ทำงานเหมือนเครื่องจักรที่ต้องไม่พัง – ฟังทุกคนร้องไห้ได้ยกเว้นตัวเอง – และแม้จะพยายามยังไง ก็ยังถูกใครๆ บอกว่า ‘เป็นชายแท้ = ยังไงก็ toxic’  : ความสับสนของคนเป็นพ่อที่ถูกบอกว่าบางวันก็ต้องแกร่งแบบซูเปอร์ฮีโร่ แต่บางวันก็เป็นได้แค่ผู้ช่วยวันเดอร์ วูแมน

จากชุดบทความ : เลี้ยงลูก 2025 ในสังคมที่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อพ่อแม่ ตอนที่ 2/5


คุณเคยเห็นภาพนี้ไหม?

พ่อคนหนึ่งอุ้มลูกแรกเกิด แขนแข็งทื่อ ท่าทางงุ่มง่าม ราวกับกำลังถือระเบิดเวลา

ข้างๆ มีคนรุมบอก “ไม่ใช่แบบนั้น” “ระวังคอๆ” “อุ้มแบบนี้สิ” “เป็นผู้ชายอ่ะมือไม้แข็งจริง”

พ่อพยายามปรับท่าทางของตัวเอง แต่ยิ่งปรับยิ่งเก้ๆ กังๆ สุดท้ายส่งลูกคืนให้แม่ พร้อมประโยค “เธอเก่งกว่า เธอทำเถอะ”

นี่คือจุดเริ่มต้นของบทบาท “พ่อที่เป็นได้แค่ผู้ช่วย”

สังคมกับการสร้างบทบาท “พ่อที่เป็นได้แค่ผู้ช่วย”

The Making of An Assistant Dad

ผู้ชายถูกเลี้ยงมาอย่างไร? 

“ผู้ชายไม่ร้องไห้” 

“ผู้ชายต้องเข้มแข็ง” 

“ผู้ชายต้องหาเลี้ยงครอบครัว” 

“ผู้ชายไม่เก่งเรื่องพวกนี้หรอก” 

ประโยคเหล่านี้ดูเหมือนยกผู้ชายขึ้น แต่จริงๆ แล้วมันกำลังขังพวกเขาไว้ในกรงแคบๆ

กรงที่มีกฎเหล็กว่าความอ่อนโยนไม่ใช่ของผู้ชาย และถ้าผู้ชายแสดงความอ่อนโยน จะถูกมองว่า “อ่อนแอ” หรือ “ไม่เป็นผู้ชาย” แม้ผู้หญิงทุกคนจะบอกว่า “ไม่มี๊ (เสียงสูง)”​ “ไม่เค๊ย (ยิ่งสูงขึ้นไปอีก)” แต่ในชีวิตของพวกเขาเหล่านั้นเติบโตมาในสังคมและวัฒนธรรมแบบนี้

การดูแลลูกอย่างใกล้ชิดเป็นหน้าที่ของแม่ ผู้ชายที่ยุ่งกับการเลี้ยงลูกมากเกินไปจะถูกแซว หรือถูกตั้งคำถามว่า “ทำไมไม่ให้แม่ทำ” และพ่อที่ดีคือพ่อที่หาเงินให้ได้มาก ไม่ใช่พ่อที่เปลี่ยนผ้าอ้อม ความสำเร็จของพ่อวัดจากตัวเลขในบัญชีธนาคาร ไม่ใช่จากรอยยิ้มของลูกเวลาเจอพ่อ

อย่างที่บอกไว้ข้างต้น แม้โลกจะเปลี่ยนไปแล้ว มีคนหลายคนเริ่มเปิดใจกับความเป็นผู้ชายแบบใหม่ในยุคนี้ แต่ ‘กรง’ ที่ว่านี้ไม่ได้สร้างขึ้นในวันเดียว มันถูกสานต่อมาจากรุ่นสู่รุ่น โดยสังคมที่เชื่อว่าผู้ชายกับผู้หญิงมี “บทบาทตามธรรมชาติ” ที่แตกต่างกัน 

ผู้ชายเกิดมาเพื่อสู้รบ หาเลี้ยงครอบครัว ปกป้องบ้าน 

ส่วนผู้หญิงเกิดมาเพื่อดูแล เลี้ยงดู ให้ความอบอุ่น 

ความเชื่อนี้ฝังลึกจนกลายเป็น “ความจริง” ที่ถูกลืมตั้งคำถามอีกครั้ง

ผลลัพธ์คือ ผู้ชายถูกตัดขาดจากโลกของการดูแล พวกเขาไม่ได้เรียนรู้วิธีปลอบเด็กร้องไห้ ไม่รู้ว่าอุณหภูมินมควรเป็นเท่าไหร่ ไม่เข้าใจว่าลูกแต่ละวัยต้องการอะไร เมื่อถึงเวลาที่ต้องเป็นพ่อ พวกเขาจึงรู้สึกเหมือนกลายเป็นคนแปลกหน้าในบ้านของตัวเอง ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นยังไง ไม่กล้าลองผิดลองถูก เพราะกลัวจะทำให้ลูกเจ็บ

ที่เลวร้ายกว่านั้นคือ เมื่อพ่อพยายามเข้ามามีส่วนร่วม มักจะได้รับการ “แนะนำ” หรือ “แก้ไข” อย่างไม่หยุดหย่อน ความหวังดีเหล่านี้ทำให้พวกเขารู้สึกว่าตัวเองไม่เก่ง ไม่ถูก ไม่เหมาะสม ผิดที่ผิดทาง สุดท้ายเขาเหล่านั้นก็ถอยห่างไป และยอมให้แม่เป็นคนจัดการทุกอย่าง ขณะที่ตัวเองกลับไปทำสิ่งที่ “เก่ง” และ “เหมาะสม” กว่า นั่นก็คือ หาเงิน

คุณพ่อในเครือข่ายของ Mappa เล่าให้พวกเราฟังว่า ตอนลูกเกิดใหม่เขาขอลางาน 2 สัปดาห์ แล้วเจ้านายกลับท้วงติงขึ้นมาว่า “ลาทำไมเยอะแย่ะ ลูกก็มีแม่ดูแลแล้วไม่ใช่เหรอ” และโดนเพื่อนร่วมงานแซวว่า “อ้าว กลัวเมียสิเนี่ย คุณพ่อลูกอ่อน” แม้แต่พ่อของเขาเองก็ยังบอกเขาว่า “สมัยพ่อไม่ต้องลางานเลยนะ ทำไปทำมา ดูอีกทีลูกก็โตหมดแล้ว” 

สุดท้ายเขาลางานได้แค่ 3 วัน

3 วัน เพื่อทำความรู้จักกับมนุษย์ตัวน้อยที่จะเรียกเขาว่าพ่อไปอีก 20-30 ปี หรือนานกว่านั้น

โซ่ล่องหนของความเป็นชาย :The Invisible Chains of Masculinity

ในโลกที่เราคุ้นเคย ความเป็นชายมักถูกกำหนดด้วยคำว่า “เข้มแข็ง” “ไม่แสดงอารมณ์” และ “เป็นเสาหลักของครอบครัว” แต่เบื้องหลังภาพลักษณ์เหล่านี้ ผู้ชายส่วนใหญ่เลือกที่จะซ่อนความทุกข์ทรมานที่สังคมไม่เคยให้ความสำคัญ 

งานวิจัยเผยให้เห็นถึงความจริงว่า 1 ใน 10 ของพ่อมีภาวะซึมเศร้าหรือวิตกกังวลในช่วงตั้งครรภ์หรือปีแรกหลังคลอด โดยช่วงที่เสี่ยงที่สุดคือ 3-6 เดือนหลังลูกเกิด

ความแตกต่างอันน่าสะเทือนใจระหว่างพ่อและแม่ไม่ได้อยู่ที่ระดับความรุนแรงของอาการ แต่อยู่ที่ “วิธีการแสดงออก” แม่ได้รับการยอมรับให้แสดงอารมณ์ได้อย่างเปิดเผยมากกว่า ผู้หญิงสามารถพูดคำว่า “ฉันเศร้า” “ฉันกลัว” ได้มากกว่า ในขณะที่พ่อกลับต้องดิ้นรนอยู่ในกรงเหล็กของความเป็นชายที่สังคม โดยเฉพาะสังคมในเอเชียมอบให้ พวกเขาไม่ได้รับ “อนุญาต” ให้บอกว่า “ผมเศร้า” “ผมกลัว” “ผมไม่รู้จะทำยังไง” “ผมรู้สึกไม่พร้อม”

อาการทางกาย จึงกลายเป็นภาษาเดียวที่พวกเขาได้รับอนุญาตให้ใช้ พ่อส่วนใหญ่ที่อยู่ในภาวะวิตกกังวล จะแสดงอาการ ปวดหัวเรื้อรัง เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ และหงุดหงิดง่าย ซึ่งเป็นอารมณ์เดียวที่สังคมยอมให้ผู้ชายแสดงออก

คุณพ่อ 3 วัน: เมื่อสังคมอนุญาตให้พ่อได้ ‘ฝึกเป็นพ่อ’ เพียงเท่านี้

ในสวีเดน พ่อมีสิทธิลาดูแลลูกได้ 90 วัน 

ในฝรั่งเศส พ่อลาได้ 28 วัน 

ในไทย? ไม่มีกฎหมายบังคับชัดเจน ขึ้นอยู่กับนายจ้าง 

พ่อไทยส่วนใหญ่ลางานมาช่วยดูแลลูกได้เพียงแค่ 3-5 วัน

3 วัน คือเวลาที่สังคมคิดว่า “พอแล้ว” สำหรับพ่อ เพราะโครงสร้างความคิดที่ว่า พ่อไม่จำเป็นต้องอยู่ใกล้ลูกในช่วงแรก ลูกมีแม่ดูแลก็เพียงพอแล้ว พ่อแค่หาเงินมาเลี้ยงครอบครัวก็เรียบร้อย

แต่ลองคิดดูอีกครั้งในมุมของผู้ชายที่พึ่งทำความรู้จักกับลูก อารมณ์หลากหลายที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็น อยากจะทำความรู้จักกับสิ่งมีชีวิตตัวน้อย อยากเรียนรู้ อยากอยู่ใกล้ๆ อยากช่วยภรรยาที่พึ่งคลอดลูกได้ไม่นาน อีกใจก็กังวลเรื่องการเงินของครอบครัว หรือแม้แต่จะต้องเรียนรู้วิธีอุ้มลูกอย่างมั่นใจ (การอุ้มลูกไม่ใช่สัญชาตญาณ มันต้องฝึกฝน) กว่าจะปรับชีวิต เรียนรู้การทำผิดทำถูก สิ่งเหล่านี้จะเพียงพอใน 3 วัน ได้อย่างไร? 

ยังไม่นับว่า หากจะมีเวลาเพื่อสร้างความผูกพันกับสมาชิกใหม่ในครอบครัว ความผูกพันนั้นไม่สามารถเกิดขึ้นในวันเดียว หรือแว๊บเดียว มันต้องใช้เวลาในการสร้างและถักทอ ต้องใช้ช่วงเวลาของความเงียบที่เนิ่นนานพอที่จะมองหน้ากัน ต้องใช้การสัมผัส ดูแล และตอบสนองต่อความต้องการของลูก 

ใน 3 วัน พ่อจะมีโอกาสปรับตัวกับบทบาทใหม่ได้อย่างไร? การเป็นพ่อ คืออีกหนึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิตของผู้ชาย เช่นเดียวกับคนที่เป็นแม่ และต้องการเวลาในการปรับตัว ปรับความคิด ปรับความรู้สึก ปรับวิถีชีวิต แต่การไม่มีสิทธิ์หยุดงาน หรือหยุดงานแล้วต้องไม่ได้รับค่าจ้าง หรืออาจถึงขั้นเสียโอกาสในการเติบโตในหน้าที่การงาน ทำให้เขาต้องถอยกลับไปเป็นผู้ชายคนเดิมที่ทำได้แค่ ‘หาเงิน’ และเป็น ‘ผู้ช่วย’ เป็นครั้งคราว และกลายเป็นพ่อที่ต้องพึ่งพาแม่ในทุกเรื่องที่เกี่ยวกับลูก

ต้นทุนของการเป็น ‘เสาหลักผู้หาเลี้ยงครอบครัว’

พวกเรามักได้ยินคนชื่นชมพ่อที่เลี้ยงลูกว่า “โห! ดีจังเลย ช่วยภรรยาเลี้ยงลูกด้วย” บางครั้งก็จะได้รับการยกย่องว่าเป็นพ่อดีเด่น 

ภาษาที่เราใช้พูดถึง “พ่อ” แม้เราจะไม่รู้ตัวแต่มันเปิดเผยความคิดที่ซ่อนอยู่ ความคิดที่บอกว่าการเลี้ยงลูกเป็นหน้าที่หลักของแม่ และพ่อเป็นเพียงแค่ผู้ช่วย 

เป็นแค่คนที่ “มาช่วย” เมื่อแม่ต้องการ ไม่ใช่คนที่มีความรับผิดชอบอย่างเท่าเทียมกัน

คำว่า “ช่วย” มันสร้างลำดับชั้นอย่างชัดเจน เพราะมันบอกว่าใครเป็นเจ้าของงาน ใครเป็นผู้รับผิดชอบหลัก และใครเป็นแค่ผู้ช่วย เมื่อพ่อถูกใส่ในกรอบ “ผู้ช่วย” อย่างต่อเนื่อง พวกเขาก็ค่อยๆ เชื่อในบทบาทนั้น และค่อยๆ ถอยห่างไป

“แม่ทำได้ดีกว่า” 

“ลูกชินมือแม่มากกว่า” 

“ผมจะไปรู้ได้ยังไงว่าลูกต้องการอะไร” 

ประโยคเหล่านี้ฟังดูเหมือนเป็นการยอมแพ้ หรือขี้เกียจ แต่ความจริงแล้ว มันเป็นผลลัพธ์ของระบบที่ไม่เคยให้โอกาสให้พ่อได้เรียนรู้บทบาทของการเป็น “พ่อ” จริงๆ

พ่อรุ่นใหม่หลายคนอยากมีส่วนร่วมในการเลี้ยงลูกมากขึ้น พวกเขาอยากเห็นลูกเรียนรู้การก้าวเดิน อยากอ่านนิทานก่อนนอน อยากไปงานแสดงของลูกที่โรงเรียน อยากเป็นมากกว่าแค่ “คนที่กลับมาตอนเย็นแล้วถามว่า วันนี้ลูกเป็นยังไง” แต่เมื่อพวกเขาพยายามทำ พวกเขาก็พบว่าโลกการทำงานไม่ได้เตรียมพร้อมสำหรับพ่อที่อยากเป็นมากกว่าแค่คนที่ต้องหาเงินเลี้ยงครอบครัว

“ถ้าผมลางานบ่อย เจ้านายก็จะมองว่าไม่ทุ่มเทให้งาน” 

“ถ้าผมขอยืดหยุ่นเวลากลับบ้าน เขาจะคิดว่าผมอ่อนแอ ไม่เหมาะกับการเลื่อนตำแหน่ง” 

“ถ้าผมบอกว่าต้องกลับไปดูลูก โอกาสเลื่อนตำแหน่งจะหายไป” 

สิ่งเหล่านี้คือความกลัวที่พ่อหลายคนต้องเผชิญเมื่อต้องเลือกระหว่างงานกับการดูแลลูก

วัฒนธรรมองค์กรส่วนใหญ่ยังคงคิดว่าผู้ชายที่ “จริงจัง” กับงานต้องพร้อมทำงานได้ 24/7 ต้องพร้อมเดินทางไปไหนก็ได้ ต้องอยู่ออฟฟิศจนดึกแค่ไหนก็ได้ ถ้าทำไม่ได้ แสดงว่า “ไม่มุ่งมั่น” “ไม่ทุ่มเท” หรือแย่กว่านั้นคือ “ไม่มีความเป็นผู้นำ” ความคิดนี้ฝังลึกจนผู้ชายที่เรียกร้องขอความยืดหยุ่นในหน้าที่การงานเพื่อครอบครัวมักถูกมองว่า “อ่อนแอ” “ปวกเปียก” หรือ “ไม่ผู้ชาย (แท้)”

และนี่ก็คือสิ่งที่คนเป็นพ่อต้องเผชิญทุกวัน คือการเลือกระหว่างการเป็น “ผู้หาเลี้ยงครอบครัวที่ดี” กับ “พ่อที่อยู่ข้างๆ ลูก” เลือกระหว่าง “การได้รับความเคารพในที่ทำงาน” กับ “การได้รับความรักจากลูก” เลือกระหว่าง “ความมั่นคงทางการเงิน” กับ “ความสุขในการเป็นพ่อที่เต็มที่กับทุกช่วงชีวิตของลูก”

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือ พ่อหลายคนรู้สึกเหมือนเป็น “คนแปลกหน้า” ในบ้านของตัวเอง พวกเขาหาเงินได้เก่ง มีตำแหน่งงานที่ดี แต่ไม่รู้ว่าลูกชอบสีอะไร ชอบกินอะไร ไม่รู้ว่าเพื่อนสนิทของลูกชื่ออะไร ไม่รู้ว่าลูกกลัวอะไร ใฝ่ฝันถึงอะไร กังวลเรื่องอะไร บางครั้งกว่าพวกเขาจะได้รู้ ลูกก็เปลี่ยนไปชอบอย่างอื่น หรือเปลี่ยนวัยเสียแล้ว

ทำไมผู้ชายต้องเลือก? 

ทำไมไม่สามารถเป็นทั้งสองอย่างได้? 

ทำไมการเป็นพ่อที่ดีถึงต้องขัดแย้งกับการเป็นพนักงานที่ดี? 

ทำไมการดูแลครอบครัวถึงถูกมองว่าเป็นอุปสรรคต่อความสำเร็จ แทนที่จะเป็นแรงจูงใจที่ทำให้ทำงานหนักขึ้น?

คำถามเหล่านี้ชี้ให้เห็นถึงความบิดเบือนของระบบที่คิดว่าผู้ชายที่ไม่มีความผูกพันทางครอบครัวจะทำงานได้ดีกว่า ทั้งที่ในความจริงแล้ว พ่อที่มีความสุขกับครอบครัวมักจะมีแรงจูงใจในการทำงานมากกว่า มีเป้าหมายชัดเจนกว่า และมีเสถียรภาพทางอารมณ์ดีกว่า 

The Swedish Experiment: เมื่อ ‘พ่อ’ ได้เป็น ‘พ่อ’ จริงๆ

ในสวีเดน มีการศึกษาที่น่าสนใจ พบว่าพ่อที่ใช้วันลาเพื่อมาดูแลลูก มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรน้อยกว่า และยิ่งลานานเท่าไหร่ ผลดีต่อสุขภาพจิตยิ่งชัดเจน การศึกษานี้ติดตามพ่อชาวสวีเดนเป็นเวลาหลายปี และพบว่าผู้ชายที่ใช้ช่วงเวลาแรกกับลูกมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดีกว่าอย่างมีนัยสำคัญ

เพราะอะไร?

เพราะการได้สร้างความผูกพันกับลูกตั้งแต่แรก การได้มีส่วนร่วมในการดูแล คือ “การสร้างความหมายให้กับชีวิต”

เมื่อผู้ชายได้เป็น “พ่อ” อย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่ “ผู้ให้เงิน” หรือ “หัวหน้าครอบครัว” แต่เป็นคนที่ลูกวิ่งมาหาเมื่อเจ็บ เป็นคนที่ลูกเรียกหาเมื่อกลัว เป็นคนที่ไปรบกับลูกตอนเช้าที่บางวันลูกก็งอแงใส่ หรือบางวันก็ยิ้มให้ ได้อบขนมปังที่ลูกกินแล้วร้อง “ว้าว” มันสร้างความรู้สึกของการ “มีความหมาย” ที่ไม่มีอะไรเทียบได้

ผลลัพธ์คือพ่อในกลุ่มทดลองเหล่านั้นมีระดับความเครียดที่ลดลง มีความรู้สึกของการมีจุดหมายในชีวิตที่ชัดเจนขึ้น มีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นไม่เพียงแต่กับลูก แต่ยังรวมถึงคู่ครอง และแม้แต่ในที่ทำงาน เพราะพวกเขาได้เรียนรู้ทักษะการดูแล ความอดทน การตั้งใจฟัง และการจัดการอารมณ์ ซึ่งเป็นทักษะที่มีประโยชน์ในทุกด้านของชีวิต

และการที่ผู้ชายได้รับอนุญาตให้แสดงความอ่อนโยน ได้รับอนุญาตให้ดูแล ได้รับอนุญาตให้รัก กลับกลายเป็นสิ่งที่ทำให้พวกเขาแข็งแกร่งขึ้น ไม่ใช่อ่อนแอลง ตรงข้ามกับสิ่งที่สังคมหลายแห่งเชื่อ 

การเป็นพ่อที่ดูแลลูกอย่างใกล้ชิดไม่ได้ทำให้ผู้ชาย “เหมือนผู้หญิง” แต่ทำให้พวกเขาเป็น “มนุษย์ที่สมบูรณ์” มากขึ้น

Breaking the Chain: เมื่อพ่อเริ่มทำลายกรงขังของความเป็นผู้ชายในความหมายแบบเดิม

มีคลิปหนึ่งใน TikTok ที่เป็นไวรัลมาก

พ่อคนหนึ่งถ่ายคลิปตัวเองกำลังถักเปียให้ลูกสาว โดยมีคำบรรยายเขียนว่า:”ใครบอกว่าพ่อถักเปียไม่เป็น? ผมเรียนจาก YouTube แค่ 20 นาที ตอนนี้ลูกสาวผม มีทรงผมใหม่ทุกวัน”

คอมเมนต์ท่วมท้น แน่นอนว่ามีทั้งชื่นชม และมีทั้งประชด

แต่ที่น่าสนใจคือ มีพ่ออีกหลายคนมาคอมเมนต์ว่า “ผมก็อยากทำเหมือนกัน แต่ไม่รู้จะเริ่มยังไง”

นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น เมื่อมีพ่อคนหนึ่งกล้าทำลายกรอบ มันก็จะมีพ่ออีกหลายคนที่อยากทำตาม

จาก ‘ผู้ช่วย’ สู่ ‘ผู้ร่วมทาง’

เราทุกคนในครอบครัวต่างฝันถึงวันที่พ่อจะไม่ต้องเป็น “ผู้ช่วย” อีกต่อไป แต่จะได้เป็น “ผู้ร่วมทาง” อย่างแท้จริง 

เราอยากเห็น พ่อขอลาดูแลลูกโดยไม่ถูกมองว่าแปลก หรือถูกถามว่า “แล้วแม่เป็นอะไร ทำไมดูแลลูกไม่ได้” เหมือนกับการดูแลลูกเป็นหน้าที่เฉพาะของแม่เท่านั้น 

เราอยากเห็นวันที่พ่อเปลี่ยนผ้าอ้อมในห้างให้ลูกได้โดยมีห้องเปลี่ยนผ้าอ้อมในห้องน้ำชาย ไม่ต้องไปขอยืมห้องน้ำหญิงหรือต้องเปลี่ยนในที่สาธารณะ เราอยากเห็นวันที่พ่อพาลูกไปหาหมอโดยไม่ถูกถามว่า “ทำไมพ่อมาคนเดียว เป็นพ่อเลี้ยงเดี่ยวเหรอ” เหมือนกับพ่อไม่รู้เรื่องลูกมากพอที่จะตอบคำถาม 

เหนือสิ่งอื่นใด เราอยากเห็นวันที่ประโยค “พ่อช่วยเลี้ยงลูก” จะกลายเป็น “พ่อ”  ธรรมดา ที่มีความหมายเท่าๆ กับ “แม่” และไม่ต้องมีคำว่า “ช่วย” เพราะมันไม่ใช่การช่วย มันคือการรับผิดชอบร่วมกัน มันคือหน้าที่ที่เท่าเทียมกัน 

และมันคือความรักที่เท่าเทียมกัน

ถ้าอยากเห็น “พ่อ” ได้เป็น “พ่อ” เราทุกคนต้องเปลี่ยน

การเปลี่ยนแปลงนี้ต้องการมากกว่าการเปลี่ยนความคิด ต้องการการเปลี่ยนแปลงระบบที่เป็นรูปธรรม

ลาคลอดสำหรับพ่อที่เป็นสิทธิ ไม่ใช่ความกรุณา อย่างน้อย 30 วัน ไม่ใช่ 3 วัน เพื่อให้เวลาพอที่พ่อจะได้เรียนรู้ ปรับตัว และสร้างความผูกพันกับลูก ได้รับเงินเดือนเต็ม ไม่ใช่ลาไม่ได้เงินหรือได้เงินบางส่วน เพราะการดูแลลูกไม่ใช่ “วันหยุด” มันคืองาน ไม่กระทบต่อการประเมินผลงานหรือการเลื่อนตำแหน่ง เพราะการเป็นพ่อที่ดีไม่ควรเป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าในงาน

เปลี่ยนวัฒนธรรมที่ทำงาน ทำให้พ่อที่ขอเวลาทำงานที่ยืดหยุ่นเป็นเรื่องปกติ หยุดใช้คำว่า “พ่อลูกอ่อน” ในเชิงดูถูกเมื่อผู้ชายแสดงความห่วงใยครอบครัว สร้างแบบอย่างจากผู้นำที่ให้ความสำคัญกับครอบครัว แทนที่จะยกย่องเฉพาะผู้ที่ทำงานจนไม่มีเวลาให้ใคร

สอนผู้ชายให้สามารถเป็น “ผู้ดูแล” ตั้งแต่เด็ก ให้เด็กผู้ชายเล่นตุ๊กตาได้ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะ “เหมือนผู้หญิง” เพราะการเล่นตุ๊กตาสอนความรับผิดชอบ ความอ่อนโยน การดูแล สอนให้แสดงอารมณ์ได้ ให้เด็กผู้ชายสามารถบอกได้ว่าเศร้า กลัว ดีใจ โดยไม่ถูกสอนว่า “เป็นผู้ชายไม่ร้องไห้” ฝึกให้ดูแลผู้อื่นเป็น ไม่ว่าจะเป็นการดูแลพี่น้อง ผู้สูงอายุ หรือแม้กระทั่งสัตว์เลี้ยง

หยุดให้คำชมเกินพอดีกับพ่อที่ “ช่วย” พ่อเปลี่ยนผ้าอ้อมไม่ใช่ฮีโร่ มันคือหน้าที่ธรรมดาที่ไม่ต้องปรบมือ พ่อทำอาหารให้ลูกไม่ต้องโพสต์ลงเฟซบุ๊กเหมือนเป็นเหตุการณ์พิเศษ มันควรเป็นเรื่องปกติเหมือนการที่แม่ทำอาหาร การที่เราทำเหมือนพ่อที่ดูแลลูกเป็นสิ่งพิเศษ กลับกลายเป็นการเสริมความคิดที่ว่านี่ไม่ใช่งานของพ่อ

สำหรับพ่อที่กำลังอ่านบทความนี้…

ถ้าคุณเป็นพ่อที่กำลังอ่านอยู่ เราอยากบอกว่า “ความรักที่คุณมีให้ลูก มันไม่น้อยกว่าคนที่เป็นแม่เลย ความอยากดูแลลูก มันไม่ได้ทำให้คุณอ่อนแอ มันทำให้คุณเป็นมนุษย์ หรือความกลัวที่จะทำผิด มันก็เป็นเรื่องปกติ คนเป็นแม่ก็รู้สึกเช่นเดียวกัน”

คุณไม่ได้เกิดมาพร้อมกับคู่มือการเป็นพ่อ แต่แม่ก็ไม่ได้เกิดมาพร้อมคู่มือของการเป็นแม่เหมือนกัน

เราทุกคนกำลังเรียนรู้ 

เราทุกคนทำผิดพลาด

และเราทุกคนต้องการเวลา

แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ คุณต้องได้รับโอกาส

โอกาสที่จะลอง โอกาสที่จะผิด โอกาสที่จะเรียนรู้ และโอกาสที่จะได้รักลูกอย่างเต็มที่โดยไม่ต้องผ่านแม่เป็นคนกลาง

จากกรงของฮีโร่ความเป็นชายที่สังคมมอบให้สู่อิสรภาพที่เราจะเป็นใครก็ได้ที่เราอยากเป็นเพื่อครอบครัวของเรา

ความจริงแล้ว พ่อไม่ได้ต้องการมาก พวกเขาไม่ได้ขอให้ตัวเองเป็นเป็นฮีโร่ ไม่ได้ขอให้ได้รับการยกย่องด้วยซ้ำ พวกเขาแค่อยากได้รับอนุญาตให้เป็นพ่อ ไม่ใช่แค่ผู้หาเงิน ไม่ใช่แค่ผู้ช่วย ไม่ใช่แค่คนที่ยืนดูจากไกลๆ แต่เป็นพ่อที่ได้กอดลูกเมื่อลูกเศร้า ได้ปลอบเมื่อลูกร้อง ได้เล่นเมื่อลูกเบื่อ ได้ดูแลเมื่อลูกป่วย ได้รักโดยไม่ต้องขออนุญาต และได้ร้องไห้เมื่ออยากร้อง โดยไม่ถูกตัดสินว่าอ่อนแอ

เพราะนั่นแหละ คือความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ การที่ผู้ชายได้รับอนุญาตให้แสดงความรัก ความห่วงใย ความอ่อนโยน ไม่ได้ทำให้พวกเขาเป็นผู้ชายน้อยลง แต่ทำให้พวกเขาเป็นตัวเองมากขึ้น และมากขึ้นในฐานะมนุษย์ มากขึ้นในฐานะพ่อ และมากขึ้นในฐานะส่วนหนึ่งของครอบครัวที่สมบูรณ์


ตอนต่อไป: เราจะมาดูกันว่า ระบบไหนที่ต้องเปลี่ยน เพื่อให้ทั้งพ่อและแม่ได้เป็นพ่อแม่อย่างแท้จริง โดยไม่ต้องเสียสละตัวเองจนหมดสิ้น


Writer

Avatar photo

กองบรรณาธิการ Mappa

Illustrator

Avatar photo

Arunnoon

มนุษย์อินโทรเวิร์ตที่อยากสื่อสารและเชื่อมโยงกับผู้คนผ่านภาพวาด

Related Posts