เนิร์ดได้แต่ต้องสนุกด้วย! Creatorsgarten สวนของนักสร้างที่อยากให้ทุกคนมาลองเล่นและเรียนรู้ไปด้วยกัน

เคยสงสัยกันไหมว่าคนเราจะนั่งฟังวงเสวนาเรื่องเนิร์ดๆ อย่างคณิตศาสตร์ได้นานแค่ไหน 

วิทยาศาสตร์กับไสยศาสตร์จะรวมอยู่ด้วยกันได้จริงๆ เหรอ? 

หรือไอเดียของเราที่คนอื่นมักจะมองว่าไร้สาระ จะกลายมาเป็นงานที่มีคนมานั่งฟังทั้งวันได้จริงๆ ใช่ไหมนะ?

อาจจะฟังดูเหมือนโม้หน่อยๆ

แต่ Creatorsgarten ทำให้สิ่งที่เพิ่งพูดถึงไปนั้นเกิดขึ้นได้จริง

และเกิดขึ้นมาหลายงานแล้วด้วย!

ภูมิ-ภูมิปรินทร์ มะโน / เฟย์-พิชญา เสรีพัฒนะพล / มีมี่-เขมจิรา คชดี

ทำเรื่องโง่ๆ ให้ออกมาเป็นเรื่องง่ายๆ แต่ฟังแล้วหงายเงิบ

ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 7 ปีก่อน จุดเริ่มต้นของ Creatorsgarten เกิดจากไอเดียของ ‘เด็กมอต้น’ อย่าง ‘ภูมิ-ภูมิปรินทร์ มะโน’ และ ‘ชุน-รพีพัฒน์ แก้วประสิทธิ์’ ที่สนใจเรื่องเทคโนโลยีมากเป็นพิเศษและรักในการเขียนโค้ด 

พวกเขาจึงริเริ่มไอเดียอย่างการจัดอีเวนต์เพื่อรวมตัวคนคอเดียวกัน จนเกิดเป็นงาน ‘The Stupid Hackathon’ งาน Hackathon ที่ไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อให้คนมาแข่งกันในเชิงธุรกิจ แต่เป็นงานที่เชิญทุกคนมานั่งเล่น เขียนโค้ด แชร์ไอเดียเรื่องโง่ๆ ไร้สาระ และปล่อยของผ่านโปรเจกต์บ้าๆ บอๆ ที่ใครได้ฟังก็ต้องร้อง ห๊ะ แล้วคารวะในไอเดียโง่ๆ นี้

ถึงอาจจะฟังดูเป็นงานแปลกๆ แต่ความแปลกนี้แหละที่ทำให้งาน ‘The Stupid Hackathon’ กลายเป็นที่สนใจของนักสร้างสรรค์ไอเดีย จนจัดขึ้นมายาวนานต่อเนื่องกันถึง 7 ปีแล้ว และยังมีคนสนใจเข้าร่วมงานมากขึ้นในทุกๆ ปี

เมื่อมีคนอยากเข้าร่วม ก็ต้องมีคนที่อยากจัดงาน

ด้วยเหตุนี้ ‘สวนของนักสร้าง’ จึงเกิดขึ้น

สวนของนักสร้าง

“จริงๆ แล้วชื่อ Creatorsgarten มันมาจากหนังสือเล่มหนึ่งที่มีชื่อว่า Lifelong Kindergarten: อนุบาลตลอดชีวิต ในเล่มนี้เขาเล่าเรื่องการเรียนรู้ที่เด็กอนุบาลใช้กัน เช่น การเรียนรู้ผ่านการสร้าง (Constructionism) แล้วตอนนั้นผมกับ ปั๊บ (ชยภัทร อาชีวระงับโรค) เพื่อนในองค์กรนี้ เราอินเรื่องนี้กันมากๆ อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วรู้สึกว่ามันเปลี่ยนชีวิต ก็เลยมาตั้งชื่อเป็น Creatorsgarten ก็คือ ‘สวนของนักสร้าง’ เพราะ kinder- = เด็ก แต่พอเป็น creator ก็รู้สึกว่าไม่ต้องเด็กก็ได้ เรามีสมาชิกหลายรุ่น หลายช่วงวัย” ภูมิเล่าที่มาของชื่อ Creatorsgarten ให้เราฟัง

สวนแห่งนี้ไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็นคนที่เขียนโค้ดเป็น รักในการเป็นโปรแกรมเมอร์ หรือต้องใช้คอมพิวเตอร์เก่งๆ เท่านั้นถึงจะมาร่วมกัน ‘สร้าง’ อะไรบางอย่างได้ 

แต่ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ขอแค่สนใจอยากมาร่วมสร้างและเรียนรู้อะไรบางอย่างไปด้วยกัน ก็สามารถมาร่วมกับ Creatorsgarten ได้ นี่คือภาพของคอมมูนิตี้ที่ภูมิอยากเห็น และในตอนนี้สวนของนักสร้างแห่งนี้ก็กลายมาเป็นคอมมูนิตี้ในแบบที่ภูมิคิดเอาไว้จริงๆ

‘เฟย์-พิชญา เสรีพัฒนะพล’ และ ‘มีมี่-เขมจิรา คชดี’ คือสองสมาชิกนักสร้างที่ได้มาร่วมงานกับ Creatorsgarten ในเวลาไม่นานมากนัก แต่พวกเธอก็เล่าให้เราฟังว่าคอมมูนิตี้นี้มอบประสบการณ์ที่ดีและสนุกในแบบที่หาจากที่อื่นไม่ได้ และที่สำคัญคือพวกเธอได้เรียนรู้เรื่องต่างๆ มากมาย ผ่านการร่วมคิดโปรเจกต์ต่างๆ และได้ลงมือทำจริง

“เราเข้า Creatorsgarten มาได้ประมาณ 2 ปี สิ่งที่เห็นคือองค์กรมันค่อยๆ ขยายขึ้นเรื่อยๆ แต่ Creatorsgarten ก็ยังให้อิสระกับทุกคน อยากเรียนรู้อะไรก็เข้าไปทำโปรเจกต์นั้นได้เลย ตอนหน้างานอยากทำอะไรก็บอก เราก็ได้งานเอาไปลองทำเลย มันเป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้เราได้เรียนรู้เรื่อยๆ” เฟย์เล่า

อีกหนึ่งสิ่งที่เฟย์เล่าให้เราฟังต่อมา คือ Creatorsgarten เป็นคอมมูนิตี้ที่เปิดกว้างให้ทุกคนได้ทำในสิ่งที่ ‘เป็นตัวเอง’ 

แม้เฟย์จะไม่ได้เขียนโค้ดหรือเขียนโปรแกรม แต่เธอก็สามารถช่วยในส่วนอื่นๆ ที่เธอสนใจได้ เช่น เรื่องของมาร์เก็ตติ้งหรือการจัดการ ทำให้เธอรู้สึกสนุกทุกครั้งที่ได้ร่วมทำโปรเจกต์ เพราะได้ทำในสิ่งที่ชอบและได้มีคอนเนกชันใหม่ๆ นอกรั้วมหาวิทยาลัย

มีมี่ สมาชิกวัย 16 ปี น้องเล็กในกลุ่มที่เราได้มาร่วมพูดคุยในวันนี้ และยังเป็น event director ของงาน How to Learn Almost Anything เล่าให้เราฟังว่าเธอเพิ่งเข้ามาร่วมกับ Creatorsgarten เมื่อช่วงต้นปี 2566 ซึ่งในฐานะเด็ก homeschool มีมี่คิดว่าสวนของนักสร้างแห่งนี้เป็นพื้นที่ที่ทำให้เธอได้เจอกับคนที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกัน และกลายมาเป็นอีกหนึ่ง safe space ของเธอไปเป็นที่เรียบร้อย

“มันเป็นจุดที่ให้ทุกคนได้มาเจอกัน ได้เห็นว่ามีคนสนใจเรื่องเดียวกันกับเรา เขาศึกษามาอีกด้านหนึ่ง ในขณะที่เราก็ศึกษามาอีกด้านหนึ่ง เหมือนเจอจิ๊กซอว์ที่ต่อกันติดแล้วเราได้คุยได้ต่อยอดกัน มันสนุกมาก”

สร้างการเรียนรู้ด้วยตัวเอง

เมื่อเดือนกันยายน 2566 ที่เพิ่งผ่านมานี้ ทั้งภูมิ, เฟย์ และ มีมี่ ก็ได้เป็นส่วนหนึ่งของทีมงานที่จัดกิจกรรมการเรียนรู้แสนสนุก ‘How to Learn Almost Anything คู่มือเรียนรู้ (เกือบ) ทุกสิ่ง ฉบับนอกห้องเรียน’ ณ อุทยานการเรียนรู้ TK Park ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ 

แรกเริ่มเดิมทีคอนเซ็ปต์ของงาน How to Learn Almost Anything นี้ คือการเปิดพื้นที่ให้คนที่สนใจเรื่องต่างกันได้มาเรียนรู้ร่วมกัน ซึ่งก่อนหน้านี้ทาง Creatorsgarten ก็ได้จัดงาน How to Learn Almost Anything 1 ขึ้นมาจากคำถามตั้งต้นว่าแต่ละคนเรียนรู้เรื่องต่าง ๆ อย่างไร และในตอนนั้นมีผู้คนหลายช่วงวัย หลายอาชีพ ให้ความสนใจเข้าร่วมงาน ไม่เว้นแม้กระทั่งพระสงฆ์

“ที่จริงแล้วงาน How to Learn Almost Anything ครั้งนี้เป็นงานที่เกือบจะไม่ได้จัด เพราะตอนแรกผมกับปั๊บเราจะมีกฎกันอยู่ว่าจะไม่จัดงานที่เรารู้สึกว่ามันจำเจเป็นครั้งที่สอง แต่กลายเป็นว่าพอได้มีมี่มาให้ไอเดียเรื่อง homeschool ก็รู้สึกเหมือนได้เปิดโลกตัวเองเหมือนกัน พอมีคนที่อยู่นอกวงตัวเองมาช่วยคิด บางทีมันได้อะไรที่ใหม่กว่าเดิม” ภูมิเล่า

งาน How to Learn Almost Anything 2023 นี้ จึงเกิดเป็นคอนเซ็ปต์การเรียนรู้นอกห้องเรียนที่นำเอาทฤษฎีการสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง (Constructionism) มาใช้ เพราะทาง Creatorsgarten อยากให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมนี้สามารถเป็นเจ้าของการเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง และงานนี้ยังมีตั้งแต่ผู้เข้าร่วมวัย 9 ขวบไปจนถึงผู้ใหญ่

“หลายคนเข้าใจผิดว่า Constructionism คือการสร้าง physical sense เช่น ต่อเลโก้ แต่จริงๆ แล้ว Constructionism คือการสร้างองค์ความรู้ด้วยตัวเอง เวลาเราเรียนในโรงเรียน เรารู้สึกว่าสูตรคณิตศาสตร์มันเป็นอะไรที่ลอยมาจากฟ้า มีคนคนหนึ่งให้มา แต่ Constructionism คือการที่เราใช้การสร้างหรือ discover อะไรต่าง ๆ เพื่อค้นพบสิ่งนั้นเอง”

“ผมยกตัวอย่างตัวเองตอนที่อายุประมาณ 15 ปี อาจารย์สอนเรื่องเมทริกซ์บนกระดานอยู่ เพื่อนในห้องก็ยกมือถามว่า ‘อาจารย์คะ เราเรียนเรื่องเมทริกซ์ไปทำไม’ อาจารย์ก็บอกว่าไม่รู้ ไปถามภูมิดู ผมก็เลยสนใจว่าถ้าเราจะเรียนเรื่องเมทริกซ์แบบไม่เรียน ต้องทำยังไง” 

“ผมจำได้ว่าเมทริกซ์มันใช้ในเกมก็เลยลองวาดรูปต้นไม้ วาดรูปน้ำทะเลด้วยเมทริกซ์ดู แล้วมันทำให้เรารู้สึกว่าเราเป็นคนสร้างองค์ความรู้นั้นเอง ทำให้เรารู้สึกเหมือนเป็นคนที่สร้างวิชานั้นขึ้นมา แล้วมันจะดีสำหรับเด็กเพราะเด็กจะไม่ถามสองคำถาม คำถามแรกคือ เรียนไปทำไม คำถามที่สองคือ มันมาได้ยังไง” ภูมิอธิบาย

พื้นที่ปลอดภัยในการเรียนรู้

“ผมรู้สึกว่าสิ่งสำคัญที่สุดของการเรียนรู้ คือ self-expression หรือการได้แสดงความเป็นตัวตนของตัวเองออกมา” ภูมิบอก

สิ่งหนึ่งที่ Creatorsgarten คำนึงถึงเสมอ คือวิธีการออกแบบกิจกรรมที่สร้าง safe space ให้ผู้เข้าร่วมรู้สึกปลอดภัยและกล้าที่จะแสดงความเป็นตัวเองออกมา เมื่อพื้นที่ตรงหน้าเป็นพื้นที่ปลอดภัย ผู้ร่วมกิจกรรมจะรู้สึกสนุกที่จะเรียนรู้ เปิดรับการเรียนรู้ และเกิดการเรียนรู้กับสิ่งนั้นจริงๆ

มีมี่เล่าว่ากิจกรรมในงาน How to Learn Almost Anything แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกคือกิจกรรมการเล่นบอร์ดเกมและเลโก้ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมแสดงความเป็นตัวตนออกมาผ่านการเล่น ส่วนที่สองเป็นการดีเบตกันระหว่างผู้เข้าร่วมงานทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ใช้คำถามตั้งต้นสนุกๆ อย่างข้าวมันไก่ใส่ห่อหรือใส่กล่อง และส่วนสุดท้ายคือทำกิจกรรมในโลกต่างๆ ทั้ง 3 ใบที่ทีมงานสร้างขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นโลกอิเซไก ดาวอังคาร และโลกของวิญญาณภูตผี โดยจะให้ทุกคนได้เข้าไปอยู่ในโลกที่ตัวเองสนใจแล้วสร้างต่อเติมให้โลกนั้นค่อยๆ ชัดเจนขึ้น

“ทุกกิจกรรมมันมีความเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่ง คือเราปล่อยให้ผู้ร่วมงานทุกคนได้มีอิสระในความคิดของตัวเอง แล้วก็เติมแต่งทุกอย่างเข้าไปในแบบของตัวเอง พร้อมกับรับฟังความคิดของคนอื่นไปด้วย เรารู้สึกว่าเราได้ปูพื้นฐานให้เด็กได้เปิดประสบการณ์ใหม่ๆ สิ่งเหล่านี้คือการใช้ชีวิตนอกโรงเรียนจริงๆ เพราะเราต้องเจอคนหลายแบบในสังคม และขณะเดียวกันเราก็ต้องเป็นตัวของตัวเองให้ได้ด้วย” เฟย์ขยายความ

“หรืออย่างกิจกรรมโลกทั้ง 3 ใบ มันก็เป็นมุมมองที่เห็นต่างกันออกไป แล้วตอนสุดท้ายจะมีโลกใบที่ 4 ที่สร้างขึ้นมาด้วยความสมัครใจของเด็กๆ กลุ่มสุดท้ายที่เขาไม่อยากอยู่ใน 3 โลกก่อนหน้า เพราะเขาอยากอยู่ในโลกใบนี้” มีมี่เสริม

งาน How to Learn Almost Anything ครั้งนี้ มีมี่ผู้มีประสบการณ์ในการเรียน homeschool ได้เข้ามามีบทบาทในการออกแบบกิจกรรมและมอบ insight ให้กับทีม ทำให้รูปแบบกิจกรรมภายในงานค่อนข้างตอบโจทย์ผู้เรียนที่มีความสนใจและความถนัดที่หลากหลาย เข้าถึงได้ทั้งเด็กบ้านเรียนและเด็กทั่วไป

นอกจากนี้ยังมีการใช้ทฤษฎี 4P ที่ภูมิถอดบทเรียนมาจาก Mitchel Resnick ผู้เขียนหนังสือ Lifelong Kindergarten: อนุบาลตลอดชีวิต มาช่วยสร้างสีสันให้งานนี้และทำให้กิจกรรมที่มีอยู่สนุกและสร้างเสริมจินตนาการอย่างไร้ขีดจำกัด

“Mitchel Resnick บอกว่าวิธีเล่นของเด็กนั้นมี 4 ข้อ คือ Project, Passion, Peer และ Play ผู้ใหญ่มักจะทำให้ 4 อย่างนี้ดูเป็นเรื่องน่ากลัว จริงจัง แต่พอเด็กๆ ได้เล่น เราจะเห็นว่า 4P มันคือวิธีเล่นธรรมชาติของเด็ก” 

“Project คือเห็นได้ชัดว่ามันไม่ใช่โปรเจกต์จริงจัง แต่มันคือการที่เด็กคุยกันว่าเราจะล้มยานอวกาศอย่างไร จะสู้กับจอมมารอย่างไร Passion คือเรื่องความสนใจ เด็กแต่ละคนจะสนใจอะไรแปลกๆ เช่น บางคนสนใจช่วยจอมมาร บางคนสนใจเรื่องอวกาศก็มานั่งคุยกันว่ามันจะหลุดวงโคจรหรือเปล่า เด็กๆ คุยกันจริงจังมาก”

“Peer ก็คือเพื่อน ซึ่งเป็นข้อที่สำคัญแทบจะที่สุดเลย เพราะบางทีการเล่นคนเดียวมันจะขาดคนที่จะมาเติมเต็มเรา หรือมองอีกมุมหนึ่งคือเราไม่ได้อยู่บนโลกคนเดียวอยู่แล้ว การจับกลุ่มอยู่ด้วยกันเพื่อทำอะไรแบบนี้ ได้มีคนมาท้าทายความคิดเขา มันเหมือนเราจำลองโลกจริงๆ ให้เด็ก และมันเป็นกิจกรรมที่ได้เปิดโลกจริงๆ”

“และสุดท้ายคือ Play นั่นคือเขาได้เล่น” 

“สำหรับผม ผมรู้สึกว่า Play สำคัญ คำว่า playful มันมี element ของการได้เล่น และสิ่งที่มันขาดไปในโลกจริงของการทำโปรเจกต์มันคือ playful เมื่อไรก็ตามที่เรามองโปรเจกต์เป็นเรื่องเครียด จริงจัง ความเป็นเด็กของเราจะหายไป เราจะไม่กล้าทดลอง ไม่กล้าตั้งคำถาม ไม่เหมือนตอนอนุบาลที่เราอยากจะเอาจรวดไปชนอะไรก็ชนได้ ซึ่งเวลาเราทำโปรเจกต์จริง เมื่อไรก็ตามที่เราขาด Play โปรเจกต์นั้นก็จะขาดจิตวิญญาณของมันไป”

และทั้งหมดนี้เองคือสิ่งที่ทำให้งาน How to Learn Almost Anything ประสบความสำเร็จ

ถอดรหัสความสนุกในความเนิร์ด

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในแต่ละงานหรือแต่ละกิจกรรมของ Creatorsgarten จะมีลายเซ็นอะไรบางอย่างอยู่ในรูปแบบของงานนั้นๆ แต่สิ่งที่โดดเด่นมากที่สุด คงจะเป็น ‘ความเนิร์ด’ ในแบบที่ไม่เหมือนใคร เพราะความเนิร์ดในแบบของเหล่านักสร้างในสวนแห่งนี้ คือความเนิร์ดที่มาพร้อมกับ ‘ความสนุก’ ทำให้ทุกกิจกรรมของ Creatorsgarten มีความแปลกใหม่ไม่ซ้ำคนอื่น

ยกตัวอย่างเช่น งาน Sciยศาสตร์ Night: คืนไสยศาสตร์เดือนวิทยาศาสตร์กรุงเทพฯ ที่นำเอาไสยศาสตร์และทฤษฎีวิทยาศาสตร์มารวมกัน เปิดพื้นที่ให้คนได้มาพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดกันอย่างสนุกสนาน เอาสูตรคณิตศาสตร์มาใช้ในการคำนวณ 

หรือแม้แต่วงเสวนา Maths at Sundown: คณิตศาสตร์พลบค่ำ ที่นำเอาปัญหาคณิตศาสตร์ในหลายมุมมองมาลองพูดคุยกัน ตั้งแต่ประวัติศาสตร์ของการนับและการคำนวณของมนุษย์ ไปจนถึงจุดเปลี่ยนทางประวัติศาสตร์ที่ทำให้มนุษย์รู้จักกับ mathematical analysis และการนำคณิตศาสตร์มาใช้ในการอธิบายปรากฏการณ์ทางธรรมชาติในศาสตร์ต่างๆ ได้อย่างลึกซึ้งและแม่นยำ

“สิ่งหนึ่งที่ผมพูดกับปั๊บมาตั้งแต่วันแรกๆ ที่จัดงานเมื่อ 7 ปีก่อน คือการจัดงานเราแคร์สตาฟก่อนที่จะแคร์คนมาร่วม เพราะเรารู้สึกว่ามันคล้ายๆ กับแอร์โฮสเตสที่ถ้าดูแลแอร์โฮสเตสดี เขาก็จะให้ประสบการณ์ที่ดีกับผู้โดยสาร ดังนั้นคนจัดต้องอินกับสิ่งที่ตัวเองจัดก่อน ไม่ได้มองว่าเป็น organizer อย่างเดียว แต่สามารถเนิร์ดกับเรื่องนั้นได้ด้วย เช่น เรารู้สึกว่าที่เราจัดงานให้กับพวกโปรแกรมเมอร์ พวกงาน tech แล้วคนอิน เพราะมันเป็นสิ่งที่เรารู้สึกอินมากๆ” ภูมิเล่าถึงเคล็ดลับในการจัดงานให้สนุก

“เพราะเราจัดด้วยความสนุก ถ้าคนจัดสนุกมันก็จะไม่เนิร์ดแล้ว”

มีมี่เสริมว่า “อีกเรื่องที่สำคัญคือการสื่อสาร ถ้าสมมติครูเอาป้ายมาบอกว่าให้ไปเข้าร่วมกิจกรรมที่นี่เพื่อเรียนรู้นะ มันก็ไม่น่าไปแล้ว แต่ถ้าสมมติว่าป้ายนี้บอกว่าที่นี่มีอะไรบางอย่างที่น่าสนใจให้เราเข้าไปดูได้ มันคนละโทนแล้วแม้จะเป็นงานเดียวกัน เราเลยมองว่าการสื่อสารก็สำคัญว่าเราจะสื่อถึงตัวผู้เข้าร่วมงานได้ยังไง”

“เวลาที่เราอยากสร้างอะไรหรืออยากทำอะไรสักอย่าง แต่ละคนใน Creatorsgarten จะมีสิ่งที่อยากทำอยู่แล้ว มันเลยทำให้แต่ละคนมีการเรียนรู้เพื่อสร้างสิ่งใหม่ๆ ได้ ทุกอย่างที่ทำเราก็จะ research เอง เรามีแพสชันไปกับมัน แล้วเราก็เสพติดและสนุกเพราะเราได้เรียนเรื่องใหม่ไปเรื่อยๆ” เฟย์ปิดท้าย

นี่แหละคือความสามารถพิเศษของ Creatorsgarten

ทำเรื่องที่ (ดูเหมือน) เนิร์ด ให้กลายเป็นเรื่องที่สนุก เข้าใจง่าย

แต่ท้ายที่สุด คนที่มาร่วมงานจะได้เรียนรู้อะไรสักอย่างกลับไปไม่มากก็น้อย


Writer

Avatar photo

ณัฐนรี บัวขม

มีชีวิตอยู่เพื่อดูคลิปตลก คีบตุ๊กตา และเดินหาร้านอร่อยในย่านบรรทัดทอง

Photographer

Avatar photo

ฉัตรมงคล รักราช

ช่างภาพ และนักหัดเขียน

Illustrator

Avatar photo

สิริกร พรอนงค์

ดีไซน์เนอร์, นักวาด และอาร์ตไดมือใหม่ที่ชอบไปทะเล

Related Posts