“จริงหรือไม่ เรียนออนไลน์ เด็กสายตาสั้นมากขึ้น” คุยกับจักษุแพทย์เด็กที่มีประมาณ 100 คนในประเทศ

  • สองปีที่ผ่านมา เด็กๆ ย้ายจากห้องเรียนมานั่งหน้าจอ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นคือ เด็กๆ สายตาสั้นมากขึ้น
  • แต่ประเด็นสำคัญของบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้อยู่ที่การปรับมายด์เซ็ตพ่อแม่ว่าถ้าลูกเกิดปัญหาไม่ว่าจะแสบตา ตาล้า มองไม่ชัด ปวดหัว คนแรกที่ควรไปหาคือหมอตาไม่ใช่ร้านแว่น
  • พ.อ.นพ.ยุทธพงษ์ อิ่มสุวรรณ เลขาธิการราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย และจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจักษุวิทยาเด็ก ตอบทุกข้อสงสัยและอธิบายชัดเจนว่าถ้าเด็กเข้าร้านแว่นก่อนพบหมอตา จะเกิดผลเสียอะไรบ้าง

“เด็กควรไปหาหมอตาก่อนเข้าร้านแว่น” 

mappa สนทนาและขอความรู้จาก พ.อ.นพ.ยุทธพงษ์ อิ่มสุวรรณ เลขาธิการราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย ต่อข้อสงสัยว่า “การเรียนออนไลน์ทำให้เด็กสายตาสั้นมากขึ้น” จริงหรือไม่

“ใช่” คือคำตอบของคุณหมอ แต่ฐานะหมอตาเด็กหรือ จักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจักษุวิทยาเด็ก ซึ่งมีประมาณ 100 คนในประเทศไทย พาไปไกลกว่านั้นด้วยการถามกลับว่า 

ถ้าสายตาลูกผิดปกติ จะพาไปหาหมอตาหรือร้านตัดแว่นก่อน?

“ร้านตัดแว่น” ตอบอย่างตรงไปตรงมาและรู้ว่าผิดแน่ๆ 

“ทราบไหมครับ” คุณหมอมักขึ้นต้นคำตอบด้วยประโยคนี้ เพราะเข้าใจสถานการณ์ดีว่ามีอีกหลายอย่างที่ยังไม่รู้ เช่น เด็กอายุต่ำกว่า 12 ขวบถ้ามีปัญหาสายตาไม่ควรเข้าร้านแว่น และ “ควรไปหาหมอตาก่อนเข้าร้านแว่น”

พ.อ.นพ.ยุทธพงษ์ อิ่มสุวรรณ เลขาธิการราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย

เพราะอะไร เด็กถึงไปร้านแว่นก่อนมาหาหมอตา 

ระบบสาธารณสุขบ้านเรา ไม่บอกว่าต้องมาตรวจตากับหมอตา แต่ระบบการดูแลสุขภาพเด็กจะเริ่มต้นจากเจอกุมารแพทย์ (หมอเด็ก) ฉีดวัคซีน แล้วเราเชื่อถือว่าหมอเด็ก หมอเวชศาสตร์ครอบครัวหรือหมอที่ดูแลองค์รวม จะดูแลเรื่องตาให้ด้วย แต่ชีวิตจริงได้เพียงการคัดกรองพื้นฐานเท่านั้น ถ้าผิดปกติก็จะส่งต่อหมอตาเพื่อการดูแลต่อเนื่องในระบบต่อไป อาจจะทำให้เวลาที่เด็กมีปัญหาสายตา สะดวกกับการไปร้านแว่นมากกว่า

หมอตาเด็ก ดูพัฒนาการของตาเด็กจนถึงอายุ 17-18 หลังจากนั้นจะตรวจห่างขึ้นเพราะถือว่าตาโตเต็มที่แล้ว หลัง 18 ก็มักจะไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของสายตา ซึ่งถ้าโตแล้ว ร้านแว่นดูแลเรื่องแว่นตาคงไม่ต้องกังวลมากนัก

สายตาสั้น ยาว เอียง เป็นโรคไหม

สายตาสั้น ยาว เอียง WHO (องค์การอนามัยโลก) มองว่าเป็นปัญหาระดับโลกเลยนะครับ 

แต่หลายคนก็มองว่าเป็นโรคที่แก้ได้ด้วยแว่นเท่านั้น บางคนมองว่าสายตาสั้นไม่ใช่ปัญหาก็แค่ใส่แว่น ไม่ใช่โรค ไม่ต้องไปหาหมอ แต่จริงๆแล้วมีรายละเอียดมากกว่านั้น

ถามว่าแล้วใครเป็นคนตัดแว่นให้เรา?

เรียนจบอะไรมาครับ เป็น จักษุแพทย์ หรือ นักทัศนมาตรหรือไม่ ?

ทราบไหมครับว่า กฎหมายบ้านเราไม่ได้กำหนดว่า เปิดร้านแว่นต้องมีนักทัศนมาตรหรือจักษุแพทย์ทุกร้าน และมันไม่มีทางเลยครับ เพราะว่าจักษุแพทย์และนักทัศนมาตรมีจำนวนไม่มาก ประเด็นต่อมาคือที่ผ่านมาเราตัดแว่นโดยเด็กปวช. ปวส. ม.3 ม.6 หรือ ป.ตรี ที่จบด้านใด? ขึ้นอยู่กับร้านแว่นและผู้ประกอบธุรกิจว่าจะเอาใครมาฝึก ส่วนใหญ่กดปุ่มเครื่องก็วัดอัตโนมัติ ได้ค่าตัวเลขมา แล้วบอกเด็กที่มาวัดว่าสายตาสั้น ต้องสวมแว่น

ในบางร้าน พื้นฐานความรู้เขาอาจจะมีไม่เพียงพอ ดูจากเครื่องวัดสายตาอัตโนมัติ แล้วก็ถูกเทรนทักษะการให้แว่นจากร้านแว่นที่อบรมกัน เพราะฉะนั้น เป็นไปได้ว่าเขาอาจมองแต่เชิงธุรกิจมากกว่าด้านสุขภาพตา เมื่อกดค่าสายตาเจอสายตาสั้น ก็แนะนำให้ตัดแว่น

คำถามคือ มีร้านแว่นสักกี่ร้านที่วัดสายตาแล้วบอกว่าตัวเลขน้อยนิดเดียว ไม่ต้องตัดแว่น หรือ แนะนำให้ไปพบจักษุแพทย์ก่อน

อันนี้คือโจทย์แรกนะครับ ในเมื่อธุรกิจกับวิชาการมันไปด้วยกันลำบาก จึงต้องมีคนมาช่วยดูแลตรงนี้ให้ถูกต้อง ที่ผลักดันตอนนี้มี 2 กลุ่มคือหมอตา โดยเฉพาะหมอตาเด็ก กลุ่มที่ 2 คือนักทัศนมาตรที่กำลังจะมาช่วยทำงานกันเป็นทีมพัฒนาสุขภาพตาเพื่อประชาชน

เราคุยกับนักทัศนมาตร ในมุมมองวิชาการทางการแพทย์บอกว่า ถ้าเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีจะวัดสายตาเพื่อตัดแว่น เราต้องหยอดยาเพื่อลดภาวะเพ่งแล้ววัดแว่น ถึงจะได้ค่าที่แม่นยำ ซึ่งยาหยอดตัวนี้อาจจะมีผลข้างเคียงของยา เช่น อาจจะมีไข้  ดังนั้นเราเลยตกลงกับนักทัศนมาตรว่าถ้าเกิดเด็กหยอดยาแล้วมีปัญหา ก็ควรได้รับการดูแลที่เหมาะสมและทันท่วงที เลยจำกัดการหยอดยาเด็กเพื่อวัดค่าสายตาว่าต้องทำในสถานพยาบาลเท่านั้น เพราะว่าสถานพยาบาลมีความพร้อมในการช่วยชีวิตเด็ก 

ดังนั้นเราจะแนะนำว่าเด็กทุกคนควรมาพบจักษุแพทย์หรือจักษุแพทย์เด็กเพื่อหยอดยาขยายม่านตาลดภาวะเพ่งก่อนวัดแว่น อันนี้เป็นหลักการวิชาการชัดเจน เรียกว่า “หยอดยาลดภาวะเพ่งเวลาวัดแว่น” มีเด็กเยอะมากที่มาหาผมด้วยสายตาสั้น 400, 500, 600, 100, 200, 50 หรือ 25 ก็แล้วแต่ พอผมหยอดตาแล้วออกมาเป็น 0 ตัวเลขที่ผมเจอคือสั้นมากสุด 800 หยอดยาแล้วเป็น 0 น่าตกใจมั้ย แสดงว่าเด็กกลุ่มนั้นถ้าไม่ได้พบจักษุแพทย์ อาจจะได้แว่นหรือได้แว่นที่ผิดก็เป็นได้

ผมในฐานะเลขาธิการราชวิทยาลัยจักษุแพทย์ ไม่เห็นด้วยกับการที่จะให้ร้านแว่นไปวัดค่าสายตาและตัดแว่นเด็ก แต่ยังออกกฎหมายควบคุมเรื่องนี้ไม่ได้ครับ เพราะร้านแว่นยังอยู่ในภาคส่วนที่เปิดได้โดยไม่ต้องใช้ใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมหรือใบประกอบโรคศิลป์

ถามว่าหมอตาจะไปวัดแว่นเด็กทุกคนได้มั้ย จริงๆ ทำได้ แต่ก็ต้องมาทำภายใต้สถานพยายาล ซึ่ง ณ วันนี้ ผมบอกได้เลยว่า เด็กที่คัดกรองสุขภาพตาแล้วผิดปกติแทบจะทุกคนได้มาเจอหมอตาแล้ว โดยภาครัฐสนับสนุนผ่าน ‘โครงการเด็กไทยสายตาดี’ 

โดยเราจะให้พยาบาลและคุณครูคัดกรองเด็กที่อาจจะมีความผิดปกติ แล้วส่งมาพบจักษุแพทย์ วันนี้เราเริ่มดำเนินการไปหมดแล้วทั้งต่างจังหวัด 12 เขตสุขภาพและอีก 1 เขตสุขภาพที่กรุงเทพมหานคร แต่บังเอิญเราติดเรื่องโควิด ทำให้เราทำได้ไม่เต็มที่ แต่ว่าเรารู้รายนามเด็กที่เราจะไป hit to the point เอาเด็กกลุ่มนี้มาใส่แว่น เพราะหลายๆ โรคแก้ไขได้ด้วยแว่นตาครับ 

เพราะฉะนั้น ผมจึงจะบอกว่าเด็กต่ำกว่า 12 ปีต้องหยอดยาวัดแว่น 

วัดแว่นผิดมีผลกระทบอย่างไร 

ตาเด็กเนี่ย มีกลไกที่จะใช้คำว่า “emmetropization” คือเด็กจะมีการปรับตัวเองเรื่องตา สมมติเด็กดูแล้วไม่ชัด เด็กก็จะพยายามปรับตัวเองให้ปกติ เช่น เด็กสั้น 25 เดี๋ยวก็ปรับ เดี๋ยวตาก็โตขึ้น ถ้าโตแนวนี้ (ทำมือขยายเป็นแนวนอน) ก็คือกระบอกตามันก็ยาวขึ้น จุดโฟกัสมันก็จะถึงก่อน ไม่เป็นไร ขยายทางนี้ (ทำมือขยายในแนวตั้ง) ให้สมดุล ให้ปรับความโค้งของส่วนประกอบของตา ร่างกายมีกลไกนี้อยู่แล้ว

แต่เมื่อไหร่ที่กลไกนี้ถูกหยุด เช่น อยู่ดีๆ ก็เอาแว่นไปให้เด็ก ทั้งๆ ที่ไม่จำเป็น เด็กก็จะเริ่มถูกแว่นปรับโฟกัสไปอยู่อีกจุดหนึ่ง เด็กก็พยายามปรับให้เป็นตามนั้น จากเดิมที่ไม่ได้สั้นก็อาจจะกลายเป็นสั้นได้ เพราะว่าทุกคนที่มาเข้าเครื่องอัตโนมัติ เด็กต้องเพ่งในการมองลูกบอลลูน บ้านที่อยู่บนภูเขา หรือภาพอะไรก็แล้วแต่ที่อยู่ในเครื่อง เมื่อเด็กมอง เด็กก็เพ่งครับ เด็กมีกำลังเพ่งสูงอันนี้เป็นเรื่องปกติของสรีรวิทยาเด็ก ค่าสายตาจึงโก่งโอเวอร์เกือบทุกคน เด็กเลยดูเหมือนมีสายตาสั้น 100, 200, 400 ได้นะครับ ทั้งที่จริงๆ อาจไม่มี

จึงต้องหยอดยาลดภาวะเพ่งก่อนถึงจะเกิดการ ‘วัดที่แม่นยำที่สุด’ ซึ่งจะทำให้การดูแลสุขภาพตาเด็กถูกต้องที่สุด  ที่สหรัฐอเมริกาเด็กทุกคนถูกคัดกรองโดยหมอตาเด็ก เพราะว่าจริงๆ แล้วเด็กไม่ใช่ผู้ใหญ่ที่ตัวเล็ก แต่เด็กมีที่แตกต่างอยู่แล้ว ขณะที่หมอตาเมืองไทยยังมีน้อยแต่โชคดีที่หมอตาเมืองไทยก็สามารถดูแลสุขภาพตาเด็กได้อย่างดี ดังนั้นหมอที่ดูแลสุขภาพตาจะเรียนต่อแพทย์เฉพาะทาง หมอตาทั่วไปเรียน 3 ปี หมอตาเด็กเรียนต่ออีก 1-2 ปีครับ 

เด็กสายตาสั้นเยอะขึ้นจริงหรือไม่

การที่เด็กเพ่งนานๆ เขาเชื่อกันว่ามีสายตาสั้นเยอะขึ้น เพราะการที่เด็กเพ่งอยู่นาน เวลาเพ่ง ดวงตาก็จะถูกบีบด้วยกล้ามเนื้อตา ถูกบีบอยู่ในสภาพอย่างนั้น อย่างที่ผมบอก การที่เด็กเพ่งนานๆ จะทำให้เด็กสายตาสั้นมากขึ้น มีงานวิจัยบอกว่าถ้าเด็กในเมืองที่ดูแต่หน้าจอใกล้ๆ มีสายตาสั้นสูงมากกว่าเด็กชนบทที่อยู่กลางทุ่งนา

หลังๆ ก็มีงานวิจัยต่างๆ ที่ชัดขึ้น เด็กที่มองไกลๆ วันละชั่วโมง มองออกไปข้างนอก 1-2 ชั่วโมงจะมีภาวะสายตาสั้นน้อยกว่ากลุ่มเด็กที่ไม่ได้มองออกไปวันละ 1-2 ชั่วโมง อีกงานวิจัยหนึ่งคือ เด็กที่มองใกล้ๆ เกินกว่า 2 ชั่วโมงต่อวัน มีโอกาสที่จะสายตาสั้นมากกว่ากลุ่มเด็กที่มองใกล้ๆ น้อยกว่า 2 ชั่วโมงต่อวัน

ดังนั้นเราเลยสรุปว่าการที่เด็กมองใกล้ๆ ทำให้เด็กสายตาสั้นมากขึ้น และ การที่เด็กออกไป relax ข้างนอกบ้างทำให้เด็กสายตาสั้นลดลง หรือทำให้เด็กสายตาสั้นสูงขึ้นน้อยลง 

ช่วงโควิด เด็กสายตาสั้นมากขึ้น ทางการแพทย์มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน 

มีงานวิจัยที่จีนนะครับ เขาบอกว่าเด็กอายุ 6-8 ขวบ ซึ่งเป็นช่วงวัยเรียน ป.1 ป.2 ดวงตายังไม่นิ่ง ปรากฎว่ามีสายตาสั้นสูงขึ้นในช่วงโควิดปีที่ผ่านมา ตัวเลขสูงขึ้นชัดเจน แต่เราก็ตอบไม่ได้ว่าตัวเลขนั้นมันน่าเชื่อถือหรือเปล่า เราคงต้องดูรายละเอียดในงานวิจัยอื่นๆอีกที แต่ให้รู้ว่า โอเคมันมีแนวโน้มที่จะไปในทิศทางนั้น พ่วงกับทฤษฎีที่บอกว่าการเพ่งทำให้เด็กสายตาสั้นเยอะขึ้น อันนี้น่าเชื่อถือ มันเลยสอดคล้องกัน

จึงเป็นที่มาอีกว่าจะทำอย่างไรเพื่อชะลอสายตาสั้น นี่เป็นโจทย์ที่เกิดขึ้นเมื่อสัก 10 ปีที่แล้วและเป็นโจทย์ที่ใหญ่มากในระดับชาติของคนเอเชีย เพราะคนเอเชียมีคนสายตาสั้นมากกว่าคนยุโรปและอเมริกัน เนื่องด้วยเชื้อชาติ เช่น คนจีน คนสิงคโปร์เชื้อสายจีน สายตาสั้นเยอะมาก จึงมีการทำวิจัยว่า มียาอะไรไหมที่จะชะลอ พบว่ามียาชะลอสายตาสั้นครับ ตอนนี้นำมาใช้ได้ 7-8 ปีแล้วครับ สามารถบอกได้ว่าถ้าใช้ยาตัวนี้จะชะลอการสายตาสั้นได้ 50% ของประชากรที่มาวิจัย ที่ผมพูดคำนี้เพราะมันไม่ใช่ทุกคนที่จะได้ผลหมด แต่หยอดไป 100 คน 50 คนจะชะลอ เช่น จากเดิมที่จะขึ้นจาก 100 เป็น 150 เป็น 200 ในทุกๆ ปี มันอาจจะขึ้นเป็น 125 150 แล้วมีนัยยะอย่างสำคัญทางสถิติ จึงนำสิ่งนี้มาพูดถึงได้และนำมาใช้ในปัจจุบัน

ยาชะลอสายตาสั้นมีความปลอดภัยแค่ไหน

ณ ตอนนี้ ยาชะลอสายตาสั้นมีปลอดภัยในระยะยาว แต่ไม่มีขายตามท้องตลาด แพทย์ต้องผสมเองครับ เพราะว่ามันเพิ่งเป็นงานวิจัยที่ออกมาและยังไม่สามารถขอ FDA Approve หรือ อย.ได้ เพื่อทำในรูปแบบยาหยอดยาสำเร็จรูปเพื่อจำหน่าย

ดังนั้นหมอตาเด็กส่วนใหญ่ เมื่อเราดูคนไข้สายตาแล้วพบว่าสายตาสั้น เราอาจจะให้ยาชะลอนะ ซึ่งหมอตาเด็กบางท่านจะพิจารณาแนะนำให้หยอด

แต่สถานการณ์แบบนี้จะไม่เกิดขึ้นในร้านแว่นเพราะ ยาชะลอสำหรับเด็กต้องมีใบอนุญาตสั่งยาจากแพทย์เท่านั้น 

เวลามองคอมนานๆ จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง 

เด็กเพ่งนานๆ ถ้าบอกว่ามันเป็นปัญหาของสายตาสั้น อาจจะใช่ครับ  แต่ถ้าบอกว่ามันเป็นปัญหาของการเกิดโรค มันก็อาจจะไม่เชิง ที่บอกการมองคอมนานๆ มันเกิดโรคจริงหรือเปล่า จะมีประเด็นครับที่พ่อแม่ concern คือ

หน้าจอมี ‘แสงสีฟ้า’ อันตรายรึเปล่า คำถามคือว่าถ้ามันอันตราย อุปกรณ์ที่ผลิตออกมาก็น่าจะอันตรายหมด จอในยุคนี้ก็เป็นจอ LED จอที่มีคุณภาพ มีมาตรฐานทางการผลิตทางอิเล็กทรอนิกส์อยู่แล้ว ผมจึงพูดไม่ได้ว่าวัตถุนี้มันทำให้เกิดอันตรายต่อตา อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มีแสงออกมาหลายๆ ความยาวคลื่นและหลายสี เขามีงานวิจัยบอกว่าแสงสีฟ้าอาจมีผลเสียต่อจุดรับภาพ ใช่ครับแต่วงเล็บในสัตว์ทดลอง ร่างกายมนุษย์มีเลนส์ตาที่สามารถกรองแสงสีฟ้าได้ในระดับหนึ่ง ส่งผลทำให้เวลาแสงตกไปที่จอรับภาพ มันจึงอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่ได้สูงมากนัก ดังนั้นในมุมมองหมอตาเด็กแล้ว หมอตาไม่ซีเรียสกับเรื่องนี้เท่าไรครับ

ถ้าถามว่าแล้วจากนี้ไปเราควรจะซื้อแว่นกรองแสงสีฟ้ารึเปล่า ในมุมมองหมอตาส่วนหนึ่งจะไม่แนะนำเพราะไม่ได้มีงานวิจัยรองรับว่าการใช้แว่นกรองแสงสีฟ้าแล้วจะไม่เกิดโรคจอประสาทตา แต่ถามว่าใส่แล้วมีปัญหามั้ย ไม่มีปัญหาครับนอกจากเสียเงิน

แต่ถามว่ามันดีมั้ย มันก็สบายตาขึ้นเพราะกรองแสงสีฟ้าจะลดการกระเจิงของแสงออกไป ถามว่าสบายตาขึ้นแล้วมันจะชัดขึ้นมั้ย ก็อาจจะชัดขึ้น คุณภาพการมองเห็นมันมีหลายแบบ การกระเจิงของแสงทำให้ภาพไม่ชัด ลดการกระเจิงไปนิดนึงทำให้ภาพดีขึ้น อันนี้จริง แต่เราอย่าไปบอกนะว่าการใส่กรองแสงสีฟ้าแล้วจะทำให้ภาพชัดขึ้น อันนี้ไม่จริง เพราะการพูดแบบนั้นเท่ากับเราสนับสนุนอุปกรณ์ที่กรองแสงสีฟ้าทั้งหมด ซึ่งมันจะผิดหลักการทางการแพทย์ทันที 

เราควรตอบว่าแว่นกรองแสงสีฟ้ามันไม่ได้ช่วยครับ นี่คือสิ่งที่หมอตาคุยกัน 

แต่ถ้าคนไข้จะใส่ ผมไม่ห้าม เช่นเดียวกันเด็กสายตาสั้น 25 สั้น 50 ต้องใส่แว่นมั้ยครับ ก็แบบเดียวกันเลยครับ  คือใส่มันก็ชัดอะครับ เพราะถ้าอยู่หลังห้อง มันมองไม่เห็น สั้น 50 มันอาจจะเห็นไม่ชัด ใส่แล้วมันก็ชัดขึ้นเพราะมันตรงโฟกัส แต่ถามว่ามันจะต้องใส่ทุกคนมั้ย อาจจะไม่จำเป็น

ที่น่าห่วงไม่แพ้กันคือ โรคตาขี้เกียจในเด็ก 

อันนี้คือจุดสำคัญเลย หมอตาจะมองว่าเป็นโรคตาขี้เกียจหรือไม่ หรือมีแนวโน้มว่าจะเกิดตาขี้เกียจหรือไม่ ผมต้องให้แว่น ไม่ว่าเด็กจะชอบหรือไม่ชอบ ใส่แล้วสบายหรือไม่สบาย เพราะเป็นการรักษาโรค แล้วโรคตาขี้เกียจต้องรักษาก่อน 7 ขวบ ถ้าเกิน 7 ขวบแล้วรักษาไม่ได้หรือได้ผลไม่ดี ตาพิการ ตาเห็นไม่เต็มที่ ส่งผลต่ออนาคตเด็กคนหนึ่งเลยครับ เด็กบางคนเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้เพราะตาขี้เกียจ เข้าบางคณะไม่ได้เพราะตาเห็นไม่เต็มที่ เรื่องนี้เราซีเรียส เรายอมไม่ได้

WHO บอกว่าการคัดกรองตาขี้เกียจเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากสำหรับเด็ก และเป็นสิ่งหนึ่งที่เกิดประโยชน์ในเชิงเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขของโลกเลย เพราะมันไม่ได้ใช้ทรัพยากรอะไรมากมายในการคัดกรอง ใช้แค่อุปกรณ์เพียงไม่กี่อย่างเช่น แผ่นให้เด็กอ่านตัวเลข แต่มันสามารถดูแลสุขภาพตาเด็กให้มีการมองเห็นที่ดีและเป็นอนาคตของเด็กหนึ่งคนเลย มันมีคุณค่าสูงมากครับ

จึงเกิดโครงการเด็กไทยสายตาดี เริ่มต้นที่ป.1 ของกระทรวงสาธารณสุขร่วมกับราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย

สายไปไหม 

ถ้าจะให้ดี เราควรจะให้เด็กมาคัดกรองตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อให้หมอมีเวลาดูแล 

เนิ่นๆ นี่กี่ขวบคะ

ตัวเลขไม่มีเขียนชัดเจน แต่จากประสบการณ์ของบางตำรา เขียนคร่าวๆ ว่าประมาณ 3 ขวบ เพราะ 3 ขวบเริ่มอ่านบางตัวเลขได้ ถึงอ่านตัวเลขไม่ได้ก็อ่านรูปภาพบางอย่างได้ ลูก 3 ขวบพอจะสื่อสารกับเราได้แล้วว่ามันคือสามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม วงกลม  แต่อย่างไรก็ตามมันมีการคัดกรองเด็กที่ต่ำกว่า 3 ขวบ เช่น พ่อแม่มีสายตาสั้นเยอะมาก เคยมีประวัติตาขี้เกียจ เคยมีประวัติตาเขตาเหล่ เราต้องพาเด็กมาตรวจเร็ว เพราะมีโอกาสเกิดโรคได้มากกว่า และจะได้ดูแลได้ทันท่วงที ซึ่งปัจจุบันนี้ความรู้ด้านการคัดกรองสุขภาพตาเด็กต่างๆ ถูกถ่ายทอดไปยังหมอเด็กและหมอเวชศาสตร์ครอบครัวในยุคปัจจุบันได้อย่างเหมาะสม ซึ่งทำให้เด็กที่อาจมีปัญหาการมองเห็นมาพบจักษุแพทย์ได้เร็วมากขึ้น

ถ้าเด็ก 3 ขวบมาตรวจ แล้วเด็กไม่ร่วมมือในการคัดกรองสายตาล่ะ ก็สัก 3 ขวบครึ่งมาตรวจอีกครั้ง ถ้า 3 ขวบครึ่งไม่โอเคก็ 4 ขวบมาตรวจอีกครั้ง ถ้าเด็ก 4 ขวบมาตรวจและเด็กไม่ร่วมมือหรือวัดไม่ได้ผมว่า 4 ขวบ 1 เดือนต้องมาตรวจละ เพราะส่วนใหญ่ถ้าเด็กไม่ร่วมมือแสดงว่าเด็กอาจมีปัญหา เด็กเลยมองไม่เห็น สมมติว่าเด็กตาข้างขวาดีนะ ผมก็จะบอกว่า มองครับ มองเห็นหมดเลยครับ สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม วงกลม แต่พอปิดตาอีกข้างแล้วงอแง เราก็คิดว่าเด็กอาจจะไม่สนใจหรือเด็กไม่มีสมาธิละ แต่ไม่ใช่ครับ จริงๆแล้วตาข้างนี้เขาอาจจะมองไม่เห็นก็ได้

มันเป็นหน้าที่ที่หมอตาครับที่จะต้องพยายามดูแลตาเขาให้ได้ ถ้าเผอิญว่ามันวัดไม่ได้ก็ต้องหาวิธีอื่น ทำยังไงก็ได้ให้ตรวจวินิจฉัยให้ได้ว่าเด็กคนนี้ปกติหรือไม่

ตาเข ก็สำคัญ

การตรวจตา ไม่ได้ดูเฉพาะการมองเห็นเพียงอย่างเดียว ยังมองเรื่องการมองเห็น 2 ข้างพร้อมกัน ปกติคนเรามองข้างขวา มองข้างซ้าย จะชัดทีละตา แต่มันต้องมีการรวมภาพด้วยครับ เรียกว่าการตรวจสามมิติ  ถ้าเด็กคนนี้อยากจะเป็นนักบินขึ้นมา ถ้าเด็กคนนี้อยากจะเป็นวิศวกรที่ต้องใช้กล้องสองตา ถ้าเขาไม่มีสามมิติ ฝันเขาก็จะหายไปเลยครับ

ดังนั้น การมองเห็นรวมสองภาพเป็นภาพเดียวก็สำคัญ ตาเหล่เป็นอีกโรคหนึ่งครับที่เราต้องคัดกรอง เพราะถ้าตาเขาไม่ตรงเมื่อไหร่ เหล่เข้าหรือเหล่ออกจะทำให้สามมิติเขาไม่มีเลย ต้องแก้ตั้งแต่ 2 ขวบ เลย 2 ขวบไปแล้ว ตาแต่ละข้างเห็นชัดได้ครับแต่อาจจะสายเกินแก้เรื่องการมองเห็นสามมิติ 

สุดท้ายของปัญหาคือ?

อีกเรื่องคือ ตาแห้ง อันนี้เหมือนผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่เวลาใช้คอมนานๆ จะมีตาแห้ง ได้ เขาบอกวิธีที่จะไม่ทำให้ตาแห้งคือ ใช้สูตร 20-20-20 คือมองหน้าจอ 20 นาที แล้วพัก 20 วินาทีโดยการมองไกลๆ 20 ฟุต เด็กก็ทำได้

ผมยังไม่ได้พูดถึงโรคบางโรคเช่นมะเร็งจอตา สุดท้ายคนไข้เสียชีวิต มีบางเคสที่มาเจอผมตอน 4 ขวบ ไปร้านแว่นมาแล้ว ได้แว่นแล้วมองไม่ชัด ผมดู อ้าว เป็น Retinoblastoma หรือมะเร็งจอตา ปีต่อมาผมเจอแต่พ่อแม่เพราะเด็กเสียชีวิตแล้ว มันยังมีเหตุการณ์แบบนี้ ซึ่งน่า concern มากกว่าครับ แต่เราพูดแบบนี้เดี๋ยวจะดูตระหนกเกินไป แต่ก็ควรคิดถึงไว้บ้าง รวมถึงความผิดปกติอื่นๆ เช่น ชอบหยีตา คันตา เอียงคอ ทั้งหมดนี้มันเป็นปัญหาตาได้หมด

6 คำถามสำคัญเรื่องสายตาเมื่อลูกเรียนออนไลน์

1.การจ้องหน้าจอนานๆ อย่างใช้สมาธิสำหรับเด็กประถมในกรณีจำเป็นควรมีความถี่เท่าไหร่

ถ้ามองแบบโรคตาแห้ง ผมก็จะบอกว่า 20-20-20 ถ้ามองแบบไม่ให้สายตาสั้นเยอะขึ้น ผมก็จะบอกว่าไม่ควรนานเกิน 2 ชั่วโมงต่อวันและควรจะมองไกลๆ สัก 1 ชั่วโมง ถ้าผมเอา 2 อันมารวมกัน ผมก็จะแนะนำว่าใน 1 ชั่วโมงควรจะให้เด็กอยู่หน้าคอมสัก 20 นาที และให้เด็กได้พักแป๊บนึง เพราะฉะนั้นคุณครูก็ควรจะปล่อยให้เด็กเบรคสัก 1 นาทีหรือ20 วินาที เพื่อที่เด็กจะได้พักสายตาหรือมองไปข้างนอกไกลๆ แต่ถ้าบ้านอยู่คอนโด ไม่รู้จะมองตรงไหน หรืออยู่ในห้องเล็กๆ ปิดประตูหมดก็แนะนำว่าถ้าเป็นไปได้ก็ให้มองไกลๆ อย่างน้อย 6 ฟุต อาจจะมองภาพ 20 นาที แล้วก็พัก 20 วินาที 

เพราะฉะนั้นใน 1 ชั่วโมง จะมีเบรค 1 ครั้ง แล้วพอครบ 2 ชั่วโมงควรจะเบรคใหญ่ ถ้าเป็นไปได้ก็ควรจะเปลี่ยนชั่วโมงเรียน เช่นจากเดิมที่ต้องอยู่ในห้องเรียนออนไลน์ 2 ชั่วโมงก็ควรจะเปลี่ยนเป็น activity outdoor เช่น ไปทำกิจกรรมอื่นกลางแจ้งหรือไปทำอย่างอื่นที่ไม่ต้องใช้หน้าจอคอมเลยสักชั่วโมงหนึ่ง เช่น การปั้น ทำกิจกรรมพละ หรือทำอะไรก็ได้

พอถึงช่วงบ่ายก็ควรเป็นแบบเดียวกัน ผมคิดว่าการเบรคครึ่งเช้าและครึ่งบ่ายก็ relax เพียงพอแล้ว แถมมี relax เวลากินข้าวอีก และเด็กบางกลุ่มยังต้องนอนอยู่เช่นเด็กอนุบาล

เด็กที่อเมริกา เด็กโรงเรียนอินเตอร์ทั้งหลาย เขาเรียนกันไม่กี่ชั่วโมง   เลิกบ่ายโมงบ่ายสอง ถามว่าทำไมเด็กอเมริกาหรือเด็กต่างประเทศเขาไม่ค่อยสายตาสั้น ก็เพราะเหตุผลนี้หรือเปล่า เด็กไทยหรือเด็กจีน ไต้หวัน เกาหลี ญี่ปุ่นต้องเรียนติวหรือสอนพิเศษอยู่ดี  เลิกเรียนสามโมงสี่โมงก็เรียนพิเศษต่อตอนเย็น ก็อาจจะอธิบายได้ว่าทำไมเด็กถึงมีปัญหาสายตา

2.ถ้าอยู่หน้าจอนานเกินไป มีปัญหาอะไรบ้าง

หนึ่งตาแห้ง สองอาจจะทำให้เกิดสายตาผิดปกติ  การใช้ตาเพ่งนานๆ โดยเฉพาะแท็บเล็ต ไอโฟน มือถือ มันมีงานวิจัยรองรับนะครับว่ามีผล

ส่วนที่ยังไม่แน่นอนอีกอย่างคือมันอาจจะทำให้เกิดตาเหล่เข้าในได้ด้วยหรือไม่ 

สรุป ถ้าผมสามารถพูดวันนี้ได้คืออาจจะมีผลต่อตาแห้ง อาจมีผลต่อกล้ามเนื้อตา ถึงมันจะไม่เหล่แต่ก็ล้าครับ สุดท้ายก็มีปัญหาสายตา

3.ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาสถานการณ์โควิดมีเด็กเข้ามาสถานรับการรักษาเพิ่มขึ้นมั้ย

อันนี้จากประสบการณ์ส่วนตัว มีแน่นอน  อยู่กับหน้าจอคอมนานนาน มีปัญหาแรกคือตาแห้งครับ เด็กจะบอกว่าแสบตา ไม่สบายตา 

อันที่ 2 เด็ก stress เกินไปครับ เครียด ปวดหัว เด็กที่ปวดหัวปุ๊บ หมอเด็กก็จะดูว่า มาจากการใช้สายตารึเปล่า จะมีเด็กส่วนหนึ่งที่สายตาผิดปกติ เช่น สายตาสั้น/ยาวแล้วมองไม่ชัด พอมองไม่ชัดปุ๊บ เด็กก็เพ่ง เพ่งแล้วก็ปวดหัว หมอเด็กก็ดูว่าปวดหัวก็เลยส่งมาหาหมอตาเพื่อดูร่วมกัน

นอกจากนี้ยังมีปัญหาอีกว่าถ้าเด็กที่ผมดูแลประจำ นัดดูทุกๆ 6 เดือน-1 ปี เจอกับหมอมานาน ปกติสายตาจาก 100 ขึ้นมาปีละ 50 แต่พอปีที่แล้ว โอ้โห บางคนขึ้นเป็น 100 เลย ซึ่งผมหยอดยาลดภาวะเพ่งทุกเคสอยู่แล้วนะครับ เพราะฉะนั้นประเด็นสายตาสั้นขึ้นนี้น่าจะมีอย่างแน่นอน

4.ในฐานะแพทย์มีข้อกังวลเรื่องใดมากที่สุดในการเรียนออนไลน์ไปเรื่อยๆ 

ต้องบอกเลยว่าไม่ได้มีข้อ concern ครับ เพราะว่าการเรียนสำคัญ แต่ผม concern เรื่องของการดูแลสุขภาพดวงตาที่เหมาะสม 

หนึ่งการดูแลสุขภาพตาเด็กต้องพบจักษุแพทย์ไม่ใช่ร้านแว่น เพราะถ้าเกิดเด็กได้รับแว่นที่ผิด อันนี้เป็นเรื่อง สมมติว่าเด็กไม่จำเป็นต้องใช้แว่นเลยนะครับ แต่ไปได้แว่นมา เด็กก็ปวดหัวอีกเพราะใช้แว่นเยอะเกินไป มันก็จะสั้นขึ้นๆๆๆ อันนี้เป็นปัญหา เขาได้รับการรักษาผิดทางเลยครับ หรือเด็กจริงๆ มีปัญหาตาเหล่เลยมองไม่ชัด ไปร้านแว่น ร้านก็อาจไม่รู้เพราะอาจจะไม่ได้ดูเรื่องตาเหล่ ปล่อยให้เป็นปัญหาจนมาเจอผม ก็สายไปแล้ว 

ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือ อันนี้ผมยังไม่นับโรคทางตา ซึ่งเด็กมีน้อยนะครับแต่มันก็มี ไม่ว่าจะเป็นโรคตาขี้เกียจ โรคในดวงตาต่างๆ มีหมดตั้งแต่กระจกตาจนถึงจอประสาทตา มีการเกิดโรคได้คล้ายผู้ใหญ่ ซึ่งย้ำว่าควรเจอหมอตาเสียโดยเร็วเพื่อที่จะได้คัดกรองโรคตาทั้งหมด

ข้อ concern ก็คือถ้าเรียนออนไลน์เรื่อยๆ ก็ควรมาพบจักษุแพทย์ปีละครั้ง อาจจะถี่กว่านั้นถ้าพบสิ่งผิดปกติ บางรายอาจจะไม่ต้องปีละครั้งก็ได้ขึ้นอยู่กับอายุ ถ้าเด็กเล็กต้องคัดกรองเร็ว 3 ขวบต้องมาดูแล้ว ถ้าไม่สามารถพบจักษุแพทย์ได้ก็ต้องพบหมอเด็ก คัดกรองสายตาให้เรียบร้อย เมื่อหมอเด็กนัดก็ไปตามนัด 

5.คำแนะนำในฐานะแพทย์ต่อหน้าจอคอมฯ​ แทบเล็ต โทรศัพท์มือถือต่างๆ 

เด็กต่ำกว่า 2 ขวบไม่ควรใช้หน้าจอเลย อันนี้ความเห็นของราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ ซึ่งจักษุแพทย์ก็มองแบบเดียวกัน ถ้าเกิน 2 ปีเริ่มใช้เพื่อเรียนได้

ผมจะแนะนำ แต่เพียงว่าถ้าเด็กถึงวัยที่ต้องเรียนตามการศึกษาปฐมวัยคือป.1 ขึ้นไป ก็เรียนตามความเหมาะสม การปฏิบัติตัวตามที่ผมแนะนำไปในตอนต้นและต้องมาตรวจสุขภาพตาตามวงรอบที่ควรจะต้องตรวจ ควรตรวจทุกปี และถ้าว่าเด็กมีปัญหาอะไรปุ๊บให้พบจักษุแพทย์ทันที ไม่ควรปล่อยไว้

6.สถานการณ์แบบนี้พ่อแม่ โรงเรียนควรจะช่วยอย่างไร

ปรับหลักสูตรครับ ปรับหลักสูตรที่ให้นักเรียน ใช้ชั่วโมงออนไลน์สั้นและมีกิจกรรมส่วนตัวเยอะขึ้น

ที่ผมเจอส่วนใหญ่คือการบ้านออนไลน์ การบ้านไม่ควรจะต้องให้ต้องใช้หน้าจออีก ปัญหาคือเราบอกว่าเด็กต้องไปค้นหาข้อมูลให้เป็น ก็เข้าหน้าจออีก หมดชั่วโมงก็ไปเสิร์ชทำรายงานส่งอีก

แต่ผมกำลังมองภาพว่าควรจะเลือกการเรียนการสอนอะไรก็ได้ที่เหมาะกับบริบทในยุคปัจจุบันแล้วตอบโจทย์เหมือนกัน การศึกษาในยุค 21th  century เรียนเพื่อให้เกิดพหุศักยภาพ  ซึ่งไม่ควรเน้นการสอนแบบบรรยายอย่างเดียว แต่ควรสอนรูปแบบให้เกิดพัฒนาความคิด thinking process สอนกระบวนการคิด กระบวนการตัดสินใจ กระบวนการแก้ปัญหา 

ผมมองว่า สิ่งที่พ่อแม่ควรจะช่วยคือ ต้องมาคุยกัน แล้วใช้เทคโนโลยีให้น้อยที่สุด โดยใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยเฉพาะที่จำเป็น


Writer

Avatar photo

ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ

คุณแม่ลูกหนึ่งซึ่งคลุกวงในงานข่าวมาหลายสิบปี เพิ่งมาค้นพบตัวเองไม่กี่ปีมานี้ว่าอินกับงานด้านเด็ก ครอบครัว และการศึกษามากเป็นพิเศษ จึงเป็นเหตุให้มาร่วมสร้างแผนที่การเรียนรู้อย่าง mappa

Related Posts