แม่ แม่นม และแม่แม่ ที่เปลี่ยนการมองโลกของ อีฟ-ณัฐธิดา เจ้าของร้าน ZAO ให้กลับมารักความเป็นอีสาน

ณัฐธิดา พละศักดิ์ หรือ อีฟ ปรากฏตัวในชุดสบายๆ ภายใต้แสงแดดยามเช้าและกลิ่นกาแฟหอมกรุ่น เธอเดินไปสั่งเครื่องดื่มแก้วโปรดด้วยความกระฉับกระเฉง ไม่นานก็นั่งลงฝั่งตรงข้าม ท่าทางพร้อมคุยเต็มที่

สิบโมงเช้าเวลานัด ร้าน ZAO (ซาว) สาขาเอกมัยยังไม่ถึงเวลาเปิด เราจึงเลือกมาสนทนาในร้านกาแฟซอยเดียวกัน อีฟบอกว่าตั้งแต่มาเปิดซาวสาขาสอง เธอก็ต้องบินไปๆ มาๆ ระหว่างกรุงเทพฯ กับอุบลราชธานี-ที่ตั้งของซาวสาขาแรก ซึ่งจะว่าไปแล้ว ก็ไม่ได้แตกต่างจากชีวิตก่อนหน้านั้นของเธอเท่าไหร่นัก

เกิดและเติบโตที่จังหวัดศรีสะเกษ ก่อนจะบินมาเรียนแฟชั่นที่กรุงเทพฯ แล้วอยู่ยาว อีฟออกปากว่าเธออยากย้ายออกมาจากบ้านตั้งแต่เด็ก เพราะรู้สึกเป็นอื่นกับแผ่นดินที่ตัวเองเหยียบ พอได้เข้าเมืองกรุงแล้วเห็นแสงสี เสื้อผ้าสวยๆ ก็ไม่อยากกลับบ้าน เธอรักความศิวิไลซ์ที่นี่มาก ถึงขนาดกลับอีสานได้แป๊บๆ แล้วต้องรีบบินกลับเมืองหลวงทันทีเพราะ ‘อยู่แล้วคัน’ ใช้วิธีทำงานหาเงินแล้วส่งไปให้แม่แทน

ครั้งหนึ่ง อีฟเคยบินไปเรียนแฟชั่นไกลถึงลอนดอนเพราะอยากได้วุฒิกลับมาสอนแฟชั่นป.ตรีที่กรุงเทพฯ แต่พอเรียนจบแล้วกลับถูกแม่ตามตัวกลับอีสาน เธอยื่นคำขาดว่าไม่ไปเด็ดขาด แต่ก็ต้องยอมแพ้ให้กับคำว่า ‘บุญคุณ’ ของผู้เป็นมารดา สุดท้ายหญิงสาวกลับไปอยู่บ้านด้วยความรู้สึกเป็นอื่นเช่นเดิม เพิ่มเติมคือทุกเสาร์-อาทิตย์ต้องบินมากรุงเทพฯ เพื่อปาร์ตี้ย้อมใจ

แต่เวลาผ่านไป อะไรบางอย่างกลับทำให้เธอมองเห็นคุณค่าของสิ่งละอันพันละน้อยในบ้านเกิด เปลี่ยนความรู้สึกอึดอัดกับความเป็นอีสานให้กลายเป็นอ้อมแขนที่อ้ากว้าง โอบรับเลือดเนื้อเชื้อไขของตัวเองอย่างเต็มกอด อะไรบางอย่างทำให้อีฟเลิกรู้สึกเป็นอื่นกับแผ่นดินที่เหยียบ

อะไรบางอย่างทำให้เธอลุกขึ้นมาทำโปรเจกต์ Foundisan กับทีมดีไซเนอร์จากกรุงเทพฯ และในท้องถิ่นเพื่อช่วยกันผลักดันสินค้างานคราฟต์ของชาวบ้านไปสู่ขอบเขตใหม่ๆ และอะไรบางอย่างที่ทำให้เธอตัดสินใจเปิดร้าน ZAO ที่อุบลราชธานี ก่อนจะขยับขยายมายังสาขาที่ 2 ในซอยเอกมัย ให้คนกรุงฯ ได้ลิ้มรสมือที่เธอคุ้นเคยอะไรบางอย่างที่ว่า คือความสัมพันธ์ระหว่างอีฟกับ ‘แม่’ แท้ๆ ของเธอผู้ตามตัวเธอกลับอีสาน ‘แม่นม’ ที่ทำอาหารให้กินมาแต่เด็ก และ ‘แม่ๆ’ ในชุมชนที่อีฟมีโอกาสได้ทำงานร่วมกัน

บทสนทนาในบรรทัดถัดไป ขอชวนไปหาคำตอบว่า 3 แม่ๆ เปลี่ยนมุมมองของอีฟได้ยังไง 

1
แม่

อีฟเกิดในครอบครัวข้าราชการที่พ่อแม่เป็นครู  และมีธุรกิจเสริมคือร้านโชห่วยที่ใช้ระบบโรงสี หญิงสาวออกปากว่าเธอสนิทกับแม่เป็นพิเศษ เพราะตอนเด็กๆ พ่อไม่ค่อยอยู่ติดบ้าน บางครั้งท่านต้องไปสอนต่างจังหวัดแล้วย้ายโรงเรียนไปเรื่อยๆ จึงไม่แปลกเลยที่ลูกทั้ง 3 นั่นคืออีฟ พี่ชาย และน้องสาวจะต้องตัวติดกับแม่ไปโดยปริยาย

“ด้วยความที่พ่อไม่อยู่ แม่เหมือนต้องเลี้ยงลูกคนเดียว โดยมียายจุยเป็นแม่นมช่วยเลี้ยงอีกแรง เพราะลูกๆ มีหลายคนแม่เลยต้องมีอาชีพอื่น ทั้งช่างทำเสื่อ จัดดอกไม้ในงานศพ ตัดเย็บชุดแต่งงาน แม่ทำหมดเลย ภาพของแม่ที่ชินตาคือแม่ทำงานหนัก นอนดึกทุกวัน ตอนไปทำงานที่ไหนก็จะหอบลูกทุกคนไป”

อีฟนิยามวัยเด็กของตัวเองว่าเป็นเด็กดื้อ เป็นหัวโจกของแก๊งเด็กๆ ในชุมชน และฉลาดแกมโกงไม่น้อย

“ตอนแม่ทำงาน เราอาสาไปเป็นลูกมือช่วยงานเล็กๆ น้อยๆ แต่จะช่วยในสิ่งที่ตัวเองอยากทำเท่านั้น และด้วยเพราะแม่ทำงานหนัก ในบ้านจึงจะมีกฎว่าลูกๆ ต้องทำงานบ้านเพื่อช่วยผ่อนแรงผู้ใหญ่ แต่เราเป็นคนไม่ชอบทำงานบ้าน ก็จะไปสั่งให้น้องสาวทำแล้วออกไปเล่นข้างนอก แลกกับคำสัญญาว่าจะให้เงินเล็กๆ น้อยๆ กับน้อง แต่ก็ไม่ได้ให้จริงหรอก” หญิงสาวหัวเราะเมื่อนึกถึงความหลัง 

“ครอบครัวเราจะมีธรรมชาติบางอย่าง นั่นคือถ้าลูกอยากได้อะไรก็ต้องมีเงื่อนไขมาแลกเปลี่ยน แม่จะไม่สปอยล์ลูก เช่น ถ้าลูกอยากได้ของเล่นก็ต้องเรียนให้เก่งหรือต้องยอมไปหาหมอฟัน ขณะเดียวกัน แม่ก็ปล่อยให้ลูกเป็นตัวของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อยอย่างการรอพี่ชายเล่นเกม แม่ก็จะชอบนั่งเฝ้า พอโตมาพี่ชายอยากเรียนไอทีก็ให้เรียน อะไรอย่างนี้ แม่ซัปพอร์ตลูกคนทุกคน นั่นทำให้ลูกแต่ละคนมีความคิดของตัวเอง”

หนึ่งในความคิดที่อีฟมีติดตัวมาเนิ่นนาน คือความคิดว่าอยากหนีไปจากบ้านเกิด

“เราอยากย้ายออกจากบ้านตั้งแต่เด็ก เคยร้องไห้จะไปอยู่บ้านยายที่อยู่ในเมืองด้วย เพราะถึงแม้หมู่บ้านที่เราอยู่จะเป็นตำบลใหญ่ แต่มันก็บ้านนอกน่ะ ตอนเด็กๆ ทั้งแม่และทุกคนก็จะปลูกฝังว่ารีบเรียนเก่งๆ แล้วไปอยู่กรุงเทพฯ ไปอยู่เมืองนอก หาเงินมาเยอะๆ นี่คือคีย์เวิร์ดที่เด็กอีสานทุกคนจะเจอ

“ตอนเด็กๆ ไม่มีใครบอกเราว่าอีสานมีดียังไง เราไม่ได้ถูกสอนให้รักบ้าน ยิ่งหมู่บ้านเรามีคนได้ผัวฝรั่ง พอเขาบินกลับมาพร้อมกับความร่ำรวยมันยิ่งทำเราคิดว่าต้องไปเมืองนอก หรือในการ์ตูนญี่ปุ่นที่เราซื้อ อ่านแล้วเปรียบเทียบบ้านเมืองเขากับสิ่งที่เรามีมันก็ยิ่งรู้สึกว่าบ้านเขาดีจัง หมู่บ้านเรายังมีคนนั่งขี้ข้างทางอยู่เลย แค่สาธารณสุขพื้นฐานยังมีไม่ครบ  ซึ่งเราว่าจริงๆ นี่อาจเป็นเหตุผลที่แม่ตัดสินใจส่งให้ลูกทั้ง 3 คนไปเรียนในอำเภอเมืองด้วย ประกอบกับแม่ไม่อยากให้เราติดสำเนียง ‘ส่วย’ ซึ่งเป็นสำเนียงในแถบนั้น เขาคิดว่าเราคงโดนล้อตอนโตขึ้นมา”

เมล็ดพันธุ์ความคิดของการย้ายจากบ้านถูกรดน้ำพรวนดิน รู้ตัวอีกทีก็ตอนที่อีฟเข้ามหาวิทยาลัย 

“จริงๆ ที่บ้านไม่ได้ให้ลูกมาเรียนกรุงเทพฯ แต่เราอยากมากรุงเทพฯ เพราะชอบเดินห้าง อยากเดินเอมโพเรียมบ่อยๆ ตอนนั้นดันสอบติดคณะศิลปกรรมศาสตร์ มศว ซึ่งไม่รู้ว่าคืออะไร ตอนมาสอบก็กามั่วๆ มากับเพื่อนเฉยๆ แต่ดันสอบติด เราก็ไปหลอกแม่ว่า มศว เป็นมหาวิทยาลัยครู 

“แต่พอเข้ามาแล้วเรียนไม่ได้ เพราะเราเรียนสายวิทย์มาแล้ววาดรูปไม่เป็น ก็เลยโทรไปบอกกับแม่ตรงๆ แม่บอกให้รีไทร์ออกมาแล้วค่อยเอนทรานซ์ใหม่ปีหน้าก็ได้ ฟังดูเหมือนแม่จะตามใจนะ แต่จริงๆ แล้วเขาอยู่กับความจริงๆ มาก คือเขาจะปล่อยให้ลูกลองทำดูก่อน ถ้าไม่ได้จริงๆ แล้วค่อยมาบอก เขาไม่เคยโทษเราว่าทำไมเราเลือกทางนี้ด้วย แม่จึงเป็นเหมือนเบาะนุ่มๆ ที่ลูกทุกคนพร้อมล้มใส่

“สุดท้ายเราไม่ได้รีไทร์เพราะเพื่อนยุว่าให้ไปย้ายเอกก่อน เพื่อนบอก ‘มึงลองดู ในตึกนี้มีอะไรที่เรียนได้บ้าง’ ซึ่งใกล้เคียงกับเราที่สุดคือแฟชั่น เพราะเราเคยช่วยแม่ทำเสื้อผ้า การย้ายมาเรียนแฟชั่นก็ทำให้เราได้ดีเลย เพราะเพื่อนดีด้วย”

จากฝันไปเมืองนอกที่คิดเล่นๆ ตั้งแต่เด็ก การได้เข้าสู่วงการแฟชั่นทำให้ฝันของอีฟกลายเป็นจริงขึ้นมา

“พอเรียนจบเราสอนต่อที่มศว แต่เราจบวุฒิป.ตรี คณบดีบอกว่าจริงๆ วุฒิป.ตรี มันสอนป.ตรีไม่ได้ เราเลยต้องรีบไปเรียนโทให้เร็วที่สุดแล้วกลับมาสอนใหม่ แต่พอไปเรียนที่อังกฤษจนจบ แม่ก็เรียกให้กลับบ้าน เพราะตั้งแต่เรามาอยู่กรุงเทพฯ เราทำงานยาว กลับบ้านปีละครั้ง ไปทีไรก็บอกแม่ว่า ‘คัน อยู่นานไม่ได้’ แม่เขารู้สึกว่าถ้ารอบนี้เขาไม่เรียกเรากลับไป เราน่าจะไม่มีทางได้กลับไปอยู่บ้านแล้ว

“ตอนแรกเราบอกแม่ว่า ไม่กลับ ก็ส่งเงินให้แล้วไง แม่จะเอาเงินกี่บาทเดี๋ยวส่งไปให้ เราเข้าใจว่าการส่งเงินคือการกลับบ้าน มันคือการตอบแทนบุญคุณ แต่แม่บอกว่าแม่ไม่ได้อยากได้เงิน แม่อยากได้ลูกแม่คืน เราเลยเถียงไม่ออก”

การกลับบ้านดึงความรู้สึกแปลกที่แปลกทางของอีฟให้กลับมาอีกครั้ง ครั้งนี้มันยิ่งเข้มข้น รุนแรง “เรากรี๊ดตลอดเวลา นอนมองเพดานแล้วคิดว่าเรามาทำอะไรที่นี่วะ กินข้าวกับที่บ้านก็ทะเลาะกันตลอด พอออกไปทำงานจนตกเย็นก็กลับมากินเหล้าเพื่อเยียวยาตัวเอง

“เรารู้สึกเหมือนเราอยู่ตัวคนเดียวแล้วคนรอบตัวเป็นมนุษย์ต่างดาวกันหมด แต่จริงๆ แล้วตัวเราเองนี่แหละที่เป็นมนุษย์ต่างดาว เหมือนเราเคยเป็นมนุษย์ของที่นี่แต่ไปแปลงร่างที่อื่นแล้วกลายพันธุ์กลับมา ไม่ได้อยู่ที่นี่นานจนลืมไปหมดว่าเขาก็อยู่กันแบบนี้มาตลอด ตอนนั้นแม่ก็พยายามอยู่กับเรานะ เพราะเขารู้ว่าเราเหงามาก เขาถึงกับเกษียณก่อนกำหนดเพื่อมาอยู่เป็นเพื่อนเราเลย”

ความเข้าใจในธรรมชาติของอีกฝ่ายอาจเป็นสิ่งที่สองแม่ลูกมีร่วมกัน เพราะถึงแม้อีฟจะพูดได้ไม่เต็มปากว่าตัวเองนิสัยเหมือนแม่ แต่พวกเธอก็อยู่ด้วยกันได้เพราะความเข้าใจ

“เราเป็นตัวของตัวเองมาก แต่แม่จะแคร์คนอื่นมาก เราชัดเจน แต่แม่จะชอบอ้อมเพื่อถนอมน้ำใจคน เราไม่มีความเป็นแม่บ้านเลย แต่แม่มีความเป็นแม่บ้านเต็มๆ” นี่คือตัวอย่างของความเหมือนและความต่างที่เธอบอก

“เรารู้สึกโชคดีนะที่มีแม่เป็นคนคนนี้ เพราะถ้าไม่ได้มีเขาเราอาจจะลำบากมากก็ได้ ไม่ใช่ผู้ใหญ่ทุกคนที่จะให้ลูกได้เป็นตัวของตัวเองมากๆ อย่างการที่เราเรียนสายวิทย์มาแต่อยู่ดีๆ ขอไปเรียนศิลปะ  แม่คนอื่นอาจจะเอะใจว่าลูกวาดรูปไม่เป็นเลย ซึ่งจริงๆ แม่เราก็รู้แหละ แต่เขาก็ให้เราไปลองเอง เหมือนว่าเขาสอนเราจากตัวเราเอง ถ้าเราผิดเราก็จะรู้ตัวเองว่าเราผิด เราได้บทเรียนแบบนั้นจากแม่” 

2
แม่นม

หลายคนที่เคยกินอาหารร้าน ZAO ของอีฟ น่าจะรู้ว่าสูตรอาหารทั้งหมดเป็นรสมือของ ‘ยายจุย’

ยายจุยคือใคร ขอเฉลยว่าเป็นคนที่อยู่กับบ้านพละศักดิ์มาตั้งแต่รุ่นคุณปู่ แม้จะไม่ได้เป็นยายแท้ๆ ของอีฟตามเลือดเนื้อเชื้อไข แต่ไม่ใช่ก็เหมือนใช่ เพราะยายจุยเปรียบเสมือน ‘แม่นม’ ที่ช่วยแม่แท้ๆ เลี้ยงอีฟกับพี่น้องคนอื่นๆ

“อยากกินอะไร อยากทำให้ อยากได้อะไร ยายจะหามา” ความทรงจำในวัยเยาว์ของเธอยังฉายชัดในดวงตา อีฟเล่าต่อว่า จริงๆ แล้วยายจุยมีฐานะยากจน คุณปู่จึงให้มาช่วยงานที่บ้านตั้งแต่ยายยังวัยรุ่น ถึงจะไม่มีเงินเดือนให้แต่มั่นใจได้ว่ายายจุยจะมีข้าวกินและมีเสื้อผ้าใส่ 

ยายจุยไม่มีลูก ไม่มีผัว ในเวลาที่ว่างเว้นจากการเลี้ยงหลานก็ไปทำงานในร้านก๋วยเตี๋ยวก่อนจะกลับบ้านมาหาพวกเธอทุกวัน ครอบครัวของอีฟจึงแทบจะนับยายว่าเป็นญาติคนหนึ่ง 

ทว่าหากให้นิยามความสัมพันธ์ส่วนตัว อีฟก็บอกว่าเธอกับยายจุยเป็นเหมือนลิ้นกับฟัน “เป็นคู่กัดกัน เราเถียง ยายก็เอารองเท้าเขวี้ยง แต่ถ้าอยากได้อะไรยายก็ทำให้หมด” เธอยิ้ม

สิ่งหนึ่งที่อีฟขอให้ทำบ่อยๆ คืออาหารการกิน เธอเปรียบเทียบให้ฟังว่ายายเหมือนห้องครัวผลิตอาหารอีสาน แค่เด็กสาวบอกว่าหิว นั่งรอสักพักเดี๋ยวยายก็ยกข้าวมาเสิร์ฟให้ หรือถ้าวันไหนเพื่อนๆ จะมากินข้าวที่บ้าน ยายจุยก็พร้อมบริการ

“ยายจุยทำอาหารอีสานอร่อยมาก กลับบ้านไปสิ่งที่เราจะขอให้ยายทำเลยคือแจ่วปลาร้า เราขาดไม่ได้เลย แม้กระทั่งตอนเราไปอยู่เมืองนอกก็ยังบอกให้ยายส่งแจ่วมาให้เราเดือนละกิโล” หญิงสาวย้อนความ “นอกจากแจ่ว อีกเมนูที่เราชอบคือหมกปลา ยายเชี่ยวชาญการหาปลาเลยทำเมนูปลาอร่อย โดยเฉพาะปลาย่างกับแจ่วที่เรากล้าพูดว่าเราไม่เคยกินปลาย่างของใครอร่อยเท่าของยาย”

ท่ามกลางความรู้สึกแปลกแยกในช่วงที่หญิงสาวกลับบ้าน อาหารยายมอบความรู้สึกอบอุ่นสมกับได้อยู่บ้านอย่างน่าประหลาด ความประทับใจในรสชาติอันคุ้นเคยคือหนึ่งในแรงบันดาลใจของการเปิด ZAO ร้านอาหารอีสานสูตรยายจุย

“ตอนแรกเราทำงานโปรเจกต์ Foundisan เป็นการทำงานคราฟต์กับชาวบ้านแล้วมันขายยาก ดูไม่ยั่งยืน เรานั่งคุยกับในทีมว่าจะทำยังไงดี ทุกคนก็โหวตว่าลองทำอาหารอีสานขายดีไหม เพราะสุดท้ายแล้วคีย์ของ FOUNDISAN คือการทำให้วัฒนธรรมความเป็นอีสานน่าภาคภูมิใจ เพิ่มคุณค่าให้ได้ ดังนั้น Why Not? ล่ะ เพราะก่อนหน้านี้ทุกปีก็จัดงาน Chef Table อาหารอีสาน คิดเงินหัวละ 3,000-4,000 บาทอยู่แล้ว มันทำให้เราเห็นว่าอาหารก็ขายได้นี่นา

“ก่อนหน้านั้นเรามองหาเชฟหลายคน แต่ก็ยังรู้สึกว่าไม่ใช่ สุดท้ายก็เอาสูตรอาหารจากยายจุยนี่แหละเพราะเราสามารถเริ่มได้แบบไม่ต้องลงทุนมากและสำรวจ (Explore)  สูตรของยายได้เรื่อยๆ เราพาทีมไปอยู่กับยายหลายเดือนจนหารสชาติที่ใกล้เคียงกับรสมือยายที่สุด

“ตอนสอนยายมีความสุขมาก เพราะชีวิตของเขาไม่เคยได้เป็นนางเอกเลย ถ้าพูดตรงๆ คือเป็นคนหลังบ้านที่ทำตามคำสั่ง แต่พอเขาได้เป็นเจ้าของบ้านเขาดูภูมิใจ พูดจาฉะฉาน กระตือรือร้น ในแววตาเขามันมีความสุขออกมา เขาคิดตลอดเลยว่าวันนี้จะสอนให้ทำอะไร แล้วบ่นตลอดว่าทำไมไม่ทำร้านให้เร็วกว่านี้เพราะเขาเริ่มจำเมนูไม่ได้หลายอัน ประกอบกับด้วยเหตุผลทางกายภาพ ทำให้ตอนนี้เขาไปยืนช่วยในครัวไม่ได้แล้วด้วย”

ถึงอย่างนั้น วันเปิดร้านสาขาแรกที่อุบลราชธานี ยายจุยก็ตื่นเช้าขึ้นมาหุงข้าวด้วยตัวเองเพราะอยากให้ลูกค้าได้กินข้าวหุงใหม่ๆ ในช่วงร้านเปิดยายยังแต่งชุดผ้าไหมสวยไปต้อนรับลูกค้า แล้วเดินเอาสายสิญจน์ไปผูกข้อมือให้ทุกคนพร้อมกับอวยพรด้วย   

“เรื่องนี้ทำให้เราเห็นว่า โห เราไม่ค่อยให้ความสำคัญกับคนใกล้ตัวอย่างเขาเลย เขาเป็นคนที่เราไม่เคยมองเห็นเลยทั้งที่เลี้ยงเรามา เพราะเราเอาแต่คิดว่าเขาไม่ใช่ยายแท้ๆ ของเรา เราไม่เคยถามเขาว่ามีเป้าหมายอะไรในชีวิตเพราะเราไม่เคยคิดว่าจะต้องถาม แต่พอได้มาทำ ZAO เราเห็นเลยว่านี่คือความสุขของเขา และนี่คือบ้านของเขา”

ZAO ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับยายจุยแน่นแฟ้นขึ้น จากการที่เคยมองว่าเป็นห้องครัว/ผู้ช่วยยามจำเป็น ทั้งคู่กลายเป็นคู่ยายหลานที่สนิทสนมกัน

“ตอนกลับบ้านก็ชอบไปทำบุญกับเขา นี่น่าจะเป็นสิ่งที่เราถูกปลูกฝังมาจากยายด้วยอีกเรื่อง เพราะยายเป็นสายบุญ ตื่นใส่บาตรทุกเช้า ไปวัดทุกเสาร์อาทิตย์ พาสวดมนต์ก่อนนอนทุกวัน เราใจเย็นขึ้นได้เพราะเรื่องธรรมะและการปล่อยวางจากยายนี่แหละ” 

3
แม่ๆ

นอกจากแม่แท้ๆ และแม่นม อีกหนึ่งแม่ที่ช่วยลดความรู้สึกห่างเหินของอีฟที่มีต่อความเป็นอีสานคือ ‘แม่ๆ’ ซึ่งเธอมีโอกาสได้ร่วมงานในโปรเจกต์ Foundisan

เล่าอย่างย่นย่อ Foundisan คือโครงการที่เชื่อว่าวัฒนธรรมของอีสานนั้นป๊อปได้ และงานคราฟต์ที่ผลิตขึ้นจากภูมิปัญหาของแม่ๆ ในชุมชนนั้นควรค่าแก่การขายตามมูลค่าที่แท้จริง ซึ่งไม่จำเป็นต้องขายถูกเสมอไป

แรงบันดาลใจของโปรเจกต์นี้เริ่มต้นเมื่ออีฟถูกจ้างให้ไปเป็นครูสอนแม่ๆ ในเรื่องที่พวกท่านขาด เธอบอกว่าถ้าวัดเรื่องสกิลการทอผ้าหรือสร้างสรรค์เครื่องแต่งกาย แม่ๆ ในภาคอีสานนั้นเก่งระดับที่หาตัวจับยาก แต่เรื่องแพทเทิร์น คู่สี ลวดลายที่ร่วมสมัครอาจเป็นสิ่งที่ยังคิดไม่ถึง ซึ่งอีฟได้เข้าไปเติมเต็มตรงนั้น

“ตอนที่ไปสอนเขาก็ยังไม่ได้รักบ้านเกิดขนาดนั้น แต่เราเห็นแม่ๆ เก่งกันหลายคน และคิดว่าสามารถทำสิ่งที่เป็นประโยชน์มากกว่าการสอนเขาแค่หนึ่งวัน เพราะแม่ๆ บางคนบ้านอยู่ตีนเขา งานทอผ้าเขาเก๋มากแต่ไม่มีใครเห็น พอเราได้ลงพื้นที่เรื่อยๆ มันก็เหมือนได้คืนวิญญาณให้ตัวเอง และได้เห็นว่างานอีสานคราฟต์นั้นมีมูลค่าจนเปลี่ยนชีวิตคนได้”

อีฟได้ลงพื้นที่ไปสอนแม่ๆ ในหลายจังหวัด มากกว่านั้นคือรับซื้องานฝีมือของแม่ๆ มาขายต่อด้วย จากการคลุกคลีกับเหล่าแม่บ้านผู้รักษ์งานฝีมือหลายคน แม่ๆ สอนให้อีฟเรียนรู้เรื่องการมีเลือดนักสู้

“เขารู้ว่าตัวเองเก่ง และเขาสู้อยู่ตรงนี้ ไม่มีใครหยุด เราเห็นแล้วมันขนลุก จากที่เราบ่นว่าเหนื่อย ไปเจอพวกแม่ๆ ก็รู้สึกว่าคนละโลกเลย ที่สำคัญคือเราบอกแนะนำอะไรไป แม่ๆ เขาทำหมด เรายังอยากกลับไปหาพวกเขาอยู่ตลอด เพราะตั้งแต่เปิดร้าน ZAO เราก็ไม่ได้ทำงาน Foundisan อีกเลย ซึ่งสำหรับเรามันยังเป็นสิ่งที่เราทำค้างและยังไม่สำเร็จ เราอยากให้มันสำเร็จ

“การได้ทำงานกับแม่ๆ เปลี่ยนมุมมองที่เรามีต่อความเป็นอีสานไปเยอะ เพราะก่อนหน้านี้เราไม่ได้ค่า แต่ตอนนี้เราภูมิใจที่เราเกิดเป็นคนอีสาน ภูมิใจที่ได้ทำงานกับแม่ๆ ที่ทำงานคราฟต์ให้เรา การได้กลับบ้านทำให้เราตื่นจากโลกแฟชั่นซึ่งมันมายามากๆ แล้วกลับมาภูมิใจในที่ที่จากมา 

“ทุกวันนี้ บ้านเหมือนเซฟโซนที่เรากลับมาชาร์จพลังตอนเหนื่อย การได้กลับมาอยู่กับแม่ ได้ทำร้าน ZAO จากสูตรของยายจุย และได้ทำโปรเจกต์ Foundisan กับแม่ๆ ทำให้เราใจเต้นและรู้ว่าเรามีชีวิตอยู่เพื่ออะไร แต่ก่อนเราอาจมีชีวิตเพื่อหาเงินมาให้พวกนี้ แต่ทุกวันนี้เรามีชีวิตเพื่อคนอื่น เพื่อทำให้รู้พวกเขาสึกภาคภูมิใจในตัวเอง ซึ่งเราคิดว่ามันยิ่งใหญ่มากเลย เราหวังว่าเราจะเป็นจุดเล็กๆ ที่เขย่าให้คนอื่นเห็นว่าความเป็นอีสานมันเจ๋งมาก และเราสามารถส่งต่อความคิดแบบนี้ไปให้คนอื่นได้ด้วย” อีฟทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม      

ขอขอบคุณร้าน PRIDI ที่เอื้อเฟื้อสถานที่


Related Posts