‘อยากพิชิตอะไร ต้องใช้ชีวิตกับสิ่งนั้น’ บทบาทในการหยิบยื่นโอกาสให้ลูกได้เป็น ‘ผู้พิชิต’ ของ ‘อาร์ม-ณัฐพงศ์ นิธิอุทัย’

หากคุณเป็นอีกหนึ่งคนที่รักท้องทะเล ผืนทราย และชายหาด Mappa เชื่อว่าคุณอาจเคยได้ยินประโยคที่ว่า

“ปี 2050 จะมีขยะในทะเลมากกว่าจำนวนปลาในทะเล” 

นี่คือปัญหาที่ ‘อ.อาร์ม – ดร.ณัฐพงศ์ นิธิอุทัย’ รับรู้และมองเห็น เขาจึงพยายามลงมือทำสิ่งต่าง ๆ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง นำมาสู่บทบาทของการเป็นผู้ก่อตั้งแบรนด์ ‘Tlejourn (ทะเลจร)’ แบรนด์รองเท้าที่สร้างมูลค่าให้ขยะจากท้องทะเล สู่ผู้ก่อตั้ง ‘Trash Hero Pattani’ หรือ ‘ผู้พิชิตขยะแห่งเมืองปัตตานี’ รวมกลุ่มคนที่อยากคืนสภาพแวดล้อมดี ๆ ให้กับผืนน้ำและชายหาด โดยมี ‘ลี่-พันทิภา นิธิอุทัย’ ภรรยาที่คอยอยู่เคียงข้าง และลูก ๆ อีกสามคนที่ร่วมลงมือทำกิจกรรมด้วยกัน

ในอีกบทบาทหนึ่ง อาร์มคือคุณพ่อที่นำพาลูก ๆ ทั้งสามคนออกไปพิชิตการเรียนรู้ โดยใช้การเรียนโฮมคูลในรูปแบบ ‘Unschooling’ การเรียนแบบไม่เรียนที่จะช่วยให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ในเรื่องที่ตนเองสนใจ โดยนำมาปรับใช้กับไลฟ์สไตล์ของครอบครัว 

สิ่งที่น่าสนใจคือ อาร์มมองว่าการลงมือทำสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้กับครอบครัว เป็นหนึ่งในกระบวนการของ ‘การสร้างชีวิตในฝัน’ ที่เขาวาดไว้ และยังเป็นเสมือนหนึ่งในรายวิชาที่สร้างการเรียนรู้ให้กับลูก ๆ แต่จะมีความแตกต่างจากรายวิชาในระบบการศึกษาไทยตรงที่รายวิชานี้จะคงอยู่ต่อไปเรื่อย ๆ เพราะสิ่งนี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตครอบครัวไปแล้ว 

การเดินทางมุ่งตรงสู่สามจังหวัดชายแดนใต้ในครั้งนี้ Mappa ได้มีโอกาสไปพบกับอาร์มและครอบครัวที่จังหวัดปัตตานี เราใช้เวลาพูดคุยกัน และได้ฟังเรื่องราวของความสัมพันธ์และความเชื่อมโยงกันระหว่างทุกกิจกรรมที่เกิดขึ้นกับครอบครัวนิธิอุทัยว่าสิ่งต่าง ๆ ที่พ่อแม่ลูกได้ลงมือทำร่วมกันนั้นมอบอะไรกลับมาให้พวกเขาบ้าง 

ผู้พิชิตขยะ

‘Trash Hero’ คือชื่อขององค์กรอาสาสมัครระดับโลกที่มีจุดมุ่งหมายในการสร้างแรงบันดาลใจและสร้างความเปลี่ยนแปลงในชุมชน ผ่าน 3 โครงการหลักขององค์กร ได้แก่ โครงการจัดกิจกรรมทำความสะอาดทุกสัปดาห์ โครงการจัดจำหน่ายกระเป๋าผ้าและขวดน้ำสแตนเลสให้ภาคธุรกิจเอกชนในราคาต้นทุน และโครงการสนับสนุนการเรียนรู้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนให้แก่เด็กและเยาวชน โดยปัจจุบันนี้ Trash Hero ได้ขยายทีมอาสาสมัครไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลก โดย ณ เวลานี้ ประเทศไทยมีกลุ่ม Trash Hero กระจายอยู่มากกว่า 30 พื้นที่ และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ 

อาร์มเล่าให้เราฟังถึงจุดเริ่มต้นของทีม Trash Hero จังหวัดปัตตานี ว่าก่อนที่จะเริ่มก่อตั้ง ‘Trash Hero Pattani’ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรเพื่อสร้างแรงจูงใจเรื่องขยะด้วยการลงมือทำ เขาได้ก่อตั้งแบรนด์รองเท้า ‘ทะเลจร’ ขึ้นมาก่อน โดยทะเลจรนั้นมีจุดมุ่งหมายคือการเพิ่มมูลค่าจากขยะในทะเลและช่วยกระจายรายได้สู่ชุมชน กระทั่งอาร์มได้ติดต่อทีม Trash Hero หลีเป๊ะ เพื่อขอขยะสำหรับนำมาทำรองเท้า และพบว่าขยะที่ได้มาสามารถผลิตรองเท้าได้มากถึง 8,000 กิโลกรัม หรือคิดเป็นรองเท้า 100,000 ข้าง 

อาร์มตระหนักได้ว่าปัญหาขยะในทะเลนั้นมีเยอะขึ้นทุกวัน เขาจึงติดต่อกลุ่ม Trash Hero Thailand เพื่อขอจัดตั้งทีมอาสาสมัครในจังหวัดปัตตานี ด้วยหวังว่าการจัดตั้งกลุ่มอาสาสมัครกลุ่มนี้จะช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลง ทั้งในแง่ของสภาพแวดล้อมและความเข้าใจในปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่ ณ เวลานั้น Trash Hero Thailand ยังไม่มีแผนที่จะขยายทีม อาร์มจึงเริ่มต้นด้วยการเก็บขยะกับครอบครัวก่อน

“เราตระหนักได้ว่ามันมีปัญหาเยอะ ก็เลยคุยกันว่าอยากลองเก็บขยะ แล้วก็ติดต่อ Trash Hero ไปว่าเราอยากทำบ้าง แต่ว่าตอนนั้นเขายังไม่ขยายทีม เราก็เลยทำเองเล่น ๆ กับลูก ไปสนามเด็กเล่นก็ไปเก็บขยะ ชวนลูกเก็บด้วย แล้วก็รู้สึกว่ามันไม่ได้ยากนี่นา เราก็รู้สึกดีด้วย เราได้เก็บไม้เสียบลูกชิ้นที่อยู่ในสนามเด็กเล่นแล้วก็เริ่มสังเกตเห็นว่าอันตรายในสนามเด็กเล่นก็มีอยู่เยอะ ตอนทำทะเลจรลูก ๆ ยังไม่ค่อยรู้เพราะมันอยู่ในมหาวิทยาลัย แต่พอจะมาทำ Trash Hero เขาจะเริ่มสังเกตว่าพ่อพาลูกไปสนามเด็กเล่นทุกเย็น แล้วเราก็จะถือถุงไปด้วยใบนึง ไปเก็บขยะนิด ๆ หน่อย ๆ ไหน ๆ ก็ไม่มีอะไรทำอยู่แล้ว (หัวเราะ) ลูก ๆ เขาก็จะเห็นอะไรแบบนั้น”

“พอเราทำทะเลจรแล้วได้รองเท้าจริง ๆ ก็ได้คุยกับ Trash Hero แล้วเขาก็บอกว่าตอนนี้เขามีวิธีการที่จะขยายทีมแล้วนะ เราก็เลยคุยกันในครอบครัวว่ามันมีแบบนี้นะ เอาไหม ตอนนั้นเราก็ไม่ได้คิดอะไรมาก เก็บขยะอาทิตย์ละครั้งก็ไม่เลว ได้ไปทะเลอาทิตย์ละครั้ง เราก็อยากจะพาลูกไปทะเล ช่วงแรก ๆ พอเอาเข้าจริงมันก็ไม่ได้ง่าย ก็มีบ้างที่รู้สึกเหนื่อย แต่พอผ่านไปสักพัก เรารู้สึกว่ามันเริ่มเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา มันก็ไม่ได้ยาก” 

เมื่อ 6 ปีก่อน หลังจากที่กลุ่ม Trash Hero Thailand ตอบรับคำขอของอาร์มในการจัดตั้งทีมอาสาสมัครประจำจังหวัดปัตตานีขึ้นมา กลุ่ม Trash Hero Pattani ก็ได้จัดกิจกรรมเดินทางไปเก็บขยะที่หาดรูสะมิแลทุกสัปดาห์ และในแต่ละสัปดาห์จะได้ขยะกลับมากว่า 100 กิโลกรัม ลี่บอกว่าขยะที่เก็บได้ในตอนนั้นเป็นขยะเร่ร่อนหรือขยะที่ผู้คนเอามาทิ้งโดยเจตนา ร้านอาหารต่างรวบรวมขยะเพื่อเอามาทิ้งที่ริมทะเล ซุกไว้ในบริเวณที่ไม่ค่อยมีคนเข้าถึง แต่เมื่อ Trash Hero เริ่มเข้าไปเก็บขยะบริเวณพื้นที่นั้นเป็นประจำ ร้านอาหารต่าง ๆ ก็ล้มเลิกการเอาขยะมาทิ้งไว้ที่ริมทะเล กระทั่งหน่วยงานภาครัฐเอง ก็ยังมีการตอบสนองเล็ก ๆ น้อย ๆ ต่อกิจกรรมนี้ด้วย 

“ถ้าถามว่ารัฐหรือจังหวัดเข้ามามีส่วนร่วมบ้างไหม ก็มีครับ งานเขาก็เป็นงานเชิงอีเวนต์ เมื่อไหร่ที่มีอีเวนต์เขาก็ติดต่อเข้ามาบ้าง เชิญเราบ้าง แต่ก็ยังไม่ได้มีงานที่เป็นเชิงนโยบายมากนัก แต่ถ้าจะบอกว่ายังไม่มีเลยก็ไม่เชิง เขาก็มีความพยายามที่จะปรับปรุงมากขึ้น สมมติว่าเราโฟกัสแค่ตรงพื้นที่นั้นพื้นที่เดียว ในตอนที่เริ่มต้นคือพื้นที่นั้นยังไม่มีรถขยะเข้ามาเลย เราก็ต้องขอบริจาคถังขยะมาไว้ในพื้นที่ แล้วก็ค่อยโทรเรียกรถขยะมาเรื่อย ๆ ทุกสัปดาห์ จนกระทั่งตอนนี้มีรถขยะเข้ามาวิ่งเป็นประจำ มีถังขยะของเทศบาล เราก็เห็นว่าอย่างน้อยก็มีระบบการจัดเก็บขยะที่ดีขึ้น”

ลี่บอกกับเราว่าการได้ทำกิจกรรมเก็บขยะไม่เพียงแต่เป็นผลดีกับสภาพแวดล้อมธรรมชาติบริเวณชายหาดและทะเลเท่านั้น แต่การร่วมเก็บขยะกับ Trash Hero ยังช่วยเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคของเธอ เพราะมันทำให้เธอคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และตัวเธอเองก็พยายามสร้างขยะให้น้อยลง ในขณะที่อาร์มบอกว่าพื้นที่ตรงนี้เปรียบเสมือน ‘พื้นที่ทางเลือก’ ที่หยิบยื่นโอกาสในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่สมาชิกที่มาเข้าร่วม ซึ่งความเปลี่ยนแปลงนั้นจะเกิดขึ้นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าผู้ที่มาเข้าร่วมจะคว้าโอกาสในการเป็นผู้พิชิตนั้นไว้หรือเปล่า 

“Trash Hero มันเป็นพื้นที่ที่ทำให้ทุกคนได้มาปรับพฤติกรรม เป็นพื้นที่ที่ทำให้ทุกคนได้มาพิจารณา เป็นพื้นที่ที่สร้างโอกาสให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่จะเปลี่ยนหรือเปล่าก็เป็นทางเลือกของเขา”

“เราคิดว่ามันคล้าย ๆ กับการสวดมนต์ การปฏิบัติธรรมมันก็คงไม่ได้ทำให้คนเป็นคนดี แต่มันทำให้คนได้คิดเรื่อย ๆ ได้มีความพยายามเกิดขึ้น ซึ่งจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับบุคคลอีกทีหนึ่ง เหมือนกับเราชวนคนมาปฏิบัติธรรม มาพิจารณา มาสร้างโอกาสว่าเราทำอะไรได้บ้าง เปลี่ยนแปลงอะไรได้บ้าง เรามองแบบนี้มากกว่า” อาร์มอธิบาย

“เรามองว่าตอนนี้มันกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราไปแล้ว เราก็อยากให้มันถึงจุดนั้นนะ จุดที่มันกลายเป็นไลฟ์สไตล์ของทุกคน พกถุงผ้า พกขวดไป โดยที่เราไม่รู้สึกฝืนที่จะทำ” ลี่กล่าวเสริม

“ถ้าจะบอกว่าเป้าหมายของเราไม่ใช่การทำเพื่อให้ขยะหมด ก็ไม่เชิง เพราะเราก็ต้องการเก็บขยะให้มันหมดไป แต่ว่ามันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว เราทำไปโดยที่รู้ว่ามันไม่มีวันหมด มันต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้คน แต่เราก็โฟกัสที่ before กับ after ด้วย หรือบางทีก็โฟกัสพื้นที่ว่าวันนี้เก็บมุมนี้ บางทีมีกองขยะกองใหญ่ที่เราอยากให้มันหายไป เราก็ต้องเก็บเป็นเดือน ๆ กว่าจะหมด เพราะคนเอามาถม ๆ กันไว้ มันก็เป็นโจทย์อันหนึ่งที่แก้เบื่อได้ เหมือนเราได้มี solution” อาร์มอธิบายถึงเป้าหมายในการเก็บขยะของ Trash Hero ที่เป็นมากกว่าการทำความสะอาดชายหาดและทะเล 

“WE CLEAN, WE EDUCATE, WE CHANGE. การ clean ของเรามันไม่ใช่แค่การ clean เพื่อให้ชายหาดสะอาด แต่เพื่อให้ใจเราสะอาดด้วย”

ผู้พิชิตการเรียนรู้

บทบาทการเป็น ‘คุณพ่อลูกสาม’ คืออีกหนึ่งบทบาทของอาร์มที่เขาทุ่มเทเวลาและความตั้งใจ ส่งมอบโอกาสให้ลูก ๆ ได้เป็น ‘ผู้พิชิตการเรียนรู้’ ด้วยวิธีการเรียนที่บ้าน หรือ ‘โฮมสคูล’ เพื่อเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ สัมผัสกับประสบการณ์ที่หลากหลาย โดยมีหมุดหมายสำคัญคือการหยิบยื่นทักษะ ต่าง ๆ ให้ลูก ๆ ได้นำไปต่อยอดและพัฒนาในมุมมองของตัวเขาเอง

เหตุผลที่อาร์มเลือกที่จะให้ลูก ๆ ทั้งสามเรียนในรูปแบบโฮมสคูล เป็นเพราะเขาอยากใช้เวลาอยู่กับลูกให้มากที่สุด อาร์มและลี่จึงตัดสินใจทดลองให้ลูกทั้งสามคน เซน ซาช่า และฮารุ ได้สวมบทบาท ‘เด็กบ้านเรียน’ ตั้งแต่ชั้นบริบาล และเลือกใช้การเรียนรู้แบบ ‘Unschooling’ เพื่อให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ในสิ่งที่สนใจ

“ในช่วงพ่อแม่ยุคเรา ๆ เนี่ย คำว่าโฮมสคูลมันเป็นทางเลือกที่หลายบ้านสนใจ ผมว่าทุก ๆ บ้านก็คงคิดเหมือนกันแหละ เพียงแต่ว่าบ้านผมทดลองไปเรื่อย ๆ ตั้งแต่ยังไม่ส่งลูกไปบริบาล ไม่ส่งลูกไปอนุบาล แล้วเราก็รู้สึกว่าเหมือนมันจะพอไปไหว หลัก ๆ คือเรารู้สึกว่าเราอยากจะอยู่กับลูกเยอะ ๆ แค่นั้นเอง พอรู้สึกว่ามันทำได้ เราก็เริ่มไปค้นหาว่าจริง ๆ แล้วโฮมสคูลมันคืออะไร ทำยังไง มีกระบวนการยังไงบ้าง”

“เราเริ่มโฮมสคูลตั้งแต่มีเซนเลย พอดีเซนมีแฝด แล้วแฝดเขาเสีย เราก็รู้สึกว่าเวลามันน้อย ถ้าเกิดว่าเราได้เลี้ยงลูกเองเยอะ ๆ มันก็คงจะดี ก็เลยหาว่าโฮมสคูลเป็นยังไง เราทำได้ไหม แรก ๆ มันก็เหมือนเลี้ยงลูกแหละ ลูกคนแรกก็มั่วไปมั่วมา ก็ลองผิดลองถูกกันไปเรื่อย ๆ พอเราต้องสอนโฮมสคูลในช่วงอนุบาลก็รู้สึกว่าด้วยหลักการแล้วมันก็ไม่ต้องทำอะไรนี่หว่า ก็เล่นกับลูกไป ก็ดูว่ามันมีความเป็นไปได้ ก็เลยตัดสินใจว่าถ้างั้นเราจะลองโฮมสคูลให้เขาตอน ป.1 เพราะถึงตอนนั้นก็เริ่มค้นคว้าศึกษาจริงจังแล้ว แล้วกระบวนการอื่น ๆ มันก็ตามมาว่าเราจะสอนยังไง มีเนื้อหายังไง” 

“เราเลือกที่จะทำสิ่งที่เรียกว่า Unschooling เราอยากให้มันเกิดขึ้นกับลูก เราเชื่อว่าคนเราเกิดมาก็ต้องพยายามเรียนรู้ทุกสิ่งทุกอย่างผ่านประสบการณ์ มนุษย์ต้องการเรียนรู้ แล้วเราก็เรียนรู้จากการใช้ชีวิต จากประสบการณ์ จากสิ่งที่พบเจอ Unschooling มีความเชื่อแบบนั้น”

“เราก็เลยรู้สึกว่าถ้าอย่างนั้นเราอาจจะไม่ต้องสอน แต่เลือกที่จะให้โอกาสเขาได้มีประสบการณ์ที่หลากหลาย ให้เขาได้เรียนรู้ด้วยตัวเองก็คงจะดีกว่า เราก็ต้องมาคิดแล้วว่าประสบการณ์หลากหลายที่ว่านี้ต้องมีอะไรบ้าง แล้วที่เราบอกว่าชีวิตของเรานั้นต้องการที่จะอยู่กับลูก เรามีครบหรือยัง มีความพร้อมหรือยัง เพราะระบบที่เราคุ้นเคยคือการที่โรงเรียนเป็นสถานที่ที่จะคอยสอนและให้ความรู้ลูก ระบบมันออกแบบมาให้เป็นแบบนั้น ทีนี้ถ้าเราจะ unschool เพื่อให้ลูกได้พบเจอกับความหลากหลาย เราก็ต้องคิดเยอะขึ้นมาหน่อยว่าทำอย่างไรถึงจะได้ประสบการณ์ให้ลูกแบบที่เรารู้สึกว่ามันเพอร์เฟกต์ มีความหลากหลายในแบบที่เราอยากให้มันเป็น” 

“เราพยายามทำตัวให้เป็นมือใหม่ในการเลี้ยงลูกตลอดเวลา เพราะว่ามันไม่มีอะไรผิดอะไรถูก เรารู้สึกว่า way ของเราเป็นอย่างนี้ ถ้าเราจะใช้ความรู้สึกในการเลี้ยงลูก เราก็ต้องทำตัวให้ยืดหยุ่นกับลูกก่อน อ่อนน้อมถ่อมตนกับลูกก่อน คุยกับลูกก่อน”

“ถ้าเราอยากให้มีการเรียนรู้ในเรื่องราวบางประเด็น เราก็ต้องพยายามสร้างสถานการณ์ที่มันจำเป็นขึ้นมา อย่างเวลาออกแบบหลักสูตรก็ต้องคิดก่อนว่า perfect life มันคืออะไร ถ้าเป็นยุคผม perfect life คือการมี work-life balance สิ่งนี้มันเป็นตัวตั้งที่ว่า โอเค ผมอยากให้ลูกรู้ว่าเราทำงานบางช่วง แล้วเราก็ใช้ชีวิตบางช่วง เราอยากแบ่งตรงนี้ให้ชัดเจน หรืออย่างใน generation ของเขาก็มีเรื่องของสิ่งแวดล้อมที่เด็ก ๆ อินมาก เราก็ต้องวางพื้นฐานของตรงนี้ไว้ให้ว่าในรุ่นของพ่อแม่เองก็มีพื้นที่ มีการกระทำ มีสิ่งที่เราต้องเข้าใจ เราค่อย ๆ ร่างสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา แล้วก็ค่อย ๆ เปลี่ยนชีวิตให้อยู่ในรูปแบบที่เรารู้สึกว่าเพอร์เฟกต์เพื่อให้เขาเห็นเป็นตัวอย่าง”

“บางทีเราคุยกับลูก เขาก็จะถอดบทเรียนจากเรื่องราวเก่า ๆ ที่เคยเจอ เราไม่ได้สอนนะ เราแค่พาไปแล้วเขาก็เก็บเกี่ยวอะไรบางอย่าง ผมไม่ได้มีการสรุปบทเรียนใด ๆ ให้กับลูก เพราะแต่ละคนจะตีความประสบการณ์ไม่เหมือนกัน เราก็เลยไม่สรุป เขาอยากเข้าใจแบบไหนก็ขึ้นอยู่กับความรู้ที่มี ณ เวลานั้น”

สิ่งที่ทำให้อาร์มรู้สึกได้ว่าการทำ Unschooling นั้นประสบความสำเร็จ คือการที่ลูก ๆ เก็บเอาประสบการณ์ต่าง ๆ ที่ได้ไปสัมผัสและเผชิญมาตั้งคำถาม พูดคุยและตีความได้อย่างเหมาะสม แม้อาจไม่ได้ถูกต้องตรงตามความเป็นจริงร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่อย่างน้อยอาร์มก็มั่นใจได้ว่าการพาลูก ๆ ออกไปเปิดหูเปิดตาเพื่อสัมผัสประสบการณ์ใหม่ ๆ นั้นทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ขึ้นจริง ๆ จากนั้นจึงค่อย ๆ พาเด็ก ๆ พูดคุยต่อยอดจากประเด็นเหล่านั้นต่อไป 

“ถ้าเขาสนใจเรื่องสงครามโลก พอมีโอกาสได้ไปญี่ปุ่นเราก็ไปฮิโรชิม่า ไปเดินดูความเป็นมา พาเขาไปเห็น ไปเรียนรู้ เหมือนกับค่อย ๆ เติมเนื้อหาไปเรื่อย ๆ ในแง่ของประวัติศาสตร์ ในแง่ของจิตวิทยาว่าทำไมถึงเกิดสงคราม ซึ่งเขาก็จะมีความคิดเห็นในส่วนของเขาอยู่ ช่วงนี้เราก็เล่นเกม Civilization ทั้งรูปแบบบอร์ดเกมและรูปแบบ PC ซึ่งก็ได้ประเด็นมาถกกันเรื่อย ๆ เช่น มนุษย์ควรจะอยู่กันแบบไหน มีแต่ความสงบสุขได้ไหม หรือถ้ามีสงครามเกิดขึ้นจะเป็นยังไง ทำไมมนุษย์ต้องมีสงครามกันอยู่เรื่อย คือมันก็เป็นกระบวนการเรียนรู้ แต่เราก็คุยกันในลักษณะที่ทำยังไงถึงจะเล่นเกมแล้วชนะด้วย คือมันก็มีส่วนที่เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์จริง เชื่อมโยงกับวัฒนธรรม แล้วมันก็จะมีเรื่องของการเรียนรู้เพิ่มเติมอีก”

อาร์มใช้วิธีการสอดแทรกบทเรียนลงไปในเหตุการณ์หรือเรื่องราวในชีวิตประจำวัน โดยมุ่งไปที่เนื้อหาสำคัญแบบไม่มีพื้นฐานบทเรียนอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง เพื่อที่ลูกจะได้เข้าใจถึงหลักการของบทเรียนนั้นอย่างชัดเจน เช่น เมื่อปีนต้นไม้และต้องการวัดระยะความสูง บทเรียนที่อาร์มเลือกสอนคือพีทาโกรัส เขาจะสอนลูกถึงวิธีการวัดและการใช้เครื่องมือต่าง ๆ เพื่อที่ลูกจะได้ทราบถึงที่มาของผลลัพธ์ และในขณะเดียวกันก็ยังได้หัดใช้เครื่องมือในปัจจุบันซึ่งนำมาใช้ประโยชน์ได้จริง 

“พอเราทำโฮมสคูล เราก็อยากให้เขามีทักษะบางอย่างที่เขาสนใจจริง ๆ มันก็อาจจะช่วยให้เขาใช้ชีวิตได้ ใน generation เขา traditional school และวิธีการเดิม ๆ มันอาจจะไม่เวิร์ก วิธีการใหม่ ๆ มันอาจจะพอไปได้ แล้วการได้มาซึ่งวิธีการใหม่ ๆ และการใช้ชีวิตก่อนหน้านั้นมันก็คุ้ม คุ้มที่เราจะได้มีโอกาสได้เดินทาง ได้ลงมือทำ ได้ขวนขวายหาประสบการณ์หลาย ๆ อย่าง สุดท้ายแล้วมันก็ไม่ได้มีข้อเสียมากมาย เราก็มีความสุข”

ผู้พิชิตชีวิตในฝัน

อาร์มมีภาพชีวิตอันสมบูรณ์แบบที่เขาออกแบบไว้ และวาดฝันให้ลูกทั้งสามคนมีชีวิตที่ดีในแบบของตัวเอง เมื่อมีภาพทุกอย่างในหัว การลงมือพิชิตชีวิตที่สมบูรณ์และการพาลูก ๆ พิชิตชีวิตในโลกอนาคตที่เด็ก ๆ ต้องเติบโตไป จึงเป็นอีกภารกิจใหญ่ที่พ่ออาร์มอยากพาลูก ๆ พิชิตให้สำเร็จ โดยมีวิธีการคือเริ่มตั้งเป้าหมายและทำเป้าหมายนั้นให้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต อีกทั้งยังให้ Trash Hero ได้เข้ามามีบทบาทในครอบครัวเพื่อเป็นพื้นที่ในการเรียนรู้ให้กับเด็ก ๆ

“เราก็มีชีวิตในฝันที่เราอยากให้เป็นแบบนั้น ในขณะเดียวกันมันก็มีอะไรบางอย่างที่เป็นเรื่องราวของ generation เขา เช่น Metaverse เรื่องสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี โทรศัพท์มือถือทั้งหลาย ผมก็ไม่ได้ไปกีดกันออกจากชีวิตเขา ก็พยายามจะจัดให้ชีวิตเขาได้มีประสบการณ์ แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องที่ผมจะยัดเยียดอย่างเดียว เราแค่เอื้อให้เขาได้โตในสิ่งแวดล้อมที่เขาจะไม่รู้สึกแปลกแยกด้วย แต่ในขณะเดียวกันเราก็มอง environment นั้นว่าเขาจะเรียนรู้อะไร แล้วมันจะมีกระบวนการอะไรที่เตรียมพร้อมสำหรับอนาคตไหม คือมันก็เสี่ยง เพราะเราไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้วมันเวิร์คหรือไม่เวิร์ค”

“ในช่วงนี้เด็ก ๆ เริ่มโตขึ้น เราก็เลยจัดวันพิเศษให้แต่ละคนทุกสัปดาห์ เพราะว่าความแตกต่างมันเริ่มกว้างทั้งเรื่องอายุ ความสนใจ แต่ละคนก็จะมีวันพิเศษของทุกคน ปีนี้ผมหัดให้เขาใช้ planner ดังนั้นผมจะรู้ว่าเป้าหมายประจำปีของแต่ละคนเป็นอะไร”

การเรียนรู้ของเด็ก ๆ ยังคงดำเนินต่อไปโดยยึดการเรียนรู้จากประสบการณ์เป็นหลัก เราจึงตั้งคำถามถึงเมื่อครั้งที่ Trash Hero ได้ก้าวเข้ามามีบทบาทในชีวิตของครอบครัวนิธิอุทัยว่าการก้าวเข้ามาในครั้งนั้นมอบอะไรให้กับครอบครัว ซึ่งพ่ออาร์มบอกกับเราว่านอกจาก Trash Hero จะเป็นโอกาสในสร้างการเรียนรู้ให้ลูก ๆ อีกรูปแบบหนึ่ง Trash Hero ยังเป็นพื้นที่แห่งความทรงจำซึ่งกักเก็บเรื่องราวและช่วงเวลาที่ครอบครัวได้ใช้ร่วมกันอีกด้วย

“เราพยายามที่จะสร้างชีวิตให้มันสมดุล ซึ่งก่อนจะมี Trash Hero เราก็ทำงานเกี่ยวกับเรื่อง recycle และ upcycling แนวนี้อยู่แล้ว พอ Trash Hero ผ่านมาก็เลยเป็นโอกาสที่เราจะก่อตั้งองค์กรแบบนี้ในพื้นที่ได้ แล้วก็เป็นกิจกรรมต่อเนื่องที่ดูไม่ยากมาก แถมยังเป็นแพลตฟอร์มให้ลูกเราได้เรียนรู้ ก็เลยรู้สึกว่าเป็นโอกาสที่เราควรจะเริ่ม พอวันแรกเราก็เริ่มไปเก็บเลย เด็ก ๆ เขาก็จะจำได้ว่าเขาเก็บอะไร เก็บที่ไหน ได้ไปกินไอติมฟรี มันมีเรื่องราวที่ได้ใช้เวลาร่วมกัน และเขาก็จำได้หมดเลย” 

“อย่างที่บอกว่าพอเราพยายามจะสร้างชีวิต เราก็ต้องพยายามลงมือทำให้มันเป็นชีวิตจริง ๆ ด้วยความที่อยากให้มันเป็นแบบนั้น Trash Hero ของปัตตานีก็โตมาเป็นแบบนั้นด้วย คือเราก็ไม่ได้ไปบังคับว่าเด็ก ๆ ต้องมาเก็บนะ ต้องช่วยกันเก็บ บางวันเขาไปแล้วไม่มีเพื่อนก็จะขี้เกียจหน่อย ก็ไม่เป็นไร บางทีเราก็ขอให้เขาช่วยหยิบนู่นยกนี่ ทุกเช้าวันเสาร์เราก็ไปแบบนี้ ไปดูพระอาทิตย์สักพักนึง ไปกินโรตีกัน เราใช้ชีวิตแบบนี้ มันกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราไปแล้ว”

Trash Hero จึงกลายมาเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของบทเรียนที่เชื่อมโยงกับชีวิตในฝันของอาร์ม ชีวิตที่ได้ใช้เวลาในการทำงานและได้ใช้เวลาไปพร้อมกับครอบครัวอย่างสมดุล ชีวิตที่ได้พาลูก ๆ เก็บเกี่ยวประสบการณ์และการเรียนรู้ ชีวิตที่ได้อยู่กับลูกเหมือนอย่างที่ตั้งใจเอาไว้ และชีวิตที่ได้ลงมือทำสิ่งที่ตั้งเป้าหมายให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

รายวิชาในชีวิตที่ผู้พิชิตได้เรียนรู้จากประสบการณ์

เซน ซาช่า และฮารุ เติบโตมากับสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่มีอิสระ มีพื้นที่ในการออกไปขวนขวายหาประสบการณ์ นี่คือสิ่งที่อาร์มหยิบยื่นให้ลูก ๆ มาตลอด เด็ก ๆ ต่างคุ้นเคยกับการใช้ชีวิตในพื้นที่ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม การเก็บขยะกลายเป็นกิจวัตรที่พวกเขาได้ลงมือทำอย่างสม่ำเสมอ เพราะพ่ออาร์มปลูกฝังให้พวกเขารับรู้ว่าสิ่งเหล่านี้คือ ‘หน้าที่’ ที่ทุกคนต้องรับผิดชอบร่วมกัน เรียกได้ว่าเด็ก ๆ แทบจะเติบโตมาพร้อมกับกลุ่ม Trash Hero Pattani ในขณะที่คนเป็นพ่อแม่อย่างอาร์มและลี่ก็ได้ใช้พื้นที่ตรงนี้เปลี่ยนแปลงตัวเองและตระหนักรู้ถึงปัญหาต่าง ๆ ไปพร้อมกัน 

“เด็ก ๆ เขาโตมาแบบนี้เลย การเปลี่ยนแปลงมันอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นกับลูก เพราะเขาถูก shape มาเป็นแบบนี้อยู่แล้ว เขาอาจจะยังไม่รู้ว่าคนอื่นเป็นอย่างไร แต่สำหรับตัวเราเองมันเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ เรามี awareness เรื่อย ๆ ซึ่งเราก็ต้องหาจุดสมดุลของตัวเอง จริง ๆ แล้วเราก็ไม่ได้เคร่งครัดหรือเคร่งเครียดกับตัวเองมากเกินไป เราทำตามสะดวก เราอยากทำให้มันง่าย เพราะถ้ามันยากเราจะทำได้ไม่นาน เราก็เลยพยายามสร้างระบบขึ้นมา ทำให้รู้สึกว่าไม่ได้ยากจนเกินไป” 

“เราก็ไม่ได้บังคับลูกว่าจะต้องอย่างนู้นอย่างนี้ เพียงแต่เราต้องจัดการเรื่องแยกขยะ บางทีผมก็ไม่ได้สอนแต่ใช้วิธีไหว้วานให้ลูกไปทิ้ง เขาก็จะรู้เองว่าขยะแบบนี้ต้องทิ้งที่ไหน เราจะบอกว่าลูกมีหน้าที่บางอย่าง เรามีกิจวัตรบางอย่าง เพราะฉะนั้นพอถึงเวลาที่ต้องทำกิจวัตรนั้นเราก็ทำตามด้วยกัน แล้วเขาก็ต้องหาเวลาทำส่วนที่เป็นหน้าที่ของเขาด้วย ไม่ได้เป็นเชิงกฎกติกาหรือว่าข้อบังคับ เพียงแต่เราอยากให้เขารู้สึกว่ามันเป็นบริบท เป็นหน้าที่ เพราะทุกคนต้องมีหน้าที่ เราไม่อยากไปบอกว่านี่เป็นสิ่งที่เขาต้องทำเพราะว่าถูกบังคับ” 

เมื่อถามถึงคุณค่าจากการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ที่อาร์มอยากจะส่งต่อให้ลูก ๆ ว่าเขามีนิยามของคำว่า ‘คุณค่า’ นั้นอย่างไร อาร์มรีบบอกกับเราว่าเขาไม่ได้ยึดคุณค่าที่ชัดเจนที่อยากจะส่งต่อให้ลูกว่าต้องมีอะไรบ้าง เพียงแต่ทำการจัดลำดับความสำคัญไว้ว่าสิ่งที่ลูก ๆ จะได้จากการเรียนโฮมสคูลนั้นต้องมีคุณค่าของ ‘ครอบครัว’ ประกอบอยู่ด้วย

“ผมตั้งใจเอาไว้ว่าสิ่งที่ผมจะให้เขาได้จากการทำโฮมสคูลนั่นคือต้องมีคุณค่าของครอบครัว เรารู้ว่าคนคนนี้เป็นลูกของเรา เรารู้ว่าลูกจะมีมุมมองในภาพใหญ่ ๆ ต่อสิ่งต่าง ๆ เป็นประมาณไหน แล้วค่อยมีเรื่องราวของทักษะทั้งหลายและความรู้ เราอยากจะให้มันเกิดแบบนี้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราเอามาหล่อหลอมให้อยู่ด้วยกันมันก็มีเรื่องราวของครอบครัว” 

“เวลาสอนเรื่องสงครามเราก็จะแฝงว่าเราไม่ชอบให้ทะเลาะกัน บ้านผมไม่อนุญาตให้ทะเลาะกันเลย ใช้คำว่าไม่อนุญาตเลย คุณต้องพูดคุยกันอย่างสันติด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง อันนี้ก็เป็นคุณค่าที่เราไม่อนุญาตให้ทะเลาะกัน คือถ้าโมโหก็โกรธได้แต่เราไม่ต้องทะเลาะกัน ห้ามหาความสุขด้วยการแกล้งคนอื่น เราอยากให้เป็นแบบนี้ ส่วนคุณค่าที่เราอยากให้เขารู้คือความรู้มีอยู่ทั่วไป อยากรู้เรื่องไหนต้องไปค้นเอาเอง เราสอนเขาเป็นปรัชญาหน่อย เราอยากให้เขาไปเก็บเกี่ยวในลักษณะแบบนี้” 

“ท้ายที่สุดระบบในครอบครัวมันเปลี่ยนไปตั้งแต่เราตัดสินใจว่าจะทำโฮมสคูล เพราะเราไปบังคับว่าจะต้องมีงานบ้าง มีเที่ยวบ้าง ทะเลจรกับ Trash Hero ก็เหมือนเป็นอีกกิจกรรมที่เราได้ลงมือทำ เราก็ไม่ได้รู้สึกว่ามีอะไรในครอบครัวเปลี่ยนไป เพราะการเปลี่ยนแปลงมันเกิดขึ้นตั้งแต่แรกแล้ว Trash Hero ก็เป็นเหมือนอีกหนึ่งรายวิชา แต่รายวิชานี้จะคงอยู่ไปเรื่อย ๆ เพราะมันกลายเป็นชีวิตของเราแล้ว”


Writer

Avatar photo

ณัฐนรี บัวขม

มีชีวิตอยู่เพื่อดูคลิปตลก คีบตุ๊กตา และเดินหาร้านอร่อยในย่านบรรทัดทอง

Photographer

Avatar photo

ฉัตรมงคล รักราช

ช่างภาพ และนักหัดเขียน

Illustrator

Avatar photo

ธีรภัทร์ เศาธยะนันท์

ชอบกินลาเต้เย็น

Related Posts