ความเป็นพ่อ-แม่-ลูก คืออะไรกันแน่ ระหว่างการมีสายเลือดร่วมกันกับการมีสายสัมพันธ์ที่เป็นห่วงเป็นใย: สำรวจร่วมกันผ่านหนัง 4 เรื่อง

  • การเฝ้าสอดส่องดูแลลูกตลอด 24 ชั่วโมง ผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร
  • ระหว่างการมีสายเลือดร่วมกันกับการมีสายสัมพันธ์ที่เป็นห่วงเป็นใย อย่างไหนมีความสำคัญในการเป็นพ่อ-แม่-ลูก มากกว่ากัน
  • ปลายทางของการปฏิบัติต่อลูกดั่งเป็นทรัพย์สินของพ่อแม่ จะนำพาความสัมพันธ์ไปสู่สิ่งใด
  • สำรวจความหมายของความเป็นพ่อ-แม่-ลูก และแก่นแท้ของความเป็นครอบครัว ผ่านซีรีส์และหนังน่าดู 4 เรื่อง

จะเป็นอย่างไรถ้าเราสามารถขจัดความเสี่ยง ปกป้องภยันตราย และคอยสอดส่องดูแลลูกได้ตลอดเวลา

ความเป็นพ่อ-แม่-ลูก คืออะไรกันแน่ ระหว่างการมีสายเลือดร่วมกันกับการมีสายสัมพันธ์ที่เป็นห่วงเป็นใย อย่างไหนมีความสำคัญในการเป็นพ่อ-แม่-ลูก มากกว่ากัน 

ถ้าครอบครัวแท้ๆ มีแต่ความเยือกเย็นใส่กันตลอดเวลา เราจะสามารถหันไปเลือกครอบครัวที่เราออกแบบด้วยตัวเองได้ไหม แล้วครอบครัวที่ไม่มีสายสัมพันธ์ทางสายเลือดเลยจะยังเป็นครอบครัวอยู่หรือเปล่า

ความปรารถนาดีที่พ่อแม่มีต่อลูก จนแทบจะปฏิบัติกับลูกดั่งเป็นทรัพย์สินที่ไร้ชีวิตจิตใจจะนำพาความสัมพันธ์ไปสู่สิ่งใด

นี่คือหนัง 4 เรื่องที่จะพาไปสำรวจความหมายของความเป็นพ่อ-แม่-ลูก และแก่นแท้ของความเป็นครอบครัว กระทั่งชวนให้คิดต่อว่า ครอบครัวมีอะไรที่เป็นแก่นแท้อยู่หรือไม่

Black Mirror ss. 4 ep. 2 ‘Arkangel’ (2017): ปลายทางของความเป็นห่วงเป็นใยที่ล้นเกิน

มารี แม่เลี้ยงเดี่ยวผู้ให้กำเนิดและเลี้ยงดู ซารา ด้วยตนเอง เธอมีความรักและห่วงใยลูกสาวมาก มากจนทำให้เธอต้องการให้ลูกอยู่ในสายตาตลอดเวลา เธอจึงนำลูกไปเข้าร่วมโครงการ Arkangel โครงการที่จะปลูกถ่ายเทคโนโลยีเข้าไปในตัวเด็ก ทำให้ผู้ปกครองสามารถรับรู้สถานะทางกาย ระบุสถานที่ของเด็ก และสามารถมองเห็นโลกในระดับเดียวกับสายตาของเด็กได้ผ่านหน้าจอแท็บเล็ต นอกจากนั้น ยังสามารถตั้งตัวกรอง (filter) เพื่อปิดกั้นไม่ให้เด็กได้ยินหรือมองเห็นสิ่งไม่พึงประสงค์ในโลกจริงได้อีกด้วย

ทุกอย่างดูจะเป็นไปด้วยดี จนกระทั่งซาราเริ่มเข้าสู่วัยที่จะต้องเรียนรู้ เปลี่ยนผ่าน และมีปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอก การมีตัวกรองกลายเป็นอุปสรรคที่ทำให้เธอไม่สามารถมีพัฒนาการต่างๆ ได้อย่างเด็กคนอื่น เมื่อเป็นดังนี้ มารีจึงจำเป็นต้องปิดการใช้งานระบบดังกล่าว

จนกระทั่งซารากำลังย่างเข้าสู่วัยรุ่น และเริ่มมีพฤติกรรมอย่างที่วัยรุ่นมักจะทำกัน เธอเริ่มทำอะไรสุ่มเสี่ยง เริ่มโกหก และแอบหนีเที่ยว เพื่อที่จะจัดการกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของซารา และความเป็นห่วงที่กลับมารบกวนมารีอีกครั้ง เธอจึงตัดสินใจเปิดระบบ Arkangel อีกครั้งหนึ่ง 

ความรักความเป็นห่วงที่ดูล้นเกินของคนเป็นแม่จะส่งผลอย่างไร นี่คือประเด็นหลักที่ซีรีส์ตอนนี้พยายามแสดงให้เห็น

Like Father, Like Son (2013): อะไรคือเส้นวัดความเป็นพ่อแม่กับความเป็นลูก

เราอาจแบ่งคำถามที่หนังเรื่องนี้พยายามชวนให้เราคิดได้อย่างน้อย 2 คำถามใหญ่

คำถามแรก อะไรคือความเป็นพ่อแม่

คำถามที่สอง อะไรคือความเป็นลูก

หนังมีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับครอบครัว 2 ครอบครัว ที่บังเอิญได้รับรู้ความจริงว่า พวกเขาสลับลูกกันที่โรงพยาบาล ณ วันที่ลูกของพวกเขาคลอด นั่นนำมาสู่ปัญหาสำคัญว่าทั้ง 2 ครอบครัวจะดำเนินการอย่างไรต่อ

ความเป็นพ่อแม่และความเป็นลูกไม่ใช่สิ่งที่สามารถแยกขาดออกจากกัน การเป็นพ่อ-แม่-ลูก มีข้อเรียกร้องต่อกันและกัน มากกว่าที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะต้องมอบให้แก่อีกฝ่ายหนึ่ง คือใจความหนึ่งที่มองเห็นได้จากหนัง 

หนังยังแสดงให้เห็นว่า บางทีความเป็นพ่อแม่และความเป็นลูกอาจไม่จำเป็นต้องมีสายเลือดในเชิงชีววิทยาเป็นด้ายสานสัมพันธ์ เพราะสายเลือดเป็นสิ่งที่มนุษย์เลือกไม่ได้ การอาศัยเพียงแค่สายเลือดในการอ้างถึงความเป็นพ่อ-แม่-ลูก อาจไม่เพียงพอที่จะบริหารความสัมพันธ์ได้ และหลายครั้งอาจเป็นเรื่องเย็นชามากเกินไปด้วยซ้ำ

หนังบอกเราว่า ไม่ว่าเลือดเนื้อเชื้อไขจะเป็นอย่างไร ก็ไม่เท่าสำคัญเท่าความรัก ความผูกพัน และความทรงจำ ที่ต่างฝ่ายต่างมีให้กันและกัน 

Shoplifters (2018): จะเป็นอย่างไรถ้าเราเลือกออกแบบครอบครัวได้

คู่รักยากจนบังเอิญเดินเจอเด็กหญิงคนหนึ่งถูกทิ้งไว้ลำพังท่ามกลางอากาศหนาวจัด พวกเขาจึงตัดสินใจพาเด็กกลับบ้านมาด้วย ต่อมาก็พบว่าตามตัวเด็กมีรอยคล้ายถูกทำร้ายร่างกาย พวกเขาจึงเลือกที่จะเก็บเด็กไว้เลี้ยงเอง 

ทุกอย่างดูเหมือนจะเข้าข้างคู่รักคู่นี้ว่าการเก็บเด็กไว้เลี้ยงเองไปเรื่อยๆ จะเป็นเรื่องที่ดีกว่า เด็กจะมีความสุขมากกว่าหากได้อยู่กับพวกเขา การกลับไปหาครอบครัวที่แท้จริงของเด็ก ครอบครัวซึ่งไม่เอาใจใส่ หนำซ้ำยังมีพฤติกรรมทำร้ายร่างกายเด็ก เป็นเรื่องที่พวกเขาเห็นว่าไม่ควรกระทำอย่างยิ่ง

อย่างไรก็ตาม อุปสรรคสำคัญของคู่รักคู่นี้คือ พวกเขามีเงื่อนไขมากมายที่บ่งบอกชัดเจนว่า พวกเขา ‘ไม่พร้อม’ และ ‘ไม่เหมาะสม’ ที่จะเลี้ยงดูใคร พวกเขาใช้ชีวิตแบบมิจฉาชีพ พวกเขาสอนให้เด็กขโมยของตามร้านค้า 

ถึงอย่างนั้น ความเหมาะสมคือสิ่งที่พ่อแม่ในหนังพยายามพิสูจน์

อีกหนึ่งประเด็นสำคัญของหนังเรื่องนี้ คือการพยายามชวนผู้ชมตั้งคำถามว่า จะเป็นอย่างไรหากเราสามารถเลือกครอบครัวของตัวเองได้ เป็นครอบครัวที่เราสามารถออกแบบ สานสัมพันธ์ และตัดเยื่อใยได้ด้วยตัวเอง

นี่เป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้หนังเรื่องนี้น่าสนใจ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า หลายๆ ครั้ง ความทุกข์ยากในชีวิตก็มาจากครอบครัวที่เราไม่ได้เลือก มิใช่หรือ?

The Tale of the Princess Kaguya (2013): ปลายทางของการมองลูกเป็นทรัพย์สิน คือไม่มีใครได้มีชีวิตเป็นของตัวเอง

ดัดแปลงมาจากตำนานพื้นบ้านของญี่ปุ่นเรื่อง ตำนานคนตัดไผ่ ชายแก่กับภรรยา ผู้ประทังชีวิตด้วยการตัดไผ่ในป่าขาย จนวันหนึ่งชายแก่ได้พบปล้องไม้ไผ่ส่องแสงสว่างจ้า ชายแก่จึงเข้าไปตัดและได้พบกับทารกหญิงขนาดจิ๋ว ด้วยความที่ชายแก่และภรรยาไม่มีลูก จึงนำทารกกลับไปที่กระท่อมน้อยเพื่อให้ภรรยาช่วยเลี้ยงดู ทารกคนนี้คือผู้ที่จะเติบโตไปเป็น ‘เจ้าหญิงคางุยะ’ สาวที่มีความงามจนเป็นที่หมายปองตั้งแต่ชาวไร่ไปจนถึงจักรพรรดิ

“นี่คือสิ่งที่ลูกต้องการจริงๆ หรือ?” คือแกนหลักของภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่องนี้ มันเป็นคำพูดของผู้เป็นแม่ของคางุยะที่กล่าวกับสามีวัยชราของเธอ

คำถามนี้ปรากฏครั้งแรก ตอนที่ชายแก่กำลังจะพาครอบครัวย้ายจากกระท่อมบ้านนอก เข้าไปอยู่ปราสาทในเมืองหลวงที่ตนได้ซื้อไว้ด้วยทองที่สวรรค์ประทานมาให้ (ทรัพย์สินมากมายถูกประทานลงมาให้แก่ชายแก่และภรรยาหลังเก็บคางุยะมาเลี้ยง) ถึงแม้ว่าประโยคนี้จะเป็นประโยคคำถาม แต่มันก็เป็น ‘คำตอบ’ ที่หนังบอกกับเราตั้งแต่ต้นเรื่อง

ตลอดหลังจากนั้น เราจะเห็นว่าชายแก่มีความสุขอย่างมากกับการยกระดับฐานะตัวเองจากชนชั้นล่างเป็นชนชั้นสูง ส่วนภรรยาของเขา แม้จะหลงระเริงไปเช่นเดียวกันในช่วงแรก แต่ต่อมาเธอก็กลับไปใช้ชีวิตแบบเดิม ทำงานจิปาถะ เย็บปักถักร้อย ปลูกผักสวนครัว และเข้าครัวทำอาหารเอง ทั้งนี้ อาจเพราะการเป็นผู้หญิงชนชั้นสูงนั้นยุ่งยากเกินกว่าที่คนมีอายุอย่างเธอจะมาเรียนรู้ได้แล้ว

ในอีกฝั่งหนึ่ง คางุยะกลับกลายเป็นเด็กสาวที่เต็มไปด้วยความเศร้าภายในจิตใจ เธอถูกบังคับให้ต้องเรียนรู้และปฏิบัติตัวแบบหญิงชนชั้นสูง ซึ่งต่างจากชีวิตอิสระสมัยยังอาศัยอยู่ในกระท่อมบ้านนอกอย่างสิ้นเชิง การเป็นหญิงชนชั้นสูงมีระเบียบแบบแผนมากมายที่ฝืนธรรมชาติ เธอถูกฝึกให้ห้ามหัวเราะในเวลามีความสุข เธอถูกตัดแต่งรูปลักษณ์ภายนอกอย่างเข้มข้น เธอถูกห้ามให้วิ่ง หรือแสดงอาการร่าเริงใดๆ

“ทำไมต้องโกนคิ้วออกทั้งๆ ที่หากไม่มีคิ้วแล้ว เหงื่อก็จะไหลเข้าตา?” คือหนึ่งในตัวอย่างของพฤติกรรมฝืนธรรมชาติที่เธอตั้งคำถาม 

แม้การเป็นหญิงชนชั้นสูงนั้นช่างยุ่งยากและไร้เหตุผลสำหรับเธอ แต่เธอก็อดทนปฏิบัติต่อไปด้วยความที่ ‘ไม่อยากทำให้พ่อเสียใจ’

ชายแก่ยิ่งหลงระเริงไปกับลาภยศที่ได้มาจากการมีคางุยะเป็นลูก เขาทำตัวเป็นผู้ออกแบบชีวิตทุกด้านของคางุยะ ไม่ว่าจะเป็นเป้าหมาย วิถีชีวิต การปฏิบัติตน เขาปฏิบัติกับลูกสาวราวกับทรัพย์สินที่ไร้ความรู้สึก จนไม่ได้สังเกตถึงความทุกข์ของคางุยะ มีเพียงหญิงแก่ผู้เป็นแม่เท่านั้นที่คอยอยู่เป็นเพื่อนคางุยะ เธอละทิ้งยศศักดิ์ที่มี เพื่อมาทำหน้าที่ ‘แม่’ ต่อคางุยะ อาจเป็นเพราะด้วยสัญชาตญาณความเป็นแม่ของเธอที่มีต่อลูก 

“นี่คือสิ่งที่ลูกต้องการจริงๆ หรือ?” คงเป็นคำถามที่เธอมีในใจทุกครั้งที่จะตัดสินใจทำอะไรเพื่อลูก และคงจะเกิดขึ้นบ่อยจนปล่อย ‘ให้ลูกตัดสินใจเลือกเอง’

เมื่อเสียงเล่าลือถึงความสวยของคางุยะแพร่กระจายออกจนไปถึงหูเหล่าผู้ชาย ไล่ตั้งแต่ขุนนางยันจักรพรรดิ เพื่อที่จะได้คางุยะมาครอง พวกเขายอมทำทุกวิถีทางไม่ว่าจะใช้วิธีมอบสิ่งของ เงินทอง หรือเสนอลาภยศให้แก่พ่อของคางุยะ แต่ด้วยไหวพริบอันเฉียบแหลมของคางุยะ ก็ทำให้รอดเงื้อมมือคนเหล่านั้นมาได้ หนึ่งในเหตุผลที่คางุยะหลีกเลี่ยงการแต่งงานกับชายเหล่านี้ ยังมาจากการที่เธอมีเด็กหนุ่มบ้านนาผู้เป็นเพื่อนสมัยเด็กอยู่ในดวงใจอยู่แล้ว 

ทว่าการกระทำเช่นนี้ก็ทำให้พ่อของเธอหัวเสีย เพราะคิดว่านี่คือสิ่งที่ลูกสมควรได้รับ จนลืมคำถามสำคัญไปว่า “นี่คือสิ่งที่ลูกต้องการจริงๆ หรือ?”

วันหนึ่ง คางุยะรู้ความจริงเข้าว่าตนมาจากดวงจันทร์ ซึ่งเป็นดินแดนแห่งความบริสุทธิ์ที่ทุกคนจะถูกสวมผ้าคลุมเพื่อให้ลืมความทรงจำทุกอย่างเกี่ยวกับโลก อีกทั้งยังทำให้เธอกลายเป็นคนซึ่งปราศจากความรู้สึก (บางทีมันอาจเป็นการอุปมาถึงความตายก็ได้)

เมื่อเวลาที่เธอต้องกลับไปดวงจันทร์มาถึง พ่อแม่ของเธอก็เข้ามาขอร้องให้เธออยู่บนโลกต่อ แม้คางุยะจะหันกลับมาและมีท่าทีอยากอยู่บนโลกต่อ แต่เธอก็ถูกคลุมผ้าเพื่อให้ลืมความทรงจำเข้าเสียแล้ว 

สุดท้ายทั้งคู่ไม่มีโอกาสแม้กระทั่งบอกลา โดยเฉพาะชายแก่ที่ไม่มีโอกาสที่จะตั้งคำถามสำคัญต่อลูกอีกต่อไปว่า “สิ่งที่เขาเลือกให้ลูกไปนั้นคือสิ่งที่ลูกต้องการจริงๆ หรือ?” มันสายเกินไปแล้วสำหรับเขา เขาไม่มีโอกาสได้รู้จักกับตัวตนจริงๆ ของลูกอีกต่อไปแล้ว เพราะที่ผ่านมาเขารู้จักเพียงตัวตนของลูกที่เขาออกแบบให้เท่านั้น

หนังบอกเราว่า สุดท้ายไม่มีใครอยู่กับใครได้ตลอดไป ชายแก่และภรรยาสูญเสียคางุยะผู้เป็นลูก ส่วนคางุยะก็ต้องจากพ่อแม่ไปด้วยเช่นกัน ถึงที่สุดแล้ว การมองลูกเป็นทรัพย์สินก็ทำให้ไม่มีใครได้มีโอกาสใช้ชีวิตในแบบที่ตัวเองต้องการเลย


Writer

Avatar photo

อภิสิทธิ์ เรือนมูล

นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ WAY ผู้ร่ำเรียนนิติศาสตร์ แต่สนใจปรัชญา เพราะปรัชญามอบคำอธิบายถึงชีวิตทั้งในมิติ fiction และ non fiction มีความเชื่อว่าชีวิตในและนอกตำรา ทฤษฎีและการปฏิบัติ ไม่อาจแยกขาดออกจากกัน

Related Posts