“เรามักใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางผู้คนที่ดูเหมือนเรา
ลงคะแนนเสียงเหมือนเรา
จับจ่ายใช้สอยและไลฟ์สไตล์คล้ายเรา
เราได้รับข่าวสารเฉพาะที่เราต้องการ
จากนั้นก็ตะโกนกู่ร้องไปยังห้องแห่งเสียงสะท้อนในสื่อสังคมออนไลน์
ที่นั่นก็ออกแบบมาตามข้อมูลที่ให้เราชอบอยู่แล้ว”
คำกล่าวจาก สเตฟานี รูฮ์ล (Stephanie Ruhle) พิธีกรรายการโทรทัศน์ชาวอเมริกัน ชี้ให้เราเห็นถึง ‘อะไรบางอย่าง’ ที่เป็นตัวเชื่อมคนที่มีโลกทัศน์เดียวกันให้ยิ่งเข้าใจกันและกันอย่างแน่นแฟ้นยิ่งๆ ขึ้นไป แต่สำหรับคนที่ดูไกลออกไป เรามักจะลดละซึ่งความเข้าใจระหว่างพวกเขาไป จนแทบจะกลายเป็นว่าเราเกิดและเติบโตมาในโลกคนละใบกัน
‘ความต่าง’ ที่ว่า นอกเหนือไปจากปูมหลังที่ว่าด้วยชาติกำเนิดหรือศาสนา ที่อาจส่งผลโดยตรงต่อความคิดและความเชื่อแล้วนั้น ‘อายุ’ ก็อาจเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เรานั้นอาจทั้งเหมือนและต่างกันเกินไป
หากเราเป็นคน Gen X ขึ้นไป เพราะอะไรถึงมักมองว่าเด็กๆ สมัยนี้ไม่ค่อยว่านอนสอนง่าย
หรือหากเราอยู่ใน Gen Y เพราะเหตุใดเราจึงต้องอยู่ในสถานะแซนด์วิชเป็นเบาะรองรับและกันกระแทก ระหว่างคนที่เด็กและโตกว่า
และเคยสงสัยไหมว่าในฐานะเด็ก Gen Z เพราะเหตุใดเราจึงไม่ค่อยเข้าใจผู้ใหญ่ที่เขาว่ากันว่าอาบน้ำร้อนมาก่อน
วันนี้เราอยากชวนทุกคนมาตั้งคำถามและสังเกตคำตอบไปพร้อมๆ กันว่า
เพราะอะไรเราจึงมักคุยกับคนรุ่นเดียวกันรู้เรื่อง
แต่พอเป็นคนต่างวัยกลับไม่เข้าไปเสียทั้งหมด
หากใครเคยรู้สึกเหมือนประโยคข้างต้น คุณอาจเป็นคนหนึ่งที่ตกอยู่ใน ‘ห้องแห่งเสียงสะท้อน’ (Echo Chamber) ที่เปรียบเสมือนโลกใบหนึ่งซึ่งเป็นโลกที่เฉพาะกลุ่ม โลกนั้นคือโลกที่ว่าด้วย ‘โลกทัศน์’ บางอย่างที่เมื่อเรามีปูมหลังชีวิตที่ต่างกัน เติบโตมาในบริบทที่ไม่เหมือนกัน เหล่านั้นอาจทำให้เราเกิดเป็น ‘ช่องว่าง’ บางอย่างที่ทำให้ความคิดเราแตกต่างกัน มากไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างกันที่อาจไม่ลงรอย
Echo Chamber คือปรากฏการณ์ที่ผู้คนมักจะ ‘ได้ยิน’ หรือ ‘รับฟัง’ แต่ข้อมูล ความคิดเห็น และความเชื่อบางประการที่สอดคล้องกับตนเอง ราวกับอยู่ในห้องที่ก้องสะท้อนกลับไปมาด้วยความคิดบางอย่าง ซึ่งนั่นอาจเป็นการที่ไม่ได้เปิดใจรับฟังผู้อื่นเท่าไรนัก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคดิจิทัลที่อัลกอริธึมของสื่อสังคมออนไลน์มักจะนำเสนอเนื้อหาที่ตรงและเพาะเจาะจงกับความสนใจของเราในฐานะผู้ใช้ ซึ่งนั่นอาจทำให้ผู้คนยิ่งถูกห้อมล้อมด้วยข้อมูลที่ตอกย้ำความเชื่อเดิมๆ (Confirmation Bias) และเลี่ยงออกไปกับข้อมูลที่ต่างไปจากที่เราเชื่อและสนใจ
นอกเหนือไปจากนั้นยังมีอีกหนึ่งคำที่มีความหมายคล้ายกันอย่าง ‘ฟองสบู่ตัวกรอง’ (Filter Bubble) ที่หมายความเฉพาะเจาะจงไปถึงภาวะการที่อินเทอร์เน็ตและสื่อสังคมออนไลน์ขึ้นโชว์แต่สิ่งที่เราชื่นชอบหรือสิ่งที่ตรงกับแนวคิดและความสนใจของเราเองเท่านั้น (เช่นดังสถานการณ์ที่เราอาจเพิ่งบ่นเปรยๆ กับเพื่อนว่ากำลังสนใจสิ่งหนึ่งๆ อยู่ แล้วหลังจากนั้นไม่นานนักสิ่งดังกล่าวที่ว่าก็ขึ้นที่หน้าฟีดในโซเชียลมีเดียของเราโดยอัตโนมัติ)
ทั้งหมดทั้งมวลนี้ ส่งผลให้เกิดแรงเสริมให้กับ ‘ความคิด’ และ ‘ความเชื่อ’ ที่มีอยู่ดังเดิมให้แข็งแกร่งขึ้น จนอาจนำไปสู่ความคิดสุดโต่งและมากไปถึงการแบ่งแยกความคิดในสังคม ไม่ว่าจะในบ้าน ที่ทำงาน หรือหากย้อนไปสัก 2-3 ปีก่อนหน้านี้ เห็นทีเรื่องปราฏการณ์ทางการเมืองและสังคมต่างๆ เราก็อาจวิพากษ์วิจารณ์กันไปคนละมุมมองจนแทบจะไร้ซึ่งความเข้าใจระหว่างกัน
อาจเพราะเหตุนี้เอง เราจึงไม่อยาก ‘ดีล’ กับความต่าง
เมื่อห้องแห่งเสียงสะท้อนยิ่งกู่ก้อง ฟองสบู่ตัวกรองยิ่งตอกย้ำ ผสมผสานไปกับข้อมูลที่ตอกย้ำความเชื่อเดิมๆ ที่ถูกล้อมรอบ นั่นยิ่งอาจทำให้เรา ‘เชื่อ’ อย่างแทบไม่ต้องสงสัยในความคิดและการกระทำบางอย่าง และยิ่งเมื่อสิ่งเหล่านี้ทำงานระหว่างกันไปเรื่อยๆ และเรื่อยๆ นั่นยิ่งอาจกลายเป็นการสนับสนุนให้เกิดห้องเสียงสะท้อนระหว่างช่วงวัยและยุคสมัย (Generation Echo Chamber) ที่อาจยิ่งตอกย้ำช่องว่างระหว่างวัยมากขึ้นไปเรื่อยๆ
ดังนั้นการตระหนักถึงห้องแห่งเสียงสะท้อนจึงมีความสำคัญ เพราะจะช่วยให้เรายิ่งเปิดใจรับฟังมุมมองที่หลากหลายและสร้างความเข้าใจระหว่างกันในสังคมได้ดีขึ้น
และช่องว่างระหว่างวัยอาจเป็นเพียงกำแพงที่คนแต่ละวัยสร้างขึ้นมาเพื่อปิดกั้นบางอย่าง อคติที่แฝงฝังอาจถูกรื้อถอนออกไปได้หากเราเปิดใจฟังซึ่งกันและกันอย่างเข้าใจ ซึ่งสิ่งนี้อาจเป็นสายใยที่อาจทำให้เกิดการเรียนรู้ระหว่างกันและกันจนกลายเป็นมิตรภาพที่งดงาม
อ้างอิง :
https://theconversation.com/the-myth-of-the-echo-chamber-92544
https://thepotential.org/social-issues/echo-chamber/
https://thepotential.org/social-issues/echo-chamber-2/