Gamification

เมื่องานบ้านกลายเป็นเกม ไม่ต้องบังคับ ลูกสนุก บ้านก็สะอาด

  • Gamification ไม่ใช่เกมที่มีเป้าหมายเพื่อให้เกิดความสนุกสนาน แต่เป็นการทำความเข้าใจพฤติกรรมของมนุษย์ และนำเอากลไกของเกมมาเป็นแรงขับเคลื่อนพฤติกรรมให้เป็นไปตามเป้าหมาย โดยผู้เล่นเกม มีแรงจูงใจอยากทำพฤติกรรมนั้นด้วยตัวเอง หรือทำให้สนุกเหมือนกับการเล่นเกม
  • เรามาสามารถใช้ Gamification กับโจทย์ง่ายๆ อย่างการชวนเด็กวัย 12 ปีให้รับผิดชอบงานบ้านได้

“ว่าจะเลิกเล่นเกมนี้ละ แต่มันอีกนิดเดียวก็จะผ่านด่านนี้ได้”

“ซื้อกาแฟร้านนี้ เพราะมีบัตรสะสมแต้มของเขาอยู่ ซื้อ 10 แก้วจะได้ฟรี 1 แก้ว”

“เห็นไหมลูก อีกนิดเดียว ถ้าหนูทำงานบ้าน ครบ 10 ครั้ง เดี๋ยวเราจะได้ไปกินไอติมกัน”

“จองเครื่องบิน…แอร์ไลน์นะ เพราะว่าถ้าสะสมไปแล้วจะเป็นสมาชิกแบบ Platinum”

“ถ้าขายได้ถึงยอดเท่านี้นะ จะได้ขั้นมงกุฎเพชร”

พอได้ยินได้ฟังประโยคเหล่านี้ แต่ละคนก็จะมีสิ่งที่ผุดขึ้นมาในหัวแตกต่างกัน บางคนรู้สึกว่า “ไปเลย อีกนิดเดียวจะผ่านด่านได้แล้ว เอาเลย ทำเลย เย่! สู้!” บางคนรู้สึกตั้งคำถามว่า “เอ๊ะ การจะให้ลูกทำงานบ้าน ทำไมต้องให้ไอติมเป็นสินบน” หรือ บางทีการสะสมแต้มของร้านกาแฟก็ใช้ไม่ได้กับบางคน

เพราะอันที่จริง เราแต่ละคนถูกขับเคลื่อนด้วยแรงจูงใจที่แตกต่างกันไป วันนี้เราจะลองทำความเข้าใจแรงจูงใจของเราผ่านเลนส์ของการออกแบบการเรียนรู้โดยใช้เกมมิฟิเคชั่น (Gamification) กันดู

GAMIFICATION คืออะไร

Gamification ไม่ใช่เกมที่มีเป้าหมายเพื่อให้เกิดความสนุกสนาน แต่เป็นการนำเอาพฤติกรรมศาสตร์ (Behavioral Science) มาทำความเข้าใจว่ามนุษย์มีแรงจูงใจในพฤติกรรมต่างๆ อย่างไร แล้วนำเอากลไกของเกมมาเป็นแรงขับเคลื่อนพฤติกรรมของมนุษย์ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ ‘ผู้เล่นเกม’ มีแรงจูงใจอยากทำพฤติกรรมนั้นด้วยตัวเอง หรือทำให้สนุกเหมือนกับการเล่นเกมโดยมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดพฤติกรรมบางอย่าง

บางครั้งเราจึงเห็นแอพพลิเคชั่นเกมมิฟิเคชั่นที่ไม่มี ‘การเล่นเกม’ เป็นองค์ประกอบในนั้นเลย เช่น app วิ่ง หรือ app ลดน้ำหนัก แต่มีกลไกของเกมอย่างหลากหลาย ซึ่งในปัจจุบันนี้ มีการนำเอาศาสตร์เกมมิฟิเคชั่นไปใช้ในแวดวงต่างๆ ทั้ง ธุรกิจ สุขภาพ และการศึกษา เป็นต้น

แล้วเบื้องหลังของการออกแบบเกมมิฟิเคชั่นคืออะไร

พอพูดถึงสิ่งเหล่านี้เราก็จะ “อ๋อ” เราคุ้นเคยกับเกมมิฟิเคชั่นอยู่บ้างแล้วในชีวิตประจำวันของเรา เพราะเกมมิฟิเคชันเริ่มจากการนำเอา พฤติกรรมศาสตร์ (Behavioral Science) มาทำความเข้าใจพฤติกรรมของมนุษย์

ในความเป็นจริงเราอาจจะไม่ได้มงกุฎเพชร หรือ Platinum แต่การได้รับผลสะท้อนกลับ (feedback) ว่าพฤติกรรมของเราไม่ว่าจะเป็นการซื้อ หรือการขาย นั้นอยู่ในระดับใด เราย่อมรู้สึกพึงใจและอยากทำให้ดียิ่งขึ้น แน่นอนว่า แรงจูงใจหรือแรงขับเคลื่อนของเราย่อมแตกต่างกัน บางคนเป็น achiever การจูงใจแบบการใช้ leaderboard ที่แสดงให้เห็นว่าตนเองอยู่ลำดับเท่าไหร่ของการแข่งขัน หรือกลุ่มนี้ ย่อมสำคัญกับเขา

แต่ในขณะที่คนบางกลุ่มกลับไม่สนใจการแข่งขันใดๆ แต่สนใจการมีตัวตนอยู่ในชุมชน หรือกลุ่มที่อยู่ การได้พัฒนา Avatar หรือการปลดล็อคเพื่อเข้าไปอยู่ในระดับใดระดับหนึ่งร่วมกับคนกลุ่มหนึ่งจึงอาจมีความหมายกับเขา และเป็นแรงกระตุ้นพฤติกรรมของเขาได้

เรามาลองใช้องค์ประกอบของ เกมมิฟิเคชั่น กับโจทย์ง่ายๆ อย่างการชวนเด็กวัย 12 ปีให้รับผิดชอบงานบ้านกัน

Score or Token ให้แต้มเมื่อลูกทำงานถ้าลูกทำงานอะไรก็ตามเสร็จ 1 งาน จะได้ 1 แต้ม / ทำเสร็จ 5 งาน ได้ 5 แต้ม ให้คะแนนจากความสะอาด หรือความละเอียดในการทำงานบ้าน เช่น “ถ้าคะแนนถูบ้านเต็ม 10 วันนี้ลูกได้ 7 คะแนนจ๊ะ อีกนิดเดียวก็ได้คะแนนเต็มแล้ว พรุ่งนี้พยายามเพิ่มขึ้นนิดนึงนะ”
Badges or Achievement การบอกระดับการกำหนดเป้าหมายหลายๆ รูปแบบเอาไว้ เพื่อให้ลูกมีตัวเลือก เช่น 
ด้านความสะอาด (ลูกจะได้แต้มนี้เมื่อทำได้สะอาดสุดๆ) 
ด้านความรับผิดชอบ (ลูกจะได้แต้มนี้เมื่อลุกขึ้นมาทำโดยไม่ต้องเรียก)
Gifting มอบรางวัลเมื่อลูกทำครบถ้วนตามข้อตกลง อย่าลืมให้รางวัลเขา เช่น
ถูบ้านครบ 21 วัน จะได้ไอศกรีม 1 แท่ง ดูหนังในโรงหนัง 1 เรื่อง
Leaderboard แสดงอันดับคะแนนการทำตารางอันดับคะแนนในบ้านอาจจะเป็นการเชิญชวนคนในครอบครัวมาทำงานบ้านด้วยกัน แล้วเก็บแต้มความรับผิดชอบด้วยกัน การทำแบบนี้จะเหมาะกับเด็กๆ ที่ชอบหรือรู้สึกตื่นตัวเมื่อมีการแข่งขัน

ตัวอย่างข้างต้นเป็นการนำเอาองค์ประกอบง่ายๆ ของ เกมมิฟิเคชั่นมาใช้กับโจทย์เล็กๆ ดู อันที่จริงแล้วการออกแบบกระบวนการเกมมิฟิเคชั่นอาจจะไม่ได้เรียบง่ายแบบนี้เสมอไป เพราะการออกแบบจำเป็นต้องทำความเข้าใจกลุ่มเป้าหมายอย่างละเอียด เข้าใจระบบคิด แรงจูงใจ หรือพฤติกรรมบางอย่าง เพื่อออกแบบกระบวนการที่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเน้นการใช้รางวัล (gifting) ซึ่งเป็นการจูงใจภายนอกมากเกินไป ก็อาจจะทำให้ผู้ใช้ขาดโอกาสในการค้นหาแรงจูงใจภายในอย่างแท้จริง

ดังนั้นหากคุณพ่อคุณแม่จะนำเอาวิธีการอย่างเกมมิฟิเคชั่นไปใช้จูงใจเด็กๆ ที่บ้าน เช่น การให้รางวัลเมื่อเด็กรับผิดชอบทำงานบ้าน หรือ motivation chart ต่างๆ ซึ่งเป็นการจูงใจภายนอก (extrinsic motivation) ซึ่งสามารถกระตุ้นพฤติกรรมในทางบวกได้

แต่ก็ขอให้ระลึกว่าสิ่งที่ดีที่สุดคือการที่เด็กสามารถสร้างแรงจูงใจภายในได้ด้วยตนเอง (intrinsic motivation) การพูดคุยเพื่อให้เด็กๆ เข้าใจถึงว่าทำไมเขาจึงต้องทำงานบ้าน การรับผิดชอบในการทำงานบ้านจะมีส่วนช่วยครอบครัวอย่างไร และการมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนจะส่งผลต่อชีวิตเขาในอนาคตได้อย่างไร จะทำให้เด็กๆ พัฒนาความเข้าใจภายในตัวเขา ควบคู่ไปกับพฤติกรรมที่ค่อยๆ ปรับไปด้วยการจูงใจภายนอก


Writer

Avatar photo

mappa learning

Related Posts