ทราย ณิชา พิทยาพงศกร​ – การศึกษา vs การทำใบขับขี่: เส้นทางปวดแสบปวดร้อนของการปฏิรูปการศึกษา 20 ปี ที่ไม่อาจสำเร็จได้ภายใต้วิธีคิดของระบบราชการ

  • ทราย-ณิชา พิทยาพงศกร​ ย้อนมองเส้นทางขรุขระของระบบการศึกษาใต้ร่มของรัฐ กับการปฏิรูปการศึกษาที่ดำเนินมากว่าสองทศวรรษและยังไม่ถึงจุดหมายปลายทาง
  • การเป็นแม่เปลี่ยนมุมมองของทรายในการวิเคราะห์นโยบายต่าง ๆ ให้ลึกซึ้งยิ่งกว่าเดิม
  • ‘การศึกษา’ และ ‘ใบขับขี่’ ภายใต้การบริหารของราชการที่กระบวนการไม่ต่างกัน คือ กรอกให้ถูกช่อง ปฏิบัติตามกฎ ทดสอบให้ผ่าน เอกสารครบ หากบรรลุเงื่อนไขสุดท้ายก็ได้ใบรับรอง

ในหนังสือโปรดโอบกอดมนุษย์ของวีรพร นิติประภา มีประโยคนึงถูกเขียนไว้ว่า “การเป็นแม่คือโอกาสครั้งที่สองที่ทำให้คุณได้มองเห็นชีวิตอีกครั้ง”  

สำหรับทราย ณิชา พิทยาพงศกร​  อดีตนักวิจัยอาวุโส ทีมนโยบายปฏิรูปการศึกษาสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)  การเป็นแม่ทำให้ย้อนกลับมามองเห็นชีวิตต่าง ๆ ที่เคลื่อนไหวอยู่ภายใต้ระบบสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบราชการ และระบบการศึกษาที่อยู่ใต้ร่มใหญ่ของ ‘รัฐ’ 

“ไม่ได้คิดเรื่องมีลูก” ทรายตั้งต้นจากประโยคนี้เมื่อเริ่มพูดคุยกับ mappa  “แต่รู้ตัวอีกทีมีลูกสองคน” (หัวเราะ)​ และล่าสุดทรายตัดสินใจพักจากงานประจำที่กรุงเทพฯ แล้วย้ายไปอยู่เชียงใหม่พร้อมกับครอบครัว 

เราคุ้นเคยกับบทบาทของทรายในฐานะนักวิจัย และผู้ขับเคลื่อนการศึกษาที่ใช้ข้อมูลสะท้อนการทำงานของภาครัฐอย่างฉะฉาน แต่วันนี้ทรายมาพูดคุยถึงบทบาทของ ‘แม่’ ที่ทำให้มุมมองของการวิเคราะห์นโยบายต่าง ๆ ละเอียดลึกซึ้งขึ้น รวมถึงความพยายามของตัวเธอเองในการเลี้ยงลูกสองคนไปพร้อมกับการมีส่วนผลักดันสังคมให้รอดในบทบาทของนักการศึกษาที่สนอกสนใจเรื่องการเรียนรู้ของเด็ก และในบทบาทของนักวิจัยนโยบายสาธารณะที่มีมุมมองแหลมคม ที่ช่วยฉายภาพให้เราเข้าใจถึงผลกระทบของนโยบายของรัฐ การบริหารงานแบบราชการที่ส่งผลต่อแทบทุกอณูชีวิตความเป็นอยู่และการเติบโตของเด็ก และครอบครัว 

เพราะเพียงการเลี้ยงลูกให้รอด แต่สังคมย่ำแย่ อาจไม่ใช่คำตอบสำหรับทราย 

และไม่ใช่คำตอบของพวกเราทุกคนในวันนี้

ตอนนี้เรียกตัวเองว่าทำอาชีพอะไร

เป็นแม่ (หัวเราะ) จริง ๆ ก็คงเรียกว่าเป็นที่ปรึกษาอิสระ แต่ก็ยังติดตามเรื่องการศึกษา เรื่องการเรียนรู้ ก่อนหน้านี้เป็นนักวิจัย อยู่ที่ TDRI และทำงานด้านการศึกษามา 8-9 ปี ตอนนี้จะพูดให้ถูกก็คือเป็นฟรีแลนซ์ แต่ก็จะไม่ค่อยชอบคำนี้เท่าไหร่ (หัวเราะ)

เป็นแม่แบบไหน

เป็นคนชอบทำงาน อินกับพวกประเด็นสังคม และการศึกษา แล้วก็เป็นคนชอบอ่าน อ่านเยอะ แต่ว่าประเด็นที่อ่าน ไม่ใช่ประเด็นฮาวทูการดูแลลูก ชอบอ่านหนังสือแนวระบบการศึกษาที่ดีในโลกนี้มีที่ไหนบ้าง แล้วก็แต่ละประเทศทำได้ยังไง อ่านเกี่ยวกับว่าระบบการศึกษาทำงานยังไง แต่ไม่ได้รู้ว่าจะเลี้ยงเด็กยังไงในช่วงขวบปีแรก ดังนั้นการที่คนจะมีสมมติฐานว่านักการศึกษาจะต้องรู้เรื่องการเลี้ยงดูลูกเนี่ย ไม่จริง (หัวเราะ) 

ใช้สกิลการเป็นนักวิจัยด้านการศึกษามาเลี้ยงลูกบ้างไหม

สิ่งที่ช่วยมาก คือทักษะเรื่องการสืบค้นข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูลว่าน่าเชื่อถือไหม ควรจะตามคำแนะนำไหน ไม่ตามคำแนะนำไหน อันนี้เป็นสิ่งที่รู้สึกว่าการทำอาชีพนักวิจัยได้ประโยชน์ต่อการเป็นแม่ ดังนั้นพอมีลูก ก็หาข้อมูล  ซื้อหนังสือ อ่านตำรับตำราฝรั่งเศส เพราะสามีเป็นคนฝรั่งเศส ของไทยไม่ต้องสืบค้นมาก เพราะว่ามันมีเยอะมาก ในโซเชียลมีเดีย ในเฟซบุ๊ก อาจารย์หมอคนนั้น เพจเลี้ยงลูกตรงนี้ตรงนั้น มันเยอะมาก เหมือนพอเฟซบุ๊กรู้ว่าเรากำลังจะเป็นแม่ก็ถาโถมเราด้วยข้อมูลมหาศาล แต่ไม่เคยมีใครบอกนะว่าการมีลูกมันเป็นช่วงเวลาที่ชีวิตทุลักทุเลมาก มันจะยุ่งยาก มันจะวุ่นวาย จะสับสน และคาดเดาไม่ได้ขนาดนี้ (หัวเราะ)​

ข้อมูลเยอะแบบนี้ตอนเลี้ยงลูกสบายเลยไหม

ไม่เลย (หัวเราะ) ช่วงมีลูกคนแรกกังวลมาก มันกลายเป็นว่าเราอยากจะทำให้ถูกแต่ไม่รู้ว่าที่ถูกคืออะไร ไม่รู้ว่าลูกร้องขนาดนี้ผิดปกติหรือเปล่า หรือว่าจริง ๆ แล้วเด็กทั่วไปก็ร้องแบบนี้ แล้วยิ่งไม่ค่อยได้มีประสบการณ์กับเด็ก ๆ จะไม่รู้เลยว่า range ความเป็นไปได้ของความปกติของเด็กคืออะไร เพราะว่าพึ่งเคยมีลูกแค่คนเดียว เหมือนมี data point แค่หนึ่งอัน มันประมวลผลไม่ได้ว่าปกติหรือไม่ปกติ ผื่นขึ้นตรงนี้ต้องไปหาหมอไหม รู้สึกว่ายากมาก แล้วงานวิจัยก็ช่วยไม่ค่อยได้หรอก เพราะว่ามันอยู่ที่การตัดสินของเรา อยู่ที่ว่าเราจะจัดการยังไง

แต่พอมาคนที่สองคือชิล (หัวเราะ) เพราะว่าเรารู้แล้วว่าอันนี้ปกติ ตอนลูกสามเดือนผื่นขึ้นที่หน้า อะ โอเคปกติ อะ ร้องไห้อย่างงี้ ปกติ นอนยังไม่ค่อยได้ ไม่เป็นไร ปกติ คือพอเรามีเซ้นส์ว่าอะไรปกติก็จะสบายใจ การรู้ว่าลูกอยู่ในความปกติมันทำให้เราสบายใจ แต่ว่าเพิ่งไม่กี่วันมานี้เพิ่งคุยกับสามีว่ามันแปลกไหมที่เราต้องแคร์ว่าอะไรปกติ มันเหมือนเราโดนระบบการศึกษาสอนหรือเปล่าว่าเราต้องอยู่ใน norm แล้วอะไรที่หลุดจาก norm คืออันตราย อาจจะถึงกับอยู่ในสังคมไม่ได้ เพราะเดี๋ยวจะมีใครมาจัดการคุณ หรือบอกคุณว่ามันไม่ถูก แล้ววิธีคิดแบบนี้ มันลงไปที่การเลี้ยงลูกด้วย ถึงแม้ว่าเราจะพยายามแล้วที่จะหลุดออกจากวิธีคิดเดิม ๆ แต่หลายครั้งการเป็นพ่อแม่มันทำให้เราวนลูปกลับไปทำพฤติกรรมบางอย่างซ้ำเดิม เพราะ norm ในสังคมมันหลอมจนชัดแล้วว่าต้องแบบนี้

พูดชัดเลยว่าการศึกษาคือการพาคนเข้าสู่ norm

มันมองได้หลายแบบ แต่จะบอกว่ามันเป็นฟังก์ชั่นหนึ่งของระบบการศึกษาก็ถูก แล้วไม่ใช่แค่ของประเทศไทย มันคือทุกประเทศ มันเป็นระบบที่เอาคนในวัยที่พร้อมจะเรียนรู้มากที่สุด เยอะที่สุดมารวมกัน แล้วใส่คุณค่า ใส่ค่านิยม ใส่พฤติกรรม ใส่แบบแผนลงไป ซึ่งถามว่ามันดีหรือมันแย่ มันตอบไม่ได้ ขึ้นอยู่กับว่าเราใส่ชุดคุณค่า ความเชื่อ หรือพฤติกรรมแบบไหน

ทีนี้ ถามว่ามันจำเป็นไหมที่ยังต้องมีฟังก์ชั่นนี้ ส่วนตัวคิดว่ามันยังจำเป็น คือในการที่เราอยู่ในสังคม ต้องมีความร่วมมือกันทางสังคม ซึ่งจะร่วมมือได้คนต้องมีความเข้าใจอะไรบางอย่างร่วมกัน มีคุณค่าบางอย่างที่ยึดถือคล้าย ๆ กัน ไม่ต้องเหมือนหมดทุกเรื่องแต่ต้องมีบ้าง เพราะว่าถ้ามองตามประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ คือเราออกจากการอยู่ร่วมกันเป็นเผ่าเล็ก ๆ จากสิบกว่าคนกลายมาเป็นเป็นอาณาจักร เป็นรัฐชาติ เป็นประเทศ เราต้องใช้ความร่วมมือจากคนหลักสิบเป็นหลักล้าน แล้วในปัจจุบันนี้ แนวคิดเรื่อง global citizen คือต้องใช้ความร่วมกันของคนทั้งโลก เป็นหลักพันล้าน แปลว่ามันต้องมีอะไรบางอย่างที่คนเราต้องพอจะคุยกันได้ มีจุดยืนบางอย่างร่วมกัน ซึ่งเป็นฟังก์ชั่นอย่างหนึ่งของระบบการศึกษา แต่จะดีจะเลวก็ขึ้นอยู่กับว่าใส่อะไรเข้าไป 

การเลี้ยงลูกเลยต้องตาม norm ไป

ซึ่งมันจะกดดันมากนะถ้าเราทำแบบไม่รู้ตัว แต่มันก็เป็นเรื่องธรรมดาที่คนเราไม่อยากผิดไปจาก norm การผิดจาก norm มันไม่สบาย มันโดนจับตามอง มันโดนวิพากษ์วิจารณ์ แต่ว่าสังคมหลังๆ มานี้อนุญาตให้มี norm หลายแบบ แล้วก็อนุญาตให้มีความปกติหลายแบบ อันนี้ต่างหากที่จะช่วยปลดล็อก ไม่ให้ทุกคนต้องเข้าสู่ norm เดียว คือมี norm อื่นด้วย แล้วมันก็อยู่ด้วยกันได้ โดยที่คนไม่ได้รู้สึกว่าต้องวิ่งเข้าหา norm หลักอย่างเดียว 

ถ้ารู้สึกว่า norm ของสังคมแบบนี้ ไม่ใช่ทางที่อยากไป จะหลุดออกมาได้ยังไง

คิดว่าสิ่งที่จะเปลี่ยน norm ได้ คือข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์ ต้องเข้าใจก่อนว่าบางครั้ง มันมีคนไปเซ็ต norm ให้ อย่างเช่นนักการศึกษาบางคนไปเซ็ตว่า เด็กอายุ 7 ขวบต้องอ่านออกเขียนได้ ถ้าเราหันไปมองข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ว่าเด็กแต่ละคนอ่านออกเขียนได้ตอนกี่ขวบบ้าง 5 ขวบก็มี 6 ขวบก็มี 8 ขวบก็มี 9 ขวบก็มี แล้วสิ่งที่ค้นพบต่อจากนั้น คือการอ่านช้า หรืออ่านเร็วของเด็กกลุ่มนี้ ไม่ได้ส่งผลว่าเขาจะเป็นนักอ่านที่ดีหรือเปล่า แบบนี้เราต้องเข้าใจว่า norm ที่สังคมเซ็ตเอาไว้ มันแคบเกินไป

หรือว่าอย่างเรื่องเพศสภาพ ในสังคมแบบนึง จะเข้าใจว่าเพศมีแค่เพศชาย เพศหญิง แล้วนอกเหนือจากนั้นไม่นับอยู่ใน norm แต่ว่าถ้าไปดูทางวิทยาศาสตร์ มันมีการค้นพบว่ามีสัตว์เยอะมากเลยที่มีพฤติกรรม homosexual ไม่ใช่แค่มนุษย์ และในทางวิทยาศาสตร์ก็นับว่ามนุษย์เป็นสัตว์ประเภทหนึ่ง ดังนั้นถ้าพิจารณาให้ดีเราก็ยังอยู่ใน norm แต่เป็น norm ที่กว้างขึ้น คือ norm ของธรรมชาติ 

พอพูดอย่างนี้เลยนึกถึงว่า สัตว์ก็มีความเป็นแม่หลายแบบ

ใช่ สัตว์ก็เป็นแม่หลายแบบ ออกลูกแล้วทิ้งให้พ่อเลี้ยงลูกก็มี (หัวเราะ) แต่ว่ามนุษย์ก็มีวิวัฒนาการที่ต่างจากสัตว์ในหลายด้าน เช่น เราเป็นสัตว์ที่มีความร่วมมือทางสังคม แล้วเราสามารถที่จะเข้าใจภาษา สร้างสัญลักษณ์ และสร้างระบบเพื่อทำให้คนร่วมมือกันได้ในสเกลที่ใหญ่มากกว่าสัตว์ชนิดอื่น ซึ่ง norm มันก็เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ทำให้ร่วมมือกันได้ คือถ้ามองว่ามันเป็นเครื่องมือ การมี norm ก็ไม่ได้มีถูกผิด

norm ของการศึกษาบ้านเราเป็นยังไง

คนไม่น้อยในยุคก่อนหน้านี้จนมาถึงยุคนี้มองว่าการศึกษาเป็นเครื่องมือในการไต่เต้าทางสังคม แล้วทีนี้การไต่เต้าทางสังคม มันยังจำเป็นในประเทศที่ยังมีระดับชนชั้นเยอะ มีความเหลื่อมล้ำมาก และมีความไม่แน่นอนสูง เราไม่รู้ว่าพออายุ 60 ไปแล้ว จะมีเงินพออยู่ไปจนตายไหม ไม่รู้ว่าเจ็บป่วยแล้วจะมีเงินพอรักษาไหม มันก็เลยทำให้คนก็ต้องวิ่งหาความมั่นคง เช่น การเป็นราชการซึ่งให้ความมั่นคง หรือวิ่งหาเงินซึ่งก็เอาความมั่นคงมาให้ด้วย และนอกจากใช้เพิ่มรายได้ ยังใช้เพิ่มสถานะทางสังคมได้ด้วย เช่น  คนจำนวนมากในชนบทไม่ได้ถูกมองว่าเป็นชนชั้นกลาง เป็นชนชั้นแรงงานเกษตร ดังนั้นการที่ลูกเขาได้เป็นครู หรือได้เป็นหมอมันคือการเคลื่อนมาอยู่ชนชั้นกลาง คือช่วยยกระดับครอบครัวขึ้นมา เดินไปไหนก็ ‘สวัสดีค่ะคุณครู’ ‘สวัสดีค่ะคุณหมอ’ ไม่ใช่ลูกตาสีตาสาเหมือนแต่ก่อน ความใฝ่ฝันอยากไต่เต้าแบบนี้มันห้ามไม่ได้เพราะพ่อแม่ทุกคนรักลูก แล้วเขาเข้าใจว่าอันนี้คือสิ่งที่ยกระดับชีวิตให้ลูกได้ เพียงแต่ว่าโลกทัศน์แบบนี้ในปัจจุบันมันอาจจะต้องอัปเดท เช่น ลูกเป็นโปรแกรมเมอร์ก็รายได้ดีนะ ลูกเป็นคอนเทนท์ครีเอเตอร์ เป็นอินฟลูเอนเซอร์ ขายของออนไลน์ก็รายได้ดีนะ แต่เราต้องมามองความจริงก่อน  เพราะยังไงพ่อแม่ก็อยากให้ลูกมีชีวิตที่ดีกว่าตัวเอง แล้วคำว่าดีกว่าของเขา คือดีกว่าสิ่งที่เขาเห็นมาในอดีต ถ้าเป็นเรื่องสถานะทางรายได้เปลี่ยนไม่ยาก แค่พิสูจน์ว่าอาชีพอื่น ๆ ก็ได้เงินมากกว่าหมอ หรือครูก็เปลี่ยนได้แล้ว แต่ถ้าเป็นเรื่องสถานะทางสังคม อันนี้เปลี่ยนยาก เช่น เป็นแม่ค้าออนไลน์รวยมาก แต่เขาก็ยังอาจถูกสังคมว่า โอ้ย แม่ค้า คืออันนี้เปลี่ยนยาก มันเป็นวิธีคิดของคนซึ่งจะเปลี่ยนได้เมื่อคนมองว่าทุกอาชีพมีค่าเท่ากัน เรื่องนี้มันก็จะค่อย ๆ จางลงไปเอง

แล้วต่างประเทศมันเป็นอย่างนี้ไหม หรือว่ามันเป็นแค่ไทย

จริง ๆ มันเป็นลักษณะของประเทศที่มันมีความเหลื่อมล้ำสูง ไม่ใช่แค่ไทย  มันมีงานวิจัยตัวหนึ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ศึกษาสไตล์ของพ่อแม่ในแต่ละประเทศ แล้วดูว่ามันสัมพันธ์ยังไงกับสภาพเศรษฐกิจ และสภาพความเหลื่อมล้ำ เขาก็เจอเลยว่าพ่อแม่ที่อยู่ในประเทศที่มีความเสมอภาคสูง มีความเหลื่อมล้ำต่ำ จะมีแนวโน้มให้อิสระกับลูกสูงขึ้น เพราะไม่ว่าจะเลือกอาชีพอะไร โอกาสมันก็พอ ๆ กัน ไม่ต้องกระเสือกกระสน เป็นคนยังไงก็ยังเลี้ยงชีพได้ เป็นคนขับรถเมล์ก็มีสวัสดิการชีวิต ป่วยขึ้นมา ไปโรงพยาบาลได้ฟรี มีลูกก็ส่งเข้าเนอร์เซอรี่เดียวกัน มันไม่ต้องกระเสือกกระสน การเลือกของเด็กมันไม่ได้ตัดสินชีวิตขนาดนั้น แต่ว่าในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูง พ่อแม่มีแนวโน้มจะชี้นำ บอกเลยว่าเลือกทางนี้ดีกว่า มันจะให้โอกาสกับลูกมากกว่า เพราะว่าการเลือกมันมีเดิมพันสูง ถ้าเลือกผิด ลูกอาจจะมีชีวิตอยู่ไม่ได้ รายได้ไม่พอ เลี้ยงตัวเองไม่ไหว

เป็นแม่ที่เห็นข้อมูลแบบนี้แล้วต้องเลี้ยงลูกในสังคมเหลื่อมล้ำสูง ถามจริง ๆ กังวลไหม

ความกังวลที่ทรายมีต่อลูกตัวเอง น้อยกว่าความกังวลที่มีต่อเด็กคนอื่นมาก พูดกันตามความจริง เด็กที่บ้านยังไงก็ไปรอด ถ้าไม่ได้เสียคนจนเกินไป ซึ่งเราก็ไม่ปล่อยให้ลูกเป็นแบบนั้นอยู่แล้ว คือเราค่อนข้างมีความมั่นใจว่าเราสามารถจะซัพพอร์ตเขาได้ เลยไม่ค่อยห่วงลูกตัวเอง แต่ห่วงลูกชาวบ้านที่พ่อแม่เขาไม่มีกำลังซัพพอร์ต โรงเรียนก็ไม่ช่วยดูแล ซึ่งนี้คือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้มาทำงานด้านการศึกษา

การศึกษามันควรจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำด้วยไหม 

ก็ควรจะมีระบบอย่างอื่นนอกจากการศึกษาด้วย ควรมีงานบริการทางสังคม ซึ่งในประเทศนี้มันหายไป แล้วกลายเป็นว่ามันตกไปที่ครู ครูต้องเป็นทุกอย่าง เป็นนักการศึกษา  เป็นผู้ให้บริการทางสังคมด้วย มันควรจะมีโครงสร้างอื่นมาซัพพอร์ตเรื่องนี้ คือตอนนี้  ถ้าเด็กมีปัญหาสุขภาพจิตไม่รู้จะวิ่งไปหาใคร ก็วิ่งไปหาครู แสดงว่าครูทำหน้าที่เป็นสายด่วนสุขภาพจิต จะให้เงินช่วยเหลือเด็กยากจน ก็ให้ครูเป็นคนคัดกรองแล้วไปให้ เลือกตั้งก็เอาครูไปเฝ้าซุ้มเลือกตั้ง คือ ให้ครูทำทุกอย่างมันไม่น่าจะไหว มันควรจะมี touch point อื่นของภาครัฐ ในการที่จะซัพพอร์ตเด็กคนหนึ่งหรือครอบครัวหนึ่งที่มากไปกว่าครู เพราะว่าทุกวันนี้ครูก็มีภาระงานเยอะไปหมด มันกลายเป็นครูรับทุกอย่าง แล้วจะเอาเวลาที่ไหนมาพัฒนาการศึกษา 

มีเรื่องที่เล่าแล้วเห็นภาพ ลองจินตนาการถึงโรงพยาบาล ตั้งแต่เราเดินเข้าไปในโรงพยาบาลแล้วลองคิดดูว่าเราเจออาชีพอะไรบ้าง คนขับรถ พยาบาล บุรุษพยาบาลที่ช่วยเข็นเตียง รปภ  พยาบาลจะมีทั้ง พยาบาลทั่วไป พยาบาลเชี่ยวชาญ หมอก็จะมีหมอทั่วไป หมอ ER หมอเฉพาะทางเด็ก ฝ่ายบริหาร จะเจอฝ่ายการเงิน ฝ่ายบุคคล แต่ทำไมเราไปโรงเรียนหลายโรงเรียนเห็นแค่ ผอ.กับครู มีแค่สองตำแหน่ง ไม่มีตำแหน่งอื่น ล้วครูก็ซ่อมรั้ว ทาสีกำแพง เป็นแม่ครัว เก็บเอกสารเบิก บางที่ภารโรงก็ไม่มี คือมันเป็นสถานบริการของรัฐที่ซัพพอร์ตคนเหมือนกัน

มีคนบอกว่า “คุณภาพการจัดการศึกษาของรัฐ” ขึ้นอยู่กับการจัดสรรงบประมาณ จริงไหม

จริง แต่อันนี้รัฐผูกเอง รัฐต้องแก้เอง งบด้านการศึกษามันจะมีหลายตัว ถ้าแบ่งแบบง่าย ๆ เร็ว ๆ ก็คือ งบส่วนบุคลากรที่เป็นเงินเดือนครูที่จะวิ่งตรงไปเข้าครู จะไม่เกี่ยวกับเงินในโรงเรียน  งบอีกส่วนนึงจะเป็นงบรายหัว จ่ายให้กับโรงเรียนตามรายหัวเด็ก เด็กเยอะก็คูณตามรายหัวเด็กไป แล้วก็มีงบโครงการ เช่น โรงเรียนนี้เข้าโครงการโรงเรียนดีประจำตำบลก็จะได้งบเพิ่ม และโรงเรียนนึงจะมีครูมากน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นกับจำนวนเด็กด้วย เด็กเยอะก็ได้ครูมาก เด็กน้อยก็ได้ครูน้อย

ทีนี้มันจะไม่ค่อยเป็นปัญหาหรอกก ถ้าหากว่าขนาดของโรงเรียนในประเทศไทยมันพอ ๆ กัน เช่นเมืองนี้มี 5 โรงเรียน มีโรงเรียนละประมาณ 1,000 คน แต่ปัญหาในประเทศไทยคือ ความเจริญของเมืองมันไม่เท่ากัน ในบางตัวเมืองที่มีงานเยอะ มีเศรษฐกิจ คนก็จะเข้ามาทำงาน มีเด็กเกิด ก็มาอยู่ในโรงเรียน จำนวนเด็กก็จะเยอะ ดูน่าสนใจ ในขณะที่ชนบทมันมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจน้อย คนก็จะไม่ค่อยอยู่ 

ยังไม่นับว่าพ่อแม่ที่อยู่ในชนบทอาจจะรู้สึกว่าโรงเรียนในเมืองมันดีกว่า แล้วการคมนาคมมันก็ง่ายขึ้น ขับรถพาลูกเข้าไปเรียนในเมืองก็ง่าย เข้าไปเรียนในเมืองดีกว่า มันก็เลยทำให้โรงเรียนที่ควรจะขนาดบาลานช์กัน มันไม่บาลานช์ โรงเรียนมันล้อตามการพัฒนาของเมือง ประเทศเราเลยมีโรงเรียนใหญ่แบบเด็ก 4,000 คน แล้วที่ตำบลมีเด็กแค่ 60 คน มันมีวัฏจักรเชิงลบ เช่น โรงเรียนนี้แต่เดิมมีเด็ก 500 คน มีครู 20-30 คน มันยังจัดตารางสอนได้ ต่อมาโรงเรียนนี้เหลือเด็ก 200 คน ครูลดลงมาเหลือ 10 คน มันเริ่มจัดการยากละ ถ้าจัดการไม่ดี เด็ก 200 อาจจะเหลือ 100 นึง เหลือ 60 ซึ่งยิ่งทำให้จัดการให้มีคุณภาพไม่ได้เข้าไปอีก วัฏจักรเชิงลบ มันก็ฉุดลงเรื่อย ๆ จนโรงเรียนนี้ไม่มีคุณภาพ

อีกมุมนึง ถ้าโรงเรียนในเมืองที่เด็กย้ายเข้า เริ่มจากมีเด็ก 2,000 คน อยู่ดี ๆ มีเด็กย้ายเข้ามาใหม่ พ่อแม่ก็เริ่มมองเริ่มคิดว่าโรงเรียนนี้เด็กเยอะน่าจะดีนะ โรงเรียนก็เริ่มมีเงินเริ่มทำป้ายนู่นนี่นั่น มีงบลงมาก็มีห้องคอม มีครูสอนศิลปะ สอนว่ายน้ำ มันก็ยิ่งดูดเด็กเข้ามา โรงเรียนก็ใหญ่ขึ้น เราอยู่บนวัฏจักรอย่างนี้ ซึ่งเราจะโทษใครก็โทษยาก เพราะว่ามันมีปัจจัยหลายอย่างที่เปลี่ยนสังคมไปพร้อม ๆ กัน และเปลี่ยนเร็วจนระบบการศึกษาปรับตัวไม่ทัน บางเรื่องก็ยากมากที่จะแก้ อย่างเรื่องอัตราการเกิดที่ต่ำมากของประเทศไทย

แล้วเมื่อกี้ที่บอกว่ารัฐผูกก็ต้องแก้เอง รัฐควรทำอะไรที่พอจะแก้เรื่องนี้ได้บ้าง

อย่างเรื่องโรงเรียนขนาดเล็ก โรงเรียนขนาดใหญ่ใช่ไหม มันทำได้หลายอย่าง แต่ข้อเสนอที่พูดกันมาก เช่น เอาโรงเรียนมายุบรวมกันยังเป็นการแก้ที่ปลายเหตุ ส่วนตัวคิดว่าประเด็นหลัก ๆ  คือความเชื่อมั่นของพ่อแม่ ตราบใดที่โรงเรียนยังไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้พ่อแม่ได้ว่ามันดีจริง เด็กจะได้รับการดูแลอย่างดี ทรัพยากรมีไม่ขาด คุณครูดูแลลูกให้แน่นอน จบมาอ่านออกเขียนได้ เรียนต่อได้ ถ้าสร้างความเชื่อมั่นให้พ่อแม่ได้  ก็อาจจะลดการไหลออกของเด็ก

ในขณะเดียวกันก็ต้องแก้เรื่องความเจริญทางเศรษฐกิจด้วย คืองานและเงินมันกระจุกตัวในเมืองเกินไป แล้วถ้ายังไม่กระตุ้นการสร้างธุรกิจ สถานประกอบการ หรือสร้างอะไรใหม่ๆ ในชนบท มันก็จะเป็นอย่างนี้ ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง คนจะไหลเข้าเมือง เด็กก็จะไหลเข้าโรงเรียนประจำจังหวัด

จุดเริ่มต้นที่ทำให้มาสนใจทำงานนโยบายการศึกษาคืออะไร

ตอนนั้นจบมัธยมปลาย แล้วคิดว่าอยากไปต่างประเทศ อยากเรียนที่ไหนก็ได้ที่ไม่ได้อยู่ในประเทศไทย ไม่ใช่ย้ายประเทศนะ ไม่ได้มีความเกลียดชังประเทศตัวเอง (หัวเราะ) แต่แค่รู้สึกว่าอยากเห็นมุมมองหลาย ๆ แบบ แล้วจะได้เอามาเป็นข้อมูลการตัดสินใจว่าแบบไหนดี อยู่ต่างจังหวัดก็แล้ว อยู่โรงเรียนประจำก็แล้ว อยู่ในเมืองใหญ่ก็แล้ว ขอไปอยู่ต่างประเทศบ้าง ตอนนั้นได้ทุนไปเรียนสาขาวิศวะ ที่ฝรั่งเศส ตอนนั้นแม้จะเรียนสาขานี้แต่เราสนใจเรื่องสังคม

ต้องเล่าก่อนว่า บรรยากาศการไปเรียนที่นู่น ต่อให้สนใจวิศวะ ถ้าออกไปเดินมิวเซียม ก็ได้เรียนรู้ศิลปะ มีบรรยายในมหาลัยที่พูดเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม แล้วตอนใกล้ ๆ จบได้ไปฟังบรรยายเรื่อง social enterprise เรื่อง micro-credit แล้วรู้สึกว่า ไอเดียพวกนี้ต่างหากที่ตัวเองสนใจ อยากทำงานที่มันช่วยสังคมได้ แต่ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าจะเบี่ยงไปทางนั้นได้ยังไง แล้วก็กลับมาเมืองไทย ก็มาทำงาน อยู่หน่วยงานภาครัฐซึ่งก็นึกว่าจะได้ใช้ความรู้ที่เรียนมาอย่างเต็มที่ แต่มันกลับกลายเป็นว่าเมืองไทยมันยังไม่ไกลไปจนถึงจุดที่จะสร้างเทคโนโลยีระดับสูงขนาดนั้น มันเหมือนแค่พยายามแก้ปัญหาพื้นฐานบางอย่างอยู่ ประกอบกับตอนนั้นกลับมาเมืองไทยแล้วมันเกิด culture shock เรื่องความไม่เท่าเทียม เมื่อก่อนเคยรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องปกติที่มีบ้าน มีตึกหรูหราไฮโซ แล้วข้าง ๆ เป็นสลัม เห็นจนชินตา ไม่รู้สึกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องประหลาดอะไร แต่พอกลับมาจากฝรั่งเศสรู้สึกว่าหลายอย่างที่เคยปกติมันไม่ปกติ ก็เริ่มเข้าไปหาเครือข่ายต่าง ๆ จนเจอเพื่อนที่เคยเรียนมัธยมต้นที่เดียวกัน เขาทำองค์กรชื่อ Teach for Thailand ก็เลยทักไปหาเขาถามเขา เขาก็ถามว่ามาทำด้วยกันไหม จะได้เห็นว่ามันเริ่มยังไง ก็เลยตัดสินใจลาออกแล้วไปทำดู

นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้สนใจเรื่องการศึกษา

ใช่ ทำไปเรื่อย ๆ ก็ยิ่งเห็นภาพมากขึ้น ได้อ่านงานต่าง ๆ ต้องไปพูดเรื่องนั้นเรื่องนี้ ยิ่งต้องหาข้อมูล ก็ยิ่งต้องลงลึกกับประเด็นการศึกษามากขึ้นเรื่อย ๆ แล้วช่วงแรกคือไปทำงานกับโรงเรียนในสังกัด กทม. ก็ยิ่งช็อก บางทีโรงเรียนอยู่ตามชุมชน อยู่ในซอย อยู่ใกล้กับพื้นที่ที่เจริญมาก มีแสงสีเสียง มีเทคโนโลยีต่าง ๆ แต่ว่าเด็กที่มาจากชุมชนไม่ได้สัมผัสเลย อย่างเรื่องที่ได้ยินบ่อย ๆ คือเด็กที่อยู่ใกล้รถไฟฟ้ามาก ๆ เขาไม่เคยขึ้นรถไฟฟ้า เขาใช้แบบชีวิตคนละแบบทั้ง ๆ ที่อยู่ในเมืองเดียวกัน ตอนนั้นเราก็เริ่มรู้สึกว่า โห มันหนักเนอะ ไม่เหมือนที่คิดเลย แล้วคุณครูหลายคนที่เข้าไปทำงาน เขาก็กลับมาเล่าว่าเด็กโดน abuse บ้าง เจอพ่อข่มขืนบ้าง เป็นเรื่องที่แบบเราไม่เคยจินตนาการเลยว่ามีใครที่ต้องชีวิตวัยเด็กแบบนี้ เราไม่เคยมีเพื่อนแบบนั้น แล้วมันก็ยิ่งอิน ยิ่งอยากแก้ปัญหาเหล่านี้

ทำ Teach for Thailand ไปได้สัก 3 ปีกว่าตอนนั้นกำลังมีลูกด้วย แล้วก็เริ่มเห็นแล้วว่าลูปของการทำงานช่วยสังคมในลักษณะองค์กรเพื่อสังคม คือจับประเด็นแล้วก็เสิร์ฟคอมมูนิตี้เล็กๆ แบบปีนึงก็อาจจะมีครู 60 คน 100 คน ทีนี้เริ่มอยากรู้ว่าภาพใหญ่มันเป็นยังไง เด็กสอบมาคะแนนไม่ดี แต่ครูโดนสั่งว่าให้แก้คะแนนให้มันดี ๆ ครูที่ทำงานกับเราเขาก็จะมาฟ้อง ก็เริ่มสงสัยว่า เอ๊ะ มันรันกันด้วยนโยบายแบบไหน ตอนนั้นเลยไปของานที่ TDRI ไปเจออาจารย์สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ บอกเลยว่าอยากสมัครงาน อยากทำที่นี่ ขอทำได้ไหม (หัวเราะ) 

การทำงานที่ TDRI ตอบสิ่งที่สงสัยหลายอย่าง ที่อยากรู้ว่าเบื้องลึกเบื้องหลังมันเป็นยังไง นโยบายแต่ละอันเขาคิดมาได้ยังไง เวลาเขาส่งนโยบายมามันเกิดอะไรขึ้นมาบ้าง แล้วทำไมมันไม่เป็นอย่างที่คิด แล้วก็ได้ทำงานในกลุ่มผู้บริหารระดับสูง เห็นรัฐมนตรี เห็นผู้ช่วยรัฐมนตรี นักการเมือง ในขณะที่อีกขานึงได้ไปคุยกับโรงเรียน ไปเจอคุณครูที่อยู่ไกล ๆ รู้สึกว่าได้เห็นแบบล่างขึ้นบน บนลงล่าง ได้เห็นกว้างมากเลย ทำให้ได้ความรู้ ได้อินไซต์

จนถึงวันนี้ คิดว่าระบบการศึกษาไทยที่มีคนหลายคนพยายามแก้ปัญหามาอย่างยาวนานดีขึ้นบ้างไหม 

ระบบการศึกษา มันก็เหมือนกับระบบอื่น ๆ  มันมีไดนามิกส์ มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แล้วก็การเปลี่ยนแปลงมันมีทั้งที่เราจงใจและไม่จงใจ มันมีทั้งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากข้างนอก แล้วก็ปัจจัยข้างในที่มันทำตัวมันเอง (หัวเราะ) หรือมันไม่ทำอะไรเลย แล้วปล่อยไปตามยถากรรม เลยพูดได้ยากมากเลยว่าสิ่งที่เราพยายามกันมามันเวิร์คไหม เพราะบางทีแค่สถานการณ์มันเปลี่ยน ยกตัวอย่างเช่น ถ้าโลกข้างนอกมันไม่ได้เปลี่ยนกันเร็วขนาดนี้ การที่เรามีหลักสูตรแบบนี้อาจจะไม่ทำให้พังขนาดนี้ก็ได้ แต่ว่าเพราะโลกข้างนอกมันเปลี่ยนเร็ว แล้วเราไม่ได้เปลี่ยนสูตรข้างใน มันก็อาจจะทำให้เกิดผลลัพธ์บางอย่างที่ไม่ได้คาดหวัง แต่มันพูดยากมากเลยนะ ว่าต้องมีการปฏิรูปไหม หรือว่าเราปฏิรูปกันผิดใช่ไหมก็เลยไม่เวิร์ก ระบบการศึกษามันเป็นปัญหาที่เรียกว่าเป็น complex problems คือมันซับซ้อน และมีองค์ประกอบเยอะ

แต่ยังไงก็ตาม ระบบมันควรจะ evolve ตลอด ระบบที่ไม่ evolve มันเสี่ยงมากที่มันจะไม่สอดคล้องกับ โลกข้างนอกที่เปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่บอกว่าต้องเปลี่ยนตามโลกนะ เราเบื่อวาทกรรมที่ว่า งโลกต้องเปลี่ยน เราต้องเปลี่ยนตามโลก’ ไม่ หยุดบ้าง ให้โลกตามเราบ้าง (หัวเราะ) แต่ก็ควรจะ evolve ให้มันพออยู่ได้ และอยู่ได้สบายระดับหนึ่ง เราคิดว่าจุดที่มันน่าจะเป็นปัญหาของระบบการศึกษาประเทศไทยคือ มัน evolve ไม่ทัน และเป็นไปแบบที่ไม่มีเจตนารมย์ ไร้ทิศทาง เหมือนจะไปทุกทางก็เลยไร้ทิศทาง อีกอันนึงคือ เราติดหล่มคำว่าปฏิรูป เราใช้คำว่าปฏิรูปมา 10 ปี 20 ปี แต่คำว่าปฏิรูปมันมี สมมติฐานว่าของเป็นรูปแบบนึง แล้วเดี๋ยวมันจะเปลี่ยนไปเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งระบบที่มันใหญ่อย่างการศึกษา เราบอกไม่ได้ว่ารูปที่มันควรเป็น มันเป็นอะไร มันบอกไม่ได้ว่าจาก A แล้วควรเปลี่ยนไปเป็น B เพราะไม่รู้ว่า B หน้าตายังไง เพราะฉะนั้นถ้าใช้คำว่าปฏิรูปเมื่อไหร่ มันก็เป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว คำที่น่าจะเหมาะคือคำว่า evolve คือมันต้องวิวัฒนาการ เราบอกไม่ได้ว่ามันจะเปลี่ยนเป็นรูปร่างแบบไหน แต่ว่ามันมี intelligence บางอย่างในตัว มีระบบที่จะรับรู้ได้ว่าโลกข้างนอกมันเปลี่ยนไปยังไง แล้วก็มีการสื่อสารกันภายในตัวระบบ มีการสะกิดกันว่าเรื่องนี้มันอย่างนี้ เราขยายแขนขาแบบนี้นะ แล้วค่อย ๆ ทำ ไป โดยที่ตัวระบบนั้นยังมีความเป็นตัวเดิมของมันอยู่ 

จะพูดไปการปฏิรูปการศึกษาเหมือนเปลี่ยน form เฉย ๆ แต่ไม่มีระบบ intelligence ที่จะรับรู้ว่าข้างนอกเปลี่ยนแปลงยังไง และจะปรับเปลี่ยนตามเขาไหม หรือไม่ตาม

ใช่ มันควรจะคุยกันว่า เรื่องนี้เอาไหม เรื่องนี้มันกระทบคนข้างในแค่ไหน กระทบคนข้างนอกเท่าไหร่ มันต้องมีตัว intelligence ที่ตัดสินใจ แล้วขยับขยายหรือเปลี่ยน หรือปรับ แต่พอเราไปใช้คำว่าปฏิรูป มันจะมีความรู้สึกอยู่เสมอว่า ปฏิรูปเสร็จหรือยัง ไหนรูปใหม่เป็นยังไง ถ้าตราบใดที่ยังอยากได้รูปแบบใหม่ก็คือยังไม่เสร็จ ถ้าอย่างนั้นก็ไม่มีวันเสร็จ เพราะว่าเราไม่มีวันถึงจุดที่จะรู้หรอกว่ามันจะเปลี่ยนไปยังไง 

แต่เรามักจะหา outcome ร่วมนะ แบบเด็กที่พึงประสงค์ในศตวรรษที่ 21

อันนี้เป็นประเด็นที่เพิ่งไปพูดงาน 50 ปีการศึกษาไทยที่ สกสว. จัด คือในช่วง 4-5 ปีนี้ จะได้ยินคนพูดตลอดเลยว่าเราต้องมาหาภาพร่วมกันนะว่า vision ของการศึกษาไทยจะหน้าตาอย่างไร เราต้องวาดภาพร่วมกันให้ได้ แล้วทุกครั้งก็จบด้วยว่า vision ของแต่ละคนมันเป็นปัจเจกมาก เช่น บางคนว่าเด็กทุกคนต้องได้ไปโรงเรียน บางคนบอกว่าเด็กต้องมีความปลอดภัยทางจิตใจ บางคนว่าเด็กต้องแข่งระดับโลก คือทุกคนจะมี vision ของตัวเอง แล้วมันยากมากที่จะหาภาพที่มันรวมทุกอันเข้าด้วยกันแล้วไม่เละเทะ

ทุกคนพยายามยัด vision ของตัวเองลงไปในตัวเด็ก

ใช่ ใช่ ใช่ แล้วคำถามส่วนใหญ่ก็คือ เราอยากให้เด็กของเราเป็นยังไง ซึ่งไม่นานมานี้เองทรายโละคำถามพวกนี้ทิ้งหมดเลย อยู่ดี ๆ ก็คิดว่า เฮ้ย ตั้งคำถามแบบนี้มันผิด ทำไมเราไม่ตั้งคำถามกลับไปว่าเด็กเขาอยากได้ประสบการณ์แบบไหนในการเข้ามาอยู่ในระบบการศึกษา แทนที่เราจะมานั่งคิดว่าจะใส่ vision หรือความคาดหวังอะไรลงไปบ้างในเด็กคนนึง เคยถามเด็กสักคำไหมว่าเขาอยากได้แบบนี้หรือเปล่า ที่บอกว่าเราอยากให้เด็กรู้คิด ใฝ่ดี มีวินัย มีคุณธรรม รักชาติ ศาสนา ภาษาต้องเก่ง ได้ภาษาที่ 2 ที่ 3 เรียนคอมพิวเตอร์ โปรแกรมมิ่ง ผู้ใหญ่อย่างเราทำได้หรือเปล่า ถ้าเราทำไม่ได้ทุกอย่าง ก็ไม่ควรไปมีความคาดหวังระดับนั้นกับลูกคนอื่น

เพราะอะไรเราต้องใช้เวลาเกือบ 20 ปีของการปฏิรูปการศึกษา ในการเข้าใจว่าเราอาจแค่ตั้งคำถามแรกผิด

ในแทบทุกระบบ แทบทุกประเทศ คนที่เป็นนักนโยบาย หรือคนที่ขึ้นมากำหนด policy ใหญ่ ๆ ก็จะเป็นคนที่บ้านสบายในระดับหนึ่งไม่ได้ต้องไปทำงานวิ่งหาเงิน และคิดว่าการที่ตัวเองได้รับสิ่งที่ดีก็อยากให้คนอื่นได้ประโยชน์ด้วย คือมาด้วยเจตนาดี ดังนั้นมันเป็นธรรมชาติที่คนที่เป็นครีมจะมาอยู่ใน policy ranking แต่บางคนก็อาจจะมีความคิดประมาณว่า การที่เขาได้มาอยู่ในระดับท็อปของประเทศคือผ่าน education ในแบบของเขามา เลยอยากให้คนอื่นได้แบบเดียวกันบ้าง ซึ่งอันนี้มันมีอยู่ในตัวของคนทำงานด้านการศึกษาเยอะ จนกว่าจะรู้ตัวว่าที่มีประสบการณ์แบบนั้น เป็นเพราะโชคดีที่เกิดมาในบ้านที่แม่ใส่ใจ เกิดมาในบ้านที่แบบพ่อมีเวลาว่างมานั่งอ่านหนังสือให้ฟัง

คือเมื่อไหร่ที่เข้าใจได้ว่าการเข้ามาสู่จุดนี้ มันเป็นเพราะปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจไม่ใช่มาจากความสามารถแต่มาจากโชค ถึงจะตระหนัก ว่าตัวเองไม่ได้เก่งกว่าคนอื่นหรอก แต่โชคดีกว่า และพอรู้แล้วว่าโชคดี ก็อย่าเอาเวอร์ชั่นที่เราคิดว่าดีไปยัดเยียดให้คนอื่น เช่น โอ้ คุณเป็นแม่เหรอ คุณต้องอ่านหนังสือให้ลูกฟังทุกครึ่งชั่วโมงก่อนนอน ดูก่อนว่าคำแนะนำแบบนี้ใช้ได้ไหม บางคนเขาเลิกงานกะดึก สี่ทุ่ม จะให้เขาอ่านหนังสือตอนกี่โมง คือการให้คำแนะนำที่มันฉาบฉวยก็อาจใช้ไม่ได้กับทุกคน อย่าอาจหาญไปให้คำแนะนำแบบนั้น คนทำงานด้านสังคมมันต้องมีมนุษยธรรมตรงนี้เสมอ

คนออกแบบนโยบายต้อง empathize คนที่ได้รับผลจากนโยบาย

ใช่  (หัวเราะ) ในฐานะคนที่เป็นเจ้าของกลไก รัฐต้องออกแบบให้ระบบมันซัพพอร์ตคนได้ เช่น คุณทำศูนย์เด็กเล็กที่ปิดบ่ายสาม พ่อแม่ที่ไหนเขาจะเลิกงานบ่ายสามทุกวันเพื่อมารับลูกแล้วไม่โดนเจ้านายมองหน้า แล้วเราก็รู้อยู่ว่าค่าครองชีพมันสูงขึ้น เมื่อก่อนครอบครัวมีพ่อกับแม่ พ่อทำงานคนเดียวเลี้ยงคนได้ทั้งบ้าน แต่ทุกวันนี้พ่อก็ต้องทำ แม่ก็ต้องทำ มันต้อง double income ถึงจะพอส่งลูกเรียน พอจะซื้อบ้าน ซื้ออะไรได้

แปลว่านโยบายต้องเข้าใจทั้งพ่อและแม่ และต้องสนับสนุนให้เขาทำงานได้ ซึ่งแปลว่าศูนย์เด็กเล็กต้องยาวถึงเวลาเลิกงาน อย่างน้อยเวลาดีไซน์พวกบริการสาธารณะ คุณจะต้องดีไซน์จากชีวิตของคน ไม่ใช่ดีไซน์จากความสะดวกของราชการ สามโมงครึ่งเลิกงาน ติดต่อใหม่พรุ่งนี้เก้าโมงครึ่งนะคะ มันไม่ได้ ชาวบ้านขาต้องลางานไป แล้วลูกจ้างรายวันทำยังไง การไปติดต่อราชการเท่ากับเงินค่าแรงวันนั้นเขาหายไปเลย ทำไมเราไม่ออกแบบระบบให้บริการของรัฐให้มันเข้าใจชีวิตคนมากกว่านี้

อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนไม่อยากมีลูก

ไม่มีทาง (หัวเราะ) คนจะอยากมีลูกได้ยังไง เลิกคิดเลย อันนี้ชัดเจนค่ะ นโยบายไม่ได้ปรับให้ซัพพอร์ทคนมีลูก แต่นี่แหล่ะค่ะ ส่วนตัวรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ดี ที่พอตัวเองทำงานเรื่องนโยบายแล้วเป็นแม่ มันทำให้เรามีความเข้าใจรายละเอียดพวกนี้เยอะขึ้น ทั้ง ๆ ที่แต่ก่อนเราไม่ตระหนักเลยว่าระบบที่มีอยู่ในตอนนี้จริง ๆ มันมีสำหรับตอบโจทย์คนโสดที่ร่างกายไม่มีปัญหา และมีคนดูแลคนแก่ที่บ้านให้

แต่ถ้าเราไม่ได้อยู่ใน format นั้น เช่นเป็นคุณแม่มีลูกสองคน คุณจะเข้าไม่ถึงบริการหลายอย่าง 

ประเด็นหนึ่ง คือคนกำหนดระบบนโยบายสาธารณะส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย คนออกนโยบาย คนในสภา คนที่เป็นข้าราชการระดับสูงเป็นผู้ชายทั้งนั้นเลย ซึ่งไม่ได้บอกว่าเขาไม่เห็นอกเห็นใจ แต่บางอย่างมันยากจะเข้าใจถ้าไม่อยู่ในสถานะนั้น เช่น เรื่องประจำเดือน หลัง ๆ จะเริ่มแบบเห็นนโยบายแจกผ้าอนามัย ซึ่งสำหรับผู้ชาย เขาจะไม่เก็ทว่ามันลำบากอะไรขนาดนั้น หรือว่าบางวันก็จะมีวันที่คุณปวดท้องมาก ทำงานไม่ได้ คือความเข้าใจเรื่องความเท่าเทียมระหว่างเพศ ต้องเข้าใจก่อนว่าหลายอย่างในโลกมันเป็น male by default แปลว่าไม่ใช่ว่าความเท่าเทียมคือการให้เท่ากัน แล้วคาดหวังว่าคืออะไรที่ผู้ชายทำได้ ผู้หญิงต้องทำได้ อันนี้ผิดตั้งแต่ตั้งโจทย์แล้ว ยกตัวอย่าง ห้องน้ำผู้หญิงผู้ชาย ถ้าสร้างขึ้นมาให้เท่าเทียมคือแบ่งพื้นที่ให้เท่ากัน แต่ทำไมห้องน้ำผู้หญิงคิวยาวตลอดเลย เพราะโดยธรรมชาติของผู้หญิงเวลาเข้าห้องน้ำมักจะเข้านานกว่า เช่น เปลี่ยนผ้าอนามัย แต่งหน้า และหลายครั้งผู้หญิงไม่ได้เข้าห้องน้ำคนเดียว เข้าห้องน้ำกับผู้สูงอายุ เข้าห้องน้ำกับเด็ก ถ้าคุณแบ่งพื้นที่ห้องน้ำเท่ากัน ผู้หญิงจะไม่ได้บริการที่ดีเลย

หรือเราคิดตัดใจไปเลยได้ไหมว่าโลกมันเป็นแบบนี้ ประเทศเป็นแบบนี้ 

ตอนช่วงแรก ๆ ที่ทำงานกับหน่วยงานรัฐ มันจะมีความอึดอัดใจเยอะมาก เพราะเหมือนกับคุยกับคนที่อยู่กันคนละวัฒนธรรม ความเชื่อ หลักการ การให้คุณค่าต่างกัน เช่นเขาให้คุณค่ากับการที่ต้องถูกระเบียบ แล้วก็ทำให้มันเหมือนกันให้หมด ซึ่งก็เป็นประโยชน์อีกแบบหนึ่งของระบบราชการ สมมติคุณไปติดต่อราชการที่เชียงใหม่ แล้วคุณมาติดต่อราชการที่ระยอง คุณจะได้ประสบการณ์เดียวกัน คือมันมีประโยชน์อยู่ในบางลักษณะงานของการให้บริการสาธารณะ แต่ว่าพอมันเป็นเรื่องการศึกษา วิธีคิดแบบนี้มันไม่เหมาะ เพราะคนมีความต้องการต่างกัน คนไม่ได้ต้องการแบบฟอร์มที่เหมือนกัน ไม่ได้ต้องการว่าฉันมากรอกแบบฟอร์มนี้เพื่อขอสอบใบขับชี่เหมือนกัน มันเป็นงานอีกแบบ คนละประเภทเซอร์วิสเลย ระหว่างการไปทำใบขับขี่กับได้รับการศึกษาที่ดี ซึ่งระบบการศึกษามันอยู่ใต้ระบบราชการอยู่ดี มันเป็นหน่วยงานที่ตั้งภายใต้กระทรวง มันอยู่ใต้กฎระเบียบการบริหารราชการแผ่นดิน ครูก็เป็นข้าราชการ เขาก็ต้องปฏิบัติตามกรอบของราชการ ดังนั้นมันปฏิเสธไม่ได้ว่า วิธีคิดและกรอบของวัฒนธรรมของราชการ มันจะอยู่ในระบบการศึกษา

พอฟังดูแล้ว ‘ระบบการศึกษา’ กับ ‘ระบบใบขับขี่’ เหมือนกันเลย

เหมือนไหม ๆ มันไม่ได้ทำให้ถูกใจคนรับบริการ แต่ทำให้ถูกใจกฎ กรอกให้ถูกช่อง กรอกให้ถูกฟอร์ม ขับรถให้ตรง ทำให้ครบทุกท่า คุณก็ได้ใบขับขี่ ระบบการศึกษาก็อยู่ภายใต้วัฒนธรรมเดียวกัน คุณครูที่มาสอนเขามีหน้าที่ทำตามโปรโตคอลเหมือนกัน คือเช็คว่าเอกสารถูกไหม เช็คว่าทำสอบภาคปฏิบัติ ภาคทฤษฎีครบไหม แล้วส่งต่อไปที่ห้องต่อไป หรือสเต็ปต่อไป พอสอบเสร็จให้ไปที่เคาท์เตอร์นี้ จ่ายค่าธรรมเนียมแล้วก็ได้บัตรไป

ทีนี้ต้องลองตั้งคำถามว่ามันเป็นไปได้ไหมที่ระบบการศึกษายังอยู่ใต้ระบบราชการแต่มีวัฒนธรรมการทำงานอีกแบบ ส่วนตัวคิดว่าเป็นไปไม่ได้เลย ถ้าเป็นระดับโรงเรียน พอจะเปลี่ยนได้นิดหน่อย โดยที่มองว่าผู้นำของโรงเรียน คือผู้อำนวยการเป็นผู้นำที่มีกระบวนการความคิด มีหลักการแบบใหม่มาทำงานร่วมกับครู แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้อีกว่าเขายังจะต้องตอบโจทย์ระบบใหญ่ด้วย เขาจะต้องอยู่กับระบบใหญ่ให้ได้ เพราะฉะนั้นคนที่คิดทำอะไรแบบนี้จะเหนื่อยเป็นสองเท่า เพราะมันก็ไม่เอื้อให้เขาอยู่ได้อย่างสบาย หรืออยู่ได้นานในระบบแบบนี้

ถามอีกครั้งแม้จะหวังลม ๆ เด็กยังเติบโตได้ดีอยู่ไหมในระบบการศึกษาแบบนี้

คือถ้าอธิบายด้วยทฤษฎีเดิมว่ามันเป็นระบบราชการที่ทำตามสโคปงาน ตามบรีฟที่เขาให้มาเท่านั้น ซึ่งต้องถามว่าฟังก์ชั่นของการศึกษาที่เราต้องการในปัจจุบันนี้ เช่น สอนให้เด็กเข้าใจตัวเอง มันอยู่ในบรีฟที่เขาต้องปฏิบัติงานไหม เพราะถ้ามันไม่มีอยู่ในนั้นตั้งแต่แรก มันก็คือเกินสโคป เกินบรีฟ ทำงานเกินบรีฟ ซึ่งถ้าครูเขารู้สึกว่าสิ่งนี้ไม่สำคัญ เขาก็จะไม่ทำ แต่ถ้าเขาเป็นคนที่มีวิธีคิดว่าต่อให้ไม่มีใครสั่งฉันก็จะทำอยู่ดี การเปลี่ยนแปลงมันก็จะเกิดขึ้น และมันเกิดขึ้นแล้วในหลายโรงเรียน แต่มันยากจะเกิดขึ้นทั้งระบบ เพราะมันขึ้นอยู่กับตัวบุคคล

แต่ถ้าเกิดว่าครูมีภาระงานต้องทำหลายอย่าง เขาก็อาจจะทำได้แค่ตามบรีฟ ซึ่งเขาไม่ผิดนะ เพราะมันไม่ใช่ความผิดของครู แต่ว่ามันควรจะปรับตั้งแต่บรีฟ หรือแก้ไขระบบให้ไปซัพพอร์ตในสิ่งที่คิดว่าควรจะมี แล้วอะไรบ้างที่ควรอยู่ในบรีฟ ที่เราจะใส่เข้าไป เช่น สอนให้เด็กรู้จักตัวเอง สอนความรู้ด้านการเงิน โค้ดดิ้ง โปรแกรมมิ่ง สอนเรื่องค้นหาอาชีพ คือพอเริ่มคิดเรื่องบรีฟมันก็จะเยอะไปหมด และสุดท้ายก็ทำไม่ได้ จนสุดท้ายส่วนตัวคิดว่าทางออก มันคือเชื่อในดุลยพินิจของครู แล้วให้บรีฟที่เป็นหลักการไปแทน บอกครูว่าให้ครูลองดูว่าเด็กมีความต้องการอะไร แล้วใส่สิ่งที่เด็กต้องการเข้าไป สมมติว่าให้บรีฟแค่นี้ แล้วเชื่อว่าเดี๋ยวครูต้องคิดนวัตกรรม เขาจะหาวิธีการเพื่อเข้าใจว่าเด็กต้องการอะไร สำหรับเด็กคนนี้เขาอาจจะต้องเติมเรื่องการรู้จักตัวเอง สำหรับเด็กคนนี้เขาอาจจะเติมด้วยคณิตศาสตร์ อย่างนี้มันน่าจะเป็นทางที่เหมาะมากกว่าไปทำบรีฟละเอียดให้กับครู


Writer

Avatar photo

มิรา เวฬุภาค

Photographer

Avatar photo

ฉัตรมงคล รักราช

ช่างภาพ และนักหัดเขียน

Illustrator

Avatar photo

ลักษิกา บรรพพงศ์

กราฟิกดีไซน์เนอร์ที่เกิดและเติบโตมาพร้อมกับธุรกิจเพลงเด็ก ติดซีรี่ย์ ชอบร้องเพลง ชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และเป็นทาสแมว

Related Posts