บอลโลกไม่ได้เป็นของทุกคน? : ดราม่าเจ้าภาพละเมิดสิทธิมนุษยชน และคนขาวที่เหยียดในเหยียด

  • “ขจัดการเลือกปฏิบัติ” เป็นหัวใจสำคัญซึ่งสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (Fédération Internationale de Football Association: FIFA) ให้ความสำคัญมาตั้งแต่ปี 2016 แต่การมอบสิทธิ์การเป็นเจ้าภาพให้กับกาตาร์ทำให้ฟีฟ่าโดนวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่ากำลังทำสิ่งที่ขัดต่อหลักการสิทธิมนุษยชน
  • การเลือกปฏิบัติทางเพศ กฎหมายเรื่องเพศสัมพันธ์นอกสมรส และการกดขี่ข่มเหงแรงงานต่างชาติ คือประเด็นร้อนนอกสนามใน FIFA World Cup Qatar 2022™ ที่ทำให้หลายคนออกปากว่า “บอลโลกไม่ได้เป็นของทุกคน” 
  • แต่ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์เจ้าบ้านและฟีฟ่า ยังมีคนบางกลุ่มที่มองว่านี่เป็นเพียงการมองผ่านสายตา “เหยียดในเหยียด” ของคนขาวที่เชื่อว่าตนเองตื่นรู้กว่า “ชาวตะวันออกกลางผู้ไร้อารยะ” เท่านั้น

น้ำตาแห่งความดีใจของซน ฮึง-มิน เมื่อนำพาทีมชาติเกาหลีใต้เข้ารอบ 16 ทีมสุดท้ายได้ หลังจากพยายามมาหลายครั้ง จังหวะปาฏิหาริย์ที่คาโอรุ มิโตมะ นักเตะญี่ปุ่น ตามเก็บบอลจากเส้นหลังเพื่อเปิดบอลให้อาโอะ ทานากะ ตะบันประตูพาญี่ปุ่นเฉือนเอาชนะสเปน เช่นเดียวกับที่โครเอเชียดวลลูกโทษชนะทีมเต็งแชมป์อย่างบราซิล หรือโมร็อกโกก็เอาชนะโปรตุเกสที่มีขุมกำลังเหนือกว่าได้

ทีมเล็ก ๆ จากเอเชียสองทีมเอาชนะทีมใหญ่จากยุโรปได้ ทีมบอลรองอย่างโมร็อกโกกับโครเอเชีย ก็เอาชนะได้แม้แต่ทีมเต็งแชมป์ ปาฏิหาริย์เหล่านี้ไม่ได้กำลังบอกเราว่า ทุกความฝันเป็นไปได้ และ พื้นที่ของบอลโลกมีไว้สำหรับทุกคน หรอกหรือ?

“ขจัดการเลือกปฏิบัติ” เป็นหัวใจสำคัญซึ่งสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (Fédération Internationale de Football Association: FIFA) ให้ความสำคัญมาตั้งแต่ปี 2016 และนโยบายไม่ยอมรับการเหยียดเชื้อชาติและการเลือกปฏิบัติก็อยู่ในกฎวินัยของฟีฟ่า ฉบับปี 2019 แม้แต่วันที่ 10 ธันวาคม 2022 ที่ผ่านมา ฟีฟ่าก็ได้ร่วมกับ องค์การอนามัยโลก (the World Health Organization: WHO) ส่งสารเรื่องการต่อต้านการเลือกปฏิบัติด้วยการฉายวิดีโอแคมเปญ #NoDiscrimination ขึ้นจอใหญ่ยักษ์ในสนามแข่งฟุตบอลโลกรอบ 4 ทีมสุดท้าย

ทว่าเรื่องราวนอกสนามนั้น FIFA World Cup Qatar 2022™ หรือบอลโลกปีนี้ กลับโดนวิจารณ์อย่างหนักว่าไม่ใช่ “บอลโลกของทุกคน” อย่างที่ฟีฟ่ายืนยันมาตลอด สาเหตุหลัก ๆ นั้นเนื่องมาจากประเทศเจ้าภาพที่จัดบอลโลกในครั้งนี้คือกาตาร์ ประเทศซึ่งมีระบอบปิตาธิปไตยอันเข้มแข็งและนำมาสู่การเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงและ LGBTQ+ รวมถึงกฎหมายแรงงานข้ามชาติที่เอื้อประโยชน์ต่อการเอารัดเอาเปรียบเหล่าแรงงานอีกด้วย

Discrimination wins. Love does not.

เหตุผลหนึ่งที่ทำให้หลายคนมองว่ากาตาร์ไม่เหมาะจะเป็นเจ้าภาพจัดบอลโลกเป็นเพราะกฎหมายเรื่องเพศที่มีการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่ม LGBTQ+ ซึ่งระบุว่าการแต่งงานกับเพศเดียวกันเป็นเรื่องผิดกฎหมายและอาจได้รับโทษเป็นการจำคุกถึง 7 ปี

การเลือกปฏิบัติทางเพศต่อ LGBTQ+ ในกาตาร์เป็นประเด็นร้อนขึ้นมาอีกหน เมื่อกัปตันทีมชาติอังกฤษและเวลส์ตั้งใจจะสวมปลอกแขน OneLove ซึ่งเป็นปลอกแขนสนับสนุนกลุ่ม LGBTQ+ ลงแข่ง แต่ฟีฟ่ากลับประกาศว่าฟีฟ่ามีกฎเรื่อง “ปลอกแขน” ที่ชัดเจนอยู่แล้ว หากมีผู้เล่นฝ่าฝืนกฎด้วยการใส่ปลอกแขนสีรุ้งลงสนาม ผู้เล่นคนนั้นก็อาจโดนโทษเป็นค่าปรับนอกสนาม หรืออาจโดนใบเหลืองในสนาม ทำให้กัปตันทั้งสองชาติยอมทิ้งความตั้งใจที่จะใส่ปลอกแขนลงสนาม 

กรณีดังกล่าวนำไปสู่เสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ร้อนถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของสหราชอาณาจักรอย่างเจมส์ เคลเวอลีย์ ต้องออกมาแสดงความเห็นว่าแฟน ๆ ที่เป็น LGBTQ+ ควร “ยอมงอและประนีประนอม” เพื่อแสดงความเคารพต่อประเทศเจ้าบ้านบ้าง ส่วนทางสมาพันธ์ฟุตบอลแห่งราชอาณาจักรก็ได้ออกแถลงว่าพวกเขาได้รับ “คำตอบอันกระจ่างแจ้ง” จากกาตาร์แล้วว่า กาตาร์ยินดีต้อนรับแฟนบอลทุกคน และความปลอดภัยของแฟนบอลทุกคนก็เป็นสิ่งที่กาตาร์ให้ความสำคัญที่สุด รวมถึงแฟนบอลที่เป็นชาว LGBTQ+ ด้วย

กระนั้นเพียงแค่ 2 สัปดาห์ ก่อนการแข่งขันนัดแรก คาลิด ซัลมาน ทูตบอลโลก 2022 ชาวกาตาร์กลับให้สัมภาษณ์กับสื่อเยอรมันว่า “พวกเขาต้องยอมรับกฎกติกาของเราที่นี่ รักร่วมเพศถือเป็นฮะรอม (เรื่องต้องห้าม หรือ เรื่องที่น่าละอาย) ผมไม่ใช่มุสลิมที่เคร่งศาสนานักหรอก แต่ที่มันเป็นฮะรอมก็เพราะว่ามันมีผลเสียต่อความคิด”

นอกจากนั้นผลสำรวจโดยสื่อจากสแกนดิเนเวียก็พบว่า โรงแรม 3 แห่งจาก 69 แห่งในกาตาร์ที่ฟีฟ่าให้การรับรอง ปฏิเสธการให้บริการนักท่องเที่ยวคู่รักเพศเดียวกัน และมีโรงแรมเพียง 33 แห่งที่ยืนยันว่าจะให้บริการนักท่องเที่ยวที่เป็นคู่รักเพศเดียวกัน ในขณะที่โรงแรมอีก 20 แห่ง กล่าวว่าพวกเขายินดีรับนักท่องเที่ยวที่เป็นคู่รักเพศเดียวกัน ตราบใดที่ไม่ได้แสดงออกอย่างเปิดเผย

คำพูดและการแสดงออกเหล่านี้ขัดกับแนวทางด้านสิทธิมนุษยชนที่ฟีฟ่ากล่าวอ้างมาตลอดโดยสิ้นเชิง ฟีฟ่ารับเอา หลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (Guiding Principles on Business and Human Rights) โดยองค์การสหประชาชาติมาใช้ตั้งแต่ปี 2016 ซึ่ง “การเลือกปฏิบัติ” นั้นหมายรวมทั้งเพศวิถี อัตลักษณ์ทางเพศ และเพศลักษณ์ และที่น่าผิดหวังไปกว่านั้นสำหรับแฟนบอล LGBTQ+ คือ ฟีฟ่าไม่ได้มีการต่อรองหรือเรียกร้องการผ่อนปรนกับกาตาร์ แต่กลับเลือกที่จะบอกให้ชาติต่าง ๆ ที่เข้าร่วมฟุตบอลโลกในครั้งนี้ “สนใจที่ฟุตบอล” และ “หยุดสั่งสอนคนอื่นด้านศีลธรรม”

อดีตประธานฟีฟ่าอย่าง เซปป์ แบลตเตอร์ ก็ออกมาให้ความเห็นในประเด็นนี้เช่นกันว่า การให้กาตาร์เป็นเจ้าภาพถือเป็น “ความผิดพลาด” และเกิดจากแรงกดดันทางการเมืองเท่านั้น อีกทั้งการตัดสินใจของฟีฟ่าครั้งนี้จะส่งผลเสียต่อแฟนบอลชาว LGBTQ+ ในระยะยาว

ฝั่งแฟนบอล LGBTQ+ หลายกลุ่มก็ได้ประกาศว่าพวกเขาจะไม่เดินทางไปเชียร์ทีมรักที่กาตาร์ เพราะไม่มีใครรับประกันเรื่องความปลอดภัยให้พวกเขาได้เลย และบางคนถึงกับประกาศว่าพวกเขาจะไม่ดูการถ่ายทอดสดแม้แต่นัดเดียวเพื่อเป็นการแสดงออกว่าพวกเขาไม่พอใจการตัดสินใจของฟีฟ่า เช่นเดียวกับ Pride in Football กลุ่มแฟนบอล LGBTQ+ ในสหราชอาณาจักรที่แถลงบนทวิตเตอร์ว่า “บอลโลกครั้งนี้มันไม่ได้เป็นของทุกคน มันไม่เคยเป็นของทุกคน และท้ายที่สุดแล้วมันก็จะไม่เป็นของทุกคน”

 “ซีนา” กฎหมายที่ทำให้แฟนบอลหญิงไม่กล้าเดินทางไปดูบอลโลก

“ปัญหาของบอลโลกหรืองานกีฬาใหญ่ ๆ งานอื่นก็คือความเสี่ยงที่จะเกิดการล่วงละเมิดทางเพศเพิ่มมากขึ้น” รอธนา บีกัม จาก Human Rights Watch ให้สัมภาษณ์กับ The Athletic “ไม่ใช่แค่กับแฟนบอล แต่ยังรวมถึงแรงงานข้ามชาติรายได้ต่ำอย่างแรงงานในโรงแรมด้วย”

The Athletic ยื่นคำร้องไปที่กรมตำรวจของแต่ละเมืองเพื่อขอข้อมูลเปรียบเทียบจำนวนอาชญากรรมทางเพศที่เกิดขึ้นก่อน ระหว่าง และหลังการจัดการแข่งขันกีฬารายการใหญ่ ซึ่งพบว่าในเดือนที่มีการจัดการแข่งขันกีฬารายการใหญ่นั้น แต่ละพื้นที่จะมีรายงานการก่ออาชญากรรมทางเพศสูงกว่าเดือนอื่น ๆ แต่เหตุที่ทำให้แฟนบอลหญิงกังวลที่จะเดินทางไปที่กาตาร์ เป็นเพราะกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการก่ออาชญากรรมทางเพศของกาตาร์ ซึ่งเรียกว่า “ซีน่า”

ซีน่าระบุว่าการมีเพศสัมพันธ์นอกสมรสนั้นเป็นสิ่งผิดกฎหมายในกาตาร์ และในมาตรา 281 ของประมวลกฎหมายอาญาก็ระบุว่า “ผู้ใดที่มีเพศสัมพันธ์กับหญิงอายุ 16 ปีขึ้นไป โดยไม่ได้ถูกบีบบังคับ ข่มขู่ หรือต้องกลอุบาย จะได้รับโทษเป็นการจำคุกสูงสุด 7 ปี และการลงโทษเดียวกันนี้จะมีผลบังคับใช้ต่อสตรีที่ให้การยินยอมด้วย”

และหากจำเลยเป็นชาวมุสลิม โทษก็อาจเป็นการเฆี่ยนตี ซึ่งขัดต่อหลักการของกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

บีกัมอธิบายสถานการณ์ของผู้หญิงในกาตาร์ไว้ว่า “ในกาตาร์ ผู้หญิงที่เป็นเหยื่อของอาชญากรรมทางเพศ ไม่ว่าจะกระทำโดยคู่ครอง เพื่อนร่วมงาน เพื่อนฝูง หรือคนแปลกหน้า ก็อาจจะมีความผิดในข้อหามีเพศสัมพันธ์นอกสมรสด้วย เมื่อมาแจ้งความก็อาจจะถูกมองเป็นการยอมรับผิด หากคนที่โดนกล่าวหาอ้างว่านี่เป็นการมีเพศสัมพันธ์โดยสมยอม เพียงเท่านี้เจ้าหน้าที่ก็อาจจะแจ้งข้อหาเหยื่อว่ายอมมีเพศสัมพันธ์นอกสมรสได้”

นอกจากนั้น วรรคตอนที่ระบุว่า “โดยไม่ได้ถูกบีบบังคับ ข่มขู่ หรือต้องกลอุบาย” ก็คล้ายกับเป็นการบังคับให้เหยื่อต้องแสดงหลักฐานว่ามีการ “บีบบังคับหรือข่มขู่” เช่น บาดแผลหรือรอยฟกช้ำ ซึ่งหากไม่มีหลักฐานดังกล่าว ก็จะถือว่าเป็นการสมยอมและเป็นผู้กระทำความผิดร่วม ภาพถ่ายของหญิงชายที่ไม่ได้เป็นคู่สมรสแต่อยู่ด้วยกันในที่สาธารณะโดยที่ไม่มีการปกปิดใบหน้า ก็เคยถูกใช้เป็นหลักฐานเพื่อเอาผิดเหยื่อในคดีซีน่ามาก่อนแล้ว และหากไม่มีทะเบียนสมรส เหยื่อก็มักจะไม่ได้รับการบริการด้านสาธารณสุขเมื่อโดนทำร้ายอีกด้วย

เดือนมิถุนายน ปี 2021 เจ้าหน้าที่บอลโลกชาวเม็กซิกันรายงานว่าเธอถูกล่วงละเมิดทางเพศ แต่ผลสุดท้ายเธอกลับถูกกล่าวหาว่ามีความผิดในการมีเพศสัมพันธ์นอกสมรสซึ่งผิดกฎหมายกาตาร์ ซึ่งทำให้เธอเสี่ยงต่อการถูกจับกุมหรือถูกเฆี่ยน 100 ครั้ง

เมย์ โรมานอส นักวิจัยจากองค์กรนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International) กล่าวว่า “เรื่องราวของแรงงานที่เราได้ฟังมานั้นน่าเศร้าใจมาก สุดท้ายพวกเขาก็ไม่กล้ารายงานคดีเข้าสู่ชั้นศาลและอยากจะกลับประเทศบ้านเกิดแทน เพราะรู้ว่าอย่างไรก็อาจจะแพ้คดี พอไปหาตำรวจ แทนที่จะเป็นเหยื่อ พวกเขาก็กลายเป็นจำเลยเสียเอง”

ทางกาตาร์เองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ เมื่อคณะกรรมการสูงสุดกาตาร์ที่ควบคุมดูแลภาพรวมบอโลก 2022 ทั้งหมดแถลงว่า “กาตาร์ปกป้องและสนับสนุนสิทธิสตรี และรวมไปถึงผู้หญิงทุกคนที่มาเยือนกาตาร์เพื่อบอลโลก” พร้อมกับการยืนยันจากทางฟีฟ่าว่า “แฟนบอลที่แจ้งความว่าถูกล่วงละเมิดทางเพศจะเข้าถึงการบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพสูงโดยไม่จำเป็นจะต้องเป็นคู่สมรส”

ค้างค่าจ้างก็นาน ขอกลับบ้านก็ไม่ให้กลับ : ชีวิตของแรงงานข้ามชาติในกาตาร์ 

6,500 คือตัวเลขของแรงงานข้ามชาติที่ The Guardian รายงานว่าเสียชีวิตในกาตาร์ระหว่างการเตรียมงานบอลโลก

เพื่อเตรียมตัวเป็นเจ้าภาพบอลโลก กาตาร์ได้สร้างสนามแข่งขันแห่งใหม่ขึ้นมาหลายสนาม พร้อมด้วยสนามบิน ระบบขนส่งสาธารณะ ถนนหลายสาย และโรงแรมใหม่อีกกว่า 100 แห่ง รัฐบาลกาตาร์ระบุว่ามีการจ้างงานแรงงานข้ามชาติกว่า 30,000 คน ในการสร้างสนามกีฬา โดยส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่มาจากบังกลาเทศ อินเดีย เนปาล และฟิลิปปินส์

ตัวเลข 6,500 นี้ The Guardian ได้มาจากการรวบรวมข้อมูลจากสถานทูตของประเทศต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลกาตาร์โต้ว่าตัวเลขนี้เป็นการชี้นำให้เข้าใจผิด เพราะการเสียชีวิตส่วนใหญ่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเตรียมงานบอลโลก โดยรายงานอุบัติเหตุพบว่า ในระหว่างปี 2014 – 2020 มีแรงงานเพียง 37 คนเท่านั้น ที่เสียชีวิตในพื้นที่ก่อสร้างสนามกีฬา และมีเพียง 3 คน ที่เสียชีวิตด้วยสาเหตุที่เกี่ยวเนื่องจากการทำงาน

อย่างไรก็ตาม องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organisation) ก็ได้แย้งว่า นี่เป็นการประเมินที่ต่ำเกินจริง เพราะรัฐบาลกาตาร์ไม่ได้นับรวมการเสียชีวิตจากอาการหัวใจวายเฉียบพลันหรือภาวะหายใจล้มเหลว ว่าเป็นการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน แม้ว่าอาการเหล่านี้จะเป็นอาการที่มักเกิดจากโรคลมแดด (heatstroke) ซึ่งอาจมีผลมาจากการทำงานหนักท่ามกลางอากาศร้อน ที่แรงงานข้ามชาติในพื้นที่ก่อสร้างเพื่อเตรียมงานบอลโลกต้องเจอ

ปี 2016 องค์กรนิรโทษกรรมสากลอ้างว่า บริษัทในกาตาร์นั้นใช้แรงงานบังคับ ทั้งยังมีแรงงานหลายคนที่ต้องอาศัยอยู่ในแหล่งที่สกปรกซอมซ่อ ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการจัดหางานในราคาสูง ได้รับค่าจ้างล่าช้า และโดนยึดหนังสือเดินทางจนไม่สามารถกลับประเทศได้

ปี 2017 รัฐบาลกาตาร์ได้ออกระเบียบใหม่ที่คุ้มครองแรงงานจากการทำงานในอากาศร้อน จำกัดเวลาการทำงาน และปรับปรุงสภาพแวดล้อมในแคมป์คนงาน ทว่า รายงานในปี 2021 ของ Human Rights Watch ยังคงพบว่ามีแรงงานข้ามชาติที่ถูกลงโทษหรือโดนหักเงินค่าจ้างอย่างผิดกฎหมายและไม่ได้รับค่าจ้างจากการทำงานนอกเวลา และแม้กาตาร์จะยกเลิกระบบ “คาฟาลา” ที่ให้นายจ้างเป็นผู้อุปถัมภ์แรงงาน แรงงานจึงต้องขออนุญาตนายจ้างก่อนเปลี่ยนงาน เพื่อให้สิทธิเสรีภาพแก่แรงงานข้ามชาติเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังมีบริษัทกาตาร์หลายแห่งที่พยายามกดดันแรงงานให้ไม่กล้าเปลี่ยนงานตามที่ต้องการ

สุนิต แรงงานข้ามชาติจากเนปาลต้องกลับบ้านของเขาในเดือนสิงหาคม หลังจากที่ทำงานในกาตาร์ได้เพียง 8 เดือน เขาให้สัมภาษณ์กับ CNN ว่าเขาตั้งใจจะทำงานที่กาตาร์ 2 ปี แต่บริษัทรับเหมาก่อสร้างที่เขาเป็นลูกจ้างล้มละลายในขณะที่ยังค้างค่าจ้างเขาและเพื่อนแรงงานคนอื่น ๆ สุนิตและเพื่อน ๆ ที่ไม่สามารถหางานอื่นทำได้ในกาตาร์จึงต้องกลับบ้าน

นอกจากรายได้แล้ว สิ่งที่สุนิตเฝ้าฝันถึงก่อนหน้านั้นคือการได้ดูการแข่งขันบอลโลกจากดาดฟ้าของโรงแรมที่เขามีส่วนร่วมในการก่อสร้าง สนามแข่งขันแห่งหนึ่งสามารถเดินเท้าจากโรงแรมไปได้โดยใช้เวลาเพียง 10 นาที

“เราเคยคุยกันเรื่องนี้” สุนิตกล่าว “แต่เราก็ต้องกลับบ้าน และฝันของเราก็ไม่เคยเป็นจริงทั้งที่กิจกรรมในสนามสามารถมองเห็นได้จากดาดฟ้าโรงแรม”

สุนิตและแรงงานข้ามชาติหลายคนในกาตาร์ที่มีส่วนในการเตรียมงานฟีฟ่าต้องแบกกระสอบผสมปูนปลาสเตอร์และซีเมนต์ที่หนักประมาณ 30 – 50 กิโลกรัม ขึ้นไปที่ชั้น 10 – 12 ของโรงแรม ซึ่งใช้เวลาถึง 1.5 – 2 ชั่วโมง ในแต่ละรอบท่ามกลางอากาศร้อนจัด หากไม่สามารถทำงานตามที่ได้รับมอบหมาย พวกเขาก็จะโดนนายจ้างข่มขู่ แม้แต่การแวะพักดื่มน้ำระหว่างวันก็แทบจะไม่ได้รับอนุญาตจากนายจ้าง และเช่นเดียวกับแรงงานข้ามชาติหลายคน ท้ายที่สุดสุนิตต้องกลับบ้านมือเปล่า

นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่าแรงงานข้ามชาติหลายคนเสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บสาหัสจากการเตรียมงานบอลโลกและยังไม่ได้เงินชดเชย ซึ่งทาง Human Rights Watch ก็ได้มีแคมเปญ #PayUpFIFA ที่เรียกร้องให้ฟีฟ่าจ่ายเงิน 440 ล้านเหรียญ ให้แรงงานเหล่านั้น ซึ่งเท่ากับจำนวนเงินรางวัลในการแข่งขันบอลโลก และทางรัฐบาลของกาตาร์ก็แถลงว่าพวกเขาได้จ่ายเงินชดเชยให้กับแรงงานและครอบครัวไปมากกว่า 350 ล้านเหรียญแล้วในปีนี้

แม้ว่ารัฐบาลกาตาร์จะพยายามเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบต่าง ๆ ให้ยุติธรรมกับแรงงานมากขึ้น แต่การกดขี่แรงงานข้ามชาติในการเตรียมงานบอลโลก 2022 ก็ยังคงเป็นอีกประเด็นที่ทำให้สมาพันธ์ฟุตบอล 10 ประเทศในยุโรป ออกแถลงการณ์ต่อต้านกาตาร์และฟีฟ่า โดยระบุว่า สิทธิมนุษยชนควรเป็นเรื่องสากลและเกิดขึ้นได้ทุกที่ ในขณะที่ทีมชาติออสเตรเลียก็ได้ปล่อยวิดีโอวิพากษ์วิจารณ์กาตาร์ในเรื่องนี้เช่นกัน

ว่าแต่เขา คนขาวเป็นเอง?

“ผมว่าจากสิ่งที่ชาวยุโรปอย่างเราทำมาตลอด 3,000 ปีที่ผ่านมากับผู้คนทั่วทั้งโลก เราควรจะขอโทษไปอีก 3,000 ปีข้างหน้า ก่อนจะมีสิทธิ์ไปสั่งสอนศีลธรรมให้กับใคร” จานนี อินฟานติโน ประธานฟีฟ่า กล่าวตอบโต้เสียงวิจารณ์เรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างเผ็ดร้อนในงานแถลงข่าวเพียงไม่กี่วันก่อนการแข่งขันนัดแรกจะเริ่มขึ้น

แม้จะมีหลายคนเห็นด้วยกับประเด็นที่กาตาร์ถูกวิจารณ์ แต่ก็มีอีกหลายคนเช่นกันที่มองว่านี่เป็นเพียงเกมการเมืองและการบริหารอำนาจของคนขาวเท่านั้นเอง

หากกล่าวถึงประเด็นการเลือกปฏิบัติทางเพศในโลกของฟุตบอลแล้ว ประเด็นเหล่านี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้นที่กาตาร์เท่านั้น BBC เปิดเผยว่า ผลสำรวจในเดือนมิถุนายน 2022 พบว่า “คำพูดเหยียดเพศ” คือสิ่งที่ถูกนำมาใช้ทำร้ายนักเตะมากที่สุด ส่วนผลสำรวจถ้อยคำรุนแรงต่อนักเตะบนโลกออนไลน์จาก สมาคมนักเตะอาชีพ (the Professional Footballers’ Association) ก็พบว่าถ้อยคำเหยียดเพศปรากฏบ่อยที่สุดเช่นกัน

เบเลน เฟอร์นันเดซ นักข่าวจาก Al Jazeera เขียนบทความชื่อ “การเสแสร้งครั้งใหญ่ของ ความห่วงใยจากชาวตะวันตกเรื่องบอลโลก (The Massive Hypocrisy of the West’s World Cup ‘Concerns’) ในบทความนี้เธอยกตัวอย่างเหตุกราดยิงไนท์คลับเกย์ในฟลอริดา ที่เกิดขึ้นในปี 2016 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตกว่า 50 ราย ว่าเป็นเหตุการณ์ที่สื่อถึงการเหยียดเพศอันรุนแรงที่ยังคงมีอยู่ในสหรัฐอเมริกา

ส่วนนาวิด ซาร์รินนาล ผู้เชี่ยวชาญด้านอิหร่านและตะวันออกกลางแห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดก็ได้ออกความเห็นว่าการต่อต้านกาตาร์ในครั้งนี้เป็นเพียงภาพสะท้อนของแนวคิด “ชาวตะวันตกผู้เกรียงไกร” และลัทธิจักรวรรดินิยมทางวัฒนธรรมที่แฝงตัวมาในรูปของ “การเรียกร้องสิทธิมนุษยชน” เท่านั้น

เฟอร์นันเดซกล่าวว่า เธอไม่ได้เขียนบทความนี้ขึ้นเพื่อหาความชอบธรรมหรือปกป้องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกาตาร์ แต่ในขณะที่วิพากษ์วิจารณ์กาตาร์อย่างดุเดือด ชาวยุโรปกลับไม่มองนโยบายกีดกันผู้อพยพของรัฐบาลประเทศตนเองซึ่งเป็นเหตุที่คร่าชีวิตผู้ลี้ภัยไปหลายชีวิต ส่วนอเมริกันชนก็ยังไม่เคยแสดงความรับผิดชอบจริง ๆ จัง ๆ กับการสังหารหมู่ชาวพื้นเมือง การค้าทาสคนดำ หรือการเผยแพร่ระบบทุนนิยมที่เป็นต้นสายปลายเหตุของความไม่เท่าเทียม การละเมิดสิทธิเสรีภาพ และการเอารัดเอาเปรียบแรงงาน

เช่นเดียวกับ เดวิด แวริง อาจารย์จากมหาวิทยาลัยซัสเซกซ์ ที่เขียนบทความลงใน The Guardian สื่อเจ้าเดียวกับที่รายงานข่าวการเสียชีวิตของคนงานข้ามชาติ 6,500 ราย ในกาตาร์ว่า ประเด็นที่เป็นที่ถกเถียงกันในการจัดบอลโลกในครั้งนี้เป็นสิ่งที่เกิดมาจากการเหยียดเชื้อชาติของชาวตะวันตก “ผู้ตื่นรู้” ที่กระทำต่อ “ชาวตะวันออกกลางที่ไร้อารยะ” และเป็นเพียงการหาใครสักคนมารับผิดเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพื่อที่ชาวตะวันตกจะได้รักษาความเป็น “ผู้บริสุทธิ์” ของตนไว้

“กาตาร์เชื่อมั่นในพลังของกีฬาที่สามารถชักพาผู้คนเข้าหากันและสร้างสะพานของความเข้าใจทางวัฒนธรรมขึ้นได้” รัฐบาลกาตาร์ออกแถลงต่อสมาพันธ์สื่อถึงประเด็นต่าง ๆ “บอลโลกจะช่วยแก้ไขความเข้าใจผิด และเราก็อยากให้แฟน ๆ จากทั่วโลกกลับบ้านไปโดยมีความเข้าใจที่ดีขึ้นต่อประเทศ วัฒนธรรม และภูมิภาคของเรา เราเชื่อว่าการแข่งขันนี้จะทำให้ผู้คนที่ต่างเชื้อชาติ ต่างศาสนา และมีปูมหลังที่ต่างกันได้พบว่า ที่จริงแล้วเราก็มีสิ่งที่เหมือนกันมากกว่าที่พวกเขาคิด”

อีกเพียงไม่กี่วัน การแข่งขันที่ทั่วโลกตั้งตารอคอยทุก 4 ปี กำลังจะสิ้นสุดลงแล้ว นัดชิงชนะเลิศซึ่งเป็นนัดสุดท้ายของการแข่งขันอันยาวนานนี้กำลังจะเริ่มต้นขึ้นโดยปราศจากบทสรุปของประเด็นร้อนเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนของเจ้าภาพ แต่ท้ายที่สุดแล้ว ประเด็นต่าง ๆ ในบอลโลกครั้งนี้ก็ถือเป็นวาระอันดีที่สิทธิมนุษยชนในตะวันออกกลางจะกลายเป็นที่สนใจของผู้คนจากทั่วโลก เป็นโอกาสที่รัฐบาลกาตาร์จะปรับเปลี่ยนแก้ไขกฎหมายให้ดีกว่าเดิม เป็นช่วงเวลาที่ชาวตะวันตกจะได้ทบทวนอีกครั้งว่า บรรพบุรุษของตนได้ทำสิ่งใดไว้บ้างในประวัติศาสตร์ที่ผ่านพ้นมา และอาจเป็นจุดเริ่มต้นให้บอลโลกและทุกพื้นที่บนโลกใบนี้เป็นพื้นที่ที่ทุกคนจะได้มีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกันจริง ๆ

อ้างอิง :

https://www.bbc.co.uk/sport/football/61912426

https://edition.cnn.com/2021/10/06/football/football-homophobia-cmd-spt-intl/index.html

https://www.hrw.org/news/2022/07/07/world-cup-shame-fifa-fails-lgbt-rights-test-qatar

https://www.theguardian.com/football/2022/nov/21/lgbt-groups-condemn-fifa-over-onelove-armband-sanctions-threat

https://theconversation.com/world-cup-2022-fifas-clampdown-on-rainbow-armbands-conflicts-with-its-own-guidance-on-human-rights-194485

https://www.fifa.com/social-impact/campaigns/no-discrimination/media-releases/no-discrimination-campaign-made-available-for-entire-fifa-world-cup-qatar

https://www.fifa.com/tournaments/mens/worldcup/qatar2022/media-releases/fifa-and-who-to-mark-international-human-rights-day-with-anti-discrimination

https://www.bbc.com/news/world-60867042

https://www.theguardian.com/global-development/2021/feb/23/revealed-migrant-worker-deaths-qatar-fifa-world-cup-2022

https://www.amnesty.org/en/latest/campaigns/2016/03/qatar-world-cup-of-shame/

https://economictimes.indiatimes.com/magazines/panache/through-the-prism-of-gender-bias-how-qatar-world-cup-22-is-evoking-misogyny-in-every-sphere/articleshow/95832023.cms

https://theathletic.com/3583817/2022/09/22/world-cup-sexual-violence/

https://www.aljazeera.com/opinions/2022/11/28/the-massive-hypocrisy-of-the-wests-world-cup-concerns

https://www.theguardian.com/commentisfree/2022/nov/16/sportswashing-qatar-west-world-cup-regime


Writer

Avatar photo

ปัญญาพร แจ่มวุฒิปรีชา

อย่ารู้จักเราเลย รู้จักแมวเราดีกว่า

Writer

Avatar photo

พรภวิษย์ เพ็งเอียด

ชอบกินเนื้อต้มและตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือให้ได้ปีละสามเล่ม

Related Posts