การสร้างตัวตนในแบบ ‘มีตัว’ และ ‘มีตน’ ผ่านการเป็นใครสักคน ทำอะไรสักอย่าง ซึ่งก่อร่างสร้างไปถึงการสร้าง ‘สายสัมพันธ์’ ระหว่างกันอันแน่นแฟ้น
ทั้งหมดทั้งมวลนี้ถือเป็นแกนหลักสัมพันธ์ที่ Mappa ขับเคลื่อนเสมอมา
ในทุกความสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นในครอบครัว คนรัก หรือมิตรภาพอื่นๆ ในรูปแบบต่างๆ
นอกเหนือไปจากเรื่องราวในความสัมพันธ์นั้นๆ ที่เชื่อมต่อเราเข้าไว้ระหว่างกัน
ในแต่ละความสัมพันธ์ยังมีมิติของสังคม วัฒนธรรม และเป็นส่วนหนึ่งของโลกอันกว้างใหญ่
อยู่เสมอๆ
ยิ่งไปกว่านั้น อีกหนึ่งมิติสำคัญที่ขาดไปไม่ได้ในการก่อร่างสร้างตัวตนอันแข็งแกร่งและสายสัมพันธ์ที่แข็งแรง เหล่านั้นคือมิติทาง ‘เพศ’ ที่แฝงฝังและเป็นส่วนสำคัญในทุกความสัมพันธ์
ที่ในหลายครั้งเราอาจลืมตระหนักถึงมันไป
วันนี้เราขอนำเสนอคอลัมน์ ‘Gen-เด้อ’ คอลัมน์ใหม่แกะกล่องจาก Mappa ที่ว่าด้วยประเด็นเรื่อง ‘เพศ’ ทั้งเพศสรีระ (Biological Sex), เพศสภาพ (Gender) และเพศวิถี (Sexuality) ต่างๆ นานาเหล่านี้เพื่อชวนสังเกตและสำรวจในแต่ละประเด็นและความสัมพันธ์ว่า เรื่องเพศเป็นเรื่องที่อยู่ใกล้ตัวเราเสมอ อีกทั้งยังมีบทบาทในอีกหลายแง่ รวมไปถึงคำว่า ‘Gen’ ในที่นี้ยังหมายความถึง ‘ช่วงวัย’ (Generation) ที่ยังอาจเป็นช่องว่างในความเข้าใจระหว่างกัน และเรื่องเพศก็เป็นหนึ่งในนั้น ในวันนี้เราจึงอยากชวนทุกคนสำรวจ พูดคุย และถกเถียงในประเด็นเหล่านี้ไปด้วยกัน
เพราะว่าความหลากหลายอาจไม่ใช่ความแตกต่าง
แต่เป็นความงดงามที่หาได้อย่างไม่สิ้นสุด
สำหรับในบทความแรกนี้ ผู้เขียนอยากชวนทุกท่านพูดคุยและขบคิดเกี่ยวกับเรื่องของการเปิดเผยเพศของเด็ก หรือ ‘Gender Reveal’ หนึ่งในวัฒนธรรมร่วมสมัยที่ได้รับความนิยมสูงทั่วโลกในขณะนี้
จะเป็นอย่างไร ไปติดตามกันได้เลย 🙂
• Gender Reveal คืออะไร?
การเปิดเผยเพศ (Gender Reveal) หมายถึง การที่เราจะได้รู้เพศของเด็กในครรภ์ของมารดาก่อนที่จะคลอดออกมาเป็นทารก ซึ่งในหลายประเทศทั่วโลกโดยเฉพาะในแถบตะวันตกนั้นสิ่งนี้ถือเป็นวาระสำคัญอย่างมาก โดยที่พวกเขายังมีกิมมิกสำคัญในการจะรู้เพศของเด็กๆ ผ่านการจัดปาร์ตี้ (Gender Reveal Party) ซึ่งในปาร์ตี้ดังกล่าวจะมีกิจกรรมต่างๆ ที่ให้พ่อแม่ ครอบครัวของเด็ก และคนอื่นๆ ในงานได้ร่วมลุ้นเพศของพวกเขาเหล่านั้น
กิจกรรมจะมีตั้งแต่การตัดเค้ก เจาะลูกโป่ง คว้านลูกแตงโม ไปจนถึงการใช้เครื่องบินปล่อยลูกบอลลงมา และอื่นๆ อีกมากมาย
ซึ่งในสิ่งต่างๆ เหล่านั้นจะมี ‘สี’ ที่แทนสัญลักษณ์ทางเพศของเด็กๆ ไว้ข้างใน
หากไส้ในเป็น ‘สีฟ้า’ แปลว่าเด็กคนนั้นเป็น ‘ผู้ชาย’
หากข้างในเป็น ‘สีชมพู’ หมายความว่าเด็กคนนั้นเป็น ‘ผู้หญิง’
ผู้เขียนเชื่อว่าคนไทยเราอาจจะไม่ค่อยรู้สึกคุ้นชินกับวัฒนธรรมเช่นนี้เท่าไรนัก เพราะว่าบ้านเราเองก็มีวิธีที่ง่ายกว่านั้นคือการอัลตราซาวด์ แล้วแพทย์ก็จะแจ้งความเป็นไปได้ในเพศของลูกคุณเลย
แต่ว่าก็ว่าเถอะ ในแต่ละที่ขนบธรรมเนียมอาจจะแตกต่างกันไป แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่ต่างกันมากนักคือการได้ทราบผลล่วงหน้าก่อนจะคลอดว่าเด็กคนนั้นเป็น ‘ผู้ชาย’ หรือ ‘ผู้หญิง’
ซึ่ง ‘เพศ’ ที่ระบุว่าเป็น ‘ผู้ชาย’ หรือ ‘ผู้หญิง’ ที่ว่านั้น
เป็นเพียงการระบุเพศในแบบของ ‘เพศสรีระ’
ที่ระบุตามร่างกายและอวัยวะของเด็กคนนั้นแต่เพียงเท่านั้น
และเรามักเข้าใจกันว่าเพศกำเนิดเหล่านี้จะเป็นตัวตัดสินว่า
‘เรา’ จะต้องเป็นเพศอะไร
และมีบทบาทต่างๆ ในรูปแบบไหน
มากไปถึง ‘ความคาดหวัง’ ทางสังคม
ที่มีแบบแผนระบุว่าเอาไว้ว่าเราต้องเติบโตไปอย่างไร
• ชวนรู้จัก ‘บทบาททางเพศ’ (Gender Role) ที่ส่งผลต่อขนบแบบแผน ‘ชายจริง-หญิงแท้’
เป็นผู้ชายห้ามร้องไห้
เป็นผู้หญิงต้องเรียบร้อย
ผู้ชายต้องสีฟ้า
สีชมพูเป็นของผู้หญิง
ช้างเท้าหน้า-ช้างเท้าหลัง
และอื่นๆ อีกมากมาย
เหล่านี้มักเป็นอะไรที่เราได้ยินและถูกหล่อหลอมกันมานักต่อนักตั้งแต่สมัยยังเด็ก
ทั้งหมดทั้งมวลนี้เรียกว่าการตั้งบทบาททางเพศ (Gender Role) ในแบบขั้วตรงข้าม (Binary Opposition)
หากกล่าวให้เข้าใจง่ายขึ้น
การแบ่งขั้วตรงข้ามในแบบ ‘ชายจริง-หญิงแท้’
อาจทำให้เราเข้าใจ ‘ความเป็นชาย’ และ ‘ความเป็นหญิง’ ได้โดยง่าย
ราวกับไม่ขาวก็ดำ
ไม่ฟ้าก็ชมพู
หากเพศชายเป็นอย่างหนึ่ง เพศหญิงก็เป็นในแบบขั้วตรงข้าม
ราวกับหยินและหยางที่เป็นครึ่งหนึ่งของกันและกัน
ที่เมื่อประสานกันแล้วจะลงตัวพอดิบพอดี
และเมื่อเด็กๆ คนใดเกิดมามีอวัยวะเพศแบบใด
เขาก็ต้องมีความเป็นเพศนั้นๆ ไปอัตโนมัติราวกับสวมเสื้อทับ
ทั้งที่จริงแล้ว ‘เพศ’ อาจมีความหลากหลายมากกว่านั้น
ตั้งแต่ ‘อวัยวะเพศ’ เองก็ไม่ได้มีเพียงแค่สอง
อีกทั้ง ‘ความเป็น’ เพศนั้นๆ ก็ลื่นไหลและหลากหลายไปตามตัวตนของแต่ละคนเกินกว่าที่ใครจะบีบบังคับและกำหนด
อีกทั้งเมื่อเด็กๆ โตขึ้น
เมื่อเขาได้มีโอกาสได้สำรวจความหลากหลายกับคนรอบข้าง และเริ่มก่อร่างสร้างความสัมพันธ์ใหม่ๆ ในชีวิตไม่ว่าจะในเชิงใดก็ตาม ในช่วงเวลาเหล่านั้น ‘เพศวิถี’ ของเขาอาจค่อยๆ ก่อตัวขึ้น กลายเป็นความรู้สึกพึงพอใจใครสักคน รัก ชอบ และหลงใหล ไปตามความปรารถนาในขวบวัยที่ค่อยๆ เติบโตขึ้น
• เมื่อความหลากหลายคือส่วนหนึ่งของ ‘ตัวตน’ ที่สามารถสำรวจ ค้นหา และทำความเข้าใจได้อย่างไม่รู้จบ
หลายต่อหลายครั้งในชีวิต ผู้เขียนมักเจอความสับสนในแง่ของ ‘ความเป็น(เพศ)’ อยู่หลายต่อหลายครั้ง เช่น เกิดมาเป็นผู้หญิง (โดยเพศสรีระ) แต่ชอบดูฟุตบอลและสีฟ้าเป็นอาจิณ แต่ในขณะเดียวกันก็อ่อนไหวง่าย ร้องไห้บ่อย แก่นเป็นม้าดีดกะโหลก ซึ่งในหลายต่อหลายครั้งก็รู้สึกว่าตัวเองไม่มีความเป็นผู้หญิงเอาเสียเลย
แต่เมื่อได้ลองทำความเข้าใจว่า ตัวและตนของเราเองเป็นสิ่งที่ลื่นไหลได้อยู่เสมอ ตัวเราเองเปลี่ยนแปลงไปได้ตลอดทั้งนิสัยและความชอบ ซึ่งรวมไปถึงคนอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน
เพราะฉะนั้นการมีหัวใจที่เปิดกว้าง เปิดรับความเป็นไปได้ใหม่ๆ อยู่เสมออย่างไม่ติดกรอบ นั่นอาจช่วยให้สีสันในชีวิตเรามีมากขึ้น และสามารถเติบและโตไปอย่างที่ใจอยากจะเป็นได้
ดังนั้น เมื่อเด็กสักคนหนึ่งกำลังจะเกิดขึ้นมาบนโลกอันกว้างใหญ่ใบนี้
การคาดหวังให้เขาเป็นเพียงแค่ ‘หญิง’ หรือ ‘ชาย’
การตีกรอบเช่นนี้ อาจบดบังโอกาสที่เขาควรจะได้สำรวจความหลากหลายไป
เพราะในโลกใบนี้ ตัวและตนของเราแต่ละคนนั้นไม่ซ้ำใคร
และความหลากหลายยังคงเป็นสิ่งที่จำเป็นและงดงาม
ผู้เขียนจึงอยากชวนเด็กๆ ทุกคน (รวมถึงผู้ใหญ่หัวใจวัยเยาว์เช่นกัน) มาร่วมเปิดหัวใจให้กว้าง สำรวจความหลากหลายที่มีให้ค้นหาและเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา สนุกสนานไปกับความลื่นไหลและความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับตัวตนของเรา
เพราะความหลากหลายไม่ใช่ความแตกต่าง
หากแต่เป็นความงดงามที่หาได้อย่างไม่สิ้นสุด
ที่มา :
https://www.thepinknews.com/2019/10/14/munroe-bergdorf-gender-reveal-parties-trans-children-harm/?fbclid=IwAR3WSwEDlfVdCbw45i9TO_zU-L13KCilhs_-Yf0vJIRkmtUyY9jF4izLKKg
https://edition.cnn.com/2018/10/02/us/az-off-duty-border-patrol-agent-wildfire/index.html
https://timesofindia.indiatimes.com/life-style/parenting/pregnancy/baby-shower-vs-gender-reveal-party-which-one-should-you-choose/photostory/100375776.cms?picid=100375798
https://utswmed.org/medblog/gender-reveal/
https://www.thebump.com/a/creative-baby-gender-reveal-ideas
https://www.enfababy.com/when-can-you-find-out-babys-gender#:~:text=%E0%B8%88%E0%B8%B8%E0%B8%94%E0%B8%AA%E0%B8%B3%E0%B8%84%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%88%E0%B8%B0%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89,%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%B8%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A0%E0%B9%8C%203%20%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%99