ถึงผู้อ่านที่ใจอ่อนไหว…บทสนทนานี้อยากบอกว่าชีวิตเริ่มใหม่ได้เสมอ และวันหนึ่งเธอจะมีรอยยิ้มเหมือนแสงอาทิตย์ที่อบอุ่น

  • ฝ้าย-กันตพร สวนศิลป์พงศ์ เป็นนักเขียน และนักจิตวิทยาการปรึกษา ผู้ร่วมก่อตั้งศูนย์บริการปรึกษาเชิงจิตวิทยา MASTERPEACE
  • ที่ผ่านมาเธอพยายามเป็น perfectionist เพื่อหลีกเลี่ยงความผิดพลาด จนกระทั่งวันหนึ่งที่หมอบอกว่าเธอมีภาวะ anxiety disorder อ่อน ๆ ฝ้ายจึงเริ่มกลับมาทบทวนการใช้ชีวิตของตัวเองอีกหน
  • เมื่อเริ่มตกตะกอนชีวิต ฝ้ายเริ่มรู้จักการรักและให้อิสระกับตัวเองได้ และเธอก็เชื่อว่าเรื่องจิตวิทยาที่ใช้ดูแลใจนั้นไม่ควรถูกจำกัดไว้ในห้องบำบัดเพียงอย่างเดียว

ถึงผู้อ่านที่อ่อนไหว 

ในฐานะเพื่อน บทสนทนากับฝ้าย- กันตพร สวนศิลป์พงศ์ นักเขียน และนักจิตวิทยาการปรึกษา ผู้ร่วมก่อตั้งศูนย์บริการปรึกษาเชิงจิตวิทยา MASTERPEACE เป็นการย้อนเทปความทรงจำของมนุษย์อ่อนไหว เปราะบาง ร้องไห้ง่าย ขี้เหงา เติบโตมาด้วยการอยากได้ความรัก อยากเป็นที่รัก และพยายามทำความเข้าใจตัวเองจนถึงตอนนี้ว่าสุขภาพจิตสำคัญอย่างไร วันที่เจ็บปวดมากๆ ต้องผ่านมันไปอย่างไร

ในฐานะนักสังเกตการณ์และผู้สัมภาษณ์ บทความนี้พยายามจะสื่อสารเรื่องราวของมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง ที่เพิ่งค้นพบว่าชีวิตราว 30 ปีที่ผ่านมารับมือกับประโยคที่ว่า “ทำไมอ่อนไหวจังเลย” ด้วยการเรียนรู้เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ตัวเองถูกตำหนิหรือถูกทำโทษ และพยายามที่จะจัดการกับ wholelife crisis อย่างเงียบๆ ภายใต้เส้นเรื่องที่คล้ายกับการแก้ปัญหาชีวิตเสร็จแล้วไปต่อ แต่ทำไมการ ‘ไปต่อ’ นั้นยากเหลือเกิน

กันตพรทำงานเป็นกองบรรณาธิการที่นิตยสาร a day และขยับตัวเองจากความสนใจที่จะเรียนต่อเกี่ยวกับ writing therapy มาทำวิทยานิพนธ์ด้านการเขียนบำบัดระหว่างเรียนปริญญาโทสาขาจิตวิทยาการปรึกษา เป็นนักเขียนคอลัมน์ด้านการเยียวยาจิตใจ และเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาที่เปิดศูนย์ให้บริการปรึกษาเชิงจิตวิทยาและสุขภาวะกับเพื่อนมาได้ 1 ปีกว่า ๆ 

“อยากเล่าเรื่องในฐานะนักจิตฯ ที่เป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งมานานแล้ว” ฝ้ายเปรย

มนุษย์ล้วนเจอเรื่องราวหนักเบาในชีวิตต่างกันแม้จะตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน ทั้งมนุษย์ยังเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ซับซ้อนของจักรวาล ตัวเล็กจิ๋วแต่เต็มไปด้วยเรื่องราวในสมองและจิตใจที่มีขอบเขตไม่สิ้นสุด 

ระบบครอบครัว วัฒนธรรม การศึกษา ฐานะทางเศรษฐกิจและปัจจัยอื่นๆ ทางสังคมคัดแยกและหลอมรวมให้เราใช้ชีวิตที่ดูเหมือนเป็นของตัวเอง การพูดคุยกันกับฝ้ายในเรื่องชีวิตและวิธีการมองโลก เปิดพื้นที่ให้เราเห็นว่า คำว่า “ตัวเอง” นั้นก็อาจเป็นผลผลิตทางสังคมที่มองไม่เห็น แต่มีอำนาจและอิทธิพลต่อความคิด การแสดงออก และการมองคุณค่าภายใน

ภาวะ anxiety (วิตกกังวล) ที่ฝ้ายค้นพบว่ามีปริมาณมากเป็นพิเศษในตัวเอง ค่อยๆ ถูกคลี่ออกมาว่าเธอเป็นมนุษย์ที่ไม่สามารถถือความรู้สึกต่อเรื่องราวที่เจอในชีวิตได้อย่างแข็งแรง 

หลายครั้งจึงลงเอยด้วยการลงโทษตัวเอง โทษคนอื่น ทำตามกฎอย่างเคร่งครัด หาทางจัดการอยู่ในสังคมและครอบครัวให้ได้ด้วยการพยายามที่จะบอกว่าความอ่อนแอในตัวเองเป็นเรื่องที่ไม่สมควร

สุดท้ายชีวิตก็ไปต่อของมันแม้ว่าเราจะไม่ไหว เหมือนที่ใครๆ ก็บอกว่า life goes on แต่เมื่อชีวิตสู้กลับมากขึ้น แต่ความเจ็บปวดไม่เคยน้อยลง คนที่เจ็บปวดไม่เคยเรียนรู้ที่จะจัดการมันอย่างถูกวิธีจนมันสะสม

 ก็ไม่แปลกที่จะสู้มันกลับไม่ไหว  

เด็กหญิงกันตพรเป็นรองหัวหน้าห้อง ได้รางวัลมารยาทดี เพื่อนเรียกว่าแม่ อ่านหนังสือสอบไม่ต่ำกว่า 3 รอบทุกครั้ง

“การนิยามตัวเองเป็นเรื่องสำคัญ เราจะจดจำตัวเองจากคำที่เราตั้งชื่อให้ การเผชิญเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตอย่างหวาดระแวงและไม่มั่นใจ ทำให้ฉันนิยามตัวเองว่าเป็นคนขี้กลัว นักขี้กังวล อาการทางกายที่เกิดซ้ำซากทำให้ฉันนิยามตัวเองว่าเป็นคนนอนยาก เป็นโรคกระเพาะ พ่วงโรควิตกกังวล ในทางจิตใจ ฉันรับเอาสิ่งที่คนรอบข้างบอกว่าฉันเป็นคนทำอะไรไม่ค่อยได้ เอาตัวรอดไม่เก่งและน่าเป็นห่วง เข้ามาในใจเป็นเวลานับสิบปี ดังนั้นการจะไปอยู่ป่า ฉันจึงแทบไม่มีเสี้ยวส่วนความมั่นใจในหัวใจ”

จากบทความ “ในความมืดที่มองไม่เห็นแม้มือตัวเอง ความเข้มแข็งยังอยู่ตรงนั้น”

ความอ่อนไหวมาเยือนตั้งแต่ฝ้ายอายุราว 10 ขวบ เธอเห็นตัวเองเป็นส่วนผสมของเด็กเรียน ตั้งใจเรียน อยู่ในกรอบ แต่ก็มีกิจกรรมท้าทายชีวิตที่ชอบ ชอบวิ่งแข่ง ชอบซ้อนมอเตอร์ไซค์ ชอบปีนผาจำลอง แต่โดยรวมแล้วพาร์ทความท้าทายนั้นมาแล้วก็หายไป ฝ้ายเล่าในตอนต้นของบทสนทนาว่าเธอเป็นเด็กขี้กลัว จุด ๆ นั้นเกิดขึ้นอย่างชัดเจนราวมัธยมต้นที่มีความรักกับคู่แฟนที่กำลังจะเลิกรากันเพราะถูกครูจับได้ในห้องเรียน

“เราเป็นลูกคนเล็กของบ้าน จริง ๆ ที่บ้านไม่ได้เลี้ยงดูแบบโหดร้ายอะไร เป็นบ้านทั่วไป ซัพพอร์ตการใช้ชีวิต แต่จำได้ว่าจะถูกบอกว่าสิ่งไหนคือดีไม่ดี เวลาโกรธ จะไม่ได้ถูกอนุญาตให้แสดงความโกรธได้ขนาดนั้น จำได้ว่าเคยทำผิดอะไรสักอย่างแล้วโดนแม่ตี เป็นครั้งเดียวที่โดนแม่ตี แล้วพ่อก็เข้ามาบอกว่า อย่าตีเลย มันรู้สึกเหมือนว่าเรื่องเท่านี้ต้องโดนขนาดนี้เลยเหรอ เลยโตมาแบบเรียนรู้ที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้ตัวเองถูกตำหนิหรือถูกทำโทษอีก 

แต่จุดเปลี่ยนสำคัญมากน่าจะเป็นช่วงม.ต้นที่มีแฟน มันก็เป็นความรักที่ไม่ได้ healthy อะไร แต่ในจังหวะที่มันต้องแยกทาง เราโดนจับเข้าห้องปกครองเนื่องจากเวลายามเย็นของโรงเรียนที่ไม่มีใครอยู่แล้ว อาจารย์มาเจอว่าเรากับแฟนที่กำลังจะเลิกกันมีพฤติกรรมใกล้ชิดไม่เหมาะสม จังหวะนั้นเหมือนว่าโลกถล่ม แล้วตอนที่เข้าไปในห้องปกครอง อาจารย์พูดว่า ‘นี่โรงเรียนนะไม่ใช่โรงแรม’ เดี๋ยวจะเรียกผู้ปกครองมา ช็อตที่จำได้ของตัวเองคือยกมือไหว้ แล้วบอกว่า ไม่ต้องบอกพ่อกับแม่ได้ไหม หนูยอมทำอะไรก็ได้ ความรู้สึกที่จำได้คือไม่อยากให้พ่อแม่ผิดหวังกับเราเลย วันนั้นเราแค่อยากบอกลาคนที่เรารัก ไม่ได้อยากให้ใครมาเจ็บปวดกับสิ่งนี้”

สุดท้ายคุณครูก็ติดต่อแม่ คืนนั้นฝ้ายเรียนรู้ว่าชีวิตต่อจากนี้จะไม่พลาดอะไรอีกจากการที่แม่พูดว่า ‘จะคิดซะว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น’ และน้ำตาของพ่อที่ไม่เคยได้เห็น 

“เราจะต้องทำทุกอย่างให้มันดีที่สุดเพื่อที่มันจะชดเชยเรื่องนี้ได้ เราบอกตัวเองแบบนี้ตอนที่อายุ 14 แต่ไม่รู้ว่ามันจะทำให้เราโตขึ้นมาแบบเป็น perfectionist (มนุษย์สมบูรณ์แบบ) อีกนับสิบปี แบบเป็นยังไงก็ได้ที่จะไม่ทำอะไรให้คนตำหนิหรือผิดหวัง”

เมื่อรู้ตัวแล้วว่าเป็นเด็กขี้กลัว ถ้ามีสิ่งที่อยู่นอกเหนือบรรทัดฐาน หรือความเชื่อของสถาบันครอบครัว สถาบันโรงเรียน ฝ้ายจะมีไม้บรรทัดและกฎเกณฑ์หลายอย่างไว้ตีกรอบของตัวเองเสมอ ประสบการณ์ใหญ่เล็กในชีวิตสอนว่าสิ่งไหนที่ผิดหรือถูก ไม่รู้ตัวว่าต้องตั้งคำถาม และด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ความกลัวก็มีผลต่อพฤติกรรมจนเคยชิน ความรู้สึกของฝ้ายไม่ได้ถูกสื่อสารออกมา

“เราไม่ได้มานั่งตรวจสอบอะไรกับตัวเองนักหนาหรอกว่าที่เรารู้สึกกับตัวเอง มันพูดได้นะ ประโยคนี้ไม่เคยมีอยู่ในสารบบเลย แต่จะพูดได้แค่ว่า ตัวเองรู้สึกอะไร ฉันรู้สึกแบบนี้ แต่มันก็ผิดใช่ไหม ดังนั้นมันต้องไม่เป็นแบบนี้ ทั้งพฤติกรรมของฉัน ความรู้สึกของฉัน หรือความอ่อนไหวของฉัน เราตอบเลยว่าก่อนอายุประมาณเลข 3 เราไม่เคยรู้ตัว”

หรือว่ารู้ตัว แต่ไม่รู้วิธีแก้

“ตอนนั้นไม่ได้คิดว่าเป็นอะไรที่ต้องแก้ด้วยนะ แต่จะผิดไม่ได้แล้ว เหมือนเป็นภารกิจอยู่ข้างในตัวเองตลอดเวลา เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเรื่องเล็กเรื่องใหญ่ ก็จะพยายามอยู่ในกรอบที่ฉันปลอดภัย ไม่โดนด่า แม้กระทั่งเวลากลับบ้านจะต้องกลับบ้านไม่ดึกนะ ถ้าเป็นสมัยก่อน ดึกของบ้านเรานี่ 2 ทุ่มก็โดนโทรตามรัวๆ แล้ว เลยเป็นคนที่จะต้องคอยดูว่านี่กี่โมงแล้วๆ อยู่เรื่อยมา อุปมาการดูเวลาเป็นการตรวจสอบตัวเอง มันจะเหมือนไม่ได้ปล่อยตัวเองให้ wild and free (บ้าและเป็นอิสระ) แบบกูเป็นยังไงก็ได้ ไม่เคยมีเลย (หัวเราะ)

แต่สิ่งๆ เดียวที่ยังยึดไว้ได้คืออย่างน้อยฉันจริงใจนะ ฉันพยายามอย่างเต็มที่แล้วจริงๆ ที่จะประคองตัวเองแบบเด็กๆ ไปเรื่อยๆ เหมือนไม่ได้คิดว่าตัวเองใช้ชีวิตมาด้วยเจตนาที่ไม่ดี”

ในวัยมัธยมปลาย ฝ้ายสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เข้าสู่อีกหนึ่งบทของการทดสอบภารกิจที่ตัวเองตีความ จะบอกว่าคล้ายกับเด็กมัธยมเรียนเก่งหลายคนที่เลือกสายวิทย์เพราะมีทางเลือกให้ต่อยอดมากกว่าก็ได้ ฝ้ายจึงเผื่อเลือกไว้โดยการเข้าสายวิทย์-ญี่ปุ่น เวลานั้นรู้แล้วว่าชอบอ่านหนังสือหรือเขียนหนังสือ แต่นี่คือเมืองไทย มันยังไม่ได้การันตีอาชีพหรือเส้นทางที่ชัดเจน บวกกับครอบครัวก็อ้าแขนรับอาชีพแพทย์ค่อนข้างมาก

“ภาพความทรงจำที่ชัดก็จะเปลี่ยนความเครียดจากเรื่องความสัมพันธ์มาเป็นเรื่องการเรียน ว่าจะตกไม่ได้นะ แต่ก็ไม่รู้ตัวอยู่เหมือนกันว่าเครียด จำได้ว่าจะสอบแล้วกลางคืนตื่นมาอ้วก ไม่รู้ว่าทำไมถึงอ้วก

อาจจะเพราะเป็นเด็กเรียนดีมาตั้งแต่ประถม เลยอยากจะคงสิ่งนี้ไว้ เหมือนว่าอย่างน้อยถ้าฉันเคยไปทำพลาดเรื่องงามหน้าเรื่องหนึ่ง แต่ฉันยังเรียนดี คนคงว่าฉันไม่ได้หรอก หรืออย่างน้อยให้ฉันมีอะไรให้เขาไม่ว่าฉันซักหน่อย เลยใช้สิ่งนี้เป็นเครืองป้องกันตัวว่าแบบ จะด่าใช่ไหม เกรดฉันโอเคนะ ฉันเกรดสี่ (หัวเราะ) 

พอรอดพ้นจากการเรียนม.ปลายมาได้ ก็รู้สึกดีขึ้น เหมือนการที่เราเลือกสายวิทย์ให้ครอบครัวเห็นว่าเราเลือกแล้วเรียนจบมาได้ เราได้ทำอะไรบางอย่างที่ตอบโจทย์ความคาดหวังของเขาได้แล้ว เพราะฉะนั้นต่อจากนี้เราจะเลือกเองแล้วนะ”

มนุษย์ผู้ไม่หยุดผุพังและฝากความหวังในการรักตัวเองไว้กับผู้อื่น

“หนึ่งปีก่อน ฉันคิดว่าตัวเองดีขึ้นมากแล้วในเรื่องบาดแผลความสัมพันธ์ แต่พอเจอเรื่องมากระตุ้นให้แผลเปิด ฉันรู้สึกเหมือนตัวเองจะระเบิด ยิ่งตอนเจอจิตแพทย์คนใหม่ครั้งแรกแล้วตัวเองกระวนกระวายและประหม่าอย่างควบคุมลำบาก ทั้งยังเรียบเรียงคำพูดไม่ค่อยดีเพราะข้างในสะเปะสะปะสับสน พอเจอสายตาหมอและคำถามย้ำเมื่อตอบไม่ตรงคำถาม ฉันก็รู้สึกเหมือนตัวเองกลายเป็นคนที่ ‘บกพร่อง’ เริ่มกังขาและไม่มั่นใจว่าจิตใจหรือการรับรู้ของเราจะกลับมาเป็นเหมือนอย่างเดิมได้ไหม 

ในความเป็นจริง พอได้รับการดูแลถูกวิธีและปรับจูนกับตัวเองเสียใหม่ เพียงสักเดือนเดียวหลังจากนั้น ฉันก็รับรู้ได้ว่าฉันยังเป็นคนเดิม แม้จังหวะการใช้ชีวิตจะเปลี่ยนไปบ้าง หลังจากนั้นฉันก็ยังทำงานได้ปกติ ส่วนความสัมพันธ์ที่รู้สึกว่าน่าจะแตกหักในวันนั้น ก็ได้รับการซ่อมแซมทีละเล็กละน้อยจนแข็งแรงขึ้นได้เช่นกันอย่างไม่น่าเชื่อ”

จากบทความ โดยไม่ทันรู้ตัว บางครั้งเราก็ผ่านอะไรมาได้มากมาย แม้ไม่เชื่อในตัวเองก็ตาม

เรายังแกะคำว่า “เรียนดี” ออกไปจากตัวกันตพรได้ยากมากแม้จะเข้าเรียนคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เอกวารสารสนเทศไปแล้ว แต่นี่คือพื้นที่ที่เธอเริ่มค้นหาตัวเองเจอว่าชอบเขียนหนังสือ เราหัวเราะให้กับกาวตราเด็กเรียนพร้อมแซวว่า เรียนดีอีกแล้วเหรอ

การเรียนหนังสือเก่งหรือเรียนให้เกรดงดงามไม่ได้ผิดอะไร แต่เราต่างหัวเราะให้กับวัยเยาว์ที่มุ่งสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการทั้งที่เบื้องหลังมันมีความขมขื่นบางอย่างที่มองไม่เห็น มีชีวิตอีกหลายส่วนที่ไม่ได้ถูกใช้ หลายคำถามไม่ได้ถูกถามเพราะไม่รู้ว่าถามได้ เป็นเพียงเค้าลางของความไม่รู้เนื้อรู้ตัวว่านี่คือหนึ่งส่วนของการกระทบชิ่งจากความคาดหวังของสิ่งแวดล้อมและสังคมรอบตัว เป็นอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในทุก ๆ วันเหมือนกับการแตกและดับของดวงดาว สวยงาม เสียหาย แต่ก็จบไปแล้ว การหัวเราะให้กับมันในวันนี้ก็คือการเข้าใจว่าเราได้ผ่านช่วงเวลาหนึ่งของชีวิตมา

“เกียรตินิยม เหรียญทอง (หน้าตาภูมิใจ) มันเป็นฟีลที่รู้สึกภูมิใจกับตัวเองนะ แล้วการที่เราได้สิ่งนี้มา พ่อกับแม่ก็คงมีความสุขแหละ พอเรียนจบแล้วได้มาทำงานที่นิตยสาร a day ก็เริ่มเป็นจุดพลิกว่าฉันเริ่มทำอะไรได้มากกว่าที่ฉันคิดแล้วนะ พอมาเป็นกองบรรณาธิการก็จะเดินทางเยอะ จากที่แต่ก่อน 2 ทุ่มต้องกลับบ้าน การงานมันก็พาเราออกจากกรอบ นี่เที่ยงคืน ตีหนึ่งตีสองค้างออฟฟิศ แล้วเรารู้สึกว่าสุขภาพจิตเราดีขึ้นมากช่วงที่ได้ทำงาน มันไม่ใช่แค่ว่าเราเรียนแล้วได้เกรดดี แต่รู้แล้วว่าคุณค่าของสิ่งที่ทำมันอยู่ในเนื้อในงาน ในทุก ๆ หยดที่ทำไป ก็รู้สึกมีคุณค่า มีความหมาย แล้วเริ่มรู้สึกว่าความเป็นตัวเองมันมีประโยชน์บางอย่าง”

ที่ผ่านมาฝ้ายมองหาจุดพร่องในตัวเองมากกว่าคุณค่าและความหมาย ปกป้องตัวเองจากการโดนวิพากษ์วิจารณ์ด้วยการเก็บเงียบ หลายครั้งยากที่จะแหวกพงหญ้าของอดีตเพื่อหาที่มาที่ไปว่าเพราะอะไรชีวิตจึงลงท้ายด้วยการโทษตัวเองหรือโทษคนอื่น เพราะกว่าที่จะได้สาเหตุและยอมรับตัวเองได้ว่าเป็นแบบนั้นก็ใช้เวลาเกือบทั้งชีวิต และก็ยังต้องซ่อมแซมกันไปอีกเรื่อยๆ เมื่อบ้านหลังคารั่ว

ช่วงชีวิตการทำงานเป็นกองบรรณาธิการเริ่มด้วยบทนำที่สวยงาม แต่ความสัมพันธ์กับคนรักเก่าที่เกิดขึ้นในระหว่างทางก็นำพาจุดเปลี่ยนอีกครั้ง เมื่อผ่านมาได้แล้ว ฝ้ายเล่าถึงการปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระในหน้าที่การงาน รู้สึกว่ามีที่ทาง มีสังคมที่อบอุ่น แต่ก็ยังไม่หลุดพ้นการฝากความหวังไว้กับคนอื่น

“เราไม่ได้อยู่ในความสัมพันธ์นี้แบบเรารักตัวเอง แล้วพอวันหนึ่งมีปัญหา เราก็เริ่มได้ยินคำแบบเดิมที่คนในบ้านเราพูด เช่น อ่อนไหวจัง มันแค่ย้ำในสิ่งที่โตมา ว่าที่เป็นอยู่นี่มันไม่โอเค พอวันหนึ่งความสัมพันธ์มีปัญหามากๆ เข้า สุดท้ายเรารู้สึกว่าเราถูกปฏิเสธความอ่อนไหวอยู่ซ้ำ ๆ มันไม่ใช่ว่าเขาไม่พยายาม เขาก็พยายามในมุมของเขา แต่ระหว่างเราไม่เคยเกิดความเข้าใจ เพราะเรากลัวจะไม่ถูกรัก เราเลยเลือกใช้วิธีการเดียวกับการอยู่กับครอบครัว คือพยายามที่จะไม่พูดอะไรที่จะทำให้มันแย่ ถ้ามีเรื่องอะไรที่เราไม่โอเค เราก็ทำได้แค่จัดการตัวเอง 

ตอนที่ทะเลาะกัน เรารู้สึกเหมือนเป็นภูเขาไฟ ที่ผ่านมาไม่เคยพูดเลยว่าอะไรที่เขาพูดมาแล้วมันไม่โอเคบ้าง เราไม่ยอมแสดงออกความโกรธกับเขาบ้าง กลายเป็นว่าการที่เราเก็บ ๆ ๆ ๆ อย่างนั้น วันที่ทะเลาะกันจนแตกหัก สิ่งที่เราทำคือเรากรี๊ดใส่โทรศัพท์ แล้วเขาก็อึ้งไปเลย ถึงได้รู้สึกตัวว่าเราก็ไม่ healthy กับตัวเองที่เราไม่แสดงออก แล้วพอวันหนึ่งมันก็แค่เป็นระเบิดลูกหนึ่ง จิตใจมันคงค่อยๆ พังทลายลงไปช้าแบบไม่รู้ตัว”

ในสมุดไดอารีที่เป็นเพื่อนสนิทอีกคนหนึ่ง จะมีคำหลายคำ เช่น โดดเดี่ยว เหงา ไม่ไหวแล้ว ไม่ชอบที่ตัวเองเป็นแบบนี้ เมื่อไหร่จะจบสักที

“เราว่ามันมีภาวะที่ยังไม่ได้พัฒนาไปเป็นโรค แต่เป็นภาวะซึมเศร้า อย่างตอนเรียนม. ปลาย เราอยากหายไปสักที่ที่หนึ่งที่เป็นทุ่งหญ้า แล้วเราก็จะหลับ และเราก็จะไม่ตื่นมาเลยเพราะเราเหนื่อย แต่เราไม่ได้รู้สึกว่าสิ่งนี้มันเป็นสัญญาณของอะไร มันแค่เป็นภาพขึ้นมาในหัวว่าอยากหลับไป พอใช้ชีวิตก็เป็นโหมดไปสู้ ไปเรียน ต้องทำให้ได้ หรือตอนมีความสัมพันธ์ก็ไม่ได้เห็นว่าพลังงานมันหายไปเรื่อยๆ ความสดใสมันหาย ความกล้าบางอย่างมันหาย ไม่รู้ตัวเลย เป้าหมายของเราที่ต้องไปต่อให้ได้คือเราอยากให้ตัวตนที่เปราะบางของเราเป็นที่ยอมรับของใครสักคนที่เรารัก กับครอบครัวพอมันไม่ได้ เราเลยแค่มาฝากความหวังกับแฟน ว่าช่วยรักกูหน่อย 

ตอนนั้นทุกอย่างพังหมด เห็นภาพชีวิตตัวเองเหมือนลูกแก้วที่มีหิมะข้างในแล้วมันแตก

แต่ก่อนไม่มีอะไรมาสร้างความมั่นใจได้สักอย่าง ไม่ใช่ตัวเองที่บอกตัวเองได้ว่า เดี๋ยวมึงก็รอด ไม่เป็นไรเว้ย แต่เป็นโหมดเอาเท่าที่ไหวไปให้ได้ก่อน ไม่ได้มีความเมตตาเอ็นดูตัวเอง ไม่ได้เห็นความพยายามของตัวเอง อย่างกรณีที่เลิกความสัมพันธ์เก่าไป กลายเป็นความรู้สึกผิดว่าเราทำไม่เต็มที่ ถ้าเราทำมากกว่านี้เราต้องรอด”

มนุษย์ไม่มีวันหยุดผุพังหรือบุบสลาย นั่นเป็นวัฏจักรและการเปลี่ยนผ่านของชีวิตที่ไม่อาจวัดได้เลยว่าความหนักหนาเบาบางของมัน กระทบใจใครมากเท่าไหร่ ในระดับใด

เลิกเป็นมนุษย์ที่ต้อง…ให้ดีที่สุด…

“ฉันรู้ เราต่างอยากกระโจนข้ามไปถึง EP ที่ชีวิตอยู่บนผิวน้ำนิ่งสงบ คนมักพูดกันว่าระหว่างทางสำคัญกว่าปลายทาง แต่เวลาที่ระหว่างทางมันแย่ มันพัง ใครก็อยาก skip ไปทั้งนั้น โดยเฉพาะช่วงหัดเยียวยาตัวเองที่บางครั้งมันก็สะบักสะบอมไม่น้อย 

ฉันเองก็อยากเห็นตัวเองใช้ชีวิตอย่างมีความสุข เป็นอิสระจากความกังวล แต่ก็เพิ่งเข้าใจอย่างลึกซึ้งจริงๆ ว่า สิ่งสำคัญกว่าปลายทางที่เราอยากเห็น สิ่งสำคัญกว่าสิ่งที่เราอยากได้มาและพยายามทำให้เกิดขึ้น คือการใส่ใจแต่ละขณะที่เรา ‘ได้’ ลงมือทำมันไปทีละเล็กละน้อย โดยไม่ต้องคาดหวังหรือกะเกณฑ์ผลลัพธ์อะไรมาก”

จากบทความ บางจังหวะชีวิตก็เหมือนการสวมรองเท้าคู่ใหม่ เราแค่ต้องลองเดินไปกับ ‘ความไม่รู้’ 

จำได้ว่ารู้จักฝ้ายผ่านตัวหนังสือในบทความนี้ที่เล่าเรื่องการเลือกซื้อรองเท้าให้กับตัวเอง ความพิถีพิถันตรงนั้นเกิดมาจากความกังวลใจในเรื่องที่เล็กมาก หากสังเกตดีๆ รายละเอียดของชีวิตจะเป็นคำตอบของวิธีคิดและการกระทำของคนๆ หนึ่งได้เสมอ 

“เราเขียนมาเรื่อยๆ แล้วเราก็รู้สึกว่าชีวิตเรานี่ ถ้าไม่นับเพื่อนสนิท ถ้ามันจะยังมีอะไรที่ดีอยู่บ้างในเชิงที่ได้รับการเยียวยานะ คือหนังสือและกระดาษไม่เคยทรยศเรา”

 ฝ้ายได้รู้จักการเขียนเพื่อบำบัด (writing therapy) ผ่านเพื่อนนักศิลปะบำบัด และได้ทำ a day เล่มการบำบัด ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของความสนใจที่จะเรียนต่อด้านจิตวิทยาการปรึกษา

“เราว่าเราคงเห็นเวทมนตร์บางอย่างในสิ่งที่เรียกว่าพื้นที่การบำบัด เราค้นพบว่าแค่บางประโยคที่มันถูกต้อง มันก็ทำให้เราได้ร้องไห้ออกมาแล้ว หรือทำให้เราได้เกิดการฉุกคิดบางอย่างในตัวเอง

อย่างเรื่องความสัมพันธ์เก่า เราก็ถือเข้าไปพูดคุยในห้องฝึกด้วยเกือบทุกครั้งเพราะมันเป็นประเด็นมากๆ ตอนนั้นจับคู่ฝึกบำบัดกับคู่ฝึก แล้วบอกว่าเราอยากให้อภัยเขาให้ได้ เพราะความรู้สึกโกรธ เกลียดที่มันยังอยู่กับเรา ไม่อยากรู้สึกแบบนี้มันเหนื่อย แล้วน้องก็ซักเราไปเรื่อยๆ จนบอกว่า พี่อยากให้อภัยเขา พี่จะได้สบายใจขึ้น แต่ก่อนจะให้อภัยเขา ตอนนี้พี่ให้อภัยตัวเองบ้างหรือยัง ประโยคนี้เปลี่ยนโลกไปเลย เราไม่เคยให้อภัยตัวเองในทุกเรื่องเลย มีแค่ว่า กันตพร เธอต้อง…ให้ดีกว่านี้ สุดท้ายสิ่งที่เราพบในห้องบำบัด มันคือความสัมพันธ์ของเรากับตัวเราเอง ที่เราไม่เคยเหลียวแลอะไรตัวเองเลย

แต่กว่าจะผลิบาน เริ่มเรียนรู้ที่จะรักตัวเอง และมี empathy อย่างถูกที่ถูกทาง ทุกอย่างก็ต้องใช้เวลา ฝ้ายออกจากการทำงานที่ a day เรียนจิตวิทยาการปรึกษา ที่คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโดยตรง แต่ในขณะเดียวกัน ความท้าทายหลายอย่างที่เข้ามาก็ทำให้เริ่มดีลกับความกังวลในตัวเองไม่ไหว จนถึงเวลาต้องไปพบจิตแพทย์และนักจิตฯ อย่างเป็นเรื่องเป็นราว

“มันก็ท้าทายดีนะ การที่ฝึกเป็นนักจิตฯ ช่วงเดียวกับที่โดนวินิจฉัยว่ามีภาวะนี้”

“ตอนหมอบอกเราว่าคุณมี anxiety disorder ระดับอ่อนๆ  เราช็อคไปกับคำของหมอ ไม่ได้ช็อกในแง่การถูกตีตราว่าเป็นคนป่วย เราช็อคว่าสิ่งที่เราเจอมาตลอดคือสิ่งนี้เหรอ เราใช้ชีวิตอยู่กับสิ่งที่มันจะหล่อหลอมมาให้เราป่วยเป็นโรคนี้ในวันนี้เหรอ หรือวิธีที่เราปฏิบัติกับตัวเองมาตลอด มันพาเรามาถึงจุดนี้เหรอ เราไม่เคยคิดเลยว่าการที่เราเป็น perfectionist พยายามจะทำอะไรให้ดี หลีกเลี่ยงความผิด วันหนึ่งมันจะให้ดอกผลเราเป็นสิ่งนี้”

“เรารู้สึกว่าจริงๆ ทุกคนมีความพยายามจะทำงานกับตัวเอง พยายามจะหาความหมายกับข้างในตลอดเวลาให้เราผ่านแต่ละจุดไปเท่าที่ทำได้ อาจจะพยายามแล้วไปย้ำในจุดที่แย่ หรือกลายเป็นโบยตีตัวเอง แต่ไม่ได้แปลว่าทุกคนไม่พยายาม ถึงแม้วิธีการที่เราใช้มาตลอดมันจะผิด แต่เราแค่อยากเป็นที่รักน่ะ เราก็แค่พยายามอยู่กับอะไรสักอย่างที่เชื่อว่าจะทำให้เราจะเป็นที่รักในวันหนึ่ง วันหนึ่งเราจะอยู่ในความสัมพันธ์ที่ดี มันก็คือการทำเพื่อตัวเองมากๆๆ จนเกือบจะขาดใจตายแล้ว”

การเรียนไปด้วยและรักษาภาวะ anxiety ของตัวเองไปด้วยจำเป็นที่จะต้องมีบรรทัดฐาน และจรรยาบรรณของการเรียนจิตวิทยา มันเป็นความท้าทายอย่างมาก และเป็นการเฝ้ามองดอกไม้ที่ค่อย ๆ บาน และเฝ้ามองระบบนิเวศน์ของการเติบโตของดอกไม้นั้นอีกทีหนึ่ง

“ทุกคนจะได้เรียนจรรยาบรรณว่าคุณต้องดูแลตัวเองเพื่อที่คุณจะได้เป็นเครื่องมือให้คนอื่นได้ เราอยู่กับตัวเองแบบที่ค่อยๆ ลองไปดูว่าเป็นยังไงต่อ มันกระทบกับเคสยังไงบ้างไหม คอยสะท้อนตัวเองเรื่อยๆ ปรึกษาอาจารย์ที่เป็น supervisor แต่ถ้ามันมีอะไรที่มันไม่ไหวก็ต้องพัก  เราต้องรู้ลิมิตที่เราจะยังเป็นเครื่องมือที่ใช้การได้ ต้องคิดเพื่อให้เคสได้ประโยชน์มากที่สุด 

เราคิดว่าสิ่งสำคัญของการเป็นนักจิตฯ ที่ดีมันคือการเป็นมนุษย์ที่เป็นธรรมชาติน่ะ สุดท้ายแล้วมันต้องไม่เข้าไปในห้องบำบัดด้วยความคิดที่สั่งว่ากูจะไม่ทำผิดเด็ดขาด อาชีพนี้มีความละเอียดอ่อน คนที่เป็นนักจิตฯ มีการตรวจสอบตัวเองนั้นถูกต้องแล้ว แต่มันต้องไม่เป็นการตรวจสอบตัวเองที่บอกว่าฉันห้ามผิด เพราะสุดท้ายแล้วมันก็เป็นอาชีพหนึ่งที่ก็เกิดความผิดพลาดกันได้แม้จะพยายามอยางเต็มที่แล้วในจุดนั้น แต่ความผิดพลาดในที่นี้มันจะยอมรับได้ก็ต่อเมื่อคุณรู้ว่าคุณพยายามถึงที่สุดแล้วบนจรรยาบรรณของนักจิตวิทยา เช่น คุณจะไม่ทำผิดด้วยการเจตนาหาประโยชน์จากเคส

ในห้องบำบัดมันต้องใช้เวลาให้มันคุ้มค่ากับเคสที่สุด เพราะถ้านั่งฟังไปเรื่อย ๆ บางทีมันไม่ได้ช่วยอะไร บางจุดถ้าไม่ไปชวนสำรวจหรือชาเลนจ์ (ท้าทาย) ความคิดเขาเลย เขาก็จะติดอยู่ตรงนั้น เราก็คงจะไม่เจอคำถามที่น้องคนนั้นถามเรา มันจำเป็นที่คนเป็นนักจิตฯ ต้องลองเสี่ยงกับอะไรบางอย่าง แต่ต้องเป็นการเสี่ยงที่มั่นใจได้ว่าพวกเรายังอยู่ในจุดที่ปลอดภัย”

นักจิตฯ ก็คือมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งที่พยายามพอๆ กับคุณนั่นแหละ แต่การสะท้อนให้อีกฝ่ายเห็นความจริงอีกด้านที่พวกเขาอาจจะไม่ได้ชอบมัน คือศิลปะแห่งการใช้ทฤษฎีและการปฏิบัติเข้ามาผนวกกัน

“ทฤษฎีที่เราใช้เป็นหลักคือ Person-Centered Therapy ที่เป็นทฤษฎีสาย Humanistic หรือมนุษยนิยม ทฤษฎีนี้จะเชื่อในศักยภาพของมนุษย์ เชื่อว่าทุกคนมีพลังการเติบโตงอกงามในตนเอง สิ่งที่นักจิตฯ พึงทำคือเป็นสภาพแวดล้อมที่ดีให้เขาได้เริ่มหยั่งรากและกล้าผลิใบใหม่ ดังนั้นมันเลยเป็นทฤษฎีที่เน้นว่าเราจะอยู่กับคุณกับแบบที่คุณเป็น เราจะยอมรับคุณ สะท้อนในสิ่งที่เรารับรู้อย่างมี empathy แล้วเราก็จริงใจในการอยู่ตรงนั้นด้วยกัน 

เราเชื่อว่านักจิตวิทยาการปรึกษาเหมือนงาน tailor made ประมาณหนึ่ง เหมือนคุณเจอนักจิตฯ คนนี้ เขาอาจจะใช้ทฤษฎีนี้เป็นหลัก แล้วผสมเทคนิคอะไรบางอย่างของอีกหนึ่งทฤษฎีเข้ามา แต่ทุกอย่างมันจะมาจากสิ่งที่เขาเชื่อ อย่างเรา เราอาจจะเป็นคนที่อยู่ในกรอบมาตลอด แต่ธรรมชาติของเรา คือการ go with the flow เพราะฉะนั้นเราเลยสบายใจที่จะอยู่เพื่อรับฟังก่อน ข้อดีของสิ่งที่เกิดกับเราคือมันทำให้เราเข้าใจภาวะที่เคสประสบมากขึ้น รู้ว่าความดิ่งลึกตรงนั้นมันไปได้ถึงไหน เวลากังวลจนหมดแรง ทำอะไรไม่ไหวมันเป็นยังไง”

แต่เรารับความจริงของสิ่งที่เคสพูดแค่ไหน เช่น โกรธมาก เศร้ามาก นักจิตฯ เลือกว่าเราจะตั้งคำถามจากอะไร

“เราใช้ความสงสัยนำทางมากกว่า ในฐานะมนุษย์คือ ฉันฟังเธออยู่แต่ฉันยังไม่เก็ตตรงนั้น นักจิตฯ จะมีหน้าที่ในการพยายามเก็ตในเชิงประสบการณ์ว่าเหตุการณ์ที่เขาเจอในจังหวะนั้น คำพูดที่เขาได้มา มันเกิดปฏิกิริยายังไงกับเขาบ้าง แล้วเขาทำยังไงต่อจากนั้น เพราะอย่างนั้นจะไม่ได้ตั้งธงว่าอันไหนจริงไม่จริง ถ้ามันมีอะไรที่น่าตั้งข้อสงสัยหรือเรายังไม่เข้าใจ เราก็แค่ถามเพิ่มออกไปให้เพื่อให้เราตามเขาทัน ให้เขาได้สำรวจตัวเองว่าที่เขาคิดหรือรู้สึกตรงนั้นมันยังไงนะ บางทีเขาอาจจะพบก็ได้ว่าที่รู้สึกอย่างนี้จริง ๆ แล้วไม่ใช่”

ในจุดจุดหนึ่งนักจิตวิทยาเองก็วิวัฒนาการไปพร้อม ๆ กันกับเคส และทำงานด้วยมาตรฐานของการอยากให้มนุษย์ที่รู้สึกว่าโลกมันแย่ มีโลกที่ดีขึ้นมาบ้าง หลายครั้งการจัดการกับความคาดหวังของเคส จึงเป็นการจัดการความคาดหวังของตัวนักจิตฯ เอง พร้อม check-in กับความรู้สึก ติดขัดตรงไหน มีอะไรคับค้องใจ ให้ความเห็นบนฐานของการให้เกียรติกัน 

“เรารู้สึกว่าที่ผ่านมา ความเป็นตัวตนของเราไม่ได้มีค่าขนาดนั้น ตอนทำงานนิตยสาร ความรู้สึกนี้ก็งอกงามขึ้นมาจำนวนหนึ่งว่าเรารับฟังคนได้ เขียนงานใช้ได้ แต่มันยังไม่ตรงจุดที่สุด พอเรามาทำงานจิตวิทยา เรารู้สึกจากข้างในจริง ๆ ว่ามันมีคุณค่าว่ะ อย่างน้อยมันช่วยให้ใครสักคนผ่านตรงนั้นไปได้โดยไม่แย่เท่าเดิม เรารู้สึกทึ่งในความเป็นมนุษย์มาก ๆ เพราะเคสที่เราเคยเจอ เรารู้สึกว่าสภาพแวดล้อมที่แต่ละคนเจอ เราฟังแล้วเราก็ไม่ได้รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องง่าย ที่แต่ละคนจะจัดการชีวิตตัวเองให้ผ่านพายุทั้งในและนอกตัวเองไปได้  เป็นเราก็อาจจะสติแตกเหมือนกัน เรานับถือเคสมากเลยที่เขาก็ยังค่อยๆ ผ่านแต่ละวันไปแม้ว่ามันจะสะบักสะบอม แล้วมันเห็นพัฒนาการในมนุษย์คนหนึ่งที่มันค่อยๆ เกิดขึ้นผ่านประสบการณ์ที่นั่งอยู่ด้วยกัน 

สิ่งที่เราทำอยู่บ่อยๆ คือพยายามมองเห็นพัฒนาการในจุดที่เล็กให้ได้มากขึ้น ยิ่งเห็นในจุดที่เล็กลงได้มากเท่าไหร่ก็ยิ่งดี เราเข้าใจแหละว่าเคสอยากจะหายจากความรู้สึกนี้ ทำไมมันไม่หายจากตรงนั้นสักที แต่บางทีมันเป็นแบบนั้นไม่ได้ เหมือนพอเราได้อยู่กับเขาแล้วชวนเขาดูว่าจริงๆ แล้วมันมีส่วนที่เขาพยายามและไม่ได้ติดอยู่เหมือนวันนั้นแล้วนะ พอเขาค่อยๆ เห็นชัดต่อตัวเขาเองว่าเขาโอเคขึ้นกับการรับมือ เราว่ามันเป็นงานที่ทำให้เราเชื่อในศักยภาพมนุษย์ ในความเป็นคนธรรมดา ทุกคนมี super power บางอย่างมาก ๆ เลย”

ตอนนี้เป็นยังไงบ้าง

“เราถูกสอนให้มองไปที่ผลลัพธ์ตลอดเวลาว่าพวกคุณต้องไม่ร้องไห้ พวกคุณต้องมีอาชีพที่ดีเร็ว ๆ ต้องเรียนจบด้วยเกรดดี ๆ ต้องมีคนรักที่ดี เมื่อไหร่ก็ตามที่หลุดออกจากกรอบที่สังคม พ่อแม่วางไว้ได้ แล้วเห็นตัวเองแบบที่ตัวเองเป็นจริง ๆ ไม่ได้ไปเทียบกับลู่วิ่งใคร เมื่อนั้นมันก็จะค่อย ๆ ผ่านกันไปได้”

ฝ้ายร่วมก่อตั้งศูนย์บริการปรึกษาเชิงจิตวิทยา MASTERPEACE กับเพื่อนอีก 2 คน (กิตินัดดา อิทธิวิทย์ และ วรกัญ รัตนพันธ์) จากการตกตะกอนเส้นทางทั้งหมดที่ผ่านมาของชีวิต และเชื่อตรงกันว่าไม่อยากทำงานในห้องบำบัดเพียงอย่างเดียว สังคมต้องการการทำงานเชิงรุกเพื่อดูแลใจกันด้วย 

“พอเราย้อนกลับไปเมื่อก่อน มันไม่มีสื่อไหนเลยที่ทำให้เราเก็ตตัวเอง จะมีแค่เรียนยังไงให้เก่งขึ้น แต่ไม่มีหนังสือแนะนำการดูแลตัวเองเหมือนสมัยนี้ เช่น อยู่กับความอ่อนไหวของตัวเองอย่างไร เรารู้สึกว่าถ้าเมื่อก่อนมีสิ่งเหล่านี้รอบ ๆ ตัวเราบ้าง เราน่าจะโอเคกว่านี้ ถ้าวันนี้เราทำอะไรได้สักอย่าง แล้วมันอาจจะช่วยคนที่ไม่ได้เจอเราในห้องบำบัดให้เขามีทุ่นให้เกาะไว้ได้บ้าง เราก็อยากทำ เพราะพอพูดในบริบทบ้านเรา ไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้าถึง session กับนักจิตฯ ได้ ตัวเราเองก็ยังประสบปัญหาเลย” 

“ตอนเราทำงานใหม่ ๆ เงินเดือน 15,000 ถามว่าจะให้เราเอาเงินที่ไหนไปหานักจิตฯ สุดท้ายเราก็ต้องกลับมาที่ว่า เราต้องมีข้าวกินก่อนน่ะ พูดแล้วมันเศร้า แต่ขนาดเราเป็นชนชั้นกลาง ที่บ้านก็สนับสนุน ไม่มีค่าเช่าบ้าน แต่คนเราก็มีปัญหาการเงินกันได้ไง เรายังต้องเอาเงินไปซื้อข้าวกิน ไปเป็นค่าเดินทาง ไปทำอะไรที่มันจำเป็นต่อการดำเนินชีวิต ไม่ได้บอกว่าเรื่องนี้ไม่จำเป็น แต่วันหนึ่งมันก็ต้องกินอิ่มนอนหลับให้ได้ก่อน”

งานเชิงรุกที่ว่าจึงเป็นการทำงานร่วมกับองค์กรหน่วยงานอื่นๆ เช่น การเขียนคอลัมน์ด้านจิตวิทยาให้กับเพจ Mirror Thailand ที่สนับสนุนเรื่องสิทธิมนุษยชนของทุกเพศ, การทำพอดแคสต์ หรือโปรเจ็กต์ล่าสุดคือ นิทรรศการ CONNE(X)T Homecoming พาใจกลับบ้าน โดย Eyedropper Fill และ สสส. ที่ฝ้ายและทีมนักจิตวิทยาการปรึกษาและนักพฤติกรรมศาสตร์ได้ช่วยดูแลในส่วน ‘อารามอารมณ์’ ซึ่งเป็น interactive art ด้วยจุดประสงค์ที่อยากให้คนได้กลับเข้ามาในบ้านของใจ มาทำความรู้จักกับความรู้สึกต่าง ๆ จุดบทสนทนาข้างในใจให้เขากลับมาหาตัวเองได้ 

“ทุกคนไม่ได้อยู่ในบริบทที่สามารถได้รับคำถามว่า ลูก ลูกดูเป็นทุกข์ใจนะ ลูกต้องการอะไรที่ต้องการจะช่วยลูกได้บ้าง มันอาจจะไม่มี dialogue นี้อยู่ในชีวิต ดังนั้นคนที่ต้องทำคือ สื่อ หน่วยงาน โรงเรียน หรือคนที่มีบทบาทพอที่จะพูดว่า คุณถามตัวเองแบบนี้ได้นะ คุณไม่ต้องโบยตีตัวเองต่อไปเรื่อย ๆ คุณหยุดพักไม่ต้องตอบสนองความต้องการของใคร คุณหยุดทำแบบนั้นได้แปปหนึ่งนะ เพราะสุดท้ายชีวิตมันก็มีเรื่องเจ็บปวด แต่อำนาจหนึ่งที่ทำได้คืออนุญาตให้ตัวเองได้พักหายใจสัก 5 นาที คุณอนุญาตหรือยัง

แม้แต่ในพ่อกับแม่เรา เราก็เห็นสิ่งนั้น เขาไม่ได้ผิดอะไร เพราะเขาเองก็ถูกกระทำมาจากองค์รวมของบรรยากาศการเลี้ยงดู ของสังคม ความชนชั้น ผู้อาวุโส ที่ไม่ได้เปิดโอกาสให้เด็กแสดงออกเป็นตัวเอง แนวคิดว่าทุกคนทำตามที่ผู้ใหญ่สอนแล้วชีวิตจะดี มันกลืนกินหลาย ๆ อย่างไปมากกว่าที่คิด

เราว่าสุขภาพจิตมันไม่ใช่เรื่องปัจเจก ถ้าคุณจะมองแค่ว่าคนนี้มีปัญหาแล้วมาหานักจิตฯ แล้วเขาหาย อาจจะเป็นการมองที่ไม่ครอบคลุม เพราะต้องกลับไปถามว่าอะไรที่ทำให้เขาเป็นแบบนั้นตั้งแต่แรก มันมีทั้งปัญหาครอบครัว ปัญหาเศรษฐกิจ การที่รัฐไม่ได้สนับสนุนให้คนลืมตาอ้าปาก หรือการขยับชีวิตไปสู่อีกขั้นหนึ่งมันทำได้ยากมาก การจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ไม่ใช่แค่ว่าคนทำต้องเป็นนักจิตวิทยา นักบำบัด หรือจิตแพทย์ แต่เป็นโครงข่ายสังคมทั้งหมดที่รับรู้ว่าชีวิตมนุษย์คนหนึ่งมันสำคัญ และเขาคือทรัพยากรหนึ่งของสังคมนี้”

เราคุยกันมาเป็นเวลา 2 ชั่วโมงครึ่งในร้านกาแฟแห่งหนึ่งย่านราชดำเนิน ฟังเรื่องราวตั้งแต่เด็กหญิงกันตพรชอบทากาวตราเด็กเรียนเพื่อกดดันตัวเอง อกหัก อกหัก และอกหัก จนมาถึงกันตพรที่ทุกวันนี้ดีขึ้นมาก หายใจสะดวก ไม่อกหัก และมีพลังงานในการรักษาชีวิตของตัวเอง เจ็บปวด สะบักสะบอม และกังวลมากน้อยหรือหนักหนาบ้างตามวาระโอกาส แตกต่างแค่ว่าเธอเรียนรู้วิธีที่จะทะนุถนอมมัน และมีจินตนาการได้ถึงคุณค่าของวันพรุ่งนี้ และไม่โทษตัวเองแล้ว

ตอนนี้เป็นยังไงบ้าง

“เป็นมนุษย์ที่ก็ยังมีภาวะ anxiety ทั้งระดับที่รับมือได้และไม่ได้บ้าง แต่คำว่ารับมือไม่ได้ในที่นี้คือรู้ว่าฉันเยียวยาตัวเองได้นะ และจะ take action เมื่อรู้ว่าถึงเวลา เป็นคนรักตัวเองเป็นแล้ว วัดจากว่าไม่มองข้ามความทุกข์ตัวเอง ไม่โบยตีตัวเองไปในทางที่มองข้ามความเหนื่อยล้า 

ตอนนี้เราว่าเราสนุกกับการหาวิธีดูแลตัวเองว่าเราจูนกับอะไรได้นะ มันมหัศจรรย์ดีนะที่ได้ทวงคืนตัวเองกลับคืนมา ตัวเองที่ชอบความเร็วบนมอเตอร์ไซต์ ที่อาจจะชอบความแข่งขัน ตัวเองที่อาจจะชอบสีสด ๆ ไม่ใช่ตัวเองที่เรียบร้อยหรือขี้กลัว มันสนุกที่ได้เห็นว่ามนุษย์คนหนึ่งมันไปได้ถึงไหนในเรื่องการยอมรับตัวเองและเข้าใจสิ่งรอบข้าง ยอมรับได้ว่าโกรธคนนี้ ไม่ชอบแบบนี้ แล้วก็เลือกได้ว่าจะตอบสนองยังไงให้ไม่แหลกสลายไปทั้งหมด”

พอเราเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่าง เปลี่ยนความคิดที่มีต่อตัวเอง พอมันค่อยๆ เป็นอิสระจากกรอบที่เคยถามตัวเองแค่ว่านี่ถูกหรือผิด เมื่อนั้นทุกอย่างก็ดูเหมือนนกที่ออกจากกรง ไม่ใช่นกที่อยู่ในกรงสวยๆ ให้คนชื่นชมแต่ไม่ได้บินไปไหนเลย แล้วก็ตั้งคำถามทุกวันว่าโลกข้างนอกเป็นยังไงวะ เราเคยเป็นนกตัวนั้น แต่ตอนนี้เราเปิดกรงได้เองแล้ว เรารู้ว่ากรงนี้อาจจะมองเป็นบ้านได้ถ้าเกิดเราให้อิสระกับตัวเอง เพราะเรารู้ว่าประตูนี้มันไม่ได้ปิด เราก็แค่ออกไปเรียนรู้ แล้วก็กลับมา แล้วก็ออกไปใหม่ ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนพอใจที่จะมีบ้านของตัวเองแบบไหน”

ถึงผู้อ่านที่อ่อนไหวได้เสมอ

โลกมันโหดร้ายเสมอ เดี๋ยวเราก็จะผ่านมันไป บางคนอาจจะบอกว่าอยู่ที่มุมมอง มันก็ไม่ได้โหดร้ายอะไรขนาดนั้น ความจริงเหลื่อมล้ำกันเสมอในโลกที่มนุษย์ยังต้องการมีชีวิตที่ดี การได้มีตัวเลือกที่จะอยู่ได้อย่างไม่ทุกข์ร้อนเป็นสิ่งที่หลายคนไขว่คว้า เราเองก็เป็นมนุษย์เช่นเดียวกันกับเขาที่ต้องจัดการปัญหาในทุกวัน 

กันตพรเล่าเรื่องราวผ่านแว่นของคนอ่อนไหวที่พยายามจะใช้ชีวิต หากเรารับรู้ว่านี่ก็คือมนุษย์อีกหนึ่งรูปแบบในบรรดามนุษย์อีก 100 รูปแบบ ความโหดร้ายของโลกจะไม่มีวันน้อยลง แต่น้ำตาหรือน้ำเสียงของคนเหล่านั้น อาจจะพาเราเข้าสู่โลกของการรับฟังและเห็นใจกันมากขึ้นสักหน่อย 

เพราะแม้จะไม่ค่อยเข้าใจ แต่บางครั้งมนุษย์คนอื่นมักจะทำให้เราเห็นว่าการร้องไห้อย่างละเอียด หรือการฟูมฟายอย่างร้ายกาจ ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่ได้พยายาม และในมุมหนึ่งตัวเราเองก็ละเลียดความเจ็บปวดเหล่านั้นออกมาในรูปแบบอื่นๆ ที่ไม่ใช่น้ำตา 

หลายคนพยายามแล้วที่จะทำให้ความอ่อนไหว หรือความเป็นมนุษย์เปราะบางทำร้ายตัวเองหรือคนอื่นให้น้อยที่สุด

ในวันที่โลกถล่มผุพัง ขอให้ยังมีความกล้าหาญในตัวเอง

ผลงานอื่นๆ ของกันตพร

โปรเจกต์ Meet Your Monster เครื่องมือสำรวจสุขภาพใจช่วงเรียนออนไลน์ https://www.facebook.com/adaymagazine/photos/a.126550290405/10159574876270406/

นิทรรศการ “Conne(x)t Homecoming : พาใจกลับบ้าน” MASTERPEACE ร่วมจัดในส่วนของอารามอารมณ์

คอลัมน์ Peace of Mine ในเว็บไซต์ a day

บทความเกี่ยวกับสุขภาพจิตในMirror Thailand

หนังสือ Magic moment ความงดงามในเสี้ยววินาที, DAWN  ชั่ววูบเข้าใจชีวิตเหมือนแสงที่ริมขอบฟ้า (Magic moment 2) กับสำนักพิมพ์ Fullstop

พอดแคสต์ Heal ใจ ทางสื่อของ Fastwork 

พอดแคสต์ R U OK มินิซีรีส์ชูใจ EP. 229-245 (ในฐานะ co-host) 


Writer

Avatar photo

ณัฐชานันท์ กล้าหาญ

นักแปล นักเขียน ช่างภาพสาว ผู้ทำงานประจำอยู่ 6 เดือนและไม่ทำอีกเลย ซึ่งคิดว่าคงเป็นอย่างนี้ตลอดไป หาตัวได้แถวเชียงใหม่และบางแค หัวบันไดไม่เคยแห้งเพราะจ้างร้อยแต่ให้มาล้านทั้งปริมาณภาพ ความยาวของเนื้อหาและพาดหัว ไม่เคยมีคำว่าน้อยแต่มาก มีแต่คำว่ามากแต่มากกว่า

Photographer

Avatar photo

ณัฐชานันท์ กล้าหาญ

นักแปล นักเขียน ช่างภาพสาว ผู้ทำงานประจำอยู่ 6 เดือนและไม่ทำอีกเลย ซึ่งคิดว่าคงเป็นอย่างนี้ตลอดไป หาตัวได้แถวเชียงใหม่และบางแค หัวบันไดไม่เคยแห้งเพราะจ้างร้อยแต่ให้มาล้านทั้งปริมาณภาพ ความยาวของเนื้อหาและพาดหัว ไม่เคยมีคำว่าน้อยแต่มาก มีแต่คำว่ามากแต่มากกว่า

Related Posts