‘แวรุง ไปไหน’ : สองวัยรุ่นจากสามจังหวัดชายแดนใต้ที่ลุกขึ้นมาทำสื่อสร้างสรรค์ และวันที่ ‘แวรุง’ อยากขับเคลื่อนบ้านเกิด

ยี-บูคอรี อีซอ เป็นชาวมุสลิมที่เติบโตมาท่ามกลางวัฒนธรรมของชาวมุสลิมแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ เขาเรียนในโรงเรียนสอนศาสนาควบสามัญ เคยเขินเมื่อต้องไหว้ตอนที่เจอชาวไทยพุทธเพราะคุ้นเคยกับการสลามมากกว่า และเคยไม่รู้ว่าการไปโบสถ์พุทธนั้นต้องก้าวข้ามธรณีประตู

ขณะที่ กิ๊ฟ-กรวรรณ ภูริวัฒน์ เป็นชาวไทยพุทธในนราธิวาสที่ก็แทบไม่รู้อะไรเกี่ยวกับวัฒนธรรมของชาวมุสลิมเช่นกัน จนกระทั่งวันที่เธอได้รู้จักกับยีตอนทำโปรเจคขณะเรียนมหาวิทยาลัย ปี 4 ก่อนที่จะมาทำเพจบอกเล่าเรื่องราวน่าสนใจในสามจังหวัดชายแดนใต้ด้วยกัน

‘แวรุง ไปไหน’ คือสื่อออนไลน์ที่มีกิ๊ฟและยีเป็นทั้งผู้ดำเนินรายการ ตากล้อง กราฟิก ตัดต่อ และสารพัดหน้าที่ที่พวกเขาทำเองทั้งหมด คำว่า ‘แวรุง’ หมายถึง วัยรุ่น ในสามจังหวัดชายแดนใต้ แม้จะมีความหมายไปในทางลบเหมือนอย่างคำว่า “เด็กแว๊น” มากกว่า แต่แวรุงสองคนนี้กลับทำสื่อสร้างสรรค์ที่ทั้งตลก น่ารัก เข้าถึงง่ายจนมีผู้ติดตามมากมายทั้งในเฟซบุ๊กและ TikTok ขณะเดียวกันคอนเทนต์ของพวกเขาก็เป็นเรื่องราวดี ๆ ที่ไม่มีดราม่าและไม่ได้เน้นเพียงแค่ความตลก เพราะจุดประสงค์ที่แท้จริงของพวกเขาก็คือการทำให้ผู้คนได้เห็นอีกแง่หนึ่งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แง่มุมที่สวยงาม วัฒนธรรมที่รุ่มรวย เรื่องราวและวิถีชีวิตที่น่าสนใจของผู้คนในสามจังหวัดชายแดนใต้ซึ่งบางครั้งพวกเขาเองก็ยังไม่เคยเห็นมาก่อน และน้ำจิตน้ำใจของผู้คนในบ้านเกิดเมืองนอน  

เรานัดพบกับเพื่อนรักชาวไทยพุทธกับมุสลิมทั้งสองคนที่คาเฟ่แห่งหนึ่งในนราธิวาส ตั้งใจไว้ว่าจะให้กิ๊ฟและยีพาเราทัวร์นราธิวาสในหนึ่งวัน แรกเริ่มเดิมทีเราจึงวาดภาพบทสัมภาษณ์นี้เป็นบันทึกการท่องเที่ยวกับแวรุง ไปไหน ทว่าเมื่อได้พูดคุยกับกิ๊ฟและยีถึงที่มาที่ไปของแวรุง ไปไหน และเห็นแววตาเป็นประกายทุกครั้งที่กิ๊ฟและยีเล่าถึงความน่าสนใจของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เราฟัง บทสัมภาษณ์ว่าด้วยเรื่องการทำสื่อสร้างสรรค์และความเป็น ‘แวรุง’ ที่รักในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เริ่มขึ้น       

เมื่อสองวัฒนธรรมมาบรรจบ

‘นาซิดาแฆ’ (ข้าวมันแกงไก่) อาหารพื้นเมืองของสามจังหวัดชายแดนใต้ตั้งรอเราอยู่แล้วตอนที่เราไปถึง แปลกดีที่พอแนะนำตัวกันเสร็จสรรพ บทสนทนาของเรากลับไม่ได้เริ่มต้นด้วยเรื่องของการทำเพจ แต่เริ่มด้วยคำว่า ‘สั่งชาที่นี่ต้องสั่งหวานน้อยนะ’ ของกิ๊ฟ ก่อนที่ทั้งกิ๊ฟและยีจะช่วยกันเล่าว่า ในอดีตน้ำตาลถือเป็นของมีค่าสำหรับชาวสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้อาหารหลาย ๆ อย่างมีรสชาติหวานเพื่อเป็นการแสดงฐานะ พอเล่าเรื่องน้ำตาลจบ กิ๊ฟและยีต่างก็สอนคำศัพท์พื้นฐานของชาวสามจังหวัดชายแดนใต้ให้กับเรา เด๊ะ แปลว่า น้อง ก๊ะ แปลว่า พี่สาว แบ คือ พี่ชาย ป๊ะและมะ หมายถึง พ่อกับแม่

กว่าบทสนทนาจะมาถึงเรื่องการพบเจอกันของสองเพื่อนซี้ที่โตมาท่ามกลางวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน เราก็ได้ศัพท์ไปถึง 4 คำแล้ว

เริ่มทำเพจนี้ได้ยังไง

ยี: จริง ๆ ผมเริ่มทำตั้งแต่ไม่รู้ว่าสิ่งที่ตัวเองทำเรียกว่าอะไร สมัยนั้นรู้จักแค่เน็ตไอดอล ผมไม่ได้หล่อเหมือนเขา แต่ผมก็อยากทำ เพราะผมเรียนนวัตกรรมการออกแบบ ก็เลยเริ่มทำคลิปตลกเรื่อย ๆ ไม่ได้มีคอนเซปต์อะไร พอยุคที่เริ่มมีเพจก็เลยไปสร้างเพจชื่อ ‘แวรุง’ เป็นภาษามลายูแปลว่า ‘วัยรุ่น’

กิ๊ฟ: แต่ภาพลักษณ์คำว่า ‘แวรุง’ จะเป็นแบบเด็กแว๊น คือภาพลักษณ์ไม่ดีเลย

ยี: เราก็เป็นวัยรุ่นเลยสงสัยว่าทำไมพอพูดว่า ‘แวรุง’ เขามองว่าเด็กไม่ดี เลยทำคอนเทนต์เกี่ยวกับเยาวชน ถ่ายวิถีชีวิต ทำ ๆ ไปก็รู้สึกว่าผมอยู่กับตัวเองมากเกินไป ผมบอกว่าเพจผมเป็นพหุวัฒนธรรมแต่ผมก็ทำแค่เรื่องมุสลิม ไม่ได้ตอบโจทย์คำว่า ‘แวรุงไปไหน’ เพราะเรารู้เรื่องศาสนาเรา เราเลยเล่าในมุมของเรา แต่เราไม่เคยไปถามคนอื่นว่าอยากจะรู้วิถีชีวิตอย่างอื่นไหม เลยชวนกิ๊ฟมาทำด้วย เพราะเราจะได้รู้ว่าไทยพุทธเป็นยังไง ตอนที่ไปชวนกิ๊ฟก็ตั้งใจมาก ๆ ว่าเพจควรมีสองศาสนา ไม่ใช่มีแค่ศาสนาเดียว

กิ๊ฟกับยีทำเพจกันแค่สองคนหรือเปล่า

ยี: จริง ๆ มีน้องชายเป็นตากล้องอีกคน แต่ตอนนี้เหลือสองคนเพราะน้องไปเป็นทหาร

กิ๊ฟ: ส่วนใหญ่กิ๊ฟเป็นพิธีกรเพราะยีจะรู้มุมกล้อง รู้ว่าต้องพูดอะไร เขาคุมภาพรวมได้ แต่บางทีไปกับเพื่อนก็ให้เพื่อนช่วยถ่าย หรือถ้าไปสองคนก็ให้แม่ค้าช่วยถ่าย ‘ก๊ะ ๆ ถือกล้องให้หน่อย’ เขาก็จะหัวเราะ กล้องก็จะสั่นมากเลย แต่ก็น่ารักดีค่ะได้ภาพอีกมุมนึง

ยี: งานล่าสุดเป็นงานมลายูแต่ผู้ชายห้ามเข้า ก็ให้กิ๊ฟไปคนเดียว ให้แม่ค้าถ่ายให้ มันมีสีสันมาก เขาแต่งตัวจัดเต็มกันเลย

กิ๊ฟ: กิ๊ฟพูดภาษามลายูด้วย ตอนนี้เริ่มเซียนแล้ว เริ่มพูดได้ เพิ่งมาเรียนรู้หลัง ๆ เวลาเขาพูดอะไรพอเราแปลไม่ได้ก็ขัดใจ ยีก็ไม่รู้จะแปลเป็นไทยยังไง บางหมู่บ้านเขาพูดภาษาไทยไม่ได้เลย ซึ่งเราก็อยากได้ข้อมูลบางอย่างที่เขาเล่า ยีมันแปลไม่รู้เรื่อง (หัวเราะ)

คนอื่น ๆ ดูคลิปของ แวรุงไปไหนแล้วเขารู้สึกยังไง

ยี: ก็คงเหมือนดูคลิปจากต่างประเทศเพราะภาษาหรืออากาศของที่นี่ไม่เหมือนที่อื่น มันเหมือนมาเลเซียมากกว่า  

กิ๊ฟ: เมื่อก่อนไม่รู้เลยว่าตัวเองรีวิวของกินได้ ใครจะไปรู้ว่ากินแล้วคนจะดู แต่ก็เริ่มมีหลาย ๆ คนมาบอกว่ากิ๊ฟกินแล้วดูอร่อย ยีเลยบอกว่า ลองถ่ายอาหารดูสิ พอถ่ายแล้วคนดูเยอะ คนชอบการกินของเรา เราเลยคิดกระบวนการถ่ายอาหารไปเลย เราเน้นเป็นอาหารฮาลาลที่ไทยพุทธก็กินได้และอาหารในพื้นที่ที่เป็นอาหารแปลก ๆ ซึ่งหลาย ๆ คนไม่ค่อยเห็น คนในเองก็ไม่รู้ว่ามีสิ่งนี้ ทั้งที่เขาก็ขายมาอยู่แล้ว เราก็เลยไปเสาะหา อย่างขนมกอและลือเมาะ เป็นขนมหวาน ที่มีข้าวสารบดและหัวกระทิ มีไส้เป็น มะละกอ ตะไคร้ ขิง หอมแดง กระเทียม วุ้นเส้น ปลา เป็นขนมโบราณที่ขายดีมาก และแปลกมาก เราก็เป็นเด็กรุ่นใหม่ เรากินไม่เป็น เลยไปเรียนรู้วิธีทำกับคนรุ่นก่อน ก็เหมือนเราได้เรียนรู้ทั้งวิธีการทำและได้ส่งเสริมอาหารโบราณไปด้วย หลังจากนั้นเราเลยแตะเรื่องอาหารมากขึ้น เพราะอาหารมันทำให้เราเห็นวัฒนธรรมและบริบทหลาย ๆ อย่างในพื้นที่

การทำเพจทำให้เราได้รู้อะไรเกี่ยวกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เพิ่มขึ้นไหม

กิ๊ฟ : ใช่ บางอย่างเราก็ไม่รู้มาก่อน เหมือน ‘ตูปะซูตง’ กิ๊ฟก็เพิ่งมารู้ตอนทำเพจเพราะกิ๊ฟเป็นไทยพุทธ ส่วนใหญ่ที่บ้านกิ๊ฟก็กินเกาเหลา แกงจืด อาหารไทย ๆ แต่พอเรารู้จักมุสลิมมากขึ้น เราก็รู้จักขนมแปลก ๆ เยอะขึ้น แล้วก็เอามาให้แม่ชิม แม่เราก็เพิ่งรู้ว่าอิสลามเขากินกันแบบนี้ทั้งที่อยู่จังหวัดเดียวกัน

ยี: ตอนแรกผมทำกระบวนการคิดโดยใช้สายตาคนใน มันไม่เห็นเลยว่าที่บ้านมีอะไรดีบ้าง พอผมถาม เขาก็จะบอกว่าไม่มีนะ เพราะเขาเคยชินกับสิ่งนั้น แต่พอถามว่า มีน้ำตกไหม ก็มีนะ พอเราตามไปดูก็รู้เลยว่านี่แหละขายได้ คือมันมีแต่เขาคิดว่ามันธรรมดา แต่พอเราใช้การตลาด ใช้ภาพ ใช้วิดีโอมาผลิตเป็นชิ้นงานออกมา มันก็ขายได้

กิ๊ฟกับยีเรียนรู้การทำสื่อที่เปิดกว้างและสร้างสรรค์แบบนี้มาจากไหน

ยี: เราเปิดทุกเรื่อง แม้แต่เรื่องศาสนา เราเข้าหาทุกกลุ่มได้หมดเลยเพราะเราอยากเรียนรู้ แล้วเราก็มาถอดรหัสว่าเขาคิดอะไรอยู่ ทำอะไรอยู่ การที่เราไปหาประสบการณ์ตรงนี้มันเลยหล่อหลอมเรา

กิ๊ฟ: อาจจะเพราะพ่อแม่กิ๊ฟด้วยมั้ง พ่อจะสอนว่า ถ้าอยากทำอะไร ทำ อยากนับถือศาสนาอะไรก็ทำ จริง ๆ กิ๊ฟเป็นไทยพุทธ แต่ลองเปลี่ยนมานับถือคริสต์ตอน ม.ต้น คนเดียวในบ้าน แม่ก็ตีว่าทำไมไม่ไหว้พระ แต่พ่อบอกว่า ปล่อยไป เราก็เห็นความเปิดของพ่อ แล้วเขาก็เล่าว่า ป๊าอ่านอัลกุรอานด้วยนะ ภาษามลายูก็พูดได้ พอเราถามว่าทำไมพูดได้ ป๊าก็บอกว่า เรียนรู้สิ เพื่อนก็เยอะแยะ กิ๊ฟเลยเห็นพ่อเป็นไอดอล กิ๊ฟรู้สึกว่าการพูดได้หลายภาษาไม่ใช่แค่ความเจ๋ง แต่เราจะมีความเป็นพวกพ้องกันมากกว่า เราจะกลมกลืนมากกว่า แล้วเขาจะเอ็นดูเรามากถ้ารู้ว่าเราเป็นไทยพุทธที่พูดมลายูได้

ยี: เมื่อก่อนผมอยู่แต่ในโลกของมุสลิมเลย เรียนศาสนาควบคู่สามัญ ไม่มีเพื่อนเป็นไทยพุทธเลย กระทั่งเข้ามหาวิทยาลัยที่เพิ่งมารู้ว่าโลกมันกว้าง เพิ่งมารู้ว่ามันมีความหลากหลาย และมันอยู่ในชีวิตเรามานานแล้ว ทั้งภาษา ศาสนา วิถีชีวิต ผมเลยได้รู้ว่าจริง ๆ แล้วสังคมมันมีความหลากหลายและเราสามารถอยู่ร่วมกันกับเพื่อนต่างศาสนาได้ แล้วยิ่งเมื่อก่อนผมโลกส่วนตัวสูงด้วย อยู่แค่ในกรอบของตัวเอง ก็เพิ่งมารู้จากกิ๊ฟ จากเพื่อนคนอื่น ๆ ว่า ชีวิตมันสนุกนะ เราก็ยังสามารถนับถือศาสนาของเราได้ แต่เราก็เรียนรู้โลกกว้างได้ มันสบายใจขึ้นเพราะทุกคนคือเพื่อน

บ้านหลังใหญ่ที่เรารักมาก

หลังชิมสารพัดชาและนาซิดาแฆแล้ว หมุดหมายถัดมาของเราคือร้านไก่ฆอและเจ้าดัง อาหารท้องถิ่นอีกอย่างหนึ่งซึ่งขายอยู่ใกล้กับวงเวียนอนุสาวรีย์นกกระดาษสันติภาพ สิ่งที่จู่โจมเราเร็วพอ ๆ กับกลิ่นหอมของไก่ย่าง ก็คือรอยยิ้มเป็นมิตรของ ‘มะ’ ผู้เป็นเจ้าของร้าน

“เราอยากให้ทุกคนรู้สึกอย่างที่เรารู้สึก” คือคำตอบของกิ๊ฟเมื่อถามว่าเพราะอะไรทั้งยีและกิ๊ฟจึงเห็นคุณค่าของหลายสิ่งหลายอย่างในพื้นที่สามจังหวัดขายแดนภาคใต้และจดจำเรื่องราวต่าง ๆ ได้ดีราวกับเป็นสารานุกรมเคลื่อนที่ “ไม่ต้องรู้สึกรักก็ได้” เธอว่าแบบนั้น ไม่ต้องรู้สึกรักก็ได้ แต่เธออยากให้คนนอกพื้นที่รู้ว่า ภายใต้ภาพข่าวที่มีเพียงเสียงปืนและระเบิด สามจังหวัดชายแดนใต้ยังรุ่มรวยด้วยวัฒนธรรม ที่เที่ยวมากมาย ของกินหลากหลาย และที่มากไปกว่านั้นก็คือความน่ารักและน้ำใจที่ผู้คนในพื้นที่พร้อมหยิบยื่นให้กันและกันเสมอ

สิ่งนั้นได้รับการพิสูจน์ด้วยไก่ฆอและที่กิ๊ฟและยีรับมาจากมะอย่างเต็มไม้เต็มมือ ส่วนหนึ่งซื้อ อีกหลายไม้… แถม

ได้ทำเรื่องภาพลักษณ์สามจังหวัดในสายตาคนพื้นที่อื่นบ้างไหม

ยี: ทำอยู่คลิปเดียว มันเกี่ยวกับเหตุการณ์ความรุนแรงก็จริง แต่ในนั้นก็มีเรื่องบวกมากกว่า เปิดคลิปมาว่าบ้านเรามีระเบิด แต่ปิดท้ายว่าลองมองอีกมุมหนึ่งดูสิ แล้วก็เล่าว่า ภูเขาเราก็มี น้ำตกเราก็มี มีทุกอย่าง ไม่ได้มีแค่ระเบิด

กิ๊ฟ: เราอยากสื่อสารว่าทำไมไม่นำเสนออีกมุมหนึ่งบ้าง ทำไมพูดแค่ด้านเดียว เมื่อก่อนเวลาเราเรียนเราต้องค้นเรื่องบ้านเราในกูเกิ้ลว่าเป็นยังไง พอค้นชื่อ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา ก็มีแต่รูประเบิด แต่พอลองไปเปิดดูของพัทลุง นครศรีธรรมราช สงขลา มีแต่ทะเลสวยงาม เราเลยอยากมีภาพสวย ๆ บ้าง

ยี: เราเลยไปคิดว่า จะทำยังไงให้รูปเราไปอยู่ในกูเกิ้ลได้บ้าง เลยรู้ว่ามันต้องไปเปิดเว็บ ไปเขียนพันทิป เราก็เขียน ตอนนี้ก็เลยมีอยู่บางภาพแต่ก็ยังสู้เขาไม่ได้ (หัวเราะ)

เราสังเกตว่ากิ๊ฟกับยีจดจำเรื่องราวและรู้ลึกมาก ขับรถผ่านที่ไหนก็อธิบายได้หมด เลยอยากรู้ว่าอะไรที่ทำให้เราเห็นค่าและสนใจสิ่งที่อยู่ในพื้นที่นี้

กิ๊ฟ: เราอยากให้ทุกคนรู้สึกเหมือนที่เรารู้สึก

ยี: เราเกิดในนราธิวาส แต่เราไม่เคยคิดว่าเราเป็นคนนราธิวาส เราคิดว่าเราเป็นคนปัตตานี เป็นคนยะลา เป็นคนทั้งสามจังหวัด นี่คือบ้านหลังใหญ่ที่เรารักมาก เมื่อมันเกิดภาพเหตุการณ์ความรุนแรง เราก็อยากจะสร้างคอนเทนต์ให้รู้ว่าสมัยก่อนเขาอยู่กันได้ ไม่มีเหตุการณ์ ไทยพุทธกับมุสลิมก็อยู่กันได้ แล้วทำไมมิตรภาพตรงนี้มันหายไป เราพยายามสร้างความรู้สึกเป็นมิตร ปรองดองกัน เพราะไม่มีศาสนาไหนที่สอนว่าเราต้องฆ่ากันหรือเราต้องโกรธอีกศาสนาหนึ่ง ทุกศาสนาคือสันติ  

ที่บอกว่า “อยากให้ทุกคนรู้สึกเหมือนที่เรารู้สึก” ความรู้สึกนั้นคืออะไร

กิ๊ฟ: รู้สึกรักบ้านเรา ไม่ต้องรู้สึกรักก็ได้ แต่อยากให้เห็นว่าเราภูมิใจมากนะที่เราเกิดมาเป็นคนนราธิวาส ไม่ว่าเราจะไปที่ไหน เราก็รู้สึกว่ายังไงก็ยังอยากกลับมานราธิวาสอยู่ดี ตอนเรียนจบมัธยมเคยคิดนะว่าฉันต้องไปอยู่กรุงเทพฯ ให้ได้ เลยลองไปทำงานที่กรุงเทพฯ ดูสามเดือน ไม่ชอบเลย มันวุ่นวาย ระยะทางนิดเดียว ทำไมต้องนั่งรถเมล์ ใกล้แค่นี้ทำไมต้องเสียตังค์ บางทีอยากไปเดินตลาดก็ไม่มีของแถม (หัวเราะ) ถ้าเป็นบ้านเราเขาจะถามสารทุกข์สุกดิบกัน เหมือนที่มะที่ขายไก่ฆอและถามกิ๊ฟว่า “พวกนี้คนกรุงเทพฯ เหรอ ไก่เพิ่งทำใหม่ ๆ เดี๋ยวแถมให้” เราอยากให้รู้สึกแบบที่เรารู้สึกว่าบ้านเราน่ารักนะ

อย่างวันก่อนกิ๊ฟก็พายูทูปเบอร์คนหนึ่งมาเที่ยว ก็มาเจอชาวบ้านเขาตกได้ปลาโฉมงามตัวใหญ่มากแล้วเอามาขายในราคาถูก ชาวบ้านเขาก็บอกว่า “เหลือตัวสุดท้ายแล้วเอาไปเลย เดี๋ยวแบแถมปลาให้อีก” มันมีความน่ารักของชาวบ้าน เขาจะดีใจมากถ้ามีคนจากที่อื่นมา เมื่อกี๊เขาก็แถมไก่ฆอและให้ แถมตั้งหลายอย่าง ข้าวเหนียวก็ไม่คิดตังค์

ยี: พอรู้ว่าไม่ใช่คนที่นี่ แถมได้แถม ให้ได้ให้ เพราะเขาอยากให้มาอีก ไม่ใช่แค่ยูทูปเบอร์หรืออินฟลูเอนเซอร์นะครับ คนธรรมดาเขาก็ต้อนรับแบบนี้ บางทีถ้าไปร้านน้ำชา อยู่ดี ๆ ก็จะมีคนจ่ายให้แบบไม่บอก เขาจะเลี้ยงโดยอัตโนมัติ อาจเพราะศาสนาด้วยมั้งที่สอนว่าต้องดูแลนักเดินทาง เขาเลยอยากเลี้ยง    

คิดว่าสักวันหนึ่งจะไม่เหลืออะไรให้ทำคอนเทนต์ไหม

ยี: ไม่ ทำมาสี่ปีแล้วก็ยังไม่หมด

กิ๊ฟ: บางคนก็ถามว่าทำไมไม่ทำภาษามลายู เราก็บอกว่าเราไม่ได้อยากจะให้คนในรู้จักอย่างเดียว เราอยากให้คนนอกรู้จักบ้าง จนตอนนี้เพจเรากลุ่มเป้าหมายรองจากสามจังหวัดชายแดนใต้ก็คือ กรุงเทพฯ

ยี: ใน TikTok ก็มีมาเลเซียมาดูเยอะ

กิ๊ฟ: เดี๋ยวนี้เลยต้องพูดภาษามลายูด้วย เพราะมาเลเซียบอกว่าอยากจะเข้าใจบ้าง บางทีเขาก็พิมพ์ภาษาคาราโอเกะมาด้วย

การผสมผสานของคอนเทนต์ละเมียดกับคอนเทนต์กระแส

1.9 ล้าน คือจำนวนไลก์โดยรวมของช่อง ‘แวรุง ไปไหน’ ใน TikTok ขณะที่เฟซบุ๊กแฟนเพจก็มียอดไลก์กว่า 4 แสนไลก์ ตัวเลขเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าคอนเทนต์ของแวรุงไปไหนเป็นที่ถูกใจของหลาย ๆ คน และเรียกได้ว่า ‘แวรุง ไปไหน’ เองก็เป็นช่อง ‘แมส’ อีกช่องหนึ่ง

แต่ท่ามกลางกระแสการทำคอนเทนต์แมส ๆ ในยุคนี้ที่เน้นความตลก และคลิปวิดีโอไวรัลทั้งหลายที่หากไม่เอาดรามาเข้าว่า ก็มักจะเน้นความสั้นและง่าย คลิปของ ‘แวรุง ไปไหน’ กลับมีการนำเสนอคล้ายกับสารคดีและสอดแทรกสาระความรู้ไว้มากมาย โดยเฉพาะวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่พวกเขาอยากนำเสนอ

ที่จริงการทำคอนเทนต์มีสาระก็อาจไม่ยากเกินไปนัก และการปั้นคอนเทนต์ให้แมสก็ใช่จะเป็นเรื่องท้าทายจนเกินไป แต่สิ่งที่ท้าทายจริง ๆ ก็คือการหาสมดุลระหว่างการทำคลิปเชิงสารคดีอย่างที่พวกเขาอยากจะทำ กับการทำคอนเทนต์ให้เข้าถึงง่าย ตลก และสนุกจนฮุกคนดูได้อยู่หมัดแบบที่ทั้งกิ๊ฟและยีทำได้ต่างหาก

ปกติกิ๊ฟกับยีชอบดูสื่อไหนหรือมีใครเป็นแรงบันดาลใจไหม

ยี: ชอบดูของ Thai PBS ที่เป็นซีรีส์วิถีคน

กิ๊ฟ: เรารู้สึกว่าของเขามันดูจริงแล้วเราชอบ เราชอบดูสารคดีมากกว่าที่เป็นคอนเทนต์  

ยี: แล้วเราก็มาปรับให้มันสนุก จริง ๆ ไม่ได้จำกัดว่ามันต้องเป็นสื่อไหนหรือช่องไหน แต่เป็นอะไรก็ได้ที่เราสนใจ ณ ตอนนั้น

กิ๊ฟ: ที่กิ๊ฟชอบจะเป็นอะไรที่เกี่ยวกับชุมชน เกี่ยวกับผู้คน เพราะรู้สึกว่ามันมีเสน่ห์แล้วกิ๊ฟก็ไม่อยากให้มันหายไป เหมือนเวลาเขาเล่าเขาจะเล่าถึงเรื่องอาหาร เรื่องวิถีชีวิตหลาย ๆ มุม เราไม่ค่อยชอบคอนเทนต์ครีเอเตอร์แบบที่ทำอยู่ทุกวันนี้

ยี: ชอบเมื่อก่อนมากกว่าเพราะมีกระบวนการการทำคอนเทนต์ที่มันละเอียด แต่ปัจจุบันเราเองก็ถูกกลืนไปเหมือนกัน พอมันเป็นอาชีพมันก็ต้องตามเทรนด์ ต้องตลก ต้องพลังงานเยอะ ๆ เพราะพอเน้นเนื้อหาอย่างเดียว มันก็จำกัดกลุ่มคน ทั้งที่ข้อมูลแบบนี้มันโคตรมีประโยชน์ แต่ผมต้องอยู่กับสปอนเซอร์ ต้องอยู่กับยอดวิว เลยต้องกลืนไปกับคอนเทนต์ไวรัลบ้าง คอนเทนต์ที่เราอยากทำบ้างให้มันมีสมดุล สัปดาห์นี้เราทำสิ่งที่เราชอบ อีกสัปดาห์ก็ตามกระแสบ้าง ที่อยากทำจริง ๆ คืออยากทำเชิงสารคดีเลย ไปแบบเราไม่รู้ ไม่มีสคริปต์แต่เรามีคอนเซปต์ว่าเราอยากเล่าเรื่องนี้นะ เราก็ไปแล้วก็ค่อยมาร้อยเรียงเรื่อง

ยกตัวอย่างคลิปที่ทำแล้วชอบได้ไหม

ยี: ไปดูวิธีการทำน้ำตูเวาะ น้ำตาลโตนด ไปดูว่ากระบวนการมันทำยังไง

กิ๊ฟ: เมื่อก่อนเรามีรายการแยกออกมาจากเพจด้วย ชื่อว่า ‘เรื่องเล่าบ้านเรา’ แล้วก็จะเล่าเรื่อง เช่น การทำเรือฆอและ ทำกริช การทำหลังคากระเบื้องดินเผาที่เหลือที่เดียวในสามจังหวัด แล้วก็เล่ากระบวนการทำ เล่าแบบนั้นแล้วเรารู้สึกว่ามันมีคุณค่า แล้วตัวเราที่ทำสื่อก็ภูมิใจว่าบ้านฉันมีแบบนี้นะ ช่วยกันอนุรักษ์เอาไว้นะ งานเราที่ออกมาก็มีคุณค่า คนดูเขาต้องได้อะไรแน่ ๆ

เราสร้างสมดุลระหว่างการเป็นสื่อแมสกับจุดยืนความเป็นตัวเรายังไง

ยี: จุดยืนของเราก็ยังอยู่ เป็นโปรดักชันที่คราฟท์อยู่ ตั้งใจทำอยู่ แต่ที่ยอมตามกระแสบ้างเพราะเราอยากมีพื้นที่ที่คนรู้จักมากขึ้น ไม่ได้มีเฉพาะกลุ่มที่ดูแค่สารคดี เราอยากได้กลุ่มอื่นด้วย เรายอมตลกก็ได้

กิ๊ฟ: เหมือนคนที่เขาชอบดูแบบนั้น พอเราสอดแทรกสาระเข้าไป เขาก็มาดูแบบที่เราต้องการด้วย เราเลยพยายามเอาใจเขาบ้าง อย่างเด็ก ๆ ก็ให้เขาได้เลื่อนไปดูคลิปเราในมุมมองที่เราอยากให้เขาเห็น ช่วงหนึ่งกิ๊ฟคิดว่าทำไมเพจเราดูปลอม เพราะจริง ๆ กิ๊ฟไม่ได้เป็นคนเรียบร้อย บางทีก็อยากพูดคำหยาบบ้าง แต่ถ้าเด็กดูแล้วเราจะพูดคำหยาบไม่ได้ เราเป็นสื่อสาธารณะ เราก็ต้องสร้างภาพลักษณ์ให้เด็กจำว่าแบบนี้ถึงจะเป็นเน็ตไอดอลหรือเป็นไอดอลให้กับเขาได้

มองเห็นทิศทางของเพจแวรุงเป็นยังไงต่อ

ยี: โมเดลแรกคือผมพยายามให้คนในเห็นก่อนเพราะผมไม่ได้เป็นอินฟลูเอนเซอร์แต่แรก ผมเลยให้คนในจังหวัดแชร์กันเอง จนเริ่มเป็นสามจังหวัด เริ่มไปสงขลา หลังจากนั้นเราก็ไปเที่ยวเชียงใหม่ เอาคนนอกมารู้จักคนบ้านเราด้วย

กิ๊ฟ: แล้วให้เราไปรู้จักคนนอกด้วยว่าเขาใช้ชีวิตกันยังไง เพราะหลายคนในพื้นที่บ้านเราไม่เคยไปต่างจังหวัด ส่วนคนข้างนอกพอเขาเห็นว่านี่คือบ้านเขา เขาก็แชร์ไปด้วย แล้วเขาก็จะได้เห็นอีกมุมหนึ่งของสามจังหวัด ทำให้เกิดการมาเที่ยว

คิดว่าอะไรทำให้คนสนใจคอนเทนต์ของแวรุงไปไหน

ยี: มันเป็นวัตถุดิบที่สื่อใหญ่ยังไม่ได้ไปแตะ เช่น อาหาร เราก็เป็นคนแรกที่ถ่ายทอดวิธีการหรือกระบวนการทำ ในเชิงคอนเทนต์ พอทำคนแรก คนในเองก็อยากนำเสนอตัวเองอยู่แล้ว พอโพสต์วิดีโอไป คนก็กดแชร์กระหน่ำเลย

กิ๊ฟ: คนบ้านเราเขาจะตื่นเต้นมากกับอะไรแบบนี้ เมื่อก่อนตอนทำใหม่ ๆ ชาวบ้านเขากลัวมากเลยนะ เมื่อก่อนเราใช้กล้องใหญ่ ๆ ไปถ่าย มีไมค์บูมด้วย ชาวบ้านก็จะบอกว่า “มาทำอะไร ตรงนี้ไม่มีเหตุการณ์ ไม่ต้องมาถ่ายนะ” เขากลัวการออกข่าวเพราะมีกล้องมีนักข่าวเมื่อไหร่ เมื่อนั้นต้องมีเรื่อง พอมี Go Pro เลยง่ายหน่อย เขาก็ถามว่า “นั่นอะไร กล้องอะไรเล็กแบบนี้ กล้องเด็กเหรอ” เราก็บอก ใช่ ๆ หลังจากนั้นเขาก็เริ่มเห็นตัวเขาออกในสื่อมากขึ้นเราก็จะได้อีกภาพอีกมุมเรียล ๆ รอยยิ้มของคนในพื้นที่

คอนเทนต์อะไรที่ทำแล้วประทับใจที่สุด

กิ๊ฟ: หลายอย่าง มันมีช่วงหนึ่งที่เราไปถ่ายไก่อบโอ่งจะนะ ตอนนั้นเขาขายได้ประมาณพันกว่าตัว พอเราไปถ่าย ไก่อบโอ่งก็เกิดขึ้นในสามจังหวัดหลายร้านมาก จนมันเกิดเป็นรายได้ให้กับชุมชน เรารู้สึกว่าสิ่งที่ได้มากกว่าคนมาดูเราก็คือคนอื่นมีรายได้ เพราะเราไปถ่ายว่าทำยังไง อบยังไง กี่ชั่วโมง บางคนเขาก็ไปหาสูตรในกูเกิ้ล บางคนก็มาฟังจากเรา  

ยี: แล้วก็ขนม ‘มาดูฆาตง’ เขาขายแค่ 5 บาท เราเคยรีวิวแล้วเกิดเป็นไวรัล เราเลยคิดว่า จะต่อยอดยังไงให้มันอยู่ยาว ๆ พอเราได้สปอนเซอร์มา เราก็เลยไปช่วยทั้งออกแบบกราฟิกการ์ตูน วาดรูปให้ดูน่ารัก ทำเมนู ทำเคาท์เตอร์ร้าน เปลี่ยนหลังคาให้ตรงคอนเซ็ปต์เพราะมาดูฆาตงเป็นขนมผึ้งเกาะ เป็นรังผึ้ง เราเลยเปลี่ยนร้านเป็นโทนสีเหลือง

กิ๊ฟ: พอเราได้สปอนเซอร์มา เราก็คิดว่าเราจะทำยังไงให้เงินนี้มันส่งต่อให้คนอื่นได้ ที่มันช่วยคนอื่นได้จริง ๆ ซื้อจริง ๆ ใช้จริง ๆ เราเลยโทรไปบอกเจ้าของร้านว่า “ก๊ะ เดี๋ยวเราจะเปลี่ยนหลังคาให้ใหม่” เพราะเขาต้องเอากะละมังมารองตอนฝนตก แล้วร้านเขาก็อยู่ติดทะเล ถ้าสินค้าจากสปอนเซอร์มันใช้ได้จริงเราก็ไม่ได้หลอกคนดูด้วย แล้วก็ได้ช่วยเขาด้วย

ตอนแรกที่เริ่มทำ คิดไหมว่าเราจะมาได้ไกลแบบนี้

กิ๊ฟ: ใครจะไปคิด ตอนแรกเราทำกันเล่น ๆ พอคนเริ่มดูเขาก็บอกให้ทำอีก หลังจากนั้นเราเลยมาทำเรื่องขยะ ในช่วงเดือนรายอ หลังจากวันฮารีรายอซึ่งเป็นวันเฉลิมฉลองของคนมุสลิมหลังจากถือศีลอดหมดไป 1-2 วัน ที่หาดมีขยะเยอะแบบเกิดมากิ๊ฟไม่เคยเห็นเยอะขนาดนี้มาก่อน เหมือนชาวบ้านเขาเข้าไม่ถึงสื่อเกี่ยวกับการรักษาสิ่งแวดล้อม เลยคิดว่ามันย่อยสลายเองได้หรือไม่ก็เดี๋ยวก็มีคนมาเก็บ เราเลยทำคลิปรณรงค์กัน

ยี: ผมใส่ชุดรายอเลย แล้วบอกว่า เราแต่งตัวสวย ๆ แต่เราจะถ่ายกับขยะเหรอ มันก็ไม่ใช่ เราก็อยากได้รูปสวย ๆ ผมคิดหนักมากว่าจะพูดว่าอะไรให้เราไม่โดนโจมตีและเป็นวิดีโอในเชิงบวก เราเลยเอาคำสอนของศาสนาที่ว่า “ความสะอาดคือส่วนหนึ่งของการศรัทธา” มาพูด แล้วก็แค่บอกว่า เดี๋ยวถ่ายรูปไม่สวยนะ พอโพสต์ไปแค่วันเดียว วันต่อมาหาดก็สะอาดเลย แล้วปีต่อไปไม่มีขยะอีกเลย แต่ก่อนผมไม่ได้สนใจเลย จนไปอยู่ปัตตานี ไปอยู่กับอาจารย์อาร์ม กับ Trash Hero แล้วก็มีแคมเปญวิ่งเก็บขยะ ผมก็ไปเก็บกับเขา ก็เลยรู้ว่ามันสำคัญเหมือนกัน เราในฐานะเป็นคนรีวิวการท่องเที่ยว รีวิวอาหาร ควรตระหนักสิ่งนี้ด้วย

กิ๊ฟ: สถานที่ที่เราไปส่วนใหญ่ พอเราไปรีวิวแล้วคนตามไป เขาก็ทิ้งขยะไว้ คนพื้นที่ก็บอกว่า โอ๊ย พวกนี้ไม่น่ามาเลย วันหลังแวรุงไม่ต้องมารีวิวนะ มาทีไรขยะเยอะทุกที พอเขาพูดแบบนี้เราก็รู้สึกว่าฉันต้องทำอะไรสักอย่างแล้วที่ทำให้คนไม่ทิ้งขยะ

ยี: เราทำเป็นซีรีส์เลยนะ ซีรีส์แยกขยะ โดนเรียกตัวไปถามด้วยว่าทำยังไงให้คนฟัง ตอนแรกก็แอบกลัว แต่สู้มากกว่า ว่าจะทำให้ดูว่าประชาชนก็ทำได้ไม่จำเป็นต้องมีอำนาจ

ตอนนี้ถือว่าเรามีอำนาจหรือยัง

ยี: มีอำนาจสื่อบ้าง มีเครื่องมือมากขึ้น

กิ๊ฟ: ไม่ได้บอกว่าตัวเองดังหรือมีพลังถึงขั้นจะเปลี่ยนบางสิ่งบางอย่างได้ แต่ก็อาจจะเป็นเสียงเล็ก ๆ เหมือนคลื่น แต่ไม่ได้เป็นคลื่นยักษ์

ใฝ่ฝันอยากเป็นคลื่นยักษ์ไหม

กิ๊ฟ: ไม่ แบบนี้โอเคแล้ว เรื่อย ๆ ค่อย ๆ เป็น ค่อย ๆ ไป ไม่อยากขึ้นสูง เดี๋ยวตกลงมาจะเจ็บ (หัวเราะ)  

สามจังหวัดชายแดนใต้ที่ขับเคลื่อนด้วย ‘แวรุง’

ไม่ใช่คลื่นลูกใหญ่ แต่ไม่ว่ากิ๊ฟกับยีจะพาเราไปที่ไหน สิ่งที่เราเห็นตลอดทางก็คือผู้คนที่เข้ามาทักทายทั้งคู่ พี่ชายคนหนึ่งพูดคุยกับกิ๊ฟและยีอยู่นานสองนานดูคล้ายสนิทสนม แต่เขาคือผู้ติดตามช่อง ‘แวรุง ไปไหน’ ที่หันมาบอกกับเราว่าคอนเทนต์ของกิ๊ฟและยีมีค่ากับชาวสามจังหวัดชายแดนใต้จริง ๆ ทั้งกลุ่มเด็ก ผู้ใหญ่ วัยรุ่น ต่างมองตามและกระซิบกระซาบกันไปตลอดเวลาที่เราเดินเลียดอ่าวมะนาวไปกับทั้งคู่ว่า “แวรุง ๆ” บางคนพุ่งเข้ามาทักทายอย่างไม่เขินอาย บางกลุ่มยืนดูเก้ ๆ กัง ๆ ก่อนที่จะกรูกันเข้ามาทักทายกิ๊ฟและยีเมื่อเราหันไปบอกว่าถ่ายรูปได้

นอกจากทำช่องแวรุง ไปไหน กิ๊ฟและยียังเพิ่งจัดงาน ‘Lady’s Camp’ อีเว้นต์งานคราฟท์สำหรับผู้หญิงในสามจังหวัดชายแดนใต้ด้วยงบประมาณที่พวกเขาพอจะหาได้ พวกเขาตัดสินใจไม่เชิญดาราดังจากที่อื่นมาร่วมงาน แต่เชิญอินฟลูเอนเซอร์จากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ต่างเต็มใจขึ้นไปพูดคุยบนเวทีจนเป็นภาพการรวมพลังของอินฟลูเอนเซอร์สามจังหวัดชายแดนใต้อันน่าประทับใจ ผลลัพธ์ที่ได้คืองานที่ประสบความสำเร็จและมีคนเข้าร่วมงานอย่างมากมาย ไม่ใช่คลื่นลูกใหญ่ แต่ ‘แวรุง ไปไหน’ อาจเป็นตัวอย่างของพลังสื่อสร้างสรรค์และเป็นแรงบันดาลใจที่ดีให้ ‘แวรุง’ คนอื่น ๆ เรื่องพลังการขับเคลื่อนบ้านเกิดเมืองนอนของคนรุ่นใหม่อีกหลายคนในพื้นที่ เราจึงถามกิ๊ฟกับยีว่า ในฐานะที่พวกเขาเป็นเหมือนตัวแทนพลังคนรุ่นใหม่ ปัจจุบันเยาวชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอย่างไรกันบ้างและสิ่งที่ ‘แวรุง’ ชาวใต้ต้องการในการพัฒนาบ้านเมืองคืออะไร      

เยาวชนที่นี่คงมีทั้งคนที่เกิดก่อนเหตุการณ์ความรุนแรงซึ่งจะมีภาพจำว่าอยู่กันได้ แต่ก็มีเด็กที่โตในจังหวะที่มีเหตุการณ์ซึ่งก็มีความรู้สึกอีกแบบหนึ่ง ตอนนี้เยาวชนที่นี่เป็นยังไงกันบ้าง

กิ๊ฟ: ถ้าเป็นยุคกิ๊ฟ ช่วงที่เราเติบโตมาคือช่วงเหตุการณ์เลย จำความได้ว่าตอน ป.2 ก็เริ่มมีเหตุการณ์แล้ว เด็ก ๆ ในห้องก็แบ่งแยกเลย อิสลามนั่งข้างหลัง ไทยพุทธนั่งข้างหน้า ไม่คุยกัน เลิกคบไปเลยเป็นช่วงหนึ่ง เป็นอย่างนั้นประมาณปีสองปี แต่ก็มีบางกลุ่มที่รู้สึกว่ายังไงก็เป็นเพื่อนกัน ก็เล่นกันบ้าง ทั้งที่ในใจลึก ๆ ก็ยังหวาดกลัวอยู่

พอโตมาก็เริ่มโดนแบ่งแยกโดยคำ เช่น ไม่ต้องมายุ่งกับ ‘พวกแขก’ จนเราเองก็แอนตี้อิสลามไปเลย จะมีบางคนที่ไม่บริโภคอาหารอิสลามเลย ไม่ยุ่งเกี่ยวเลย จนเริ่มโตมาสิ่งที่เคยเข้าใจก็เปลี่ยนไป สื่อต่าง ๆ อย่างสื่อออนไลน์ก็เข้ามา ทำให้วัยรุ่นอย่างเราเริ่มเข้าใจสิ่งต่าง ๆ มากขึ้นจนทำให้ความแตกร้าวนั้นกลับมาสมานได้เหมือนเดิม เราเปลี่ยนความคิดแล้วว่ามันไม่ได้เป็นแบบนี้มาตั้งแต่แรก หลังจากนั้นก็เริ่มเห็นว่าคนจากที่อยู่กรุงเทพฯ เช่น เพื่อน ๆ ที่ช่วงม.ต้น หรือ ม.ปลายย้ายไปอยู่กรุงเทพฯ กันเริ่มกลับมาอยู่ที่บ้าน มาใช้ชีวิตที่บ้าน แล้วก็มีมุสลิมที่กลับมาใช้ชีวิตเหมือนเมื่อก่อน เริ่มกลับมาเป็นเหมือนเมื่อก่อนแล้ว ไม่มีรอยร้าวแล้ว  

ยี: ส่วนผมก็ได้มาอธิบายในมุมผมว่าเราก็เคยคิดว่าไม่อยากจะยุ่งกับไทยพุทธเหมือนกัน มันเป็นคำของคนอื่นที่ทำให้เราไม่อยากยุ่งเกี่ยวกัน แต่จริง ๆ เราก็เป็นเพื่อนกันได้

กิ๊ฟ: เหมือนคำจำกัดความนี้มันมาจากคนอื่น ใครก็ไม่รู้ อยู่ดี ๆ มีคำมาบอกว่า ห้ามยุ่ง เลิกคบ เราก็เลิกคบก็ได้

ยี: มันมีเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความแค้นขึ้นมาทั้งสองฝ่าย แต่เราไม่ได้ไปค้นต่อว่าเรื่องจริงหรือเปล่า หรือใครคือคนทำ เหมือนเวลามีเหตุระเบิดเขาก็ใช้คำว่าระเบิดสามจังหวัดเลยทั้งที่มันแค่จุดเดียว

เยาวชนที่อยู่สามจังหวัดคนอื่น ๆ ก้าวข้ามความขัดแย้งเหมือนกิ๊ฟกับยีได้หรือยัง  

ยี: อยู่ที่สังคมว่าเขาอยู่ในสังคมแบบไหน บางคนยังโกรธอยู่เพราะเขาโดนมาหนัก พ่อแม่เขาอาจเคยได้รับผลกระทบจริง ๆ มันก็ต้องทำใจ ต้องมีเวลาให้เขา เราปฏิเสธไม่ได้หรอกว่ามันเคยมีเหตุการณ์เกิดขึ้นจริง ๆ เราก็ต้องยอมรับและบอกเขาว่าเขาจะข้ามมันไปได้ยังไง เขาต้องอยู่กับปัจจุบัน อนาคต เขาต้องพัฒนาบ้านเมือง ต้องนึกถึงอนาคตเยอะ ๆ เขาถึงจะข้ามมันได้ แต่ตอนนี้หลายคนก็เริ่มมองเรื่องปากท้อง เรื่องอนาคตแล้ว เขาไม่ได้เห็นแค่ตัวเขาเองแล้ว พอเริ่มโตก็ต้องมองเผื่อลูกหลาน ถ้าเขาไม่ยอมเปลี่ยน ยังยึดติดกับเหตุการณ์ ยึดติดกับความแค้น มันก็จะไม่ไปไหน

กิ๊ฟ: วัยรุ่นในปัจจุบันเขาเลยหันมาทำอะไรที่มันสร้างสรรค์มากขึ้น เหมือนช่วยกันเปลี่ยนแปลง เสียงเล็ก ๆ จากวัยรุ่นอาจจะเป็นเสียงที่ยิ่งใหญ่ก็ได้ เพราะวัยรุ่นเป็นวัยที่บอกเด็ก เด็กก็ฟัง บอกผู้ใหญ่ที่บ้าน ผู้ใหญ่ก็เอ๊ะ เดี๋ยวนี้วัยรุ่นไม่ได้ต้องอยู่ใต้ผู้ใหญ่เสมอไป เราเริ่มเข้ามามีบทบาทในทุกส่วนแล้ว

ในฐานะที่ทั้งสองก็เป็นวัยรุ่น กิ๊ฟกับยีต้องการการสนับสนุนยังไงเพื่ออนาคตที่ดีในพื้นที่นี้   

ยี: เราก็อยากเก็บรักษาอัตลักษณ์ไว้ แต่ก็อยากได้เครื่องมือหรือไอเดียอะไรที่มันสร้างสรรค์ ให้รู้สึกว่ามันเดินหน้า ไม่ได้เปลี่ยนแปลงจนอัตลักษณ์หายไป แต่ก็อยากให้คนอื่นมาเที่ยว เที่ยวในแบบที่เราเป็น

กิ๊ฟ: คนเราชอบคิดว่าจะต้องมีอะไรยิ่งใหญ่ ต้องเหมือนกรุงเทพฯ ต้องเหมือนต่างประเทศ แต่กิ๊ฟรู้สึกว่ามันไม่จำเป็น บ้านเรานี่แหละที่ขายได้

ยี: สมมติว่าอยากให้เปลี่ยน ก็อยากให้คมนาคมสะดวกมากขึ้น คนที่แบ็กแพ็กมาคนเดียวก็สามารถมาได้โดยไม่ต้องนั่งรถตู้หรือใช้งบเยอะ  

กิ๊ฟ: ไม่ต้องถึงขั้นรถไฟฟ้าก็ได้ ขอรถสองแถวก็พอ เวลาเขาถามเราในเพจว่าอยากไปนราฯ จัง ไปยังไงได้บ้าง มันก็มีแค่ต้องเช่ารถ เราไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงอะไรเลย ต้องการแค่คมนาคมที่ดีกว่านี้ มีเส้นทางท่องเที่ยวใหม่ ให้คนที่มารู้ว่าควรไปตรงไหน

ยี: ตอนนี้นราธิวาสเราก็มีแต่ยังไม่ได้ทำจริงจัง ส่วนปัตตานีถือว่าเป็นเมืองที่มีประชากรครบ มีคนออกแบบ มีศิลปะ มีมหาวิทยาลัยที่สนับสนุน

กิ๊ฟ: เรียกว่าปัตตานีเขามีคนขับเคลื่อนก็ได้ จริง ๆ นราธิวาสก็มี แต่ไปอยู่ปัตตานีหมด (หัวเราะ)

ยี: คนนราธิวาสไปอยู่ที่นู่นเพราะมันมีพื้นที่ มีคนที่สื่อสารเข้าใจกัน

กิ๊ฟ: จริง ๆ วัยรุ่นก็ต้องการแค่พื้นที่เท่านั้นเอง

ยี: ฟังเสียงเราบ้าง

กิ๊ฟ: ฟังแล้วก็ทำด้วย (หัวเราะ)


Writer

Avatar photo

ปัญญาพร แจ่มวุฒิปรีชา

อย่ารู้จักเราเลย รู้จักแมวเราดีกว่า

Photographer

Avatar photo

ฉัตรมงคล รักราช

ช่างภาพ และนักหัดเขียน

Illustrator

Avatar photo

พรภวิษย์ เพ็งเอียด

ชอบกินเนื้อต้มและตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือให้ได้ปีละสามเล่ม

Related Posts