Supanaree story: Cyberbully สอนให้รู้ว่า ‘ถ้าเเม่ไม่ว่า ป้าก็ไม่ต้อง…’

  • ลุคภายนอกของ 3 สาว Supanaree story คือ ความสตรองทำให้พวกเธอไม่หวั่นกับความเห็นของคุณป้าข้างบ้านที่อยากรู้เรื่องราวของคนอื่นมากกว่าตัวเองบนโลกออนไลน์
  • mappa ชวนทั้งสามคนตั้งคำถามต่อว่า หากข้ออ้างของการกลั่นเเกล้งบนโลกออนไลน์ คือ การไม่รู้ตัว เราจะรับมือกับสิ่งเหล่านี้อย่างไร
  • บทเรียนจาก Cyberbully สอนสามเเม่ลูกจาก Supanaree story ว่า จงมั่นใจในสิ่งที่ตัวเองอยากทำ เพราะถ้าเเม่ไม่ว่า ป้าก็คงไม่ต้อง…

ในยุคที่ข้อมูลข่าวสารในโลกออนไลน์ เครือข่ายโซเชียลมีเดียถูกใช้เป็นตัวกลางสื่อสารเเละเเชร์ประสบการณ์ชีวิตร่วมกับคนในสื่อสังคมออนไลน์ผ่านยอดไลก์ ยอดเเชร์ เเละคอมเมนต์ ทำให้มีป้าข้างบ้านที่อยากรู้เรื่องราวของคนอื่นมากกว่าตัวเองเต็มไปหมด

“ใส่เสื้อในเท่ากับว่าเป็นคนดี”

คือ ความเห็นหนึ่ง ‘ซาร่า’ รัศมี สท๊วต ลูกสาวคนเล็กของ ‘เเม่บี’ จามจุรี สท๊วต เเละน้องสาวของ ‘เฟิร์น’ ศุภานารี สุทธวิจิตรวงศ์ สามสาวจาก Supanaree story เจอในคอมเมนต์หน้าเพจของพวกเธอ เเต่ทั้งสามคนก็สามารถรับมือได้เป็นอย่างดี เพราะคิดว่าพื้นที่ออนไลน์คือการเเลกเปลี่ยนความเห็นกันในมุมมองที่เเตกต่าง

อีกทั้งการมีครอบครัวเป็น safe zone จะทำให้สามสาวไม่คล้อยตามไปกับคำพูดที่ทำร้ายจิตใจจากคนที่ไม่รู้ว่าเขาเป็นใคร เเต่พร้อมที่จะก้าวเดินต่อด้วยความสตรองเเละเชื่อมั่นในความคิดของตัวเองต่อไป

mappa ชวนทั้งสามคนตั้งคำถามต่อว่า ในฐานะพลเมืองคนหนึ่งในโลกออนไลน์ ช่วงเวลาที่การกลั่นเเกล้งกันบนโลกออนไลน์ หรือ cyberbully เป็นเรื่องที่หลายคนทำลงไปโดยไม่รู้ตัว เราควรรับมือกับความเห็นที่ทำร้ายจิตใจเราอย่างไร 

Cyberbully ในวันที่ป้าข้างบ้านเต็มสื่อออนไลน์

สำหรับเฟิร์นเเละซาร่าที่ใช้โซเชียลเป็นประจำมองว่า Cyberbully คือ การเหยียด คุกคาม หรือนิยามว่าคนอื่นควรเป็นอย่างไรตามมุมมองของตัวเอง เเล้วใช้ถ้อยคำที่เหน็บเเนมในสิ่งที่พวกเธอไม่ได้ทำผิด

“เหยียด คุกคาม ผู้หญิงต้องเเต่งตัวเรียบร้อย ต้องเป็นกุลสตรี เลี้ยงลูกอยู่บ้านเท่านั้น มาจำกัดความหรือวงเล็บให้ เเต่จริงๆ เเล้วเป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถทำได้” เฟิร์นขยายความ

ส่วนมุมมองของเเม่บี เธอเองก็ไม่เเน่ใจว่าความหมายของบูลลี่คืออะไร เเต่เข้าใจว่าคอนเซปต์หลัก คือ การชอบยุ่งเรื่องคนอื่น

“เเม่ไม่รู้หรอกว่า บูลลี่คืออะไร เเต่เเม่รู้ว่ามันคือการชอบยุ่งเรื่องคนอื่น ชอบเอาเรื่องคนอื่นไปพูด คนเรามีเหรียญ 2 ด้าน ด้านหนึ่งขรุขระ อีกด้านหนึ่งก็ขรุขระอยู่ดี เวลาเจอคนอื่นเราก็จะบอกด้านดีของเรา เเต่เบื้องหลังทุกคนก็มีเรื่องราวทั้งดีเเละไม่ดีปนกันไป เพราะฉะนั้นอย่าเอาคนอื่นที่ไม่ใช่ตัวเองมาพูดว่าจะต้องอยู่ข้างไหนเเละต้องทำอะไร คนเราต้องเคารพสิทธิคนอื่นด้วย”

‘เฟิร์น’ ศุภานารี สุทธวิจิตรวงศ์

ซาร่าเสริมว่า “สำหรับเราบูลลี่คือเเย่เเล้วนะ ไม่มีคำไหนที่ไม่เเย่ เเค่บูลลี่ก็เสียใจเเล้ว ไม่ว่าคำไหนก็ไม่ควร”

เมื่อป้าข้างบ้านผูกขาดความดี เเต่ความดีเราไม่เหมือนกัน

เหตุผลที่ทำให้ป้าข้างบ้านบนโลกออนไลน์มีมากขึ้นมาจากปริมาณช่องทางเเละข่าวสารที่เราได้รับในเเต่ละวัน 

ทำให้เราต่างยึดถือคุณค่า นิยาม เเละความดีกันคนละเเบบ เราไม่สามารถตัดสินได้ว่า เขาคนนั้นถูกหรือผิด เพียงเพราะเขาเห็นไม่ตรงกับเรา 

สำหรับเฟิร์นมองว่า เป็นเรื่องปกติที่เราอยากรู้อยากเห็นเรื่องคนอื่น เเต่สิ่งสำคัญ คือ เราจะเเสดงออกมาในรูปเเบบไหน 

‘ซาร่า’ รัศมี สท๊วต

“อย่างที่บอกว่าเป็นเรื่องของคนที่ชอบยุ่งเรื่องชาวบ้าน เเต่เเม่สอนลูกเสมอว่า เราอยู่กันเเค่นี้ มีปัญหาก็คุยกันเเค่นี้ ไม่ต้องไปรับปัญหาของคนอื่น ถ้าเขาพูดก็รับฟังเเต่ไม่ได้มาสนใจ” คือมุมมองของเเม่บี

เเล้วสุดท้ายความดีคืออะไร?

เฟิร์นบอกว่า เราไม่สามารถนิยามความดีได้ เพราะเเต่ละคนมองคำว่า ‘ดี’ ไม่เหมือนกัน 

“บางคนคิดว่าการใส่เสื้อในเป็นคนดี เเต่จริงๆ เเล้ว การเลี้ยงดูพ่อเเม่ก็เป็นเรื่องที่ดี ต้องเรียนที่โรงเรียนเท่านั้นถึงเป็นคนดี ซาร่าเรียนสอบเทียบก็เลี้ยงดูพ่อเเม่ได้เหมือนกัน เราคิดว่าความดีของคนมันต่างกัน บางคนบอกว่าความดีต้องเป็นเเบบนี้เท่านั้น ต้องเรียนได้เกรด 4 มันบังคับให้ทำในสิ่งที่ไม่ได้อยากทำ” 

“มันเเล้วเเต่บรรทัดฐานความดีของเเต่ละคนคืออะไร” ซาร่าเสริมพี่สาว

ขณะที่เเม่บีคิดว่า เราไม่จำเป็นต้องมองว่าใครดีหรือไม่ดี เเต่ให้หันกลับมามองครอบครัวเเละตัวเรา  

“ไม่ใช่ว่าเรามองเรื่องที่คนอื่นทำไม่ได้ เเต่ถ้าเรามองเเล้วเอาเรื่องของเขามาปรับกับตัวเราได้ มันก็ดีกับเรา เเต่ถ้ามองว่าเขาเเย่หรือดีกว่าเรา มันก็กดดันตัวเอง” ซาร่าขยายความเพิ่ม

‘เเม่บี’ จามจุรี สท๊วต

ทำเเบบนี้เเม่ไม่ว่าหรอ?

ทั้งสามคนเล่าถึงคอมเมนต์ล่าสุดที่ว่าด้วยเรื่อง ‘NO Bra’ – การใส่เสื้อในเท่ากับคนดี

เฟิร์นบอกว่า ไม่ว่าจะใส่หรือไม่ใส่ก็ไม่ถูกใจชาวโซเชียลอยู่ดี 

“เขาบอกว่าการใส่เสื้อในจะไม่สมวัย เเต่พอโตเเล้วไม่ใส่ก็ด่า ใส่เสื้อในสีหรือมีลายก็ด่า สรุปไม่ว่าจะใส่หรือไม่ใส่ก็โดนด่าอยู่ดี”

ซาร่าเสริมไปในทางเดียวกันว่า ถ้าใส่เสื้อเเนบตัวก็มีคำถามว่า ทำไมไม่ใส่เสื้อในดีๆ พอใส่ก็บอกว่า ทำไมต้องใส่เสื้อในดันหน้าอก 

“สรุปเเล้วต้องการอะไรจากเรา ตามคอมเมนต์บอกว่า เราเป็นบุคคลสาธารณะควรทำตัวให้เป็นเเบบอย่างของเด็กๆ เเละทุกคน เเต่ยุคสมัยเปลี่ยนไปเเล้ว คนสมัยนี้เขารู้ว่าอันไหนควรทำ อันไหนไม่ควรทำ”

เเม่บีมองว่า ลูกทำดีเเล้ว เขาเลือกที่จะใส่หรือไม่ใส่เสื้อในก็ได้

“บางคนติทุกเรื่อง ติตั้งเเต่หนึ่งถึงร้อย ก็ปล่อยเขาไป เเต่ลูกเราทำดีเเล้ว เขาทำในสิ่งที่เขาชอบ เเม่ไม่บังคับ เพราะคิดว่าเขาไม่ได้ทำความเดือดร้อนให้ใคร สบายด้วย”

ขณะเดียวกัน เราก็ไม่สามารถห้ามคนอื่นมาคอมเมนต์หรือมาว่าได้ เฟิร์นบอกว่า บางคอมเมนต์ก็ปล่อยผ่านไป เเต่ความเห็นไหนที่คิดว่ารุกล้ำพื้นที่ส่วนตัวมากเกินไปก็มีไปตอบกลับบ้าง

“คือเราก็เข้าไปตอบกลับว่า ที่คุณคิดมันไม่ได้ถูกนะ เราต่างมีความคิด เเต่จะไปบอกให้คนอื่นคิดเหมือนกับตัวเองไม่ได้ เเละควรยึดโยงกับเรื่องมารยาทกับสิทธิส่วนบุคคล บางคนใช้อวาตาร์มาตอบถือว่าไม่รู้จักกันเเล้วจะพิมพ์อะไรก็ได้ เเต่เฟิร์นมองว่า ถ้าเราทำอะไรแล้วมีความสุขเเละไม่เดือดร้อนใคร ก็ทำเลย”

เลี้ยงลูกให้สตรอง คือ การให้อิสระเเละเปิดใจ

มุมมองของคนภายนอก 3 สาวจาก Supanaree story จะมีความมั่นใจเเละรับมือกับคุณป้าข้างบ้านบนโลกออนไลน์ได้อย่างดี

“แม่เลี้ยงลูกของเเม่ มีอะไรเปิดอกคุยกัน ดีใจ เสียใจ พูดให้เเม่ พูดให้พี่น้องฟัง เราไม่เก็บกดเรื่องอะไรทั้งสิ้น เรารับทั้งเรื่องดีเเละเเย่ ลูกสองคนจะสตรองเหมือนเเม่ สอนให้เขารู้ว่าการเปิดเผยกับครอบครัวดีกว่าเก็บทุกอย่างไว้ในหัวคนเดียว ทำผิดก็ไม่เป็นไร”

คือการเลี้ยงลูกสไตล์เเม่บี อีกทั้งยังบอกว่า เเม่ไม่เคยห้าม เพราะเเม่รู้อยู่เเล้ว เเเต่ปล่อยให้ลูกทำเเล้วค่อยบอกก็ได้ ทำผิดก็ไม่เป็นไร

“เเต่เวลาทำอะไร หนูจะขอไว้ก่อนดีกว่า เขาตาไวเหลือเกิน ไม่พูดเเต่รู้ได้ยังไงไม่รู้ ก็เลยคิดว่าพูดไว้ก่อนดีกว่า เเบบเเม่ห้ามหน่อยไหม” ซาร่าเสริม

การปล่อยให้ลูกทำในสิ่งที่เขาอยากทำ ในมุมมองของเฟิร์น สิ่งนี้ไม่ได้ทำให้เธอกลัว เเต่รู้สึกเกรงใจ 

“เเม่ไม่เคยห้าม เเต่พอได้ทำในสิ่งที่ต้องการเเล้วรู้สึกว่าเราได้อิสระเหลือเกิน ทำให้รู้สึกเกรงใจเเม่ อยากไปไหนก็ไป อยากทำอะไรก็ทำ พอเวลาเราออกจากบ้านไปนานๆ เราจะรู้สึกว่ากลับบ้านดีกว่า” 

ขณะเดียวกันการมีครอบครัวคอยช้อนรับและเป็น safe zone ทำให้พวกเขาไม่จมปลักอยู่กับสิ่งที่คนอื่นคิดและติดป้ายให้ 

“ถ้าลูกโดนเเกล้งหรือถูก cyberbully อยากให้พ่อเเม่เปิดใจเเละรับความทุกข์ของลูกให้ได้ เเล้ววันหนึ่งเขาจะเข้าใจเองว่า ชีวิตลูกพูดให้กับพ่อเเม่ฟังได้ทุกเรื่อง บางครอบครัวไม่กล้าพูดกัน เเต่ถ้าเราเปิดใจ เราถามลูกทุกวันว่าวันนี้เป็นยังไงบ้าง เหมือนเปิดทางเดินให้ลูกกล้าเปิดใจ” เเม่บีเริ่มเล่าก่อน

ส่วนซาร่าเเละเฟิร์นมองว่า สำหรับคนที่อาจจะยังไม่กล้าบอกครอบครัว การมีคนที่ไว้ใจรับฟังจะช่วยให้เขาคนนั้นผ่านความรู้สึกไม่ดีเหล่านั้นไปได้

“ถ้าคุยกับครอบครัวไม่ได้ คุยกับเพื่อน คุยกับเพื่อนในโลกออนไลน์ที่เป็นคนเเปลกหน้าก็ได้ เพียงเเต่เราไว้ใจเเละกล้าที่จะเล่าปัญหาของเราให้ใครฟังมากกว่า” เฟิร์นบอก

ขณะเดียวกัน ในมุมมองของเฟิร์น หากโรงเรียนสอนการรับมือ Cyberbully ก็คงไม่ได้ผล เพราะแม้ว่าจะถอยห่างจากหน้าจอแล้ว เเต่การบูลลี่ยังคงเกิดขึ้นต่อไป 

“เด็กยุคนี้น่าจะคุ้นเคยกับคำว่า cyberbully ต่อให้ไม่เจอกับตัวเอง เพื่อนก็เจอ หรือถึงเเม้จะไม่มี cyberbully เเต่การบูลลี่ในชีวิตจริงก็ดำเนินต่อไป เเละสามารถเกิดขึ้นกับทุกคนไม่ใช่เเค่บุคคลสาธารณะ เเต่เราต้องรู้ว่าถ้าเจอกับตัวเองเเล้วเตรียมรับมือว่า ถ้าเกิดสถานการณ์นี้ขึ้นกับตัวเองหรือคนรอบข้างเราจะรับมือหรือให้คำปรึกษาเขายังไง ให้ผ่านสิ่งเหล่านี้ไปให้ได้”

สุดท้าย Cyberbully สอนสามสาวจาก Supanaree story ว่า ผู้คนมีความเเตกต่างหลากหลายที่พวกเธอต้องเรียนรู้ผ่านการสื่อสารบน ‘โลกออนไลน์’ เเละจงมั่นใจในสิ่งที่ตัวเองอยากทำ เพราะถ้าเเม่ไม่ว่า ป้าก็คงไม่ต้อง…


Writer

Avatar photo

ณัฐธนีย์ ลิ้มวัฒนาพันธ์

ชอบดูซีรีส์เกาหลี เพราะเชื่อว่าตัวเราสามารถสร้างพื้นที่การเรียนรู้ได้ สนใจเรื่องระบบการศึกษาเเละความสัมพันธ์ในครอบครัว พยายามฝึกการเล่าเรื่องให้สนุกเเบบฉบับของตัวเอง

Related Posts