ในสังคมที่มี ‘รักต่างเพศ’ เป็นบรรทัดฐาน ตัวตนของ LGBTQIA+ มักจะผลิบานเมื่อผ่านช่วงวัยรุ่นมาแล้ว

  • การเป็นวัยรุ่นอาจเป็นหนึ่งในช่วงเวลาที่สำคัญในชีวิต มันคือช่วงเวลาที่เราจะได้ค้นหาตัวเอง ค้นพบอัตลักษณ์ ‘ความเป็นเรา’ ได้ทดลองทำหลายสิ่งหลายอย่างบนโลกที่เราไม่เคยทำแต่ในสังคมที่มีแนวคิดรักต่างเพศเป็นบรรทัดฐานทางวัฒนธรรม LGBTQIA+ กลับไม่ได้ใช้ช่วงเวลาวัยรุ่นอย่างเต็มที่เหมือนคนอื่น ๆ 
  • อย่างไรก็ดี ในช่วงวัยหนึ่งที่พวกเขามีความพร้อมที่จะเปิดเผยอัตลักษณ์ของตนเองมากพอ เข้าใจตัวเองมากพอ และสังคมเปิดกว้างมากพอ LGBTQIA+ หลายคนที่ผ่านพ้นช่วงวัยรุ่นมาแล้ว ก็จะพบเจอกับประสบการณ์การเป็น ‘วัยรุ่นครั้งที่สอง’ (second adolescent) หรือคือการได้ลองใช้ชีวิตแบบวัยรุ่นที่ไม่เคยได้ใช้แม้จะผ่านช่วงวัยนั้นมาแล้ว 
  • แน่นอนว่าพฤติกรรมและความต้องการที่อาจดูสวนทางกับอายุ อาจทำให้ใครหลายคนรู้สึกแย่กับตัวเองและคิดว่าสิ่งที่ตัวเองเป็นนั้นไม่เหมาะสมกับวัย แต่แท้จริงแล้ว การค้นพบและได้เป็นตัวเองไม่เคยเป็นเรื่องที่สายเกินไป และไม่ว่าอายุเท่าไหร่คุณก็มีสิทธิ์สนุกกับชีวิตได้เสมอ 

*บทความนี้ใช้คำว่า LGBTQIA+ และคำว่า ‘เควียร์’ ในบริบทเดียวกัน 

การเป็นวัยรุ่นอาจเป็นหนึ่งในช่วงเวลาที่สำคัญในชีวิต มันคือช่วงเวลาที่เราจะได้ค้นหาตัวเอง ค้นพบอัตลักษณ์ ‘ความเป็นเรา’ ได้ทดลองทำหลายสิ่งหลายอย่างบนโลกที่เราไม่เคยทำ ได้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนที่ขยับขยายไปไกลกว่าบ้านและครอบครัว ได้ลองแอบรัก บอกรัก ว้าวุ่นใจ อกหัก ลุกขึ้นใหม่ ได้ลองแต่งตัวแบบที่ชอบและแสดงความเป็นตัวเองออกมาเป็นครั้งแรก

แต่ชาว LGBTQIA+ หลายคนกลับไม่ได้สัมผัสประสบการณ์แบบนั้นเพราะอัตลักษณ์ทางเพศที่แตกต่างจากสิ่งที่ตั้งอยู่บนบรรทัดฐานรักต่างเพศที่สังคมอยากให้เป็น มีงานวิจัยหลายชิ้นพบว่าชาว LGBTQIA+ รู้จักตัวตนและอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเองมาตั้งแต่เด็ก ๆ แต่เพราะสังคมที่ยังคงมีการเหยียดเพศทำให้พวกเขาไม่กล้ายอมรับความเป็นตัวเองและต้องข้ามผ่านชีวิตวัยรุ่นด้วยความรู้สึกไม่ปลอดภัย แปลกแยก และหวาดกลัว ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิต เช่น โรควิตกกังวลและโรคซึมเศร้าตามมาได้

การเป็นวัยรุ่นหนที่สอง จึงเป็นช่วงชีวิตที่ชาว LGBTQIA+ หลายคนที่ผ่านพ้นช่วงวัยรุ่นมาแล้ว โดยเฉพาะชาวเควียร์ในช่วงวัยกลางคนได้ประสบในวันที่โลกเปิดมากพอและพวกเขามีความพร้อมมากพอที่จะเปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเอง ในช่วงชีวิตนี้ พวกเขาจะได้มีชีวิตแบบวัยรุ่นเป็นครั้งแรก ได้คบกับคนที่พวกเขารักอย่างเปิดเผยเป็นครั้งแรกหรือแต่งตัวแบบที่อยากแต่งเป็นครั้งแรก

“เวลาเราพูดถึง ‘พัฒนาการตามช่วงวัย’ เรามักจะนำไปยึดโยงกับช่วงที่เราเป็นวัยรุ่น มันมักจะหมายถึงช่วงชีวิตที่เพื่อน ๆ ที่มีอัตลักษณ์ทางเพศตรงกับเพศกำเนิดและชอบเพศตรงข้ามต่างเคยมีประสบการณ์นั้น” เคย์ซี แทนเนอร์ นักจิตบำบัด กล่าว “แต่วัยรุ่นหนที่สองอาจจะเป็นครั้งแรกที่ชาวเควียร์เข้าถึงกลุ่มเพื่อนที่มีอัตลักษณ์เดียวกันและมีใครสักคนให้ร่วมฉลอง ‘พัฒนาการตามช่วงวัย’ เหล่านี้ไปด้วยกัน”  

สำหรับ LGBTQIA+ หลายคน ตัวคนที่เคยต้องปิดบังจึงอาจเปล่งประกายได้เป็นครั้งแรกตอนพวกเขาอายุ 30, 40, 50 หรือแม้แต่ตอนที่อายุมากกว่านั้น เพราะการค้นพบและได้เป็นตัวเองไม่เคยเป็นเรื่องที่สายเกินไป

เป็นตัวของตัวเองไม่ได้ในสังคมที่มีบรรทัดฐานเป็นรักต่างเพศ

LGBTQIA+ หลายคนไม่สามารถเปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศได้ เพราะสังคมส่วนใหญ่ยังยึดถือกับแนวคิด การรักต่างเพศภาคบังคับ (แนวคิดที่อยู่ในงานเขียน ‘Compulsory Heterosexuality and Lesbian Existence’ ของเอเดรียน ริชในปี 1980) รวมไปถึงนโยบายรัฐและบรรทัดฐานทางวัฒนธรรมที่อยู่ในครอบครัว โรงเรียน สังคม กฎหมาย และสถาบันอื่น ๆ

บางครั้งแนวคิดนี้ก็สามารถเห็นได้อย่างเด่นชัด เช่น คำพูดหรือท่าทีดูถูกเหยียดหยามเพศอื่น ๆ ที่ไม่ใช่คนรักต่างเพศหรือการล้อเลียนว่าเด็กผู้ชายที่ชอบเต้นและการแสดงเป็นเกย์ ขณะที่ในบางครั้ง แนวคิดการรักต่างเพศภาคบังคับนี้ก็ฝังรากลึกลงไปในสังคม และทำให้หลายคนแสดงแนวคิดนี้ออกมาโดยไม่รู้ตัว เช่น ไม่ให้เด็กแต่งกายในแบบที่พวกเขาอยากแต่งเพราะดู “สาว” หรือ “แมน” เกินไป หรือถามเด็กหญิงว่า “มีผู้ชายที่แอบชอบหรือยัง” แทนที่จะถามว่า “มีใครที่เธอชอบบ้างหรือเปล่า”

ช่วงวัยรุ่นคือช่วงที่เราจะได้ค้นหาตัวตนที่เราเป็นซึ่งเหนือไปกว่าสิ่งที่พ่อแม่และผู้ใหญ่รอบ ๆ ตัวหยิบยื่นให้ ทำให้ LGBTQIA+ หลาย ๆ คนที่เติบโตมาภายใต้มุมมองและแนวคิดของสังคมที่มีการรักเพศตรงข้ามเป็นบรรทัดฐานทางวัฒนธรรมต่างรับตัวตนของตัวเองไม่ได้และรู้สึกเจ็บปวด เมื่อพบว่าพวกเขามีตัวตนที่ต่างออกไปจากที่ครอบครัวและสังคมเคยตีกรอบไว้ 

อีกปัจจัยหนึ่งก็คือการมีตัวอย่างให้เห็นในสื่อ ยิ่งชาว LGBTQIA+ มีอายุมากเท่าไหร่ก็ยิ่งมีภาพแทนในสื่อน้อยเท่านั้น ผลสำรวจพบว่าตัวละครจากซีรีส์ที่ฉายในช่องโทรทัศน์ใหญ่ ๆ อย่าง ABC, CBS, The CW, Fox และ NBC มีตัวละครชาวเควียร์เพียงแค่ 3 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่มีตัวละครชาวเควียร์ปรากฏอยู่ในหนัง 22 เรื่องจาก 118 เรื่องที่มีค่ายดังอำนวยการสร้างในปี 2019

การไม่มีตัวแทนชาวเควียร์ปรากฏอยู่ในสื่อทำให้คนที่เป็น LGBTQIA+ ขาดสิ่งที่เรียกว่า กระจกเงาทางสังคม(social mirroring) แทนเนอร์กล่าวว่า “เมื่อชาวเควียร์ไม่ได้เห็นประสบการณ์ที่คล้ายกับตัวเองในช่วงวัยรุ่นสะท้อนกลับมา มันก็เหมือนเป็นการสื่อสารว่าการเป็นเควียร์นั้นไม่มีอยู่จริง หรือถึงแม้มีอยู่จริงก็เป็นเรื่องที่ควรหลีกเลี่ยงมากกว่าจะร่วมยินดี” 

แทนเนอร์ยังให้ความเห็นด้วยว่า การขาดภาพแทนในสื่อยังทำให้ LGBTQIA+ ขาด ‘ภาษา’ หรือ ‘ตัวอย่าง’ ที่จะใช้ทำความเข้าใจความรู้สึกของตัวเอง สิ่งที่ตัวเองเป็น และประสบการณ์ที่ตัวเองพบเจอ จนทำให้ชาวเควียร์หลาย ๆ คนต้องปรับตัวเลียนแบบเพื่อนที่มีอัตลักษณ์ทางเพศตรงกับเพศกำเนิดเพราะนั่นเป็นตัวอย่างเดียวที่มี

โอกาสหนสองที่จะได้ทดลองเป็นวัยรุ่น

การเติบโตมาในบริบทวัฒนธรรมดังกล่าว ทำให้ชาว LGBTQIA+ หลายคนรู้สึกสับสนและรู้สึกว่าตนเองไม่มี ‘พัฒนาการที่เหมาะกับวัย’ เมื่อเทียบกับเพื่อน ๆ ที่เป็นกลุ่มคนรักต่างเพศ จนเมื่อถึงวัยหนึ่งที่สังคมเปิดกว้างและตัวพวกเขาเองพร้อมมากพอ ชาว LGBTQIA+ จะรู้สึกเหมือนว่าได้กลับไปเป็นวัยรุ่นอีกหน พวกเขาจะเริ่มสนใจในการหาคู่เดท ความสัมพันธ์ และการค้นหาตัวเอง ช่วงเวลานี้นี่เองที่หัวใจของเหล่าเควียร์จะได้รับการเยียวยา และมีอิสระมากพอที่จะได้ทำความเข้าใจกับบาดแผลของตัวเอง ได้เติบโต และได้วาดภาพชีวิตแบบที่เคยอยากใช้ในช่วงวัยรุ่น

ที่จริงคำว่า ‘second adolescent’ หรือการเป็นวัยรุ่นครั้งที่สอง ก็เปรียบเหมือนชื่อเรียกด้านบวกของสิ่งที่หลาย ๆ คนรู้จักกันในชื่อ ‘midlife crisis’ หรือวิกฤติวัยกลางคน คำว่า วิกฤติวัยกลางคน ถูกใช้โดยนักจิตวิทยาที่ชื่อว่า อีเลียต ชาร์ก ในช่วงทศวรรษ 1960 หลังจากที่เขาค้นพบว่าอัตราการเป็นโรคซึมเศร้าและการฆ่าตัวตายมักจะสูงขึ้นในกลุ่มวัยกลางคน

แต่งานวิจัยหลายชิ้นในปัจจุบัน เช่น งานวิจัยของสถาบันผู้สูงอายุแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา พบว่า มีเพียง 1 ใน 3 ของผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปีเท่านั้นที่พบว่ามี ‘วิกฤติ’ ในวัยกลางคน แต่ยังมีผู้คนในวัยกลางคนอีกหลายคนที่รู้สึกเท่าทันอารมณ์ของตัวเองมากขึ้น มีทัศนคติที่เปิดกว้างเกี่ยวกับเรื่องเพศสัมพันธ์มากขึ้น มีแรงใจที่จะไขว่คว้าประสบการณ์ชีวิตใหม่ ๆ มากขึ้น และเป็นช่วงวัยที่พวกเขามองว่าตัวเองมีอายุมากพอที่จะค้นพบว่าชีวิตนั้นแสนสั้น แต่ก็ยังเด็กและแข็งแรงพอที่จะสนุกกับชีวิตในรูปแบบอื่น ๆ และค้นหาตัวตนด้านอื่นของตัวเอง ความรู้สึกเหล่านี้ทำให้พวกเขาเหมือนได้ย้อนกลับไปเป็นวัยรุ่นอีกครั้ง

สำหรับชาว LGBTQIA+ แล้ว วัยกลางคนคือวัยที่พวกเขาได้สั่งสมประสบการณ์มามากพอและมีเวลามากพอให้ได้ค้นพบและยอมรับตัวเอง

“ส่วนใหญ่แล้วกระบวนการ ‘เปิดตัว’ (หลังจากช่วงการเป็นวัยรุ่นได้ผ่านพ้นไปแล้ว) จะทำให้ชาวเควียร์อยู่ในจุดที่ตระหนักรู้ในตนเองและได้ทำความเข้าใจกับตัวเองในแบบที่เพื่อนที่รักต่างเพศไม่เคยได้สัมผัส” แทนเนอร์ให้ความเห็น “มันไม่ใช่เรื่องของการมีพัฒนาการเร็วหรือช้ากว่าคนอื่น แต่มันคือเรื่องของการเลือกจะสร้างสรรค์ชีวิตที่มีค่ามากพอสำหรับตัวคุณเอง”

Free Yourself

แน่นอนว่าการอยากใช้ชีวิตแบบวัยรุ่นในช่วงวัยที่เลย ‘วัยรุ่น’ มาแล้วอาจจะทำให้ชาว LGBTQIA+ บางคนเกิดความสับสนและรู้สึกแย่กับตัวเองเพราะมองว่าความรู้สึกและการกระทำต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นคือการกระทำที่ไม่เหมาะไม่ควรกับอายุ หนทางที่จะทำให้ชาวเควียร์ปลดปล่อยตัวเองออกจากการถูกตีกรอบและการตีกรอบให้ตัวเองมาโดยตลอดได้ก็คือ

ยอมรับว่ามีอีกหลายประสบการณ์ที่เราควรจะมีแต่กลับขาดหายไปในตอนวัยรุ่น

การจะทำให้แผลหายได้ ก็คือการย้อนกลับไปใส่ใจดูแลแผลนั้น สิ่งแรกที่จะทำให้ชาว LGBTQIA+ ได้มีชีวิตวัยรุ่นหนที่สองได้อย่างภาคภูมิก็คือการย้อนกลับไปคิดว่ายังมีประสบการณ์ชีวิตวัยรุ่นอะไรอีกที่คุณยังไม่เคยประสบพบเจอเพราะการถูกกดทับอัตลักษณ์ทางเพศ และลองคิดดูว่าการที่ทำสิ่งเหล่านั้นไม่ได้ ทำให้คุณรู้สึกอย่างไร เสียดายที่ไม่เคยมีจูบแรก อึดอัดที่ไม่เคยมีเดทแรก เสียใจที่ไม่ได้สานสัมพันธ์ฉันคนรักกับคนที่ตัวเองรักจริง ๆ ค้างคาเพราะไม่เคยมีประสบการณ์ทางเพศครั้งแรกกับคนที่ตัวเองสนใจ หงุดหงิดที่ไม่ได้แต่งตัวในแบบที่ตัวเองอยากแต่งเป็นครั้งแรก

ยอมรับว่าบางทีคุณเองก็อาจจะรับเอาแนวคิดแบบบรรทัดฐานรักต่างเพศมาตัดสินตัวเองโดยไม่รู้ตัว

ขั้นต่อมาก็คือการสำรวจตัวเองว่าที่จริงแล้วตัวคุณเองก็ใช้ชีวิตโดดยึดติดกับแนวคิด ‘รักต่างเพศภาคบังคับ’ ที่สังคมหล่อหลอมคุณมาด้วยไหม ลองคิดดูว่าในวัยเด็กหรือช่วงวัยรุ่น ผู้ใหญ่และสังคมรอบข้างป้อนแนวคิดเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศแบบไหนให้กับคุณ และคำพูดหรือท่าทีของพวกเขาในเรื่องนี้ส่งผลต่อคุณในอดีตอย่างไรบ้าง เช่น คุณอาจเคยรู้สึกผิดที่แต่งตัวไม่ตรงตามบรรทัดฐานทางเพศที่สังคมกำหนด และลองสำรวจตัวเองดูอีกครั้งว่าทุกวันนี้คุณยังรู้สึกแบบนั้นอยู่ไหม คำพูดนั้นยังคงส่งผลต่อการตัดสินใจหรืออารมณ์ความรู้สึกของคุณอยู่ไหม และโปรดรู้ไว้ว่า หากคุณเคยเรียนรู้และซึมซับรับเอาแนวคิดนั้นมาได้ คุณก็ลืมมันไปได้ และมองสิ่งที่คุณเคยเรียนรู้มาด้วยมุมมองใหม่ ๆ ได้เช่นกัน 

คำว่า ‘วัยรุ่นครั้งที่สอง’ อาจทำให้บางคนไม่สบายใจที่จะเป็นตัวเองเพราะมีเรื่องอายุมาเกี่ยว ดังนั้นคุณไม่จำเป็นต้องเรียกมันว่า ‘วัยรุ่นครั้งที่สอง” ก็ได้ มันอาจเป็นช่วงเวลาของการเติบโต ของการทำความเข้าใจตัวเองในแบบที่ตัวเองเป็นจริง ๆ ของการค้นพบตัวเอง ไม่ว่าคุณจะเรียกอย่างไร มันก็ยังเป็นช่วงเวลาที่ดีอยู่เหมือนเดิม และต่อให้มันจะเกิดขึ้นในระยะไหนของชีวิต คุณก็มีสิทธิ์ที่จะได้เป็นตัวของตัวเอง

อ้างอิง :

https://www.psychotherapynetworker.org/article/second-adolescence

https://ritual.com/articles/second-adolescence

https://www.healthline.com/health/healthy-sex/second-queer-adolescence#takeaway

https://www.psychologytoday.com/us/blog/second-adolescence/202305/the-second-adolescence-of-lgbtq-adulthood

https://thehoneycombers.com/hong-kong/lgbtq-second-adolescence/


Writer

Avatar photo

ปัญญาพร แจ่มวุฒิปรีชา

อย่ารู้จักเราเลย รู้จักแมวเราดีกว่า

Illustrator

Avatar photo

ธีรภัทร์ เศาธยะนันท์

ชอบกินลาเต้เย็น

Related Posts