ท้อฟฟี่ แบรดชอว์

คำพูดต้องไม่ใช่อากาศธาตุ ถ้าเด็กรู้สึกมีคุณค่า เขาจะกล้าสื่อสาร

  • คนมักจะบอกว่าการกระทำสำคัญกว่าคำพูด แต่อย่าลืมว่าเก่งแค่ไหนก็ตาม ถ้าคุณสื่อสารไม่เป็นคุณก็จะไม่เก่งเลย คุณต้องใช้เครื่องมือที่เรียกว่าการสื่อสารเป็นอาวุธให้ประสบความสำเร็จได้
  • ถ้าการสื่อสารคือการส่งต่อเรื่องราวไปพร้อมกับวัตถุประสงค์ ‘วิธีการสื่อสาร’ ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ จึงไม่ใช่เรื่องง่าย
  • empathy ทำให้เราเข้าใจความรู้สึกของคนอื่น อาจช่วยคลี่คลายปัญหาเวลาต้องสื่อสารบนภาวะขัดแย้งได้

การสื่อสารคือสิ่งสำคัญที่จะทำให้มนุษย์มีชีวิตรอด

แต่ถ้าพูดไม่เก่ง ขี้อาย พูดจาตะกุกตะกัก ไม่รู้จะเรียบเรียงสิ่งที่อยู่ในหัวออกมาอย่างไร – จะทำยังไงดี

เวลาพูดถึงการสื่อสาร สิ่งแรกที่มักจะนึกถึงคือคนที่มีบุคลิกช่างพูดช่างเจรจา แต่เมื่อเวลาผ่านไปสิ่งที่ ชญาน์ทัต วงศ์มณี หรือ ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ นักเขียน พิธีกร นักพูด ตกตะกอนได้คือ การเป็นคนพูดเก่ง-พูดเยอะ-พูดน้ำไหลไฟดับไม่ได้การันตีหมายความว่าเขาจะเป็น นักสื่อสารที่ดี

คุยกับ ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ ในประเด็นการสื่อสาร โดยเฉพาะการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเติบโตไปเป็นนักสื่อสารที่ดีได้ ไม่ว่าจะในบ้านหรือห้องเรียน 

การสื่อสาร เริ่มต้นจากการศึกษา

ย้อนไปสมัยเรียน ท้อฟฟี่เคยเป็นเด็กสายวิทย์-คณิต ที่หัวใจฝักใฝ่ฝั่งศิลป์ ทว่าการตัดสินใจเลือกเรียนในสายที่ตนเองไม่ถนัดนั้นเป็นจุดเริ่มต้นทำให้เขาค้นเจอปัญหาที่สะท้อนว่าการศึกษาขาดการสื่อสารที่เชื่อมโยงกับเด็ก

“เราเคยอยู่กับวิชาฟิสิกส์ โจทย์เรื่องการโยนหิน ยิงกระสุน ฯลฯ คำถามที่มีตอนนั้นคือ เราเรียนเรื่องนี้กันทำไม แน่นอนว่ามันอาจจะมีประโยชน์ในทางใดสักทางหนึ่ง ซึ่งกลับกัน จะดีกว่าไหมถ้าเราเข้าใจเนื้อหาว่าสิ่งที่กำลังเรียนอยู่นำไปสู่อะไร ทำไมการศึกษาถึงไม่สื่อสารตรงนี้ออกมาทำให้เราเห็นภาพ เพราะมันจะสร้างความตื่นเต้นให้ผู้เรียนได้มากกว่า”

ท้อฟฟี่เล่าว่าถ้าการศึกษาสื่อสารและสามารถจุดประกายให้เด็กๆ ได้ตั้งแต่ตอนเรียน ตัวเขาคงเป็นเด็กนักเรียนที่มีความสุขและรู้สึกว่าการเรียนสนุกกว่านี้

“เราจำได้วิชาชีววิทยา เราต้องท่องชื่อไฟลัมต่างๆ เพื่อไปสอบ ทั้งที่หัวใจหลักของมันคือการทำให้เราตื่นเต้นกับสิ่งมีชีวิตรอบตัว วิชานี้จะช่วยเชื่อมโยงทำให้เรามองเห็นว่าเราไม่ใช่สิ่งมีชีวิตเดียวในโลกนะ เราไม่ได้เดียวดาย โลกนี้มันน่าสำรวจเพราะมีอะไรอยู่เต็มไปหมด”

ในเมื่อการศึกษาไม่สามารถตอบคำถามในใจของท้อฟฟี่ได้ว่า ‘เรียนเรื่องพวกนี้ไปเพื่ออะไร’ ความสับสนจึงเกิดขึ้น เขาเล่าว่าตอนนั้นรู้สึกเหมือนตัวเองยืนอยู่ตรงกลางระหว่างทางแยกของถนน 2 เส้น

“ในยุคนั้นเราไม่ได้รู้ขนาดนี้ว่าโลกนี้มีอาชีพเต็มไปหมดเลย อาชีพที่เรารู้มีแค่หมอ วิศวกร ครู สาเหตุที่ต้องมาเรียนวิทย์เพราะตอบตัวเองไม่ได้ว่าเรียนศิลป์แล้วทำอาชีพอะไร เหมือนถนนที่คุณต้องเลือก ถ้าเลือกแล้วจะหันหลังกลับไม่ได้อีกแล้วนะ ซึ่งในชีวิตคนจริงๆ มันไม่ใช่ มนุษย์แต่ละคนก็มีส่วนผสมที่ประหลาด หลากหลาย และไม่เหมือนใคร เราไม่ควรจำกัดอยู่แค่ถนนเส้นใดเส้นหนึ่ง

“เรามองว่าความรู้สึกนี้ทำให้คุณค่าการศึกษาถูกลดทอนไป ทุกอย่างมันไปผูกกับเรียนจบทำอาชีพอะไร มันไม่ใช่ไง ที่จริงแล้วจะต้องมีส่วนผสมที่หลากหลายเต็มไปหมด การศึกษาควรช่วยทำให้เราค้นพบสิ่งที่มั่นใจ สิ่งที่เราถนัด ในขณะเดียวกันเราควรที่จะมีความรู้เรื่องอื่นๆ ที่กว้างขวาง เพราะในโลกการทำงานจริงเราไม่ได้ใช้แค่วิชาใดวิชาหนึ่ง ไม่ใช่แค่ว่าจบหมอก็มีความรู้เกี่ยวกับหมออย่างเดียว คุณจบนิเทศศาสตร์คุณก็สื่อสารได้อย่างเดียว มันคือเรื่องของการหาส่วนผสมที่ประหลาดให้มันเป็นส่วนผสมที่ไม่เหมือนใคร” ท้อฟฟี่บอก

จากนักเรียนที่เคยเป็นอากาศธาตุ สู่นักเรียนการสื่อสาร

ท้อฟฟี่เล่าว่าสมัยมัธยมเขาเคยเป็นเด็กที่ไม่มีความสุข เขากลายเป็นอากาศธาตุของอาจารย์เพียงเพราะเรียนไม่เก่ง

“ก่อนเลือกสายการเรียน เราเคยเป็นเด็กเรียนเก่งที่ได้เกรด 4 ตอนนั้นทุกคนสนใจเรา เรารู้สึกมงลงตลอดเวลา แต่วันที่เริ่มรู้สึกอึดอัดกับเนื้อหาที่ไม่ใช่ตัวเอง วันที่เราไม่มีมงกุฎอีกแล้ว เราเปลี่ยนสถานะไปเป็นเด็กที่เรียนไม่เก่ง เฮ้ย ทำไมเรากลายเป็นเด็กที่ไม่มีความหมายเลย ไม่มีใครมองเห็นเราเลย”

ความรู้สึกขมุกขมัวที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น ทำให้ท้อฟฟี่มีความเข้าใจเด็กๆ ปัจจุบันที่เผชิญปัญหาเช่นเดียวกันกับเขา

“เวลากลายเป็นอากาศธาตุ เราเชื่อว่าทุกคนก็อยากให้มีแสงอะไรบางอย่างส่องมาที่ตัวเอง ทำให้รู้ว่าฉันเก่งในแบบของฉัน ถึงแม้ฉันไม่ได้ไม่เก่งและฉันไม่ได้ไม่มีความหมายแบบที่อาจารย์รู้สึกก็ตาม

“เราจำได้ว่าช่วงเวลาที่รู้สึกไม่มีค่าหรือช่วงเวลาที่เรานั่งเรียน เราชอบนั่งแต่งกลอนลงในสมุดฟิสิกส์ นั่งแต่งกลอนว่าวันนี้เบื่ออะไร นั่งแต่งกลอนว่าเพื่อนคนนี้ทำอะไรอยู่ แล้วเราก็พบว่านี่คือความสุขเดียวในห้องที่น่าเบื่อ นั่นแปลว่าการเขียนหรือการสื่อสารคือสิ่งที่เราโหยหา และเราก็เริ่มค้นพบว่าสิ่งนี้มันคือความสุขของเราจริงๆ”

รางวัลจากการแต่งกลอนและการเขียนเรียงความวันแม่ของท้อฟฟี่ ช่วยเติมเต็มความรู้สึกในใจอย่างมาก เขาบอกว่าโมเมนต์นั้นจุดประกายทำให้ตัวเองค้นพบว่าถึงแม้จะยืนอยู่บนถนนที่ตัวเองไม่เก่ง ไม่ถนัด ไม่ได้แปลว่าเราห่วยทั้งชีวิต ทุกคนมีพื้นที่เป็นของตัวเอง และการศึกษาควรเปิดช่องทางทำให้เด็กทุกคนทดลองและค้นหาพื้นที่ที่เหมาะสม เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของตัวเองมากกว่าการหยิบยื่นเส้นทางใดเส้นทางหนึ่ง โดยที่ไม่มีโอกาสได้เลือกเอง

เมื่อเริ่มค้นพบสิ่งที่เหมาะกับตัวเอง ท้อฟฟี่ไม่ลังเล เขามุ่งมั่นอย่างมั่นใจในการเลือกศึกษาต่อในคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเลือกเรียนในสาขาหนังสือพิมพ์และสิ่งพิมพ์ ตามความสนใจของตัวเอง

“ช่วงเวลานั้นสนุกมากกกกกก” ท้อฟฟี่บอก

ระหว่างทางท้อฟฟี่ได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ รวมถึงทำความเข้าใจกับคำว่าการสื่อสารอย่างแท้จริง

“การสื่อสารคือการส่งต่อเรื่องราวบางอย่างไปพร้อมกับวัตถุประสงค์บางอย่างให้อีกฝ่ายหนึ่ง โดยวัตถุประสงค์จะบรรลุหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่ว่าเราทำให้ ‘วิธีการสื่อสาร’ เป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือเปล่า ซึ่งอาศัยหลายปัจจัย ทั้งคนส่งสาร คนรับสาร สภาพแวดล้อมและสารที่ส่งไปเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นการสื่อสารที่ตอบวัตถุประสงค์ จึงไม่ใช่เรื่องง่าย”

ดังนั้นสิ่งที่เขาได้เรียนรู้กับตัวเองอย่างหนึ่งหลังกระโดดเข้ามาในถนนนักสื่อสารคือเมื่อใดก็ตามที่เริ่มนิยามตัวเองว่าเป็นอะไรสักอย่างหนึ่ง อย่าคิดว่าเราจะทำสิ่งนั้นได้อย่างเดียว เพราะเมื่อเขาได้มีโอกาสทำงานสื่อสารไม่ว่าจะเป็น การเขียนหนังสือ รายการพอดแคสต์ พิธีกร public speaker ท้อฟฟี่ค้นพบว่าการเป็นนักสื่อสารที่ดีคือคนที่พร้อมจะลองและเรียนรู้ศาสตร์อีกหลายอย่างโดยที่ไม่กลัวผิดพลาด

คำว่า ‘นัก’หมายถึงการทำสิ่งนั้นจนเชี่ยวชาญ รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร ถ้าบวกความรับผิดชอบเข้าไปเราจะเป็นนักสื่อสารที่ดีได้ ดังนั้นเวลาท้อฟฟี่ผลิตเนื้อหาขึ้นมาสักชิ้น สิ่งที่เขาคำนึงสูงสุดนั่นคือประโยชน์ที่คนอ่านจะได้รับ

“เราชอบเปรียบว่าการสื่อสารมันเหมือนกับการมีไม้ขีดไฟอันหนึ่ง เราจะโยนให้มันเป็นระเบิดให้เผาไหม้ไปหมดเลยก็ได้ หรือจะใช้เป็นไม้ขีดที่จุดแสงสว่าง อยู่ที่ว่าเราจะใช้ไม้ขีดนั้นไปทำอะไร”

และเมื่อปักธงปลายทางของการสื่อสารอยู่ที่ผู้รับสาร สิ่งหนึ่งที่ผลักดันทำให้ท้อฟฟี่ทำต่อนั่นคือการลงมือ ลงแรง ค้นคว้าเนื้อหาและข้อมูลต่างๆ นำมาย่อยให้ผู้รับสารได้สิ่งที่ดีที่สุด

“ท่ามกลางโลกโซเชียลที่วุ่นวาย อย่างน้อยเราขอเป็นพื้นที่เล็กๆ เป็นพื้นที่เชิงสร้างสรรค์ เรารู้สึกว่าแต่ละบรรทัด แต่ละย่อหน้าเหมือนกับการเดินทางที่พาคนอ่านแวะเวียนไปเจอสิ่งต่างๆ เป็น journey การเดินทางผ่านตัวอักษร ซึ่งมาตรวัดของเราคือคนอ่านได้รับประโยชน์และนำเสนอเรื่องที่อยู่ในใจเขา ไม่ใช่ยอดไลค์” ท้อฟฟี่บอก

นักสื่อสารคือเป็ดที่แข็งแรง

“พอเราเรียนวารสารศาสตร์เราก็จะได้ยินคำว่า ใครๆ ก็เป็นนักสื่อสารได้ ใครๆ ก็ทำได้ แต่ทุกคนไม่สามารถที่จะเป็นนักสื่อสารที่ดีได้”

ท้อฟฟี่ยกตัวอย่างคำเปรียบเปรยหนึ่งที่มักค่อนขอดนักนิเทศศาสตร์ว่าเป็น ‘เป็ด’ ซึ่งหมายถึงคนที่ทำอะไรได้หลายอย่าง แต่ไม่เก่งสักอย่าง มีความครึ่งๆ กลางๆ เช่น ภาษาไม่ดีเหมือนคนเรียนอักษรศาสตร์ ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ สังคม การเมืองไม่แน่นเหมือนคนที่เรียนการตลาดหรือรัฐศาสตร์

ทว่าเขากลับไม่เคยมีความรู้สึกลบต่อคำว่า ‘เป็ด’ เลยสักครั้ง หนำซ้ำเขายังมองว่าการเป็นเป็ดเป็นเรื่องที่น่ายินดีมาก เพราะเป็ดคือ survival ตัวจริง

“การมองว่าเราเป็นเป็ดมันอยู่ที่ว่าเราคิดว่าเราเป็นเป็ดแบบไหน ถ้ามองว่าเราเป็นเป็ดที่ไม่เก่งอะไรสักอย่างมันจะพาเราไปสู่เส้นทางอีกสายหนึ่งที่เต็มไปด้วยความรู้สึกว่าฉันไม่เก่งอะไรเลย หรือเป็นเป็ดอีกแบบที่มองว่าฉันทำอะไรได้ตั้งหลายอย่างนะ ฉันถึงอยู่รอดมาได้ขนาดนี้

“หากเปรียบเทียบกับมนุษย์ เราไม่จำเป็นต้องเกิดมาเพื่อบินได้อย่างเดียว บินก็บินได้ ว่ายน้ำก็ทำได้ วิ่งก็ทำได้ ทำได้หมดขอแค่ได้ลอง และให้อภัยตัวเองถ้ารู้สึกเฟล ผิดพลาด และทำไม่สำเร็จ แต่การจำกัดตัวเองอยู่แค่ด้านใดด้านหนึ่งมันอันตราย สำหรับเราการหล่อเลี้ยงตัวเองให้อยู่ระหว่างความเก่งกับความไม่เก่งเป็นวิธีคิดหรือวิธีการใช้ชีวิตที่ดี เพราะทำให้เราอยู่บนความรู้สึกตลอดเวลา”

คุณค่าจากครอบครัว ช่วยให้ลูกเป็นนักสื่อสารที่ดี

ในยุคที่เทคโนโลยีซับซ้อนมากขึ้น การสื่อสารไม่ใช่แค่ face to face อีกต่อไปแล้ว ท้อฟฟี่บอกว่าโซเชียลมีเดียทำให้การสื่อสารเป็นชนวนระเบิดที่พร้อมเป็นแสงสว่างให้กับโลกอยู่เสมอ แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม สิ่งที่เทคโนโลยียังทำแทนมนุษย์ไม่ได้คือการสื่อสารที่ใช้ความรู้สึกคุยกันและนี่คือฐานที่มั่นที่มนุษย์ยังสามารถยืนหยัดได้อยู่

จริงๆ การสื่อสารไม่ใช่แค่อาศัยทักษะใดทักษะหนึ่งแต่ต้องการสิ่งแวดล้อมที่จะปลูกฝังให้เด็กเป็นนักสื่อสารที่ดี ทำให้เด็กมีคุณค่า

“เพราะถ้าเด็กรู้สึกมีคุณค่าเขาจะกล้าพูด กล้าแสดงออกในสิ่งที่เขาคิด เพราะว่าสิ่งที่เขาคิดหรือแสดงออกไม่ได้มีคนมาดูถูก และที่สำคัญเมื่อเด็กรู้สึกมีคุณค่า มีความหมาย เขาจะเอาความรู้สึกเหล่านี้ไปใช้กับคนอื่นด้วย เวลาที่เขาสื่อสารเขาเคารพคนอื่น เขามองเห็นความสำคัญในการดูแลความรู้สึกของผู้ฟัง”

เมื่อเด็กรู้สึกว่าตัวเองและคนอื่นมีคุณค่า เขาจะไม่รู้สึกว่าเสียงของตัวเองเบา และความรู้สึกที่ว่า ‘พูดไปอย่างไปนั้น’ หรือ ‘พูดๆ ไปเถอะ เพราะอย่างไรเสียก็ไม่มีใครฟัง’ จะไม่เกิดขึ้น ดังนั้นสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการให้คุณค่ากับเด็กจะค่อยๆ สะสมและมีส่วนช่วยให้เด็กเติบโตเป็นนักสื่อสารที่สามารถอ่านความรู้สึกของผู้อื่น สัมผัสถึงความอ่อนไหวในตัวเองและผู้อื่นได้ในที่สุด

บนภาวะขัดแย้ง เกิดการสื่อสารที่ Healthy ได้!

สำหรับท้อฟฟี่ ‘เจตนา’ คือสิ่งสำคัญสำหรับการสื่อสารบนภาวะที่ขัดแย้ง

‘เรามาดี’ เป็นวิธีคิดที่เขาใช้เป็นตัวตั้งต้นเมื่อเริ่มสื่อสาร ไม่ว่าจะเขียนบทความ เขียนหนังสือ หรือขึ้นพูดบนเวทีต่างๆ

“เราไม่ได้เริ่มสื่อสารด้วยความรู้สึกที่ว่าอยากให้คนฟังรู้สึกย่อยยับไป เจตนาของเราดี เวลาเราสื่อสารกับคนข้างหน้า เราคิดแค่ว่าเราอยากเอาเรื่องดีๆ ไปเล่าให้เขาฟัง อยากเขียนเรื่องดีๆ ให้เขาอ่าน ทำไมเราต้องกลัว”

ท้อฟฟี่บอกว่าความกลัวที่เกิดขึ้นระหว่างการสื่อสาร มักเกิดจากเราในฐานะคนส่งสารไม่รู้ว่าเราคุยกับใคร เราไม่รู้จักเขา แต่ถ้าเราทำการบ้านว่าคนที่เราสื่อสารด้วยเป็นใคร ถ้าเรารู้จักเขามากพอและยอมรับว่าถ้าเขาไม่ชอบเราก็ไม่ใช่เรื่องผิด น่าจะทำให้การสื่อสารบนความขัดแย้งคลี่คลายขึ้นได้

“มีคำพูดหนึ่งของ โจ ไบเดน ที่ชอบมากและใช้บอกตัวเองอยู่เสมอ เขาบอกว่าสิทธิในการไม่เห็นด้วยอย่างสันติคือเครื่องยืนยันความแข็งแกร่งของประเทศ เรารู้สึกว่าคนที่เราสื่อสารเขามีสิทธิที่จะไม่เห็นด้วยกับเรา นี่คือความสวยงามของประชาธิปไตย”

สื่อสารอย่างไรในสังคมที่ล้มเหลว

“คนในสังคมไม่ค่อยมีความ empathy”

ท่ามกลางความล้มเหลวทางการสื่อสารที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบัน ท้อฟฟี่มองว่าปัจจัยหลักคือที่ทำให้เกิดปัญหาขึ้นคือการไม่มี empathy ระหว่างผู้ที่เราสื่อสารด้วยและให้ตัวเอง

“empathy มีความสำคัญมากเพราะทำให้เราเข้าใจความรู้สึกของคนอื่น บางทีการที่เราสื่อสารแต่ fact อย่างเดียวโดยเราลืมจับความรู้สึกของคนที่ต้องฟังกับเราด้วย ทำให้การสื่อสารนั้นไม่มีประสิทธิภาพ ถ้าคนที่เป็นผู้นำไม่ได้ให้ความสำคัญกับการสื่อสารมากพอ จนคิดว่าจะพูดอะไรก็ได้ เขาลืมว่าการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพจริงๆ คือการมองให้ลึกถึงความรู้สึกของผู้ฟัง”

ยิ่งตอนนี้มีความขัดแย้งเต็มไปหมด สิ่งหนึ่งที่ต้องมีคือการบอกคนฟังว่าเขายังมีความหมายอยู่ 

“อย่างเช่นช่วงโควิด-19 เราจะเจอแต่รายงานตัวเลข แต่ไม่สื่อสารถึงคำพูดที่ไม่พาไปสัมผัสความรู้สึกของคนฟังว่าเป็นอย่างไร หรือความรู้สึกของคนฟังนั้นสำคัญอย่างไร”

ท้อฟฟี่ยกตัวอย่าง สถานการณ์โควิด-19 ที่นอร์เวย์ที่เต็มไปด้วยคำถามและความปั่นป่วน ทว่าผู้นำนอร์เวย์สามารถสร้างการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพได้ผ่านการมองประชาชนในประเทศเป็นกลุ่มยิบย่อย ไม่ได้มองประชาชนแบบเหมารวม

“เราจำได้ว่าที่นอร์เวย์มีการจัดงานแถลงข่าวสำหรับเด็ก วิธีการคือให้เด็กส่งคำถามมา ไม่ว่าคำถามนั้นจะถามว่าอะไรแต่ทุกคำถามของเด็กจะได้รับคำตอบ เช่น ช่วงโควิด-19 หนูจะจัดงานวันเกิดได้ไหมคะ? 

“เพราะผู้นำเขามองว่าทุกคำถามของเด็กไม่ใช่เรื่องไร้สาระ ทุกคำถามของเด็กไม่เหมือนกับผู้ใหญ่ เขามี empathy ว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะเหมือนกัน แต่ละคนมีความพิเศษ มีความเฉพาะเจาะจง ทุกคนควรได้รับเกียรติในฐานะประชาชนด้วยกันหมด

“ซึ่งการที่ผู้นำระดับนายกรัฐมนตรีมายืนตอบคำถามของคนแต่ละกลุ่มสะท้อนให้เห็นการเคารพความเห็นของประชาชนทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ ทุกเสียงได้รับการมองเห็น และนี่คือเซนส์ที่ขาดไปในการสื่อสารของสังคมไทย

“คนมักจะบอกว่าการกระทำสำคัญกว่าคำพูด แต่อย่าลืมว่าเก่งแค่ไหนก็ตาม ถ้าคุณสื่อสารไม่เป็นคุณก็จะไม่เก่งเลย คุณต้องใช้เครื่องมือที่เรียกว่าการสื่อสารเป็นอาวุธให้ประสบความสำเร็จได้”

ดังนั้นสำหรับท้อฟฟี่การสื่อสารจึงเปรียบได้กับแต้มต่ออย่างหนึ่งที่สามารถใช้มันขับเคลื่อนในเรื่องต่างๆ และเป็นตัวช่วยที่จะทำให้การกระทำของคุณเสียงดังและคำพูดของคุณมีประสิทธิภาพและทรงพลังมากขึ้น

ที่สำคัญการสื่อสารที่เสร็จกับสำเร็จนั้นให้ผลลัพธ์ต่างกันสุดขั้ว 

“เรานึกถึงคำพูดของหัวหน้าที่เขาชอบพูดว่า การสื่อสารที่ ‘เสร็จ’ กับ ‘สำเร็จ’ มันไม่เหมือนกัน การสื่อสารที่เสร็จคือฉันพูดไปแล้วนะ แต่ถ้าสื่อสารสำเร็จคือสามารถบรรลุเป้าหมายได้นะ ถ้าครู พ่อแม่ หรือใครก็ตามสามารถพาให้เด็กไปถึงจุดนั้นได้ เด็กคงรู้สึกโอ้โหโลกนี้มันกว้างใหญ่และมันน่าเรียนรู้จริง” ท้อฟฟี่ทิ้งท้าย


Writer

Avatar photo

รชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา

พยายามฝึกปรือและคลุกอยู่กับผู้คนในวงการการศึกษา เพราะเชื่อว่าการเรียนรู้เป็นใบเบิกทางให้ขยายขอบขีดความสามารถตัวเอง ฝันสูงสุดคืออยากเห็นตัวเองทำงานสื่อสารที่มีคุณภาพและคุณค่าต่อไป

Photographer

Avatar photo

อนุชิต นิ่มตลุง

ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว จนถึงสารคดี ปัจจุบันเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision เพิ่งตัดสายสะดือเป็นคุณพ่อหมาดๆ เมื่อเมษาที่ผ่านมา (พ.ศ. 2563)

Related Posts