- Inside the Sandbox อยู่เบื้องหลังเว็บไซต์แบบ interactive ที่ชวนให้เราใคร่ครวญถึงความหมายของชีวิต เช่น “Deadline Always Exists” “วิชาชีวิต” นิทรรศการออนไลน์อย่าง “Journey within You” รวมทั้ง “30 Secs before Death”
- เมื่อความตายกลายเป็นเรื่องไกลตัว ผู้คนจึงมักหลงลืมในคุณค่าของ “ปัจจุบัน” และทำให้ชีวิตกลายเป็นเพียงเรื่องของ “อนาคต” จนไม่ทันคิดว่า บางครั้ง อาจไม่มี “วันพรุ่งนี้” อีกแล้ว
- มินนี่ – เมธาวจี สาระคุณ ผู้ก่อตั้งเอเจนซี Inside the Sandbox เชื่อในพลังของการสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมในแบบที่ตัวเองอยากเห็น และเธอก็เริ่มต้นจากการใช้การสื่อสารเพื่อทำให้ใครสักคนมองเห็นคุณค่าของชีวิต จากการรับรู้ว่าความตายไม่ใช่เรื่องที่อยู่ไกลตัวเลย
“คุณมินนี่เหรอ มินนี่ไหน” เราถามเพื่อนที่จะไปสัมภาษณ์ด้วยกัน
“จำเว็บที่เคยส่งให้ลองเล่นได้ไหม Deadline Always Exists น่ะ”
จำได้ จำได้แม่นเลยละ เราเป็นหนึ่งในคนทางบ้านที่เคยเล่น ‘Deadline Always Exists’ ‘วิชาชีวิต’ รวมถึงนิทรรศการออนไลน์ ‘Journey within You’ ด้วยเหตุผลง่าย ๆ ว่าเพื่อนส่งมาให้ แต่ถึงเพื่อนจะไม่ได้แนะนำให้เรารู้จัก ในช่วงนั้นไม่ว่าจะเปิดหน้าจอแพลตฟอร์มไหนก็มีคนพูดถึงเว็บไซต์เหล่านี้มากมาย กระนั้นต้องสารภาพตามตรงว่าหลังจากแบ่งปันผลลัพธ์จากเว็บอย่างที่คนอื่นทำกัน เราไม่เคยสืบเสาะว่าผู้จัดทำเว็บไซต์ interactive เหล่านี้คือใคร
แต่เราจำความประทับใจแรกที่มีต่อหน้าเว็บสีสันสดใส เพลงบรรเลงชวนผ่อนคลาย และข้อความประโลมใจได้อย่างดี ในระยะเวลาราว 5-7 นาทีที่เว็บพาเราท่องเวลากลับไปยังอดีตและจำลองการพูดคุยกับตัวเอง แม้จะไม่ได้ถึงขั้นน้ำตาไหล แต่หลังจากนั้น ข้อความต่าง ๆ ทั้งที่เราพิมพ์ตอบลงไปในหน้าเว็บ และข้อความจากผู้จัดทำสะกิดให้เราขบคิดถึงชีวิตและจมจ่อมอยู่นานทีเดียว
“เขาดูเข้าใจชีวิตดีจังเลย” เพื่อนเปรยขึ้นระหว่างที่เราหาข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับคุณมินนี่และช่วยกันคิดคำถามสัมภาษณ์ นั่นคือก่อนที่เราจะพบกับ “มิน” อย่างที่คุณมินนี่เรียกตัวเองในออฟฟิศอบอุ่นท้ายซอยเกษมสันต์ 1
คุณมินนี่ออกมารับเราที่ประตูหน้า ก่อนจะพาเราเดินลัดตัดผ่านร้านกาแฟ Gimbocha (金母茶) ขึ้นบันไดไปยังชั้นสองอันเป็นที่ตั้งออฟฟิศ
“รกหน่อยนะคะ พอดีช่วงนี้ทำนิทรรศการกัน” เธอบอก ชวนเราไปนั่งที่โซฟา บทสนทนาถึงชีวิต ความฝัน ความตาย และอะไรอีกมากมายเริ่มต้นนับแต่นั้น
ชีวิตกับความตาย
สำหรับคุณมินนี่ที่ทำงานกับคอนเซ็ปต์ความตาย ความตายคืออะไร
ความตายคือจุดจบ คือเดดไลน์ จะไม่มีอะไรต่อจากนี้แล้ว ไม่ว่าจะมีชีวิตใหม่หรืออะไรก็ตาม โอกาสในการเป็นมินนี่มันจบแล้ว มีคนบอกว่า deadline is my inspiration [ความตายคือแรงบันดาลใจของฉัน] การที่เราเห็นว่าจุดจบอยู่ตรงไหนจะทำให้เรารู้ว่าต้องทำอะไรบ้างก่อนถึงจุดจบ พอมนุษย์มีความตาย ชีวิตก็มีความหมายขึ้น เรารู้ว่าเวลาที่มีอยู่มีจำกัด เวลามีน้อยเหลือเกิน ดังนั้น ทุกวันที่เราไม่รู้ว่าความตายจะมาถึงเมื่อไหร่ เราต้องใช้ให้คุ้มค่าที่สุด
ทัศนคติต่อความตายเป็นยังไง
หลังจากทำเพจมาได้สามปี มินคิดว่าทุกวันคือวันตาย เมื่อไหร่ก็ได้ เสี้ยววินาทีไหนก็ได้ และวันที่มินตายมันจะเป็นวันธรรมดาวันนึงที่โลกยังหมุนเหมือนเดิม ดังนั้น มินไม่อยากเสียดาย ไม่อยากติดค้าง
แล้วช่วงไหนรู้สึกมีชีวิตที่สุด
ช่วงที่ทำบริษัทนี้ การตัดสินใจทำบริษัทนี้คือการตัดสินใจที่ดีที่สุดในชีวิตเลย เราทิ้งงานที่มั่นคงมาก ๆ มาเริ่มงานที่ไม่มั่นคงเลย แต่มีความสุขมาก เราได้ออกแบบชีวิตที่ตัวเองอยากใช้ ได้ใช้ชีวิตในแบบที่ตัวเองอยากใช้
มินเป็นคนที่ไม่เชื่อใน work-life balance พอใช้คำว่า work-life balance มันเหมือนมี 8 ชั่วโมงที่มันไม่ใช่ life ดังนั้น มินเลยเปิดบริษัทด้วยแนวคิด life-life balance ให้ทุกคนทำงานเหมือนกับเล่นสนุกไปด้วย ใช้ชีวิตไปด้วย วันไหนสภาพจิตใจไม่พร้อมก็ไม่ต้องทำงาน
เรามีกฎว่าทุกคนต้องเป็นเพื่อนเล่นกัน เพราะที่นี่คือกระบะทราย ทำให้ทุกวันเหมือนการมาเล่น มาทำงานกลุ่มกับเพื่อน มันสนุกมาก ทุกครั้งที่เข้าออฟฟิศคือช่วงที่ทำให้เราอยากมีชีวิตต่อ
ทำไมถึงรักชีวิต
ช่วงวัยหนึ่งมินเคยไม่รักชีวิต แต่พอโตถึงจุดหนึ่ง มีเหตุการณ์มากมาย มีผู้คนมากมายที่ทำให้มินรักชีวิต มินเลยขอบคุณที่ตัวเองยังไม่ตาย คนเรามีช่วงเวลาที่จะผลิบาน ชีวิตมีโอกาสจะดีขึ้นมากกว่าเดิม
เราเปลี่ยนแนวคิดนี้มาเป็นการทำงานได้ยังไง
มินไม่ได้ทำงานเพื่อคนอื่นขนาดนั้น มินทำงานเพื่อตัวเอง มินมองว่ามันเป็นงานศิลปะ และศิลปินก็พยายามเล่าเรื่องภายในของตัวเอง มินพยายามบันทึกข้อความในชีวิตของมินไว้ มินคิดอะไร รู้สึกอะไรก็พยายามถ่ายทอด งานจะสะท้อนสภาวะอารมณ์ตอนนั้น ช่วงไหนที่เหนื่อยก็จะทำงานเรื่องความเหนื่อย ช่วงที่มีปัญหาครอบครัวก็จะทำเรื่องครอบครัว ส่วนช่วงนี้ที่รู้สึกว่าดีใจจังที่ยังมีชีวิตอยู่ ก็จะทำงานเรื่องความดีใจที่ยังมีชีวิต งานนี้ถึงได้เกิดขึ้นมา
แม้จะเป็นงานศิลปะแต่ก็ดีใจที่มีคนได้ประโยชน์จากมัน ความจริงคนที่ได้ประโยชน์มากที่สุดคือคนทำนี่แหละ เพราะได้มีเวลานั่งคิดกับตัวเอง เราสำรวจตัวเองผ่านงาน
ทัศนคติต่อชีวิตก่อนทำโปรเจ็กต์เป็นยังไง
ก่อนหน้านี้ชีวิตไม่มีค่าเลย ชีวิตเรายึดติดกับอนาคต ยึดติดอยู่กับว่าเราจะเป็นใครในอนาคต ชีวิตตอนนี้ไม่มีค่าเลยนะ แต่อีก 10 ปีฉันจะมีค่าเพราะฉันจะเป็นคนนี้ อีก 20 ฉันจะมีค่าเพราะมีเงินเท่านี้ สุดท้ายปัจจุบันไม่มีค่าเลย ซึ่งเป็นความคิดที่ไร้สาระ เพราะเราไม่รู้ว่าอีก 10 ปีเราจะยังมีชีวิตอยู่หรือเปล่า แต่ทุกวันเราไม่มีความสุข เพราะหวังว่าความสุขมันจะเกิดขึ้นในอนาคต
มันเป็นปัญหาของคนรุ่นนี้หรือเปล่า หรือแค่เราคนเดียว
การที่มนุษย์ห่างกับความตายเป็นปัญหาของสังคมไทยหรือสังคมโลกด้วยซ้ำ สังคมสมัยใหม่มองความตายเป็นเรื่องต้องห้าม ไม่ควรพูด เป็นลางไม่ดี ยิ่งวิทยาการทางการแพทย์ดีขึ้น พิธีศพถูกแยกไปจัดที่อื่น การพูดถึงความตายไม่ได้ทำให้สังคมเปลี่ยนไปในรูปแบบหนึ่ง คนใช้ชีวิตประมาทมากขึ้น ไม่ใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบัน ผัดวันประกันพรุ่งมากขึ้น ซึ่งสิ่งนี้ส่งผลต่อเนื่องในสังคม
ดังนั้น หนึ่งในงานที่มินอยากทำคือทำให้ความตายเป็นเรื่องพูดได้ เพราะถ้าพูดได้มากขึ้น เราจะสามารถถกกันได้ว่าอยากใช้ชีวิตแบบไหน อย่างที่สอง ในระดับที่สูงขึ้น เราสามารถพูดถึงเรื่อง palliative care หรือการดูแลในวาระสุดท้าย การพูดถึงความตายจะทำให้ผู้ป่วยวางแผนง่ายขึ้น ตามกฎหมายไทยเขาเลือกได้ว่าอยากได้รับการดูแลแบบไหน
จาก Deadline Always Exists สู่ 30 Secs before Death
Deadline Always Exists เกิดขึ้นได้อย่างไร
Deadline Always Exists เริ่มจากคำถามที่ว่าจริง ๆ แล้วเราจะได้ชีวิตเมื่อไหร่ เราตั้งคำถามตั้งแต่วัยรุ่น เราใช้ชีวิตในโรงเรียน 12 ปี เราใช้ชีวิตตามครรลองสังคม จบมาก็ทำงานตามที่สังคมกำหนดไว้ พอตั้งคำถามนี้ มินสัมภาษณ์คนเยอะมากว่าชีวิตจะได้ใช้เมื่อไหร่ สุดท้ายเราเจอคำตอบว่า ชีวิตควรใช้ตอนนี้ เพราะคุณไม่รู้หรอกว่าวันนี้เป็นวันสุดท้ายหรือเปล่า เป็นที่มาของแนวคิดที่ทำ Deadline Always Exists
คนหลายคนลืมใช้ชีวิต ไม่ได้อยู่กับปัจจุบันเพราะมัวแต่คิดถึงอนาคตว่าฉันจะเป็นใคร หรืออดีตว่าฉันเคยเป็นใครมา แต่ที่จริงแล้วปัจจุบันนี่แหละที่บอกคุณว่าคุณเป็นใคร อย่าไปหวังเลยว่าฉันจะทำสิ่งนั้นในอนาคต เพราะเวลาที่ดีที่สุดคือตอนนี้เลย
เรามีคำถามอะไรไปถามเขา ทำไมประมวลออกมาได้เป็นงานนี้
เราสัมภาษณ์คนหลักพันคน ถามว่าคิดว่าชีวิตคืออะไร เราเกิดมาทำไม ความสุขคืออะไร ความทุกข์คืออะไร คุยไปจนถึงเรื่องความตาย แล้วพบว่าทัศนคติต่อความตายมันนิยามว่าคนคนนั้นใช้ชีวิตยังไง คนที่คิดว่ามีชาติหน้าใช้ชีวิตเผื่อชาติหน้า คนที่คิดว่ามีชาติเดียวก็ใช้ชีวิตโดยคิดถึงแค่ชาตินี้ หรือคนที่คิดว่าตัวเองจะไม่ตายก็ใช้ชีวิตอีกแบบ
ตั้งแต่ Deadline Always Exists จนถึงตอนนี้ มันส่งผลให้เกิดสิ่งนี้ได้หรือยัง
มันส่งผลในระดับปัจเจกบุคคล เราไม่กล้ายืนยันขนาดนั้นว่ากระแสสังคมเปลี่ยน แต่ในเชิงปัจเจก มีคนกลุ่มหนึ่งอย่างผู้ติดตามเพจเรากล้าพูดเรื่องความตายมากขึ้น เพราะความตายไม่ใช่เรื่องแปลก ไม่ต้องรอให้อายุ 60 ก่อนแล้วค่อยคิดเรื่องนี้ เราคิดถึงมันได้ทุกวัน และไม่ได้คิดถึงมันในความเศร้า แต่คิดถึงในแง่การมีสติในการใช้ชีวิต
มีผู้ติดตามเพจที่เป็นมะเร็งและไม่รับการรักษาเพราะคิดว่าชีวิตมีแค่นั้นแหละ แต่พอลองทำโปรเจ็กต์เรา เขารู้สึกว่าชีวิตมีมากกว่านั้นและกลับมารักษามะเร็ง มีคนที่ไปบอกรักคนอื่น เพราะถ้าตายโดยไม่ได้บอกจะเสียใจมาก มีคนที่ตกลงเป็นแฟนกันหรือแต่งงานกันเพราะโปรเจ็กต์นี้ มันเป็นเหตุการณ์เล็ก ๆ ที่ชุบชูจิตใจให้เราทำงานต่อไป
คนชอบคิดว่าพอคิดถึงความตายแล้วเราจะคิดว่าเราอยากตาย แต่ความจริงแล้วการคิดถึงความตายจะทำให้เราอยากมีชีวิตอยู่ เราจะรู้ว่าอะไรที่ยังเหลือ ยังไม่ได้ทำ ซึ่งมันจะเหลือเยอะไปหมด มันไม่มีใครที่พร้อมตายจริง ๆ หรอก
พูดถึง 30 Secs before Death กันบ้าง
มันต่อยอดมาจาก Deadline Always Exists มันเกิดจากการที่เราเจอคนที่พูดว่าอยากตาย สังคมตอนนี้ คำว่าอยากตายเป็นคำที่เราพูดกันบ่อยขึ้นเรื่อย ๆ
พอมันมีโจทย์ว่าคนอยากตายมากขึ้นเรื่อย ๆ เราไปเจอข้อมูลว่า สมองเราจะทำให้ความทรงจำทั้งหมดย้อนมาใน 30 วินาทีสุดท้าย ซึ่งพอมินนั่งคิด 30 วินาทีสุดท้ายเป็นช่วงเวลาที่เราเห็นคุณค่าชีวิตที่สุดเลย แต่ทำไมเราต้องเห็นมันแค่ตอนก่อนตาย เพราะถ้าเราเห็นตอนก่อนตายหมายความว่าเราไม่มีโอกาสแก้ไขแล้ว
นิทรรศการนี้เกิดขึ้นเพื่อให้เราได้เห็นชีวิตของเราทั้งหมดก่อนที่เราจะตายจริง ๆ เพื่อให้รู้ว่าชีวิตที่ผ่านมามีความหมายแค่ไหน มีผู้เข้าร่วมคนหนึ่งเขียนว่า “บางทีคนเราอาจต้องตายหลายครั้งกว่าจะเข้าใจความหมายของคำว่าชีวิต” ซึ่งในความเป็นจริงเราตายหลายครั้งไม่ได้ ตรงนี้จึงเป็นพื้นที่จำลองให้รู้ว่าชีวิตมีค่ามากกว่าคำว่า “อยากตาย” นะ
ที่ผ่านมาเคยมีงานนิทรรศการไหม การขยายสเกลงานเครียดหรือเปล่า
ไม่เคยเลย เครียดมากค่ะ ทีมงานนอนไม่หลับกันหลายคน เราคุยกันเล่น ๆ ว่าเราออกจากงานประจำเพื่อมาทำงานประจำ 24 ชั่วโมง 7 วันที่เครียดกว่าเดิม โลกออนไลน์มันอีกแบบหนึ่ง อย่างมากที่สุดถ้าคนร้องไห้จากงานออนไลน์ เขาแค่พิมพ์คอมเมนต์ว่า “ร้องไห้เลยค่ะ” แต่ในนิทรรศการถ้าเขาร้องไห้ เขาจะเดินลงมาชั้นล่าง หรือถ้าไม่ชอบ เราจะเห็นสีหน้าเขา มันเป็นความกดดันอีกแบบหนึ่ง
ตอนแรกคิดว่าเราเป็นเพจเล็ก ๆ คงไม่มีใครมา แต่ปรากฏว่าบัตรหมดเร็วมาก เลยคิดว่าเราถอยไม่ได้แล้ว บัตรหมดแล้ว หนีไม่ได้แล้วสินะ (หัวเราะ)
กระแสตอบรับเป็นยังไงบ้าง
ดีค่ะ ขอบคุณทุกคนมากที่ให้ความสนใจขนาดนี้ มีผู้เข้าร่วมที่มาบอกเราว่า ขอบคุณมาก ผมจะกลับไปใช้ชีวิตอีกครั้ง
เรารีเสิร์ชยังไงให้ได้สิ่งนี้ออกมาว่าเขามาเล่นแล้วจะเห็นคุณค่าชีวิตมากขึ้น
มันเริ่มจากการศึกษาความคิดผู้คน เขามองความตายยังไง แต่นั่นก็เป็นกระบวนการหนึ่ง ส่วนมากเป็นกระบวนการภายในมากกว่าว่าเรารู้สึกว่าเราเชื่อมโยงกับอะไร เหตุผลที่เรายังมีชีวิตอยู่ทุกวันนี้เพราะเรามีความทรงจำทั้งหมดที่เราผ่านมา ดังนั้น ความทรงจำเลยเป็นประเด็นที่นำมาใช้ว่า ความทรงจำทั้งหมดมีค่ามากพอที่จะทำให้คนอยากมีชีวิตต่อไป
งานที่ทำค่อนข้างเป็นประเด็นอ่อนไหว เรากังวลไหม เตรียมตัวยังไงบ้าง
เรามองว่าเราเป็นสื่อ เราทำงานศิลปะ เราต้องไม่เซนเซอร์ตัวเอง ไม่งั้นมันจะเป็นขอบว่าศิลปะไปได้แค่นั้น เรายืนยันว่าเรื่องความตายพูดได้ แต่ก่อนที่เราจะพูด เราเตือนเขาแล้วว่าเราจะพูดเรื่องนี้นะ พอเป็นงาน on ground เลยยิ่งง่าย เราบอกเขาล่วงหน้าได้ว่าอ่านก่อน ถ้าไม่โอเคมาหาเรา เรามีกระบวนการดูแลต่อจากนั้น
แต่ถามว่ากังวลไหม กังวล เราทำให้รัดกุมที่สุด บอกเลยว่าในห้องคุณจะเจออะไรบ้าง
กลุ่มเป้าหมายของงานนี้คือใคร
วัยรุ่น คนที่รู้สึกว่าชีวิตไม่มีค่า รู้สึกว่าไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่ แต่จริง ๆ เหมาะกับทุกคนนะ เพราะความตายเป็นเรื่องของทุกคน
เรื่องที่ประทับใจที่สุดในงานนี้
แยกเป็นสองอย่างแล้วกัน สำหรับโมเมนต์ประทับใจ ผู้ร่วมงานเดินออกมาขอจับมือและขอบคุณซ้ำ ๆ อยู่ประมาณ 10 นาทีว่า ขอบคุณที่ทำให้ผมอยากมีชีวิตต่อ เราไม่ได้ดีใจที่เขาขอบคุณเรา แต่ดีใจที่พลังงานของการอยากมีชีวิตต่อมันส่งมาถึงเรา และเราก็อยากมีชีวิตอยู่เพื่อทำงานแบบนี้ต่อไป
อีกอย่างคือเพื่อนร่วมงานค่ะ เวลาทำออนไลน์ปกติ งานเสร็จเราส่งต่อให้กราฟิกดีไซเนอร์ กราฟิกดีไซเนอร์ส่งต่อให้ dev แต่พอเป็นงานในสถานที่จริง ทุกคนในออฟฟิศมารวมตัวกัน ตะโกนโหวกเหวก คุณ เสียบสายหรือยัง พันสายให้ดี ๆ หน่อย อย่าเพิ่งเคาะประตู มันชวนให้นึกถึงสมัยมัธยมที่เราทำงานเบื้องหลังละครเวที สนุกมากค่ะ
ทำไมถึงชอบงานครีเอทีฟ
มินชอบการเล่าเรื่อง มินรู้สึกว่ายังมีเรื่องให้เล่าอีกเยอะเลย มินรู้สึกว่าการเล่าเรื่องมันเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ เราเชื่อว่าเส้นแบ่งเขตแดนมีจริง เราเชื่อว่าเงินตรามีความหมาย เราเชื่อในบทบาทของศาสนา เพราะเราเชื่อในเรื่องเล่าของมัน เราเชื่อว่าผู้ชายควรเป็นยังไง ผู้หญิงควรเป็นยังไง กฎหมายควรเป็นยังไงเพราะเรื่องเล่า มันไม่ได้มีจริงแต่เราเชื่อว่ามีเพราะเรื่องเล่า ซึ่งถ้าเรื่องเล่าเปลี่ยนไป เราสามารถเปลี่ยนความเชื่อและพฤติกรรมของคนได้
มินเป็นคนที่อยากเปลี่ยนแปลงสังคม มินอยากให้สังคมเปลี่ยนไปในทิศทางที่มินอยากให้เป็น ดังนั้น มินไม่ใช่คนเก่งบริหารที่สุดแล้วจะไปอยู่ในสภา ไม่ใช่คนเก่งวิศวกรรมที่สุดแล้วจะไปสร้างเขื่อน แต่สิ่งที่มินทำได้คือการเล่าเรื่อง และการเล่าเรื่องของมินนี่แหละที่จะเปลี่ยนสังคมในแบบที่มินต้องการ
ถ้าพูดให้สวยหรู มันคือการใช้การเล่าเรื่องเปลี่ยนแปลงสังคม แต่พอใช้คำว่าเพื่อสังคม มันมาพร้อมความหมายแฝงว่าเราเสียสละ แต่เราไม่ได้เสียสละ เราทำเพื่อให้สังคมเป็นแบบที่ตัวเองอยากเห็น ถ้าเราอยากเห็นผู้หญิงมีพื้นที่ เราก็จะทำงานเรื่องนั้น เราอยากเห็นความตายพูดได้ เราก็จะทำงานเรื่องนี้
ความชอบนี้มาจากไหน ตอนไหนที่เข้าใจว่าทุกอย่างคือการเล่าเรื่อง
สมัยมัธยมเราทำละครเวทีเยอะมาก แล้วเราเห็นว่าการทำงานในรูปแบบของสื่อศิลปะเปลี่ยนความคิดคนได้ แล้วมันสร้างแรงบันดาลใจให้คนได้ ถ้าย้อนกลับไปอีกเราเป็นคนชอบโฆษณา nike มาก เราไม่เคยคิดว่ามันมีผลกับเราจนกระทั่งเราลาออกจากบริษัทที่มั่นคงมาก แต่เราแค่รู้สึกว่ามันไม่ใช่ แล้วประโยค just do it มันกลับมา เราเดินไปห้องหัวหน้าแล้วลาออกเลย ซึ่งประโยค just do it มันอาจเกิดขึ้นตั้งแต่เราสี่ขวบ
พลังของการสื่อสารอาจไม่ได้เปลี่ยนสังคมได้ภายในวันสองวันเหมือนดีดนิ้ว อาจไม่ได้รักษาโรคเหมือนที่ยาทำได้ แต่การสื่อสารทำงานในระยะยาว เราเห็นวาทกรรมรองพยายามท้าทายวาทกรรมหลักตลอดเวลา
ที่ผ่านมางานของเรามีคนเสียน้ำตาเยอะ จากนี้อยากทำอะไร
เราไม่เคยตั้งใจโดยตั้งเป้าว่าจะทำให้คนร้องไห้ เราอยากพูดเรื่องธรรมดาให้มีพลัง จบงานนี้จะทำงานตลก ฉันเป็นคนตลกนะ ความฝันตอนนี้คืออยากทำงานตลก (หัวเราะ)
สุดท้ายแล้ว คุณมินนี่เคยให้สัมภาษณ์ว่าอยากให้ถามว่า “โตมายังไง” เราถามคำถามนี้เลยแล้วกัน
การเติบโตของมินมันพิเศษมาก แน่นอนว่าการเติบโตของทุกคนเป็นเรื่องพิเศษ แต่สำหรับมินการเติบโตของมินไม่ได้สวยหรู แต่มันทำให้มินเป็นคนที่มินเป็นในทุกวันนี้ มินพอใจ มินขอบคุณทุกความเจ็บปวดและเรื่องราวดี ๆ ที่เกิดขึ้นค่ะ