คำว่า “ไม่” ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด : Rejection Therapy เกมที่จะช่วยให้คุณกล้าเข้าหาการถูกปฏิเสธ

“คุณไม่มีสิทธิ์อ่านบทความนี้”

“คุณไม่ผ่านการสัมภาษณ์งาน”

“คุณไม่สามารถสั่งซื้อสินค้าในโปรโมชันนี้ได้”

“คุณไม่ถูกสลากกินแบ่งรัฐบาล”

คุณเห็นอะไรในประโยคเหล่านี้?


เห็นการถูกปฏิเสธ

เห็นความผิดหวัง

เห็นความเสียใจ

หรือเห็นคำว่า ‘ไม่’ ที่แฝงอยู่ในทุกประโยค 


สิ่งที่น่าประหลาดใจคือ คำว่า ‘ไม่’ นั้นเป็นคำสั้นๆ ที่มีความหมายทรงพลังมาก

เมื่อใดก็ตามที่คำว่า ‘ไม่’ เข้าไปอยู่ในประโยคใดประโยคหนึ่ง มันสามารถเปลี่ยนความหมายของประโยคนั้นให้กลายเป็นพลังยิ่งใหญ่พอที่จะส่งผลต่อความรู้สึกของเราได้ และยังมีอำนาจมากพอที่จะหยิบยื่นความพ่ายแพ้มาให้เรา จนทำให้เกิดความรู้สึกเศร้า เสียใจ หงุดหงิด และเกิดสารพัดอารมณ์ลบตามมาในภายหลัง และแน่นอนว่าคงไม่มีใครอยากเผชิญกับความรู้สึกเหล่านี้

‘การถูกปฏิเสธ’ คือหนึ่งในสิ่งที่มนุษย์กลัวเป็นอันดับต้นๆ

เรามักจะรู้สึกสูญเสียตัวตน ความมั่นใจ หรือรู้สึกกระวนกระวายเมื่อถูกปฏิเสธ มนุษย์เป็นสัตว์สังคม เราโหยหาการยอมรับจากผู้อื่น หวาดกลัวการถูกกีดกัน หวั่นเกรงกับพลังอำนาจที่เหนือกว่า และทุกอย่างที่ว่ามา ล้วนเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกับ ‘คำปฏิเสธ’

นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมคนเราถึงกลัวที่จะได้รับคำปฏิเสธกลับมา บางคนวิตกกังวัลถึงขนาดที่ว่าสามารถตีความอารมณ์หรือความคิดของอีกฝ่ายเป็นเชิงลบและคิดย้อนกลับมาโทษตัวเองได้

เจสัน คัมลี นักธุรกิจชาวแคนาดามองเห็นปัญหาในจุดนี้ เขาจึงเริ่มคิดค้นเกมขึ้นมา และตั้งชื่อมันว่า ‘Rejection Therapy’

‘Rejection Therapy’ เป็นเกมในชีวิตจริงที่มีกติกาสั้นๆ ง่ายๆ นั่นคือ ‘ทำอย่างไรก็ได้ให้ถูกปฏิเสธ’ และมีข้อแม้เล็กๆ น้อยๆ ว่าการปฏิเสธนั้นจะต้องเกิดขึ้นนอกพื้นที่ปลอดภัยของตัวเราเอง โดยจะมีคำแนะนำจากการ์ดมาเป็นตัวช่วย หากผู้เล่นต้องการความช่วยเหลือ

เจสันใช้หลักจิตวิทยาเข้ามาช่วยบำบัดความกังวลของผู้คนผ่านรูปแบบของการเล่นเกม สร้างภารกิจหลักขึ้นมาเพื่อความท้าทาย สนับสนุนให้ทุกคนลองก้าวออกจากพื้นที่ปลอดภัยของตัวเอง และสร้างเว็บไซต์ขึ้นมาเพื่อให้ข้อมูลทางออนไลน์ เว็บไซต์นั้นมีชื่อว่า www.rejectiontherapy.com

เจีย เจียง นักธุรกิจและนักเขียนชาวจีน พบเว็บไซต์นี้โดยบังเอิญหลังจากที่เขาพยายามหาทางก้าวข้ามความกลัวที่จะถูกปฏิเสธ และหลังจากที่ได้อ่านรายละเอียดของ Rejection Therapy เจีย เจียง ตั้งเป้าหมายไว้ว่าชีวิต 100 วันหลังจากนี้ เขาจะลองเปิดใจเดินเข้าหาการถูกปฏิเสธ

“วันแรกผมขอยืมเงิน 100 ดอลลาร์ฯ จากคนแปลกหน้า ผมลงบันไดมาเจอชายคนหนึ่งนั่งอยู่ที่โต๊ะ แล้วก็ตัดสินใจเข้าไปหาเขาเลย แต่ตอนเดินเข้าไปมันเป็นย่างก้าวที่ยาวนานที่สุดในชีวิต ผมขนหัวลุก เหงื่อออก ใจเต้นแรงแทบจะระเบิด แล้วก็ถามเขาไปว่า ‘คุณครับ ผมขอยืมเงินสัก 100 ดอลลาร์ได้ไหมครับ?’ เขาเงยหน้าขึ้นมาแล้วตอบว่า ‘ไม่ล่ะ ทำไม?’ แล้วผมก็ตอบไปว่า ‘ไม่มีอะไรครับ ขอโทษครับ’ แล้วหันหลังวิ่งหนีอย่างไว ผมอายมาก”

“ตอนนั้นผมถ่ายคลิปเอาไว้ด้วย คืนนั้นผมเลยนั่งย้อนดูคลิปแล้วก็ได้เห็นว่าตัวเองกลัวมากแค่ไหน อย่างกับเด็กในเรื่อง The Sixth Sense ตอนเห็นคนตาย” เจีย เจียง เล่าอย่างติดตลก

ที่มา: https://youtu.be/-vZXgApsPCQ

“จริงๆ แล้วชายคนนั้นไม่ได้น่ากลัวขนาดนั้น เขาเป็นหนุ่มหุ่นหมี ดูน่ารัก และเขาก็ถามผมแค่ ‘ทำไม?’ ซึ่งที่จริงมันเป็นการให้โอกาสผมได้อธิบายเหตุผลเสียด้วยซ้ำ และที่จริงผมพูดอะไรได้หลายอย่างเลย ผมสามารถอธิบายได้ ต่อรองได้ แต่สุดท้ายผมก็ไม่ได้ทำสักอย่าง วิ่งลูกเดียว”

และนั่นคือสิ่งแรกที่ เจีย เจียง ได้เรียนรู้ เขาเรียนรู้ว่าคำตอบที่เป็นประโยคปฏิเสธในครั้งนี้ ยังคงมีช่องว่างให้เขาได้อธิบายเหตุผลของตัวเอง ซึ่งทำให้เห็นว่าอีกฝ่ายก็พร้อมที่จะรับฟังเหตุผลของเขา และนั่นก็นับเป็นหนึ่งโอกาสที่เขาปล่อยให้มันหลุดมือไป

“วันที่สองผมไปร้านเบอร์เกอร์ พอกินเสร็จก็เดินไปที่เคาน์เตอร์คิดเงิน แล้วบอกพนักงานว่า ‘ขอเติมเบอร์เกอร์ได้ไหมครับ?’ พนักงานงง ถามผมกลับมาว่า ‘เติมเบอร์เกอร์คือยังไงนะครับ’ ผมตอบไปว่า ‘ก็เหมือนเติมน้ำน่ะครับ แค่เปลี่ยนเป็นเบอร์เกอร์’ เขาขอโทษผมแล้วบอกว่าที่ร้านยังไม่มีเบอร์เกอร์แบบรีฟิล” 

“พอถูกปฏิเสธแบบนี้ จริงๆ ผมจะวิ่งหนีเลยก็ได้ แต่ผมเลือกคุยต่อ ผมบอกเขาไปว่า ‘ผมรักเบอร์เกอร์ร้านนี้มาก และถ้าพวกคุณทำเบอร์เกอร์แบบรีฟิลได้ ผมจะยิ่งรักพวกคุณมากขึ้นไปอีก’ พนักงานคนนั้นตอบผมว่าเขาจะไปบอกผู้จัดการร้านให้ และอาจจะมีแบบรีฟิลในอนาคต แต่ต้องขอโทษด้วยที่วันนี้ยังทำแบบรีฟิลให้ไม่ได้”

พอลองเปลี่ยนจากการ ‘วิ่งหนี’ เป็นการ ‘เผชิญหน้า’ เจีย เจียง ก็ได้พบว่าความรู้สึกกลัวแทบเป็นแทบตายในวันแรกนั้นกลับหายไปอย่างปลิดทิ้ง เขาจึงทดลองต่อในวันที่สามโดยการไปที่ร้านโดนัท เพื่อขอโดนัทแบบสัญลักษณ์งานโอลิมปิก ซึ่งเป็นโดนัทที่เชื่อมกันเหมือนห่วงห้าสี 

“ผมคิดเอาไว้ว่ายังไงก็ไม่มีทางได้ยินคำว่า ‘ได้สิ’ กลับมาหรอก แต่คนทำโดนัทดันเอาด้วย เขาหยิบกระดาษมาจดรายละเอียดสี รายละเอียดห่วง แล้วพึมพำประมาณว่าจะทำยังไงดีนะ พอผ่านไปสิบห้านาที เขาก็ออกมาพร้อมกล่องโดนัทหน้าตาเหมือนห่วงโอลิมปิก ผมประทับใจสุดๆ ไม่อยากจะเชื่อ”

ที่มา: http://gordon-myers.com/2013/08/feeling-rejected.html

“ถ้าผมถูกปฏิเสธแต่ไม่วิ่งหนี ผมอาจจะยังเปลี่ยนคำว่า ‘ไม่’ ให้เป็น ‘ใช่’ ได้” 

“อีกหนึ่งคำที่มหัศจรรย์คือคำว่า ‘ทำไม’ วันหนึ่งผมไปที่บ้านคนแปลกหน้า ผมมีดอกไม้อยู่ในมือ แล้วผมก็เคาะประตูถามเขาว่า ‘ขอปลูกดอกไม้ดอกนี้ในสวนหลังบ้านคุณได้ไหมครับ’ เป็นไปตามคาด เจ้าของบ้านตอบว่า ‘ไม่’ ผมเลยถามกลับไปว่า ‘ทำไมปลูกถึงไม่ได้เหรอครับ’ เขาอธิบายว่าเขาเลี้ยงหมาอยู่ตัวหนึ่ง และเจ้าหมาตัวนี้ชอบขุดทุกอย่างที่ปลูกไว้ในสวน เขาไม่อยากให้ดอกไม้ของผมต้องตายอย่างสูญเปล่า หลังจากนั้นเขาก็บอกให้ผมลองเดินข้ามถนนไปคุยกับคอนนี่ที่อยู่ฝั่งตรงข้าม เพราะเธอชอบดอกไม้”

“ผมเลยเดินข้ามถนนไป เคาะประตูบ้านคอนนี่ เธอดูดีใจมากที่ได้เจอผม ผ่านไปประมาณชั่วโมงครึ่ง ดอกไม้ดอกนั้นก็ได้ไปอยู่ในสวนของคอนนี่”

“ถ้าผมเดินออกมาตั้งแต่ตอนที่ถูกปฏิเสธ ผมคงคิดว่ามันเป็นเพราะชายคนนั้นไม่เชื่อใจผม ผมดูบ้าบอ ผมแต่งตัวไม่ค่อยดี แต่ไม่ใช่เลย เป็นเพราะสิ่งที่ผมขอไปมันไม่ตรงกับความต้องการของชายคนนั้นก็เท่านั้นเอง และเขาก็เชื่อใจผมพอที่จะแนะนำบ้านหลังอื่นให้ด้วย” 

“ผมพบว่าคนที่เปลี่ยนโลกจริงๆ คนที่เปลี่ยนการใช้ชีวิตของเรา เปลี่ยนวิธีคิดของเรา คือคนที่เราเพิ่งเคยเจอเป็นครั้งแรกและปฏิเสธเรา คนอย่างมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ มหาตมะ คานธี เนลสัน แมนเดลา หรือแม้กระทั่งพระเยซู ไม่ยอมปล่อยให้คำปฏิเสธมากำหนดขอบเขตตัวเอง แต่พวกเขาให้การกระทำของตัวเองหลังจากที่ถูกปฏิเสธเป็นตัวกำหนด และพวกเขาโอบกอดคำปฏิเสธเหล่านั้นเอาไว้”

“เราไม่ต้องเป็นแบบท่านทั้งหลายนี้เพื่อที่จะได้เรียนรู้เรื่องการถูกปฏิเสธเลย อย่างสำหรับตัวผม คำปฏิเสธเป็นเหมือนคำสาป เป็นเหมือนผีในจินตนาการที่ตามหลอกตามหลอน มันตามรังควาญผมมาทั้งชีวิตเพราะว่าผมวิ่งหนีมัน ผมจึงเริ่มโอบกอดมัน เปลี่ยนคำปฏิเสธให้เป็นของขวัญชิ้นใหญ่ที่สุดในชีวิต เริ่มสอนคนอื่นๆ ว่าทำอย่างไรถึงจะพลิกคำว่า ‘ไม่’ ให้กลายเป็นโอกาสได้”

“เมื่อคุณเผชิญหน้าอุปสรรคชิ้นถัดไป หรือความล้มเหลวครั้งถัดไป ถ้าโดนปฏิเสธ ลองนึกถึงความเป็นไปได้ดูครับ อย่าวิ่งหนี ถ้าคุณลองโอบกอดมัน มันจะกลายเป็นของขวัญของคุณเหมือนกัน” เจีย เจียง กล่าวปิดท้าย

และนี่คือสิ่งที่ เจีย เจียง ได้เรียนรู้จากการเล่นเกมนี้ เขานำประสบการณ์เหล่านี้มาเล่าในตอนหนึ่งของ Ted Talk’s ที่มีชื่อว่า ‘What I learned from 100 days of rejection | Jia Jiang’ และคลิปนี้ก็สร้างปรากฏการณ์ไวรัลบนแพลตฟอร์มวิดีโอสั้นอย่าง TikTok ผู้คนมากมายเริ่มออกมาลองทำชาเลนจ์ #RejectionTherapy และหลายคนบอกว่าหลังจากทำชาเลนจ์นี้ พวกเขาได้เรียนรู้ที่จะปรับตัวเข้าหาคำปฏิเสธต่างๆ ในชีวิต 

ชาเลนจ์นี้ยังเปลี่ยนมุมมองของผู้เข้าร่วมที่มีต่อคำว่า ‘ไม่’ ไปอย่างสิ้นเชิง ความรู้สึกกังวล เสียใจ และหวาดกลัว ค่อยๆ เริ่มลดลง สิ่งที่เพิ่มขึ้นมาคือความกล้าที่จะมองหาโอกาสในการพูดคุย ความเข้าอกเข้าใจ และผู้เข้าร่วมยังได้เรียนรู้วิธีการเจรจาภายใต้แรงกดดันอีกด้วย   

นับว่าเป็นอีกหนึ่งวิธีที่น่าลองนำไปปรับใช้ และไม่แน่ว่าการบำบัดในรูปแบบนี้ อาจจะช่วยเปลี่ยนความคิดและความกลัวเดิมๆ ที่เคยมี ให้กลายเป็นความสนุกและตื่นเต้นที่จะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ก็เป็นได้

อ้างอิง

https://youtu.be/-vZXgApsPCQhttps://www.rejectiontherapy.com/


Writer

Avatar photo

ณัฐนรี บัวขม

มีชีวิตอยู่เพื่อดูคลิปตลก คีบตุ๊กตา และเดินหาร้านอร่อยในย่านบรรทัดทอง

Illustrator

Avatar photo

พรภวิษย์ เพ็งเอียด

ชอบกินเนื้อต้มและตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือให้ได้ปีละสามเล่ม

Related Posts