อ่านเขียนได้-เข้าใจดิจิทัล-ฉลาดทางอารมณ์สังคม รู้จักกับ ‘3 ทักษะทุนชีวิต’ ที่จะช่วยให้เราไม่ร่วงหล่นจากชีวิตตัวเอง

“ในโลกที่หมุนไวขนาดนี้ เราต้องเก่งแค่ไหนกันนะ?”

คงเป็นคำถามที่ใครหลายคนเฝ้าถามกับตัวเองในวันที่ตลาดแรงงานมีอัตราการแข่งขันพุ่งกระฉูด ทำให้นอกจากทักษะและความสามารถเฉพาะทางของคนในระดับปัจเจกแล้ว ทักษะพื้นฐานของทุนชีวิต (Foundational Skills) เองก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการทำงานในโลกยุคใหม่เช่นเดียวกัน อีกทั้งยังสามารถปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้อีกด้วย

ในปี 2565 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ธนาคารโลก และคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จับมือกันจัดทำรายงานการสำรวจทักษะและความพร้อมของเยาวชนและประชากรวัยแรงงาน (Adult Skills Assessment in Thailand : ASAT) โดยมีกลุ่มสำรวจเป็นเยาวชนและผู้ใหญ่อายุ 15 – 64 ปี รวม 7,300 คนทั่วประเทศไทย

จากการสำรวจดังกล่าวเผยว่า คนไทยมีทักษะทุนชีวิตต่ำกว่าเกณฑ์ โดยกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ที่มีระดับการศึกษาไม่ถึงอุดมศึกษา คนในพื้นที่ชนบท และคนในพื้นที่ภาคเหนือและภาคใต้ ซึ่งวิกฤตขาดแคลนทักษะทุนชีวิตนี้ ถือเป็นมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจถึง 3.3 ล้านล้านบาท หรือกว่า 20% ของค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product : GDP) กันเลยทีเดียว

‘ทักษะทุนชีวิต’ คืออะไร

ทักษะทุนชีวิต (Foundational Skills) คือ ทักษะรากฐานที่เด็ก เยาวชน และผู้ใหญ่จำเป็นต้องมีเพื่อรับมือกับความท้าทายและใช้ประโยชน์จากโอกาสในศตวรรษที่ 21 ได้ ประกอบไปด้วย 3 ด้าน ได้แก่

1. ความสามารถในการอ่านเขียน (Literacy Skill) เข้าใจ ประเมิน และมีส่วนร่วมกับงานเขียน หรือข้อความที่เป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ การทำงาน และการใช้ชีวิตประจำวัน 

2. ความสามารถในการเข้าใจและจัดการข้อมูล ICT (Digital Skill) เข้าใจ เข้าถึง และจัดการข้อมูลผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างเหมาะสม

3. ทักษะทางอารมณ์สังคม (Socio-Emotional Skill) ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ เห็นอกเห็นใจ มีการจัดการทางอารมณ์ที่ดี สนใจค้นหาและสำรวจเป้าหมายใหม่ๆ อยู่เสมอ

สะท้อนให้เห็นว่า การลงทุนในมนุษย์ หรือ ทุนมนุษย์ (Human Capital) ที่ประกอบไปด้วยทุนทางปัญญา สังคม และอารมณ์นั้น มีบทบาทสำคัญต่อการเจริญเติบโตทั้งในระดับปัจเจกและทางเศรษฐกิจ ซึ่งถือเป็นการลงทุนของประเทศที่คุ้มค่า เพราะนอกจากจะลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำแล้ว ประเทศไทยจะยังเต็มไปด้วยแรงงานฝีมือดีที่จะอยู่ในตลาดแรงงานอย่างน้อย 30 ปี ซึ่งสามารถสร้างสังคมที่แรงงานพัฒนาตัวเอง ปรับตัวกับการทำงานรูปแบบใหม่ ทั้งยังแข่งขันกับความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างยั่งยืนได้อีกด้วย

NEET บุคคลผู้ตกขบวนโลกที่หมุนเร็ว

เมื่อพูดถึงทุนชีวิตแล้ว คนอีกกลุ่มที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือ NEET (Youth not in education, employment, or training) หรือ เยาวชนวัย 15 – 24 ปีที่ไม่อยู่ในระบบการศึกษา การจ้างงาน หรือการฝึกอบรม พัฒนาใดๆ โดยพวกเขาคือกลุ่มคนที่ร่วงหล่นออกจากการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่แม้อัตราการเข้าถึงการศึกษาของเยาวชนไทยจะมากขึ้น แต่สัดส่วนของกลุ่ม NEET เองก็มีแนวโน้มสูงขึ้นเช่นเดียวกัน

ในปี 2563 ประเทศไทยมีกลุ่ม NEET มากถึง 1.3 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 14 ของเยาวชนไทย โดยกว่าร้อยละ 65 เป็นเพศหญิงที่ตั้งครรภ์ในวัยเรียน

อย่างไรก็ตามปัจจัยของการเกิด NEET นั้นมีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างและความเหลื่อมล้ำทางสังคม ที่ทำให้โอกาสในการเข้าถึงการพัฒนาตนเองหรือการเข้าถึงการศึกษาหดหาย หรือปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคม เช่น วัฒนธรรมการทำงานที่เปลี่ยนไป และการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้เด็กไทยมากมายหลุดหายไปจากระบบการศึกษา เพราะไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยี หรือมีเงินมากพอในการศึกษาต่อได้

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นเพราะปัจจัยใด ก็ไม่ควรทำให้เส้นทางการพัฒนาศักยภาพของพวกเขาเป็นทางตัน เพราะในวันนี้พวกเขาคือทรัพยากรมนุษย์ที่ไม่ได้เข้าถึงศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่ และหากปล่อยให้ร่วงหล่นไป จะไม่เพียงสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับประเทศไทยสูงถึง 330,000 ล้านบาททุกปี แต่ยังทำให้พวกเขาร่วงหล่นจากชีวิตของตัวเองอีกด้วย

การเรียนรู้ต้องมีทางเลือก

‘ปัญหาเยาวชนหลุดออกจากระบบการศึกษา’ จึงถือเป็นวาระเร่งด่วนและสำคัญที่ประเทศไทยจะต้องรับมือก่อนจะสายเกินไป แต่ในขณะเดียวกันการกลับเข้าห้องเรียนอาจไม่ใช่ทางออกที่ถูกต้องเพียงหนึ่งเดียวเสมอไป ในโลกที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย และการเรียนรู้สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา

ก่อนหน้านี้รัฐบาลได้จัดตั้งนโยบายส่งเสริมและพัฒนาทักษะเพื่อสร้างโอกาสและเส้นทางสู่การสร้างงานที่ดีขึ้น อย่างนโยบาย ‘Thailand Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน’ โครงการที่ช่วยไม่ให้เด็กไทยร่วงหล่นไปจากระบบการศึกษา ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งเส้นทางอันยาวไกลเพื่อให้คนไทยสามารถก้าวทันโลกที่หมุนเร็ว

โดยโจทย์ใหญ่ที่ภาครัฐต้องทำงานหนัก คือการค้นหาและพาเด็กเยาวชนกลับเข้าสู่การพัฒนาในทางเลือกที่ยืดหยุ่น ไม่ติดกรอบคำตอบที่ถูกต้องเพียงอย่างเดียว ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาในหรือนอกระบบการทำงาน ตลอดจนการพัฒนาตนเองตามแนวทางที่เหมาะสม เพื่อผลักดันให้มนุษย์ทุกคนเข้าถึงศักยภาพอันไม่มีที่สิ้นสุดของตัวเองได้

แล้วสักวันเราคงจะได้เห็นสังคมที่ไม่มีใครต้องร่วงหล่นออกจากชีวิตของตัวเอง

อ้างอิง

https://www.eef.or.th/publication-asat/
https://www.eef.or.th/article-neet-foundation-skill/


Writer

Avatar photo

ณัฐพร เทพานนท์

ฟิวชันแจ๊สที่จริงใจมีไหมแถวนี้

Illustrator

Avatar photo

สิริกร พรอนงค์

ดีไซน์เนอร์, นักวาด และอาร์ตไดมือใหม่ที่ชอบไปทะเล

Related Posts