fragile, please handle with care: ชาติหรือแก้ว, ไฉนจึงเปราะบางเช่นนี้?

หลังๆ มานี้, ผมลองสังเกตดูก็พบว่า ประเทศไทยมักเต็มไปด้วยข่าวหรือเหตุการณ์ที่ให้ความหวังประชาชนในตอนแรก; ข่าวที่ทำให้ประชาชนใจฟู, มีความหวัง. แต่ก็ดีใจยังไม่ทันเต็มอก, ผ่านไปเพียงสองสามวันก็จะมีข่าวที่ดับความหวังเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ ตามมา, ซึ่งชวนสลดใจหรืออาจจะหนักหน่วงจนทำให้รู้สึกดำดิ่งลงสู่หุบเหวแห่งความสิ้นหวัง. 

ลักษณาการเช่นนี้ – เดี๋ยวใจฟูเดี๋ยวใจแฟบ – หากได้ประสบพบเจออยู่บ่อยๆ, เราจะรู้สึกเหนื่อยหน่ายเพราะอารมณ์ที่ยักย้ายส่ายไปมานั้นมักเสียดแทงจิตใจอย่างเจ็บปวด. ความรู้สึกเหมือนเวลามีแฟนที่เดี๋ยวก็รักเดี๋ยวก็เลิก, เอาแน่เอานอนไม่ได้. ช่วงนี้ผมเลยฝึกวางใจให้มั่น, ไม่หวั่นไหวไปต่อสิ่งต่างๆ รอบตัวเพื่อลดอาการเดี๋ยวฟูเดี๋ยวแฟบของความรู้สึกอันน่าเหน็ดเหนื่อยดังกล่าว.

เมื่อใจไม่ฟูหรือแฟบ, ความเจ็บแสบทางความรู้สึกก็เบาบางลง. 

แต่เมื่อสามสี่วันมานี้, มีข่าวเกี่ยวกับการออกข้อสอบรายวิชาสังคมศึกษาระดับมัธยมฯ ที่ดูเหมือนจะสาดแสงแห่งความหวังส่องมายังการศึกษาไทย. ที่ว่าเป็นความหวังนั้นก็เพราะมันเป็นข้อสอบที่มีแนวทางการสอบและเนื้อหาข้อสอบที่แปลกใหม่, ชวนให้คิดวิเคราะห์และแสดงความเห็นเชิงวิพากษ์, ช่างเป็นการออกข้อสอบที่แหกขนบธรรมเนียมการออกข้อสอบของครูส่วนใหญ่ในประเทศไทย. 

แหกขนบอย่างไร? 

เป็นการสอบปากเปล่าโดยนักเรียนจะสุ่มเลือกคำหรือวลีที่มีจำนวนมากถึง 50 รายการขึ้นมา, จากนั้นให้นักเรียนอธิบายความหมาย, ใจความสำคัญและสิ่งที่เกี่ยวข้องกับคำหรือวลีที่ตนสุ่มได้มานั้นภายในเวลา 3 นาที. เมื่ออธิบายจบแล้ว, ครูจะถามคำถามอีก 2 ข้อและนักเรียนจะมีเวลาตอบคำถามเหล่านั้นอีก 2 นาที. ผมเห็นทีแรกก็ดีใจ (แอบใจฟูเบาๆ) และชื่นชมครูท่านนั้นที่คิดสร้างสรรค์และก้าวรุกบุกเบิกรูปแบบการสอบซึ่งแทบไม่ปรากฏให้เห็นในการศึกษาระดับมัธยมศึกษาของประเทศไทยเลย. 

การสอบปากเปล่าหรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า viva voce (ซึ่งเป็นภาษาละติน, แปลว่า with living voice – ด้วยเสียงสด) เป็นการประเมินความรู้ความสามารถของผู้เรียนด้วยรูปแบบการสัมภาษณ์. การทดสอบรูปแบบนี้พบบ่อยในการเรียนระดับปริญญาโทและเอก, หรือที่มักเรียกกันติดปากว่า สอบป้องกันวิทยานิพนธ์. ทว่า, นี่ไม่ได้หมายความว่าเราจะนำการสอบปากเปล่ามาใช้ในระดับมัธยมศึกษาไม่ได้.   

ผมเลยชื่นชมและเห็นว่านี่เป็นนิมิตหมายแห่งความก้าวหน้าทางการศึกษาประการหนึ่งที่มีครูคนหนึ่งคิดริเริ่มทดสอบนักเรียนในรายวิชาของตนเองเช่นนี้. อันที่จริงแล้ว, การสอบปากเปล่าไม่ใช่เรื่องใหม่ในประเทศที่การศึกษาพัฒนาและก้าวหน้าไปมากแล้ว.

ยกตัวอย่างเช่น, ในประเทศอังกฤษ, มีการสอบปากเปล่าเกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติในระดับมัธยมฯ. การสอบปากเปล่าเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ฝึกร้อยเรียงความคิดและเรียบเรียงคำพูดเพื่อสื่อสารให้ผู้อื่นเข้าใจได้. ครูเองก็สามารถตรวจสอบและประเมินความรู้ความเข้าใจ (ทั้งที่เข้าใจถูกและเข้าใจผิด) ของนักเรียนได้โดยทันทีผ่านคำตอบที่ตนเองได้รับมา. สมัยที่ยังเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย, ผมเคยใช้การสอบปากเปล่ากับนักศึกษาที่มาลงเรียนวิชาภาษาละตินกับผม, ซึ่งได้รับการตอบรับจากนักศึกษาเป็นอย่างดี.      

แต่ก็อย่างที่ผมได้พูดถึงแล้วข้างต้น, อยู่ในประเทศไทย, เราใจฟูได้ไม่นานหรอก. เพราะเมื่อผมได้เห็นรายการของคำและวลีในข้อสอบที่นักเรียนต้องอธิปรายนั้น, ผมก็เดาไว้ตั้งแต่แรกเลยว่าเดี๋ยวต้องมีคนหรือกลุ่มคนที่รักชาติหรือยึดมั่นในหน่วยงานหรือองค์กรอะไรบางอย่างออกมาโจมตีและสั่งห้ามเป็นแน่. ผมจึงเตรียมใจแฟบล่วงหน้าเอาไว้แล้ว. 

และมันก็เป็นเช่นนั้นจริง, ดั่งคำพยากรณ์! 

มีกลุ่มผู้พิทักษ์ฯ กลุ่มหนึ่งบุกไปที่โรงเรียนและยื่นเรื่องให้โรงเรียนพิจารณาระงับข้อสอบดังกล่าว. 

เหตุผลของพวกเขาก็คือคำและวลีข้อสอบในจำนวนหนึ่งอาจ “กระทบต่อความมั่นคงของชาติ”!  

รายการของคำและวลีเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญในปัจจุบันซึ่งเป็นประเด็นทางสังคมทั้งในและนอกประเทศ: การเมืองเป็นเรื่องของใคร, สถาบันกษัตริย์กับสังคมไทย, ยูเครน VS รัสเซีย, อำนาจนิยมในโรงเรียน, ๑๑๒ , มีลูกเมื่อพร้อม, พุทธพาณิชย์, สังคมไร้เงินสด, ความกดดันของคน Gen Z, Soft power. ผมเห็นรายการเหล่านี้แล้วยังอยากกระโดดเข้าห้องสอบด้วยทันที!

ช่างเป็นการทดสอบที่น่าตื่นเต้นและท้าทายมันสมองยิ่งนัก. ลองคิดดูว่า นักเรียนที่ผ่านการทดสอบเช่นนี้จะรู้เท่าและรู้ทันโลกขนาดไหน, ซึ่งการรู้เท่าทันเหตุการณ์ต่างๆ ในโลก, รู้จักคิดอ่านเหตุการณ์, ที่มาที่ไปและผลกระทบของมันอย่างมีวิจารณญาณคือเป้าหมายสูงสุดของวิชาสังคมศึกษา. 

ผมจึงไม่เห็นว่าการออกข้อสอบเช่นนี้จะเป็นการทำลายชาติตรงไหน!

ลองคิดดูว่า หากข้อสอบเพียงแค่นี้กระทบความมั่นคงของชาติได้จริง, ชาติต้องเปราะบางเพียงใดที่ข้อสอบระดับมัธยมฯ สามารถสั่นคลอนความมั่นคงของมันได้. ชาติหรือแก้ว, ทำไมถึงได้เปราะบางขนาดนี้. 

จริงๆ แล้ว, คำและวลีที่ชวนวิพากษ์ดังที่ปรากฏอยู่ในข้อสอบนั้นก้าวพ้นวิสัยของคำว่า “ชาติ” ไปแล้ว, ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการเสริมสร้างลักษณะแห่งการเป็นพลเมืองโลก, ซึ่งต้องรู้จักคิดและเผชิญกับมิติทางความคิดที่หลากหลายอย่างมีวิจารณญาณ.

ข้อสอบเช่นนี้มีลักษณะเปิดกว้างทางความคิด, ซึ่งปูทางให้นักเรียนรู้จักคิดนอกตำราและกล้าคิดกล้าแสดงความเห็นของตัวเองโดยไม่ตัดสินผ่านอคติหรือความเชื่อของครูว่านักเรียนจะต้องเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับตนเอง, ซึ่งแตกต่างจากการสอบด้วยรูปแบบเดิมๆ ที่จะต้องมีคำตอบที่ตายตัวและห้ามเห็นต่าง, ซึ่งขัดแย้งกับกระแสโลกาภิวัตน์ที่เป็นพลวัตอย่างไม่จบสิ้น.    

การทำลายชาติที่แท้จริงจึงอยู่ที่การยึดติดอยู่กับอดีตอย่างหน้ามืดตามัว, ไม่เปิดใจรับฟังปัจจุบันและเพิกเฉยต่อความเป็นไปได้ในอนาคต.

การยึดติดกับความเป็นชาติแบบเดิมๆ เช่นนี้จึงไม่มีประโยชน์อื่นใดนอกเสียจากจะยิ่งทำให้ความเป็นชาติเปราะบางและอ่อนแอลง, พร้อมจะพังครืนไม่ต่างจากเฟอร์นิเจอร์ไม้สวยงามที่ภายในว่างกลวงเพราะเนื้อไม้กลายเป็นอาหารอันโอชะของบรรดาปลวกและมอด และพร้อมจะหักพังลงโดยทันใดเมื่อมีคนไปนั่ง.   

ใครกันแน่ที่กำลังทำลาย “ความมั่นคงของชาติ”?


Writer

Avatar photo

กิตติศักดิ์ โถวสมบัติ

นักเขียน/นักแปล/ล่ามอิสระ เจ้าของเพจชวนคิด, ชวนตั้งคำถามและถ่ายทอดสรรพวิทยา The Wissensdurst.

Illustrator

Avatar photo

ชินารินท์ แก้วประดับรัฐ

มีงานหลักคือฟังเพลง งานอดิเรกคือทำกราฟิกที่ไม่มีอะไรตายตัว บางครั้งพูดไม่รู้เรื่องต้องสื่อสารด้วยภาพและมีม

Related Posts