Daddy’s Tips

“ไม่มีอะไรในชีวิตที่สำเร็จรูป” ชวนลูกซ่อม รื้อ สร้าง จากคุณพ่อ Daddy’s Tips

“เราไม่ได้คาดหวังให้เขาทำงานช่างเป็น แค่อยากจะสร้างเสริมประสบการณ์ให้ลูกมากกว่า”

เข้าปีที่สองแล้วที่ช่องยูทูบ Daddy’s Tips ได้ผลิตเนื้อหาเกี่ยวกับการทดลอง ทำงานช่าง งานประดิษฐ์ D.I.Y พร้อมนำเสนอเทคนิคและวิธีการที่จะช่วยให้ทุกคนใช้ชีวิตประจำวันได้ง่ายขึ้น โดยมีหัวเรือคือคุณพ่อ ชาตรี เศวตบวร วัย 36 และ ณณา-จิณณา เศวตบวร ลูกสาววัย 6 ขวบ เป็นคู่หู 

“งานหลักของผมคือทำงานคอมพิวเตอร์ มันไม่มีโอกาสที่จะได้มาจับเครื่องมือช่างอะไรหรอก แต่ที่ทำให้ผมตัดสินใจทำช่องเพราะเป็นความชอบส่วนตัว ผมแค่เริ่มจากการมองไปรอบๆ บ้านตัวเอง ตะไคร่เยอะจังเลย น้ำท่วมพื้นหน้าบ้านเวลาฝนตก งั้นมาซ่อมกันเถอะ”

ย้อนไปในวัยเด็ก คุณพ่อชาตรีเล่าว่าชีวิตวัยเด็กของตัวเองคลุกคลีอยู่กับอุปกรณ์งานช่างตั้งแต่จำความได้

“คุณแม่เปิดร้านขายของชำ ส่วนคุณพ่อเป็นช่างรื้อถอน ที่บ้านผมจึงเต็มไปด้วยเครื่องมือและเศษวัสดุต่างๆ มันค่อนข้างสกปรกนิดหนึ่ง แต่มันเป็นสิ่งที่เราเห็นมาแต่เด็กจนเป็นวิถีชีวิต ยิ่งสมัยก่อนเราไม่มีของเล่นหรือการ์ตูนให้ดู เพราะผมต้องช่วยที่บ้านทำงาน คอยตามคุณพ่อเข้าไปดูที่ไซต์งาน เราจึงซึมซับมันมา พูดได้ว่าเพื่อนวัยเด็กของเราคือไขควงและพวกอุปกรณ์ช่างต่างๆ”

นอกจากจะเติบโตขึ้นท่ามกลางบรรยากาศที่เต็มไปด้วยอุปกรณ์ช่างต่างๆ แล้ว สิ่งหนึ่งที่ได้รับไม้ต่อมาจากคุณปู่อีกทีคือ ‘ความรู้สึกไม่ชอบอะไรที่สำเร็จรูป’

“ตั้งแต่เด็ก ผมเห็นคุณพ่อชอบประดิษฐ์เครื่องมือใหม่ๆ เขามักจะหาของเก่าในบ้านมาทำให้เกิดสิ่งใหม่เสมอ เช่น ไม้นวดหลัง D.I.Y เป็นไม้นวดหลังที่ประดิษฐ์มาจากเหล็กทรงโค้ง มีปลายด้ามเป็นตุ้มกลมๆ ที่เอาวัสดุเศษไม้ในบ้านมาทำ ซึ่งสิ่งนี้ผมคิดว่าตัวเองน่าจะได้รับจากการเห็นคุณพ่อลงมือทำ มันติดตัวมา พอเราโตขึ้นเราก็ยังชอบประดิษฐ์ของใช้งานเองอยู่”

ดังนั้นการเปิดช่องยูทูบ Daddy’s Tips จึงเกินความตั้งใจไปมาก

จากแค่คิดว่าอยากจะหากิจกรรมทำ แต่การถ่ายคลิปสนุกๆ ในวันหยุดกับครอบครัว กลับช่วยเติมเต็มความทรงจำและเรียกความรู้สึกในวัยเด็กของคุณพ่อชาตรีกลับมาได้เช่นกัน

งานประดิษฐ์เรียกคืนความภูมิใจให้ตัวลูก

“แต่ผมไม่ได้คาดหวังว่าลูกจะต้องทำงานช่างเป็น”

ในฐานะพ่อ การพาลูกทำงานประดิษฐ์ ชาตรีไม่ได้ต้องการให้ลูกเก่ง ถ้าไล่ดูตามเนื้อหาในช่อง Daddy’s Tips จะพบว่าเป็นพื้นที่ที่เน้นสร้างสิ่งประดิษฐ์ที่ใช้งานได้จริง ตั้งแต่ซ่อมก๊อก ถอดเครื่องยนต์ ปีนหลังคา เดินสายไฟ ต่อท่อน้ำ ฯลฯ ซึ่งผลงานบางอย่างอาจไม่เหมาะสมถ้าเด็กจะทำด้วยตัวเอง เนื่องจากมีข้อกังวลเรื่องความปลอดภัย

ดังนั้นเป้าหมายของคุณพ่อชาตรี จึงอยู่ที่ผลประโยชน์ระหว่างทางมากกว่า 

“ผมแค่อยากจะใช้เวลาร่วมกับลูกและเวลาตรงนั้นก็อยากให้เขามีประสบการณ์ เด็กวัยนี้ถ้าเขาสนใจ อยากจะจับ อยากจะทำอะไร ผมแค่อยากให้เขาได้ลองเท่านั้นเอง หลังจากนั้น เขาจะไปคิดว่าเขาชอบ/ไม่ชอบ สนุกกับมันหรือไม่ อยากทำอะไรต่อไหม พ่อแม่พยายามที่จะให้ประสบการณ์เขามากกว่า เพื่อให้เขามีข้อมูลเพียงพอที่จะสามารถเอาไปคิดเองได้”

ตามข้อมูลพบว่าในช่วงวัย 0-8 ปี เป็นช่วงสำคัญที่สุดในการสร้างพัฒนาการเด็ก เช่นเดียวกับคุณพ่อชาตรีที่มองเห็นความสำคัญและให้ความใส่ใจกับลูกในช่วงอายุนี้มากที่สุด ทักษะที่คุณพ่อเน้นและฝันอยากให้เกิดขึ้นเป็นพิเศษ คือการเติมเต็มความมั่นคงทางอารมณ์ด้านสมาธิ ทำให้ลูกรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเองเมื่อเขาทำงานได้สำเร็จ และมอบคืนเซนส์ในการดูแลตัวเองให้ลูก

กิจกรรมง่ายๆ ที่พอจะเติมเต็มทักษะดังกล่าวให้เป็นจริง ไม่ใช่กิจกรรมที่ต้องลงทุนมากมายหรือยากซับซ้อน เพราะการทำงานบ้าน งานสวน งานช่าง ครอบครัวก็ช่วยสร้างทักษะให้ลูกได้เช่นกัน

ถ้าเด็กโตพอที่จะช่วยงานบ้านได้ก็พยายามให้เขาช่วย อย่าห้ามเขาไปซะทุกอย่าง อย่าเบรกเขาด้วยคำว่า ‘ไม่ต้องทำ เดี๋ยวบ้านเลอะ’ อนุญาตให้เขาทำเลอะได้ แต่เราก็ต้องสอนให้เขารู้จักเก็บ ส่วนหนึ่งจะทำให้เขารู้จักความรับผิดชอบด้วย” คุณพ่อชาตรียกตัวอย่าง

คุณพ่อชาตรี เล่าถึงประสบการณ์ครั้งที่ตัวเองไปเรียนต่อออสเตรเลีย นั่นเป็นประตูบานสำคัญที่เปิดและย้ำให้เห็นความสำคัญของการรู้จักพึ่งพาตัวเอง

“ผมมองว่าผู้คนที่นู่นมีทักษะ มีความเข้าใจในเรื่องของการทำอะไรด้วยตัวเองสูงกว่าคนไทยมาก อาจเพราะด้วยปัจจัยค่าแรงที่แพงกว่า เราจึงเห็นภาพการดูแลตัวเองของเขาชัดเจน ไม่ว่าจะกั้นห้อง ทำสวน ทำประตู ทาสี ทำก๊อกน้ำ ต่อน้ำ ซ่อมทุกอย่าง เขาจะเริ่มจากการดูแลตัวเองก่อน ซึ่งผมเห็นโอกาส ถ้าอนาคตคนไทยมีความสามารถที่จะทำอะไรได้ด้วยตัวเอง ก็คงเป็นสิ่งที่ดี”

งานประดิษฐ์พาเรียนรู้ความผิดพลาด

แต่แน่นอนว่างานประดิษฐ์ มักจะตามมาด้วยความเฟลและรู้สึกผิดพลาด บางครั้งสิ่งที่เราคิดว่าทำได้ กลับทำไม่ได้ แต่ไม่ต้องกังวล ถ้าผลลัพธ์ของงาน D.I.Y มันเฟล พ่อแม่แค่บอกลูกว่า นี่คือเวลาของการหาคำตอบร่วมกัน 

คุณชาตรีบอกว่า กว่าจะได้แต่ละคลิปมีขั้นตอนและกระบวนการหลายอย่าง และสิ่งแรกที่ต้องทำคือการหาข้อมูล  

“คลิปทำน้ำยาฆ่าเชื้อโรคจากไส้ดินสอ (hypochlorous disinfectant spray) ในการทำ มีขั้นตอนหนึ่งจะต้องใช้กำลังไฟช็อต 12 โวลต์ แต่มันมีรายละเอียดอยู่ว่าเราต้องหาจังหวะช็อตที่เหมาะสมในการช็อตนะถึงจะเกิดปฏิกิริยาขึ้นมา ซึ่งตอนที่เราทดลองครั้งแรกมันก็เงียบเลย มันไม่เกิดก๊าซอะไรขึ้นมา ขณะเกิดความเฟลลูกก็อยู่ใกล้ๆ เขาจะได้เห็นทุกอย่างว่ามันเกิดอะไรขึ้น พ่อแก้ไขปัญหายังไง ลองสลับขั้วดูไหม จิ้มขั้วให้มันลึกลงไปในน้ำมากขึ้นไหม สังเกตดูความเปลี่ยนแปลงที่ทำให้เกิดผลลัพธ์เช่นนั้น นี่คือสิ่งที่ลูกจะได้”

“การทำงานทุกอย่างมันมีผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ อยู่แล้ว แต่ระหว่าง process เขาก็สามารถที่จะเรียนรู้ไปด้วยว่าถ้าเจอกับสิ่งที่ไม่เป็นไปตามที่คิด จะสามารถพลิกแพลง แก้ไขปัญหาอย่างไรได้บ้าง ซึ่งเราคงไม่ได้สอนเขาว่าต้องทำอย่างนี้ แต่เขาก็เรียนรู้จากการที่เขาเห็นว่าพ่อทำประมาณไหน”

สิ่งสำคัญที่สุดในเรื่องนี้ คือ พ่อแม่จะต้องเปิดใจจัดการกับความกลัวของตัวเอง

“เด็กสมัยนี้เก่งนะครับ เขาเก่งกว่าสมัยพวกเราเยอะมาก สมัยเราอายุเท่าเขายังปั้นดินปั้นทรายอยู่เลย แต่เด็กสมัยนี้เขารู้เรื่องยากๆ กว่าเรา”

“เด็กเขามีความสามารถมากกว่าที่เราเห็น สำหรับผมหน้าที่ของพ่อแม่คือการส่งเสริมให้เขาได้มีประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ มากกว่า อย่าไปปิดกั้นมาก อย่างนั้นได้ อย่างนี้ไม่ได้ ถ้ามันเป็นสิ่งที่เขาอยากลองจับ อยากลองทำ แล้วมันไม่อันตราย ให้เขาลองครับ เดี๋ยวเขาก็จะบอกเองว่าเขาชอบไม่ชอบ”

ไม่ใช่แค่ลูก พ่อเองก็เรียนรู้

คุณพ่อชาตรีย้ำว่าตั้งแต่เปิดช่อง Daddy’s Tips เกิด learning ในตัวเองขึ้นเยอะมาก 

หนึ่ง – ได้ประสบการณ์เพิ่มเติม 

“ทุกวันนี้ผมจัดการดูแลทุกอย่างรอบบ้าน เครื่องซักผ้าผมก็แกะทำเอง ล้างแอร์เอง ทำสวน ทุกสิ่งอย่างมันเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ ตัวผมเองก็ผู้ใหญ่ระดับหนึ่งแล้ว ผู้ใหญ่ที่อายุระดับเดียวกับผมบางคนก็อาจจะปิดกั้นตัวเองไปแล้ว ทำงานเหนื่อยจะตายแล้วยังต้องมาดูแลบ้านอีก แต่ผมไม่คิดแบบนั้น”

สอง – กระชับความสัมพันธ์ มีกิจกรรมร่วมกับครอบครัว

“ผมว่าความสัมพันธ์ในครอบครัวดีขึ้นมากนะ ผมถ่ายคลิปเอง ตัดเอง ลูกอยู่ข้างๆ คุณแม่ก็มาช่วยดูแล แต่ก่อน ศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ เราคิดไม่ออกว่าจะทำอะไรร่วมกัน แต่เดี๋ยวนี้เราใช้เวลาวันหยุดช่วยกันหาข้อมูล ถ่ายคลิปด้วยกัน 

“สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นโอกาส คือ เมื่อลูกโตขึ้นมา เขาจะเรียนรู้ได้ว่าอะไรที่เขาสามารถทำได้อย่างปลอดภัย ผมก็อยากให้เขามีประสบการณ์ ให้เขาได้ลอง พอถึงวัยที่ถ้าเขาทำได้ เขาจะได้ดูแลตัวเองได้”

สาม – ส่งต่อประโยชน์ให้คนดู

“ผมไม่ได้เป็นช่าง ผมก็คือพ่อบ้านธรรมดาๆ เป็นเจ้าของบ้านเหมือนคุณ ผมอยากจะให้คนที่เข้ามาดูคลิปผม ทุกการแชร์ ทุกยอดวิวได้ประโยชน์ และสามารถลองซ่อมโน่นซ่อมนี่ได้เอง ผมอยากขยายประโยชน์ให้สังคม เช่น คลิปที่ผมพาซ่อมก๊อกน้ำ มีคนดูไปประมาณ 900,000 กว่าคน ลองคิดนะครับ ถ้ามีคนซ่อมเป็นสักแสนคน แสนก๊อก ผมจะรู้สึกยินดีถ้าช่วยคุณประหยัดได้”


Writer

Avatar photo

รชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา

พยายามฝึกปรือและคลุกอยู่กับผู้คนในวงการการศึกษา เพราะเชื่อว่าการเรียนรู้เป็นใบเบิกทางให้ขยายขอบขีดความสามารถตัวเอง ฝันสูงสุดคืออยากเห็นตัวเองทำงานสื่อสารที่มีคุณภาพและคุณค่าต่อไป

Photographer

Avatar photo

สิทธิกร ขุนนราศัย

ชื่นชอบความสบาย ติดนิสัยขี้เกียจมากกว่าขยัน ปัจจุบันทำงานด้านวิดีโอ ลูกค้ามากหน้าหลายตามักทักหาบ่อยๆ เพราะส่งงานไม่เคยทัน

Related Posts