การเรียนต้องไม่ยัดเยียด แต่เป็นความสมัครใจผู้เรียน คีย์สำคัญของห้องเรียนศตวรรรษที่ 21

  • การเรียนรู้ที่ดีที่สุด คือ การเรียนรู้ที่ผู้เรียนไม่รู้สึกว่ากำลังเรียนอยู่
  • OKMD Career Bootcamp : 21st Century Skills Online Workshop 03: Facilitated Learning เวิร์กชอปที่ชวนทุกคนมาเรียนรู้วิธี เครื่องมือ และเทคโนโลยีในการจัดการเรียนรู้ให้ตอบโจทย์ดังกล่าว
  • ออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่ต้องเข้าใจธรรมชาติมนุษย์ นำความสนุก ความสนใจเป็นตัวตั้ง

การเรียนที่ผู้เรียนไม่รู้สึกโดนบังคับ ไม่รู้สึกว่าถูกยัดเยียดให้ต้องเรียนสิ่งนี้ แต่คือ ‘แพสชัน’ แรงผลักดันจากภายในที่ทำให้เจ้าตัวอยากที่จะเรียนรู้ เป็นหัวใจในการออกแบบการเรียนยุคใหม่

เคล็ดลับที่ได้จาก OKMD Career Bootcamp : 21st Century Skills Online Workshop 03: Facilitated Learning เวิร์กชอปที่ชวนทุกคนมาเรียนรู้วิธี เครื่องมือ และเทคโนโลยีในการจัดการเรียนรู้ยุคนี้ ซึ่งมีแก่นหลักสำคัญ คือ ใช้แรงบันดาลใจจากผู้เรียนเป็นตัวขับเคลื่อน พร้อมกับรับฟังประสบการณ์การสร้างพื้นที่การเรียนรู้ไปกับ 4 วิทยากร ได้แก่ 

  • ม๋ำ – เมธวิน ปิติพรวิวัฒน์ ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง BASE Playhouse 
  • แม็ก – ภีศเดช เพชรน้อย Learning Designer และผู้ร่วมก่อตั้ง BASE Playhouse 
  • แม่บี – มิรา เวฬุภาค ผู้ร่วมก่อตั้ง Flock Learning และ mappa
  • ยีราฟ – สรวิศ ไพบูลย์รัตนากร ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโรงเรียนวันเสาร์ (Saturday School Foundation)

เนื้อหาความรู้ในเวิร์กชอปจะมีอะไรบ้าง mappa เก็บข้อมูลมาฝากผู้อ่านทุกคน 

การเรียนแบบบังคับ vs เลือกเอง

ก่อนอื่นขอถามว่า นิยามการเรียนรู้ยุคใหม่สำหรับแต่ละคนหน้าตาเป็นอย่างไร? ใช้เทคโนโลยีในการเรียน หรือความรู้สึกในการเรียนที่ต้องสนุก เรียนไปโดยไม่รู้ตัว หรือเป็นการเรียนรู้ที่ออกแบบเพื่อตอบสนองความต้องการของตัวเรา เรียนได้ทุกที่

หากลองมองภาพรวมของการเรียนรู้ในไทยจะสามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ กลุ่มแรกขอเรียกว่ากลุ่ม A ภาพนักเรียนนั่งเรียนในห้องสี่เหลี่ยม มีคุณครูยืนอธิบายหน้าห้อง นักเรียนรับบทเป็นเพียงคนฟัง จดเลกเชอร์ตามคำบอก เรียนหลากหลายวิชาแม้แต่วิชาที่ไม่ชอบ ซึ่งไม่รู้ว่าจะได้เอาไปใช้ไหม และวัดผลด้วยการสอบ นี่คงเป็นประสบการณ์ที่หลายคนเคยผ่านมา

กับอีกกลุ่มซึ่งจะขอเรียกว่ากลุ่ม B จุดเริ่มต้นของกลุ่มนี้จะแตกต่างจากกลุ่มแรก คือ ตั้งต้นจากสิ่งที่ชอบสนใจ และค่อยลงลึกเรียนรู้โดยมีเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือช่วย เรียกว่าอยากเรียนอะไรก็ได้เรียน ซึ่งความแตกต่างของคนสองกลุ่มนี้ คือ ผลลัพธ์และความสนุกในการเรียนรู้ เป็นคีย์สำคัญที่จะช่วยทำให้ความรู้ที่ได้ติดทน เพราะเมื่อเราเรียนจากสิ่งที่ชอบจนสามารถพัฒนานำไปใช้ได้จริง ความรู้ก็จะกลายเป็นทักษะความสามารถฝังในเนื้อตัว

การเรียนรู้ที่ดีที่สุด คือ การเรียนรู้ที่ผู้เรียนไม่รู้สึกว่ากำลังเรียนอยู่

Learning design การออกแบบการเรียนรู้ต้องตอบโจทย์ธรรมชาติมนุษย์

ระหว่างถูกบังคับกับเลือกที่จะทำเอง (โดยมาจากความต้องการตัวเอง) แน่นอนว่าเราก็ต้องเลือกอย่างหลัง เพราะคงไม่มีใครชอบการถูกบังคับ แต่สภาพการเรียนที่ผ่านมา เราต่างถูกบังคับให้ต้องเรียนในสิ่งที่เราเองก็ไม่รู้ว่าชอบหรือเปล่า โดนบีบบังคับด้วยเวลาและทรัพยากรทำให้ต้องเร่งพัฒนาตัวเองออกมาสู่ตลาดการทำงาน จนไม่มีเวลาได้ค้นหาตัวเอง

ตอนนี้เรามีตัวช่วยมากขึ้น คือ เทคโนโลยีที่ทำให้เราเข้าถึงสิ่งต่างๆ ง่ายขึ้น การเรียนที่เคยผูกไว้กับสถานศึกษา จะเรียนอะไรก็ต้องไปลงทุนสมัครและหาเวลาเรียนอย่างจริงจัง แต่ปัจจุบันหากเรามีอุปกรณ์ที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ เพียงค้นหาคอร์สเรียนที่สนใจก็สามารถเรียนได้ทันที การเรียนรู้ในปัจจุบันจึงเป็นการเรียนรู้ด้วยความสมัครใจ (intrinsic motivation) ที่จะทำให้การเรียนรู้ได้ผล 

การออกแบบกระบวนการเรียนรู้ให้ตอบโจทย์แนวคิดที่ว่า ต้องใช้ฐานคิด Human Centric Learning Design ออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่ต้องเข้าใจธรรมชาติมนุษย์ นำความสนุก ความสนใจเป็นตัวตั้ง หรือถ้าคนเรียนไม่ได้เรียนเพราะชอบ แต่เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องเรียน เช่น วิชาเลข กระบวนการเรียนรู้ก็สามารถทำให้สิ่งที่เขาอาจจะไม่สนใจในตอนต้น แต่ระหว่างทางเขาเกิดความสนุก จนปลายทางได้ความรู้ทักษะกลับมา ส่วนที่จะทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้นได้เราเรียกว่า Learning Design กระบวนการออกแบบการเรียนรู้ มีอยู่ 3 ขั้นตอนด้วยกัน คือ

  • เริ่มต้นจาก Why เราอยากให้คนที่มาเรียนได้อะไรกลับไป ตั้งเป็นเป้าหมายว่าจบการเรียนนี้ไป เขาสามารถทำอะไรได้ อาจเริ่มต้นจากความสนใจผู้เรียน เช่น มีคนสนใจเรื่อง Coding อาจตั้งเป้าหมายว่าจบคอร์สนี้เขาจะสามารถเขียน Coding ได้
  • How เมื่อตั้งเป้าหมายเสร็จก็มาถึงขั้นตอนลงมือออกแบบกระบวนการเรียนรู้ เคล็ดลับของขั้นตอนนี้ คือ ทำให้ตลอดระยะทางของการเรียนเต็มไปด้วย ‘แรงจูงใจ’ เพราะอย่างที่กล่าวไปว่า บางครั้งเราอาจต้องเรียนสิ่งที่ไม่ได้สนใจ ทว่าจำเป็นต่อเรา การจะทำให้ผู้เรียนสามารถอยู่รอดตลอดการเรียน คือ ต้องสร้างแรงจูงใจให้กับเขา อาจวัดจากว่าธรรมชาติของมนุษย์ต้องการอะไร อะไรคือสิ่งที่ผู้เรียนต้องการ
  • What การเรียนรู้ไม่ได้จบเพียงแค่ผู้เรียนรับข้อมูลเข้าหัวได้ แต่ต้องวัดผลได้ว่าสิ่งที่อยู่ในหัวเขาสามารถนำไปใช้พัฒนาต่อได้

โดยจุดประสงค์ในการเรียนของคนส่วนใหญ่ คือ เรียนเพื่อเพิ่มความสามารถของตัวเอง (competence) อย่างที่กล่าวไปว่า การเรียนรู้ไม่ใช่เพียงแค่การนำข้อมูลป้อนเข้าสมองแล้วจบ แต่จะทำอย่างไรให้ข้อมูลนั้นพัฒนากลายเป็นทักษะติดอยู่ในเนื้อตัว เราสามารถสกัดความรู้ให้ออกมาเป็นสกิลได้ด้วย 3 องค์ประกอบ ได้แก่

  • Knowledge การรับข้อมูลเข้าไปในหัว เราต้องรับโดย ‘ความเข้าใจ’ ใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ในการประสานรับข้อมูล
  • Skill นำชุดความรู้ที่ได้ไปใช้ลงมือปฏิบัติ ฝึกฝน ลองทำในสถานการณ์จริง
  • Mindset เมื่อมีความรู้ทักษะแล้ว มายด์เซตก็เป็นอีกเรื่องที่สำคัญ เพราะคนขับรถเก่งบางคนก็อาจไม่ได้เคารพกฎจราจร ซึ่งอาจเกิดผลเสียตามมาได้อย่างการเกิดอุบัติเหตุ ทัศนคติเป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้ด้วยตัวเองจึงเป็นความรู้มือหนึ่ง สำหรับบางคนต้องเจออุบัติเหตุถึงจะรู้ว่าไม่ควรขับรถเร็ว

‘ความรู้ที่ต้องมีในศตวรรษที่ 21’ ประโยคที่คนในวงการการศึกษาได้ยินบ่อยจนแทบจะละเมอออกมา เราเจอลิสต์ทักษะที่จำเป็นต้องมี ไม่ว่าจะเป็นการยืดหยุ่นปรับตัวได้ ใช้เทคโนโลยีเป็น มีทักษะการคิดวิเคราะห์ ฯลฯ แต่การมีทักษะเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ใช่สิ่งที่เพียงป้อนข้อมูลแล้วจะเกิดทักษะทันที ฉะนั้น อีก 3 หัวข้อสำคัญที่ต้องเพิ่มในการออกแบบกระบวนการเรียนรู้เพื่อให้เข้ากับโลกศตวรรษที่ 21 คือ

  • Personalized การเรียนรู้ต้องปรับได้ตามผู้เรียน 
  • Practical Simulated Experience ผู้เรียนได้ฝึกทักษะ 
  • Visible ใช้เทคโนโลยีมาช่วย ในที่นี้คือการจำลองสถานการณ์บางอย่างที่ผู้เรียนอาจจะไม่สามารถไปทำได้จริงๆ หรือเพื่อลดความเสี่ยง เช่น ห้องจำลองห้องนักบินเพื่อฝึกขับเครื่องบิน เทคโนโลยีจะทำให้ผู้เรียนสามารถทดสอบและใช้ความสามารถของตัวเองจริงๆ เรียกว่าเป็น Facilitation learning การออกแบบกระบวนเรียนรู้ภายใต้สถานการณ์จำลองที่จะเอื้อให้เกิดการเรียนรู้มากที่สุด

ใช้เทคโนโลยีแก้ไขข้อจำกัด ทำให้การเรียนรู้ยังคงความเป็นมนุษย์ และการสนับสนุนจากภาคส่วนต่างๆ

เมื่อรู้แล้วว่าการจัดการเรียนรู้ยุคนี้ควรเป็นอย่างไร คราวนี้ลองมาฟังประสบการณ์จริงของคนในวงการผ่านวงสนทนาแชร์ประสบการณ์ เริ่มต้นด้วยคำถามว่า ‘อะไรเป็นสิ่งสำคัญในการออกแบบการเรียนรู้’ ซึ่งยีราฟแชร์ว่า การเข้าใจกลุ่มเป้าหมาย (empathize) เป็นทักษะที่สำคัญ เมื่อเราเข้าใจผู้เรียนจะนำไปสู่การวางแผนออกแบบการเรียนรู้ที่ได้ผลจริง 

ฟากสองผู้บริหาร BASE Playhouse ม๋ำและแม็กแชร์ว่า การตั้งเป้าหมายการเรียนรู้เป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะเวลาออกแบบคนเรามักกระโดดไปที่ปลายทาง โดยลืมเป้าหมายของการเรียนรู้ ถ้าเป้าหมายไม่ชัด กระบวนการก็จะไม่ชัดตาม และการออกนอกกรอบยังคงเป็นสิ่งจำเป็นในการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ ไม่หยุดอยู่กับที่ รวมถึงพร้อมสร้างนวัตกรรม

ฝั่งแม่บีแชร์ว่า การสร้าง Bonding (สายสัมพันธ์) เพื่อนำไปสู่การเรียนรู้ ไม่ว่าจะอยู่เบื้องหน้าหรือเบื้องหลังก็ตาม ถ้าสายสัมพันธ์ไม่มี การเรียนรู้ก็จะไม่เกิด 

โควิด-19 ส่งผลให้เทรนด์การเรียนรู้ทั้งโลกเปลี่ยนไป แม่บีแชร์ว่า โควิดทำให้พ่อแม่ต้องเข้ามามีบทบาทในการจัดการศึกษาให้ลูก เกิด Homemade solution วิธีแก้ปัญหามากมายที่เกิดจากภาคประชาชนคิดกันเองยังขาดการสนับสนุนจากรัฐ ซึ่งตอนนี้สถานการณ์โรคระบาดยืดเยื้อ พ่อแม่ต้องไปทำงานอยู่ดูลูกไม่ได้ เกิด Remote Learning ดูลูกผ่านกล้องวงจรปิดแทน ซึ่งการเข้ามาของเทคโนโลยีก็น่าสนใจตรงที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหา แต่ก็ทำให้ขาดมิติการเรียนรู้หลายอย่าง เช่น ขาดพื้นที่ที่ 3 (Third Place) เพราะเราอยู่แต่หน้าจอ ไม่ได้ออกไปไหนนอกจากบ้านและโรงเรียน ตัว Learning Design การออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่จะช่วยลดช่องว่างระหว่างเทคโนโลยีและมนุษย์ 

ส่วนยีราฟมองว่า มหาวิทยาลัยต้องมีความเป็น Lifelong Learning Center ทำให้เป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพราะคนไม่ได้มีเวลาเรียนยาวๆ แล้ว เขาอาจจะเรียนหนึ่งปี แล้วอยากพักออกไปหาประสบการณ์ค่อยกลับมาเรียนต่อ และโควิดทำให้เด็กออกนอกระบบเยอะขึ้น การกลับเข้ามาลำบาก ถ้าสถานศึกษาปรับตัวเองให้มีฟังก์ชันนี้จะช่วยแก้ไขปัญหาได้ รวมถึงการสร้างเด็กให้เป็น Global citizen (พลเมืองโลก) ยังคงเป็นเรื่องสำคัญที่ระบบการศึกษาต้องมี 

ฝั่งแม็กที่ทำงานกับองค์กรเอกชน แชร์วิธีปรับตัวขององค์กรที่หันมาพึ่งเทคโนโลยีมากขึ้น ด้วยความคาดหวังว่าเทคโนโลยีจะมาแก้ปัญหา แต่ก็มีข้อจำกัดที่เทคโนโลยีไม่สามารถแก้ไขได้หมด การเรียนรู้แบบเป็นเรื่องๆ ไป สามารถเรียนออฟไลฟ์ได้ดีกว่า ม๋ำขยายต่อว่า ประโยชน์ของเทคโนโลยีช่วยเข้ามาปลดล็อกการเข้าถึง คนสามารถเข้าถึงชุดข้อมูลเดียวกันกว้างขึ้น สร้างลูกเล่นให้กับกระบวนการเรียนรู้ เพิ่มประสบการณ์ เพิ่มตัวเลือกให้คน แต่ยังมีข้อจำกัดในการฝึก Soft Skills 

ณ เวลานี้เทคโนโลยีถือเป็นพระเอกหลักของเรื่องก็ว่าได้ แต่ถึงแม้ประโยชน์จะมากแค่ไหน ทว่าหลายคนยังมีปัญหาในการเข้าถึง ยีราฟเสนอว่า ภาคเอกชนสามารถลงมาสนับสนุนอุปกรณ์หรือเทคโนโลยีให้เข้าถึงผู้คนมากขึ้น ภาครัฐเองก็ควรสนับสนุนให้ครูสามารถพัฒนาตัวเองกลายเป็น Facilitator ดึงทรัพยากรมาสนับสนุนและทำให้ผู้เรียนกลายเป็นเจ้าของความรู้อย่างแท้จริง

แม่บีตัวแทนฝั่งผู้ปกครอง แชร์ว่า มีผู้ปกครองหลายคนที่มีความสามารถมากพอที่จะมาช่วยกระบวนการตรงนี้ได้ เพราะตอนนี้การศึกษาไม่ได้อยู่แค่ที่โรงเรียนและเด็ก แต่ทุกคนสามารถร่วมจัดการเรียนรู้ได้

วงสนทนาปิดท้ายด้วยการให้ทุกคนแชร์ไอเดียจัดการเรียนรู้ ยีราฟแชร์ว่า การจัดการเรียนรู้ของ Saturday School จะเน้นไปที่ทักษะและทัศนคติที่เด็กควรมี คือ ความคิดแบบยืดหยุ่น (growth mindset) การปรับตัว (resilience) ความสามารถในการตระหนักรู้ (self-awareness) และ Social behaviour นอกจากพัฒนาตัวเองแล้วต้องขยายไปยังคนอื่นๆ ด้วย

แม่บีเสริมว่ากุญแจสำคัญในการจัดการเรียนรู้ของ mappa คือ ความสัมพันธ์ เราสามารถออกแบบพื้นที่การเรียนรู้ เพื่อให้คนมาสนับสนุนซึ่งกันและกันได้ โจทย์ตอนนี้คือ เราจะสามารถออกแบบให้เกิดการสร้างความสัมพันธ์ผ่านเทคโนโลยีได้หรือไม่ ฉะนั้น เวลาออกแบบนวัตกรรมขึ้นมาต้องออกแบบการ deliver ไปสู่ผู้คนด้วยเพื่อให้ผู้คนเข้าถึงได้ 

ด้าน Base playhouse ของม๋ำและแม็ก ใช้ Gamification การประยุกต์เกมเข้าไปในกระบวนการเรียนรู้ และใช้ Soft skill (thinking, doing และ self – management) เพื่อยกระดับความสามารถของคนทุกวัยให้เก่งขึ้นได้

เราอาจเห็นแล้วว่าห้องเรียนยุคใหม่ควรมีหน้าตาเช่นไร และ ณ วันนี้บางพื้นที่ก็เกิดห้องเรียนแบบนี้แล้ว แต่ยังคงเกิดขึ้นเพียงกลุ่มเล็กๆ ยังมีอีกหลายพื้นที่ที่เด็กต้องเรียนในสภาพเดิม หากจะทำให้ห้องเรียนเกิดขึ้นได้จริง คงต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง ปัจจัยหนึ่งที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด คือ การออกนโยบายที่ช่วยสนับสนุนไอเดียให้เกิดขึ้นจริง


Writer

Avatar photo

เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา

ชีวิตอยู่ได้ด้วยซัมเมอร์ ทะเล และความฝันที่จะได้ทำสิ่งที่เป็นความสุขตลอดไป

Illustrator

Avatar photo

โยษิตา แย้มภู่

เกิดมาเพื่อวาดรูป ฟังเพลง ดูการ์ตูน ทำทุกอย่างที่ตัวเองอยากทำ "เสียใจได้ แต่อย่าเสียดาย" และอยากสร้างผลงานที่ทำให้คนอื่นมีความสุขมากขึ้น

Related Posts