- ปี 1968 The Beatles ปล่อยอัลบั้มชื่อเดียวกันกับชื่อวงออกมา และมีเพลงเพลงหนึ่งที่จอห์น เลนนอน แต่งขึ้นเพื่อล้อเลียนเหล่า “นักถอดรหัส” ที่คิดว่าตัวเองถอดรหัสลับในเนื้อเพลง The Beatles ได้ ทั้งที่บางครั้งมันก็ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าสิ่งที่ปรากฏอยู่บนเนื้อเพลง เพลงเพลงนั้นชื่อว่า Glass Onion (หัวหอมแก้ว)
- หลังจากประสบความสำเร็จจาก Knives Out ไรอัน จอห์นสัน ผู้กำกับ กับตัวละครหลักจาก Knives Out อย่างสุภาพบุรุษนักสืบ เบอนัวต์ บลองก์ ก็กลับมาอีกครั้งใน Glass Onion หนังไขปริศนาคดีฆาตกรรมที่กวาดคำชมจากคนดูไปอย่างล้นหลามอีกเช่นเคย
- นอกจากการเล่าเรื่องที่น่าติดตาม การแสดงของเหล่านักแสดงตัวพ่อตัวแม่ และมุกตลกเสียดสีที่หนังมอบให้คนดูแล้ว ไรอัน จอห์นสัน ยังแดกดันวัฒนธรรมการอวยยศคนรวยได้อย่างถึงพริกถึงขิง และเขาอาจจะอยากตะโกนบอกเราว่า “แค่รวยไม่ได้แปลว่าเก่งโว้ย” ผ่าน Glass Onion ก็เป็นได้
*บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์
หลังจากประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามทั้งด้านรายได้และคำวิจารณ์กับ Knives Out มาแล้ว ไรอัน จอห์นสัน ผู้กำกับหนังชาวอเมริกัน ก็จูงมือตัวละครเอกของเขาอย่าง เบอนัวต์ บลองก์ นักสืบผู้มีเสน่ห์ เฉียบคม หลักแหลม และบางครั้งก็แสดงออกอย่างป้ำ ๆ เป๋อ ๆ ที่เรียกเสียงฮาจากคนดูได้เป็นอย่างดี มาคว้าความสำเร็จอีกครั้งใน Glass Onion: A Knives Out Mystery
เรื่องราวใน Glass Onion: A Knives Out Mystery เริ่มต้นขึ้นเมื่อ ไมล์ส บรอน เศรษฐีบริษัทเทคโนโลยีใหญ่ยักษ์ (ที่ชวนให้เรานึกถึงหนึ่งในมหาเศรษฐีที่รวยที่สุดที่เพิ่งซื้อแพลตฟอร์มนกฟ้าไป) ได้ส่งกล่องปริศนาที่ภายในเป็นข้อความเชิญชวนกลุ่มเพื่อนสนิทของเขาไปปาร์ตี้บนเกาะส่วนตัวสุดหรูในกรีซ และให้เพื่อน ๆ ร่วมเล่นเกมจำลองการฆาตกรรม “ไขปริศนาใครฆ่าไมล์ส บรอน” ที่เขาจัดขึ้น ทว่ากลับมีการฆาตกรรมเกิดขึ้นจริงบนเกาะ จนยอดนักสืบเบอนัวต์ บลองก์ ที่บังเอิญไปอยู่บนเกาะแบบไม่รู้อิโหน่อิเหน่ต้องออกโรงไขปริศนาฆาตกรรมอีกครั้ง
“ตัวป่วนพลิกโลก” ที่เป็นได้แค่ “ไอ้พวกขี้กาก”
หนึ่งในตัวละครที่โดดเด่นที่สุดก็คือตัวละครอย่าง ไมล์ส บรอน มหาเศรษฐีเจ้าของบริษัทเทคโนโลยีที่ชื่อว่า อัลฟา ผู้เป็นคนส่งคำเชิญชวนให้กลุ่มเพื่อนสนิทของเขาซึ่งประกอบด้วย ไลโอเนล ตุสแซง นักวิทยาศาสตร์ผู้เก่งกาจ เบอร์ดี เจ เจ้าของธุรกิจแบรนด์เสื้อผ้าและอดีตนางแบบ ดุค โคดี สตรีมเมอร์และอินฟลูเอนเซอร์ขวัญใจชาวเน็ต แคลร์ เดเบลลา ผู้ว่าการรัฐคอนเนติคัตที่ลงสมัครเป็นวุฒิสมาชิก และแอนดี แบรนด์ คนต้นคิดและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทอัลฟา
ไมลส์ มักจะเรียกตัวเขาและเพื่อน ๆ ว่าเป็นพวก “ตัวป่วนพลิกโลก” หมายถึง ผู้คนที่มีความคิดสดใหม่ สร้างสรรค์ ไม่เหมือนใคร แต่ในความเป็นจริง นอกจากแอนดี แบรนด์ ที่สร้างสรรค์ กล้าหาญ และชาญฉลาด จริง ๆ แล้ว คนอื่น ๆ ในแก๊งไมล์สก็เป็นเพียง “ไอ้พวกขี้กาก” เท่านั้น
ผู้กำกับอย่างไรอัน จอห์นสัน ให้สัมภาษณ์กับ the wrap ว่าเขาตั้งใจสร้างตัวละครตัวนี้ขึ้นเพื่อสะท้อนว่าโลกกำลังตกหลุมพรางและหลงเชื่อกลุ่ม “มหาเศรษฐียอดอัจฉริยะ” ผู้มักสร้างภาพว่าพวกเขาลึกล้ำ เจ้าปรัชญา เข้าใจยากเพราะมีมันสมองที่ยอดเยี่ยมกว่าคนอื่น ๆ เมื่อทำผิดพลาดหรือทำอะไรไร้สาระ ความไร้สาระเหล่านั้นจึงถูกปัดเป็นความล้ำลึกที่พวกเราคงไม่เข้าใจไปเสียหมด จอห์นสันกล่าวว่า “พอเป็นคนพวกนี้ ในแง่หนึ่งคุณก็อยากเรียกพวกเขาว่าไอ้พวกโง่ แต่ในอีกแง่หนึ่ง ผมว่ามันเป็นอะไรที่โคตรอเมริกันชนเลยนะที่ไปเข้าใจผิดว่า ความรวย เท่ากับความฉลาดหรือความสามารถ”
แท้จริงแล้วกลุ่มเพื่อนไมล์สเป็นเพียงพวกตูดหมึกขี้แพ้ที่เกาะกลุ่มกันเพื่อเอาตัวรอดทั้งสิ้น ไลโอเนลชาญฉลาดก็จริง แต่ก็เป็นพวกเหนียมอาย ไม่กล้าหาญ และรอคอยฟังแต่คำสั่งของไมล์สเท่านั้น เบอร์ดีก็เป็นเพียงคน ignorant ที่ไม่สนใจโลกและก่อดราม่าอยู่เสมอ จนไม่มีใครอยากทำงานด้วย และต้องอาศัยเงินสนับสนุนจากไมล์ส ดุคเป็นสตรีมเมอร์ชายแท้ขวาจัดที่โดนยี้จากฝ่ายซ้าย ส่วนแคลร์ก็เป็นนักการเมืองจอมปลอม ที่ชูนโยบายสิ่งแวดล้อมและแสดงออกว่าต่อต้านฝ่ายขวา ทั้งที่ผู้สนับสนุนเธออย่างไมล์สกำลังมีโครงการใหม่ที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเกินคาดเดาได้
ส่วนไมล์สเองก็ไม่ได้ฉลาดลึกซึ้งอะไรเลย เขาเพียงแต่กล้าโยนศีลธรรมทิ้งและเอาเปรียบคนอื่นเท่านั้น ไมล์สขโมยความคิดการสร้างอัลฟามาจากแอนดี เมื่อบริษัทประสบความสำเร็จเขาก็ไล่แอนดีออก บอกทุกคนว่าเขาต่างหากที่เป็นคนต้นคิดเรื่องบริษัท และใช้เงินปิดปากกลุ่ม “ตัวป่วนพลิกโลก” ที่รู้ความจริงดีว่าแอนดีต่างหากที่ควรได้รับคำชื่นชม
ไรอัน จอห์นสัน อาจตั้งใจให้ไมล์สเป็นภาพแทนของมหาเศรษฐีหรือมนุษย์จอมปลอมที่มักจะได้รับคำชื่นชมว่าเป็นอัจฉริยะ ส่วนเพื่อน ๆ ของเขาก็คือตัวแทนของสังคมที่ยินดีสร้างวัฒนธรรมนี้ขึ้นด้วยการหลับหูหลับตาสรรเสริญบูชาคนรวยยอดอัจฉริยะ โดยมองข้ามเรื่องแย่ ๆ และโง่ ๆ ที่คนรวยเหล่านั้นทำไปเสียหมด
Blackbird fly, into the light of a dark black night
เมื่อทุกคนเดินทางไปถึงเกาะของไมล์ส เขาก็กำลังเล่นเพลง Black Bird ของ The Beatles อยู่ และนั่นอาจไม่ใช่เรื่องบังเอิญ
พอล แม็กคาร์ทนีย์ สมาชิกวงผู้แต่งเพลงนี้ ให้สัมภาษณ์ในปี 2014 ว่า เพลงนี้แต่งขึ้นในช่วงที่มีการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิพลเมือง เขาจึงแต่งเพลงนี้โดยมีภาพของผู้หญิงผิวดำอยู่ในหัว นี่คือบทเพลงให้กำลังใจ บทเพลงเสริมศรัทธาและความหวัง และแทนที่จะกล่าวถึงผู้หญิงผิวดำผู้ถูกกดขี่ข่มเหง เขาก็เปลี่ยนจากผู้หญิงเป็น “นก” เพื่อให้มันเป็นสัญลักษณ์การต่อสู้ของคนตัวเล็กที่ต้องเผชิญอุปสรรคมากมาย แต่ในวันหนึ่งพวกเขาจะสยายปีกเพื่อโบยบินสู่อิสรภาพ และนั่นจะเป็นวันของเขา
หลังจากที่ดุคเสียชีวิตอย่างปริศนาโดยที่ทุกคนเชื่อว่าเกิดจากการโดนลอบวางยา หนังก็พาเราย้อนเรื่องราวกลับไปเพื่อจะพบว่าแอนดีที่อยู่บนเกาะไม่ใช่แอนดีตัวจริง หากแต่เป็น เฮเลน พี่สาวฝาแฝดของแอนดีที่ปลอมตัวเพื่อมาล้างแค้นให้กับน้องสาวที่เสียชีวิตหลังจากที่เธอส่งอีเมล์ไปหาเพื่อนกลุ่มนี้ว่า เธอพบหลักฐานที่จะทำให้ชื่อเสียงของไมล์สต้องพังพินาศ
เมื่อนักสืบเบอร์นัวต์ บลองก์ ไขคดีได้และเปิดเผยว่าไมล์สเป็นทั้งคนที่ฆ่าแอนดีและคนลอบวางยาดุค เพราะดุคบังเอิญเห็นไมล์สกำลังเดินทางไปบ้านแอนดีในวันที่เธอเสียชีวิต น่าเสียดายที่กลับไม่มีหลักฐานใด ๆ พอจะมัดตัวไมล์สได้ อีกทั้งเพื่อน ๆ ที่รู้ความจริงก็ยังคงยืนยันว่าพวกเขาต่อต้านไมล์สที่เปรียบดังท่อน้ำเลี้ยงของพวกเขาไม่ได้ บลองก์จึงบอกเฮเลนว่า ทางกฎหมายเขาคงช่วยอะไรไม่ได้แล้ว แต่ยังมีสิ่งที่เขาจะให้เธอได้คือ ขอให้เธอจงกล้าหาญ
ความสิ้นหวังของเฮเลนผสมกลมกลืนกับความโกรธและความกล้า แล้วเธอก็แสดงมันออกมาในรูปของการทำลายข้าวของสูงค่าและผลงานศิลปะราคาแพงที่ไมล์สสะสมไว้ จากนั้นเฮเลนก็จุดไฟเผาคฤหาสน์หรูของเขาจนไหม้เป็นจุณไปพร้อม ๆ กับภาพโมนาลิซาของจริงที่ไมล์สเช่าไว้ “เสริมบารมี” มหาเศรษฐีของตัวเอง
หากเกียรติยศชื่อเสียงของไมล์สคือยอดพีระมิดที่มีความภักดีอย่างจำนนของเพื่อน ๆ เป็นฐานอันเปราะบาง และมีอิทธิพลอำนาจที่ได้มาด้วยการเอารัดเอาเปรียบผู้อื่นเป็นฐานฝั่งที่แข็งแรงแม่นมั่นที่ช่วยค้ำยันไว้อีกทีหนึ่ง ฐานฝั่งอำนาจก็ได้ถูกความกล้าหาญของเฮเลนทำลายลงราบคาบ และเมื่อฐานอันมั่นคงนั้นพังลง ฐานที่ไม่มั่นคงอย่างความภักดีของเพื่อน ๆ ก็พังครืนลงมาด้วย ความกล้าหาญของเฮเลนจุดชนวนให้เพื่อน ๆ ที่เคยเกรงอกเกรงใจในอำนาจเงินของไมล์สหันมาร่วมเล่นงานไมล์ส และให้คำมั่นสัญญาว่าพวกเขาจะให้การในชั้นศาลว่า ไมล์สฆ่าคนตาย เพื่อที่พวกเขาจะได้เป็นอิสระจากพันธะของไมล์สในที่สุด
ไม่!!! โง่ก็คือโง่!!!
ตอนที่นักสืบบลองก์เฉลยแผนการฆาตกรรมของไมล์ส เขาพูดคำว่า โง่ ออกมาแทบจะทุกประโยค แผนของไมล์สนั้นโง่แสนโง่ เขารีบตรงดิ่งไปฆ่าแอนดีทันทีที่ได้รับอีเมล์ที่เธอส่งให้ เขาใช้วิธีการโง่แสนโง่ในการฆ่าดุคแล้วเล่นละครตบตาคนอื่นแบบโง่ ๆ
“โง่จนดูฉลาดล้ำสุด ๆ!” เบอร์ดีบอกนักสืบบลองก์
“ไม่! โง่ก็คือโง่!” นักสืบบลองก์ตอบด้วยความเดือดดาล
และ “โง่ก็คือโง่” นี่เองคือประเด็นสำคัญที่ไรอัน จอห์นสัน พยายามสื่อสารกับคนดูผ่าน Glass Onion: A Knives Out Mystery
ด้วยความเป็นแฟนเพลง The Beatles จอห์นสันจึงอ้างอิงเพลงของ The Beatles ไว้ในสองประเด็นสำคัญในเรื่อง นอกจาก Black Bird แล้ว Glass Onion เองก็เป็นบทเพลงของ The Beatles ที่อยู่ในอัลบั้มเดียวกัน เพลงเพลงนี้เต็มไปด้วยวลีประหลาด ๆ มากมายที่ จอห์น เลนนอน สมาชิกผู้เป็นคนแต่งเพลงนี้ได้มาเฉลยในภายหลังว่า เขาแต่งเพลงนี้มาเพื่อล้อเลียนพวกที่ชอบถอดรหัสเพลง The Beatles ทั้งที่มันอาจจะมีความหมายตามเนื้อเพลงอยู่แล้ว Glass Onion จึงประกอบไปด้วยเนื้อร้องแปลก ๆ ที่เย้ายวนให้ “นักถอดรหัส” ทั้งหลายพยายามหาความหมายจากเพลงนี้เพื่อจะพบว่า มันไม่ได้มีความหมายลึกซึ้งอะไรเลย เหมือนหัวหอมที่มีหลายชั้นและหากเปรียบเทียบสิ่งใดกับหัวหอม เราก็มักจะคิดว่ามันต้องเป็นสิ่งที่มีความซับซ้อน แต่หากหัวหอมนั้นมีหลายชั้นเสียเปล่า แต่แต่ละชั้นเป็นเพียงกระจกใสที่มองทะลุได้ หัวหอมนั้นก็ไม่ได้มีความซับซ้อนเลยสักนิด
ไม่ใช่เพียงแผนฆาตกรรมของไมล์สเท่านั้นที่ดูซับซ้อนแต่แท้จริงกลวงเปล่าแบบหัวหอมกระจก หากเป็นตัวตนของเขาทั้งหมดด้วย เราเข้าใจไปว่าไมล์สเป็นอัจฉริยะ เปลือกของความฉลาดที่เขาสร้างขึ้นหลอกล่อให้เราสับสนและพยายามถอดรหัสความโง่และการกระทำโง่ ๆ ที่เห็นกระจ่างชัดอยู่ตรงหน้า โดยคิดว่ามันอาจจะมีเหตุผลอันลึกซึ้งของคนที่ฉลาดล้ำเกินกว่าเราจะเข้าใจอยู่เบื้องหลังก็ได้ แต่แท้จริงมันก็เป็นอย่างที่เราเห็น คือเป็นเรื่องโง่ ๆ ที่ทำโดยคนโง่ ๆ
แม้แต่การเล่าเรื่องของตัวหนังเองก็ให้เบาะแสเรามาตั้งแต่แรกว่าใครคือคนร้าย หลักฐานที่แอนดีหาเจอจะส่งผลกระทบกับใครมากที่สุด ใครที่นั่งใกล้ดุคเป็นครั้งสุดท้ายก่อนที่เขาจะเสียชีวิต ใครที่คิดว่าตัวเองฉลาดจนทำเรื่องโง่ ๆ ให้ซับซ้อนและคิดว่านั่นเป็นแผนที่ฉลาดล้ำ ทั้งหมดบ่งชี้ไปที่ไมล์ส แต่ในช่วงที่ยังคงตามหาตัวฆาตกรผู้ฆ่าแอนดี หนังกลับยกปัญหาของเพื่อน ๆ แต่ละคนที่มีต่อไมล์สขึ้นมาพูดเพื่อทำให้เราไขว้เขวราวกับว่าปัญหานั้นเป็นปัญหาที่พวกเขามีกับแอนดี และพวกเขามีเหตุจูงใจมากพอที่จะฆ่าแอนดี ทั้งที่คนเดียวที่มีเหตุจูงใจนั้นมาตลอดก็คือไมล์ส
บางครั้งเมื่อเราเห็นว่าคนเด่นคนดัง มหาเศรษฐี ยอดอัจฉริยะที่เราชื่นชม ทำเรื่องที่ดูโง่หรือไร้ศีลธรรม เขาก็อาจจะเป็นคนโง่และไร้ศีลธรรมจริง ๆ ก็ได้ เพียงแต่ม่านมายาคติของเราที่มีต่อคนรวยและคนดังอาจทำให้เราหลอกตัวเองว่าเรากำลังมองชั้นหัวหอมหนาทึบทั้งที่มันเป็นเพียงกระจกใส
“ไม่! โง่ก็คือโง่!” อาจเป็นสิ่งที่ ไรอัน จอห์นสัน อยากตะโกนใส่วัฒนธรรมสรรเสริญและแก้ต่างแทนคนรวยและคนดังที่เรากำลังทำกันอยู่ตอนนี้ก็เป็นได้
อ้างอิง :
http://www.beatlesebooks.com/blackbird
https://www.thewrap.com/glass-onion-spoilers-rian-johnson-interview/
https://www.chroniclebooks.com/products/the-beatles-anthology