นอกจากการประท้วงใหญ่ในฮ่องกงเรื่องกฎหมายความมั่นคงในการส่งผู้ร้ายข้ามแดนเมื่อปีที่ผ่านมาจะเป็นปรากฏการณ์การต่อสู้ของกลุ่มเยาวชนและประชาชนที่ทั่วโลกจับตามอง ลึกลงไปกว่าการเรียกร้องให้รัฐบาลไม่ใช้ช่องโหว่ทางกฎหมายแทรกแซงระบบยุติธรรม เยาวชนหลายกลุ่มที่ออกไปลงถนนตลอดระยะเวลา 3 เดือนมีพ่อ แม่ และครอบครัวที่คอยจับจ้องมือถือ ติดตามรายงานข่าวจนหัวใจเต้นไม่หยุด
อาจจะเป็นสองชีวิตที่อยู่ในโลกเงียบตึงที่เรียกว่าบ้าน นั่งนับถอยหลังรอลูกกลับมาจากม็อบที่ถูกสลายการชุมนุมด้วยแก๊สน้ำตาแทบทุกครั้ง และหวังว่าจะไม่พบเจอใบหน้าคุ้นตาอยู่ในข่าวช่องใดก็ตาม
แต่ก็เป็นเรื่องยากที่จะตามหาลูกในบรรดาอภิมหามวลชนที่ถูกบดบังด้วยหมวกกันน็อค หน้ากากขนาดใหญ่ และกลุ่มควันโขมง แม้ว่านักข่าวจะรายงานในบริเวณหายนะต่อชีวิตที่สุดระหว่างผู้ชุมนุมและตำรวจ
ผู้ชุมนุมมากกว่า 1,100 คนถูกจับตลอดระยะเวลา 3 เดือนของการประท้วง มีเด็กอายุ 12 ปีรวมอยู่ด้วย เจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 3,000 คนติดอาวุธครบมืออยู่บนถนน ความรุนแรงเริ่มก่อตัวขึ้นเรื่อยๆ เมื่อการใช้แก๊สน้ำตากลายเป็นเรื่องปกติ ผู้ชุมนุมตอบกลับด้วยการปาระเบิดขวด ก้อนอิฐ และอาวุธเท่าที่หาได้
ข่าวดังที่เราเห็นตามสื่อในช่วงนั้นคือ เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบของฮ่องกงทำร้ายร่างกายผู้ชุมนุมจนเลือดกบใบหน้า
หากจินตนาการความเจ็บปวดของเด็กอายุน้อยที่โดนความรุนแรงขนาดนั้นไม่ออก ครอบครัวของเด็กๆ ที่ถูกจับตัวไปเจ็บปวดกว่านั้นหลายเท่า อีดิธ คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวโทรไปตามทุกสถานีตำรวจ เมื่อรู้ข่าวจากลูกว่ากำลังรอการดำเนินการและอาจถูกตัดสินจำคุกถึง 10 ปี บรรยากาศวงกับข้าวที่บ้านก็เปลี่ยนไปในทันที
เราจะผ่านเหตุการณ์นี้ไปได้เอง ตำรวจก็คงจะมีเมตตากับผู้ชุมนุมที่เป็นเด็ก และอีกมากมายเมื่อพยายามมองโลกในแง่ดี แต่เมื่อพ่อแม่ลากเท้ากลับมาอยู่ในห้อง พวกเขาข่มตาหลับไม่ลงและจับต้นชนปลายไม่ได้ ถึงจะโกรธแค้นที่รัฐบาลไม่ฟังข้อเรียกร้องของเด็กและประชาชนมากแค่ไหน อีดิธทำได้แค่คาดหวังว่าลูกจะปลอดภัย
“เขามีฝันของเขารออยู่ ฉันไม่อยากจะคิดเลยว่าอนาคตของลูกจะเป็นอย่างไรต่อไป”
บางบ้านอาจจะให้เสรีภาพในการออกไปร่วมม็อบก็จริง แต่หลังๆ พวกเขาก็ค้นพบว่าทำใจปล่อยลูกออกไปได้ยากขึ้นเรื่อยๆ
อยากให้ลูกกลับมากินซุปด้วยกันที่บ้าน
“ถ้าคนคนนั้นเป็นลูก ลูกคิดไหมว่าแล้วเราจะอยู่กันอย่างไรต่อ”
พ่อของเด็กผู้ร่วมชุมนุมพูดกับลูกที่ไปร่วมชุมนุมหลังจากที่เห็นข่าวคนในเหตุการณ์โดนลูกหลงจนเลือดกบดวงตา
“ลูกก็ทำอย่างใจอยากไปนะ แต่ขอให้รู้ไว้ว่าแม่กับพ่อเป็นห่วงว่าลูกจะปลอดภัยหรือเปล่าเสมอ”
ในขณะที่วัยรุ่นฮ่องกงหลายคนก็ทะเลาะกับทางบ้านหลายครั้ง ผู้ประท้วงส่วนใหญ่ที่ต่อต้านรัฐบาลเป็นวัยรุ่นหรือมิลเลนเนียล ในขณะที่กลุ่มที่สนับสนุนรัฐบาลคือผู้ใหญ่ที่มีอายุมากกว่า ผู้ซึ่งไม่เข้าใจว่าการอยู่ข้างประเทศตัวเองผิดตรงไหน และตั้งคำถามว่า ‘ความหัวรุนแรง’ ที่บ่มเพาะอยู่ในตัวของลูกสร้างความร้าวฉานในครอบครัวถึงขั้นแตกหักกันได้อย่างไร
“ในฐานะแม่ ฉันก็มีความเห็นของตัวเองเหมือนกัน ทำไมเรามานั่งคุยกันด้วยเหตุผลไม่ได้ ทำไมลูกต้องคิดว่าฉันผิดที่เลือกสนับสนุนจีน สนับสนุนประเทศของคุณมันผิดตรงไหน
“แต่ก่อนเราเคยนั่งดื่มชาด้วยกันอาทิตย์ละครั้ง พูดคุยกัน แต่สิ่งเหล่านี้หายไปหมดแล้ว”
เจนนี่ ควาน คิดถึงลูกและไม่ได้คุยกับเขามานาน บทสนทนาลดทอนตัวเองไปเรื่อยๆ ซึ่งเรื่องราวก็เริ่มมาจากการถกเถียงกันเรื่องการเมืองในบ้าน
ครอบครัวชาวฮ่องกงมีลักษณะคล้ายกับครอบครัวไทยหลายครอบครัวในสถานการณ์นี้ คือเชื่อมั่นกับการเมืองปัจจุบัน (status quo) และไม่เห็นด้วยกับการที่ลูกเชื่อในระบอบประชาธิปไตยหรือสิทธิในการเลือกตั้ง ควานเชื่อมั่นว่ารัฐบาลจีนในตอนนี้ไม่ได้น่ากลัวเหมือนเมื่อก่อนอีกต่อไปแล้ว มีญาติของเธอที่ใช้ชีวิตดีๆ อยู่ในจีนแผ่นดินใหญ่และเกษียณอายุในวัย 60 ปี
“ไม่ว่าระบอบการเมืองจะเป็นอย่างไร ถ้าคุณทำงานเพื่อมุ่งหวังสิ่งที่ดีที่สุดให้กับประชาชน จะเป็นคอมมิวนิสต์หรืออะไรก็แล้วแต่ ฉันก็เลือกรัฐบาลที่มอบชีวิตดีๆ ให้กับประชาชนได้”
เธอเห็นตัวเองเป็นกำลังสำคัญที่จะสนับสนุนรัฐบาลจีนและคิดว่าลูกชายหัวอ่อนไปกับระบอบความคิดเรื่องประชาธิปไตยจากตะวันตก พวกเขาตาบอดเพราะว่าจริงๆ แล้ว “สหรัฐอเมริกาอยู่เบื้องหลังการจลาจลในฮ่องกง”
ควานอยากให้ลูกชายกลับมากินซุปด้วยกันที่บ้าน เพราะซุปไม่ใช่เพียงอาหาร แต่เป็นตัวแทนของการผสานรวมความเป็นครอบครัว ความเป็นอยู่ที่ดี และที่สำคัญที่สุด คือเป็นการแสดงออกทางความรักของแม่ที่มีต่อลูก
ไม่ว่าอะไรจะถูกทำลายไปแล้วบ้าง แต่สายสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวไม่มีวันถูกทำลาย แต่เมื่อถามว่าเธอจะเลิกล้มความเชื่อทางการเมืองแล้วหาทางพูดคุยกับลูกดีๆ ไหม ควานปฏิเสธ
“มีคนฮ่องกงจำนวนมากแล้วที่ไม่สนับสนุนประเทศของตัวเอง ถ้าฉันทำอย่างนั้นอีกคน ประเทศก็จะล่มสลาย”
“สำหรับผม ฮ่องกงเป็นส่วนหนึ่งของจีน คุณเลือกชะตาชีวิตของตัวเองไม่ได้หรอก ‘ฉันอยากเป็นอเมริกัน’ ‘ฉันอยากเป็นอังกฤษ’ ไม่ได้เพราะว่าตามประวัติศาสตร์ฮ่องกง ฮ่องกงเป็นส่วนหนึ่งของจีน” ชายฮ่องกงวัย 58 ปีอีกคนหนึ่งให้ความเห็น
“เรากลัวว่าเราจะกลายไปเป็นจีน ซึ่งเราไม่ต้องการแบบนั้น” เสียงจากคนรุ่นใหม่ชาวฮ่องกง
“คนรุ่นเราคิดว่าเราไม่ต้องรอให้ถึงปี 2047 ที่เราจะกลับไปหาจีน เพราะถ้าว่ากันตามระบบแล้ว เราก็เข้าใกล้จีนเข้าไปเรื่อยๆ”
“เราไม่ต่อว่าคนรุ่นเก่าหรอกที่เขาได้เงินจากการหาเลี้ยงชีพได้มากกว่าเรา แต่พวกเขากลับด่าทอเราเมื่อเราต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย”
ความถูก-ผิดในโลกของการเมืองแบ่งแยกครอบครัว คู่สมรส หรือความสัมพันธ์หลากหลายรูปแบบออกจากกัน ไม่มีใครมี know-how ที่ทรงพลังในการจัดการกับความเดือดในบทสนทนาที่ขยับจากบนถนนเข้ามาในบ้านทุกวันๆ
ซอนยา ซัมธานี นักสะกดจิตบำบัดและไลฟ์โค้ชด้านความสัมพันธ์เสนอว่า แทนที่จะตั้งแง่ต่อกันด้วยความถูก-ผิด เราควรตั้งต้นด้วยการพยายามทำความเข้าใจตัวตนของอีกฝ่ายก่อนแม้จะทำได้ยากนักก็ตาม
การเห็นต่างนั้นไม่ใช่ปัญหา แต่การจำกัดขอบเขตและกฎบางอย่างในการถกเถียงในครอบครัวต่างหากที่สำคัญ
เคารพซึ่งกันและกันก่อนแล้วจึงสื่อสารกัน การที่คนในครอบครัวเห็นต่างกันสุดขั้วไม่ได้หมายความว่าความรักที่มีต่อกันจะน้อยลง ดังนั้นหากพ่อ แม่ หรือลูกรู้สึกว่าถูกคุกคามหรือถูกเหยียดก็ควรแสดงออกมาโดยตรง และที่สำคัญคือพ่อแม่ควรจะบอกถึงเจตจำนงในการถกเถียงเสียก่อนที่จะมาเค้นกันว่าสรุปใครถูกใครผิด เพราะปลายทางของมันคือการตัดสินมนุษย์
“พ่อแม่ควรจะจำให้ขึ้นใจว่าความรัก ความเชื่อมโยงและความสัมพันธ์คือสิ่งที่สำคัญที่สุด ไม่ใช่การบังคับให้ลูกเห็นด้วยกับทุกสิ่งเพราะมันป่วยการที่จะบีบให้ลูกคิดเหมือนกับตัวเอง พ่อแม่ควรจะชี้ให้ลูกตระหนักรู้และเลือกเอง เขาจึงต้องรับผิดชอบต่อผลที่ตามมาจากการเลือกนั้นด้วย”
ในฟากของพ่อแม่-ลูกที่อยู่กันคนละฝ่ายอย่างชัดเจน การสร้างพื้นที่ปลอดภัยของครอบครัวฮ่องกงอาจจะทำได้ยากพอๆ กับที่ไทยเพราะแต่ละรุ่นเติบโตมากับระบบสังคมและวัฒนธรรม ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ และระบอบการเมืองที่เอื้อให้ชีวิตหายใจได้ไม่เท่ากัน
คนรุ่นเก่าชาวฮ่องกงมีแต้มต่อทั้งเรื่องการเข้าถึงการศึกษาที่รัฐจัดให้ การเปิดประเทศของจีนในปี 1987 สร้างโอกาสในการจ้างงานสำหรับทนายความ พนักงานธนาคาร และคนทำงานด้านอุตสาหกรรม จำนวนของประชากรก็น้อยกว่าในตอนนี้มาก รวมถึงค่าที่อยู่อาศัยก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่เกินเอื้อม คนรุ่นก่อนฝันที่จะมีบ้านของตัวเองได้ ในขณะที่คนรุ่นใหม่จะเช่าที่อยู่ยังลำบากหากเทียบกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นอยู่
ชาวฮ่องกงรุ่นก่อนพัฒนาอาชีพและคุณภาพชีวิตไปพร้อมๆ กับเศรษฐกิจ จึงมีความฝันในหน้าที่การงานที่สูงขึ้นเรื่อยๆ จากการลงทุนทางการศึกษาที่สูงขึ้น เงินเดือนที่มากขึ้น แต่คนรุ่นใหม่ไม่ได้ฝันแบบนั้นอีกต่อไปแล้วเพราะช่องว่างทางฐานะระหว่างคนรวยและคนจนกว้างขึ้นเรื่อยๆ เขาไม่ได้มีความเชื่อมั่นในรัฐบาลเหมือนคนรุ่นพ่อแม่ การออกมาประท้วงจึงเป็นทางเลือกเดียวที่จะสร้างความฝันใหม่ๆ และหลากหลายให้กับวัยรุ่นที่กำลังต่อสู้อยู่กับการหาที่ทางให้ตัวเองในระบบ
“การออกจากที่ที่เรารักเป็นเรื่องยากมากๆ เราล้วนเป็นคนฮ่องกง แล้วที่เราออกมาประท้วงก็เพราะว่าเรารักฮ่องกง แต่ตอนนี้เรากลับถูกขับให้ออกไป” ชาวฮ่องกงวัยประมาณ 20 ปีที่ร่วมขบวนประท้วงเพื่อประชาธิปไตยและไม่สามารถกลับบ้านได้
ภาพของการเมืองและการเคลื่อนไหวทางสังคมของคนรุ่นเก่าและใหม่ในฮ่องกงก็ต่างกัน คนรุ่นเก่าบางครอบครัวอพยพมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ที่ทัศนคติและการแสดงออกทางการเมืองจำกัด ดังนั้นคนรุ่นใหม่จึงมี sense of belonging ต่อความเป็นฮ่องกงและสัมผัสได้ถึง ‘ทัศนคติ’ ที่จีนมีต่อฮ่องกงได้มากกว่า
เราเห็นประวัติศาสตร์การออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านการแพร่ระบาดของนิวเคลียร์ในญี่ปุ่นที่มีเหล่าแม่ๆ ออกมาร่วมขบวน หรือในประเทศแถบยุโรปและอเมริกาที่ผู้หญิงในทุกช่วงวัยกระตือรือร้นที่จะประท้วงรัฐบาลยุคทรัมป์ภายใต้ประเด็นการศึกษา สิทธิเด็ก และความมั่นคงทางเศรษฐกิจจนกลายเป็นกลุ่ม ‘Raged Moms’ หรือคุณแม่ผู้เกรี้ยวกราด เพราะขบวนการเคลื่อนไหวในแต่ละประเทศตั้งอยู่บนพื้นฐานของสังคมและโครงสร้างครอบครัวที่แตกต่างกัน
“แม่ของฉันบอกว่าไม่ให้ออกมาประท้วงเพราะทุกคนก็ควรจะจัดการเรื่องของตัวเองให้ดีก่อน การหาเงินและความมั่นคงสำคัญกับแม่มากกว่าการต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตย”
ซาร่า คนรุ่นใหม่ชาวฮ่องกงบอกเล่า
ไดอะล็อกที่คล้ายกันกำลังเกิดขึ้นในหลายครอบครัวไทย ทั้งพ่อแม่และลูกกำลังค้นหาพื้นที่ตรงกลางในการสนทนาและอะลุ้มอล่วยความทรงจำต่อกันและกัน
หลายครอบครัวเลือกที่จะไม่พูดถึงมัน หลายครอบครัวมีปากเสียงกันจนเข้าหน้ากันไม่ติด หลายครอบครัวค้นพบว่าต่างคนต่างเป็นคนตาบอดที่คลำหากันในห้องแคบ
แต่ครอบครัวเป็นหน่วยที่สำคัญที่สุดหน่วยหนึ่งในการสร้างประสบการณ์ความรักระหว่างมนุษย์ ความเอื้ออาทร การเคารพและเข้าใจ ไม่ตัดสินอีกฝ่ายเมื่อเห็นต่าง จึงเป็นอาวุธและอ้อมกอดที่งดงามของการ ‘กลับบ้าน’ ของกันและกัน
คำถามสำคัญหลังจากการประท้วงของฮ่องกงหรือไทยก็ตามจึงน่าสนใจตรงที่ว่า เมื่อเหตุการณ์สงบและคลี่คลายลง พื้นที่ในครอบครัวที่เคยเป็นพื้นที่ปลอดภัยของพ่อ แม่ ลูก ได้เปลี่ยนแปลงความหมายและกลายกลับไปเป็นความสงบแบบดุร้าย หรือบ้านยังคงเป็นที่ที่สมาชิกไม่กลับกลายเป็นอื่นไป
อ้างอิง
edition.cnn.com
dw.com
theguardian.com
www.straitstimes.com
www.scmp.com
www.wsj.com