดไลค์ตัวเองได้เลย นี่คือการประเมินตัวเองแล้ว แม้กระทั่งชมตัวเองก็ได้ ดุตัวเองก็ได้ หรือตัดสินใจเอาการประเมินตัวเองไปทำอะไรอย่างอื่นก็ได้ มันกำลังเหมาะสมพอดีๆ กับตัวเองโดยที่ไม่ต้องมีใครบอก”
self และการดูแลตัวเองได้ คือสิ่งที่ผู้ใหญ่อยากให้เกิดขึ้นในตัวเด็กไม่ใช่เหรอ? ครูก้าถามกลับ
“ถ้าเด็กดูแลตัวเองได้แบบนี้ พ่อแม่นอนตายตาหลับแล้วล่ะ แต่เรานอนเหมือนตายตาไม่หลับตั้งแต่ยังไม่ตาย เพราะเราไม่เชื่อเขา ไม่ยอมให้เขาพิสูจน์ความสามารถของเขาด้วยตัวเอง เพราะเรากลัวเขาตก แล้วเขาจะดูแลตัวเองได้อย่างไรถ้าไม่มีเรา”
สำหรับครูก้า นี่คือแบบฝึกหัดที่จะบอกว่ายากแค่ไหนฉันก็จะผ่านไปได้
“เด็กจะเก็บประสบการณ์นี้ไปทำอย่างอื่นต่อ แม้กระทั่งโตขึ้น อาจจะต้องทำงาน ทำธุรกิจ หรือทำอะไรก็แล้วแต่ที่จะต้องผ่านสิ่งยากๆ ประสบการณ์ตรงนี้จะบอกเขาเอง เขาจะให้กำลังใจตัวเอง ชมตัวเองก็ได้ว่า เฮ้ย จริงๆ เรามันเจ๋งไม่เบานะ กลัวอะไร ไม่มีอะไรยากหรอก เราเคยผ่านมาแล้วทั้งนั้น อุปสรรคเยอะๆ เราก็ผ่านมาแล้วทั้งนั้น”
ทั้งนี้ทั้งนั้น เขาจะปีนได้ก็ต่อเมื่อพ่อแม่ไว้วางใจ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ลูกรู้สึกมีตัวตน
“พ่อแม่วางใจ ลูกก็จะรู้สึกดีกับตัวเอง พร้อมๆ กับ…บางทีอาจจะไม่รู้สึกในตอนเด็กก็ได้ แต่อาจจะมารู้สึกตอนโตว่า ขอบคุณพ่อแม่ที่ไว้ใจฉัน ทำให้ฉันมีประสบการณ์มาจนทุกวันนี้”
“การวางใจของพ่อแม่ทำให้เด็กวางใจตัวเอง เด็กรู้สึกว่าเขามีตัวตน จากที่เรายอมรับในความคิดความรู้สึกของเขา ยอมรับที่เขาเป็นเขา มันไม่ใช่ว่าเราวางใจแบบวางทิ้งจนเขา แต่…เอาเลยลูก แม่เชื่อว่าหนูทำได้ แม่เชื่อฉัน แสดงว่าฉันได้รับการยอมรับว่าฉันมีความสามารถ แม่เห็นว่าฉันมีความสามารถ แม่ยอมให้ฉันทำมันได้ด้วยตัวเอง แล้วทำไมฉันจะไม่เห็น แล้วเราก็จะรักแม่มาก”
ถ้าลูกปีนต้นไม้ โดยพ่อแม่คอยเป็นห่วงอยู่ใกล้ๆ
ในทางกลับกันถ้าพ่อแม่อยู่ใกล้ๆ เพราะกลัวเกิดอะไรขึ้น เช่น ลูกตกลงมา ครูก้าบอกว่า ผลลัพธ์อาจตรงกันข้าม
“ได้ยินเขาว่าปีนต้นไม้ดี อะ ฝืนใจ เอาลูกไปปีนต้นไม้ แล้วก็เชียร์อัพลูกด้วย ‘เอาเลยลูก ขึ้นเลย ไม่ยาก ไม่เห็นยาก ใครๆ ก็ทำได้’ โห นี่ยังไม่ทันให้เขาประเมินเลยว่าวันนี้จะเอาประมาณไหนดี”
ถ้าแม่บอกว่า “ขึ้นไปถึงนู่น ไม่มีอะไรยาก นั่น เพื่อนก็ทำได้ เห็นไหม”
ลูกอาจใจสั่น ไม่เชื่อว่าตัวเองปีนได้ แต่แม่บอกว่าทำได้ อะ งั้นลอง แต่ลองด้วยใจที่เก้ๆ กังๆ
พอกำลังจะลอง แม่หรือพ่อก็ตะโกนว่า “จับแน่นๆ นะลูก”
คำว่าจับแน่นๆ สำหรับเด็กเล็ก ให้ความรู้สึกว่า มันช่างน่ากลัว มือก็สั่น ใจก็สั่น แล้วตกลงในที่สุดจะขึ้นยังไง ฝั่งแม่เองก็เริ่มเอาความเป็นห่วงปีนตามสิ่งที่ลูกกำลังทำอยู่
“ไหวไหมลูก อะ งั้นพ่อช่วยยกขาขึ้นให้”
ประโยคนี้ อาจทำให้ลูกคิดว่า เรายกขาขึ้นเองไม่ได้เหรอ ต้องมีพ่อคอบยกให้
“เราเห็นความรัก ความห่วงใยนะ แต่ทำลาย self ขณะเล่นของเด็ก ในที่สุด วันหลังพอลูกจะปีนต้นไม้เองจะมองหา พ่ออยู่ไหน พ่อช่วยหน่อย หนูอยากปีนต้นไม้แต่หนูปีนเองไม่ได้ นี่คือเรื่องที่เราพบบ่อยมาก”
แล้วเด็กจะสับสนระหว่างต้องการความรักจากพ่อแม่กับไม่อยากให้พ่อแม่อยู่ใกล้” ครูก้าทิ้งท้าย