เขตปกครองTCAS พื้นที่การศึกษาที่ทุกคนเห็นปัญหาแต่ทำอะไรไม่ได้

  • เมื่อความสำเร็จถูกมัดไว้กับปริญญา เเต่การสอบเข้ามหาวิทยาลัยมีต้นทุนที่ต้องจ่าย ทำให้เด็กหลายคนถูกผลักออกจากการศึกษาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
  • กว่าจะคว้าปริญญามาครองได้ เด็กจะต้องเจอกับความเปลี่ยนเเปลงอย่างไร้การคาดเดา เเล้วไม่มีหลักประกันว่า หากเขาวางเเผนดี มีความสามารถ สอบได้คะเเนนสูง จะทำให้พวกเขาสอบติดมหาวิทยาลัยที่หวังไว้ได้
  • mappa สรุปประเด็น TCAS 65 จาก Live สาระ EP.15​ อูยย ไม่แพง​ TCAS65 เฟสบุ๊กเเฟนเพจ รายการห้องพักครู รับฟังเสียงเเละปัญหาที่เเต่ละฝ่ายกำลังเผชิญอย่างเปิดใจ

การเรียนระดับอุดมศึกษาอาจเป็นทางเลือก เเต่สังคมไทยยังคงผูกความสำเร็จของคนคนหนึ่งไว้กับใบปริญญา 

ขณะเดียวกัน เด็กหลายคนอยากเข้าไปช่วงชิงโอกาสที่จะเปลี่ยนชีวิตผ่านชีวิตนักศึกษา เเต่กลับไปไม่ถึงเพราะการสมัครสอบมีต้นทุนที่พวกเขาต้องจ่าย ไม่ว่าจะเป็นเงิน เวลา เเละค่าเสียโอกาส 

“900 บาทไม่เเพง” 

ประโยคสั้นๆ จากดร.พีระพงศ์ ตริยเจริญ ผู้จัดการระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา (TCAS) กลายเป็นประโยคสะท้อนความไม่เท่าเทียมของระบบสมัครสอบเเละความไม่เข้าใจสิ่งที่เด็กกำลังเผชิญ

จึงเป็นที่มาของ  Live สาระ EP.15​ อูยย ไม่แพง​ TCAS65 ที่จัดโดยเฟสบุ๊กเเฟนเพจ รายการห้องพักครู เมื่อวันที่ 27 สิงหาคมที่ผ่านมา ชวนเด็กๆ ครู เเละนักการศึกษามาถกประเด็นปัญหาระบบ TCAS65 ว่า กำลังช่วยให้เด็กมีทางเลือกในชีวิตมากขึ้นหรือปล่อยพวกเขาไว้กลางทาง

เสียงจากเด็ก 64: เด็กเทสอบ เพราะอ่านไม่ทัน

ย้อนกลับไป 1 ปีที่เเล้ว เด็ก 64 ต้องสอบมากกว่า 30 วิชาในระยะเวลา 1 เดือน อัน (สงวนชื่อนามสกุลจริง) ในฐานะเด็กที่ผ่านระบบการสอบ TCAS 64 เล่าว่า ช่วงสอบร้องไห้ทุกวัน เหมือนเราเห็นปัญหาเเต่ทำอะไรไม่ได้

“ตอนนั้นสุขภาพจิตเเย่ ไม่ได้เจอเพื่อนเลย เจอที่สนามสอบเเล้วก็เเยกย้ายกันกลับบ้าน อันลงสอบ GAT-PAT O-NET วิชาสามัญ เเละวิชาถนัดเเพทย์ เพราะอยากเข้าสายสุขภาพ เเต่สุดท้ายสนามสอบเเรกเราเลือกเท PAT 1 (ความถนัดทางคณิตศาสตร์) PAT 2 (ความถนัดทางวิทยาศาสตร์) ไม่ไปสอบเพราะคิดว่าอยู่บ้านอ่านหนังสือดีกว่า เสียเวลาเปล่าเพราะไม่ได้ใช้คะเเนน”

“เเล้วเขามาบอกว่า วิชาสามัญข้อสอบเก่าไม่ต้องทำ ให้ไปทำข้อสอบ สสวท. (สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) เเทน รู้สึกว่าความไม่เเน่นอน ทำให้ต้องปรับตัวตลอดเวลา อ่านสสวท. รวมกัน 3,000 กว่าหน้า ภายในเวลาไม่ถึง 2 อาทิตย์ ซึ่งอ่านไม่ทัน พอคะเเนนออกก็รู้เลยว่าคะเเนนไม่ดี อะไรง่ายๆ ก็พลาด

ความไม่เเน่นอนยังก่อให้เกิดความเครียดที่อันไม่สามารถจัดการความรู้สึกนั้นได้

“รู้ว่าเครียดเป็นยังไง เเต่พอเกิดขึ้นจริงเราไม่สามารถรับมือได้ เหมือนทุกวิชาสอบติดกันหมด เหมือนเราพลาดจากวิชาเเรกเราก็จะกังวลว่าวิชาต่อไปต้องทำให้ดีกว่านี้ เป็นโดมิโนไป”

ส่วนพัด (สงวนชื่อนามสกุลจริง) เล่าถึงการสอบเมื่อปีที่เเล้วให้ฟังว่า เขาเหนื่อยจากการอ่านหนังสือเเล้วไปสอบได้ไม่เต็มที่ จึงเลือกจะเทบางวิชาเเล้วมุ่งเฉพาะวิชาที่ต้องใช้สมัครสอบ

“พัดอ่านหนังสือหน้าห้องสอบ ผลสอบไม่ได้เป็นที่น่าพอใจ เพื่อนหลายคนไม่ได้ประสบความสำเร็จตามที่หวังไว้ ช่วงสอบเป็นช่วงเวลาที่ยากมาก เพราะพัดลงหลายวิชาลง PAT1 ทั้งๆ ที่เรียนสายภาษาเพราะอยากสอบเข้าสายจิตวิทยาด้วย เเต่ต้องมาเท เพราะตัดสินใจเลือกเข้ารัฐศาสตร์ ต้องไปติววิชาเฉพาะกับ GAT เเล้วนอกนั้นปล่อยตามมีตามเกิด พกตัวไปสอบ เเต่ใจนอนอยู่บ้าน”

TCAS เปลี่ยนทุกปี ความหวังดีของระบบที่เด็กเป็นคนรับกรรม

ในมุมมองของ ‘ลาเต้’ มนัส อ่อนสังข์ บรรณาธิการข่าวการศึกษาเเละเเอดมิชชันเว็บไซต์ dek-d.com ที่ได้รับคำถามจากเด็กที่เข้ามาถามผ่านช่องทางต่างๆ ว่า ทำไมระบบการสอบต้องเปลี่ยนทุกปี เเต่เขาก็ไม่สามารถหาคำตอบได้

ลาเต้บอกว่า เด็กๆ ไม่ซีเรียสถ้ามีการเปลี่ยนระบบ เเต่ควรบอกล่วงหน้า ระบบคัดเลือกเคยบอกว่า ทุกการเปลี่ยนต้องบอกก่อน 3 ปี นั่นเเสดงว่าสิ่งที่เปลี่ยนวันนี้จะถูกใช้ในระบบ TCAS ปี 68 

“เขาพูดเเต่คนทำคือเด็ก เรื่องเปลี่ยนทุกปีน้องๆ ถามมาเยอะมาก เเต่เราตอบไม่ได้ เเล้วเวลายื่นไมค์ถามเรารู้ว่าเขามีเจตนาเเละจุดประสงค์ที่ดี เวลาเปลี่ยนเขาจะบอกเหตุผลที่เปลี่ยนเพราะอะไร ไล่เรียงเป็นข้อๆ”

เเต่พบว่าทุกครั้งที่ระบบต้องการอุดปัญหาเก่า มักจะมีปัญหาใหม่ๆ เกิดขึ้นเสมอ 

“ปี 61 มีปัญหา 1 2 3 เอาปี 62 มาลบปัญหาเก่า เเต่เกิดปัญหา 4 5 6 ตามมา พอปี 63 มาลบปัญหาเก่า เเล้วก็เกิดปัญหา 7 8 9 ทุกครั้งพอสร้างระบบใหม่ขึ้นมามันเกิดปัญหาใหม่ขึ้นมาเรื่อยๆ”

ลาเต้ มองว่า ทุกครั้งที่เปลี่ยน เขาไม่ได้ทดลองหรือไม่ได้ใช้จริง พอถามเขาบอกว่าเพราะเด็กทำเเบบนี้ เเต่ไม่ได้มองว่าตัวระบบเอื้อให้เด็กต้องทำ เพราะไม่มีหลักประกันว่า ถ้าพวกเขาทำตามสิ่งที่ระบบบอกเเล้ว เขาจะสอบติด เช่น การเสียเงิน 900 บาทเพื่อเลือกอันดับยื่นคะเเนนสอบ

“900 บาท เลือกได้ 10 อันดับ ถามเขาว่าเเพงไปไหม เเล้วเขาตอบกลับมาว่าอย่าเลือก 10 อันดับ เลือก 1-2 อันดับก็พอ เอาง่ายๆ ผมมีน้องสอบได้คะเเนน GAT เต็ม เขายังไม่กล้าเลือกอันดับเดียวเลย เพราะถ้าเลือกอันดับเดียวเเล้วหลุดขึ้นมาใครรับผิดชอบ”

“เเสดงว่ายิ่งเรามีเงินเยอะ ยิ่งปลอดภัย อาจารย์บอกว่าอย่าเลือกเยอะ เลือกอันดับเดียวพอ ถ้าทำคะเเนนเยอะก็ไม่ต้องเสียเงินเยอะ เเต่ในระบบ TCAS การเลือกอันดับเดียวเเล้วสมหวังเป็นเรื่องยาก เพราะถึงจะมีคะเเนนสูงอยู่ในมือ เเต่ที่นั่งในมหาวิทยาลัยมีน้อย”

ขณะเดียวกันเรื่องค่าใช้จ่ายไม่ได้มีอยู่เเค่ในลิสท์หน้าสื่อ เพราะเด็กคนหนึ่งต้องจ่ายค่าสมัครสอบที่ไม่ได้จัดโดยรัฐ ทำให้เด็กหลายคนถูกผลักออกไปเพราะการเงินไม่พร้อม

อีกทั้งค่าใช้จ่ายที่เสียไป ลาเต้มองว่าไม่คุ้มค่า เพราะเด็กยังคงต้องคำนวณเอง หาระเบียบเข้ามหาวิทยาลัยเอง เเก้ปัญหาจากความผิดพลาดของระบบด้วยตัวเอง แล้วต้องมาเจอเว็บไซต์รับสมัครที่ล่มตลอด

รวมถึงตัวระเบียบชวนงง ถ้าอ่านพลาดไปนิดเดียวอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการพลาดโอกาส

“TCAS เป็นเหมือนเขตปกครองหนึ่ง ถ้าเราเดินเข้าไปเเล้วไม่รู้ว่าเขาปกครองด้วยอะไรเเละใช้ศัพท์อะไร เราจะงง เเล้วระบบ TCAS งงไม่ได้ เพราะคุณจะผิดขั้นตอน เสียสิทธิ ผิดกติกาไปเลย เช่น เรื่องสละสิทธิ์ สมมติว่าติดมหาวิทยาลัย A เราไม่เรียนถือว่าสละสิทธิ์ไหม เรียกสละสิทธิ์ เเต่ TCAS ไม่ใช่เเบบนั้น เพราะเขาเรียกว่าไม่ใช้สิทธิ จะเรียกสละสิทธิ์ก็ต่อเมื่อกดยืนยันเเล้วไม่เอา”

“เเล้วเอกสารที่ผู้ดูเเลให้นักเรียนหรือครูเป็นตัวอักษร ทำให้เข้าใจยาก คือ ตัวระบบมันซับซ้อน เเต่คุณไม่ได้เอื้อให้ข้อมูลเข้าใจง่าย”

การศึกษาระดับมหาวิทยาลัยคือสิทธิของเด็กที่ควรได้รับอย่างเท่าเทียม

ในฐานะของครูจากพื้นที่ห่างไกล ‘ครูเม’ ฐาปณี วงศ์สวัสดิ์ คุณครูโรงเรียนเเห่งหนึ่งจากภาคใต้ ตั้งคำถามว่า หากโจทย์การศึกษาคือการพัฒนาคนเเล้วเปลี่ยนชนชั้นทางสังคมได้ เเต่ทุกวันนี้เราคัดกรองคนโดยใช้เงิน ถามว่ามีกี่คนที่จะรอดจากระบบนี้ ระบบการศึกษาจึงไม่ใช่การยกระดับคน เเต่เป็นตะเเกรงที่ร่อนคนออกไปจากระบบเรื่อยๆ ต่างหาก

“จริงๆ การศึกษาไม่ควรมีค่าใช้จ่าย คือรัฐต้องลงทุนกับทรัพยากรมนุษย์เพื่อให้พวกเขามีคุณภาพที่สูงขึ้น เเล้วผลลัพธ์จะกลับมาสู่ประเทศนี้หรือเปล่า รัฐกำลังทำอะไรอยู่กับทรัพยากรมนุษย์ปัจจุบัน”

ครูเม ยังมองอีกว่า ลูกศิษย์ของเธอหลายคนเป็นเด็กดี เเละมีความสามารถเเต่ไม่ได้ไปสอบเพราะขาดความพร้อมเรื่องเงินในการเดินทาง

“ระบบกำลังกดเรื่องชนชั้นว่า คุณมีเเค่นี้ก็มาเเค่นี้หรือเปล่า”

ที่สำคัญครูเม บอกว่าเป้าหมายการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของเด็กต่างจังหวัดในเมืองก็ต่างกัน

“ขณะที่เด็กในเมืองกำลังเลือกว่าจะเรียนที่ไหนให้ตรงกับสิ่งที่ตัวเองชอบ เเต่เด็กต่างจังหวัดกำลังหาคำตอบว่าเรียนที่ไหนที่เราถึงจะมีเงินเรียน” 

‘ครูไก่อู’ พรรษวุฒิ จูโพธิ์เเก้ว จากโรงเรียนเเห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร เสริมว่า การคัดเลือกคนเข้ามหาวิทยาลัยเป็นปัญหาทางเศรษฐศาสตร์ เนื่องจากเป็นเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรสถาบันการศึกษา ครูอาจารย์ เเละวิชาความรู้ที่จำกัด เราจึงต้องมีระบบเพื่อให้คนเข้าไปเเย่งชิงทรัพยากรที่มีอย่างจำกัดนั้น 

ครูไก่อู ชวนคิดต่อว่า หากระบบ TCAS เป็นระบบที่รัฐคัดเลือกคนเพื่อเข้ามหาวิทยาลัยของรัฐหรือมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐที่ทุกคนควรเข้าถึงเเล้ว ทำไมยังต้องเเย่งทรัพยากรเหล่านั้น 

“ระบบจัดการคนเข้ามหาวิทยาลัยรัฐควรเป็นสิ่งที่เข้าถึงทุกคนหรือเปล่า  อย่าลืมว่ามหาวิทยาลัยรัฐค่าเทอมถูก เพราะมีภาษีประชาชนมาซัพพอร์ท เพราะฉะนั้นในเมื่อรัฐซัพพอร์ทก็น่าจะเป็นสิทธิพลเมืองในประเทศที่ควรจะได้รับเท่ากัน ในเงื่อนไขที่ว่า เราต้องเเย่งกันเพราะที่นั่งไม่พอ เเต่อย่างน้อยเราควรมีสิทธิเท่าเทียมกันในการเข้าไปเเย่งที่ตรงนั้น”

สอบเข้ามหาวิทยาลัย หากค้นหาตัวเองไม่เจอคุณมีค่าปรับที่ต้องจ่าย

‘ครูมะพร้าว’ ฉัตรบดินทร์ อาจหาญ ครูโรงเรียนสาธิตเเห่งหนึ่งอธิบายคุณค่าของการเรียนมหาวิทยาลัยว่า เขารู้ตัวเองว่าอยากเป็นครู จึงเรียนมหาวิทยาลัยเพื่อใบประกอบวิชาชีพ เเต่ระหว่างทางในรั้วอุดมศึกษาเขาใช้เวลากับการเรียนด้วยตัวเองมากกว่าการเรียนในห้องเรียน

เเต่สิ่งที่คุ้มค้าบนเส้นทางระดับอุดมศึกษา คือ การได้เรียนกับอาจารย์ที่เชี่ยวชาญ ซึ่งเปิดโลกเเละเเลกเปลี่ยนความเห็นกัน ซึ่งช่วยจุดประกายให้ชีวิตเดินหน้าต่อ

การค้นพบว่า ตัวเองอยากเป็นครูตั้งเเต่เด็ก ทำให้ครูมะพร้าวสอบเพียงไม่กี่ตัวเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย ขณะที่เพื่อนสอบเยอะมาก เพราะไม่รู้ว่าตัวเองอยากเป็นอะไร

“ถ้าคุณไม่รู้ว่าตัวเองอยากเป็นอะไรต้องเสียเงินเยอะนะ เเต่ถ้ารู้ตัวเองเสียเงินน้อยนะ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่รู้ว่าตัวเองอยากเป็นอะไรต้องเสียค่าปรับ เเล้วมองกลับไปว่า เเล้วใครที่ทำให้เราไม่รู้ หันกลับไปมองโรงเรียน โรงเรียนก็ไม่ตอบโจทย์อะไรเลยที่ทำให้เรารู้ว่าเราอยากเป็นอะไร”

บทสรุปปัญหา TCAS ‘4 ไม่’ ที่ทุกคนรู้ ครูรู้ เด็กรู้ เเต่ระบบไม่รู้

ระบบ TCAS ที่เปลี่ยนทุกปี ทำให้เด็กคนหนึ่งถูกทิ้งไว้กลางทาง ‘ครูเปรี้ยว’ ธีระวีร์ บัวหลวง ศุภพิชญพงษ์ คุณครูโรงเรียนโยธินบูรณะ มองว่า กว่าเด็กจะได้ปริญญา พวกเขาต้องเจอกับ ‘4 ไม่’ ในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ที่ทุกคนรู้เเต่ทำอะไรไม่ได้ ประกอบด้วย 1.ไม่เข้าใจ 2.ไม่เเน่นอน 3.ไม่ชัดเจน เเละ 4.ไม่ครอบคลุม

“อย่างเเรก คือ ไม่เข้าใจ คนคิดไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้คิด เพราะจริงๆ เเล้วการจัดระบบสอบเข้ามันมีสิ่งที่อยู่ข้างหลัง ซึ่งมาจากความไม่เข้าใจ ทำให้ครูเเละเด็กโดนทิ้งกลางทะเล

สอง  คือ ความไม่เเน่นอนที่เปลี่ยนชีวิตของเด็กคนหนึ่งได้ ยกตัวอย่างเช่น เด็ก gap year ที่วางเเผนไว้เเต่สุดท้ายมีการเปลี่ยนระบบสอบหรือการออกข้อสอบ เกณฑ์คะเเนนก็เปลี่ยน ย้อนกลับมามองตัวเราสมัย Admission ยังได้สอบ  GAT/PAT สองรอบ เเต่ตอนนี้ทุกอย่างสอบได้รอบเดียว เเต่สอบติดกันหมด ทำให้บางคนเลือกเทบางวิชา เเล้วมาพบว่าต้องใช้

ต่อมาคือความไม่ชัดเจน ใครเดาถูกทางคือรอดเเละสอบผ่าน เเละสุดท้ายไม่ครอบคลุม คือ ไม่ครอบคลุมเด็กทุกคน หากพูดเรื่องความพร้อม เคยมีคนพูดว่าระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยรองรับสำหรับเด็กที่พร้อม เเต่ความพร้อมนั้นไม่ใช่เรื่องเงิน เเต่เป็นความพร้อมเรื่องวิชาการ ความรู้เฉพาะทาง ซึ่งพอระบบที่ออกมาไม่ครอบคลุมมันก็เลยเป็นตะเเกรงที่มีคนหลุดออกไปเรื่อยๆ”

ไม่มีใครรู้ว่าเด็ก 65 ที่กำลังวางเเผนเเละเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัยใน 3 เดือนข้างหน้า จะต้องเผชิญกับการเปลี่ยนเเปลงของระบบอีกกี่ครั้ง เเต่จุดเริ่มต้นสำคัญ คือ การรับฟังเสียงของเด็กอย่างเปิดใจ 

เเล้วระบบ TCAS จะเป็นเรื่องที่คนจัดการระบบ เด็ก ผู้ปกครอง เเละครูเรียนรู้เเล้วร่วมเเก้ปัญหาไปด้วยกัน


Writer

Avatar photo

ณัฐธนีย์ ลิ้มวัฒนาพันธ์

ชอบดูซีรีส์เกาหลี เพราะเชื่อว่าตัวเราสามารถสร้างพื้นที่การเรียนรู้ได้ สนใจเรื่องระบบการศึกษาเเละความสัมพันธ์ในครอบครัว พยายามฝึกการเล่าเรื่องให้สนุกเเบบฉบับของตัวเอง

Illustrator

Avatar photo

กรกนก สุเทศ

เด็กกราฟิกที่สนุกกับการอ่านการ์ตูน ดูเมะ ชอบเล่าเรื่องและจำสิ่งต่าง ๆ ด้วยภาพมากกว่าตัวอักษร มองว่าหนึ่งในการเรียนรู้ที่ดีคือการเรียนรู้ผ่านสี รูปภาพ รูปทรง

Related Posts