จากยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 เเละผู้เสียชีวิตที่สูงขึ้นทุกวันประกอบกับปัญหาเตียงในโรงพยาบาลเเละวัคซีนที่ไม่เพียงพอ ทำให้คนที่เพิ่งตรวจพบเชื้อหรือกำลังรอเตียง เลือกที่จะกักตัวอยู่ที่บ้านด้วยการทำ Home Isolation
ระหว่างการทำ Home Isolation หลายคนเครียดจากสิ่งที่ไร้การคาดเดาเเละอาการที่เปลี่ยนเเปลงตลอดเวลา ทำให้ความเครียด ความกังวลในใจมากขึ้นทุกวัน
“ยอมรับความจริง”
“ให้กำลังใจตัวเอง”
“อย่าอายที่จะส่งเสียง”
คือ 3 คำเเนะนำจากหมอโอ๋ ผศ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น โรงพยาบาลรามาธิบดี เจ้าของเฟซบุ๊คแฟนเพจ ‘เลี้ยงลูกนอกบ้าน’ เเละผู้ที่เพิ่งหายจากโควิดทั้งครอบครัวด้วยการ Home Isolation ใน mappa LIVE หัวข้อ ‘ดูเเลใจอย่างไร ช่วง Home Isolation’ เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคมที่ผ่านมา
พ่อเเม่ทำอย่างไร ถ้าต้องเเยกจากลูกในช่วง Home Isolation
ก่อนทราบผลการตรวจโควิด-19 หมอโอ๋ตัดสินใจเเล้วว่า ไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไรก็จะ Home Isolation เนื่องจากอาการของตัวเองและสามีไม่ได้ร้ายเเรงเเละการอยู่บ้านน่าจะดีกว่าการเข้าไปอยู่ในโรงพยาบาลหรือศูนย์ที่รัฐจัดให้
เมื่อทราบผลว่าติดโควิด-19 หมอโอ๋เลือกที่จะบอกคนใกล้ชิดเป็นอันดับเเรก ทั้งสามี ลูก พ่อเเม่ เเละเพื่อนบ้าน เเต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การติดโควิดยังไม่เครียดเท่ากับการบริหารจัดการว่า คนใกล้ตัวจะไปตรวจอย่างไรเเละตรวจที่ไหน
“ช่วงเเรกที่รู้ผลเราเครียดเเละกังวลว่า สามีเเละลูกเราจะติดไหม พ่อเเม่เราจะติดหรือเปล่า การไม่รู้ก็เป็นความลำบากอย่างหนึ่ง อย่างลูกสาวตอนนั้นยังไม่ได้ตรวจ เราต้องเเยกจากเขาเเล้วถ้าไปตรวจใครจะไปส่ง เราก็ไม่กล้าให้คนใกล้ตัวไปส่ง เพราะลูกเราคือความเสี่ยง เเล้วตอนตรวจใครจะอยู่กับเขา เพราะที่ผ่านมาทุกความกลัวของลูก เราอยู่กับเขาตลอด”
ถึงเเม้ว่าจะยุ่งยากกับการจัดการไปบ้าง เเต่หมอโอ๋เลือกที่จะบอกลูกอย่างตรงไปตรงมาว่าลูกมีความเสี่ยงอย่างไร
“เราบอกความจริงกับเขาตรงๆ ว่าเเม่ติดโควิด พ่อกำลังไปตรวจ เเล้วคิดว่าผลไม่ต่างกัน เขามีโอกาสติด รวมถึงบอกขั้นตอนที่เขาควรรู้ เช่น วิธีการตรวจจะเป็นยังไง ย้ำเขาว่าไม่ว่าผลจะออกมายังไงพวกเราจะอยู่ด้วยกันที่บ้าน เเละบอกสิ่งที่จะเกิดขึ้นว่า ถ้าเขาติด เชื้อจะลงปอด ลูกอาจจะต้องเข้าโรงพยาบาลเเต่เเม่จะไปด้วย”
การพูดคุยอย่างตรงไปตรงมา ทำให้ลูกสาวไม่กังวล เพราะเขาได้รับข้อมูลมาก่อนหน้านี้ว่าโควิดในเด็กส่วนใหญ่อาการไม่หนัก ลูกจึงมีความหวังเเละกำลังใจ
Home Isolation เเล้ว จะดูเเลจิตใจตัวเองเเละคนในครอบครัวอย่างไร
ในฐานะของผู้ผ่านประสบการณ์ Home Isolation หมอโอ๋เล่าว่ารู้สึกกังวลกับความไม่เเน่นอน ประกอบกับความรู้สึกผิดกับคนใกล้ตัวจนเครียด อีกทั้งยังกังวลกับอาการของลูกเนื่องจากพ่อเเม่ต้องอยู่กับความกังวลเเละความกลัวที่ไม่มีคำตอบ
หมอโอ๋มองว่า ความเครียดเป็นเกราะป้องกันในการต่อสู้กับโรคเเละกระตุ้นให้เตรียมตัวรับมือกับปัญหา เเต่จะทำอย่างไรให้ความเครียดนั้นไม่สูงเกินไปจนกลับมาทำร้ายเราเอง
สิ่งสำคัญ คือ การยอมรับเเละเท่าทันความรู้สึกของตัวเอง
“สิ่งสำคัญคือเราควรยอมรับว่าความเครียดเป็นเรื่องธรรมดาซึ่งทำให้เราได้เตรียมตัวเเละทำในสิ่งที่เราควรทำ ขณะเดียวกันเราควรรู้ตัวว่าเราเครียด บางคนไม่รู้ว่าเครียดเเล้วไปลงกับคนรอบข้าง คือต้องรู้ตัวว่าเราเครียดมากไป เเล้วเราจะจัดการยังไง”
สำหรับวิธีการจัดการอารมณ์ควรเริ่มต้นจากตัวเอง หมอโอ๋เเนะนำว่า อย่าเพิ่มความทุกข์เเละโทษตัวเอง เเต่ให้กำลังใจด้วยคำว่า “เราทำเต็มที่เเละทำดีที่สุดเเล้ว” จะช่วยลดทอนความรู้สึกผิดเหล่านั้นลง ประกอบกับการลุกขึ้นมาทำในสิ่งที่เราควบคุมได้ เช่น การนอน การกินอาหารที่มีประโยชน์ หรือการออกกำลังกาย จะช่วยให้จิตใจเราสงบเเละก้าวต่อไปได้
“ในกระเเสที่บอกว่า การ์ดตกเหรอ การ์ดต้องสูงกว่านี้ หมอว่าถ้าการ์ดสูงกว่านี้ก็เชียร์ลีดเดอร์เเล้ว บางคนดูเเลตัวเองดีมากไม่เคยถอดหน้ากาก ใช้เเอลกอฮอล์ประจำ เเต่เพราะภูมิคุ้มกันที่ต่ำต้อยเราจึงติดได้ หมอจึงคิดว่าอย่าเพิ่มทุกข์ให้กันไปมากกว่านี้ด้วยการต่อว่ากันเลย”
ขณะเดียวกัน คนรอบข้างที่รับรู้ว่าคนในบ้านติดโควิด เราไม่ควรกล่าวโทษเเละซ้ำเติมกันด้วยคำพูดเเละคำถามที่อึดอัดใจ เเละไม่ผลักไส จะทำให้ผู้ติดเชื้อรู้สึกว่าได้รับการดูเเล อุ่นใจและรู้สึกปลอดภัย
“การไม่กล่าวโทษกันเป็นเรื่องสำคัญ การที่คนหนึ่งติดในบ้านแล้วเราไม่ติด เราจะไม่พูดว่า ไปทำอะไรมา เหมือนเราไม่ถามว่าไปติดหวัดจากไหนมา อย่าซ้ำเติมกันด้วยคำถามที่ไม่รู้จะตอบยังไง เพราะบางทีมีการชี้นิ้วต่อว่ากันในบ้าน เหล่านี้คือความทุกข์ที่ทับถมความรู้สึกของผู้ป่วยเพิ่ม”
“การช่วยเหลือคือการโอบอุ้มกัน ไม่แสดงท่าทางรังเกียจ การลุกขึ้นมาซัพพอร์ต ไม่ผลักไส ทำให้รู้สึกว่าเราสำคัญเเละมีคนที่ห่วงใย ซึ่งจะช่วยเพิ่มความรู้สึกที่ดีให้กับจิตใจได้”
หมอโอ๋อธิบายเพิ่มว่า ความว้าวุ่นใจในช่วง Home Isolation ไม่ว่าจะเป็นความเครียด ความกังวล หรือความกลัว ล้วนมาจากโลกอนาคตทำให้เราไปนึกถึงภาพที่เเย่ที่สุด เเต่สุดท้ายเราต้องรู้เท่าทันเเละกลับมาอยู่กับความจริงตรงหน้า
นอกจากช่วง Home Isolation จะต้องดูเเลจิตใจกันในครอบครัวเเล้ว บุคลากรด่านหน้า ไม่ว่าจะเป็นหมอเเละพยาบาลก็ต้องดูเเลจิตใจตัวเองเเละเพื่อนร่วมงานเช่นกัน
“ความเครียดจากการทำงานเป็นเรื่องปกติที่หมอเเละพยาบาลทุกคนเจอ เเต่ตอนนี้ชีวิตด้านความเป็นมนุษย์ของหมอเเละพยาบาลหายไป ขาดเเรงใจจากคนในบ้าน”
หมอโอ๋บอกว่า ถึงเเม้บุคลากรทางการเเพทย์เศร้าเเละสิ้นหวัง เเต่ไม่หมดหวัง ขณะเดียวกันก็เยียวยาตัวเองด้วยว่าเรากำลังช่วยคนอื่น
อย่ากลัวที่จะส่งเสียงเเละลุกขึ้นมาช่วยเหลือกันเท่าที่ทำได้
หมอโอ๋เล่าว่า ความจริงเเล้วการทำ Home Isolation เป็นการตัดสินใจร่วมกันระหว่างแพทย์เเละคนไข้ เเต่ตอนนี้ ไม่ว่าอาการจะดีหรือร้ายก็ต้อง Home Isolation เพราะไม่มีเตียงและไม่มีที่ไป
ดังนั้นสิ่งที่ทำได้ คือ ทุกคนต้องลุกมาช่วยกัน ทั้งในครอบครัวหรือระดับชุมชน
หมอโอ๋มองว่า ในระดับชุมชนต้องมีการตกลงกันเพื่อเตรียมตัวรับมือเเละหาทางช่วยเหลือกัน ทั้งการรับสมัครจิตอาสา การจัดการในชุมชน หรือการติดต่อหมอเพื่อมาเป็นที่ปรึกษาให้กับชุมชน หรือในคอนโดมิเนียมที่มีข้อจำกัดเรื่องการส่งอาหารเนื่องจากต้องให้เจ้าของห้องลงมารับ อาจจะต้องหาอาสาสมัครหรือขอคนเพิ่มเพื่อส่งอาหารตามห้องต่างๆ
ถ้าเป็น Home Isolation ในครอบครัว คือ การเเยกตัวหรืออยู่ในห้องของเรา เเต่ถ้ามีพื้นที่จำกัด หมอโอ๋เเนะนำว่า การใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาเเละกันมุมหนึ่งของบ้านไว้ โดยเว้นระยะห่างกันอย่างน้อย 2 เมตร
ช่วงที่คุณหมอพ้นระยะเวลากักตัวใหม่ๆ คุณหมอบอกว่า “ยินดีเป็นพรีเซ็นเตอร์ Home Isolation” ซึ่งคุณหมอทำจริงๆ นั่นเพราะคุณหมอคิดว่าการส่งเสียงและการลงมือทำคือสิ่งสำคัญ
“ถ้าเราไม่โลกสวยเกินไป การตะโกนบอกว่ามีคนจมน้ำ มันคือการเเสดงความ empathy กับสังคม เเล้วทำให้คนจมน้ำรู้สึกดีขึ้น เพราะเขารู้ว่ามีคนเห็น มีคนตะโกนช่วยเขาอยู่
“เราควรตะโกน ยิ่งประเทศที่เราเห็นว่าการตะโกนมันเปลี่ยนเเปลงได้ เราไม่จำเป็นต้องอยู่ในโลกที่สวยงาม คนสามัคคี มีพลังบวกอย่างเดียว เเต่การฉายภาพที่เป็นจริงให้สังคมรับรู้ เพื่อช่วยกันเเก้ไข นั่นคือพลังบวก”
ทั้งนี้ทั้งนั้น สิ่งที่หมอโอ๋ได้จากโควิด คือ ความกล้าที่จะบอกเเละส่งเสียงถึงทุกคนว่า “ฉันเเละครอบครัวติดโควิด” เพราะเชื่อว่า การเปิดเผยตัวตนคือหนึ่งเสียงในการช่วยเหลือเเละเข้าใจคนอื่นได้
“การที่เราส่งเสียงมันมีความหมายกับสังคมที่เราอยู่เสมอ ตอนที่หมอตัดสินใจ disclose ตัวเอง หมอชั่งใจระหว่างการเปิดเผยตัวตนกับ privacy ของลูก เเต่พอหมอก้าวข้ามไปได้ เรารู้ว่าการเปิดเผยตัวตนจะช่วยคนอื่นอย่างไร การเป็นโควิดไม่ใช่เรื่องน่าอาย มันเกิดขึ้นได้ การลงมือทำเป็นเรื่องที่มีคุณค่า มีผลบวกกับสังคมเสมอ มัน healthy กับเราและสังคมด้วย”
หมอโอ๋ทิ้งท้ายว่า อย่าอายเเละอย่าเกรงใจที่จะลุกขึ้นมาขอความช่วยเหลือเมื่อเราต้องการ เเละสิ่งนั้นอาจสร้างประโยชน์หรือสร้างความตระหนักให้กับกลุ่มเเละสังคมได้
รับชม รับฟัง mappa LIVE ฉบับเต็ม
หรือรับชมผ่านทาง FB Fanpage และ YouTube