‘แว่นอันแรกในชีวิต’ ที่มาเร็วกว่ากำหนดเพราะเรียนออนไลน์

  • คุยกับร้านแว่นในวันที่เด็กหลายคนต้องตัดแว่นอันแรกในชีวิตเร็วกว่ากำหนด แต่ทั้งหมดควรผ่านการวัดค่าสายตาจริงจากจักษุแพทย์ก่อน
  • เด็กไม่ใช่ผู้ใหญ่ตัวเล็ก ดังนั้นแว่นจึงไม่ใช่เอาของผู้ใหญ่มาย่อส่วน แต่มีรายละเอียดยิบย่อยที่ต้องให้ความสำคัญ
  • แว่นเด็กควรลงทุนไหม แพงหรือเปล่า บทสัมภาษณ์นี้มีคำตอบ

“มีเด็กๆ มาพอสมควรเลยครับ ร้านแว่นในห้างปิดเลยต้องมาที่ร้านนอกห้างกัน” ‘บอม’ รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์ ร้านแว่นตาอายราวัณ​ วิชั่น อธิบายผลประกอบการช่วงนี้ 

บอม’ รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์

อีกสถานะหนึ่งคือคุณพ่อของลูกตัวเล็กวัยสองขวบ ที่แม้ยังไม่ถึงวัยเรียนออนไลน์ แต่ก็รับรู้ว่าการยกห้องเรียนมาไว้ที่บ้าน สร้างงานหนักไม่น้อยให้ดวงตาของเจ้าตัวเล็ก

ส่วนการเรียนออนไลน์ทำให้เด็กๆ มาตัดแว่นมากขึ้นไหม บอมยังแบ่งรับแบ่งสู้ แต่ก็เห็นไปในทางเดียวกับ พ.อ.นพ.ยุทธพงษ์ อิ่มสุวรรณ เลขาธิการราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทยและจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจักษุวิทยาเด็ก (บทสัมภาษณ์ https://fkwp.mappamedia.co/ophthalmologist-child-interview/) ว่า ถ้าเด็กมีปัญหาเรื่องสายตา คนแรกที่ควรไปหาคือจักษุแพทย์ ไม่ใช่ร้านแว่น 

“เด็กที่มาบางคน เขามองใกล้เป็นระยะเวลานานแล้วมีอาการน้ำตาไหล คัน ตรงนั้นไม่เกี่ยวกับสายตา แต่เป็นปัญหาจากการมองหน้าจอ เครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์เป็นเวลานานๆ ทำให้ลืมกะพริบตาไม่รู้ตัว การลืมกะพริบตาจะทำให้เราตาแห้งและตาอักเสบง่าย เพราะปกติการกะพริบตาทำให้น้ำตามาเคลือบตา น้ำตามีส่วนสำคัญมากที่ทำให้เรามองเห็นภาพชัดแล้วก็ไม่ระคายเคือง การจ้องจอนานๆ ทำให้กลไกตรงนี้มันหายไป ทำให้มีโอกาสอักเสบง่ายกว่า” 

และการตัดแว่นด้วยอาการตาล้า การวัดค่าสายตาจึงมีโอกาสผิดเพี้ยนได้สูงเพราะเป็นไปได้ว่ากลไก ‘การเพ่ง’ ของตายังค้างไว้อยู่  

ผลที่เกิดขึ้นอย่างน้อยมีสองอย่าง

1.สายตาสั้นเทียม

2.แว่นอันแรกที่มาพร้อมกับค่าสายตาที่ผิดๆ 

แว่นอันแรกจึงควรเริ่มต้นที่จักษุแพทย์ 

แว่นอันแรกสำหรับเด็ก แนะนำให้ไปหาจักษุแพทย์ดีกว่า ด้วยความที่เขาเพ่งได้เยอะมาก บางทีตอนวัดแว่น สายตาจะไม่แน่นอน ถ้าไปพบจักษุแพทย์ แพทย์จะหยอดยาขยายม่านตา ทำให้กลไกการเพ่งหยุดทำงานไป แล้วค่อยวัดสายตาจากตรงนั้น จะได้ค่าสายตาที่เป็นความจริง 

ถ้าเป็นเด็กอายุ 6-7 ขวบที่ทำแว่นอันแรก กลับมาบ้านแล้วยังมัว เราว่ามีปัญหา เพราะว่าแว่นที่ร้านตัดให้เนี่ยอาจจะไม่ตรงกับสายตาที่แท้จริง ตรงนี้น่าห่วงมากกว่า 

ดังนั้นควรจะไปหาจักษุแพทย์เพื่อให้ได้ค่าจริงๆ แล้วค่อยมาตัดแว่น

อันดับแรกควรไปหาจักษุแพทย์ก่อน บางทีไปวัดกับร้านแว่นตา เพิ่งเล่นมือถือเสร็จแล้วไปวัด การเพ่งมันยังค้างอยู่ เป็นอาการที่เรียกว่าสายตาสั้นเทียม คือเขาไม่ได้สายตาสั้นจริงๆ หรอก ทำให้การวัดสายตาต้องใส่แว่นกำลังเยอะกว่าที่ควรจะเป็น จะทำให้เกิดปัญหาระยะยาว 

แว่นอันแรกของเด็กคนหนึ่งมีค่าเฉลี่ยไหมว่าอายุเท่าไร

ไม่มีเลย ด้วยความที่การมองไม่ชัดมันเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล ถ้าเด็กไม่บอก เราก็ไม่รู้ พ่อแม่กับครูต้องคอยสังเกตว่าเด็กมีอาการต้องมองอะไรใกล้ๆ หรือเปล่า ถ้ามองอะไรไกลๆ ต้องหยีตามองหรือเปล่า เวลาอยู่ในห้องเรียนต้องหยีตาเพ่งตา เรียนไม่ทัน จดอะไรไม่ทันเพื่อนหรือเปล่า ต้องให้เด็กเป็นคนบอกเอง เพราะเด็กเขาก็ไม่รู้หรอกว่าสิ่งที่เขาเห็นมันไม่ชัด และเพราะเขาไม่รู้ว่าสิ่งที่ชัดคืออะไร เขาอาจจะแบบทำไมมองไม่ชัดเลย ทั้งๆ ที่เพื่อนคนอื่นยังมองเห็นชัดอยู่ 

แล้วมีเด็กมาตัดแว่นเยอะขึ้นไหม เอาแค่ในมุมของร้าน

เรื่อยๆ  บางทีเหมือนเอฟเฟ็กต์มันหักลบกัน พ่อแม่ไม่อยากพาเด็กมาเพราะกลัวโควิด ยกเว้นว่าเด็กที่มาต้องมีปัญหามากจริงๆ เช่น เริ่มปวดหัว เขาถึงจะพามา อีกอย่างคือถ้าไม่สั้นมากจริงๆ การเรียนกับคอมพิวเตอร์จะไม่มีปัญหาเลย แต่ว่าอาการที่ออกมาจริงๆ จะอยู่ในห้องเรียนมากกว่า เพราะต้องมองอะไรไกลๆ ตรงนั้นจะเห็นอาการง่ายมากมากกว่า ดังนั้นบางทีการที่เขามองอะไรใกล้ๆ อย่างเดียวอาจจะทำให้เขาไม่ได้บอกว่ามองไม่ชัด อาจจะมีอาการตาล้าตามัวจากการใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์มากกว่า อย่างนั้นไปนอนพักแป๊บนึงก็หาย

แว่นเด็กควรลงทุน

ถ้าแนะนำ แว่นของเด็กควรลงทุนเพื่อให้ได้มาตรฐาน เพราะตัวแว่นของเด็กเป็นเรื่องที่หยุมหยิมมาก อย่างแรกตัวทรงกรอบแว่น ควรจะใช้ของเด็ก เพราะไม่อย่างนั้นทั้งตัวแว่นหรือว่าขาจะไม่กระชับ ทำให้เด็กรู้สึกรำคาญ 

สองคือจุดศูนย์กลางของเลนส์ ที่เราเห็นเลนส์ใสๆ เราจะเข้าใจว่าตัวเลนส์จะชัดเท่ากันทุกที่แต่จริงๆไม่ใช่นะครับ ตัวเลนส์จะเหมือนกระจกโค้งที่มีจุดชัดเล็กๆ อยู่ตรงกลาง เวลาจะตัดแว่นเด็กให้ชัดต้องวัดจุดศูนย์กลางตาดำ แล้วเอาไปประกอบให้มันตรง ถ้าไม่ตรงมันจะไม่ช่วย ใส่แว่นก็ยังรู้สึกปวดหัวอยู่ เพราะเขาไม่ได้มองตรงจุดเลนส์ที่ชัดที่สุด พอใส่แล้วมองไม่ชัดหรือไม่สบาย เขาก็จะไม่ใส่ พอไม่ใส่ก็นั่นแหละ เป็นตาขี้เกียจไปเลย

แว่นเด็ก ราคาควรเริ่มต้นที่เท่าไหร่ 

จริงๆ มีหลายราคามากเลยนะ ถ้าพอใช้ได้ ตัวกรอบก็อยู่ที่ไม่ถึง 1,000 บาทครับ ตัวเลนส์ก็ 400-500  สำหรับเด็ก ถ้างบประมาณจำกัดจริงๆ ก็เลือกกรอบที่ทนๆ หน่อยแต่ว่าตัวเลนส์มันก็ราคาไม่สูงมาก ต่ำที่สุดเท่าที่จะต่ำได้เลย เพราะเด็กเขาจะไม่ค่อยรักษาของ ดังนั้นมีโอกาสสูงมากที่เลนส์จะเป็นรอยอย่างรวดเร็ว 

สองคือช่วงที่อายุประมาณ 7-8 ปี หรือ 13-14 ปี สายตาเปลี่ยนเร็วมาก 6 เดือนถึง 1 ปี นี่ต้องเปลี่ยนแล้ว เลนส์ก็เลยไม่จำเป็นต้องตัดแพงมาก แต่ถ้าเอาจริงๆ มันก็ไม่ได้แพงเวอร์ขนาดนั้น ถ้าแว่นใช้ได้ปีนึง ราคา 1,200-1,500 ก็ตกเดือนละ 100 บาทเท่านั้น แต่สิ่งที่ได้กลับมาคือเขาได้มองเห็นชัดมากกว่า 

และอีกคำถามที่เจอบ่อยๆ คือ ใส่แว่นเนี่ย สายตาจะกลับมาเหมือนเดิมหรือเปล่า อันนี้ไม่เกี่ยวกัน ใส่แว่นเป้าหมายคือเห็นชัด มันไม่ได้รักษา อย่างที่บอกไปว่าความผิดปกติที่ทำให้สายตาสั้นสายตายาว มันเกิดที่โครงสร้าง เกิดที่กระจกตา ใส่แว่นไปก็ไม่ได้เปลี่ยน ถ้าการเปลี่ยนโครงสร้างก็คือการผ่าตัด อย่างเลสิก ต้องทำตอนที่อายุ 20 ขึ้นไป


Writer

Avatar photo

ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ

คุณแม่ลูกหนึ่งซึ่งคลุกวงในงานข่าวมาหลายสิบปี เพิ่งมาค้นพบตัวเองไม่กี่ปีมานี้ว่าอินกับงานด้านเด็ก ครอบครัว และการศึกษามากเป็นพิเศษ จึงเป็นเหตุให้มาร่วมสร้างแผนที่การเรียนรู้อย่าง mappa

Illustrator

Avatar photo

กรกนก สุเทศ

เด็กกราฟิกที่สนุกกับการอ่านการ์ตูน ดูเมะ ชอบเล่าเรื่องและจำสิ่งต่าง ๆ ด้วยภาพมากกว่าตัวอักษร มองว่าหนึ่งในการเรียนรู้ที่ดีคือการเรียนรู้ผ่านสี รูปภาพ รูปทรง

Related Posts