- ปิตาธิปไตยหรือชายเป็นใหญ่ ไม่ได้ทำร้ายและผู้หญิงหรือเด็ก แต่ผู้ชายที่ถูกมองว่าเป็นผู้กระทำมาโดยตลอด ก็บอบช้ำไม่แพ้กัน
- ‘เบสท์’ วรรจนภูมิ ลายสุวรรณชัย เล่าประเด็นนี้ผ่าน ‘พ่อเมธ’ พ่อของตัวเอง ใน Mental Verse 2 สารคดีเล่าเรื่องผู้ป่วยโรคซึมเศร้า
- พ่อเมธคือผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ที่ต่อให้เศร้าแค่ไหน ก็ไม่เคยอนุญาตให้ตัวเองร้องไห้
ต้องทุกข์แค่ไหน เด็ก 5 ขวบคนหนึ่งถึงคิดฆ่าตัวตาย
มันเป็นแค่ความคิดหรือมีการลงมือทำด้วย? เราถาม
“กระโดดลงมาจากบันไดหลายขั้นเลย” เบสท์ วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย เล่าความทรงจำวัยเด็กที่ยังแจ่มชัด
เบสท์ คือผู้ร่วมก่อตั้ง Eyedropper fill ผู้กำกับภาพยนตร์สารคดี School Town King และล่าสุด ผู้กำกับสารคดีเล่าเรื่องผู้ป่วยโรคซึมเศร้า Mental Verse 1-2 ภาคแรกเบสท์ทำเรื่องของแม่ ส่วนภาคสองคือเรื่องของพ่อ ภายใต้คอนเซปต์ Home coming พาใจกลับบ้าน
“ฟังแม่แล้วต้องฟังพ่อบ้าง” เหตุผลแรกๆ ของการไปคุยกับพ่อเพื่อทำสารคดีอย่างจริงจัง
มันคงไม่ได้แปลเร็วๆ ว่าฟังความสองข้าง หรือเรียกร้องความยุติธรรมให้ฝั่งไหน เพราะในโลกใต้หลังคาบ้าน ไม่น่าจะมีใครแพ้หรือชนะ ทุกคนผิดได้หมด
และไม่ว่าจะบทบาทไหน พ่อ แม่ หรือลูก ทุกคนต่างรับบทนี้ครั้งแรกกันทั้งนั้น
“บอกเค้าว่าอยากเข้าใจป๊า อยากเข้าใจภาระของคนเป็นพ่อว่ามันยากยังไง แต่ธีมที่เค้าซื้อคือเราบอกว่าอยากทำเรื่องความอ่อนแอของผู้ชาย เค้าคงมีเรื่องอยากพูดอยู่แล้ว”
แต่เหตุผลสำคัญที่สุดของการทำสารคดีเรื่องพ่อคือการคลายปมบางอย่าง เพื่อให้ทุกคนในบ้าน ‘เดินต่อ’ ได้ โดยติดค้างกันน้อยที่สุด
“เราถามตัวเองว่า ถ้าเราตายพรุ่งนี้ ถ้าพ่อหรือคนที่เรารักตาย มีอะไรที่ยังไม่ได้เคลียร์บ้าง เราเลยรีบทำหนังเรื่องนี้ก่อน เค้าจะได้ไปอย่างสงบ ถ้าเราตายก่อน เราจะได้ตายโดยไม่มีปมเรื่องนี้กับพ่อแล้ว”
‘ปมเรื่องนี้’ กับพ่อคือจุดตั้งต้นของเรื่องราวทั้งหมด บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้จึงทำหน้าที่คล้ายสารคดีที่อยากพาทุกคนกลับบ้าน
บ้านที่ไม่ได้หมายความแค่ที่ซุกหัวนอน แต่บ้านคือฐานที่มั่นสุดท้ายที่เราสามารถวางตัวและหัวใจไปกับมันได้ทั้งหมด
“ถ้าพรุ่งนี้ป๊าตาย อยากบอกอะไรคนที่ป๊ารักบ้าง”
ประโยคนี้คือหนึ่งในกุญแจสำคัญที่ทำให้พ่อกับลูกได้คุยกันอย่างจริงจังครั้งแรก
และทำให้ลูกได้ถามพ่อในสิ่งที่สงสัยมาตลอดกว่า 30 ปีว่า “โตมายังไง”
“การอยู่กับเค้ามาหลายปี เรารู้สึกถึงความไม่ปกติหลายๆ อย่างของเค้า แต่พอรู้ว่าเค้าโตมายังไง เจออะไรมา ก็ทำให้เข้าใจในจุดที่เค้ายืนอยู่มากขึ้น” เบสท์พูดถึงพ่อ
ด้วยวัยหกสิบปลายๆ พ่อเริ่มต้นจากการเป็นลูกชายคนโตของครอบครัวที่อพยพมาจากเมืองจีน และการเป็นพี่ชายโตสุดของน้องอีก 7 คน ในบ้านที่มีฐานะยากจน ก็เป็นเหมือนคำสั่งกลายๆ ว่า ห้ามผิด ห้ามพัง ห้ามแพ้ ต้องรับผิดชอบ เป็นผู้นำ ทำให้พ่ออยู่ในสถานะที่ห้ามอ่อนแอในหลายๆ เรื่อง
เพราะถ้าละเมิดข้อห้ามเหล่านี้ทั้งแบบตั้งใจและไม่ตั้งใจก็จะถูกสั่งสอนด้วยวิธีที่รุนแรง
“ถูกฟาดจนไม้กวาดหัก เลยขนเสื้อผ้าออกจากบ้าน มันกดดันมาก” พ่อเล่าวัยเด็กไว้ในสารคดี
ทางออกตอนนั้นสำหรับวัยรุ่นมีไม่มาก การระบายมันออกมาหรือหาที่ปรึกษา ไม่เคยอยู่ในตำราลูกผู้ชาย
“ผู้ชายร้องไห้ไม่ได้ อ่อนแอไม่ได้ ต้องเป็นผู้นำ เก่ง แต่ไม่ว่าเพศไหนก็ไม่อยากถูกมองว่าตัวเองห่วยแตกหรอก แม้กระทั่งเราจะอนุญาตให้ตัวเองพัง บางทีก็ยังไม่ได้ ลืมตัว เก็บไว้หมดเลย บอกตัวเองว่าต้องแข็งแรงๆ เพราะมีหลายอย่างต้องรับผิดชอบ” คือสิ่งที่เบสท์ได้จากการคุยกับพ่อ และรู้ว่าพ่อเติบโตมาอย่างไม่มีใคร เก็บทุกความเจ็บปวดเอาไว้มาตลอด 68 ปี
พอเก็บไว้มากๆ เวลาเจออะไรมากระทบเข้า เราจึงเผลอปล่อยด้านอ่อนแอที่สุดออกมา แต่สิ่งนี้มันกลับไปทำร้ายคนอื่น โดยเฉพาะคนใกล้ตัว
“เวลาเราอ่อนแอมาก เวลาเราโกรธมากๆ แล้วเราแสดงอาการ aggressive (ก้าวร้าว) ออกมา จริงๆ แล้วเราอยู่ในช่วงที่กำลังเปราะบาง เรื่องนี้มันโคตรเปราะบาง เราเลยรับไม่ได้ เลยต้องแสดงอาการอะไรบางอย่างออกมา ซึ่งมันไม่ถูกแต่หลายครั้งมันเป็นไปโดยอัตโนมัติ” เบสท์พูดถึงอีกด้านของพ่อที่รู้จักจากการทำสารคดี
แต่ชีวิตก็ไม่ได้เปิดโอกาสให้อ่อนแอได้พร่ำเพรื่อ พ่อจึงล็อกมันเอาไว้ จนสุดท้ายมันย้อนกลับมาหาตัวเอง
“แทนที่ลูกศรจะออกไปข้างนอก แม่งย้อนกลับมา เลยกลายเป็นโรคซึมเศร้า” เบสท์พูดถึงพ่อที่เคยไปพบจิตแพทย์ตั้งแต่วัยมัธยม
แน่นอน การทำสารคดีทำให้ลูกชายเพิ่งรู้ว่าพ่อมีอาการซึมเศร้ามานาน นานก่อนอาการของแม่จะปรากฏหลายปี แต่ในยุคนั้นอาจจะไม่มีใครรู้จักคำนี้
“ตอนนั้นรู้สึกว่าอยู่ไปก็แค่นั้น มันอึดอัด หมอบอกว่าอาการไม่ถึงขนาดนั้น แต่มีอาการทางจิตที่ต้องบำบัด แล้วให้ยามากิน หมอคิดว่าเราคิดมากไปเอง บางทีเราเล่าอะไรไปเค้าหัวเราะด้วย เลยตัดสินใจไม่หาแล้ว เป็นไงเป็นกัน จริงๆ หมอต้องรักษาด้วยการคุย เพราะการได้พูดอะไรออกมา มันทำให้เค้าได้ปลดปล่อย โดยเฉพาะกับคนที่เค้าไม่สามารถปรึกษาใครได้” พ่อเผยความรู้สึกนี้ไว้ในสารคดี
ถ้าได้รับการรักษาหรือเยียวยาอย่างถูกวิธี อาการน่าจะดีขึ้นเป็นลำดับ แต่จากประโยคของพ่อข้างต้น ภาวะดังกล่าวถูกปล่อยตามมีตามเกิด ต่อมามันพัฒนาเป็นระเบิดเวลาที่พร้อมจะทำลายคนใกล้ตัวโดยไม่รู้ตัว
“เราไม่มีอะไรเลย มีแค่วิญญาณ”
เบสท์บอกว่ามีความคิดฆ่าตัวตายตั้งแต่ 5 ขวบ
“ตัวเองสมควรตาย” เบสท์ย้อนความรู้สึกดิ่งในวัยเด็ก
ทุกข์หนักของเด็ก 5 ขวบตอนนั้นคืออะไร?
“บ้านเราชอบมีความรุนแรงตอนดึกๆ ปกติเวลานอนคือเวลาที่ปลอดภัยที่สุดของเด็กนะ แต่เราสะดุ้งตื่นเพราะได้ยินเสียงพ่อแม่ทะเลาะกันอยู่นอกห้อง เราวิ่งไปตรงบันได นั่งดูพ่อแม่ทะเลาะกัน ห้ามเท่าไหร่เค้าไม่เคยฟัง ไปยืนเหมือนกรรมการแล้วโดนนักมวยสวนหน้า โดนลูกหลงมาตลอด ทั้งคำพูด ความรุนแรง ทั้งที่เด็กในวัยนั้นควรได้รับการปกป้อง ปลอดภัย ได้ความรัก”
เบสท์ค่อยๆ เติบโตมากับความรู้สึกไร้ค่า
“เราไม่มีอะไรเลย เรามีแค่วิญญาณ เหมือนเราไม่มีค่าพอที่เค้าจะมองเห็นความทุกข์ของเราว่าเรากำลังร้องไห้ แล้วตะโกนบอกให้เค้าหยุด แต่สถานการณ์จริงกลับหนักไปกว่านั้น พวกเค้าทะเลาะกันแรงขึ้นๆ มีบางครั้งที่เราขู่จะทำร้ายตัวเองเพื่อให้เค้าหยุด แต่พวกเค้าก็ไม่ฟัง”
พอมนุษย์คนหนึ่งให้น้ำหนักตัวเองเบาหวิวเท่าวิญญาณ การใช้ชีวิตแบบ ‘เชื่อฟังทุกสิ่งอย่าง’ คือทางรอดที่ปลอดภัยที่สุดเท่าที่เด็กคนหนึ่งพึงทำได้
“ไม่กล้า กลัว พ่อบอกให้ทำอะไรก็ต้องทำ เรียนอะไรก็ต้องเรียน กลัวไปหมด กลัวโดนตี กลัวโดนดุ กลัวไม่รัก”
กลัวที่สุด คือกลัวไม่ถูกรัก
แต่ “ป๊ารักเบสท์มาก” คือประโยคหนึ่งของพ่อในสารคดีถึงลูกชายที่คิดว่าพ่อไม่รักมาตลอด
“พ่อมอบความรักโดยการอยากให้เราเป็นแบบที่เค้าอยากให้เป็น อยากให้เราโตแบบนี้ จะได้มีอนาคตที่ดี เพราะเค้าโตมากับความยากจน เค้าเลยอยากให้เรารวย เป็นหมอ วิศวะ เค้ากลัวว่าเราจะทุกข์เหมือนเค้า เลยพยายาม push ให้เราอยู่ห่างไกลจากความจนมากที่สุด” เบสท์สรุปความคิดหลังจากได้คุยกับพ่อและถ่ายทอดมันออกมาในตอนหนึ่งของสารคดี
ระหว่างทาง ความไร้ค่าจนรู้สึกว่าไม่อยากมีชีวิตอยู่ยังมาเยี่ยมเยียนเบสท์เป็นระยะๆ จนกระทั่งมหาวิทยาลัยก็ยังใช้ความรู้สึกนี้ไปยืนอยู่บนระเบียงหอพักชั้นห้าแล้วมองลงมา พร้อมกับถามตัวเองว่าเอายังไงดี
“ที่บ้านขับรถมาหา พาไปกินข้าว แต่เราไม่อยากเจอพ่อแม่ มันทุกข์ บางทีเค้ามานั่งกินข้าวแล้วไม่คุยกันซักคำ มีเรานั่งตรงกลางคอยเป็นกาว”
การเป็นกาวให้พ่อแม่มาตลอดคือภาระทางใจที่หนักหนา เบสท์รู้สึกว่าตัวเองเคยก้าวขาไปอยู่ในภาวะซึมเศร้ามาแล้ว แต่ก็ผ่านมันมาได้
“ถ้าเราไม่ได้เรียนศิลปะ เราน่าจะตายไปแล้วจริงๆ” ความไร้ค่าถูกเบสท์เอามาทำเป็นงานต่างๆ ทั้งเพื่อปลดปล่อยและบำบัด
ความไร้ค่า ด้านหนึ่งมันจึงมีประโยชน์
“ไม่มีอะไรไม่มีประโยชน์หรอก อยู่ที่เราจะ transform มันยังไง อย่าง School Town King, Mental Verse, สารคดีโตมากับจอ, อารามอารมณ์ ฯลฯ มันเป็นเรื่องการไม่ถูกมองเห็น ไร้ค่า ไม่ถูกรับฟัง สิ่งเหล่านั้นเกิดมาจากครอบครัวเราหมดเลย เราเลยอยากสร้างประสบการณ์ให้คนเข้ามารู้จักกับสิ่งนั้น”
เช่นเดียวกับสารคดีของทั้งพ่อและแม่ที่หัวเชื้อหนึ่งเกิดจากความไร้ค่า ก่อนจะพบในภายหลังว่าจริงๆ แล้วตัวเองมีค่ามาตลอด เพียงแต่มันไม่ได้แสดงออกมาอย่างถูกที่ถูกทาง ไม่แม้แต่จะสื่อสารความรู้สึกกันอย่างตรงไปตรงมา
“พ่อพูดไว้ในหนังว่า บางครั้งเราก็ตายไปโดยไม่เคยพูดถึงความรักที่เรามีต่อเค้าจริงๆ เพราะมันผ่านความเจ็บปวดมาด้วยกันเยอะ จนบางทีเราหนักปาก การที่เราผ่านเรื่องพ่อมา ทำให้หลังๆ เราสามารถอ่อนโยน หรือหนักปากน้อยลงกับคนอื่น เราแสดงออกหรือพูดว่ารักเค้าได้มากขึ้น เพราะเราไม่รู้ว่าจะตายเมื่อไหร่ และที่อยากทำหนังเพราะไม่รู้ว่าพ่อจะตายเมื่อไหร่ เราอยากให้เค้า (พ่อกับแม่) ปลดปล่อยกันทั้งคู่ ก่อนเค้าจะตายไปจากเรา”
หนึ่งในการ release หรือการปลดปล่อยของพ่อคือ การร้องไห้ หลังได้ยินลูกชายบอกว่า “ไม่ติดใจอะไรแล้ว”
ไม่ติดใจแม้กระทั่งการถูกพ่ออุ้มไปทิ้งที่ถังขยะมากกว่าหนึ่งครั้ง เรื่องนี้เบสท์ไม่เคยลืม พ่อเองก็บอกเอาไว้ในสารคดีว่า นอนไม่หลับทุกครั้งที่คิดถึงเรื่องนี้
“เราเศร้าที่ไม่รู้ว่าเค้าแบกก้อนนี้มานานขนาดนี้ บางทีคนเราทำผิดแล้วรู้ว่าตัวเองทำผิด เลเวลแรก มันต้องใช้ความกล้าหาญในการยอมรับสิ่งที่ตัวเองทำ แต่เลเวลสองคือเดินเข้าไปหาคนที่เราทำแล้วบอกขอโทษ มันยากมากๆ แล้วยิ่งกับคนที่เป็นลูกอีก คูณสามเลยนะ เรารู้ว่าเค้ารักเรามาก แต่มันยากสำหรับเค้ามาก” ลูกชายพูดถึงพ่อรุ่นเบบี้บูมเมอร์
การปลดปล่อยของพ่อ มันจึงนำไปสู่การทำความรู้จักพ่อ และเห็นความเป็นเด็กในตัวพ่อ
“สังคมไทยมีความเป็นพ่อแม่สูง มีอำนาจสูง ระหว่างที่เราคุยกับพ่อ เราเห็นเค้าเป็นเด็กคนหนึ่งซึ่งน่าสงสารมาก น่าเห็นใจ”
และมันทำให้เบสท์เห็นเงาของพ่อในตัวเอง
“พ่อเล่าว่าตอนสมัยมัธยม เค้าเครียดเรื่องที่บ้านมาก จนต้องนั่งรถเมล์ไปไกลถึงบางขุนเทียน ลองนึกว่า 50 ปีที่แล้ว บางขุนเทียนแถวท่าข้ามนี่มันไกลมาก เพื่อไปนอนบ้านเพื่อนคนหนึ่งที่อยู่ริมทางรถไฟ เพื่อนคนนี้ทำให้พ่อรู้สึกว่ามีเพื่อนคุย เด็กคนหนึ่งต้องทุกข์ขนาดไหนจนต้องขวนขวายหาใครสักคนมาฟังเค้า และเราเห็นสิ่งนั้นในตัวเอง เราเองก็มีภาวะแบบนั้นคือการขวนขวายหาความรักจากคนอื่น เพราะเราไม่ไหวกับตัวเอง อ่อนแอ อยากได้ความอบอุ่น อยากได้คนรับฟัง”
เบสท์ทำงานกับตัวเองอยู่หลายปีผ่านกระบวนการสำคัญอย่างศิลปะบำบัด ก่อนตัดสินใจทำสารคดีที่มาจากชีวิตตัวเอง
“ไม่อย่างนั้นทำไม่ได้ เรามีความเป็นพ่อในตัวเรา พอเราเห็น เราก็ค่อยๆ เริ่มยอมรับพาร์ตนั้นของตัวเองได้ เลยทำให้เราเริ่มยอมรับพาร์ตนั้นของพ่อได้ ทำให้เราอ่อนโยนกับเค้ามากขึ้น แต่ก็ตรงไปตรงมากับเค้ามากขึ้น ขณะเดียวกันก็พยายามให้อภัยกับพาร์ตนั้นของตัวเอง และพยายามจะไม่ทำอะไรแย่ๆ ให้เกิดขึ้นอีก”
Revisit : เข้าใจไม่จำเป็นต้องให้อภัย
เบสท์บอกว่า สารคดี คือ การเดินทางกลับไปหาความทรงจำด้วยกัน
“การทำหนังเรื่องนี้เหมือนเป็นการอัปเดต iOS ทั้งเราและพ่อ เราพบว่ามันไม่ได้เศร้าเหมือนเดิม ไม่ได้แย่เหมือนเดิมแล้ว และมันเข้าใจได้ กระบวนการแบบนี้มัน transform ความทรงจำหรือชุดประสบการณ์แบบเดิม เพื่อลดกำแพงที่เคยมีลง และสร้างสะพานเล็กๆ ให้เกิดขึ้น มันคือช่วงที่พ่อได้อ่อนแอที่สุดในชีวิตให้เราเห็น และเราบอกเค้าว่ามันโอเค ต่อไปนี้ถ้าเค้าจะเป็นอะไรอีก เค้าไม่ต้องใช้คำพูดหรืออารมณ์รุนแรงแบบนั้น เค้าอ่อนแอได้ นี่คือการสร้างสะพานเชื่อมซึ่งเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กัน”
เมื่อหินก้อนใหญ่ที่พ่อแบกไว้ถูกวางลงด้วยประโยคปลดล็อกที่ลูกบอกว่า “ไม่ติดใจ มันไม่เป็นไรจริงๆ” นั่นคือความหมายของการให้อภัย
ให้อภัยพ่อ ให้อภัยแม่ ให้อภัยตัวเอง เพื่อเยียวยาซึ่งกันและกัน ทั้งหมดนี้ต้องเริ่มจากความเข้าใจ
“การเข้าใจเป็น process สำคัญ ส่วนการให้อภัย เป็นสิ่งที่ตามมา ซึ่งอาจจะไม่จำเป็นต้องมีก็ได้”
สำหรับเบสท์ การให้อภัยไม่ได้แปลว่าไม่เจ็บ หรือหลอกตัวเองว่าสิ่งที่ทั้งพ่อและแม่ทำไปแล้วเป็นเรื่องดี
“เราบอกว่าสิ่งที่ป๊าทำกับเบสท์มันแย่มากเลย มันเจ็บปวดมากเลย และเค้าก็รู้แล้ว เราเองโตมาขนาดนี้ พอย้อนกลับไปนึกถึง ผ่านกระบวนการศิลปะบำบัด ผ่านการทำหนังเพื่อทำความเข้าใจ ตอนนี้มันไม่ได้เจ็บปวดทารุณเหมือนสมัยก่อนแล้ว ส่วนพ่อเองก็รู้สึกผิด และที่เค้าทำไป เค้าทำไปด้วยชุดความคิดและวิสัยทัศน์ที่มันแคบมากๆ ซึ่งเค้าคงไม่ได้ตั้งใจจะทำให้เราแย่หรอก แต่ส่วนนึงมันมาจากเค้าไม่ได้ตระหนักรู้ทัน แล้วทำไมเราจะไม่ให้อภัย ซึ่งอันนี้มันเป็น by choice นะ ไม่ได้หมายความว่าทุกคนต้องให้อภัย เพราะเราต่างเจอมาต่างกัน มีประสบการณ์ในการดีลกับความเจ็บปวดหรือบาดแผลที่ไม่เหมือนกัน”
แต่สำคัญคือ ต้องไม่ใช่ให้อภัยเพื่อตัดปัญหาให้จบๆ ไป เพราะนั่นคือการยิ่งย้ำในระบบอำนาจที่ถูกปลูกฝังตั้งแต่ครอบครัว
“เราถูกสอนให้ยอมเพื่อตัดปัญหา อันนี้ต่างหากคือการกดทับ สำหรับเรา นี่ไม่ใช่การให้อภัยจริงๆ เพราะมันไม่ได้เข้าใจกันทั้งสองฝ่าย ใช้คำว่าให้อภัยมาบังหน้าแต่จริงๆ แล้วคือการหลีกหนี
ซึ่งการให้อภัยจริงๆ มันเป็นโอกาส transform ไปสู่สิ่งใหม่ เราหวังว่าพ่อที่ได้รับการให้อภัย จะไปสู่อีกสเต็ปหนึ่งของชีวิต คือการพาตัวเองไปสู่ชุดประสบการณ์แห่งความปลอดภัยกับตัวเอง กับลูก และทำให้เค้าเปลี่ยนเป็นอีกคน”
………………………………….
“ใช้ชีวิตมาได้ขนาดนี้ มึงเก่งมากแล้วนะ” ถ้าพ่อคือเพื่อน เบสท์อยากบอกพ่อด้วยประโยคนี้หลังจากสารคดีจบลง
แล้วเบสท์วันนี้ในวัย 34 อยากบอกเบสท์ตอนเด็กว่าอะไร
“ขอบคุณ เราพูดคำนี้มาหลายปีแล้ว ทุกวันนี้ก็ยังขอบคุณอยู่ เราอาจจะไม่ได้ดี มีด้านสวยงามไปทั้งหมด แต่เราเป็นอย่างทุกวันนี้ได้ รักตัวเองได้ เราต้องขอบคุณตัวเอง เพราะเรารู้ตัวว่าเราผ่านอะไรมาบ้าง และตอนนี้เราก็พยายามเท่าที่จะทำได้ เพื่อเรียนรู้ข้อดีข้อเสียของตัวเอง”
เหนือสิ่งอื่นใด เบสท์รู้สึกขอบคุณตัวเองที่กล้าทำหนังของพ่อ คนที่เคยกลัวที่สุดในชีวิต
“สำหรับเรา Mental-Verse มันคือการจำลองช่วงเวลาหนึ่งที่ลูกได้นั่งคุยกับพ่อ ซึ่งเราคิดว่ามันยังมีอีกหลายครอบครัวที่พ่อ แม่ ลูก ไม่เคยได้มานั่งคุยกันจนวันตาย นั่นเลยทำให้เราไม่แปลกใจ ว่าทำไมหนังทั้ง 2 ภาค ตอนที่คนดูชอบและร้องไห้ให้กับมันมากที่สุดคือตอนที่เบสท์นั่งคุยกับพ่อและแม่ของตัวเอง เราได้เรียนรู้ว่าไม่ว่าจะเป็นพ่อ แม่ หรือฐานะใดๆ ในสังคม พอขึ้นชื่อว่าเป็นมนุษย์ ไม่มีใครสมบูรณ์แบบ”
ส่วนความสัมพันธ์หลังจากนั้นของพ่อกับลูกชาย มันไม่ได้เปลี่ยนแบบเขียนบทให้ความสุขทุกอย่างชัดเจนในตอนจบ
“ชีวิตประจำวันมันอาจไม่ได้เปลี่ยนไปมากนัก แต่เชิงความรู้สึกเปลี่ยนไป เราเข้าใจกันมากขึ้น มันจึงอ่อนโยนต่อกันได้ง่ายขึ้น พ่อไม่เคยแตะตัวเรา มีวันหนึ่ง จะกลับบ้าน เราจับมือพ่อ เค้าทำตัวไม่ค่อยถูก เราทำมันเป็นธรรมชาติ ไม่ได้ซึ้งเลย แต่แอกชั่นเล็กๆ นี้มัน powerful”
อาจพูดได้ว่าสารคดีเป็นเส้นทางสำคัญในการพาหัวใจทุกคนกลับบ้าน บ้านที่วันนี้ ทุกคนไม่จำเป็นต้องอยู่ร่วมใต้หลังคาเดียวกัน
“แต่ก่อนครอบครัวต้องอยู่พร้อมหน้า แต่ตอนนี้ครอบครัวต่างคนต่างอยู่ก็ได้ ขอให้มีความสุข ไม่ต้องโกรธเกลียดเคียดแค้น อยู่ห่างๆ กันก็เป็นครอบครัวได้” บ้านในความหมายของ ‘แม่ณี’ แม่ของเบสท์
ส่วนพ่อ ต่อจากนี้ไม่ต้องแบกหินก้อนใหญ่อีกต่อไป ปลายทางของการกลับบ้านอาจจะเริ่มต้นแล้วจากประโยคสั้นๆ ประโยคนี้ในสารคดี
“ป๊าอยากขอโทษทุกคน”
ส่วนเบสท์ จากเด็กคนหนึ่งซึ่งติดป้ายให้ตัวเองว่าไร้ค่า ไม่กล้าแม้แต่จะมีความสุข วันนี้เบสท์บอกว่าสารคดีของพ่อ คือ หนังที่ดีที่สุดในชีวิต
“สำหรับเบสท์มันไม่เป็นหนัง มันเป็นชีวิต เส้นแบ่งระหว่างภาพยนตร์กับชีวิตมันไม่มี มันเป็นเรื่องเดียวกัน หนังเรื่องนี้ทลายเส้นแบ่งหลายๆ อย่างในตัวเรา”
เบสท์เองก็อาจกำลังพาใจกลับบ้านด้วย
“เรา work hard กับตัวเองมากๆ เราอยากจะเป็นคนที่ดีขึ้นและรักตัวเองขึ้นเรื่อยๆ อาจจะยังทำไม่ได้ทั้งหมด เพราะเราก็ยังต้องการจากคนอื่นมากๆ อยู่ดี แต่วันนี้เราทำได้แค่นี้จริงๆ…
…ถ้าเป็นกราฟ เรากำลังดีขึ้น และขอให้มันเป็นอย่างนั้น”
หมายเหตุ : ติดตามชมสารคดีเต็มของพ่อและผู้ป่วยโรคซึมเศร้าคนอื่นๆ ที่งาน CONNE(X)T HOMECOMING : พาใจกลับบ้าน วันที่ 29 กรกฎาคม – 7 สิงหาคมนี้ เวลา 11.00 – 20.00น. ชั้น 2 RIVER CITY BANGKOK จองรอบเข้าชมที่ : https://www.zipeventapp.com/e/Conne-x-t-Homecoming |