Home Based Learning

Home Based Learning ‘วิชาบ้านๆ’ สร้างการเรียนรู้ ครูคือพ่อแม่

การเรียนรู้ไม่ได้อยู่แค่ในตำรา 

เราเชื่อเสมอว่าการลงมือทำกิจกรรมต่างๆ  นอกห้องเรียน คือช่วงเวลาที่สมองของเด็กๆ ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ 

เพราะการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมจะเปิดโอกาสให้เด็กได้ทดลอง ค้นคว้า ทบทวน เชื่อมโยงกับจิตใจข้างใน จนเกิดเป็นเกิดเป็นทักษะต่างๆ ที่สำคัญทักษะที่เกิดขึ้นผ่านการมีประสบการณ์ร่วมจะทำให้ทักษะนั้นคงทนยาวนานและติดตัวไปตลอดกาล

เพื่อให้ง่าย MAPPA ชวนพ่อแม่ตั้งหลัก มาค้นหากิจกรรมง่ายๆ ที่เกิดขึ้นภายในบ้าน ไม่ต้องยาก เริ่มจากเรื่องใกล้ตัว จากสิ่งที่ลูกชอบ หรือใช้อาชีพของพ่อแม่ 

1. เลือกกิจกรรม 

ตั้งต้นจากเรื่องใกล้ตัว ความสนใจของลูก อาชีพของพ่อแม่ หรือกิจกรรมประจำวัน

ตามปกติในวันหยุดหรือวันอื่นๆ หากลูกไม่ได้ไปโรงเรียน พ่อแม่มักจะขวนขวายหากิจกรรมต่างๆ เพื่อให้ลูกทำ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะพ่อแม่หลายคนคิดเยอะ กังวลว่าแค่เล่นอย่างเดียวจะเพียงพอต่อการสร้างพัฒนาการของลูกหรือไม่ ลูกจะได้ความรู้หรือเปล่า แล้วถ้าพาลูกเล่นจะเล่นอะไรและเล่นอย่างไร

เริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการตั้งหลักจากตัวเอง พ่อแม่เริ่มจากมองสิ่งซ้ายขวารอบตัว ต่อยอดกิจกรรมจากสิ่งที่ลูกชอบ หรือแม้แต่อาชีพของพ่อแม่เองก็นำมาเป็นการเรียนรู้ของลูกได้เช่นกัน

ตัวอย่าง

โอ๊ค เด็กชายชั้น ป.3 วัย 8 ขวบ อาศัยอยู่ในบ้านที่มีพ่อเป็นช่างยนต์ และนี่คือครั้งแรกที่โอ๊คได้เรียนวิชาปะยางกับพ่อครั้งแรก

วิชาเล็กๆ แต่เมื่อถอดรหัสออกมา ต้องใช้กระบวนการเยอะมาก 

1. ฝึกคิดและลงมือทำว่าควรเริ่มจากตรงไหน ต่อด้วยขั้นตอนอะไร เช่น เอายางในออกมาแล้ว อันดับต่อไปต้องทำยังไงต่อ ฝึกจัดลำดับอะไรสำคัญก่อนหลัง 

2.เมื่อพบปัญหาใหม่ นอกเหนือจากที่พ่อเคยบอกหรือเคยสอน จะแก้ปัญหานั้นอย่างไร 

3.เกิดความภูมิใจในตัวเอง เมื่อสามารถทำเรื่องเล็กๆ ได้สำเร็จ เช่น การสูบลมล้อจักรยานให้กลับมาขี่ได้อีกครั้ง

2. ตั้งคำถามกระตุ้นเพื่อการเรียนรู้

ระหว่างพาลูกทำกิจกรรม สิ่งสำคัญคือการตั้งคำถาม เพราะจะช่วยกระตุ้นให้เด็กทบทวนความคิดและความรู้สึก นำไปสู่การคิดวิเคราะห์ จนเกิดความคิดสร้างสรรค์ การคิดอย่างเป็นระบบและฝึกแก้ปัญหาเอง สำคัญคือการพาเด็กให้กลับมาจดจ่อกับสิ่งที่เขากำลังทำ

หัวใจสำคัญของการสร้างการเรียนรู้อาจไม่ได้อยู่ที่เป้าหมายเพียงอย่างเดียว พ่อแม่มักคาดหวังให้ลูกทำสิ่งต่างๆ ได้ ลูกต้องดี ลูกต้องเก่ง โดยละเลยสิ่งที่เกิดขึ้นและความรู้สึกระหว่างทาง

แต่การตั้งคำถามจะช่วยให้พ่อแม่รวมถึงลูก กลับมาอยู่กับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าได้ง่ายขึ้น

ตัวอย่างคำถามชวนกระตุ้นทักษะ

ในกรณีโอ๊ค อาจลองให้เขางัดยางในออกมาด้วยตัวเองก่อน ถ้าพบว่าทำไม่ได้ พ่อแม่ค่อยช่วยเหลือเขาเล็กๆ น้อยๆ หรือพ่อแม่ลองช่วยเขากระตุ้นให้เขาคิดต่อว่าเวลาจะงัดยางในออกมาต้องใช้อุปกรณ์อะไร

หรือในสถานการณ์อื่น เช่น ขณะทำอาหารรับประทานด้วยกัน คุณพ่อคุณแม่อาจชวนเด็กๆ คุยถึงวัตถุดิบต่างๆ ในจานต่อได้ เช่น ผักชนิดนี้ฤดูกาลของมันคืออย่างไร เติบโตได้ดีในสภาพภูมิอากาศหรือว่าดินแบบไหน ความแตกต่างของดิน สีดิน ถ้าเขาสนใจและคุณพ่อคุณแม่พอมีเวลาก็สามารถต่อยอดเป็นกิจกรรมการทดลองได้ เช่น ลองให้ปลูกผักบุ้ง เปรียบเทียบระหว่างปลูกในดินกับในน้ำ แบบไหนโตเร็วกว่ากัน 

หรือถ้าคุณแม่ถนัดทำอาหาร อาจจะชวนลูกทำอาหาร เพราะในกระบวนการทำอาหารมันไม่ใช่แค่ทำ ชิม อร่อย จบ คุณแม่สามารถชวนเขาคุยเรื่องสารอาหารต่อ สอนการปฏิบัติตัวบนโต๊ะอาหาร หรือยกเรื่องอัตราส่วน การวัด ชั่ง ตวง ของวัตถุดิบ/ส่วนผสมมาคุยกัน 

ท้ายที่สุดคำถามเหล่านี้จะพาให้กิจกรรมที่พ่อแม่พาลูกเล่น ไปแตะคำว่าการเรียนรู้ได้ในที่สุด 

การตั้งคำถามจะนำไปสู่การคิดวิเคราะห์ จนเกิดความคิดสร้างสรรค์ การคิดอย่างเป็นระบบและฝึกแก้ปัญหาเอง สำคัญคือการพาเด็กให้กลับมาจดจ่อกับสิ่งที่เขากำลังทำ

3. ถอดบทเรียน

ขั้นตอนนี้คือหัวใจของวงจรการเรียนรู้ เมื่อพ่อแม่พาลูกทำกิจกรรมและกระตุ้นลูกผ่านการตั้งคำถาม หลังจากนั้นลองพาลูกถอดบทเรียนต่อ เพื่อสำรวจทักษะใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น 

ในการถอดบทเรียน ลูกจะใช้ประสบการณ์เดิมของเขาทบทวน คิดวิเคราะห์ และเรียนรู้ว่าสิ่งใดคือความรู้ใหม่ที่เกิดขึ้น กิจกรรมที่ลูกทำ ทำให้เขาค้นพบหรือเจอปัญหาอะไรใหม่ๆ 

พ่อแม่อาจช่วยลูกในส่วนนี้ โดยการชวนสำรวจความรู้สึกหลังจากทำกิจกรรมนั้นเสร็จ

  • ลูกชอบปะยางไหม
  • ถ้าลูกชอบ คราวหน้าอยากทำอะไรต่อ อยากซ่อมรถส่วนไหนอีกบ้าง
  • หรือถ้าไม่ชอบ ไม่ชอบส่วนไหนเพราะอะไร และอยากให้กิจกรรมครั้งหน้าเป็นอย่างไร

กรณีโอ๊ค ท้ายที่สุดเมื่อถอดบทเรียนออกมา โอ๊คได้ทักษะการถอดยางใน โอ๊คปะยางเป็น เขาเรียนรู้ลำดับความสำคัญของการซ่อมรถ ที่สำคัญโอ๊ครู้สึกภูมิใจในตัวเองที่เขาทำได้เหมือนที่พ่อทำ

ในอนาคตถ้าโอ๊คเจอกับปัญหาคล้ายเดิม เขาจะนำประสบการณ์ที่เคยเรียนรู้ในสถานการณ์นี้ไปใช้ในสถานการณ์ที่ต่างออกไป 

อ่านบทสัมภาษณ์ อาชีพพ่อแม่คือวิชานอกห้องเรียนของลูก ได้ที่นี่: คลิก


Writer

Avatar photo

รชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา

พยายามฝึกปรือและคลุกอยู่กับผู้คนในวงการการศึกษา เพราะเชื่อว่าการเรียนรู้เป็นใบเบิกทางให้ขยายขอบขีดความสามารถตัวเอง ฝันสูงสุดคืออยากเห็นตัวเองทำงานสื่อสารที่มีคุณภาพและคุณค่าต่อไป

Illustrator

Avatar photo

บัว คำดี

ตอนประถมอยากเป็นศิลปินวาดภาพ แต่โดนพ่อเบรคหัวทิ่ม "เป็นศิลปินไส้แห้งนะ" ปัจจุบันทำงานเกี่ยวกับการออกแบบและทำภาพประกอบ (บ้าง) จนได้

Related Posts