นิยามของคำว่า ‘ครอบครัว’ คือพื้นที่ที่คนหลากหลายมาอยู่ร่วมกันใช่หรือไม่?
ถ้าใช่ การที่ พ่อ แม่ หรือ ลูก ซึ่งต่างคนต่างมีประสบการณ์ ช่วงวัย เจเนอเรชั่น ประสบการณ์ทางสังคม และความรู้สึกนึกคิดที่หล่อหลอมให้แต่ละคนมีวิธีมองโลกแตกต่างกันก็ย่อมเป็นเรื่องปกติ เหมือนที่บางคนก็มองเห็นว่าภาพนี้เป็น ‘เป็ด’ และบางคนก็บอกว่าเป็น ‘กระต่าย’
เราอาจจะไม่เถียงหรือขัดแย้งกันเพื่อให้คนในครอบครัวเรามองภาพนี้ให้เป็นเป็ดหรือกระต่ายเหมือนกับเรา แต่หากเป็นประเด็นทางสังคมที่กำลังอ่อนไหวอย่างการเมือง มุมมองที่แตกต่างอาจนำไปสู่ความขัดแย้งในครอบครัว
ท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้ เราจะประคองพื้นที่ของความเป็นครอบครัวได้อย่างไร ที่ทำให้เรายังคงความเชื่อของตัวเองได้ ขณะเดียวกันก็สามารถเปิดพื้นที่รับฟังความแตกต่างที่เกิดขึ้นได้ด้วย
นี่คือ 3 Scenario ของ เป็ดและกระต่าย
Scenario ที่ 1: ยังไม่เห็น ‘เป็ด’ และไม่เห็น ‘กระต่าย’
แตกต่างก็อยู่ร่วมกันได้: เป็นจังหวะดีที่จะเริ่มต้นเปิดพื้นที่ให้มุมมองที่แตกต่างในครอบครัว
บางครอบครัวอาจยังไม่เคยนั่งลงพูดคุยกันถึงเรื่องราวต่างๆ หรือความคิดเห็นทางสังคมที่แตกต่าง แม้ว่าเรื่องราวทางการเมืองอาจจะไม่ใช่จุดแตกต่างของบางครอบครัว แต่การตระหนักถึงการพูดคุยเหล่านี้ในบ้านบ้างก็อาจจะทำให้ได้เห็นมุมมองใหม่ๆ ของพ่อ แม่ ลูก หรือคนอื่นๆ ในครอบครัว และนำไปสู่การสร้างพื้นที่การพูดคุยอย่างสร้างสรรค์
สำหรับคุณพ่อคุณแม่ การสร้างบทสนทนาในบ้านเป็นพื้นที่ที่ลูกจะได้ทดลองคิด วิเคราะห์ แสดงความคิดเห็น และมีความตระหนักถึงการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม และโลกมากขึ้น
ทำอย่างไร?
Empathetic Listening: เปิดพื้นที่ ‘การฟัง’ ที่เคารพกันและกัน
‘การฟัง’ ที่ดีอาจแก้ปัญหาได้หลายอย่างเลยทีเดียว การฟังจะสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ตัวตนที่แตกต่างกันอยู่ร่วมกันได้ และไม่ใช่แค่คุณพ่อคุณแม่ที่จะรับฟังลูกแต่เพียงอย่างเดียว ลูกก็ควรรับฟังพ่อแม่ด้วยเช่นกัน
การฟังแบบ Empathetic Listening ไม่ใช่การฟังเพื่อตัดสินถูกผิด แต่เป็นการฟังที่คนฟังจะทำความเข้าใจคนที่พูดอยู่บนจุดยืน ความรู้สึกนึกคิด และคุณค่า การฟังเช่นนี้ไม่ได้บอกว่าเราต้องเห็นด้วยหรือคล้อยตามทั้งหมด แต่ขอให้ผู้พูดได้พูดจนจบโดยผู้ฟังระลึกอยู่เสมอว่า เรากำลัง ‘ฟังเพื่อเข้าใจ’ ไม่ใช่ฟังเพื่อตัดสิน
Scenario ที่ 2 “ก็เห็นๆ อยู่ว่าเป็นกระต่าย จะให้มองเป็นเป็ดได้ยังไง”
เมื่อพ่อแม่ และลูก มีจุดยืนแตกต่างกัน – เคารพการให้คุณค่าที่แตกต่างของกันและกัน
หลายครอบครัวอาจจะเริ่มเห็นสถานการณ์แบบนี้ คนในบ้านเริ่มมีมุมมองที่แตกต่าง บางบ้านเลือกที่จะไม่พูดเพราะรู้สึกว่าถ้าพูดไปแล้วจะถูกตัดสิน บางบ้านลูกแอบไปชุมนุมโดยไม่บอกพ่อแม่ บางบ้านคุณพ่อคุณแม่ห่วงลูกแต่ก็ไม่รู้ว่าจะพูดออกมาได้อย่างไรเพราะกลัวว่าจะเป็นความขัดแย้ง บางบ้านเห็นต่างกันแต่ไม่คุยกัน
ถ้าเป็นแบบนี้แล้วทำอย่างไร?
เคารพการให้ ‘คุณค่า’ ที่แตกต่างของกันและกัน
ในวันที่ลูกเติบโตขึ้นและเริ่มมีปีกเป็นของตัวเอง ความคิดของเขาจะเหมือนปีกที่ใหญ่และกว้างขึ้น การที่ปีกจะใช้งานใช้การได้ เขาจะเป็นต้องมี ‘พื้นที่เพียงพอ’ ให้ทดลองขยับปีก และเริ่มต้นใช้วิจารณญาณของตัวเองว่าจะตัดสินข้อมูลต่างๆ รอบตัวอย่างไร หรือจะบินไปในทิศทางไหน
ครอบครัวสามารถเป็นจุดเริ่มต้นของการหัดบินให้กับเด็กๆ ได้ โดยเป็นพื้นที่ให้เขาเรียนรู้ที่จะบังคับปีกของตนเองได้ก่อนออกไปสู่โลกภายนอกที่ท้าทายมากขึ้น
เมื่อครอบครัวมีพื้นที่ของการรับฟังกันและกันแล้ว สิ่งสำคัญอีกประการคือ ‘การยอมรับและเคารพความแตกต่างอย่างเข้าใจ’ แม้จะเป็นครอบครัวเดียวกัน แต่ทุกคนก็มีสิทธิที่จะมีความคิด ความเชื่อในแบบของตนเองได้
การที่คุณพ่อคุณแม่เป็นแบบอย่างของการยอมรับความแตกต่าง จะทำให้ลูกรู้จักที่จะเคารพความแตกต่างของผู้อื่นด้วย คุณพ่อคุณแม่อาจจะชวนคุยถึงความคิดที่แตกต่าง อาจตั้งคำถามและพูดคุยเพื่อให้ลูกทบทวนความคิดความเชื่อที่ได้ยินได้ฟังจากข่าวสารต่างๆ รวมถึงพูดคุยเพื่อให้เห็นจุดยืนและมุมมองที่แตกต่างของผู้อื่น
บางความคิด และความเชื่ออาจจะแตกต่างจากจุดยืนที่ลูกกำลังยืนอยู่ แต่ก็ควรได้รับการเคารพเช่นเดียวกัน
Scenario ที่ 3 “เมื่อเป็ดจะต้องเป็นเป็ดเท่านั้น และกระต่ายจะมองเป็นอย่างอื่นได้ยังไงนอกจากกระต่าย”
เมื่อความเห็นต่างกลายเป็นความขัดแย้ง
“ถ้าจะออกไปก็ตัดพ่อตัดลูกกันไปเลย”
“อุตส่าห์ส่งเสียให้เรียนสูงๆ คิดได้แค่นี้เองรึไง”
“แม่อะโบราณ ความคิดความเชื่อแบบนี้คนสมัยนี้ ไม่มีใครเขาคิดแบบนี้แล้ว”
ในสถานการณ์ที่ความขัดแย้งเริ่มดำเนินไปมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ละคนเชื่อมั่นในวิธีคิดและมุมมองของตนเองอย่างสิ้นเชิง คุยกันทีไรทำให้ทะเลาะกันทุกที ความใส่ใจ และความห่วงใยถูกซ่อนเอาไว้และเริ่มเปลี่ยนเป็นคำพูดที่ทำร้ายกัน หากครอบครัวตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ ต่างฝ่ายต่างยิ่งทุกข์ใจ
ทำอย่างไรเมื่อความเห็นต่างกลายเป็นความขัดแย้ง
1. พักสักครู่ – การพูดคุยที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งอาจจะต้องการการหยุดและหลีกเลี่ยงการปะทะอารมณ์ การหยุดพักอาจเป็นการให้พื้นที่ในการที่แต่ละคนได้ค่อยๆ ทำใจให้สงบลงก่อนแล้วค่อยกลับมาหาทางพูดคุยกันใหม่อีกครั้ง
2. ทบทวน ‘พื้นที่การพูดคุย’ และ ‘ความเคารพซึ่งกันและกัน’ เป็นโอกาสอันดีที่จะได้กลับมาทบทวนว่าภายในบ้านมีพื้นที่ปลอดภัยเพียงพอที่แต่ละคนจะแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างด้วยความเคารพแล้วหรือยัง หากในบ้านยังไม่เคยมีพื้นที่เหล่านั้น อาจลองกลับไปเริ่มต้นด้วย ‘การฟังเพื่อเข้าใจ’ อีกครั้ง
3. ให้ความสำคัญกับ ‘ความสัมพันธ์’ และ ‘ความเข้าใจ’ ก่อนแก้ปัญหา บ่อยครั้งที่เรามักจะรีบไปสู่การแก้ปัญหาโดยขาดการตระหนักถึงสิ่งสำคัญของครอบครัว คือความสัมพันธ์ แต่การมีความสัมพันธ์ที่ดี และมีความเข้าใจไม่ได้หมายความว่าต้องเปลี่ยนความเชื่อของตนเองไปให้เห็นเหมือนกันกับคนในครอบครัว แต่ให้ความเข้าใจนำทางไปสู่การพูดคุยเพื่อแก้ปัญหาที่ถูกต้อง
4. ปรับการสื่อสาร ถามตัวเองอย่างแน่ชัดว่า ‘สิ่งที่ต้องการ’ ของเราคืออะไรกันแน่ หลายบ้านคุณแม่เพียงอยากบอกลูกว่า “เป็นห่วงนะ” แต่ด้วยอารมณ์กลับสื่อออกไปในน้ำเสียงว่า “ออกไปทำอะไรโง่ๆ อีกแล้ว” เจตนาของแม่ที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังคำพูดแรงๆ เป็นเจตนาที่ดี แต่คนฟังกลับไม่ได้ยินเจตนานั้น ในขั้นตอนนี้อาจจะต้องกลับมาทบทวนความต้องการภายใน แล้วค่อยๆ ปรับวิธีการสื่อสารเพื่อบอกถึงส่วนที่อยู่ลึกๆ ของตัวเองให้มากขึ้น
ไม่ว่าครอบครัวจะอยู่ scenario แบบไหน หรือเราจะเลือกใช้วิธีการอย่างไรเพื่อเปิดพื้นที่ความแตกต่าง การทำเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าต้องสำเร็จ หรือรู้สึกดีในครั้งแรกเสมอไป แต่สิ่งที่ดีในครอบครัวคือเราพร้อมที่จะให้อภัยและเริ่มต้นพูดคุยกันใหม่ได้เสมอ
ไม่ว่าเราจะเป็น ‘เป็ด’ หรือ ‘กระต่าย’ เราก็ยังสามารถที่จะมีความคิดความเชื่อในแบบของเราได้ภายใต้ความแตกต่างที่อยู่ในพื้นที่เดียวกันของการเป็น ‘ครอบครัว’